แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
ครั้งที่ ๑๙๖๔
สาระสำคัญ
บารมี ๑๐ เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล
วิปัสสนาญาณคืออะไร
สัง.อรรถกถานิทานสูตร - การแสดงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๓
เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะสงบจากนิวรณ์
นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์
ที่กล่าวว่า เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะสงบจากนิวรณ์ จะเห็นได้ว่า ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นนิวรณ์หรือเปล่า มิฉะนั้นอาจจะเข้าใจว่า เป็นเมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ ซึ่งได้แก่กามฉันทะนิวรณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นด้วย
อุเบกขาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะกำจัดความคล้อยตามและความคับแค้นในสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา และเพราะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาลักษณะของบารมี ๑๐ และเห็นประโยชน์ว่า บารมีทั้ง ๑๐ นั้น เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล
ถ. อุเบกขาบารมีไม่คล้อยตามไปในโลภะ หมายถึงไม่คล้อยตามอย่างไร
สุ. เป็นผู้ที่สามารถรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล
ถ. ไม่คล้อยตาม จึงชื่อว่าวางเฉยในขณะนั้น
สุ. วางเฉย ไม่คล้อยตามไปในเหตุการณ์ที่จะทำให้อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด เป็นอุเบกขาบารมี
พระ อาตมาอยู่ต่างจังหวัด อยู่ไกล ที่อำเภอนาดี ปราจีนบุรี ฟังคุณโยมอาจารย์ทางวิทยุอยู่บ่อยๆ ประมาณร่วม ๒๐ ปี ทั้งฟังทั้งอ่าน ก็สงสัยอยู่เรื่อย ฟังไปๆ ไม่เห็นใครถามตรงความเห็นของอาตมา อาตมาสงสัยเรื่องญาณ ๑๖ ไปอ่านหนังสือ ไม่รู้หนังสืออะไร ญาณที่ ๑ ญาณที่ ๒ ท่านว่าเป็นญาณปริยัติ ญาณที่ ๓ เรื่อยไปถึงญาณ ๑๖ เป็นญาณปฏิบัติ อาตมาก็คิดว่า ญาณปริยัติเราศึกษา เราก็ได้แล้ว สำนักปฏิบัติต่างๆ ในปัจจุบันนี้ก็คงทำนองนี้แหละ เคยไปเหมือนกัน ให้ไปดูความเกิดดับ ในครั้งพุทธกาลก็เคยอ่านว่า ให้ดูความเกิดดับของนามรูปซึ่งเป็นญาณที่ ๓ อาจารย์ในปัจจุบันนี้ก็เอานามรูปเกิดดับเป็นญาณที่ ๓ ไปเลย
สงสัยว่า ญาณที่ ๑ ที่ ๒ เป็นญาณปริยัติอย่างไร และญาณปฏิบัติก็นั่งดูการเกิดดับของนามรูปเลย เหมือนครั้งพุทธกาลที่เคยอ่านหนังสือมา ที่ว่ากำหนดนามรูป เกิดดับๆ ท่านก็สำเร็จไปเลย ใช่ไหม ขอให้คุณโยมอาจารย์อธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
สุ. ญาณที่ ๑ และญาณที่ ๒ คือ นามรูปปริจเฉทญาณกับปัจจยปริคคหญาณ ที่ว่าเป็นปริยัติ ไม่ทราบพระคุณเจ้าอ่านจากไหนเจ้าคะ
พระ ไม่รู้เหมือนกัน อ่านมานานแล้ว ตำรับตำราอ่านมามาก
สุ. ไม่ใช่ในพระไตรปิฎก ก่อนอื่นต้องทราบว่า วิปัสสนาญาณคืออะไร วิปัสสนาเป็นปัญญาที่เห็นแจ้ง วิปัสสนาญาณไม่ใช่ปัญญาขั้นอ่านหรือขั้นฟัง แต่เป็นขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งแม้ในขณะนี้ปรากฏแต่อวิชชาไม่เห็น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาจึงเห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง นี่คือ วิปัสสนาญาณ แต่กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณ จะต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องจริงๆ เสียก่อน พร้อมทั้งต้องรู้ว่า ไม่ใช่เราจะดู การเกิดดับ แต่ปัญญาต้องเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจในลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าปัญญาขั้นต้นไม่มี วิปัสสนาญาณก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น นามรูปปริจเฉทญาณจะเป็นเพียงขั้นการฟังเรื่องของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้
ขณะนี้พระคุณเจ้าเข้าใจเรื่องของวิปัสสนาญาณว่า ไม่ใช่เป็นขั้นการฟัง ไม่ใช่ขั้นการศึกษา เพราะในขณะนี้กำลังฟังเรื่องรูปที่กำลังปรากฏทางตาและสภาพเห็น ลักษณะของสภาพเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพที่เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรม ถ้าฟังอย่างนี้ เป็นปริยัติ เป็นความเข้าใจขั้นการศึกษา เป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ แต่ที่วิปัสสนาญาณจะเกิดมีได้ ก็เพราะอาศัยการฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จนเข้าใจ
ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับหรือเปล่าเจ้าคะ
พระ ตามปริยัติบอกว่า เกิดดับทุกอย่าง
สุ. เพราะฉะนั้น ตามปริยัติ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ นี่ก็เป็นการเตือนให้ระลึกได้ว่า ความรู้ขั้นการฟังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะแม้ในขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ ปัญญาก็ไม่ได้ประจักษ์แจ้งสภาพของจิตที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ฟังแล้วรู้ว่าจิตเกิดดับ นี่เป็นขั้นฟัง ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้ผู้ฟังได้เข้าใจทันที เพราะฉะนั้น ในขณะนี้กำลังเห็น วิปัสสนาญาณจะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วระลึก และค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ขณะนี้จะต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะก่อน ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ วิปัสสนาญาณเกิดไม่ได้ วิปัสสนาญาณไม่ใช่ปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่วิปัสสนาญาณจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นฟังและขั้นอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงทุกกาลสมัย แม้ในขณะนี้เอง ทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นธรรมทั้งสิ้นสำหรับสติสัมปชัญญะที่จะสามารถระลึกได้ และรู้ว่าขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะสามารถระลึกและเข้าใจลักษณะของธรรมว่า เป็นธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งลักษณะที่ขาดตอนของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ไม่ปะปน กันเลยทีละลักษณะทางมโนทวาร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่างกันมากกับขณะที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาแต่ละขั้นจะค่อยๆ เจริญสมบูรณ์ขึ้น ต้องอาศัย ความอดทน และต้องอาศัยการเป็นผู้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงเมื่อได้ฟังพระธรรม เพราะว่าการฟังพระธรรมเป็นการตรวจสอบความจริงคือสัจจธรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน
แต่ละคนมีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ซึ่งอกุศลธรรมก็วิจิตรต่างๆ กันมาก กุศลธรรมก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมก็เป็นการตรวจสอบว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่คือจิต เจตสิก และรูปของ แต่ละท่านซึ่งกำลังเป็นไปอยู่ในแต่ละขณะนั่นเอง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย วันหนึ่งๆ สภาพจิตจะเป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นวิบากอย่างไร ผู้ปราศจากปัญญาก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดสภาพธรรมเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
บางท่านบอกว่า ไม่คิดเลยว่าจะคิดอย่างนี้ จะพูดอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ แต่เมื่อถึงเวลามีปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะพูดอย่างนั้น สภาพธรรม ก็เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา สภาพธรรมได้ แต่สามารถเข้าใจการสะสมของแต่ละคน ซึ่งทำให้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เกิดอีกและดับไป เกิดอีกและดับไป สืบต่อ เป็นชีวิตของแต่ละคนที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องของกรรม ผลของกรรม และความคิดนึกต่างๆ
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุกขวรรค อภิสมยสังยุต อรรถกถานิทานสูตร มีข้อความที่อุปมาการแสดงพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ที่ได้ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกนั้นว่า
ดุจว่าวางสิ่งของนับพันอย่างลงทุกประตูเรือน ที่พระธรรมไปถึง
แล้วแต่ว่าใครจะเปิดประตูรับสมบัติมหาศาลที่กองไว้ให้ที่หน้าประตูเรือน หรือบางคนอาจจะไม่เปิดประตูเลย เพราะไม่เห็นคุณของพระธรรม ทั้งนี้ก็แล้วแต่อวิชชาและปัญญาของแต่ละบุคคล
การฟังพระธรรมมีประโยชน์ทั้งหมด ทุกกาล บางทีโอกาสนี้อาจจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่เมื่อฟังไปๆ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น และอกุศลค่อยๆ ลดลง
ขอให้เห็นคุณประโยชน์ของผู้ที่แสดงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เพราะเปรียบเสมือน ดุจว่าวางสิ่งของนับพันอย่างลงทุกประตูเรือน ที่พระธรรมไปถึง
ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้สับสนยุ่งเหยิงวุ่นวาย ด้วยความไม่รู้ในเหตุและในผลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะจิตนั้น เป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่งที่เขาเอาน้ำส้มใส่ แล้วเอาเก้าอี้ทับ ย่อมจะเกิดเป็นก้อนติดกันเป็นปม เป็นกลุ่ม ไม่สามารถจะคลี่ออกได้ให้ตรงด้วยตนเอง นอกจากพระโพธิสัตว์ทั้ง ๒ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยตนเอง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสาวกยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมโดยถ้วนทั่วที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้พิจารณาคลี่ปมของเส้นด้ายที่ยุ่งเหยิงจนไม่สามารถจับได้ว่าตรงไหนเป็นตอนต้น ตรงไหนเป็นตอนปลาย นอกจากอาศัยการฟังพระธรรม และพิจารณาให้ถูกต้อง
อย่างพระคุณเจ้าที่กล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเมื่อกี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ฟังแล้วก็ยังคงสับสนวุ่นวายยุ่งเหยิง คือ ไม่รู้ว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ นั้น จะต้องฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมก่อน และค่อยๆ อบรม เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การตั้งต้นไม่ถูก จึงยังคงสับสนวุ่นวายและ เข้าใจผิดว่า วิปัสสนาญาณเป็นเพียงขั้นการฟังหรือการอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น
ธรรมเป็นเรื่องจริง และตรวจสอบปัญญาของตนเองได้ ซึ่งปัญญามีหลายขั้น แม้ขั้นการฟัง ฟังแล้วเข้าใจไหมเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เอง ทางตาที่กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริง และสภาพที่เห็นก็ไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงสภาพรู้ ซึ่งในขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ได้ยิน ถ้าเป็นขณะที่ได้ยินต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเสียง และการรู้เสียง เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ที่ได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สติปัฏฐานจึงสามารถระลึกศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา อาจจะพูดแล้วพูดอีกได้บ่อยๆ เพราะ แม้จะได้ยินได้ฟังแล้วๆ เล่าๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด ยังไม่ระลึก ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง ก็ต้องฟังอีก เพื่อเป็นการเตือนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ เพื่อที่สติจะระลึก และเข้าใจได้
ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ แต่คิดเรื่อง ยกหยิบเรื่อง มาจากสิ่งที่ปรากฏทางตาและจำเรื่อง โดยละเลยการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ข้อทดสอบ คือ ขณะนี้ มีสีมากมาย ทั้งแดง เขียว ขาว ดำ ส้ม หลายสี รูปร่างสัณฐานต่างๆ คืนนี้หรือกลับไปบ้านแล้ว ขอให้นึกถึงสถานที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ทดสอบความจำว่า จำอะไรได้บ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้มีให้เห็นชัดเจน แต่ความจำ ก็จำเพียงเรื่องบางเรื่องเท่านั้นเอง
แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้ฝันก็ฝันเรื่อง แม้จำก็จำเรื่อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นอีกโลกหนึ่ง คือ โลกทางใจ อาศัยเห็นและนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ตลอดชีวิตในสังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้น เรื่องของชาติก่อน ก็อาศัยการเห็นสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ทางตาอย่างนี้โดยที่ปัญญาไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และเรื่องของชาติก่อนก็จบ
เรื่องของชาตินี้ ก็อาศัยสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาและคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็จบเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาในชาตินี้ แต่ก็จะมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏให้นึกคิดต่างๆ อีก
นี่คือการที่จะต้องฟัง จนกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และจะรู้ว่า แต่ละบุคคลอยู่ในโลกของความคิดนึกของตนเอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็อยู่คนเดียว และคิดนึกเรื่องต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏชั่วแวบเดียวทางตา หรือเสียงที่ปรากฏชั่วนิดเดียวทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
การอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องสะสมบารมีทุกประการเพื่อที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศล เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่ากุศล ถ้ามุ่งหน้าอยากเป็นพระโสดาบัน อยากดับกิเลส อยาก ถึงพระนิพพาน โดยไม่ฟังพระธรรมเพื่อจะได้ตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองใน วันหนึ่งๆ ว่า ใกล้หรือไกลกับปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทันทีที่ตื่นขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็จะเป็นเพียงบุคคลที่มีแต่ความหวัง ไม่ใช่บุคคลที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาไม่ได้เกิดจากความหวัง แต่ต้องเกิดจากการอบรมเจริญกุศล
สำหรับชีวิตประจำวัน กว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทุกคนก็จะต้องมีการอบรมบารมี ๑๐ ซึ่งต้องเป็นไปด้วยปัญญา แม้ในเรื่องของการให้ที่เป็นชีวิตธรรมดา ก็ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า การให้ของผู้ไม่มีปัญญา กับการให้ของผู้มีปัญญา เช่น พระโพธิสัตว์ ก็มีความต่างกัน ซึ่งทำให้ผู้ฟังได้ระลึกถึงสัจจะ ความจริงของจิตใจ ของแต่ละบุคคลว่า ควรจะดำเนินตามรอยที่พระโพธิสัตว์ท่านได้เจริญอบรมมาใน ทุกชาติ แม้บารมีทั้ง ๑๐ ก็ไม่ใช่จะแยกว่า ชาติหนึ่งเป็นศีลบารมี อีกชาติหนึ่งเป็นเนกขัมมะบารมี แต่ทุกๆ ชาติจะต้องประกอบด้วยบารมีทั้ง ๑๐
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๗ ตอนที่ ๑๙๖๑ – ๑๙๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015