แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
ครั้งที่ ๑๙๗๕
สาระสำคัญ
สติเกิดหรือหลงลืมสติ
วิปัสสนาญาณเป็นผล สติปัฏฐานเป็นเหตุ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๓
พระ ถ้ามีความคิดว่า การเป็นภิกษุอยู่ในบ้าน จะต้องคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และได้รับกามคุณต่างๆ ที่ประณีต จะทำให้เกิดความประมาทและไม่อดทน จึงคิดว่า การไปอยู่ป่าที่มีภัยอันตรายต่างๆ เช่น เสือ งู จะทำให้เกิดสติสัมปชัญญะดีขึ้น และมีความเพียรที่จะประพฤติธรรม ความเข้าใจอย่างนี้ จะถูกต้องหรือไม่อย่างไร
สุ. สำหรับชีวิตของบรรพชิตซึ่งละอาคารบ้านเรือน เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่า ละความติดในวัตถุกามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างชีวิตของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเพศที่ต่างกัน สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตของทั้ง ๒ เพศ
คฤหัสถ์ไม่มีใครที่จะไปอยู่ป่า เพราะเป็นผู้ครองเรือน และบรรพชิตก็เป็นผู้ที่เห็นโทษของการครองเรือน ละการเกี่ยวข้องกับวัตถุกาม จึงสละอาคารบ้านเรือน แสดงให้เห็นถึงพื้นอัธยาศัยซึ่งเป็นผู้ไม่คลุกคลีอย่างชีวิตของคฤหัสถ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าบรรพชิตจะอยู่ที่ไหน ก็เป็นที่ที่สงบที่เหมาะควรแก่ชีวิตของบรรพชิต สำหรับบรรพชิตซึ่งพักอยู่ที่อารามก็มีในครั้งพุทธกาล และผู้ที่รู้อัธยาศัยของตนเองว่า ใคร่จะเป็นผู้ขัดเกลายิ่งขึ้นกว่านั้น ก็เป็นผู้ที่รักษาธุดงค์ คือ การอยู่ป่าก็มี แล้วแต่อัธยาศัย
เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็เป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของตนเอง ถ้าจะให้คฤหัสถ์ไปอยู่ป่า ก็คงจะไม่มีคฤหัสถ์ไปเจริญสติปัฏฐานที่นั่น เว้นแต่ได้รับการบอกเล่าหรือเข้าใจผิดว่า ไปอยู่แล้วจะได้บรรลุมรรคผล
ถ. ก่อนอื่นขออนุโมทนาสาธุอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์มีความเมตตายิ่งใหญ่ อธิบายธรรม ทำให้ผู้ที่รู้ธรรมเพียงงูๆ ปลาๆ นั้น ได้เห็นว่าธรรมนั้นคืออะไร และ การประจักษ์สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร และธรรมเกิดดับนั้นเป็นอย่างไร ผมเองเริ่มฟังอาจารย์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ แต่ไม่มีโอกาสได้มาที่นี้ ฟังที่บ้าน มีความพอใจที่รู้จักสภาวธรรมมากยิ่งขึ้น ผมมีข้อสงสัยใคร่จะขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ช่วยไข ข้อข้องใจให้ด้วย
คือ มีคำหนึ่งที่พูดถึงเรื่องสติ สติเป็นอนัตตา ข้อนี้เข้าใจและเชื่ออย่างแจ่มแจ้งว่า สติเป็นอนัตตานั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อปฏิบัติมา ตอนนี้ ขณะที่เรามีสตินั้น เราสามารถแยกรูปแยกนามได้ ขณะที่รู้รูปรู้นามนั้น ก็รู้ว่ามีสภาวธรรมใดๆ เข้ามาบ้าง และรู้ว่า ขณะนั้นจิตของเราเป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อปฏิบัติมาอย่างนี้บ่อยๆ เข้า ก็ถึงจุดที่ว่า เมื่อมีความเศร้าหมองเข้ามา จิตใจจะวิ่งเข้าหาสติ คือ เริ่มตั้งสติปัฏฐานทันที สติเกิดขึ้นทันที ก็เป็นการแย้งในตัวเองว่า สตินี่บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เมื่อมีสภาวธรรมใดที่ทำให้เราเศร้าหมองแล้ว เราไปเจริญสติ เมื่อเจริญสติสมาธิ ความสงบก็เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าสภาวธรรมเช่นนี้ถูกต้องไหม คือ ความเข้าใจของตัวเองว่าถูกต้อง เพราะรู้ว่าไม่ใช่เจตนาเจตสิก คือ ไม่ได้คิดให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เกิดแล้วเรารู้ พอเรารู้ จิตใจเราก็วิ่งเข้าหาสติ และเจริญสติปัฏฐาน ก็เลยเป็นข้อสงสัย สภาวธรรมอย่างนี้ สภาวะเป็นอย่างไร
สุ. สติปัฏฐานยังไม่ทั่ว ถ้าทั่วจริงๆ ต้องรู้แม้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ตอนนี้สติของผม ผมทราบว่ายังไม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องยอมรับเพราะว่าเรายังไม่มีบุญเพียงพอที่จะเป็นคนมีสติต่อเนื่องได้ แต่การเกิดสตินั้น ซึ่งธรรมดาเวลาหลงลืมสติ จะมองเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไปหมด แต่เมื่อมีสติเกิดขึ้น จะมีสัจจธรรมเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ขณะที่สัจจธรรมปรากฏนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกายก็แล้วแต่ ที่เรารู้ในขณะนั้นเราสามารถรู้ว่า สภาวธรรมนั้น อันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม และมีความยินดีพอใจ มีบัญญัติ มีความยินดีพอใจเกิดขึ้นหรือเปล่า เราติดตาม เรารู้ตลอด แต่นี่หมายความว่า เรามีสติ เรารู้ ขณะที่เรารู้นั้น มีความสงบมาก มีความกล้าหาญ อธิบายยาก คือ หมายความว่ามีความสุข มีความว่าง มีความเบาสบาย แต่เมื่อความเศร้าหมอง เข้ามา เราจะระลึกถึงสติ ตรงนี้เป็นความสับสน ที่พูดว่าเราระลึกถึงสติ ผมอาจจะพูดผิด แต่คล้ายๆ หัวใจไปไขว่คว้าสติทันที และเราก็ต้องเจริญสติปัฏฐานต่อ ก็เลยค้านกับความรู้สึกที่ว่า สติไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา หมายความว่าเราจะไปนั่งคว้า ไปนั่งกำหนดไม่ได้ แต่เวลามีความเศร้าหมองเข้ามา เราก็เริ่มเจริญสติ ก็เท่ากับว่า สติเราเกิดตอนนั้น สติก็เห็นความไม่เป็นตัวเป็นตน
สุ. แสดงว่า ปัญญายังไม่ทั่ว สติปัฏฐานยังไม่ทั่ว ยังมีความเป็นตัวตนมากที่ว่า ขณะที่เศร้าหมองและเริ่มเจริญสติ แทนที่จะรู้ว่า สติเกิดหรือหลงลืมสติ
ถ. อาจารย์จะชี้แจงได้ไหมว่า ที่ว่าไม่ทั่วนั้น ไม่ทั่วตรงไหน จะได้ปฏิบัติถูก
สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวในตอนต้นว่า สติของท่านไม่ติดต่อกัน คือ ยอมรับว่า สติไม่ติดต่อกัน
ถ. คืออย่างนี้ เผลอสติ ตอนเผลอนี้ไม่รู้จริงๆ เห็นเป็นผู้คน เป็นบัญญัติไปหมด แต่เมื่อสติเกิดขึ้น เราก็เจริญสติทันที ในขณะที่เจริญสตินั้น เรารู้ว่าสภาวรูป สภาวนามเป็นอย่างไร มีสมาธิเกิด มีความเบาสบายเกิดขึ้น รู้ว่าตัวตนเป็นอย่างไร รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร ในขณะนั้นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
สุ. ข้อสังเกตข้อหนึ่งที่ไม่ควรจะผ่าน คือ ประโยคที่ท่านผู้ฟังบอกว่า เพราะท่านยังมีปัญญาไม่พอ เพราะฉะนั้น สติของท่านไม่ติดต่อกัน ตอนต้นกล่าวอย่างนี้หรือเปล่า
ถ. ถ้าติดต่อก็คงจะเป็นพระอรหันต์
สุ. ยังไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาเป็นลำดับ เช่น ข้อความที่ว่า สติของท่านไม่เกิดติดต่อกัน ถ้าจะอ้างว่ายังไม่ใช่ พระอรหันต์ สติจึงเกิดติดต่อกันไม่ได้ นั่นสำหรับการก้าวไปไกลมากจากความเป็นปุถุชนจะไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เราก็ก้าวกลับมาถึงผู้ที่กำลัง เจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน อวิชชามีกำลังมาก ต้องเข้าใจว่า อวิชชาของทุกท่านมีกำลังมาก เพราะว่าการได้ฟังพระธรรมในแต่ละชาติซึ่งค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย ทำให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมอีกในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏซึ่งสติจะระลึก และก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อวิชชาก็ยังมีกำลังมาก อยู่นั่นเอง เพราะอะไร ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ทางตาในขณะนี้ เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ขั้นฟังตอบได้ แต่สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าเป็นเครื่องทดสอบว่า ขณะนี้ที่เห็นมีความรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ หรือเปล่า นี่ตอนหนึ่ง
และที่กล่าวว่า สติไม่ติดต่อกัน ก็เพราะถ้าสติจะเกิดติดต่อกันได้หมายความว่าเป็นผู้ที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวารก่อน แต่ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วจนกระทั่งรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวารนั้น จะเป็นผู้ที่มีสติปัฏฐานเกิดตลอดเวลาติดต่อกันก็ไม่ใช่ นี่แสดงให้เห็นถึงกำลังของอวิชชาจริงๆ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ควรจะตั้งต้นว่า ที่สติเกิดไม่ติดต่อกัน เพราะว่าการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทาง ยังไม่ทั่วจริงๆ
ถ. ที่ท่านอาจารย์กรุณาสอนเมื่อสักครู่นี้ว่า เมื่อมีสภาพธรรมเกิดขึ้นทางตา ทางหู อาจารย์ช่วยกรุณาพูดอีกครั้งหนึ่ง
สุ. หมายความว่า การที่สติจะเกิดติดต่อกันทั้ง ๖ ทวารได้ ก็เมื่อผู้นั้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง และรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ตามปกติในขณะนี้ ...
ถ. เข้าใจแล้ว ปัญหาของผมอยู่ตรงนี้ คือ ในขณะที่สติเกิดนั้นแน่นอน สัจจธรรมเกิด หมายความว่าถ้าทางตาเห็นสี เรารู้จากสัจจธรรมว่า นั่นล่ะ ที่ปรากฏ เมื่อปรากฏ สติจะแยกรูปแยกนามทันที
สุ. ไม่ได้
ถ. แต่ผมแยก
สุ. ปัญญา ไม่ใช่สติ
ถ. สมมติว่ามีสติเกิดอยู่ เห็นพระพุทธรูปก็รู้ว่า พระพุทธรูปที่เห็นนั้น ไม่ใช่พระพุทธรูปแล้ว ไม่ใช่พระพุทธรูป คำว่า พระพุทธรูปนั้นเป็นบัญญัติ ซึ่งคนไทยพูดกับคนไทยรู้เรื่อง แต่คนไทยพูดกับฝรั่งว่าพระพุทธรูปจะไม่รู้เรื่อง แสดงว่า เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ ปรมัตถ์อยู่ตรงไหน ปรมัตถ์ก็อยู่ตรงสภาวะที่เห็น คือ รูปารมณ์เป็นปรมัตถ์แน่นอน เพราะมันเห็นประจักษ์ชัด และปัญญาก็รู้ต่อไปว่า ที่เห็นนั้นจะมีสภาวะของบัญญัติปรากฏขึ้นทันที และเมื่อสภาวะของบัญญัติปรากฏขึ้นทำให้เรารู้ว่าเป็นพระพุทธรูป โทมนัสเวทนา โสมนัสเวทนา คือ ความรู้สึกทางใจก็ เกิดต่อให้เราคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป เราก็รู้ทันตลอด จนกระทั่งรู้แล้วก็วาง และก็มีทางตาและทางหูเข้ามา เราก็รู้อีก สภาวะทางตาดับไปแล้ว สภาวะทางหูก็เกิด ก็รู้ความเกิดดับของอันนั้น ก็เห็นอยู่
สุ. รู้ความเกิดดับโดยอย่างไร
ถ. คือ ปรากฏ ประจักษ์ว่าทางตาหายไปแล้ว มีทางหูเกิดขึ้น คือ ทางหู มีเสียงรถเข้ามา โดยเฉพาะอยู่บนถนน เป็นการเจริญสติได้อย่างดีที่สุดตรงที่ เรารู้ว่า ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก อะไรก็แล้วแต่ เมื่อสิ่งไหนประจักษ์ก็ เจริญสติอันนั้น
สุ. ยังไม่ใช้คำว่า ประจักษ์ ได้ไหม เป็นแต่เพียงความรู้ ความเข้าใจ
ถ. ถ้าอย่างนั้น ขอให้อาจารย์อธิบายคำว่า ประจักษ์ อย่างไรจะเรียกว่าประจักษ์
สุ. สภาพธรรมปรากฏโดยไม่มีตัวตน ทั้งโลกไม่มีเหลือ สภาพธรรมปรากฏทีละอย่างโดยไม่ปรากฏว่ามีอย่างอื่นเลย โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่ตัว ...
ถ. สิ่งที่ปรากฏมี
สุ. ทีละอย่าง ทางมโนทวาร
ถ. ถูกต้อง ทางมโนทวารก็ทราบ รู้คือประจักษ์ ไม่ใช่ทราบ
สุ. การประจักษ์ ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ
ถ. ก็ตอนนี้วิปัสสนาอยู่
สุ. เป็นวิปัสสนาญาณเมื่อไร
ถ. วิปัสสนาญาณ รู้โดยญาณ คือ รู้ด้วยปัญญาว่า สภาวะนั้นไม่ใช่ตัวตน
สุ. เมื่อไร
ถ. ตอนที่มีความรู้เกิดขึ้น ที่ปัญญาญาณเกิดขึ้น
สุ. ทุกครั้งที่สติเกิดหรือ
ถ. ทุกครั้งที่สติเกิด
สุ. ไม่ใช่ ไม่ใช่ทุกครั้งที่สติเกิด วิปัสสนาญาณจะเป็นทุกครั้งที่สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ เพราะว่าวิปัสสนาญาณเป็นผล สติปัฏฐานเป็นเหตุ จากการที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย จากการที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดเลย และเมื่อมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เข้าใจ นี่เป็นขั้นเข้าใจ แต่เป็นขั้นที่จะรู้ว่าสติปัฏฐานคือเมื่อไหร่
ถ. ก็เมื่อที่สติเกิด ใช่ไหม
สุ. ขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร ทีละอย่าง นี่คือขั้นต้น นี่เป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายวิปัสสนาญาณหน่อยได้ไหม
สุ. เป็นปัญญาที่สมบูรณ์จากการที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมปรากฏกับปัญญาที่ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยเป็นอนัตตาจริงๆ คือ ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่วิปัสสนาญาณจะเกิด ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่สติปัฏฐานเกิดก็เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่อย่างนั้น
แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาและความสมบูรณ์ของปัญญาจริงๆ ซึ่งทำให้ ผู้นั้นได้รู้ความจริงว่า ลักษณะของอนัตตาแท้ๆ คืออย่างนี้ และสิ่งที่ไม่เคยปรากฏ ก็ปรากฏ เช่น ลักษณะของมโนทวาร ซึ่งในขณะนี้เสมือนว่าเห็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่พระธรรมได้ทรงแสดงไว้ว่า มีมโนทวารวิถีเกิด คือ หลังจากที่จักขุทวารวิถีดับ มีภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิตเกิด แต่ลักษณะของมโนทวารเหมือนไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. ลักษณะของมโนทวารเหมือนไม่ปรากฏนี่ ...
สุ. ก็ในขณะที่กำลังเห็นนี่ แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวิปัสสนาญาณ และจะเกิดความสงสัย เกิดความไม่รู้ว่าทำไมเป็นตัวตน เวลาจิตเศร้าหมองแล้วก็วิ่งไปหาสติปัฏฐาน หรือ อะไรอย่างนั้น
ถ. ข้อสงสัยอยู่ตรงนี้ ตามที่อาจารย์ได้แบ่งออกว่า การรู้วิปัสสนาญาณ อย่างพระอริยบุคคลเริ่มรู้ทีละขั้น ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบัน ขั้น ...
สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนี้เสมือนว่ามีสภาพธรรมและปัญญาก็รู้ แต่ยังไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพนั้นๆ เพียงแต่เริ่มเข้าใจว่า ปัญญาจะต้องเจริญอย่างนี้ คือ ระลึกอย่างนี้ และปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างนี้ จึงจะสามารถถึงความสมบูรณ์ ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้
ถ. เจริญแล้ว มาถึงจุดที่ผมถาม
สุ. แล้วอย่างไร
ถ. เจริญ หมายถึงเท่าที่รู้ …
สุ. ยังไม่แล้ว
ถ. คือ เท่าที่รู้ อาจารย์บอกว่า ยังไม่ถึงวิปัสสนาญาณ ผมเชื่อ แต่ยัง ไม่เข้าใจว่า ถ้าจะให้ประจักษ์ถึงวิปัสสนาญาณ ในเมื่อสติเกิดดับอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่สติเกิดเราก็รู้สภาวธรรมนั้น แต่ยังไม่พอ ผมเข้าใจ ต้องถึงวิปัสสนาญาณ ลักษณะของวิปัสสนาญาณ คือ ถ้าเห็นแล้ว ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นตัวตน หมายความว่า ทุกครั้งที่เห็นจะต้องเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม จึงจะเรียกว่าวิปัสสนาญาณ
สุ. ไม่ใช่
ถ. ถ้าอย่างนั้น วิปัสสนาญาณเกิดตอนไหน
สุ. ตอนที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์ หลังจากที่สติปัฏฐานระลึกบ่อยๆ เนืองๆ และการที่วิปัสสนาญาณจะเกิดก็โดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ต้องมารอคอยว่าวันไหน เพราะไม่มีใครรู้ เหมือนต้นไม้จะออกผลเมื่อไหร่เราก็ไม่สามารถทราบได้ แต่เรารู้ว่า เมื่อมีต้นไม้ ผลไม้ก็มี แต่จะเป็นกิ่งไหน ตรงไหน วันไหน ไม่สามารถทราบได้
เมื่อได้อบรมเจริญเหตุ คือ สภาพธรรมมีแล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยรู้แม้ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ ความต่างกันโดยสภาพที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช้คำว่า ดู หรือไม่ใช่คำอื่นใดทั้งสิ้น ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มีสติ กับ หลงลืมสติ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า เลือกไม่ได้ ที่จะให้สติเกิดตอนนั้นตอนนี้
ถ. ตรงนี้เข้าใจ เพราะว่าสติบังคับไม่ได้แน่นอน ที่เป็นอยู่ ผมเข้าใจ
สุ. เรื่องสติบังคับไม่ได้ นี่เข้าใจ
ถ. ที่สงสัย ที่ถาม อาจจะเสียเวลาท่านผู้ฟังมากไป เอาไว้มาเรียนถามอาจารย์ใหม่อีกครั้ง คือ ยังไม่เข้าใจว่า เมื่อเราเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติเกิดแล้ว ...
สุ. ไม่อยากจะใช้คำว่า แล้ว เพราะเหมือนกับไม่ต้องเจริญอีก แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ...
ถ. เมื่อสติเกิด อย่างนี้ได้ไหม
สุ. เมื่อสติเกิด ขณะนั้นต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏที่สติจะระลึก และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นขึ้น โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ทีละลักษณะ และ ทีละทวารด้วย ไม่ใช่ไปนั่งคิดเป็นเรื่องยาว
ถ. ไม่ได้คิดเลย
สุ. ที่กล่าวว่า พระพุทธรูปนี่แล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไร ภาษาอะไร อย่างนั้นไม่ใช่
ถ. ไม่ใช่เลย เป็นความสงสัยที่ผมจะถามอย่างไรดี คือ รู้ว่าทางตา ประจักษ์ สภาวธรรมประจักษ์แน่นอน คือ สัจจะต้องเกิดก่อน รู้ว่าตอนนี้ตาเห็น ตาดับ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น และรู้ เข้าใจด้วยญาณว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแน่นอน เพราะว่าเถียงกับตัวเองอยู่ตลอด สัมปชัญญะกับความเคยชินเถียงกันตลอด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015