แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977


    ครั้งที่ ๑๙๗๗


    สาระสำคัญ

    อาหารเป็นปัจจัยให้มีผล

    สัง. นิทานวรรค - เรื่องมโนสัญเจตนาหาร

    สาตถกสัมปชัญญะ - เห็นประโยชน์ของสติ

    สัมปชัญญะทั้ง ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๓


    กวฬิงการาหาร คือ อาหารที่กลืนกินเป็นคำๆ ที่ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ และผลคือทำให้เกิดรูป สำหรับอาหารบางอย่างก็ทำให้เกิดทั้งนามและรูป แต่ กวฬิงการาหาร ผลโดยตรง คือ รูปซึ่งเกิดเพราะการบริโภคกวฬิงการาหารเป็นปัจจัย

    สำหรับอาหารข้างนอกที่ยังไม่ถูกผัสสะกระทบ ย่อมยังไม่เป็นปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ขณะนั้นผัสสะกระทบสีของอาหารทางตา กระทบเสียงของอาหารทางหู บางท่านก็บอกว่าผักนี้สดดี เคี้ยวก็มีเสียงกรอบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสดของผักนั้น แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่กำลังบริโภคนั้นเอง ทางตา ผัสสะก็กระทบสีของอาหาร ทางหูก็ยังได้ยินเสียงของอาหาร ทางจมูกก็ได้กลิ่นของอาหาร ทางลิ้นก็ลิ้มรสของอาหาร ทางกายก็กระทบโผฏฐัพพะของอาหาร คือ บางอาหาร ก็แข็ง บางอาหารก็อ่อน ซึ่งผลของผัสสะ คือ ทำให้เกิดเวทนา ความรู้สึก เป็นผลโดยตรงของผัสสะ

    ขณะใดก็ตามที่มีการกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับผัสสเจตสิก ไม่แยกกันเลย ผัสสะกระทบสิ่งใด เวทนารู้สึกในสิ่งที่ผัสสะกำลังกระทบนั้น เพราะฉะนั้น เวทนาที่เกิดนั้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัณหา ความยินดี ความต้องการที่จะได้เวทนานั้นๆ ที่น่าพอใจอีก

    ในขณะที่มีความยินดีพอใจต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ทราบว่า ความยินดี ความต้องการนั้นเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่น คือ อุปาทาน ซึ่งท่านผู้ฟังพิสูจน์การสืบเนื่องของธรรมได้ เวลาที่มีความพอใจยึดมั่นติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมแสดงว่า ต้องมีการกระทบกับอารมณ์นั้นๆ และมีความรู้สึกที่ พอใจในอารมณ์นั้น เมื่อมีความรู้สึกที่พอใจ จึงต้องการอารมณ์นั้นอีก ต้องการและ ไม่ปล่อย หมายความว่าความต้องการนั้นทำให้มีการยึดถือในอารมณ์นั้น และเมื่อมีความต้องการ มีความยึดถือในอารมณ์นั้นเป็นอุปาทานแล้ว ก็ทำให้เกิดภพ คือ มโนสัญเจตนาหาร เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวข้องสืบเนื่องกันของอาหาร จากกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร และมโนสัญเจตนาหาร

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีข้อความเรื่องมโนสัญเจตนาหาร ซึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่งลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา บุรุษสองคนมีกำลังจับเขาที่แขนข้างละคน คร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ก็จักต้องตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นมโนสัญเจตนาหารฉันนั้นเหมือนกัน

    เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ทั้งสามได้แล้ว เมื่ออริยะสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเลย

    ไม่ใช่เพียงฟังเท่านี้และกำหนด และก็รู้ว่า ที่มีผัสสะกระทบทำให้เกิดเวทนา เวทนาเกิดรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ยินดี เป็นสุข เป็นทุกข์ ทำให้เกิดความต้องการ ความต้องการก็ทำให้เกิดความยึดมั่น ความยึดมั่นก็ทำให้เกิดกรรมซึ่งเป็นการกระทำ ที่จะทำให้เกิดวิบากต่อไป เพียงเท่านี้ไม่พอ เพราะแม้ข้อความจะกล่าวไว้เพียงเท่านี้ แต่ผู้ฟังต้องเข้าใจจริงๆ รู้จริงๆ แม้ในมโนสัญเจตนาหาร หรือแม้ในเหตุอื่นๆ ที่จะ ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์

    ความจริงแล้วทุกคนก็ทราบว่า ปริยัติกับปฏิบัติเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แยกกัน ถ้ามีความเข้าใจธรรมแล้วไม่มีปัญหา เพราะเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    และการที่จะเข้าใจพระธรรม ถ้าเพียงได้ฟังส่วนของพระสูตรหรือพระอภิธรรมเป็นบางส่วน ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมแม้บางส่วนที่ได้ฟังนั้นเพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ ทุกท่านจะต้องอดทน ท่านที่ใคร่จะศึกษาพระธรรมมากๆ ก็มีโอกาสทั้งฟังที่นี่ หรือ รับฟังทางวิทยุ หรืออ่านหนังสือ หรือสนทนาธรรมกับสหายธรรม หรือเมื่อได้ฟังแล้ว ไม่ทิ้งไปเลย มีโอกาสก็ระลึกนึกถึงพระธรรมที่ได้ฟัง อาจจะนึกใคร่ครวญถึง ปรมัตถธรรม เหตุผล หรือในขณะนั้นเกิดสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในตอนแรกๆ ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมเลย แม้ว่ากำลังได้ฟังเรื่องของการเห็นเป็นต้น เช่น ในขณะนี้

    ประโยชน์ของพระธรรมที่จะได้รับฟัง คือ ซ้ำ เพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ฟังเข้าใจแล้ว ขั้นฟังเข้าใจแล้วนี่ไม่มีปัญหา จะมากหรือจะน้อย แต่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่ได้ฟังแล้ว ในขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม นั่นเป็นประโยชน์ที่สำคัญมาก

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น เมื่ออาทิตย์ก่อนก็พูด อาทิตย์โน้นก่อนอาทิตย์ก่อนก็พูดเรื่องการเห็น ก็เพื่อที่จะให้เกิดการระลึกได้ รู้ว่าในขณะนี้ก็เป็น เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก และสภาพรู้ก็เป็นเพียงลักษณะรู้หรือ ธาตุรู้ อาการรู้เท่านั้นเอง ชั่วขณะหนึ่ง และสติก็อาจจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะที่กำลังได้ยิน แม้ว่าจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังมา จนชินว่า อาการรู้ ลักษณะรู้ในขณะที่ได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็ต้องระลึกบ่อยๆ ระลึกแล้ว ระลึกอีก เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    บางท่านแม้จะได้ฟังพระธรรมมามาก แต่ก็มีความรู้สึกว่า สติปัฏฐานยังไม่เกิด เพราะได้ยินบางท่านบอกว่า ฟังพระธรรมมาหลายปี หลายปีของท่านนี่ก็หลายปีจริงๆ ไม่ใช่เพียง ๑ ปี ๒ ปี ท่านบอกว่า สติปัฏฐานของท่านไม่ค่อยจะเกิด ก็เป็นความจริง ซึ่งก็ควรจะรู้ว่า การที่สติปัฏฐานจะเกิดนั้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเพราะเหตุปัจจัยแล้ว ก็ต้องฟังต่อไปอีกนั่นเอง จนกว่าการสะสมความเข้าใจพระธรรมทีละเล็กทีละน้อย สิ่งละอันพันละน้อย จะค่อยๆ สะสมปรุงแต่งจนกระทั่งสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีอะไรอื่นในชีวิต นอกจากนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น

    อกุศลก็เป็นของจริง สติปัฏฐานก็เกิดสลับระลึกรู้ลักษณะของอกุศลขณะนั้นได้ขณะที่กำลังเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็เป็นของจริง สติปัฏฐานสามารถเกิดสลับระลึกรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็นได้ และเวลาที่กุศลจิตเกิดก็เป็นของจริง สติปัฏฐานก็สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของกุศลจิตในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้จะไม่ใช่คำว่า สติปัฏฐาน แต่ใช้คำว่า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คนที่เข้าใจแล้วสามารถระลึกรู้ได้ทันที ในขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เท่านี้เอง สลับกันไปเป็นปกติ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ ไม่ใช่พิธีกรรม ไม่ใช่พิธีการ ไม่ใช่แบบแผน ไม่ใช่กฎเกณฑ์อะไรเลย เพียงแต่ชีวิตปกติประจำวันเป็นอย่างไร สติก็สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริงได้

    ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อสติไม่ระลึกแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งปัญหานี้อาจจะอยู่ในใจของหลายคน คิดดูดีๆ เพียงสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จะทำอย่างไร

    บางคนซึ่งไม่มีความมั่นคงในหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง จะทำอย่างอื่นทันที จะพยายามถาม จะพยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจสาตถกสัมปชัญญะ คือ การรู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน ซึ่งการ รู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน ไม่ใช่ขณะที่อ่านตำราและรู้ว่า สติปัฏฐานจะทำให้ปัญญาเจริญเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เป็นในขณะที่ สติไม่เกิดและจะทำอย่างไร ถ้ารู้สาตถกสัมปชัญญะ คือ ระลึกทันที เพราะอะไร ก็เพราะเห็นประโยชน์ของสติ

    ที่ใช้คำว่า เห็นประโยชน์ของสติ คือรู้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้น ปัญญาไม่เจริญ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำวิธีอื่นที่จะเป็นวิธีลัด เมื่อสติไม่เกิด สาตถกสัมปชัญญะมี ก็เห็นประโยชน์ของสติ คือ ระลึกทันที ผู้ที่ระลึกลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ผู้นั้นชื่อว่ารู้สาตถกสัมปชัญญะ คือ รู้ประโยชน์ของสติปัฏฐานว่า ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่แสวงหาวิธีอื่น แต่ประโยชน์คือ ระลึกทันทีเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกให้ระลึกทันที และในหลายๆ เช้ามานี่ กลางคืนก็ด้วย สติไม่เกิด รู้สึกว่าจะไม่มีหิริโอตตัปปะ คือ ไม่เคยละอายเลย สติไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่เคยรู้สึกว่าน่าละอายที่ไม่มีสติเกิด ถ้าบอกว่า ให้มีสติเดี๋ยวนี้ แต่ไม่มี แสดงว่า เราฟังอาจารย์แล้วยังไม่ได้เหตุปัจจัยพอที่สติจะระลึกเดี๋ยวนี้ และยิ่งถ้าบอกว่า ให้มีหิริโอตตัปปะ ก็ยิ่งไม่เกิด คล้ายๆ กับว่า เมื่อสติไม่มีก็ไม่มี ไม่เกิดหิริโอตตัปปะ

    สุ. เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องฟังหลายๆ เรื่องประกอบกัน ถ้าฟังเรื่องของหิริโอตตัปปะแล้วยังไม่มีหิริโอตตัปปะเกิดที่สติจะระลึก ก็ฟังเรื่องอื่น หรือทบทวนเรื่องเก่า เช่น สาตถกสัมปชัญญะ ผู้รู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน ขณะนี้ ถ้ารู้ประโยชน์สติก็ระลึก ขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นไม่ปราศจากสาตถกสัมปชัญญะ

    สัมปชัญญะทั้ง ๔ นี่พร้อมกัน เพราะขณะนั้นเห็นประโยชน์ว่า อย่างอื่นไม่เป็นประโยชน์ จะไปอยู่ป่าก็ไม่เป็นประโยชน์ จะไปทำอย่างอื่น จะไปลุกขึ้นเดิน กิริยาอาการต่างๆ ก็ไม่ใช่ประโยชน์ แต่ประโยชน์ คือ ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นผู้เห็นประโยชน์จริงๆ

    และในขณะนั้นสัปปายสัมปชัญญะก็มี เพราะว่าสภาพธรรมเกิดและดับ ขณะนี้สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแน่นอน สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดมีอายุสั้นมาก และก็ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก สภาพธรรมนั้นก็ดับไปๆ และการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็เพราะสติระลึกที่สภาพธรรม ซึ่งเป็นสัปปายะของสติ เพราะว่าอย่างอื่นไม่เป็นสัปปายะ นอกจากลักษณะของ สภาพธรรม ถ้าจะลุกขึ้นไปเดินและพยายามคิดว่า ขณะเดินนั้นไม่ใช่เรา นั่นไม่มี สัปปายสัมปชัญญะเลย เพราะไม่มีลักษณะสภาพที่เกิดดับปรากฏเพื่อให้ปัญญา เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังพระธรรมจากอาจารย์ ก็ต้องถือว่าเป็นสัปปายะเหมือนกัน เวลาอาจารย์พูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน สภาพธรรมก็มี กลิ่นก็มี เสียงก็มี เมื่อกี้ก็ระลึกสลับกับที่อาจารย์บรรยาย เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์บรรยายก็เป็นสัปปายะอย่างหนึ่งเหมือนกัน

    สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏ ทุกขณะเป็นสัปปายสัมปชัญญะ เพราะว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่จะทำให้ปัญญารู้แจ้งชัดได้

    ผู้ฟัง พูดถึงหิริโอตตัปปะ อย่างสมัยพุทธกาลที่เมืองกุรุ ที่นั่นเขาเจริญ สติปัฏฐาน เขาคุยเรื่องสติปัฏฐานกัน ทักทายกันว่า เจริญสติปัฏฐานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้างหรือยัง ถ้ามีสังคมอย่างนี้มากๆ ผมคิดว่าหิริโอตตัปปะน่าจะเกิดได้ดีกว่าในสมัยนี้

    สุ. สังคมนี้ก็เหมือนสังคมของชาวกุรุ คือ ขณะนี้ฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรม และมีการสนทนากันเรื่องธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อสติที่จะระลึกรู้ ก็เหมือนสังคมของชาวกุรุ คือ ไม่ปราศจากการสนทนาธรรมเรื่องของสภาพธรรมที่สติจะระลึก เป็นสติปัฏฐานทั้งหมด

    พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ทุกคนเกิดมาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกไปทีละวันๆ โดยที่ถ้าไม่พิจารณาและไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันนี้มีความลึกซึ้ง ซึ่งปัญญาจะต้องฟังแล้ว ฟังอีก พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก เพื่อที่จะเข้าใจความลึกซึ้ง ความละเอียดของสภาพธรรม และรู้ว่าการที่ปัญญาจะเจริญนั้น ไม่ใช่ เจริญจากขณะอื่นเลย นอกจากชีวิตซึ่งแต่ก่อนนี้เข้าใจว่าไม่มีอะไร เกิดมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกไปทีละวัน และก็ตาย ดูเหมือนว่า ไม่มีอะไรเลย เพราะความไม่รู้ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมแล้วจะรู้ว่า มากมายเหลือเกิน ที่จะต้องเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าเป็นความละเอียด เป็นความลึกซึ้ง ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง ทุกคนก็จะปล่อยให้วันหนึ่งๆ ผ่านไป เหมือนไม่มีอะไรที่จะต้องเข้าใจ ที่จะต้องรู้จากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เริ่มเห็นความลึกซึ้ง ยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจละเอียดขึ้น เป็นการสะสมความเข้าใจที่จะทำให้สติปัฏฐานมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนในที่สุดสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งนอกจากหนทางนี้ ไม่มีหนทางอื่นเลยที่จะ ทำให้ประจักษ์ความจริงของสัจจธรรมได้ หรือท่านผู้ฟังยังคิดว่ามีหนทางอื่น

    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วันหนึ่งๆ ธรรมดาๆ แต่เรื่องธรรมดาๆ ที่จริงแล้ว ไม่ธรรมดาเลยสำหรับผู้ที่รู้ หรือเริ่มศึกษาให้เข้าใจขึ้น แต่ถ้าไปบอกท่านผู้อื่นที่ยังไม่ได้ศึกษา ท่านก็คิดว่า ไม่จำเป็นต้องรู้

    ถ. หิริโอตตัปปะนี้กล่าวว่า เป็นเหตุใกล้ของศีล เมื่อเข้าใจลักษณะของหิริโอตตัปปะ ซึ่งหิริคือความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาปทุจริตเป็นต้น ในขณะนี้ที่หิริโอตตัปปะเกิดแล้ว ชื่อว่ามีศีลประกอบด้วยหรือเปล่า

    สุ. หิริโอตตัปปเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทุกดวง นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องทราบว่า แม้ขณะที่เกิดกุศลจิตที่จะให้ทาน ขณะนั้นก็ต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิกครบทั้ง ๑๙ ดวง จะขาดดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้เลย แต่ถ้าลักษณะของเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดไม่ปรากฏ ซึ่งก็เป็นเหตุที่หลายท่านบอกว่า ไม่เห็นรู้ลักษณะของหิริและโอตตัปปะ ขณะที่ให้ทานไม่เห็นเลยว่า มีหิริ มีโอตตัปปะในขณะไหน

    ในขณะนั้นเมื่อเป็นกุศลจิต โสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมดต้องเกิดร่วมด้วย จะปราศจากศรัทธาไม่ได้ ปราศจากหิริ ปราศจากโอตตัปปะ ปราศจากอโลภะ อโทสะ หรือปราศจากตัตรมัชฌัตตตาไม่ได้เลย ซึ่งเจตสิกที่เป็นโสภณสาธารณะ ๑๙ และมีอัญญสมานาเจตสิกอีก ถ้ารวมกันแล้วก็มากกว่า ๑๙ สำหรับเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ๑ ขณะ แต่จิตสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพียงทีละอย่างเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏในขณะนั้นและสติระลึกจึงรู้ แต่ถ้าไม่มีการระลึก แม้เจตสิกจะเกิดตั้ง ๒๐ - ๓๐ กว่าประเภท ก็ไม่รู้เลยว่าในขณะที่กำลังให้ทานนั้น มีหิริเจตสิก มีศรัทธาเจตสิก มีโอตตัปปเจตสิก และมีอัญญสมานาเจตสิกอื่นๆ อีกที่เกิดร่วมด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564