แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
ครั้งที่ ๑๙๘๖
สาระสำคัญ
ผู้ที่ว่าง่ายหรือผู้ว่ายาก - เห็นประโยชน์ของการอภัย
ขุ. อุ. อรรถกถาโลกสูตร - สัตว์โลกนี้นั้นถูกทุกขธรรมครอบงำ
ขุ.ชา. อรรถกถา ทรีมุขชาดกที่ ๓ - คนบ้าในโลกนี้ มี ๘ จำพวก
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
ถ. ขณะที่ปัญญาพิจารณารู้นั้น ยังไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เพียงแต่ระลึกในลักษณะที่ปรากฏเฉยๆ
สุ. เวลาที่รู้สภาพที่แข็ง และมีความเข้าใจว่า แข็งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อไป ซึ่งก่อนนี้แข็งเคยเป็นถ้วยแก้ว แข็งเคยเป็นหนังสือ แข็งเคยเป็นช้อนส้อม แต่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แข็งเป็นสภาพแข็ง เป็นสภาพที่มีจริง อย่างหนึ่ง ขณะนั้นก็ไม่มีถ้วยแก้ว ไม่มีหนังสือ ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ เป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ. ขณะนั้นชื่อว่ารู้อนัตตลักษณะหรือยัง
สุ. ไม่ต้องใช้ชื่อได้ไหม การอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อไถ่ถอนความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าคนที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด บอกเขาเท่าไรว่าไม่มีตัวตนเขาก็ไม่เชื่อ อย่างไรๆ ก็ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด สำหรับคนที่ฟังพระธรรมมากๆ แล้ว ขั้นฟังก็มีความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม แต่ทำไมเวลาที่กระทบทั้งวันไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า มีขณะที่หลงลืมสติคือไม่รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง กับขณะที่สติเกิดและรู้ว่าเป็นธรรมอีก อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ผิดปกติเลย เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะเกิดสลับกับหลงลืมสติ และจะมีความรู้ว่า แข็งธรรมดาๆ ซึ่งก็แข็งเป็นปกติ เวลาสติปัฏฐานเกิด แข็งนั้นก็ไม่เปลี่ยน เพราะ ถ้าเปลี่ยน จิตใจจะหวั่นไหว มีความรู้สึกกระเพื่อม จะด้วยประการใดก็ตาม ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องเพื่อละคลาย และรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปกติ ต้องรู้ถึงความเป็นปกติด้วย และรู้ความต่างกันว่า ขณะที่รู้แข็งในวันหนึ่งๆ นั้น หลงลืมสติเป็นอย่างไร และเวลาที่สติปัฏฐานเกิดเป็นอย่างไร
ส่วนที่จะใช้คำว่า รู้สภาพที่เป็นอนัตตา ใช่ไหม หรืออะไร ก็คือว่า ขณะใดที่ รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ขณะนั้นเป็นอนัตตาแล้ว ไม่ต้องมายืนยันกันอีกว่า ขณะนั้นเป็นการรู้สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เพียงแต่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังเกิดดับ เพราะว่าสติเพิ่งเริ่มที่จะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมเพียงบางลักษณะเท่านั้นเอง
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แม้ในขณะนี้ จะหลงลืมสติ และสติจะเกิดเพียงชั่วขณะสั้นๆ ก็เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ถ้า เป็นตามปกติจริงๆ จะไม่หวั่นไหว แต่ถ้าผิดปกติจะหวั่นไหว เพราะฉะนั้น ปัญญา ก็มีเครื่องทดสอบว่า ขณะนั้นเป็นความรู้ในลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนทั่วหรือยัง เพราะว่าบางทีก็ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมนั้นบ้าง นามธรรมนี้บ้าง เนื่องจาก ระลึกยังไม่ทั่ว ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ อย่างทางตาที่พูดถึงบ่อยๆ หรือเกือบจะทุกครั้งเพื่อที่จะให้สติเริ่มเกิด เพราะถ้าอยู่ที่อื่นและไม่มีการพูดเรื่องสติสัมปชัญญะ ไม่มีการพูดเรื่องเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็จะหลงลืม ไม่มีการรู้เลยว่าขณะนี้เป็นเพียงสภาพรู้ทางตาที่เห็นชั่วขณะ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ ก็ปรากฏชั่วขณะเท่านั้นเอง
ถ้าจะรู้สัญญาขันธ์หรือสัญญาเจตสิก ก็รู้ว่า ขณะที่จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเพราะจำสิ่งที่ปรากฏ เป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏขณะใด ขณะนั้นก็สามารถรู้สภาพที่จำในเรื่องราวนั้นได้
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมดตามที่กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้กล่าวชมเชยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แจ่มแจ้งนัก และประการสุดท้ายที่ท่านกล่าวว่า เพราะประโยชน์เกื้อกูลที่ต้องพิจารณา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า การไม่พิจารณาพระธรรม เพียงฟังเฉยๆ ไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟัง สิ่งใดแล้ว ยิ่งพิจารณา จะยิ่งเข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัส ส่วน ท่านผู้ใดจะได้ประโยชน์มากน้อยจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ต้องแล้วแต่ว่า ท่านผู้นั้นพิจารณาพระธรรมมากหรือน้อย เข้าใจพระธรรมมากหรือน้อย ประพฤติปฏิบัติตามได้มากหรือน้อยตามการสะสม
มีท่านผู้หนึ่งมาสนทนาธรรมด้วย ได้เล่าให้ฟังถึงความทุกข์ของท่านที่ท่าน ไม่สบายใจ ท่านโกรธ และมีความผูกโกรธ ไม่สามารถให้อภัยในความผิดของ คนอื่นได้ ดิฉันก็ได้ถามท่านว่า ท่านฟังพระธรรมมากี่ปีแล้ว ท่านตอบว่า ๒๐ ปีแล้ว
คิดดู ฟังพระธรรมมาแล้ว ๒๐ ปี แต่แม้กระนั้นเวลาที่ชี้แจงเหตุผลให้ท่านได้เห็นโทษของความโกรธนานาประการ และเห็นประโยชน์ของการอภัยที่จะให้ลืมเรื่องเก่าๆ และเริ่มตั้งต้นใหม่ ท่านก็ยังบอกว่า ท่านไม่แน่ใจว่าท่านจะทำได้หรือเปล่า แต่ท่านได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ๒๐ ปี
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านเป็นผู้ที่ว่าง่ายและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือยังเป็นผู้ที่ว่ายาก
สมมติว่าขณะนี้ ที่นี่เป็นพระวิหารเชตวัน ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้ที่พากันไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ได้ฟังพระธรรม เหมือนกับข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่มีความต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับท่านผู้ฟังที่จะพิจารณา ที่จะได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากพระธรรม คือ ถ้าชาตินี้ยังอภัยให้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่สมมติว่า ที่นี่ขณะนี้เป็นพระวิหารเชตวัน ต่อไป ๒,๕๐๐ ปีข้างหน้าก็คงไม่ให้อภัย เพราะ ถ้าย้อนวันนี้ถอยไป ๒,๕๐๐ ปีที่พระวิหารเชตวันคงไม่ได้ให้อภัย ดังนั้น ๒,๕๐๐ ปี ที่ผ่านมาจนถึงเดี๋ยวนี้ จึงยังอภัยให้ไม่ได้
นี่เป็นเครื่องที่จะทำให้ท่านผู้ฟังพิจารณา เพื่อให้เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ว่า ต้องเป็นกุศลธรรม และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลยนั้น คือ อกุศลธรรม ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น ชื่อว่าแจ่มแจ้งกับผู้ที่ไม่ให้อภัยหรือเปล่า
บางท่านบอกว่า ท่านฟังพระธรรมไม่ค่อยจะเข้าใจ แต่ถ้าพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามไปเรื่อยๆ ความเข้าใจในพระธรรมต้องมีเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเพียงเข้าใจ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะชื่อว่าเข้าใจจริงๆ ไม่ได้ แต่เมื่อเข้าใจแล้ว และประพฤติปฏิบัติตาม จึงชื่อว่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแจ่มแจ้งกับ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม
ขอกล่าวถึงชีวิตของอีกท่านหนึ่ง ที่เตียงนอนของท่านมีสมุดจดเล่มเล็กๆ พร้อมดินสอ ขณะที่ท่านฟังพระธรรมทางวิทยุในเวลา ๖ โมงเช้า และบางวัน ตั้งแต่ตี ๕ ท่านจดข้อความที่ท่านประทับใจไว้เพียงสั้นๆ เป็นหัวข้อ ซึ่งหลังจากที่ท่านบริโภคอาหารเช้า และกระทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ แล้ว ท่านก็พิจารณาข้อความ ที่ท่านจดไว้และไตร่ตรองเพื่อความแจ่มแจ้ง เพื่อเข้าใจในเหตุผล แต่ท่านไม่ได้ฟังรายการธรรมตอน ๓ ทุ่ม
และสำหรับบางท่าน การฟังพระธรรมตอน ๖ โมงเช้ากับ ๓ ทุ่ม เป็นเวลาที่ ไม่สะดวกสำหรับท่าน เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีธุรกิจการงานมาก เป็นผู้นอนดึก ตื่นสาย แม้มีศรัทธาที่จะตื่นมาฟังตอน ๖ โมงเช้า บางทีก็ง่วงหลับไป แต่เวลาที่ท่านผู้นี้มีเวลา ท่านก็อ่านพระไตรปิฎกและชาดกต่างๆ เพื่อที่จะพิจารณาเห็นชีวิตและการสะสมบารมีของพระโพธิสัตว์ในแต่ละพระชาติ เพื่อความไม่ประมาทของท่านเอง
แสดงให้เห็นว่า การสะสมของแต่ละคนและชีวิตปัจจุบันแต่ละท่าน ย่อมต่างกันไปตามกรรมและการสะสมของกุศลและอกุศล ซึ่งทุกคนที่เกิดมาแล้ว พิจารณาดูได้ว่า มีใครบ้างไหมที่ไม่มีความทุกข์เลย และคนที่บอกว่าเป็นทุกข์มากนั้น ทุกข์อะไร ทุกข์กายมาก หรือทุกข์ใจมาก เพราะว่าความทุกข์มี ๒ อย่าง ทุกข์กาย เมื่อมีกายก็มีทุกข์ แต่ทุกข์ใจ แม้กายไม่เป็นทุกข์ แต่ใจก็เป็นทุกข์ ซึ่งไม่น่าจะต้อง เป็นทุกข์เลย ในเมื่อกายไม่เป็นทุกข์ ทำไมต้องให้ใจเป็นทุกข์ในเมื่อกายไม่เดือดร้อนอะไรเลย ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่แม้กระนั้นความทุกข์ก็มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ
ผู้ที่เป็นทุกข์มี และผู้ที่ดับทุกข์แล้วก็มี ซึ่งผู้ที่จะดับทุกข์ต้องเป็นผู้ที่อบรม เจริญปัญญาแล้วเท่านั้นจึงจะดับทุกข์ได้ ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาโลกสูตร มีข้อความว่า
สัตว์โลกนี้นั้นถูกทุกขธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ เมื่อไม่อาจอดกลั้นไว้ได้ เพราะไม่ได้เจริญอนัตตา จึงบ่นเพ้อไปโดยนัยมีอาทิว่า โอทุกข์ ทุกข์เช่นนี้จงอย่ามี แม้แก่ตัวของเรา จึงกล่าวถึงโรคของตนอย่างเดียว แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อละโรคนั้น
มีความรู้สึกว่าเป็นโรคหรือเปล่า เวลาที่เป็นทุกข์และพูดถึงแต่เรื่องของความทุกข์ใจต่างๆ ขณะนั้นก็เหมือนกับคนที่บ่นเพ้อเรื่องทุกข์ แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อละโรคหรือละทุกข์นั้นเลย เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นผู้บ่นเพ้อว่า โอทุกข์ และขอว่า ทุกข์เช่นนี้จงอย่ามีแม้แต่ตัวของเรา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงโรคของตนเองอย่างเดียว แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อละโรคนั้นต่อไป หรือว่าจะเป็นผู้ที่ไม่บ่นเพ้อว่าเป็นทุกข์ แต่ปฏิบัติเพื่อละโรคทุกข์นั้น
นี่เป็นสิ่งซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงนั้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลที่ต้องพิจารณา มิฉะนั้นแล้วจะได้รับประโยชน์จาก พระธรรมเพียงขั้นฟัง แต่ไม่ใช่ขั้นประพฤติปฏิบัติตาม
ผู้ที่ทอดทิ้งกิเลสไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวว่าเป็นคนบ้า ขาดสติ
พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง เพื่อชี้ให้ผู้ที่ได้รับฟังพิจารณาแล้วพิจารณาอีก เพื่อให้เห็นตัวเองชัดเจนตามความเป็นจริง ตามขั้นของปัญญา ตามขั้นของการไตร่ตรองพิจารณาธรรม
ขุททกนิกาย ชาดก อรรถกถาทรีมุขชาดกที่ ๓ มีข้อความว่า
ได้ทราบว่าคนบ้าในโลกนี้มี ๘ จำพวก
ในที่นี้มีใครไม่บ้าบ้าง ถ้าไม่รู้ ก็คิดว่าไม่บ้า แต่ถ้ารู้ก็ต้องเป็นบ้า เพราะว่า ยังทอดทิ้งกิเลสทั้งหลายไม่ได้
เพราะฉะนั้น โบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า คนที่ได้สัญญาว่าเป็นบ้า มี ๘ จำพวก คือ
๑. บ้ากาม (กามุมฺมตฺตโก) มัวเมาในกาม (คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) คือ ตกอยู่ใต้อำนาจจิต (จิตฺตวสงฺคโต) ของผู้อื่น และ ตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ (โลภวสงฺคโต)
เพราะว่าทุกท่านที่ยังมัวเมาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตกอยู่ใต้อำนาจจิตของคนอื่น พอใจที่จะเป็นไปตามจิตของคนอื่น เพื่อสรรเสริญบ้าง เพื่อยศบ้าง เพื่อคำชมเชยบ้าง แสดงให้เห็นว่า ทุกท่านที่ยังไม่ได้ทอดทิ้งกิเลสทั้งหลาย ยังคงเป็นผู้ที่มัวเมาในกาม เป็น กามุมฺมตฺตโก เป็นผู้ที่บ้าในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
๒. บ้าโกรธผู้อื่น (โกธุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ใต้อำนาจวิหิงสา (วิหึสาวสงฺคโต) คนอื่น
คือ เบียดเบียนคนอื่น มุ่งเบียดเบียนผู้ที่ตนโกรธ
เวลาที่โกรธใคร เวลานั้นจิตใจไม่สบาย นอกจากจิตใจไม่สบายแล้ว ระวังกายกับวาจาด้วย เพราะถ้าความโกรธนั้นมีกำลัง กายจะมีการประทุษร้ายเบียดเบียน วาจาก็เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะที่โกรธจัดๆ ลักษณะอาการก็เหมือนคนบ้า ไม่ต่างกันเลย และวันหนึ่งๆ หรือชาติหนึ่งๆ หรือในอดีต ใครที่เคยโกรธจัดๆ มากๆ ก็ย้อนนึกถึงในกาลนั้นว่า ลักษณะอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของคนที่ บ้าโกรธคนอื่นนั่นเอง
น่าโกรธไหมคนอื่น คิดดู เป็นกรรมของเราเองหรือเปล่าที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ อย่าคิดว่ามาจากคนอื่น แม้แต่เสียง ซึ่งคนนั้นอาจจะมีเจตนา จงใจ ตั้งใจที่จะกล่าวคำให้ท่านกระทบ กระเทือนใจ แต่ถ้าไม่ใช่กรรมของท่านเอง ท่านจะไม่ได้ยินเสียงนั้นเลย อาจจะนอนหลับสนิท หรือแม้ได้ยินก็ผ่านไปไม่สนใจ มีหูก็เหมือนหูหนวก คือ ไม่สนใจคำที่จะ ทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สบาย และถ้าระลึกได้ว่าเป็นกรรมของเรา ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงเสียงซึ่งเกิดและดับไปเท่านั้นเอง แต่สัญญา ความจำ ในความเป็นตัวตน ในความเป็นสัตว์ ในความเป็นบุคคล ทำให้ไม่ลืม และก็คิด และก็โกรธคนอื่น แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ
๓. บ้าความเห็น (ทิฏฺฐุมฺมตฺตโก) บ้าทฤษฎี หรือบ้าลัทธิ ตกอยู่ใต้อำนาจความเข้าใจผิด (วิปลฺลาสวสงฺคโต)
จะเห็นได้ว่า หลายคนแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา เพราะไม่ได้ศึกษา พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ต่างคนก็ต่างมีความเห็น ในเรื่องโลกบ้าง ในเรื่องตายแล้วเกิดบ้าง ในเรื่องตายแล้วสูญบ้าง ในเรื่องลัทธิต่างๆ บ้าง แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่บ้าความเห็น
๔. บ้าความหลง (โมหุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ในอำนาจความไม่รู้
๕. บ้ายักษ์ (ยกฺขุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ในอำนาจยักษ์ (ยกฺขวสงฺคโต)
ถ้าไม่มียักษ์ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจของความกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วแต่จิตจะคิด ขณะนั้นไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด ได้ยินสิ่งใด ก็จะทำให้ตกใจ มีความกลัว จนกระทั่งเป็นบ้าได้
๖. บ้าดีเดือด (ปิตฺตุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ในอำนาจของดี (ปิตฺตวสงฺคโต)
เพราะส่วนที่เรียกว่า ดี เลือด หนองต่างๆ ก็คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ส่วนที่สัมพันธ์กันในร่างกายที่ไม่เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ก็ย่อมเป็นเหตุประการหนึ่งที่จะทำให้ขณะนั้นเป็นผู้ที่จิตใจผิดปกติ เป็นไปตามกำลังของความป่วยไข้ของร่างกาย
๗. บ้าสุรา (สุรุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ใต้อำนาจการดื่ม (ปานนวสงฺคโต) (หรือการเสพของมึนเมา)
๘. บ้าเพราะความสูญเสีย (พฺยสมุมฺมตฺตโก) คือ ตกอยู่ใต้อำนาจของความเศร้าโศก (โสกวสงฺคโต)
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าพิจารณาจริงๆ และไม่อยากเป็นคนบ้าประเภทหนึ่งประเภทใด ก็มีทางเดียว คือ ต้องเป็นผู้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถละโรคทางใจ คือ ความทุกข์ต่างๆ ได้ เมื่อมีกายอยู่ ก็ยังมีโรคกาย แต่โรคของใจคือความไม่สบายใจต่างๆ จะค่อยๆ ลดน้อยลงตามกำลังของปัญญาที่พิจารณาธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๙ ตอนที่ ๑๙๘๑ – ๑๙๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015