แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991


    ครั้งที่ ๑๙๙๑


    สาระสำคัญ

    วัณณธาตุในมหาภูตรูป

    ทุกคนอยู่ในโลกของความคิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔


    พระ โยมอาจารย์ได้แนะนำลักษณะของธรรมที่อบรมได้ด้วยการได้ยินได้ฟังและรู้ขันธ์ทั้ง ๕ ทำให้บางครั้งอาตมาคิดว่า ธรรมที่ยังไม่สามารถรู้ได้ เช่น ผัสสะ เป็นต้น ก็พยายามที่จะรู้ โดยไม่ได้คิดว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ก็มีธรรมอื่นๆ อีกที่รู้ได้ และ ยังไม่รู้ละเอียด ยังปะปนกันอีกมาก รู้สึกว่าบางครั้งไม่ใช่ลักษณะของปัญญาที่จะรู้ เช่น ได้ยินลักษณะของผัสสะว่ามีธรรม ๓ อย่างเป็นต้น มีจักขุวิญญาณ รูปารมณ์ และมนสิการ ก็คิดว่าการน้อมพิจารณาถึงรูปารมณ์ จักขุปสาท และจักขุวิญญาณ จะทำให้คิดถึงผัสสะได้ แต่ลืมไปว่า ตอนนั้นไม่ใช่ความคิด

    สุ. ทั้งหมดเป็นเรื่องคิดที่จะรู้ แต่ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญความรู้ในสิ่งที่ปรากฏแล้ว ขณะนี้ทางตามีสิ่งที่ปรากฏแล้ว ก็เจริญความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้ว เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ ไม่ใช่อยากจะไปรู้ อย่างอื่นซึ่งไม่ปรากฏ

    พระ ต้องอาศัยการฟังจนมั่นคง ไม่อย่างนั้นโลภะก็แทรก ควรจะค่อยๆ รู้ ทีละลักษณะ เพราะเมื่อรู้ลักษณะนี้ก็ต่างกับลักษณะนั้น ครั้งแรกที่อาตมาเจริญอบรมที่ได้ยินมาใหม่ๆ ทางตากับทางหู ก็ยังไม่สามารถรู้ว่าธรรมมี ๒ ทาง จนกระทั่งมีถึง ๖ ทางก็ยังไม่รู้ ยังไม่ต้องพูดถึงปรมัตถธรรมเลย แต่เมื่อค่อยๆ สังเกตไปทีละทาง ก็เริ่มเชื่อว่า ธรรมที่พระพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ละเอียด และต้องอาศัยเวลา

    สุ. สำหรับทางตาเป็นปัญหาใหญ่อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเห็นแล้ว ก็เคยชินกับการยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทำอย่างไร ฟังอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ทำอย่างไรคงต้องตัดออก หนทางเดียว คือ ศึกษาให้เข้าใจ

    ขอย้อนมาที่เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งพระคุณเจ้าได้กล่าวถึงการสนทนาในระหว่างผู้ที่ฟังธรรม และสงสัยในเรื่องของรูปารมณ์ สงสัยจริงๆ ทั้งๆ ที่รูปารมณ์กำลังปรากฏ เพราะไม่รู้ในปรมัตถลักษณะของรูปารมณ์ เพราะ เคยเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ที่จะถ่ายถอนความที่เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นก็ยาก ต้องอาศัยการฟังเรื่องของรูปารมณ์เพื่อให้ทราบว่า รูปารมณ์มีอยู่ใน กลุ่มของรูปทุกกลุ่ม แม้แต่กลุ่มที่เล็กที่สุดซึ่งแยกไม่ออกอีกเลย ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ และอีก ๔ รูป ซึ่งเป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ได้แก่ สี กลิ่น รส โอชา

    จะใช้คำว่า สี หรือจะหมายความถึงธาตุที่ปรากฏเมื่อกระทบตาก็ได้ ซึ่งทุกท่านก็รู้ว่าทุกกลุ่มของรูปมีรูปนั้น แต่ทำไมเวลามืดๆ มองไม่เห็น มีตาจริง มองในที่มืดก็จะเห็นเป็นความมืด แต่ไม่เห็นวัณณธาตุหรือรูปที่ปรากฏเมื่อกระทบตา ต้องอาศัยแสงสว่างเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งแสดงไว้ว่า แสงสว่างเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้วัณณธาตุในมหาภูตรูปปรากฏ ซึ่งก็เป็นความจริง

    ถ้ากระทบสัมผัสก็แข็ง และถ้ามืดๆ ก็ไม่เห็นอะไรเลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่สว่างอะไรปรากฏ จะใช้คำว่า อาภาธาตุคือแสงสว่างก็ได้ แต่ไม่ใช่แสงเท่านั้น มีสีอื่นปรากฏด้วย และสีอื่นนั้นมาจากไหน ก็จากรูปที่เกิดจากมหาภูตรูปแต่ละ กลุ่มนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นเพียงแสงสว่าง ย่อมไม่มีสีอื่นเลย จะมีแต่ ความสว่างเพียงอย่างเดียว แต่เพราะในกลุ่มของรูปทุกๆ กลุ่ม ต้องมีวัณณะ หรือ รูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ และจะปรากฏโดยอาศัยแสงสว่างเป็นปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง

    ที่กล่าวว่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ก็เพราะว่าทำให้วัณณธาตุในมหาภูตรูปปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ จะเป็นอะไรก็ตาม จะอยู่ที่ไหนในมหาภูตรูป หรือ จะเป็นวัณณธาตุมาจากไหน เป็นแสงสว่างมาจากไหน นั่นเป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมด แต่เวลานี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา คือ ขณะนี้เองมีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เหมือนมองในกระจกเงา มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏในกระจกเป็นรูปร่าง เป็นสัณฐานต่างๆ ทำให้คิดว่า มีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ มากมายในกระจก แต่ ความจริงในกระจกจริงๆ ไม่มีอะไรเลย ฉันใด ทางตาก็เสมือนอย่างนั้น คือ เหมือนกับว่ามีคน มีสัตว์ มีวัตถุต่างๆ จากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ความจริงแล้ว รูปรูปหนึ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นเอง รูปอื่นไม่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้

    ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้มีการระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตานั้นไม่ใช่รูปอ่อน รูปเย็น รูปร้อน รูปแข็ง รูปกลิ่น รูปรส แต่เป็นรูปอย่างหนึ่ง ซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ เมื่อไม่ปรากฏ ก็จำ และนึกถึงบัญญัติของ สิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สีปรากฏหรือจะใช้คำว่าแสงปรากฏเป็นสีต่างๆ ก็ตามแต่ อะไรก็ได้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เมื่อปรากฏแล้ว สัญญาแทนที่จะจำให้ถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ก็กลับจำเป็นบัญญัติ คือ จำเรื่องราวจากสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นคนชื่อนั้น ชื่อนี้

    ให้สังเกตว่า สัญญาจำบัญญัติไว้มาก เพราะว่าเวลานึกถึงคนหนึ่งคนใด เรื่องหนึ่งเรื่องใด นึกเป็นเรื่อง ไม่ได้นึกเป็นสีว่า ขณะที่กำลังนึกถึงคนนั้น เขาใส่เสื้อ สีอะไร ดอกอะไร แบบอะไร รูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร ไม่ได้นึกถึงเลย แต่นึก เป็นเรื่องทั้งหมด เช่น ในความฝัน เวลาฝันก็คือนึกถึงเรื่อง เป็นเรื่องหมด น้อยครั้ง ที่จะฝันเป็นสีว่าใส่สีแดง หรือใส่สีฟ้า หรือขับรถสีอะไร แต่ปกติแล้วเป็นเรื่องทั้งหมด ถ้าถามว่าเมื่อคืนที่ฝันถึงคนนั้น คนนั้นแต่งตัวอย่างไร จะตอบไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่อง

    แม้แต่วันนี้เอง ทุกคนกลับไปบ้านแล้วคุยกันเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ และถามถึง สีหนึ่งสีใดของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ในห้องนี้ จะไม่มีใครตอบได้ เพราะว่าจำบัญญัติ จำเรื่องราว

    แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามที่ปรมัตถธรรมไม่เป็นอารมณ์ ขณะนั้นคิดนึก ในเรื่องบัญญัติ ในสิ่งที่ไม่มีจริง ในสิ่งซึ่งปรมัตถธรรมได้ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว แต่อัตตสัญญาจำผิด จำเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ไว้ ให้รู้ว่าขณะใดที่จิตคิดเรื่องบัญญัติ เฉพาะในขณะที่คิดเท่านั้นที่ดูเสมือนว่ามีเรื่องนั้น มีคนนั้น แต่เพียงชั่วขณะ ที่คิด

    ไม่ได้พบใครมาหลายปี เขาจะอยู่หรือตายก็ไม่รู้ อาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะว่าไม่ได้พบกันนานแล้ว อยู่หรือตายไม่มีความหมายเลย เมื่อไม่รู้ว่า เขาตายแล้ว อาจจะคิดถึงคนนั้น แต่เวลาคิดถึงคนนั้น คิดถึงสีเสื้อผ้าหรือเปล่า คิดถึงรูปร่างลักษณะรองเท้าที่เขาใส่หรือเปล่า ก็ไม่มีเลย เป็นเรื่องทั้งหมด

    แสดงให้เห็นถึงความจำเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ และมีเสียงกระทบหูก็เพิ่มความจำเรื่องราวของบุคคลต่างๆ วัตถุต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นอย่างนี้ตลอดเวลาที่จิตเกิดขึ้นไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มที่จะแยกเพื่อรู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรม ที่มีจริง ที่ปรากฏ โดยไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แต่ขณะใดที่คิดนึก ขณะนั้นเป็นบัญญัติทั้งหมด ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ปรมัตถ์จริงๆ แล้วสั้นมาก เล็กน้อยมาก ถูกบัญญัติปิดบังปกคลุมจนกระทั่งไม่รู้ถึงการเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของปรมัตถธรรม ทางตาในขณะนี้ ทางหูในขณะนี้ และทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะใดที่นึกเป็นเรื่องเป็นราว ก็รู้ว่าไม่มีสาระ เป็นแต่เพียงความคิดเท่านั้นเอง สาระจริงๆ อยู่ที่ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏแต่ไม่รู้ความจริงว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จะทำให้สติปัฏฐานระลึกที่ลักษณะสภาพปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสาระที่จะทำให้เห็นความจริงว่า เป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป หมดไป ส่วนเรื่องราวใครจะคิดเรื่องอะไรอย่างไร ก็คือเรื่องของคิดทั้งนั้น และก็จบ เมื่อไม่คิดก็ไม่มี

    บางท่านที่ไม่ได้พบใครนานๆ สัก ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางทีอาจจะลืมแม้ชื่อของ คนนั้น และถ้าจะนึกถึงคนนั้นก็เลือนราง ไม่เหมือนกับคนที่พบกันบ่อยๆ แต่ถึงแม้ คนที่พบกันบ่อยๆ วันนี้ถ้าจะนึก ก็นึกไม่ออกว่าจะนึกถึงเสื้อตัวไหนหรือ กิริยาอาการอย่างไร เพราะว่าเป็นไปตามความนึกคิด และความคิดของเราทุกคนสามารถจะคิดอะไร อย่างไร ได้ทุกอย่าง

    แสดงให้เห็นว่า คิดคือเรื่องคิด ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น และความคิด ในขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เพราะสัญญา ความจำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่จำเพียงสี แต่จำเป็นเรื่อง ส่วนสภาพจิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม

    ถ้าเป็นอย่างนี้ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็จะสบาย คือ รู้ว่าคิดอะไรก็ชั่วขณะหนึ่ง และขณะนี้ก็มีปรมัตถธรรมที่สติจะระลึกและรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และต้องเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมให้ถูกต้อง ให้ชัดเจน ให้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปพยายามจะทำอย่างไรจึงจะรู้รูปารมณ์ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า รูปารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงและปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ส่วนเรื่องความคิดนึกทั้งหมดมาจากการเห็นและคิด การได้ยินและคิด เพราะฉะนั้น ทุกคน อยู่ในโลกของความคิด แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในขณะที่คิด

    ถ้าเป็นอย่างนี้ได้จะเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานตามปกติ ไม่เดือดร้อน เพราะว่า ยิ่งเป็นปกติ ยิ่งรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าผิดปกติ ไม่มีทางที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง เป็นชาวเยอรมัน ท่านสนใจในการปฏิบัติมาก เพราะว่าท่านศึกษาปริยัติที่ต่างประเทศ และไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้รู้ สภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ท่านก็เดินทางไปประเทศต่างๆ ที่มี การปฏิบัติธรรม ประเทศแรกที่ท่านไปคือประเทศอินเดีย ท่านเล่าให้ฟังว่า มีการปฏิบัติมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ทราบว่าวิธีนี้ที่เมืองไทยมีหรือเปล่า ที่เล่ามาวิธีหนึ่งคือ ทุกคนที่นั่นต้องนั่งขัดสมาธิ ทำเหมือนกันหมด คือ หายใจอย่างแรงๆ ก็เป็นเสียงกระฟืดกระฟาดของลมหายใจมากมาย ไม่รู้จะทำทำไม มีประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ต้องทำ ไม่มีใครที่จะต้องทำ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพียงแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกได้และเข้าใจ ให้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียง สภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น

    พระ เรื่องของรูปารมณ์ การสนทนากันวันนั้นอาตมาก็อยู่ด้วย และผู้ที่ถาม ก็เคยฟังธรรมจากโยมอาจารย์สุจินต์ มีความสนใจและศึกษาอยู่ มีการสังเกต รูปารมณ์ ขณะที่สนทนาธรรมกันอยู่ มองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขณะนั้นสติเกิดขึ้นพิจารณา สิ่งรอบๆ ข้าง แต่ขณะที่สังเกต มีสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน ก็สงสัยขึ้นมาว่า จะเป็นรูปารมณ์หรือไม่ใช่รูปารมณ์

    อย่างอาตมาฟังธรรมอยู่ ก็ดูอาจารย์สุจินต์ แต่สิ่งรอบๆ ข้าง ขณะนั้นอาตมา ก็สังเกตว่า ไม่รู้สัณฐาน ไม่รู้สิ่งต่างๆ มีแต่เพียงสีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะนั้น ขณะที่เริ่มสนใจ ก็ไม่มีอาจารย์สุจินต์แล้วด้วย ไม่ทราบว่าตรงนี้เป็นลักษณะของรูปารมณ์หรือเปล่า

    สุ. สงสัยในชื่อรูปารมณ์ หรือในลักษณะของรูปารมณ์

    พระ สงสัยด้วยว่า สติปัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. ก่อนอื่นต้องทราบว่า รูปารมณ์ปรากฏแล้ว แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ว่า รูปารมณ์เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นปัญญา โดยอาศัยการฟังอย่างมาก ที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ระลึกได้บ่อยๆ นั่นคือการที่จะเริ่มเข้าใจว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นมีจริง และ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะปรากฏทางตาเท่านั้น

    พระ เรื่องของอัตตสัญญา ส่วนใหญ่แล้วเราเคยชินที่จะใช้หรือจะทำสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เพราะว่าสะสมความเป็นอัตตามานานมาก จนกว่าจะเริ่มฟังธรรม และ เข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายไม่มีตัวตนจริงๆ ต้องมีความมั่นคง มั่นใจ สติปัฏฐานเริ่มเกิด จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด จึงจะมีอนัตตาสัญญา

    อาตมาสงสัย ได้ยินโยมพูดว่า ขณะใดเห็นเป็นสัตว์ บุคคล หรือเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นอัตตสัญญา แต่โดยองค์ธรรมของอัตตสัญญา คือ สัญญาเจตสิก ซึ่งเกิดได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากตะ อัตตสัญญา ขณะที่กุศลเกิดขึ้นก็เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานเหมือนกัน แต่ไม่เคยมีใครพูดว่า กุศลจิตนี่อัตตสัญญา

    สุ. เพราะว่าในขณะนั้นกุศลจิตกำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ถ. แต่ก็มีรูปร่างสัณฐาน

    สุ. เป็นบัญญัติ สามารถรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้น ผู้ที่มีปัญญาจะรู้ว่า เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งกำลังรู้บัญญัติ

    เป็นจิตทั้งหมด ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นความจริง หลังจากที่เห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะที่กำลังรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรก็จริง และเป็นกุศลได้ เป็นอกุศลก็ได้ และเป็นสติปัฏฐานโดยรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เรา สติปัฏฐานต้องขณะหนึ่งขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมทั้งหมดเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ขณะที่รู้บัญญัติ ก็เป็นแต่เพียงจิตที่ไม่ใช่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    พระ อาตมาอ่านในปรมัตถธรรมว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็นอนัตตาแล้ว หลังจากที่วิปัสสนาญาณดับไปแล้วจึงจะเริ่มมีอนัตตสัญญา เมื่อดับไปแล้ว โลกก็รวมกันเหมือนเดิม

    สุ. แต่ก่อนที่จะมีอนัตตสัญญาขั้นวิปัสสนาญาณ ต้องมีการอบรมเจริญ ที่จะรู้ความจริงว่า อนัตตสัญญาเป็นอย่างไร จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง

    พระ คือ เริ่มศึกษาพิจารณาถึงลักษณะ

    สุ. เป็นไปตามปกติ ผลต้องเกิดตามควรแก่เหตุ ถ้าใจร้อนอยากให้ผล เกิดเร็วๆ ควรพิจารณาว่าเป็นโลภะหรือเปล่า และหนทางเดียวที่จะละโลภะ คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นและรู้ตามความเป็นจริง

    ถ. ผมข้องใจในจดหมายที่พระคุณเจ้าเขียนมาที่ท่านบอกว่า ใช้สติเพ่งที่ร่างกาย

    สุ. ที่คลาดเคลื่อนมี ๒ ตอน คือ ท่านเขียนว่า

    อาตมาเจริญสติในขณะที่เป็นไข้ คือ ใช้สติพิจารณาเวทนาที่กำลังปรากฏ อย่างชัดเจนในขณะนั้น คือ พิจารณาไปตามสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามลักษณะของเวทนานั้นๆ ที่ปรากฏ คือ ปฏิบัติตามที่อาจารย์สุจินต์บรรยาย ท่านบอกว่า สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นในขณะใดก็ให้ใช้สติพิจารณาตามสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ คือ จับเอาปัจจุบันธรรมเป็นเหตุ

    สุ. ตอนที่คลาดเคลื่อน คือ ไม่ใช่ให้ใช้สติ แต่ให้รู้ความจริงว่า สติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะที่หลงลืมสตินั้นก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิดก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นสติเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ เราจะใช้สติ และไม่ใช่ให้จับเอาปัจจุบันธรรมเป็นเหตุ จับไม่ได้ แต่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๐ ตอนที่ ๑๙๙๑ – ๒๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564