แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993


    ครั้งที่ ๑๙๙๓


    สาระสำคัญ

    การสะสมเดิม คือ อวิชชาและโลภะ มีโลภะเข้ามาแทรก มากั้น

    เรื่องของทาน อภัยทาน - ให้ความไม่เป็นโทษเป็นภัย

    เรื่องของศีล เรื่องของกาย วาจา


    สนทนาธรรมที่พระสถูปสาญจี ต่อที่โรงแรม จังหวัดโพปาล

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓


    ถ. ในการแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไปตามลำดับ และผู้ฟังที่เป็นชาวกุรุในครั้งนั้น เขามีความเข้าใจเรื่องการเจริญ สติปัฏฐานและสติเกิดระลึกขึ้น โดยที่คงไม่ต้องฟังซ้ำๆ ซากๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้ หรือจะต้องมีการฟังเรื่องสติปัฏฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก หรืออย่างไร ขอเรียนถาม ท่านอาจารย์

    สุ. ชาวกุรุในครั้งโน้น คงจะไม่ผิดจากคุณศุกลและหลายๆ คนที่นี่ ไม่มีความต่างกันเลย ทุกคนที่เป็นผู้เริ่มก็เหมือนกันหมด คือ ตั้งแต่ได้ยินได้ฟัง พระธรรม ก็ต้องพิจารณาและเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย บางคนก็อาจจะสงสัย บางคนอาจอยากจะเป็นพระโสดาบัน ไม่มีความต่างกันเลย เพราะฉะนั้น จะถามถึงชาวกุรุสมัยโน้น ก็ดูคนในสมัยนี้ ชาวกุรุสมัยโน้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีกับคนในสมัยนี้ แต่ยุคสมัยต่างกัน เพราะฉะนั้น บุคคลในสมัยโน้นเป็นผู้ได้อบรมเจริญบารมีมามาก ที่จะได้เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง ถึงแม้จะไม่ใช่ชาวกุรุ เป็นใครที่อื่น เช่น ที่พระนครสาวัตถี คนที่ได้อบรมเจริญบารมีมาแล้ว เมื่อได้ฟังพระธรรมก็สามารถเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระสกทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง ไม่มีความต่างกันเลย

    สำหรับขั้นของความไม่รู้ในขั้นต้น ก็เหมือนกันหมด ทุกคนไม่รู้เหมือนกันหมด และทุกคนจะเริ่มรู้ก็เหมือนกันหมดอีก คือ เริ่มได้ฟังพระธรรม และการที่ทุกคนจะ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เหมือนกันอีก คือ จะต้องฟังไป พิจารณาไป และอบรม เจริญปัญญาจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่งเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้

    ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย สำหรับชาวกุรุที่ยังไม่ได้ฟัง ก็เหมือนคนสมัยนี้ที่ยังไม่ได้ฟัง ชาวกุรุที่ได้ฟังแล้วก็เหมือนคนในสมัยนี้ที่ได้ฟังแล้ว ชาวกุรุที่ได้อบรมเจริญปัญญาเป็นพระโสดาบันก็เหมือนคนในยุคนี้ ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็เหมือนกัน ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน

    ผู้ฟัง ถ้าหากไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ไม่มีโอกาสมานั่งอยู่ตรงนี้ ผมว่าอย่างไรๆ เราก็ต้องมีส่วนเป็นญาติของชาวกุรุไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ไม่มีทางจะมานั่งฟังธรรม โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐาน ตรงนี้บางคนมา ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งแล้ว แสดงว่าในอดีตเราคงเกี่ยวข้องประการใดประการหนึ่ง อาจจะนั่งห่างเกินไป หรืออาจจะมัวเล่นเป็นเด็ก มัวแต่เล่นอยู่เลยไม่ค่อยได้ฟัง เป็นของธรรมดา ตัวอย่างมีให้เห็นเวลานี้

    ถ. การมาเจริญกุศลในสถานที่แห่งนี้ จัดว่าเป็นกุศลประเภททาน หรือกุศลประเภทภาวนา

    สุ. ก่อนอื่นขอให้ระลึกถึงสภาพธรรม หรือสภาพของจิตใจ หลักของการเป็นกุศลประเภทใด ถ้าเป็นเรื่องของทาน คือ เป็นเรื่องของการให้ เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลเมื่อศึกษาธรรมแล้ว ขาดไม่ได้คือการพิจารณา ถ้าอยากจะเข้าใจด้วยตนเอง เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมีมากมายหลายอย่าง เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างๆ ถ้าจะรู้ว่าเป็นกุศลประเภทใด ต้องด้วยการพิจารณาของตนเอง ซึ่งมีหลักว่า ถ้าเป็นเรื่องของการให้ เป็นเรื่องของทานกุศลทั้งหมด เช่น อามิสทานก็ดี วัตถุทานก็ดี การให้รูป ให้เสียง ให้กลิ่น ให้รส และวัตถุต่างๆ ซึ่งไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่นเอง เป็นวัตถุทาน อามิสทาน

    ต่อจากนั้นก็มีอภัยทาน อภัย อะ กับ ภัย ภัยแปลว่าอันตราย แต่อภัยแปลว่า ให้ความไม่เป็นโทษเป็นภัย ให้ความไม่มีอันตราย อย่างเวลาที่เราปล่อยนก ปล่อยเต่า ปล่อยปลา ขณะนั้นเป็นอภัยทาน เพราะว่าเราให้ชีวิต เราให้ความไม่เบียดเบียน เราให้ความพ้นจากความทุกข์ซึ่งเกิดจากการเบียดเบียนชีวิตของสัตว์นั้น

    อีกอย่างหนึ่ง คือ ธรรมทาน

    เรื่องของทาน เป็นเรื่องของการให้ทั้งหมด แต่เรื่องของศีลเป็นเรื่องของกาย วาจา ซึ่งทุกคนที่เกิดมาต้องมีกาย และต้องมีวาจาด้วย แต่กายวาจาที่ไม่ได้ระมัดระวัง สติสัมปชัญญะไม่เกิด กายวาจานั้นย่อมเป็นไปตามการสะสมของอวิชชาและโลภะซึ่งเป็นสมุทัย มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า เพียงคิดเรื่องราวต่างๆ เพิ่งจะรู้ว่าคิดด้วยโลภะ เพราะว่ามีความพอใจที่จะคิดเรื่องนั้น

    ทุกคนคิดทุกวัน และความคิดของแต่ละคนจะไม่พ้นจากการสะสมของอวิชชาและโลภะในเรื่องต่างๆ คนที่สะสมมาในเรื่องของความสวย ความงาม ดอกไม้ อาหาร เขาก็คิด และจิตที่กำลังคิดเรื่องนั้นๆ จะไม่ใช่โลภะและอวิชชาหรือ ในเมื่อ เกิดมาด้วยอวิชชา มีอวิชชา และเมื่อมีอวิชชาแล้ว ยังติดตามด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น ทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโต ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมของอวิชชาและโลภะทั้งนั้น

    ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนก็มีโลภะต่างๆ กันไป อย่างที่บางท่านก็บอกว่า ทั้งๆ ที่กำลังเกิดกุศลจิต สนใจธรรม ตามองออกไปเห็นดอกไม้ เห็นตะกร้า เห็นอะไรๆ ก็หลงตามไปอีกแล้ว รวดเร็วมากทีเดียว แสดงให้เห็นถึงอวิชชาและโลภะซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ใครก็ตามจะคิดเรื่องอะไร ต้องเพราะโลภะในเรื่องนั้นของคนนั้น

    คนที่ไม่ได้สะสมมาในเรื่องการจัดดอกไม้ จะไปคิดเรื่องการจัดดอกไม้ ก็เป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่ได้สะสมมาในเรื่องการเย็บปักถักร้อย จะไปคิดเรื่องการปักเสื้อก็ไม่ได้ คนที่ไม่ได้สะสมมาในเรื่องการทำอาหารอร่อย วันนี้คิดจะไปเข้าครัว ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่ว่าหญิง ว่าชาย การศึกษาวิชาการต่างๆ ตามความถนัด ตามการสะสม พื้นทั้งหมดมาจากอวิชชาและโลภะ ตลอดทุกชาติในอดีตอนันตชาติ แสนโกฏิกัปป์ โลภะและอวิชชาทำให้ชีวิตของแต่ละคนเป็นไปตามการสะสมต่างๆ กัน แม้แต่วันนี้ เราจะชอบผลไม้ชนิดไหน ชอบอาหารชนิดไหน เวลาที่เห็นอาหารต่างๆ และไปหยิบจานนั้นบ้าง จานนี้บ้าง ก็เพราะอวิชชาและโลภะที่สะสมมาทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ให้เห็นว่า ทั้งกายและวาจาที่จะเคลื่อนไหว ที่จะพูดเรื่องราวต่างๆ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้เลยว่าบังคับบัญชาไม่ได้ คิดนึกก็ต้อง คิดนึกตามอวิชชาและโลภะที่สะสมมา จะพูดอะไรก็ต้องตามอวิชชาและโลภะที่ได้สะสมมา และคิดดู เราพูดมากหรือพูดน้อยวันหนึ่งๆ บางคนก็ไม่ค่อยพูดเลย

    ถ. อะไรทำให้ท่านพระสารีบุตรไปกราบทูลลาปรินิพพาน ตอนนั้นสภาพของท่านพระสารีบุตรเป็นอย่างไร และรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องไปปรินิพพาน และ พระบรมศาสดาทรงคิดอย่างไรจึงได้ทรงอนุญาตให้ไปปรินิพพานแต่โดยดี จิตทั้ง ๒ สภาพนี้ ควรจะนำเอามาคำนึงถึงในจิตของบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างไร

    สุ. ก็ตรงกับเรื่องที่เรากำลังกล่าวถึงเดี๋ยวนี้ คือ แต่ละบุคคลเป็นไปตามการสะสม ท่านพระสารีบุตรท่านก็สะสมมาที่จะเป็นพระอัครสาวก แม้แต่การกระทำของท่านซึ่งเป็นกิจวัตรของอัครสาวกในแต่ละวัน ก็เพราะท่านสะสมบารมีที่จะเป็น พระอัครสาวก การที่พระสาวกทั้งหลายจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและทูลลาปรินิพพาน ก็เป็นไปตามการสะสมของอัครสาวก แม้พระผู้มีพระภาคทรงกระทำพุทธกิจใน แต่ละวันก็เป็นไปตามการสะสม นั่นคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ ท่านอัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร และขณะนี้ คือ ทุกๆ คนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ มีการสะสมต่างๆ กัน มีความคิดต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้น คือ เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภิกษุรูปใดในอดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคต ก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ แต่ให้คิดถึงชีวิตของเรา เพราะว่าจะเป็นประโยชน์มากที่จะรู้จักตัวเอง ซึ่งสามารถเริ่มเข้าใจจากการฟังพระธรรม กำลังเป็นการสะสมใหม่ เพราะว่าการสะสมเดิม คือ อวิชชาและโลภะ แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจะเป็นการสะสมใหม่ คือ สะสมปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา และสะสมอโลภะ อโทสะ ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะและโทสะ เพราะฉะนั้น ชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ ประโยชน์สูงสุด คือ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม เพราะถ้าเปรียบกับก่อนฟัง ทั้งอวิชชาและโลภะทุกวัน อย่างที่ค้างไว้เมื่อกี้ คือ วันนี้พูดมากหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ไม่พูด ไม่ทำ คือ ขณะนี้นั่งเฉยๆ แต่ความคิดไม่ได้หยุดนิ่งเลย

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ ทางตาเห็น ไม่ได้หยุด คิดต่อเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูได้ยิน ไม่ได้หยุดอีกเหมือนกัน คิดต่อเรื่องเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คิดอยู่ตลอด

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล จิตเป็นอกุศล เพราะอวิชชาและโลภะซึ่งสะสมสืบต่อตั้งแต่ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด วิถีจิตเกิดวาระแรก คือ โลภมูลจิต แสดงให้เห็นว่า พ้นยากแสนยากที่จะคลาย ความติด ความพอใจ ที่เป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย คบกันคุ้นเคยกัน ยากที่จะ ห่างกันได้ จึงต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมซึ่งเป็นการสะสมใหม่ ทำให้เริ่มเข้าใจว่า สภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะว่าก่อนฟังพระธรรม เราคิดเรื่องญาติพี่น้องมิตรสหาย บุคคล เรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เริ่มคิดใหม่ คือ เข้าใจสภาพธรรมว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่มี ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

    นี่คือตำรา แต่ขณะนี้ ไม่ใช่ไม่มีจิต ไม่ใช่ไม่มีเจตสิก ไม่ใช่ไม่มีรูป ไม่ใช่ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม กำลังมีอยู่ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้ จึงต้องฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าปัญญาหรือแสงสว่างจะเกิดขึ้น เพราะว่า เราเหมือนอยู่ในโลกของความมืด เวลาที่เราไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย ต้องใช้คำว่า เลย

    ถ้าถามคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย เขาอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ คือแม้ว่ามีสภาพธรรม แต่ไม่เคยรู้สภาพธรรมตามความ เป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เป็นสภาพธรรม เกิดมีเพราะเหตุปัจจัยและดับทันทีอย่างรวดเร็ว แม้ว่ารูปจะมีอายุมากหรือยืนยาวกว่าจิต คือ รูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นจะมีอายุเท่ากับ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    นี่ก็เป็นตำรา แต่แสดงให้เห็นพระปัญญาคุณว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว สามารถ อบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งในอริยสัจจธรรม สามารถดับกิเลส คือ ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ถ. ท่านอาจารย์ถามว่า วันนี้พูดมากหรือเปล่า ดิฉันพูดมากในใจ ข้างนอกไม่พูด แต่ในใจพูด และเป็นอกุศลมากๆ ขอให้อาจารย์ช่วยแนะแนวทางที่จะให้พูดหรือคิดในทางกุศลมากกว่าอกุศล

    สุ. ขออนุโมทนาในการเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะที่กำลังคิดเป็นเรื่องเป็นราวในใจเหมือนพูด เพียงแต่ไม่มีเสียง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วิตก วิจาร เป็นเจตสิก ซึ่งตรึก หรือนึก หรือคิด เป็นการทรงจำเสียง ขณะที่นึกเป็นเรื่อง ต้องมีสัญญา ความจำในเสียงนั้น ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องไม่ได้

    แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่พูดในใจ คือ มีการตรึกนึกคิดแล้ว ยังรู้ว่าเป็นอกุศลมากๆ ด้วย ซึ่งมีทางเดียวที่จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น คือ เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ไม่มีทางอื่น ต้องเป็นปัญญาของตนเอง เมื่ออกุศลเกิดเพราะอวิชชา กุศลก็ต้องเกิดเพราะปัญญา ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจธรรมแล้ว จะให้ใครช่วยก็ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของตนเอง

    ถ. คุณเรือนแก้วคุยกับตัวเองว่าอย่างไรบ้าง ขณะที่เวียนเทียน

    ผู้ฟัง ขณะที่เวียนเทียน ระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะที่เดินไป ก็ระลึกว่า กำลังก้าว จับดอกไม้อยู่ก็ระลึกว่า ขณะนี้กำลังนมัสการ มือกระทบกัน แข็ง ตลอดเวลาระลึกอย่างนี้ ก้าวเท้าเดินก็ระลึก

    ถ. คุณเครือวรรณว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ดิฉันก็เจริญสติไปด้วย บางทีก็หลงลืม บางครั้งก็ได้กลิ่นดอกไม้หอมๆ ชวนให้ดม บางทีก็มองไปทั่วๆ ไม่ได้เจาะจง

    ผู้ฟัง ขณะเดินก็ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า สวด อิติปิโส ไปด้วย บางทีก็ แวบขณะเดิน สวดอิติปิโสหลายรอบ สวดแล้วก็เริ่มตันสวดอีก เพราะกลัวว่าจิตจะแวบไป ก็ต้องสวดอีก ระลึกถึงคุณ

    ผู้ฟัง ขณะเดินระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า และมีความปีติมากว่า เราได้มาถึงทีนี่ และขอให้ทุกชาติๆ ได้อยู่ในศาสนาพุทธ

    ผู้ฟัง ขณะเดินก็สวดมนต์บ้าง คิดถึงที่บ้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง สวดอิติปิโส ภควา ถึง ๓ รอบ นึกถึงพระพุทธคุณอยู่ตลอดเวลา พยายามไม่นึกถึงอย่างอื่นเลย

    ผู้ฟัง เกิดความปีติ นึกไม่ถึงว่าจะมีโอกาสมาถึงที่นี่ คิดว่าอย่างน้อยคงจะมีกุศลติดตัวอยู่บ้าง เพราะจริงๆ แล้วไม่เคยคิดว่าตัวเองมีกุศลอะไรเลย ก็เกิดปีติว่า ได้มีโอกาสมาถึงที่นี่

    ผู้ฟัง รอบที่ ๑ คิดถึงพระพุทธ รอบที่ ๒ คิดถึงพระธรรม และก็คิดว่าจะ ถ่ายวิดีโอตอนไหนดี ก็เลยถ่ายตอนไหว้พระสงฆ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๐ ตอนที่ ๑๙๙๑ – ๒๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564