แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994


    ครั้งที่ ๑๙๙๔


    สาระสำคัญ

    สนทนาธรรมที่พระสถูปสาญจี ต่อที่โรงแรม จังหวัดโพปาล

    อกุศลทั้งหลายมีอวิชชา ความไม่รู้สภาพธรรมเป็นมูลเหตุ

    สภาพรู้


    สนทนาธรรมที่พระสถูปสาญจี ต่อที่โรงแรม จังหวัดโพปาล

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓


    ผู้ฟัง ดิฉันเป็นสถาปนิก และศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ขอเรียนว่า เมื่อตอนเวียนเทียน ๓ รอบ จิตก็แวบไปเหมือนกัน คิดนึกว่า น่าเสียดายจริงๆ ดูเถอะพวกมุสลิมมาทุบไปเสียหมดเลย แต่อย่างน้อยยังเหลือไว้ให้ ๑ ประตูตรงโน้น

    จิตดิฉันคงยึดติดหรือสะสมมาทางด้านสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับคุณไพน่า ก็เลยแวบไปทำนองนั้น แต่เมื่อฟังธรรมจากท่านอาจารย์แล้ว เห็นทีจะต้องสะสมใหม่ แต่ที่ได้สะสมไว้แล้วก็อยากจะเล่าให้เพื่อนๆ สหายธรรมฟังว่า ถ้าสังเกตพระสถูป ที่สาญจี ซึ่งเป็นแบบอย่างของพระปฐมเจดีย์ที่เมืองไทย จะเห็นว่าเป็นรูปโอคว่ำ ซึ่งกว้าง เดิมนั้นมาจากมูลดิน เหมือนอย่างที่ฝังศพหรือที่เก็บอัฏฐิจะมีลักษณะ เหมือนมูลดินอย่างนี้ และจะเห็นสี่เหลี่ยมข้างบน แต่ของเราเนื่องจากก่อสร้าง ภายหลัง พระปฐมเจดีย์ก่อคอระฆังขึ้นไปสูงจากสิ่งที่เป็นฐานขึ้นไปอีก สำหรับที่ สาญจีนี้ การก่อสร้างคงไม่สามารถทำยอดระเหิดระหงได้อย่างของเมืองไทย จึงมีฉัตรแค่ ๓ อันเท่านั้น

    และขอให้สังเกตดูว่า การแกะสลัก sand stone หรือหินทราย ๔ อันนี้ ถึงแม้ จะทำลายเท่าไรก็ทำลายไม่ได้ เพราะว่าแข็งมาก คิดดู ร่องรอยที่แกะสลักนั้นงดงามแค่ไหน อ่อนช้อยแค่ไหน ดูดอกทานตะวันตรงนั้น กี่พันปีมาแล้วที่พระเจ้าอโศกมหาราชแกะสลัก ไม่แพ้ที่ Red Fort เลย เข้าใจว่าเดิมเป็นมูลดินเล็กๆ ที่ทำ เป็นอย่างนี้ เป็นการก่อสร้างครั้งที่ ๒ ถ้าอย่างไรจะไปค้นคว้าอีกที แต่ดิฉันจำได้ว่า นี่เป็นเสาหินพระเจ้าอโศกที่เป็นหัวสิงห์ ๔ อัน ด้านโน้นเป็นช้าง จะไม่เหมือนกันเลย ทั้ง ๔ อัน ภาพคล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันเลย เดิมที่ทำไว้เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีนั้น พระเจ้าอะไรก็แล้วแต่ เตี้ยกว่านี้ แต่อันนี้บูรณะโดยพระเจ้าอโศกมหาราช และท่าน ก็ทำประตูหิน ๔ ประตูนี้ไว้ด้วย หลังจากนั้นก็ถูกทำลายอีก ก่อนหน้านั้นคงเป็นเนินดินเล็กๆ ลองหาอ่านจากหนังสืออีกที แต่อันนี้ดิฉันยืนยันว่าพระเจ้าอโศกมาบูรณะ เพราะจากรอยแกะสลักตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์ของท่านที่ทำไว้

    สุ. คุณไพน่าสนใจมาก เพราะว่าสอนนักเรียนที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ เรื่องของสาญจีทุกปี กำลังสนใจที่จะถ่ายรูป มีสถาปนิกอีกท่านหนึ่งกำลังถ่ายวิดีโอ คุณกัณหา

    ผู้ฟัง ผมเองไม่ใช่สถาปนิก เป็นทหารช่าง เมื่อเห็นสิ่งก่อสร้างนี้แล้ว ทำให้ คิดว่า พระเจ้าอโศกทรงมองการณ์ไกลเหลือเกิน คือ ถ้าทำผิวเผินหรือไม่แข็งแรง อนาคตจะต้องถูกย่ำยีทำลายแน่ หากทำให้แข็งแรงอย่างนี้ ศัตรูธรรมดาๆ แค่เขยื้อนหินก็ไม่ไหวแล้ว ถ้าเป็นศัตรูระดับพระมหากษัตริย์ก็ต้องใช้กองทัพ และทำลายอย่างไรก็ต้องมีร่องรอยเหลืออยู่ สถาปัตยกรรมที่มีรั้วเป็นหินแบบนี้ มีที่พุทธคยาด้วย เป็นสถาปัตยกรรมที่แข็งแรงและสวยงามมาก เป็นความวิจิตรของจิตด้วยความศรัทธา

    ถ. ขอเรียนถามว่า ขณะที่เวียนเทียน ท่านอาจารย์พิจารณาอย่างไร หรือคิดนึกอย่างไร

    สุ. ดิฉันเป็นผู้ที่สวดมนต์สั้น ยิ่งเวลาเดินอย่างนี้ก็ยิ่งสั้น คือ นโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    นีน่า ดิฉันพิจารณาทุกอย่างที่ปรากฏ มีโลภะมากๆ เพราะว่าเห็น หลายอย่าง ไม่ใช่มีความคิดที่ดีเท่านั้น ดิฉันคิดว่า ดีที่พระพุทธศาสนาเป็นธรรมชาติ ที่ไม่ต้องบังคับ … (ได้ยินไม่ชัด) ทุกอย่างที่ปรากฏ แต่เป็นความคิดมากกว่า รู้ลักษณะถ้าไม่มีสติ คิดว่าเริ่มเข้าใจดีขึ้น ธรรมชาติ ไม่บังคับ สบายกว่าก่อน

    สุ. บริเวณนี้เป็นสำนักพระภิกษุณี สมัยที่พระเจ้าอโศกท่านจะให้พระโอรส คือพระมหินทเถระไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา พระมหินทเถระก็เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินของศรีลังกาทรงชรามากแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่เหมาะในการไปเผยแพร่พระศาสนาในสมัยของท่าน จึงรอโอกาสจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต และพระราชโอรสคือพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้ขึ้นครองราชย์ ระหว่างที่ท่านรอเวลา ท่านมาทูลลาพระมารดาซึ่งเป็นภิกษุณีและอยู่ในบริเวณนี้ ที่เป็นสำนักภิกษุณีในอดีต

    ผู้ฟัง คุณหมอเผ่า ในฐานะของหมอ อยากจะฟัง

    ผู้ฟัง ก็สวดมนต์ นโมตัสสะ

    ผู้ฟัง ก็เช่นเดียวกัน โดยไม่ได้นัดหมาย คิดว่าเมื่อได้มาแล้ว ก็ขอนอบน้อมต่อพระพุทธองค์ด้วยกาย วาจา ใจ ก็สวดแค่นั้น

    ผู้ฟัง ดิฉันก็สวดอิติปิโสตลอด ๓ รอบ เพราะมาที่นี่ดิฉันได้อธิษฐานไว้ มายากลำบาก และกว่าจะได้มาถึง ได้มากราบระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง กระผมลืมสวด เวลาเดินก็มัวแต่คิดอะไรๆ หลายอย่าง ภูมิใจมากและปีติมากที่ได้มานมัสการร่วมกับผู้มีบุญทั้งหลายที่ได้สร้างกุศลมาก่อน ได้มาร่วมกันทำกุศลอีกในชาตินี้ กระผมรู้สึกปีติยินดีมาก

    ผู้ฟัง กระผมแปลกกว่าคนอื่น คือ มีความตั้งใจที่จะมาแบบนี้สัก ๔๐ ปีมาแล้ว แต่บุญไม่ถึง มาถึงที่เบงกอล ขึ้นรถไฟลำบาก ในที่สุดก็กลับประเทศไทย หลังจากนั้นอีกหลายปี ในปี ๒๕๐๒ ก็ไปเรียนกับอาจารย์ที่หน้าวัดบวร และติดตามมาตลอด แต่ไม่สม่ำเสมอ ตอนหลังเพิ่งไม่นานมานี้เองตั้งใจฟังมาก ฟังจากเทปบ้าง ทุกเช้าทุกเย็น และอยากจะมา ในที่สุดบุญคงถึง ก็ได้มาถึงนี่ปีนี้ปีแรก และคงจะได้ไปนมัสการ และที่มานี่ก็อธิษฐานว่า เราตั้งใจมาแล้วขอให้ได้มาใกล้ที่สุด แต่ ไม่ค่อยจะเข้าใจ ที่นี่ไม่เคยรู้เรื่องเลย เป็นของใคร ฟังจากคนนั้นคนนี้ บางคนก็บอกว่าพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ บางคนก็บอกว่าพระพุทธเจ้า ผมก็ไม่รู้ มาทั้ง ๒ แห่ง อธิษฐานว่า ได้มาใกล้แล้ว อย่างไรๆ ก็ขอให้ได้เห็นธรรมตามไปให้เร็วที่สุดเท่านั้น

    ผู้ฟัง ผมมาเห็นรอยที่โดนไฟไหม้ รู้สึกอนิจจัง ศาสนาของเราโดนย่ำยีมาก

    ผู้ฟัง ตอนจบอยากฟังคุณประสิทธิ์ศักดิ์ กับคุณบุษ

    ผู้ฟัง หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้ว ผมนึกถึงวันทาหลวงขึ้นมาทันทีว่า ในพระสถูปเจดีย์คงจะมีสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนาอยู่ เลยสวดวันทาหลวง หลังจากนั้นก็เดินตามอาจารย์ รอบที่ ๑ นึกถึงพระบริสุทธิคุณ รอบที่ ๒ นึกถึง พระปัญญาธิคุณ และรอบที่ ๓ นึกถึงพระมหากรุณาคุณ ท้ายสุดก็มากราบ อีกครั้งหนึ่ง นึกถึงว่า ขอให้จิตเราตกอยู่ในกระแสพระนิพพานโดยเร็ว และตั้งใจว่า จะปฏิบัติธรรมให้เร็วที่สุด

    ผู้ฟัง ดิฉันเดินพุทโธไปเรื่อยๆ ด้วยใจปีติมาก และรู้สึกขอบพระคุณ ท่านอาจารย์มากที่ท่านอาจารย์ได้นำมาที่นี่ เพราะถ้าไม่มีท่านอาจารย์ก็คงไม่ได้มา และรู้สึกอนุโมทนาบุญของท่านอาจารย์มากว่า ท่านอาจารย์เป็นผู้หญิงที่มีบุญมาก ที่ได้ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติธรรม และเป็นผู้นำทางด้านธรรมกับพวกเรา รู้สึกว่า ท่านอาจารย์มีพระคุณมากๆ สำหรับพระพุทธศาสนาในตอนนี้

    ผู้ฟัง คงจะมีเวลาสนทนาธรรมในสังเวชนียสถานแห่งอื่นๆ อีกหลายแห่ง และคงมีโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นหรือพูดธรรม ซึ่งเป็นการสนทนาธรรม ในสถานที่สำคัญๆ เพื่อจะเป็นบุญบารมีต่อไป

    ถ. ในกรณีที่เรายังไม่เห็นโทษของกิเลส จะมีโอกาสที่สติจะเกิดได้หรือไม่ ผู้ที่ยังไม่เห็นโทษของกิเลส ผู้นั้นจะเจริญสติปัฏฐานได้หรือไม่

    สุ. ผู้นั้นมีปัญญาขั้นไหน

    ถ. ถึงมีปัญญาขั้นทานขั้นศีลแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส

    สุ. อย่างเวลานี้ทุกคนที่กำลังนั่งฟัง ก็มีความสนใจที่จะเข้าใจพระธรรม ก่อนอื่นเวลาได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม พุทธศาสนิกชนก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้นคืออะไร เรื่องอะไร นี่เป็น เหตุที่ทำให้ทุกคนแสวงหา บางท่านก็ไปฟังที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น เพื่อจะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอะไร แต่คนที่ไปฟังก็ยังเป็นคนที่มีกิเลสทั้งนั้น และที่ฟัง ก่อนอื่นยังไม่ได้อยากหมดกิเลส เพียงอยากจะเข้าใจ อยากรู้ว่าพระธรรมที่ ทรงแสดงนั้นคืออะไร นี่ขั้นต้น

    แต่เมื่อฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอีกว่า ปัญญาของเขา ขั้นไหน ถ้าปัญญาขั้นที่ฟังไปเรื่อยๆ และค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่สนใจที่จะละกิเลส แต่ยังสนใจที่จะฟังพระธรรม นี่เป็นชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ใช่พอฟังปุ๊บ ก็อยากจะหมดกิเลสเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าคนนั้นยังไม่เข้าใจกิเลส ยังไม่รู้จักกิเลสจริงๆ พอที่จะถามตัวเองว่า อยากจะหมดกิเลสจริงๆ หรือเปล่า อย่างโลภะ ก่อนอื่น อยากหมดไหม

    ถ. เป็นความจริงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตัวนี้ ตัวโลภะ ถึงแม้จะเห็นโทษแล้วก็ยังไม่อยากจะดับ

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องไปตามลำดับจริงๆ แม้แต่การที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็เป็นเพราะว่าผู้นั้นเริ่มเข้าใจพระธรรม และรู้ว่าอกุศลทั้งหลายมีอวิชชา ความไม่รู้สภาพธรรมเป็นมูลเหตุ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตน หรือเราจะมีความสามารถที่ว่า ฟังพระธรรมแล้วตัวเราจะแก้ไขได้ทุกอย่าง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เมื่อฟังพระธรรม ยิ่งเข้าใจ ยิ่งรู้ว่าอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นอกุศลธรรม จะเปลี่ยนเป็นกุศลธรรมไม่ได้ และกุศลธรรมก็ต้องเป็นกุศลธรรม จะกลับไปเป็นอกุศลธรรมไม่ได้

    ธรรม ๒ ฝ่ายนี้ต่างกัน อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ จะเอาอวิชชา ความไม่รู้ ความเป็นตัวตน มาพยายามละกิเลสอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ แต่วิชชา คือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะละคลายกิเลสได้

    ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ จะไม่เดือดร้อนในการไปพยายามเอาตัวตนไปละกิเลส แต่จะเป็นผู้ที่พยายามสะสมความเข้าใจพระธรรมให้ละเอียดขึ้น ให้เข้าใจขึ้น และรู้ว่า ขณะที่กำลังเข้าใจพระธรรมก็ละคลายอวิชชาเป็นขั้นๆ ละอกุศลธรรมเป็นขั้นๆ ด้วย

    ละอวิชชาอะไร ก็ละอวิชชาซึ่งมีจากการที่ไม่เคยฟังพระธรรมมาก่อน

    ทุกคนต้องมีอวิชชา เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมสามารถจะละ โดยวิชชาเกิดขึ้นขั้นฟัง เพราะฉะนั้น ก็เพียงละความไม่รู้ขั้นที่ไม่เคยฟังมาก่อน เท่านั้นเอง

    ให้ทราบว่ากิเลสมีมากมาย หนาแน่น และการคิดว่า เพียงฟังนิดเดียวจะหมดกิเลสตั้งครึ่ง เหลืออีกเพียงนิดๆ หน่อยๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากจะรู้ว่า ฟังเรื่องอะไร และเข้าใจเรื่องนั้น ก็ละความไม่รู้เฉพาะเรื่องนั้นๆ จากการที่ไม่เคยฟัง มาก่อนเท่านั้นเอง แต่ไม่สามารถละคลายกิเลสใดๆ ได้ทั้งสิ้น ไม่สามารถดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉท

    ย้อนกลับมาเรื่องคุณสมนึกอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องที่หลายคนยากที่จะพิจารณาว่า รู้ธรรมหรือรู้ลักษณะของธรรมขั้นไหน ในขณะที่กำลังให้ทานเป็นกุศล หรือกำลังสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น ใครรู้ลักษณะของสติ แทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าขณะนั้น มีสติเกิดขึ้นจึงระลึกเป็นไปในทาน แต่มีการให้ เพราะว่าสะสมอุปนิสัยมาที่จะมี ความเมตตาให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ทำสิ่งนั้นโดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ซึ่งขณะนั้นต้องมีสติเกิด ถ้าสติไม่เกิดที่จะระลึกเป็นไปในเรื่อง การให้ก็ไม่มี เวลาที่เป็นโลภะ ไม่มีสติแน่นอน เวลารับประทานอาหารอร่อย ไม่มีสติแน่นอน เวลามองไปทางโน้นทางนี้ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่มีสติแน่นอน เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังให้ ยังไม่รู้เลยว่าเพราะสติเกิด และจะกล่าวว่า รู้ลักษณะของสติได้ไหม ขณะที่กำลังให้ ทั้งๆ ที่มีสติ

    ถ. ขณะนั้นผมคิดว่า ไม่สามารถรู้ลักษณะของสติ ผมสงสัยมาตั้งนานแล้ว ขณะนั้นเราไม่ได้ใส่ใจในลักษณะของสติ ผมคิดว่าคงไม่สามารถรู้ลักษณะของสติได้ เพราะเราไม่ได้ใส่ใจหรือน้อมที่จะใส่ใจ และถึงแม้มีการน้อมใส่ใจในลักษณะของสติ ตามการศึกษาว่าลักษณะของสติเป็นอย่างนี้ๆ ก็ใช่ว่าใส่ใจแล้วจะสามารถรู้ลักษณะของสติได้ แต่ถ้านานๆ ไป ใส่ใจบ่อยๆ มีสติระลึกรู้ และพิจารณาบ่อยๆ อาจจะรู้ลักษณะของสติได้ แต่ไม่ทราบว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง ไม่ทราบว่าจะถูกไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๐ ตอนที่ ๑๙๙๑ – ๒๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564