แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
ครั้งที่ ๑๙๙๗
สาระสำคัญ
อนุขณะ ๓
สติปัฏฐาน คือ การจับด้ามมีด ลักษณะของสติปัฏฐานที่แท้จริง
ลักษณะของโลภเจตสิก
สนทนาธรรมที่โรงแรมอโศก เมืองโพปาล
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๓
สุ. เพราะฉะนั้น ขณะที่นอนหลับสนิท มีจิตเกิดดับหรือเปล่า มี
เร็วมากไหม ต้องบอกว่า เหมือนกันหมดเลย จิตทุกขณะมีอายุเท่ากัน คือ ๓ อนุขณะ ได้แก่ ขณะที่เกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า อุปาทขณะ
ที่เราใช้คำว่า อุบัติ คือ การเกิดขึ้น อุบัติเหตุ ในภาษาไทย เหตุที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดฝัน ก็มาจากคำว่า อุปปัตติ หมายความว่า เกิด เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดขณะแรกเป็นอุปาทขณะ ยังไม่ดับ เพียงเกิด ซึ่งก่อนที่จะดับต้องมีขณะที่ตั้งอยู่ ชั่วครู่ที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ และขณะที่ดับชื่อว่าภังคขณะ
แม้ว่าจิตจะเกิดดับเร็วสักเท่าไรก็ตาม สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้วดับ ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ เพราะเกิดไม่ใช่ดับ และขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด เพราะดับไม่ใช่เกิด ซึ่งช่วงระหว่างที่ไม่ใช่เกิดและไม่ใช่ดับ เกิดแล้วยังไม่ดับ ยังมีอยู่ ขณะนั้นคือฐีติขณะ
จิตเหมือนกันหมดทุกประเภท ขึ้นชื่อว่าจิตแล้ว จะไม่เปลี่ยนสภาพ หมายความว่าจิตขณะหนึ่งขณะใดที่เกิดขึ้นจะมีอนุขณะ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ สั้นที่สุด นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่ให้เราไปประจักษ์โดยต้องเห็นก่อนจึงจะเชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่โดยการฟัง เพื่อที่จะรู้ว่า เป็นจริงอย่างนี้ไหม สามารถประจักษ์แจ้งได้ไหม นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ในภายหลัง แต่ตามความเป็นจริง คือ ขณะนี้แม้จิตเห็นก็ไม่ใช่จิตได้ยิน แต่ยังเหมือนกับพร้อมกัน แสดงถึงความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต
ถ. ผมก็พยายามจะฝึกสติอยู่ตั้งนาน
สุ. ไม่ได้เลย ทิ้งไปเลย ฝึกสติ
ถ. ปรากฏว่า นานๆ เข้ารู้สึกคลายบางสิ่งบางอย่าง หรือจะเป็นเพราะปัจจัยอย่างอื่นก็ไม่ทราบ คือ สมัยก่อนผมไปที่ไหนเห็นผู้หญิงบางคนสวยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็พิจารณาไป คนนั้นสวยอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเห็นอะไรสวยก็ชอบ แต่เดี๋ยวนี้ชักจะคลายไป ไม่สนใจ เห็นคนก็สักแต่ว่าคน ผู้หญิงก็เป็นผู้หญิง จะในลักษณะนั้นหรือเปล่า
สุ. มิได้ ถ้าเป็นโดยคำสอนอย่างนี้ ปัญญาไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ของจริง ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า แหม ไปไกล จนกระทั่งเวลานี้เห็นอะไรก็เฉยๆ ไปเสียแล้ว
ถ. ไม่ใช่เฉย แต่เห็นแล้วไม่พิจารณาต่อไป ไม่ดูว่าสวยอย่างไร คือ หยุดแค่นั้น เห็นแล้วก็สักแต่ว่าเห็น
สุ. ต้องถามตัวเองว่า ปัญญารู้อะไร ถ้าปัญญายังไม่รู้อะไร เป็นโมฆะ ไปหมดเลย
ถ. อาจจะยังไม่รู้ ถ้าปัญญารู้ คงเป็นลักษณะของสติปัฏฐานที่แท้จริง
ถ. ถ่ายวิดีโอแล้วอยากจะถ่ายให้ดีๆ ถือว่าเป็นความโลภหรือเปล่า
สุ. ต้องเข้าใจว่า ภาษาไทยเรา หรือก่อนที่จะเรียนธรรม เรายังไม่ได้เข้าใจ แต่เรานึกเอาเองว่า โลภ ต้องเป็นอาการกิริยาที่แสนจะน่าเกลียด คนนั้นโลภ พูดถึงโลภก็ต้องตัวใหญ่ น่าเกลียดเหลือเกิน เห็นอะไรก็อยากจะได้ไปหมดไม่ว่าของใคร อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม
แต่ธรรมคือธรรม ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่ติดข้อง พอใจ ต้องการ ไม่ปล่อย จะน้อยหรือจะมากก็มีลักษณะอย่างนั้น เหมือนอย่างไฟจะกองเล็กหรือกองใหญ่ เพียงแค่ไม้ขีดก้านเดียวก็ร้อน หรือไฟที่เผาบ้านเผาเมืองก็คือไฟ หรือของเหม็น นิดเดียวก็เหม็น มากก็เหม็น ไม่ว่าจะย่อยลงไปให้ละเอียดสักเท่าไร ก็ยังเหม็น เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่ติด พอใจ ต้องการ ไม่ปล่อย นั่นคือลักษณะของโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา จะมากจะน้อยอย่างไรก็เป็นโลภะ และโลภะนี่มีชื่อตั้งเยอะแยะ ซึ่งแสดงอาการต่างๆ ของโลภะให้สังเกตได้ เช่น ความหวัง ทุกคนก็ถามว่า มีความหวังอะไรบ้าง ต้องการอะไรบ้าง ก็คือถามถึงโลภะนั่นเอง
ถ. ถ้าเราคิดว่า ถ่ายวิดีโอเป็นความโลภ ถึงแม้เราจะทำดี คือ ถ่ายวิดีโอ ดีๆ ให้คนอื่นดู ถือเป็นความโลภ ถ้าคิดอย่างนั้น ก็เหมือนที่อยากจะบรรลุ อยากได้สิ่งที่ดี ความต้องการที่จะทำดี ในเมื่อการกระหายที่จะทำดีคือความโลภ ถ้าเราคิดว่าเป็นความดีแต่ไม่ควรทำ ...
สุ. ต้องแยกกัน เพราะว่ามีสภาพธรรมที่คล้ายคลึงกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศล อีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่อกุศล ฝ่ายที่ไม่ใช่อกุศลเป็นฉันทะ ความพอใจที่จะกระทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ซึ่งเป็นทั้งสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ เวลาที่เราเกิดความชอบ ความต้องการจะ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเวลาที่ความพอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นอกุศลก็มีทั้งฉันทะและโลภะ แต่เวลาที่เป็นฝ่ายกุศล มีฉันทะ แต่ไม่มีโลภะ
เรามีฉันทะที่จะฟังพระธรรม ไม่ใช่โลภ โลภเป็นการติด ไม่ปล่อย แทนที่เราจะมานั่งฟัง เราก็ไปเที่ยว ไปซื้อของ เป็นเรื่องที่เราพอใจที่จะให้ติดในสิ่งนั้น แต่นี่เราฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น เป็นปัญญา ไม่ใช่โลภะ ธรรมเป็นเรื่องละเอียดและมีลักษณะที่คล้ายกัน
ถ. ถ้าอย่างนั้นที่อาจารย์พูดว่า นามธรรม รูปธรรม ถ้าเรารู้รูปและนาม และเราไม่ติด อย่างเราทานอาหารอร่อย เรารู้ว่าอร่อย ที่อาจารย์บอกว่าไม่ติด ก็คือเรารู้ว่าอร่อย แต่เราก็ไม่หวังที่จะได้ทานอีก หรือเราจะไม่เสียใจที่จะไม่ได้ทานอีก
สุ. อันนี้ไม่เป็นผล คือ เพียงคิดเอาเองว่า เมื่ออร่อยก็อร่อยแต่อย่าไปติด ไม่ใช่เหตุที่ทำให้เกิดการละอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่ใช่ปัญญา เพียงความคิดด้วย ตัวเราว่า อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะทำอย่างนี้ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมนั้นจริงๆ เมื่อใดที่ไม่ใช่ปัญญา เมื่อนั้นไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงแต่อาศัยความตั้งใจว่าจะทำหรือไม่ทำ อย่างบางคนเขาตั้งใจว่า ไม่อยากเป็นทาสของความอร่อย แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็คิดหนทางของเขาขึ้นมาเองว่า ฉันไม่ทานสิ่งที่อร่อย ก็ไม่ใช่เรื่องของการละคลาย ทั้งๆ ที่ยังอยากจะรับประทาน หรือยังจำรสอร่อยนั้นได้ เพียงแต่มีความตั้งใจที่จะชนะตัวเอง คือ ไม่ทาน แต่ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ
ถ. หมายถึงทานไป รู้ว่าอร่อยก็อร่อย และก็จบแค่ตรงนั้น
สุ. ต้องมากกว่านั้น คือ ไม่มีใครไปทำจบ การคิดนึกต้องมีอีกแน่นอน เราจะจบอะไรไม่ได้เลย ไม่มีใครจะไปยับยั้งจิตไม่ให้เกิดขึ้น เวลานี้เรารู้ว่าเป็นจิต ทั้งนั้นเลยที่กำลังเห็น กำลังคิดนึก กำลังฟัง กำลังชอบ ไม่ชอบ แต่จิตนั้นก็ดับไปแล้ว และจะไม่ให้มีจิตเกิดต่อจากจิตที่ดับไปแล้วอีกเลย ไม่ได้
ด้วยเหตุนี้การที่จะพ้นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่เกิดมาแล้วก็เป็นสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และบางวันก็เจ็บไข้ เป็นทุกข์ หรือบางวันได้รับสิ่งที่ขัดข้อง ไม่พอใจ แต่ทั้งหมดที่จะสงบระงับได้จริงๆ ต้องไม่เกิดอีก ไม่เห็นอีก เพราะถ้าเห็นแล้วพอใจย่อมนำมา ซึ่งความทุกข์ทีหลัง ถ้าได้ยิน ก็นำมาซึ่งความติดและนำมาซึ่งความทุกข์ทีหลัง ได้กลิ่น ลิ้มรสอาหารอร่อย ก็นำมาซึ่งความทุกข์ทีหลัง ทุกสิ่งทุกอย่างจะนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น ถ้าเกิดมีการเห็นการได้ยินต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะดับจริงๆ ก็คือไม่มีจิตเกิดอีกเลย
ถ. เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่นิพพาน ใช่ไหม
สุ. ต้องปัญญาถึงขั้นที่จะดับกระแสการเกิดของจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นโดยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องมีความรู้ถึงขั้นที่สามารถดับการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูปได้
ถ. เกี่ยวกับเรื่องของการทำบุญทำกุศล คงจะมีผู้ตั้งความปรารถนา อย่างเช่น ขอให้กุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำไปแล้วนั้น จงให้มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้แต่โภคทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็ขอให้มีโอกาสทำบุญ ทำกุศลต่อไป ลักษณะของความปรารถนาอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการตั้งจิตไว้ผิดไหม
สุ. เพื่ออะไร
ถ. อย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว
สุ. แข็งแรง มีลาภ มียศ เพื่ออะไร
ถ. เพราะว่าทุกคนไม่ชอบโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเบียดเบียนตัวเอง
สุ. ด้วยความรักตัวเอง
ถ. อาศัยผลบุญที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อไม่ต้องมีร่างกายที่มีโรคภัยมาเบียดเบียน จะถือว่าตั้งจิตไว้ผิดไหม
สุ. รักตัวเอง ผิดหรือถูก
ถ. ถ้าตั้งจิตให้ถูกให้ตรง ก็คือ ปรารถนาการดับภพดับชาติ หมายความว่าขอให้ได้ข้อปฏิบัติที่ถึงการเป็นพระอรหันต์ แต่ในขณะเดียวกันความเข้าใจยังไม่พอ การฟังก็ยังน้อยไป สติก็ไม่ค่อยเกิด สติปัฏฐานก็ไม่ต้องพูดถึง อย่างนี้จะถือว่าเป็นการหวังในสิ่งที่ห่างไกลเกินไปไหม
สุ. ทุกคนทำบุญทำกุศล และก็รู้ว่ากุศลให้ผลแน่ๆ และกุศลที่ให้ผล ก็จะให้ผลเป็นไปตามความตั้งใจมั่นด้วย คือ ความปรารถนา อาจจะบอกว่า ขอให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือขอให้ครอบครัวพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ พ้นจากความทุกข์ยากใดๆ ก็ตามแต่ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าบุคคลนั้นมีความเข้าใจพระธรรม และรู้ว่า ชีวิต วงศาคณาญาติ หรือครอบครัว จะพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ หรือเรื่องเดือดร้อนต่างๆ ก็เพื่อที่จะได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ ได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น แม้จะไม่เอ่ยออกมาเป็นคำพูดก็ตาม แต่จิตปรารถนาอย่างนั้น ก็เพราะรู้ในเหตุในผลว่า เพื่ออะไร ก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่ถ้าคนนั้นไม่มีความเข้าใจพระธรรมเลย หวังเพื่อตัวเองอย่างเดียว ขอให้มีลาภ มียศ มีความแข็งแรง มีความสวย ความงาม มีทรัพย์สมบัติ มีลาภสักการะ ก็แสดงว่ายังเป็นความติด
จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับคำพูดที่ว่าเราปรารถนาอะไร เพราะว่าทุกคนก็ปรารถนาสิ่งที่ดีทั้งนั้นกับตนเองในขณะที่ทำกุศล แต่เวลาอธิษฐานหรือขอให้ผลบุญกุศลเป็นไปในทางหนึ่งทางใด ก็แสดงถึงความตั้งใจพิเศษมั่นคงที่จะให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่า แม้แต่การที่จะให้พ้นทุกข์ยาก พ้นอุปสรรค พ้นภัยอันตรายต่างๆ ลึกลงไปกว่านั้น คนนั้นก็รู้ว่าเพื่ออะไร ถ้าเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรมโดยราบรื่น ไม่มีอุปสรรคต่างๆ ไม่ผิดเลย นั่นคือตั้งจิตไว้ถูก ถ้าไม่ใช่เพื่ออย่างนั้น แต่ เพื่อความติดข้องอยู่ ก็เป็นการตั้งจิตไว้ผิด
ถ. ผมยังสงสัยเรื่องสติปัฏฐาน จากการศึกษาและเริ่มใส่ใจพิจารณา น้อมที่จะพิจารณาลักษณะของสภาวธรรมต่างๆ ขณะที่มีการน้อมพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ มีแข็งบ้าง อ่อนบ้าง ขณะนั้นต้องมีสติและมีปัญญาที่เข้าใจเพิ่มขึ้น และ น้อมคิดพิจารณาลักษณะ ถ้าพิจารณาลักษณะของความแข็ง น้อมพิจารณาลักษณะของแข็ง จะเรียกว่า สติปัฏฐานได้ไหม
สุ. นี่ติดที่ชื่อ คือ ถามความเห็นว่า ได้ไหม ถ้าคนอื่นเขาบอกคุณสมนึกว่าไม่ใช่ ไม่ได้ คุณสมนึกจะเชื่อเขาไหม ในเมื่อขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานโดยตรง เพราะว่ากำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะให้รู้ และกำลังศึกษาพิจารณาให้เข้าใจ นั่นคือตัวสติปัฏฐานโดยตรง ไม่ต้องไปสงสัย หรือต้องให้คนอื่นมาบอกว่า นี่เป็นสติปัฏฐาน ในเมื่อเป็นความเข้าใจของเราเอง คือ ปัญญาของเราเอง สำคัญที่สุด คือ ปัญญาของตัวเอง พระธรรมมีประโยชน์ต่อสัตว์โลกก็เพราะทำให้ สัตว์โลกที่ได้รับฟังพระธรรมเกิดปัญญาของตนเอง
ถ. เวลาที่เริ่มศึกษาธรรมใหม่ๆ เมื่อศึกษาแล้วพอที่จะเริ่มเข้าใจบ้าง ก็มีความเป็นตัวตนที่จะน้อมพิจารณาให้เป็นสติปัฏฐานให้ได้ เป็นความต้องการ อย่างมาก และสนใจ และก็ถาม เคยไปถาม เขาก็ให้คำตอบว่า นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานต้องรู้ลักษณะชัดเลยว่า อันนี้เป็นแข็งจริงๆ นะ ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ขณะที่สามารถรู้แข็งเพียงชั่วขณะเดียว คือ มีการน้อม ใส่ใจ ปัญญาเกิดได้เพียงแค่นั้นเท่านั้นเอง ไม่สามารถพิจารณาละเอียดได้มากกว่านั้น
สุ. สติปัฏฐาน คือ การจับด้ามมีด
ถ. อันนี้เข้าใจ
สุ. เพราะฉะนั้น จะรู้ชัดทันทีที่กระทบสัมผัสได้หรือ ถ้ายังไม่รู้ชัด จะบอกว่าไม่ใช่สติปัฏฐานได้ไหม จับแล้วมีดไม่สึก จะบอกว่าที่จับนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานได้ไหม ในเมื่อกว่าจะสึก กว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ ต้องอาศัยแต่ละขณะที่สติปัฏฐานนั่นเองเกิด ถ้าสติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่เกิดเลย จะให้ปัญญารู้แจ้งได้อย่างไร และเมื่อสติปัฏฐานเริ่มเกิดจะให้รู้แจ้งได้ทันทีก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการระลึก ไม่มีการค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาขั้นสมบูรณ์จะเกิด ได้อย่างไร และจะกล่าวว่านั่นไม่ใช่สติปัฏฐานได้หรือ ในเมื่อปัญญาที่สมบูรณ์ต้อง มาจากขณะที่เริ่มระลึก เริ่มศึกษา เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ถ. และที่ท่านอาจารย์บอกว่า ต้องรู้ลักษณะของสติก่อนจึงจะเจริญ สติปัฏฐานได้นั้น รู้ขั้นศึกษา หรือต้องรู้ลักษณะเลย หรือต้องเห็นชัดเลยว่า เป็นลักษณะของสติ
สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะรู้ลักษณะของสติปัฏฐานได้ไหม เข้าใจเรื่องสภาพของสติปัฏฐาน อย่าลืม เข้าใจเรื่อง ตราบใดที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็เข้าใจเรื่อง ของสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ต่อเมื่อใดสติปัฏฐานเกิด เมื่อนั้น ก็รู้ว่านี่สติปัฏฐาน
ถ. แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติ ใช่ไหม
สุ. เมื่อรู้ว่านี่สติ จะไม่รู้ลักษณะของสติได้อย่างไร
ถ. ถ้าอย่างนั้น เรารู้จากการคิดนึกอีกทีหรือเปล่า
สุ. เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด รู้เรื่องของสติปัฏฐาน เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่านี่สติ ซึ่งไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล แต่เป็นสติที่ระลึกลักษณะ จะต้องมา ใช้ชื่อไหมว่า สติปัฏฐาน
ถ. ไม่ต้อง
สุ. ก็เป็นสติปัฏฐานอยู่แล้ว และก็รู้ว่านี่สติปัฏฐาน คือ กำลังระลึกลักษณะนั้น ไม่ใช่สติขั้นอื่น
ก่อนสติปัฏฐานเกิด รู้เรื่องของสติปัฏฐาน เหมือนกำลังเห็นเราก็บอกว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ชื่อว่า จักขุวิญญาณ รู้เรื่องของจิตที่กำลังเห็น แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกขณะที่กำลังเห็น ไม่ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า นี่เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเห็นเป็นสภาพรู้ ฉันใด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดเลย ก็เพียงแต่รู้เรื่องราวของสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะ แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด เมื่อนั้นก็รู้ว่า นี่ไม่ใช่สติอื่น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๐ ตอนที่ ๑๙๙๑ – ๒๐๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015