แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
ครั้งที่ ๒๐๐๓
สาระสำคัญ
สนทนาธรรมที่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี
สํ.ม จุนทสูตร - ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน
สนทนาธรรมที่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี
วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ ก็โทษไรๆ ของเธอที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาที่ไม่ชอบใจเรา ไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด
พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจากที่ฟังธรรม เสด็จมุ่งหน้าต่อพระคันธกุฎี ได้ประทับยืน ท่านพระเถระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลแล้วว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เลยไปหนึ่งอสงไขยแสนกัปแต่กัปนี้ ข้าพระองค์ หมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ปรารถนาเห็นพระองค์ ความปรารถนาของข้าพระองค์นั้นสำเร็จแล้ว ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว เป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การได้เห็นพระองค์ ไม่ได้มีอีกแล้ว ดังนี้ แล้วประคองอัญชลี หันหน้าเฉพาะตราบเท่าที่ที่จะเห็นได้ ถอยกลับ แล้วถวายบังคม แล้วหลีกไป
มหาปฐพีไม่อาจจะทรงไว้ได้ ไหวจนถึงน้ำรองรับแผ่นดิน
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเหล่าภิกษุที่ยืนแวดล้อมว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงติดตามพี่ชายของพวกเธอเถิด
ขณะนั้นบริษัท ๔ ละพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้พระองค์เดียวในพระเชตวัน ออกไปไม่เหลือเลย
ฝ่ายชาวพระนครสาวัตถีพากันพูดว่า ข่าวว่า ท่านพระสารีบุตรเถระทูลลา พระผู้มีพระภาคแล้ว ประสงค์จะปรินิพพานออกไปแล้ว พวกเราจะไปนมัสการท่าน พากันถือเอาของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นออกไปจนแน่นประตูเมือง สยายผม ร้องไห้ คร่ำครวญ โดยนัยเป็นต้นว่า บัดนี้พวกเราเมื่อถามว่าท่านผู้มีปัญญามาก นั่งที่ไหน พระธรรมเสนาบดีนั่งที่ไหน ดังนี้ จะไปสำนักของใคร จะไปวางสักการะ ในมือของใคร
เมื่อท่านพระเถระหลีกไปแล้ว จึงได้ติดตามพระเถระไป
ท่านพระสารีบุตรเถระเพราะความที่ท่านดำรงอยู่ในปัญญามาก คิดแล้วว่า ทางนี้คนทั้งหมดไม่ควรก้าวเลยมา แล้วโอวาทมหาชนว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกท่านจงหยุด อย่าถึงความประมาทใน พระผู้มีพระภาคเลย แล้วให้พวกภิกษุกลับ หลีกไปกับบริษัทของตน
พวกชนเหล่าใดต่างคร่ำครวญว่า ครั้งก่อน พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเที่ยวจาริกไปแล้วกลับมา บัดนี้ การไปนี้เป็นการไปเพื่อไม่กลับมาอีก จึงพากันติดตามอยู่อย่างนั้น
พระเถระก็กล่าวกะชนเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมเป็นอย่างนี้ แล้วได้ให้ชนเหล่านั้นกลับไป
ท่านพระสารีบุตรทำการแสดงธรรมสงเคราะห์ชนทั้งหลายตลอดเจ็ดวัน ในระหว่างทางพักแรมคืนเดียวในที่ทุกแห่ง ได้ถึงบ้านนาลกะเวลาเย็น
ถ. แสดงพระธรรมเทศนากับนางสารี เท่าที่ฟังดูเป็นการพรรณาถึงคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ใช่ไหม แต่เวลาที่ท่านพระสารีบุตรแสดงนั้น ทั้งคืน คงจะมีอะไรมากกว่านั้น ใช่ไหม
สุ. พระคุณไม่มีผู้ใดสามารถพรรณนาได้หมด ถ้าทราบว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ประจักษ์การเกิดดับ รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกขสมุทัย อะไรเป็นทุกขนิโรธ อะไรเป็นทุกขนิโรธคามินี ไม่พ้นจาก พระธรรมทั้งหมดในส่วนอื่นๆ เลย เพราะฉะนั้น ไม่มีการเจาะจงธรรมข้อใดโดยเฉพาะ แต่ธรรมที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและ ได้ทรงแสดงธรรม ก็พอที่จะให้พุทธบริษัทได้ทราบว่า ทุกกาลสมัย ไม่ว่าจะเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือในสมัยนี้ ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม สัจจธรรมก็เป็นสัจจธรรม
สำหรับการฟังพระสูตรนี้ สำหรับดิฉันเองมีความรู้สึกย้อนถอยไปถึง เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี มีโอกาสได้ทราบถึงรายละเอียดกิจวัตรของท่านพระสารีบุตร แม้แต่การที่ท่านมากราบทูลลาพระผู้มีพระภาค และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่อาศัยพระสูตรนี้ จะไม่ทำให้ย้อนไประลึกถึงว่า พระเชตวันในอดีต พระอัครสาวกทั้งหลาย ได้อยู่กับพระผู้มีพระภาค และทำให้ได้ย้อนระลึกไปถึงความเป็นไปของท่านพระเถระแต่ละท่าน อย่างการที่ท่านพระสารีบุตรจะปรินิพพาน ท่านก็ได้มากราบทูลลา และพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่หน้าพระคันธกุฎี ได้ทรงกล่าวเป็นการเตือน ภิกษุทั้งหลายให้ติดตามท่านพระสารีบุตรไป ก็เป็นเหมือนกับได้ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาอีกครั้งหนึ่งให้เราได้เห็นละเอียดขึ้น
ถ. ผมขอกลับไปเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ตามที่อาจารย์บอกว่า การเจริญสติปัฏฐานก็คือการเจริญอริยมรรค อยากทราบว่า สัมปชัญญะ ปัญญินทรีย์ วิริยินทรีย์ และธัมมวิจยะ กับสัมมาทิฏฐิ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร แตกต่างกัน หรือเหมือนกันอย่างไร
สุ. สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะ ก็คือ ขณะนี้ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่สภาพรู้
ปัฏฐาน หมายความถึงสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้
สติสัมปชัญญะ หมายความว่า มีความรู้รอบ คือ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ สติกำลังระลึก แม้ในขั้นต้นปัญญายังไม่สามารถรู้ชัดว่าลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยในขั้นการศึกษาว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจซาบซึ้งจริงๆ อย่างนี้ ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะ ปรุงแต่งให้สติในขณะนี้ระลึก ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน และ เมื่อระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นโพชฌงค์ ตามลำดับขั้นของปัญญา
แต่ถ้าในขณะนี้สติไม่เกิดเลย ก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ เพราะว่ายังไม่เกิด ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ
ถ. ตามที่ท่านอาจารย์อธิบายนั้น หมายความว่าทั้งวิริยะและสติ องค์ธรรมต่างๆ ทั้ง ๓๗ ที่เกี่ยวกับการตรัสรู้นั้น ก็คงมีความสัมพันธ์กันเช่นเดียวกัน ใช่ไหม
สุ. จะต้องมีพร้อม ทั้งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ และต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
ก่อนอื่น ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพียงเท่านี้ สภาพธรรม คำเดียวเท่านั้น แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า ที่ใช้คำว่า สภาพธรรม ก็เพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และแต่ละสภาพธรรมก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นจึงปรากฏ แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมใดๆ เลย จึงต้องอาศัยการฟังเป็นขั้นต้นที่จะให้รู้ โดยฟังอย่างละเอียดว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใช่ตัวตน เพื่อสติจะได้ระลึกได้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นทั้งๆ ที่ขณะนี้สภาพธรรมก็ยังคงเป็น สภาพธรรม แต่สติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ ได้แต่เพียงฟังเรื่องของสภาพธรรม ต่อเมื่อใด สติเริ่มระลึก เมื่อนั้นจึงจะค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. องค์ธรรมอื่นๆ ในอริยมรรค เช่น วิรตีก็ดี สมาธิก็ดี เหล่านี้จะมีความสัมพันธ์หรือเอาไปใช้ตอนไหน อย่างไร ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน
สุ. ส่วนมากจะใช้คำว่า เอาไปใช้ แต่ไม่มีตัวตนที่จะเอาอะไรไปใช้เลย ขอให้เข้าใจว่า สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีสภาพธรรม ที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ให้เข้าใจถูก สัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ให้ทำอะไรอื่นเลย ไม่มีอะไรจะใช้ ไม่มีอะไรจะทำ ไม่มีความเป็นตัวตน แต่ต้องมีความเข้าใจลักษณะ ของสภาพธรรมโดยสติระลึกได้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมทางหนึ่งทางใด และค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจอะไรเลย ก็ต้องฟังอีก เพื่อที่เมื่อสติระลึก จะได้เข้าใจว่า สภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมเพราะอย่างนั้นๆ หรือเป็นรูปธรรม เพราะเหตุนั้นๆ ต้องอาศัยการฟังและการเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรม อย่างมากทีเดียว เพื่อที่เมื่อสติระลึกจะได้ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น
ถ. หมายความว่า องค์ธรรมอื่นๆ นั้น จะปรากฏขึ้นเอง เช่น สมาธิ หรือวิรตีก็ตาม จะปรากฏขึ้นในการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
สุ. สภาพธรรมจะเกิดขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ เวลาที่กล่าวถึงสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม สติเป็นเจตสิกต้องเกิดพร้อมจิต และต้องเกิดพร้อมเจตสิกอีกมากมาย ซึ่งในขณะนั้นมีวิริยะเกิดร่วมด้วย และมีความเห็นถูกในหนทางประพฤติปฏิบัติ ที่ถูกต้องด้วย ต้องมีวิตกเจตสิก มีสภาพธรรมอื่นซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ โดยละเอียด แต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมใด ไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องไปใช้สติหรือทำสติ หรืออะไรทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้สติ เช่น ผัสสเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพยายามตัดไม่ให้สภาพธรรมอื่นเกิดให้มีแต่ผัสสะเท่านั้น ไม่ให้ไปถึงเวทนา ไม่ให้ไปถึงโลภะหรือตัณหา ไม่ใช่การทำ แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏแล้วในขณะนี้ โดยอาศัยการฟังให้เข้าใจจริงๆ ก่อน และเมื่อสติระลึก จึงเข้าใจได้
ถ. ความสงบบางอย่างที่เกิดขึ้นตอนทำสติปัฏฐาน อย่างเช่น ปัสสัทธิ จะปรากฏได้หรือไม่ หรือไม่ปรากฏเลย
สุ. แล้วแต่ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีทั้งกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ เมื่อสักครู่ที่มีการนมัสการพระรัตนตรัย ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นมีปัสสัทธิ ทั้งกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะปรากฏหรือ ไม่ปรากฏ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิด ร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ดวง คิดดู ๑๙ ดวง ยังไม่รู้จักหน้าตาชื่อเสียงทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะปรากฏไหม
ถ. ขณะที่ทำประทักษิณนั้น สิ่งที่ปรากฏ คือ ความเย็นปรากฏที่เท้า ทำให้ทราบว่าด้านขวามือเย็นกว่าด้านซ้ายมือ ทางด้านซ้ายมือร้อนกว่า สำหรับผู้ที่ ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานมาเลย ความรู้สึกอย่างนี้ เปรียบเทียบกับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน มีอะไรแตกต่างกันบ้าง
สุ. สภาพธรรมปรากฏตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย ไม่ว่าจะอ่อน จะแข็ง หรือจะเย็น จะร้อน แต่สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกที่ลักษณะ ซึ่งก่อนที่สติจะเกิด คือ ขณะที่หลงลืมสติ ก็ผ่านไป หรืออาจจะเป็นกุศลอื่น ทั้งๆ ที่ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องปรากฏ ในขณะนี้ทางตาก็กำลังปรากฏ ทางหูขณะที่ได้ยินก็ปรากฏ ทางกาย ที่กระทบสัมผัสก็ปรากฏ แต่ขณะที่มีสติ คือ ขณะที่สติเกิดนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้แข็ง หรือรู้เย็น แต่ขณะนั้นรู้ลักษณะที่เป็นเพียงสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ก็ต้องมีโยนิโสมนสิการ
สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่เราโยนิโส แต่เพราะโยนิโสมนสิการทำกิจ จึงเป็นกุศล
ถ. แต่กุศลบางชนิด ดูเหมือนเราตั้งใจโยนิโสมนสิการ
สุ. ดูเหมือนว่า เรา แต่ความจริงเป็นเจตนาเจตสิก ไม่ใช่เรา
ถ. เช่น เราเห็นเด็กๆ อินเดีย อยู่ในสภาพอย่างไรท่านก็คงจะทราบ มองเห็นเด็กอย่างนี้แล้ว เจริญเมตตาก็เจริญไม่ได้ กว่าจะเจริญได้ก็ต้องหาอุบาย หาเหตุผลใคร่ครวญคิดอยู่นานทีเดียว
สุ. เรื่องคิดทั้งนั้นเลย แต่กุศลจิตจะเกิดก็เพราะเหตุปัจจัย ในขณะนั้น ไม่ต้องคิด กุศลจิตก็เกิด ไม่จำเป็นต้องคิด เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเพียงคิด ก็คิดไป
ถ. แต่เมื่อคิดอย่างถูกต้องแล้ว ก็ทำให้จิตใจอ่อนโยนได้ ดูเหมือนว่า มีตัวตนที่จะไปเจริญ
สุ. ตราบใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ตราบนั้นยังเป็นเรา
นีน่า เมื่อวานนี้เราสนทนาธรรมเป็นภาษาอังกฤษ เรื่องนามและรูป อาจารย์สุจินต์บอกว่า ต้องเจริญความเข้าใจมากขึ้นเรื่องความต่างกันของนามและรูป ดิฉันบอกว่า สูงไป เพราะว่าเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ แต่อาจารย์สุจินต์บอกว่า ถ้าไม่เริ่มเดี๋ยวนี้ ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑ ไม่ได้เลย ไม่ได้ยากไป แต่จะยากไปเสมอ ถ้าไม่เจริญเลย
ถ. เรื่องนี้ผมก็คิดอย่างคุณนีน่าเหมือนกัน คือ การที่จะไปเห็นความแตกต่างของนามรูปนั้นเป็นปัญญาขั้นสูงทีเดียว แต่อาจารย์สุจินต์บอกว่า ถ้าไม่เริ่มเดี๋ยวนี้จะถึงญาณนั้นได้อย่างไร จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
บางครั้งสติเกิด ดูเหมือนว่าก็เกิดไปอย่างนั้น โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่า อะไร เป็นนาม อะไรเป็นรูป สติเกิดก็เกิดไป เหมือนกับว่าไม่ได้เจริญอะไรเลย อย่างนี้ก็มีบ่อยๆ สำหรับคุณนีน่าอาจารย์คงให้เจริญสูงขึ้น ใช่ไหม สำหรับผมขั้นเบสิกมากๆ คงจะไม่ถึงขั้นนั้น ใช่ไหม
สุ. ทุกคนที่เป็นผู้เริ่มเจริญสติปัฏฐาน จะเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีความต่างกันเลย แม้แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ หรือท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านวิสาขามิคารมารดา ในชาติหนึ่งชาติใดซึ่งท่านเป็นผู้เริ่ม การเริ่มของทุกคนเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า การเริ่ม คือ การเริ่ม เมื่อเริ่มระลึกและจะให้เหมือนท่านที่ได้อบรมจนกระทั่งปัญญาของท่านคล่องแคล่วที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวารโดยละเอียดได้อย่างไร
นี่เป็นความต่างกัน เพราะว่าขั้นต้นก็คือขั้นต้น ขั้นที่ได้อบรมแล้วก็คือ ขั้นที่อบรมแล้ว แต่โดยมากจะสังเกตได้ว่า บางท่านมีความต้องการมากเกินไป เช่น ทันทีที่สติระลึกก็อยากรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทันที ซึ่งแต่ละคน ก็ต้องรู้ว่า เป็นไปไม่ได้ อวิชชามี จึงได้มีการเกิดขึ้น เมื่อมีสภาพธรรมเกิดและมีอวิชชาก็ทำให้เกิดความยินดีติดข้องในสภาพธรรมนั้น ไม่ว่าจะคิดจะทำอะไรก็เป็นไป ตามอวิชชาและโลภะทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี เพราะฉะนั้น เวลาสติระลึก จะให้รู้โดยที่ไม่มีอวิชชาเลย ให้มีแต่วิชชาทันที ย่อมเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้
แต่ละคนต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดที่ยังไม่รู้ก็คือยังไม่รู้ และเพราะยังไม่รู้จึงต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความรู้ชัด เมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็ต้องเกิด ถ้าทำเหตุไว้และจะไม่ให้ ผลเกิด ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่โดยมากทำเหตุนิดเดียว ชั่วขณะสองขณะ แต่อยากรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดเจน นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015