แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
ครั้งที่ ๒๐๐๘
สาระสำคัญ
สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์
มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ
สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
วิถีจิตคืออะไร
ความต่างกันของจิตกับเจตสิก
สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓
ถ. เมื่อวานสนทนากันในรถ ไกลไปถึงเรื่องการเจริญสมถะ ผมจึงอยากจะทราบว่า ข้อที่ ๑ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิต่างกันอย่างไร ข้อที่ ๒ มีบางคนกล่าวว่า ถ้าเราเจริญเฉพาะวิปัสสนาไปตลอด เมื่อได้ญาณขั้นสูงขึ้นไปสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นเอง และข้อที่ ๓ เราควรจะทำไหม เจริญสมถะกับวิปัสสนาควบคู่กันไปขณะเดียวกัน
สุ. ข้อที่ ๑ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิต่างกันอย่างไร ถ้าขณะใดไม่ประกอบด้วยปัญญาและสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิโดยมากพอพูดถึงสมาธิ ไม่มีใครสงสัย ลักษณะของสมาธิ ง่าย เพราะว่าเราเคยมีสมาธิ ทุกคนมีสมาธิ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ เป็นความที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว อย่างเวลาที่กำลังสนใจอย่างหนึ่งอย่างใดไม่สนใจอย่างอื่นเลย นั่นก็แสดงลักษณะ ของสมาธิ แต่เป็นมิจฉาสมาธิ
คนที่จะทำสมาธิ ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่ามีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ผู้ที่รอบคอบที่จะศึกษาเสียก่อนว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร มิจฉาสมาธิคืออย่างไร เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา อยากจะทำแต่สมาธิ เพราะฉะนั้น ที่ทำสมาธิโดยไม่มีปัญญาเลย ต้องเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด
ถ. ข้อที่ ๒ เป็นความจริงไหมที่ผู้ที่เจริญสมถวิปัสสนา เจริญไปสูงๆ เข้า สมาธิก็จะติดตามขึ้นมาเอง
สุ. ก่อนที่จะถามว่า จริงไหมที่ใครๆ เขาว่า ใครๆ นั้นเขาเข้าใจ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาหรือเปล่า หรือเขาเพียงคิดว่า เขาเข้าใจ เขาจึงพูดอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทุกคำ ทุกเรื่อง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ความที่ไม่ได้ศึกษา ความที่ไม่เข้าใจ และความไม่รู้ ก็คิดกันเอาเองหมด แม้แต่สมถะก็บอกว่า สมถะ คืออย่างนี้ๆ วิปัสสนาคืออย่างนั้นๆ แต่จริงหรือเปล่า พวกที่สามารถกล่าวว่า สมถะคืออย่างนั้น วิปัสสนาคืออย่างนี้ รู้สมถะจริงๆ รู้วิปัสสนาจริงๆ ไหม ถ้าไม่รู้ ก็เหมือนกับที่บางคนบอกว่า วิปัสสนาแล้วหายโรค วิปัสสนาแล้วจะมีบุตรหรืออะไรๆ แล้วแต่ความปรารถนาว่าอยากจะได้อะไรก็ไปทำวิปัสสนา ซึ่งไม่ใช่วิปัสสนา แต่เขาเข้าใจว่า นั่นเป็นวิปัสสนา
เรื่องสมถะก็เหมือนกัน แล้วแต่เขาพูด แต่เขาเข้าใจหรือเปล่า เราฟังคนที่ ไม่เข้าใจ และเราก็มาตามๆ กันไป เหมือนข่าวลือ ยังไม่ทันทราบเลยว่าจริงหรือเปล่า ไม่สอบสวนเหตุต้นตอ แต่เราพูดตามแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ลือกันไปได้
ถ. ข้อที่ ๓ บุคคลบางคนอาจจะมีการสะสมมา และมีความสนใจใน เรื่องสมถะมาก ขณะเดียวกันก็มาเจอหนทางที่อาจารย์สอน เขาก็บอกว่า อยากจะเดิน ๒ ทางควบคู่กันไปในทางที่ถูกอย่างที่อาจารย์ว่า เป็นการสมควรหรือไม่อย่างไร
สุ. ต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจถูกทั้งสมถะและวิปัสสนา และก็รู้อัธยาศัยของตนเอง และจุดประสงค์ คือ เพื่อละ ถ้าไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ ไม่มีทางที่คนนั้นจะถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนา เพราะว่าเขาจะติดอยู่ตรงสมถะ
ถ. ผมได้ฟังอาจารย์มาลินีพูดศัพท์เทคนิคธรรมหลายครั้ง สงสัย อยากจะถามหลายครั้งแล้ว
ม. ต้องขอบคุณคุณธงชัยและคุณนีน่าด้วยที่บอกให้ดิฉันแชร์ความคิดออกมาให้ผู้อื่นฟังบ้าง นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันมากับคณะ ทั้งๆ ที่ตั้งท่ามานานแล้ว ดิฉันเป็นพุทธศาสนิกชนโดยกำเนิด และปฏิบัติธรรมมาตามธรรมเนียมในทำนองนี้ ดีใจที่ได้ฟังจากอาจารย์ เพราะอาจารย์พูดถึงปรมัตถธรรม และเห็นด้วยที่ว่า เราเอาบาลีมาใช้ผิดๆ คือ ภาษาผิดเพี้ยนไปได้ และดีใจที่ได้ฟังคำแปลที่ถูกต้อง ตรงตามอรรถพยัญชนะของพระธรรมที่แท้จริง และที่ต้องจดเพราะว่าดิฉันคงไม่ได้สะสมความจำ คือ จิตรวดเร็วมากอย่างที่เรียนอาจารย์ว่า ฟังปุ๊บ แวบไปๆ ถ้าไม่ จดไว้ ลืมเลย และก็ผ่านไปอีก เพราะไม่ได้สะสม ไม่ได้เป็นไปเพื่อละ เพราะฉะนั้น ก็ขออนุญาต ที่จริงฟังแล้วไม่สงสัย คือ เห็นด้วย เห็นตาม และขอแสดงความชื่นชมอาจารย์ อาจารย์อธิบายได้เคลียร์มาก และมีเมตตาต่อผู้ถามด้วย
ดิฉันมีความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า คนไหนก็คนนั้น ใครจะช่วยใครไม่ได้ แต่การฟังธรรมนี้เป็นมงคล ๑ ใน ๓๘ ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คบบัณฑิต ไม่คบคนพาล บูชาคนที่ควรบูชา และ ๑ ใน ๓๘ นั้น คือ ฟังธรรมตามกาล
เพราะฉะนั้น การฟังบ่อยๆ และไม่มีที่ว่าคนนี้สูงกว่าฉัน ต่ำกว่าฉัน ทำให้ ได้เนื้อธรรม และเกิดประโยชน์แก่ตัวเราเอง ปัญญาก็จะสะสมขึ้นมาเอง ฟังใครก็ได้ ฟังเรื่องของสมถะก็ได้ ฟังเรื่องบุญกุศลก็ได้ ฟังเรื่องอะไรก็ได้ แล้วพิจารณาตาม และจะเกิดการละ คือ พระพุทธเจ้าสอนให้ละ แต่เรายังละไม่ได้เลย เหมือนลอยคออยู่ในน้ำและบอกว่า อยากแห้งเหมือนคนที่อยู่บนบก เรายังไม่ใช่พระอรหันต์ที่จะได้ขึ้นไปอยู่บนบกตัวแห้งแล้ว เรายังเปียกอยู่อย่างนี้ ยังเวียนว่ายอยู่อย่างนี้ จะให้อำนาจอะไร บุญกุศลอะไรมายกเราขึ้นไปก็ไม่ได้ เราต้องขึ้นไปเอง ต้องขึ้นทีละน้อยๆ เพราะเราจมลึกอยู่อย่างนี้ ตะเกียกตะกายขึ้นไปเองโดยการที่ฟังคนอื่น และมีพละขึ้นมา โดยการสะสมปัญญา ขอเรียนว่าที่ดิฉันเล่าเรื่องไซอิ๋ว เพราะดิฉันอาจสะสมมาทางด้านดนตรีนาฏศิลป์ ศิลปะ และดิฉันสะสมความรู้ด้านนี้เพื่อสอน ทำให้คิดว่า จะต้องย้อนไปอ่านไซอิ๋วอีกครั้งว่า ธรรมที่ว่าค่อยๆ ไป ที่ว่ามิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ เขาเปรียบเป็นปุคคลาธิษฐาน ปัญญานี้เหมือนเห้งเจีย ศีลคือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋งคือสมาธิ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่ามีตัวปลอมทั้ง ๓ ตัวเลย คือ เห้งเจียก็ปลอม และมีฤทธิ์เหมือนกันทุกอย่าง ไม่มีใครแยกออกว่า โป๊ยก่ายปลอม หรือเห้งเจียปลอม หรือสมาธิปลอม นอกจากพระพุทธองค์หรือธรรมที่แท้จริงนั่นเอง ดิฉันยังนึกชมคนแต่งเรื่องไซอิ๋วว่า เอาพระธรรมทั้งหมดมาแสดงเป็น ปุคคลาธิษฐาน ทำให้คนที่ยังติดอยู่ในโลกอย่างเราที่ชอบดู ชอบฟัง จำอันนั้นได้ พร้อมกันนั้นก็สวิตช์กลับมาที่ธรรมได้ คนที่จะรู้ได้ คือ พระพุทธเจ้า แต่เห้งเจียที่ เป็นปัญญาจะไม่หลงทาง จะรู้เลยว่านี่ปีศาจ ปีศาจจะปลอมมาเป็นพระยูไล เห้งเจีย ก็รู้อย่างนี้เป็นต้น ฉันใด ถ้าเราสะสมปัญญาอย่างนี้ ปัญญาจะบอกได้เองว่า อันนี้ถูก อันนี้ไม่ถูก แต่ถ้าเราไม่ได้สะสมปัญญาให้มีมาก เราจะหลงติดไปตามปีศาจที่มาล่อลวงทั้งหลายทำนองนี้
เห็งซัว หรือ ๕ ยอด คือ ข่ายพระญาณในขันธ์ ๕ ของพระพุทธองค์ ซึ่ง ครอบปัญญาไว้ ทำให้ติดอยู่ในขันธ์ หนักมากจนกระทั่งปัญญาหลุดออกมาไม่ได้ จะต้องมีการตั้งจิตที่ดี หรือตั้งใจที่จะหลุดพ้น ปัญญาจึงจะหลุดออกมาได้ แต่ ตลอดทางกว่าจะถึง เห้งเจีย คือ ปัญญา ก็จะถูกปีศาจเล่นงานอย่างหนัก คือ พูดง่ายๆ ว่า เราอยู่ต้นทางและอยากจะไปอยู่ปลายทาง ทำไมไม่ให้เห้งเจียเหาะ อุ้มพระถังซัมจั๋งไปเสียเลย ดิฉันก็เข้าใจว่า ไม่ได้ จะต้องเดินทางไปเอง เห้งเจีย เคยเหาะตีลังกา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ไปถึงไซทีไปถามพระพุทธองค์หลายครั้ง แต่เห้งเจีย ก็อยู่ที่นั่นไม่ได้ ต้องย้อนกลับมาพาพรรคพวกเดินทางฝ่าทางทุรกันดารไป ฉันใด ก็เหมือนพวกเราแต่ละคนก็มีเห้งเจีย มีพระถังซัมจั๋ง อยู่ในตัวทั้งนั้นเลย เรากำลังเดินทาง เราจะให้อาจารย์ก็ดี หรืออิทธิฤทธิ์อะไรก็ดี มายกเราไปถึงไซทีไม่ได้ คงจะต้องสะสมไป และให้โอกาสเห้งเจียฆ่าปีศาจไปตามทาง จนกว่าจะถึงความ หลุดพ้นที่แท้จริง คือ ละให้ได้หมดนั่นเอง
สุ. ขอบคุณคุณมาลินีที่ทำให้ดิฉันได้รู้จักเห้งเจียฉบับกระเป๋า เพราะว่า ปกติเป็นคนที่จำเรื่องยาวๆ ไม่ได้ รามเกียรติ์ก็จำได้ ๒ – ๓ ตัว อิเหนาก็จำได้ ๒ – ๓ ตัว ไม่ว่าอะไรก็ตาม ปลาบู่ทอง นางอะไรเป็นต้นมะเขือ ก็จำได้นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ยังดีที่ทราบว่า มีเห้งเจียปลอม มีเห้งเจียจริง และมีตือโป๊ยก่าย ซึ่งตอนเป็นเด็ก ก็เห็นเป็นรูปหมูตะกละ ก็ยังดีที่ได้รู้จัก ๒ – ๓ ตัว
ผู้ฟัง คุณมาลินีทำให้เราหายเหงา ตอนนั่งรถเบื่อๆ ก็เล่าได้ยาวทีเดียว เห็นว่าเป็นลูกหลานหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ทั้ง ๒ ท่าน แต่ว่าอมภูมิ โดยเฉพาะ คุณมธุรส ไม่ยอมวิจารณ์เลย
ถ. ยังมีความสับสนอยู่เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ ทราบว่า เจตสิก คือ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต และอารมณ์ก็มีทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน เรียนถามว่า อารมณ์คืออะไร และมีความสัมพันธ์กับจิตเจตสิกอย่างไร
สุ. อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ด้วย เพราะฉะนั้น จิตกับอารมณ์ต้องคู่กัน จะบอกว่า มีจิต โดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ หรือ จะกล่าวว่า มีแต่อารมณ์โดยไม่มีจิตที่รู้อารมณ์นั้นก็ไม่ได้ แต่ธรรมไม่ใช่เรารู้แค่ คำจำกัดความ เราต้องคิดต่อไปอีก เช่น ขณะที่นอนหลับสนิท มีจิตไหม
ถ. คิดว่า มี
สุ. มีแน่ๆ เพราะเราไม่ใช่คนตาย นี่คือความต่างกันของคนเป็นกับคนตาย และกำลังนอนหลับสนิท เมื่อมีจิตแล้ว จิตรู้อารมณ์ด้วยหรือเปล่าในขณะนั้น
ถ. ตอบไม่ได้ น่าจะมี
สุ. การศึกษาธรรม คำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัส คำนั้นไม่เปลี่ยน ไม่เป็นสอง คือ ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้ากล่าวว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ที่ใช้คำว่า นามธรรม หมายความว่าไม่ใช่รูปด้วย ประการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปโดยสิ้นเชิง และนามธาตุที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นสภาพรู้ นามธาตุมี ๒ อย่าง คือ จิต เป็นสภาพรู้ และเจตสิก เป็นสภาพรู้ที่เกิดร่วมกับจิต แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้น เจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะ มีกิจการงานเฉพาะๆ ของกิจนั้นๆ ตายตัว
เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้คนที่ฟังพระธรรมมีความเข้าใจตรง เที่ยงตรง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าคำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัส คำนั้นไม่เป็นสอง ขอถามว่าขณะที่นอนหลับสนิท มีจิตไหม
ถ. มี
สุ. จิตในขณะนั้นรู้อารมณ์ไหม คือ ต้องเป็นความคิด ความมั่นใจของ เราเอง จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้อารมณ์ขณะนั้น เพียงแต่ว่าขณะที่นอนหลับสนิท อารมณ์ของจิตขณะที่นอนหลับไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้
ที่เรากล่าวว่า เราอยู่ในโลกนี้ เรากล่าวเมื่อเราตื่นขึ้นและเห็นโลกนี้ แต่ตอนที่นอนหลับสนิทเราจะไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เรานอนหลับอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะโลกนี้หรือโลกอื่น ก็ไม่รู้ จะอยู่บนเตียงที่เมืองโครักขปูร์ หรือจะอยู่เมืองสาวัตถี หรือจะอยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ทั้งสิ้น นั่นคือจิตที่เกิดดับทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ โดยที่ยังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้น เราแบ่งจิตออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับ จิตที่เป็นวิถีจิต เพียงแค่นี้ อย่าเพิ่งพอใจว่าเรารู้แล้ว เราจะต้องเข้าใจว่า วิถีจิต คืออะไร ทำไมเรียกว่า วิถีจิต ทำไมจิตเป็นวิถี ทำไมจิตไม่ใช่วิถี
ที่ใช้คำว่า วิถีจิต หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ โดยอาศัยทางตาเห็น หรือทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก นี่เป็นวิถีจิต หมายความว่าก่อนที่จะ เป็นวิถีจิต จิตเป็นภวังค์ ดำรงภพชาติ ซึ่งภวังคจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตทันที
ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกที่เกิดในโลกนี้เพียงขณะเดียวเท่านั้น เป็นจิตที่ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ นอกจากปฏิสนธิจิต
นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราเข้าใจโดยการศึกษาพระพุทธศาสนาว่า เมื่อตายแล้ว เกิดทันที เพราะว่าไม่มีระหว่างคั่นเลย ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ ปฏิสนธิจิตของชาตินี้ก็เกิด และเมื่อปฏิสนธิจิตของชาตินี้ดับ จิตขณะต่อไปก็เป็นภวังค์ เพราะว่า การที่ปฏิสนธิจิตจะเกิดได้ต้องมีกรรมหนึ่งเป็นกัมมปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดชั่วขณะเดียวและดับไป แต่กรรมที่เราทำมาแล้วซึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ใช่เพียง ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แต่ยังทำให้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ เกิดดับสืบต่อจนกว่าจะถึงจุติ
นี่เป็นเหตุที่เราตายไม่ได้ เรายังไม่ตาย เพราะว่ากรรมของเรายังไม่หมด แต่ระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ กรรมอื่นก็มีโอกาสจะให้ผลด้วย ไม่ใช่กรรมเดียวกับที่ ทำให้เราเกิดในโลกนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น บางวันเราก็สุข บางวันเราก็ทุกข์ เพราะเห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็นึกคิดไปต่างๆ
เพราะฉะนั้น วิถีจิตก็คือขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่จุติจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะว่าอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นเป็นวิถีสืบต่อกันเพื่อที่จะรู้อารมณ์นั้น ไม่ใช่เพียงจิตขณะเดียว แต่ต้องเป็นจิตหลายขณะ ซึ่งล้วนเป็นวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางตาเป็นวาระหนึ่ง กระทบทางหูก็อีกวาระหนึ่ง เป็นวิถีจิตสืบต่อกันหลายขณะ
ถ. คำว่า อารมณ์ คืออะไร
สุ. คือ สิ่งที่จิตรู้
ถ. และเจตสิกกับอารมณ์
สุ. จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ จิตไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ จิตไม่ได้จำอะไร จิตไม่ใช่ปัญญา จิตไม่ใช่ความเพียร จิตไม่ใช่ความโลภ จิต ไม่ใช่ความหลง สภาพโลภ โกรธ หลง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ลักษณะของเมตตา ลักษณะของกรุณา ลักษณะของริษยา ลักษณะของความตระหนี่ พวกนี้เป็นเจตสิก แต่ละชนิด ซึ่งทั้งหมดแล้วมีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกเหล่านี้ เช่น ความโลภ ความโกรธ พวกนี้เกิดลอยๆ ไม่ได้ ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ของเจตสิกหนึ่ง เจตสิกใดทั้งสิ้น จิตเป็นเพียงสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ และรู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏ
อย่างทางตา เราเห็นเพชรแท้กับเพชรเทียม เราเห็นหยก กับเราเห็นหิน ทำไมสามารถบอกได้ว่าต่างกัน ก็เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะ คือ เห็นตลอด เห็นชัดเจน ถ้าเป็นจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของจิตเห็น และจิตเห็นแจ้งในอารมณ์นั้น ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ พร้อมๆ กับจิตที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน
อย่างผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เวลาที่เรานอนหลับ จิต ในขณะนั้นเป็นภวังคจิต อารมณ์ของภวังคจิตสืบต่อมาจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน เมื่อข้ามภพข้ามชาติ อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ เพราะว่าเราไม่ใช่คนเก่าก่อนที่ เราจะตาย เราเป็นคนใหม่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์ของภวังคจิตสืบต่อมาจาก จิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เมื่อมาเป็นอารมณ์ของภวังคจิตในชาตินี้ ข้ามภพข้ามชาติมาแล้ว อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ อารมณ์ของชาติก่อนทั้งหมดไม่มาปรากฏเลย แต่เป็นอารมณ์เดียว คือ อารมณ์ใกล้จะจุติของชาติก่อน แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร เช่น ความตายอาจจะเกิดในขณะนี้ก็ได้ และขณะนี้ตาก็เห็น หูก็ได้ยิน ใจก็คิดนึก เพราะฉะนั้น คนที่จะตาย แล้วแต่ว่าเขาจะมีสีที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ หรือมีเสียงเป็นอารมณ์ หรือมี เรื่องที่คิดนึกเป็นอารมณ์ และเมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตจะมีอารมณ์เดียวกับ จิตใกล้จุติ ซึ่งไม่มีใครบอกได้ แต่ถ้าเป็นชาติก่อนบอกได้ เช่น เราจะตายเดี๋ยวนี้ เราบอกได้ว่า เราเห็นอะไร ได้ยินอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องราวของชาติก่อน
อย่างเวลาที่เห็น ผัสสเจตสิกจะต้องกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาที่ได้ยิน ผัสสเจตสิกกระทบเสียง เพราะฉะนั้น จิตรู้อารมณ์เดียวกับผัสสเจตสิก คือ ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตรู้อารมณ์เดียวกับผัสสเจตสิก พร้อมกันเลย ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิกไปกระทบก่อน และจิตมารู้อารมณ์นั้นทีหลัง เจตสิกทุกดวงที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมจิต ทันทีที่กระทบอารมณ์ เวทนา ความรู้สึกในอารมณ์ต้องเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นโสมนัส หรือโทมนัส หรือสุข หรือทุกข์ หรือจะเป็นอทุกขมสุข คือ เฉยๆ แต่ในขณะที่กำลังเห็น ต้องเป็นอุเบกขาเวทนา ยังไม่ทันจะรัก ยังไม่ทันจะดีใจหรือเสียใจเลย เพียงเห็นเท่านั้นเอง นิดเดียวเอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015