แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
ครั้งที่ ๒๐๑๔
สาระสำคัญ
ความคิดนึกไม่ใช่เรา สภาพคิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญกุศลบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ บารมีอื่นๆ เป็นบริวารของปัญญาบารมี
โลกมืดด้วยอวิชชา
สนทนาธรรมที่พุทธคยา
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
ผู้ฟัง ตอนแรกๆ คิดว่า การลดละกิเลสมีวิธีอื่น โดยการปฏิบัติทำสมาธิ หรือถือศีลอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งได้ แต่หลังจากได้ศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่า มีหนทางเดียว คือ การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานต้องศึกษา ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูปให้เข้าใจ และต้องรู้ความจริงซึ่งมีอยู่ ๒ อย่าง คือ รูปธรรม นามธรรม ให้ศึกษาทุกวัน
การศึกษาก็ตั้งแต่การฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมไปเรื่อยๆ เพราะว่า การลดละกิเลสเป็นไปตามลำดับขั้น ต้องรู้ว่า เราเห็นผิดในสภาพธรรมโดยมีโลภะร่วมกับความเห็นผิดนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็พยายามศึกษาสภาพธรรมที่กำลังเกิดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ต้องฟังมากทีเดียว และศึกษาขั้นพิจารณา คิดนึก แต่ก่อนเราคิดถึงเรื่องดิรัจฉานวิชา วิชาทางโลก การทำมาหากิน คิดแล้วคิดเล่า ในทางนั้น ต่อมาได้ศึกษาธรรมว่า สิ่งที่ควรจะรู้ คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ต้องศึกษาไปเรื่อยๆ พิจารณา ศึกษา ฟัง และพิจารณาธรรมให้สติปัฏฐานเกิด
ผู้ฟัง แต่ก่อนนี้พบท่านอาจารย์สุจินต์ทางวิทยุ เปิดฟังบ้าง ไม่เปิดฟังบ้าง ตอนแรกชอบเสียง เพราะว่าเสียงไพเราะ น่ารัก ชอบ เปิดแล้วก็หยุดฟัง แต่ไม่เข้าใจ ก่อนนอนจะเปิดฟังพระธรรมทุกคืน และอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่หยั่งรู้ในกุศลจิตนี้ ก็ขอให้ฟังพระธรรมด้วย และขอให้อนุโมทนากับที่เราเปิดพระธรรม
ตอนหลังมีเพื่อนมาชวนให้ไปฟังที่วัดบวร เผอิญตนเองก็ฟังทางวิทยุอยู่ แต่ยังไม่มีใครมาชักจูง เมื่อได้มาฟังที่วัดบวรแล้ว ก็ศึกษาอยากจะเข้าใจรูปธรรมและนามธรรมว่าเป็นอย่างไร ศึกษามาเรื่อยๆ ถามคนนั้นคนนี้ก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งมาอินเดียครั้งที่แล้ว มีเวลาว่างก็ถามท่านอาจารย์ว่า รูปธรรมนามธรรมเป็นอย่างไร ก็ได้ความเข้าใจว่า รูปธรรม คือ สภาพไม่รู้ หลับตาไม่มีสิ่งใดปรากฏ ลืมตาก็มี สิ่งที่ปรากฏขึ้น เห็นคือนามธรรม หลังจากนั้นก็ระลึกในคำที่ท่านอาจารย์พูดว่า รูปธรรม คือ สภาพไม่รู้ นามธรรม คือ สภาพรู้ และให้มีสติระลึกในลักษณะ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะที่จับไมโครโฟนนี้ก็มีลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ คือ แข็ง สติก็ระลึกในลักษณะแข็ง แม้จะไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็ขอน้อมระลึกคิดนึกไปกับธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายมา และขอน้อมระลึกลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏนี้ ตลอดไปจนถึงพระนิพพาน ขอตามท่านอาจารย์สุจินต์ไปด้วย ขอบพระคุณ
ผู้ฟัง ดิฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์นอกระบบ ความจริงแล้วเป็นลูกศิษย์อาจารย์มาตั้งแต่ปลดเกษียณ คือ ฟังวิทยุมา ๕ ปีแล้ว อยากจะพบอาจารย์จึงขอมาในทริปนี้ สิ่งที่ดิฉันได้จากอาจารย์ในระหว่างเรียน ๕ ปี คือ ดิฉันได้พิจารณาตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะจิตกับเจตสิก อาจารย์พร่ำสอนว่า จิตอยู่เฉยไม่ได้ ต้องมีเจตสิก สิ่งที่ดิฉันพบในตัวเองก็คือโกรธ ดิฉันอยากจะเรียนถามอาจารย์ เวลาที่เราโกรธ เรารู้ว่า โทสเจตสิกเข้ามาปรุงแต่งจิตเรา แต่ระงับไม่ได้ ต้องโกรธ เราก็พยายามระงับว่า เวลานี้โทสเจตสิกมาเต้นอยู่ในเวทีหัวใจเราแล้ว ทำไมเราไม่เอาสติบอกให้เขาลงจากเวทีเสียที สติขึ้นมาอยู่เถิด สติก็ไม่ยอมเข้ามา และโกรธนาน หลังจากนั้นสิ่งที่ตามมากับความโกรธก็คือความกังวลว่า ทำไมไม่ทำตามที่เราบอก เกิดกังวลใจว่า ถ้าเขา ไม่ทำจะเกิดความเสียหาย คือ ที่โกรธเพราะเขาไม่เชื่อเรา และกังวลตามมาอีกประมาณอาทิตย์หนึ่ง ก็อ่านจิตตัวเองว่า บัดนี้กังวลแล้ว
ประเด็นที่ ๑ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า กังวลเป็นเจตสิกตัวไหน สัปดาห์ต่อมาไม่หาย วิตก กังวล วิตกว่า ถ้าเขาไม่ทำตามที่เราพูดจะเสียหาย วิตกต่อไป หลังจากวิตก โกรธหาย แต่กังวลและวิตกจะวนเวียนอยู่ในจิตดิฉันตลอดเวลา ทั้งหมดนี้กินเวลาประมาณเดือนหนึ่งจึงหายทั้งหมด เรียนถามอาจารย์ว่า เจตสิกตัวใดที่มาอยู่ในเวทีหัวใจของดิฉัน และทำไมสติไม่ขึ้นมาไล่เจ้ากังวล โทสะ และวิตก ออกไปจากจิตของดิฉัน
สุ. ดิฉันเป็นสหายธรรม คือ เป็นผู้อัญเชิญพระธรรมมาให้สหายธรรมอื่นๆ ได้ฟัง ได้พิจารณา ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นพระธรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้ คนที่ศึกษาได้พิจารณาให้เข้าใจถูกต้องว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมต่างกับศาสดาอื่น เพราะว่าพระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงรู้แจ้ง แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง
ถ้าอ่านตำรับตำราอื่น ก็จะพบวิธีต่างๆ ที่จะควบคุมจิตใจ หรือพยายามหาทางที่จะระงับจิตใจ พยายามให้จิตอยู่ในอำนาจ เช่น ให้สติขึ้นมา ให้โทสะลงไป แต่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอย่างนี้ เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีธรรมฝ่ายไม่ดีคืออกุศล และมีธรรมฝ่ายงามที่เป็นกุศล แต่ทั้งธรรม ฝ่ายไม่ดีและธรรมฝ่ายงามทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้น ไม่มีใครมีอำนาจที่จะบอกว่า ให้กุศลเกิดมากๆ และให้อกุศลหายไป ให้หมด แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เพราะทุกคนที่เกิดมา ถ้าไม่มีกิเลส ไม่เกิด ต้องมีกิเลสจึงเกิด
แม้พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กิเลสทั้งหมดของพระองค์ก็ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่เมื่อได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปพร้อมที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในยามเย็นวันรุ่งขึ้นที่จะทรงตรัสรู้ พระองค์ได้ก้าวพระบาทมาประทับที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยสภาพของความเป็นปุถุชน ไม่ใช่แม้พระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะเป็นสาวก แต่เพื่อที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และ พระมหากรุณาคุณที่จะทรงแสดงธรรม เพื่อให้สัตว์โลกได้ฟังพระธรรม ได้อบรม เจริญกุศลทุกประการ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและดับกิเลสด้วยตนเองตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง
เพราะฉะนั้น ขอให้เราน้อมระลึกถึงสถานที่นี้ เมื่อเสด็จมาประทับด้วยความเป็นปุถุชน แต่ในวันรุ่งขึ้นเมื่ออรุณขึ้นทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ด้วยความปรารถนาว่า ให้กิเลสลงไป ให้สติขึ้นมา แต่ได้อบรมเจริญกุศลบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป โดยบารมีอื่นๆ เป็นบริวารของ ปัญญาบารมี
ทุกท่านฟังพระธรรมเพื่ออะไร ต้องรู้จุดประสงค์ว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อปัญญา ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลยที่จะคิด ที่จะรู้ ที่จะเข้าใจธรรมได้ตามความเป็นจริง
ก่อนฟังพระธรรม โลกของแต่ละคนเป็นโลกที่มืดด้วยอวิชชาไม่สามารถรู้ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างไร และที่เราเคยคิดเคยเข้าใจนั้นเป็นเรื่องราวของ สภาพธรรมทั้งนั้น เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ ตามความเป็นจริงแล้ว เพราะมีจิต เจตสิก รูป จึงมีการยึดถือว่าเป็นเราที่กำลังเห็น ที่กำลังนั่ง ที่กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ไม่มีใครบังคับธรรมใดๆ ได้เลย
ต้องอาศัยการฟังธรรมให้เข้าใจก่อน ปัญญาจึงจะกระทำกิจของปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางที่ใครจะดับกิเลสได้เลย อาจจะเข้าใจผิดคิดว่ากิเลสน้อยลง เพราะพยายามระงับ พยายามบังคับ และถ้าบังคับได้ชั่วครั้งชั่วคราว ก็คิดว่า เก่งมาก ดีมาก แต่ไม่สามารถละความยึดถือความเป็นตัวตนได้
ก่อนที่กิเลสอื่นๆ จะดับหรือละคลายลงไปได้ ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเสียก่อน เพราะฉะนั้น ต้องรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมให้เราได้ศึกษา ซึ่งเราก็จะได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะเป็นไปได้ตามกำลังของปัญญา
ผู้ฟัง ดิฉันไม่ค่อยได้พูด วันนี้ก็ถือโอกาส คือ ดิฉันเองศึกษาธรรมในระยะเวลาน้อยมาก ถ้านับเวลาก็เหลือเวลาอีกประมาณ ๕๖ วัน จะครบ ๔ ปี เพราะดิฉันเริ่มต้นวันที่ ๑ มกราคม ๓๐ โดยวิธีอ่าน ต่อมาก็ฟังเทป ได้เรียนถามอาจารย์บ้างบางครั้งที่ได้พบท่าน ดิฉันจับความได้ตามความเข้าใจของตัวเอง ครั้งแรกที่พบอาจารย์ที่บ้าน ตัวเองสมัยก่อนนั้นรู้สึกว่า พระธรรมเป็นของสูงจนคนอย่างเราเอื้อมไม่ถึง เพราะพระพุทธเจ้ากว่าจะทรงตรัสรู้ก็ใช้เวลานานเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ค่อยจะสนใจ แต่หลังจากฟังอาจารย์สอนแล้วรู้สึกว่า พระธรรมไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ลืมตาก็เจอพระธรรมแล้ว ก็เรียนอาจารย์ว่า พระธรรมอยู่รอบตัว อาจารย์บอกว่า ใช่ เราจะต้องชนกับธรรมตลอดเวลา จากนั้นมาดิฉันก็มีความรู้สึกอย่างที่อาจารย์พูดว่า ธรรมนี่ อยู่รอบตัว นอกเสียจากว่าเราจะไม่พิจารณาเอง
ดิฉันเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ก็พยายามคิดว่า เมื่อสัจจธรรมเป็นของมีจริง ทำไมบอกว่าไม่มีตัวตน สัจจะก็เป็นของจริง ทำไมไม่มีตัวตน ทำไมเป็นอนัตตา พยายามคิด ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ที่ว่าเป็นอนัตตานั้น คือ ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ต่อมาได้ฟังอาจารย์อีกก็นึกขึ้นมาได้ว่า กรรมนี่เองเป็นตัว จัดสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
ต่อมาเมื่อฟังอีกจึงพอจะทราบว่า ต้องมีเหตุมีปัจจัยจึงจะเกิด เมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องดับ แต่ตอนดับนี่ ดิฉันมองไม่เห็น ก็ยังเห็นอยู่ทำไมว่าดับ เท่าที่ได้เรียนจากอาจารย์รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นสมมติ เป็นบัญญัติ และเป็นสัญญาที่ยังตกค้างอยู่ เพราะฉะนั้น เราต้องกำจัดออกไปให้ได้ เมื่อเราสามารถจัดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เข้ารูปเข้าเรื่องแล้ว เมื่อนั้นแหละเราจึงจะทราบว่า อนัตตาคืออะไร ตัวดิฉันเองเวลานี้ ไม่ถึงขั้นที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรหรอก ยังพยายามไต่อยู่ เหมือนกิ้งกือไต่ไปแล้ว ตกลงมา ทั้งๆ ที่มี ๑๐๐ เท้าแล้ว ไต่ไปแล้วก็ยังไม่ค่อยขึ้น แต่คิดว่าจะพยายาม และไม่เคยตั้งใจเลยว่าจะไปให้ถึงนิพพาน ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง จะถึงเมื่อไรก็แล้วแต่ แต่จะไม่ละความพยายาม จะขอพยายามต่อไป
ผู้ฟัง ผมรู้สึกว่าเป็นคนโชคดี มีบุญมากที่เกิดเป็นชาวออสเตรเลียและได้มาเมืองไทย ได้พบอาจารย์สุจินต์ ได้ฟังเรื่องธรรม ฟังเรื่องก็เกิดสนใจ แม้ว่าฟังแล้ว ยังไม่เข้าใจเรื่องที่อาจารย์พูด แต่อยากฟังอีก ฟังต่อไป เข้าใจบ้างในเรื่องการเจริญ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ต้องฟังบ่อย ผมฟังมา ๑๗ ปีแล้ว ความเข้าใจยังเริ่มต้น จากมีสติเกิดน้อย เกิดบ้าง และมีอารมณ์เป็นรูปธรรมที่เกิดทางตา ทางหู รู้สึกว่าอารมณ์ที่เกิดทางตาต่างกับอารมณ์ที่เกิดทางอื่น
นอกจากนั้น เข้าใจว่า สำคัญที่ระลึกลักษณะของนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้ ต่างกับรูปธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร
นีน่า ดิฉันพูดกับอาจารย์สุจินต์เรื่องอกุศลวิบาก เมื่อคืนยุงกัด ไม่มีมุ้ง หลับไม่ได้ อาจารย์สุจินต์สอนว่า ในพุทธกาลไม่มีมุ้ง พระพุทธเจ้าเจริญบารมี วิริยะ ขันติ เราต้องพิจารณาด้วย ถ้ามีอกุศลวิบาก เหมือนการสอบ และควรจะดีใจที่มีโอกาส ได้เรียน แต่ดิฉันสอบตก เพราะว่ามีโทสะและดิฉันบ่น แต่พิจารณาได้ คุณสุจินต์ บอกว่า คุณสุจินต์เองดีใจถ้ามีอกุศลวิบาก ไม่เป็นไร อะไรก็ได้ ต้องพิจารณา อธิษฐานบารมีด้วย เรียนแล้วได้อะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดิฉันคุยกับ คุณแอ๊วเรื่องนี้ คุณแอ๊วบอกว่าไม่ต้องคิด เพราะว่าไม่มีประโยชน์เลย ผ่านไปแล้ว มีชั่วขณะจิต แต่ก่อนดิฉันมีโทสะมากๆ เดี๋ยวนี้เข้าใจดีขึ้น มีชั่วขณะจิต ผ่านไปแล้ว ไม่ต้องคิดบ่อยๆ ตลอดเวลา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๒ ตอนที่ ๒๐๑๑ – ๒๐๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015