แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015


    ครั้งที่ ๒๐๑๕


    สาระสำคัญ

    ลักษณะของโทสะ ท้อแท้ ห่วงกังวล หยาบกระด้าง หรือวุ่นวาย

    ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม


    สนทนาธรรมที่พุทธคยา

    วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


    สุ. ขอประทานโทษ ลืมตอบคำถามของคุณสุรีย์เรื่องของวิตก พอดี คุณนีน่าพูดถึง และท้อแท้ กังวลด้วย ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอย่างไรที่ท้อแท้ สบายใจไหม ขณะที่เป็นห่วงกังวล สบายใจไหม คำตอบคือไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต เป็นลักษณะของโทสะ คือ เป็นสภาพของจิตที่เปลี่ยนจากปกติเป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง หรือวุ่นวาย ไม่ใช่สุมนัส แต่เป็นทุมนัส

    มนัส แปลว่า ใจ สุ แปลว่า ดี หรือสบาย ทุ ก็แปลว่า ไม่ดี เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตเสีย เพราะว่าเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย เป็นโทมนัสเวทนา เป็น สภาพธรรมที่เป็นประเภทของโทสมูลจิต

    ผู้ฟัง ดิฉันปลดเกษียณแล้ว วันหนึ่งๆ มีเวลาฝันเยอะ ก่อนปลดเกษียณ ก็ตะเกียกตะกายที่จะเข้าหาธรรม เพราะไม่ต้องการมีจิตฟุ้งซ่าน เมื่อมาฟังจากอาจารย์ก็เป็นนอกระบบ คือ ฟังจากวิทยุโดยไม่เห็นหน้าอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ให้พิจารณาตัวเองในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ดิฉันจับได้มากที่สุดคือทางใจ ส่วนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ดิฉันยังจับไม่มั่น รู้สึกมากที่สุดคือทางใจ ดิฉันรู้ว่า มีโลภะ โทสะ โมหะ ดิฉันมองเห็นความแตกต่างของจิตเหล่านี้ ระหว่างโทสะกับโลภะว่า มีความ ตรงกันข้ามกันอยู่จุดหนึ่ง คือ ถ้าเราเกิดโทสะ เรารู้สึกรังเกียจ ไม่อยากให้อยู่ในจิตเรา อยากจะผลักเขาออกไป ถ้าอะไรที่เป็นเชื้อของโทสะ เราอยากจะเอาออกจากจิตเรา แต่ถ้าเป็นเชื้อของโลภะ แม้จะนิดหน่อย อยากจะเอาเข้าหาใจเรา นี่คือความแตกต่างระหว่างโลภะกับโทสะ แต่สำหรับโมหะนั้น ดิฉันคิดว่า ดิฉันมีอวิชชามากเหลือเกิน อวิชชาทำให้เกิด รู้สึกว่า เฉยๆ คือ โมหะ ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือเปล่า

    สุ. ถ้าขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศล และถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล เฉยๆ ก็ต้องเป็นอกุศลแน่นอน อีกอย่างหนึ่งรู้สึกว่า คุณสุรีย์ไม่ชอบโทสะเลย ชอบโลภะไหม โลภะก็ไม่ชอบหรือ จริงๆ แล้วไม่ชอบชื่อโลภะ แต่เวลาเป็นแล้วดี ใช่ไหม อาหารก็อร่อย ทุกอย่างก็สวย เพราะฉะนั้น ต้องเห็นโทษของโลภะด้วย เพราะว่าเวลานี้ทุกคนไม่ชอบโทสะ เห็นโทษของโทสะ ไม่อยากมีโทสะ แต่ควรที่จะรู้ว่า ร้ายกว่านั้น คือ โลภะ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดโทสะ

    ถ้าประสบกับอารมณ์อะไรซึ่งไม่น่าพอใจก็ควรมีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้น เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว อย่างที่คุยกับคุณนีน่าว่า เป็นเครื่องทดสอบปัญญาของเราว่า เราสามารถรับอกุศลวิบากต่างๆ และกุศลวิบากต่างๆ ด้วยปัญญา หรือว่าด้วยอกุศล

    ถ้าเราไม่มีปัญญา เวลาที่เรามีกุศลวิบาก ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี เราก็เพลิดเพลินยินดีหมกมุ่นต่อไปอีก และเวลาที่เราได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ไม่ดี เราก็ขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่การเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่าที่ควรจะเป็น เพราะว่าธรรมไปอยู่ในหนังสือ แต่ที่จริงแล้วธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย กุศลจิตเกิดหลังจากกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากได้ หรือโลภะเกิดหลังจากกุศลวิบากได้ โทสะเกิดหลังจากอกุศลวิบากได้ แต่สำหรับผู้มีปัญญาเป็นผู้ที่ มีความอดทนสามารถรับทั้งกุศลวิบากและอกุศลวิบากด้วยสติปัญญาที่ไม่หลงเพลินไป และไม่หงุดหงิด ไม่บ่น ไม่ทุรนทุรายด้วย ถ้าไม่มีอวิชชาแล้ว กิเลสใดๆ ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง เมื่อกี้คุยกับคุณนีน่าเรื่องนอนไม่หลับ ก็เลยบอกว่า อกุศลจิตก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ เพราะว่าเรามาที่นี่เพื่อที่จะสนทนาธรรม เพื่อที่จะนมัสการสังเวชนียสถาน เพราะฉะนั้น ความลำบากทั้งหลายควรจะมองข้ามไป สำหรับตัวเอง เมื่อเช้าเข้าห้องน้ำ รู้สึกโทสะเกิด และก็คิดว่า เรามาลำบากเพราะต้องการมานมัสการสังเวชนียสถาน เพราะฉะนั้น อกุศลจิตก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ นี่เป็นประโยชน์จากการศึกษาพระศาสนา

    ผู้ฟัง ดิฉันฟังธรรมได้ไม่นานเท่าไร ต้องฟังให้มากๆ จนเข้าใจ คิดว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร ต้องอาศัยการฟังไปอีกนานๆ

    ผู้ฟัง ตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ว่า ได้รับคำสั่งสอนว่าต้องเป็นผู้มีเมตตาแก่ คนทั่วไป หลังจากมาฟังจากท่านอาจารย์แล้วจึงทราบว่า แม้แต่ความเมตตา ก็ยังแฝงโลภะอยู่ เพิ่งจะได้ทราบในครั้งนี้ว่า แม้แต่เราเมตตาต่อลูกก็ยังแฝงโลภะอยู่ ซึ่งเป็นอกุศล ท่านอาจารย์แนะนำว่า สิ่งที่เป็นอกุศลต้องงดให้ได้เพราะเป็นอกุศล และมีหลายๆ อย่างที่จะต้องขัดเกลาตัวเราเองอีกมากมาย เพราะว่าอกุศลจะเข้ามา ที่ตัวเราอยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่าทุกลมหายใจก็ว่าได้ ถึงอย่างนั้นก็พยายามเข้าข้างตัวเองว่า เราเป็นปุถุชน เป็นผู้ครองเรือน แต่จะคิดได้บ่อยขึ้นหลังจากที่ท่านอาจารย์ได้อบรมให้ทราบว่า เราต้องพยายามตัดอกุศลให้ได้ในทุกๆ ทาง ทางตา หู จมูก เช่น รับประทานอะไรอร่อยอย่างนี้ ดิฉันขอกราบด้วยความเคารพอย่างสูงที่ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์

    ผู้ฟัง การศึกษาพระธรรม ผมคิดว่า การฟังมากๆ ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะการฟังมากๆ อย่างผม คือ ฟังสิ่งที่ผิด ฟังสิ่งที่ไม่ถูกทาง การไปที่ต่างๆ ศึกษาต่างๆ นานา ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ผมมาพบเมื่อไม่กี่ปีนี่เองว่า ทางที่ถูก คือ การเรียนจากผู้ที่รู้จริง เข้าใจจริง จากพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในชีวิต เพราะฉะนั้น การฟังมากๆ ขอให้ฟังในทางที่ถูกด้วย

    อีกประการหนึ่ง ผมเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมได้มากน้อยแค่ไหนนั้น อยู่ที่ การทำบุญมาแต่ปางก่อน คงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผมดำเนินชีวิตมาเป็นเวลา ๖๐ ปีแล้ว ยังไม่เห็นหนทางเลย จนเมื่อ ๒ – ๓ ปีที่เข้ามาฟังอาจารย์ เคยฟังและทิ้งไป เมื่อ ๒ – ๓ ปีจึงมาฟังใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจถูกว่า ทางที่ถูกที่ควรจะเป็นนั้น เป็นอย่างไร ผมขอให้ทุกคนพยายามเข้าหาทางที่ถูก และปฏิบัติธรรมมากๆ สะสมบุญมากๆ ก็คงจะได้เห็นธรรมที่แท้จริงต่อไป

    อนึ่ง การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น ผมขอเรียนอาจารย์ช่วยอธิบาย ให้เข้าใจแจ่มแจ้งด้วย

    สุ. สูงสุด คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนในที่สุด ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะถึงนิพพานโดยปัญญาไม่เกิดเลย จะไปปฏิบัติอะไรก็ตาม ก็ไม่ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    เมื่อสภาพธรรมมี การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับได้ ไม่ใช่อวิชชาจะประจักษ์ได้ แต่ต้องปัญญาที่อบรมเจริญแล้วเท่านั้นจึงประจักษ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังพระธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนในที่สุดก็รู้แจ้งได้ จึงจะชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ เหตุต้องตรงกับผล

    ผู้ฟัง ตั้งแต่เมื่อวานซืนได้ยินท่านอาจารย์บอกว่า ถ้านอนไม่หลับ ไม่ต้องกังวล พิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ เมื่อคืนนี้หลังจากรถเสีย เจ็บหลังมาก อยากนอนก็นอนไม่ได้ ทรมานมาก มีโทสะมากพอสมควร ตั้งใจว่าเมื่อถึงวัด อาบน้ำแล้วจะนอนเลย แต่ปรากฏว่าเตียงแข็งโป๊ก โทสะเกิดขึ้น ตอนหลังพิจารณาธรรมไปก็รู้ว่า เป็นอกุศลวิบากของเรา โทสะก็คลายลงไป

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่กำลังรู้ลักษณะอารมณ์ขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ๑ ใน ๔ อย่าง สภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้น คือ จิต พระผู้มีพระภาคทรงประกาศปรมัตถสัจจธรรมนั้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด

    ผู้ฟัง เรื่องจิต เจตสิก รูป สมัยศึกษาพระอภิธรรมใหม่ๆ เพื่อนๆ ถามผมเรื่อยเลยว่า ไปศึกษาทำไม จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ไปทำอย่างอื่น เช่น นั่งสมาธิ ตอนแรกผมก็ไม่รู้สึกว่ามีความสำคัญเท่าไร แต่อยากเรียน ก็เรียนไปเรื่อยๆ ต่อมาเมื่อมาพบท่านอาจารย์ ได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์ จึงเข้าใจว่า เรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน มีความสำคัญมากจริงๆ แต่ผมไม่อาจบรรยายให้ทุกท่าน เข้าใจได้ ท่านจะเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งเมื่อท่านได้ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป รู้จริงๆ

    เรื่องจิต เจตสิก รูป เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า นอกจากจิต เจตสิก รูป และนิพพานแล้ว นอกนั้นไม่มี ตัวตนไม่มี ความเข้าใจเรื่องการมี ตัวตนด้วยอำนาจของทิฏฐิก็ดี ตัณหาก็ดี มานะก็ดี เป็นประตูสำคัญที่จะให้เข้าใจ เรื่องสติปัฏฐาน และอะไรอีกหลายอย่างซึ่งดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง วันนี้เป็นวันเกือบจะสุดท้าย ดิฉันขอแสดงข้อคิดนิดหนึ่งว่า หลังจากที่ดิฉันฟังจากอาจารย์นอกระบบ และมาเห็นตัวจริงของอาจารย์ ดิฉันรู้สึกว่า อาจารย์ มีอายุและการศึกษาธรรมสั้นกว่าสิ่งที่อาจารย์ได้บรรยายให้พวกเราฟังตลอดเวลาที่ อยู่ที่นี่ ดิฉันคิดว่า นี่อาจเป็นการสะสม และปัญญาของอาจารย์ ถ้าหากอาจารย์ เป็นผู้ชายและครองผ้าเหลือง อาจารย์คงจะเป็นเกจิ แต่แม้อาจารย์จะไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ได้ครองผ้าเหลือง ดิฉันก็ขอกราบอาจารย์ด้วยความสนิทใจ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ ผมเคารพมหาถาวร อายุ ๘๐ กว่า ที่ท่านเป็นครูสอนธรรม และเคารพท่านอาจารย์สุจินต์เป็นอย่างยิ่ง ผมมีความคิดเพิ่มขึ้นๆ หลังจากฟังธรรมของท่านอาจารย์ ฟังเงียบๆ ฟังแล้วคิด ได้ความว่า ความคิดต่างๆ เพิ่มพูนขึ้น ทำให้เข้าใจมากขึ้นๆ แต่ก็คิดว่า ผมต้องใช้เวลาฟังอีกนานแสนนาน ซึ่งเหมือนกับท่านเมื่อกี้ที่ว่า ไม่ว่าจะอีกกี่อสงไขยแสนกัปจะบรรลุ อมตธรรมก็ตาม ท่านก็ยินดีที่จะทำตาม ผมก็คิดว่า จากนี้ไปจะไม่ขอพรอย่างอื่นอีก นอกจากขอพรว่า ให้เข้าใจธรรมจากท่านอาจารย์ยิ่งขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้โอกาสผมได้ระบายความในใจเล็กๆ น้อยๆ ให้ทุกคนฟัง ผมเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด ไปวัดใส่บาตรทำบุญ คิดว่าจะได้กุศลมากมาย ไปทีไรก็ต้องไปขอ อธิษฐานอย่างโน้นอย่างนี้ ให้ร่ำรวย ให้แข็งแรง จนกระทั่งได้ฟังเทปของอาจารย์ก็ดี ได้มาเจอตัวจริงของอาจารย์วันนี้ก็ดี รู้สึกว่า ที่ทำไปทั้งหมดนั้น หลงทางไปทั้งหมดเลย ผมได้มาเห็นความจริงว่า เราได้มาเรียนปรมัตถธรรมซึ่งมีหัวข้อจิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นหัวใจสำคัญในศาสนาพุทธของเรา ธรรมชาติเท่านั้นที่เราควรจะกำหนดจิตใจของเราให้น้อมถึงธรรมชาติที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นเป็นประจำวันรอบๆ ตัวเรา หลักธรรมนี้ให้ความสว่างกับผมเป็นอย่างยิ่ง ผมโชคดีที่ได้เข้ามาร่วมในกลุ่มมูลนิธิศึกษาธรรมคณะนี้เป็นอย่างยิ่ง

    ผู้ฟัง ความจริงยังห่างไกลจากธรรมมาก จริงๆ แล้วเป็นคนที่มีโอกาสมาเสมอ แต่ไม่ได้ฉวยโอกาสนั้นเลย เพราะแม่ศึกษาธรรมอยู่ เปิดเทปทุกวัน แต่ไม่เคยฟัง คือ แม่ฟังคนเดียว แต่แม่ก็พยายามเปิดดังๆ แต่หญิงก็ไม่เคยฟัง เพราะว่า เช้ามาทุกอย่างในชีวิตมันเร่งรีบไปหมดเลย รีบออกจากบ้านก่อน ๖ โมงครึ่ง ทำงานเสร็จกว่าจะถึงบ้าน ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม นอน เช้าตื่นอีก ไปทำงาน ชีวิตเป็นอย่างนี้ทุกวัน บางทีวันๆ ไม่ได้คุยกับแม่สักคำเดียว จึงไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมสักเท่าไร และไม่รู้จะเริ่มต้นเมื่อไรด้วย เพราะตอนนี้ไม่มีสมาธิ ได้มีโอกาสมาอินเดียครั้งนี้ คิดว่าโชคดีมาก

    ผู้ฟัง กราบสถานที่นี้ ซึ่งเป็นสถานที่เคารพที่สุดของดิฉัน

    ผู้ฟัง วันนี้ถ้าผมไม่มีโอกาสกล่าวธรรม ก็จะเป็นการเสียโอกาสของผม ในชีวิตของผมอาจจะมาที่นี่เป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ผมเองก็อยากจะกล่าวธรรม โดยเฉพาะที่อาจารย์ได้ตั้งไว้ คือ ขอให้พูดถึงพระอภิธรรม เพื่อเป็นการบูชาแด่ พระผู้มีพระภาค

    สำหรับผมในการศึกษาพระอภิธรรมนั้น ผมคิดว่าต้องเป็นผู้มีปัญญา มีความจำดี จึงจะเรียนได้ ไม่เหมาะกับเราที่ปัญญาไม่ดี ความจำไม่ดี แต่หลังจากที่ศึกษาจึงทราบว่า คนที่มีปัญญาน้อยที่สุด หรือว่าคนที่ไม่มีความรู้ ควรเรียน พระอภิธรรมอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีทางเข้าใจธรรมชั้นสูง หรือเข้าใจได้ช้า

    ก่อนจะพูดได้ดูสภาวจิตของตัวเองว่า การพูดครั้งนี้หวั่นไหวไหม นี่คือ พระอภิธรรม มีสภาวะตามความเป็นจริงของจิตว่า มีความหวั่นไหวมากแค่ไหน ผมเลื่อมใสพระอภิธรรมตรงที่สามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่เกิดโลภะ ทานอาหารอร่อย ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ในพระอภิธรรมบอกไว้ว่า ต้องมีอหิริกะ คือ ความไม่ละอาย ต้องมีอโนตตัปปะ คือ ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล เป็นความจริง หรือเปล่า ขณะที่อาหารอร่อยนั้น เราทานอย่างเอร็ดอร่อย ทานมาก บางครั้งอาจจะทานด้วยอาการที่ไม่เหมาะสมด้วยซ้ำไป นี่คือความไม่ละอายต่ออกุศล และไม่ทราบด้วยว่า อกุศลประเภทโลภะนี่เป็นสมุทยสัจจ์ เป็นสาเหตุของโทสะต่อไป นี่ก็ไม่ทราบ จึงไม่กลัว นี่คือประโยชน์ของการเรียนพระอภิธรรม

    ผู้ฟัง ดิฉันคิดถึงเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ที่เคยได้มีโอกาสมากราบสถานที่นี้ และ ทุกสถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถาน ตั้งแต่นั้นมาก็มีโอกาสศึกษาพระธรรมมาเรื่อยๆ มีคุณประสิทธิ์ศักดิ์คอยบอก คอยสอน คอยพูด คอยคุย ทำให้ได้อยู่ในพระพุทธศาสนามาโดยตลอด และตอนนี้คิดว่า ชีวิตเป็นแค่ชั่วขณะเดียวโดยตลอด ไม่ว่าเราจะรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ มีสิ่งที่ดีมากระทบ หรือมีสิ่งที่ไม่ดีมากระทบ ก็คิดว่าเป็นเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดขึ้นและหมดไปๆ เท่านั้นเอง นี่เป็นความรู้สึก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๒ ตอนที่ ๒๐๑๑ – ๒๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    17 ม.ค. 2565