แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958


    ครั้งที่ ๑๙๕๘


    สาระสำคัญ

    อรรถกถาจริยาปิฎก - จริยาของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญบารมี

    อรรถกถาขุททกนิกาย จริยาปิฎก - ความสำคัญของสัจบารมี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๙ กันยายน ๒๕๓๓


    ถ. บารมี ๑๐ ปัญญาต้องรู้เรื่องสติปัฏฐาน จึงจะเป็นปัญญาบารมีใช่ไหม

    สุ. ปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ อย่างเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่าควรจะละอกุศล และเจริญทุกอย่างเพื่อดับอกุศล

    ถ. เพื่อดับอกุศลเป็นสมุจเฉท จึงจะชื่อว่าหนทางถึงฝั่งพระนิพพาน และบารมีอื่นๆ ที่เป็นบริวารของปัญญาก็เช่นเดียวกัน คือ เพื่อต้องการให้อกุศลนั้น หมดไปเป็นสมุจเฉท

    สุ. เพราะว่าส่วนใหญ่คนทำบุญ ทำทำไม

    ถ. หวังผล ต้องการได้รับสิ่งตอบแทน

    สุ. ในขณะนั้นไม่รู้เรื่องโทษของอกุศลเลย แต่คนที่เกิดอกุศลและรู้ว่า อกุศลน่ารังเกียจ เป็นภัย ผู้นั้นมีปัญญาจึงเห็นอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้นจึงต้องมีปัญญา กุศลทั้งหลายจึงจะเป็นบารมี เพราะว่าอาศัยปัญญานั่นเองรู้โทษของอกุศล ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้โทษของอกุศล ก็ไม่ใช่บารมี

    ถ. เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นปัญญาบารมี เห็นโทษของอกุศล

    สุ. สัจจบารมีดูเหมือนไม่มีอะไรมากในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วสัจจะเป็นธรรมที่ส่งเสริมให้กุศลทั้งหลายเกิดขึ้นและเจริญขึ้นด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่จริงใจต่อการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลไม่เกิด และเกิดระลึกได้ว่า เราเป็นผู้ที่จริงใจต่อการเจริญกุศล ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กุศลเกิดได้ หรือขณะที่อกุศลกำลังเกิด ถ้าไม่เป็นผู้ที่จริงใจที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นก็ปล่อยให้อกุศล เจริญขึ้น แต่ถ้าในขณะที่อกุศลเกิด และเป็นผู้ที่จริงใจต่อการละคลายอกุศล ขณะนั้นกุศลก็เกิดได้ เช่น ขณะที่กำลังมีมานะ มีความสำคัญตน ในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ต่างๆ แม้แต่การบริโภคอาหารในร้านอาหารก็มีมานะได้ มานะจะแทรก เข้ามาได้บ่อยๆ กำลังขับรถอยู่ก็มีมานะได้ คนอื่น เรา เป็นอย่างไร มีการขับรถที่ ไม่ถูกต้องตามกฎ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเหตุให้เกิดมานะได้ แต่ถ้ากุศลจิตเกิด ในขณะนั้นเป็นผู้ที่จริงใจต่อการละอกุศล คือ สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นละมานะได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะละอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ที่จริงใจพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลในขณะนั้นแล้วละ เป็นเหตุที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้นได้

    การดำเนินชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ เป็นการเจริญกุศลที่ละเอียดทุกทาง และทุกท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่กำลังดำเนินรอยตามพระโพธิสัตว์ คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาทุกประการเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เป็นผู้ที่มีสัจจะ คือ ความจริงใจ ในการเจริญกุศลเพื่อละคลายและ ขัดเกลากิเลส

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความที่กล่าวถึงจริยา คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ในระหว่างทรงบำเพ็ญพระบารมี ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็ควรจะพิจารณาเพื่อประพฤติตามจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และต้องเป็นผู้ที่จริงใจในการประพฤตินั้นๆ ด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ

    พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น

    พึงไม่พูดผิดความจริง

    พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง

    การเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้นไว้ในตน

    อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง

    ข้อความในพระไตรปิฎกเป็นข้อความสั้นๆ ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถได้สาระ โดยการพิจารณาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าผ่านข้อความนี้ไปก็ไม่มีอะไรเลยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าพิจารณาข้อความที่ว่า พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ จะทำให้ผู้ที่ระลึกได้ เป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรจะไม่ช่วยคนอื่นเลย

    การช่วยกิจธุระของคนอื่น หรือช่วยแบ่งเบาภาระของคนอื่น ช่วยคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ ขณะนั้นรู้สึกตัวได้ทันทีว่า ต้องมีความเพียรจึงจะทำได้ มิฉะนั้นแล้วจะทำทำไม ใช่ไหม ลำบากเปล่าๆ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสต้องมีความประพฤติอย่างพระโพธิสัตว์ด้วย คือ พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ ไม่ว่าจะมีใครที่ผ่านมาในชีวิตซึ่งท่านสามารถเกื้อกูลได้แม้ด้วยวาจา แม้ด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

    แต่ขณะนั้นถ้าเป็นคนที่เบื่อ ขี้เกียจ ไม่ใช่เรื่องของท่าน ก็ไม่ได้เจริญกุศลที่จะขัดเกลากิเลส ก็ยังเป็นผู้ที่มีความเห็นแก่ตัว คือ มีแต่ความสบาย ความสุขของตนเอง แต่ถ้าถึงแม้ท่านจะลำบากสักนิดหน่อย ชีวิตของคนอื่นจะเจริญในทางกุศลอีกมาก ท่านก็กระทำได้ นั่นคือผู้ที่ปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ คือของคนอื่น

    พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น

    ขณะใดที่มีความลุ่มหลงมัวเมาที่ถึงระดับรู้ตัวเองว่า ไม่ใช่เพียงความพอใจตามปกติแต่ถึงขั้นเพิ่มขึ้นเป็นความลุ่มหลงมัวเมาเพลิดเพลินไป ก็ควรที่สติสัมปชัญญะจะเกิดและระลึกได้ว่า พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น

    ถ้าทุกคนค่อยๆ อดกลั้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งจะปรากฏลักษณะเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อสถานการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจาของคนอื่น หรือ ในเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม จะหนาว จะร้อน จะลำบาก จะไม่บ่น ซึ่งแสดงถึงความอดทน แต่ถ้าเริ่มบ่นสักนิดหนึ่ง ก็น่าจะระลึกแล้วว่า อดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่ น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาหรือเปล่า

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าอย่างนี้ยังทำไม่ได้ จะดับกิเลสหมดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีความเพียรในประโยชน์ของคนอื่น และอดกลั้นสิ่งซึ่งทำให้ลุ่มหลงมัวเมา ต้องเป็นผู้ที่สามารถรู้จักระงับใจไม่ให้ถึงความ ลุ่มหลงมัวเมาหรือเพลิดเพลินไป

    ประการต่อไป คือ พึงไม่พูดผิดความจริง

    ข้อนี้จะเห็นได้ว่า เริ่มระวังตัวขึ้นอีก เพราะแม้จะระวังตัวสักเท่าไรก็ตาม อาจจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติให้รู้ว่า ผิดอีกแล้ว อกุศลมีกำลังอีกแล้ว หรือยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ถ้าเป็นคนดี พูดตรงตามความ เป็นจริง ถ้าเป็นคนไม่ดี พูดผิดจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่พูดผิดจากความเป็นจริง เป็นเครื่องตรวจสอบตนเองได้แล้วว่า เป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว

    พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง

    โดยมากจะได้ยินท่านผู้ฟังมีเมตตาต่อคนดี เมื่อถึงคนไม่ดีจะได้ยินข้อความที่เหมือนไม่เมตตาเขาเลย แสดงให้เห็นว่า ความเมตตาของท่านหรือความกรุณา ของท่านยังไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งปวง เฉพาะคนดีเท่านั้นที่สามารถเมตตาได้ แต่แม้ใคร ก็ตามที่เป็นคนไม่ดี ก็คือนามธรรมที่สะสมมาในทางอกุศลจนกระทั่งสามารถกระทำอกุศลกรมนั้นๆ ที่น่ารังเกียจ ซึ่งบุคคลที่เจริญเมตตาแล้วสามารถเมตตาในบุคคลนั้น แทนที่จะมีโทสะในบุคคลนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ได้ว่า สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร

    ถ้าโกรธ ไม่พอใจ ดูหมิ่นคนชั่ว หรือคนที่ทำไม่ดี ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล จิตของท่านเองก็เท่ากับคนอื่นที่ไม่ดี เพราะว่าดูหมิ่นคนที่เป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ แม้จะเป็นพระธรรมเพียงเล็กน้อยสั้นๆ แต่ก็สามารถทำให้เป็นผู้มีสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น และรู้สภาพของตนเองขึ้นว่า ควรที่จะเจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย

    แม้ข้อความที่ว่า

    อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง

    เพียงเท่านี้ก็เตือนแล้ว ถ้าอนุโมทนาไม่ได้ หรือไม่อนุโมทนา ขณะนั้นจิต เป็นอย่างไร ต้องเป็นอกุศลแน่นอนจึงอนุโมทนาไม่ได้ แต่ขณะใดที่เห็นใครทำกุศล หรือเป็นกุศลแล้วอนุโมทนา ขณะนั้นเป็นความจริงใจที่ยินดีด้วยในกุศลของคนอื่น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำกุศลนั้นเองก็ตาม

    เรื่องของสัจจบารมีเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความที่แสดงความสำคัญของ สัจจบารมีตอนหนึ่งว่า

    อนึ่ง พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยมีอาทิว่า เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจธรรม เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไปมาพูด เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์ เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวง ให้บริสุทธิ์ได้ เพราะกระทำกิจแห่งโพธิสมภารทั้งปวงโดยไม่ให้ผิดสภาวธรรม และเพราะสำเร็จในการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ดังนี้

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังเห็นความไพเราะของสัจจะไหม เว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้ พูดไม่จริง ทำไม่จริง ทุกอย่างก็ไม่จริง เพราะอะไรจึงพูดไม่จริง เป็นอกุศล ใช่ไหม

    เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา

    ปฏิญญา คือ ความตั้งใจจริง มั่นคง เมื่อพูดไม่จริง ขณะนั้นก็ไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา

    ข้อความต่อไปก็มีความไพเราะที่ว่า เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไปมาพูด ต่อให้พูดอีกสักเท่าไรก็เชื่อถือไม่ได้ เพราะคนนั้นพูดไม่จริง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกข้อหนึ่งที่ว่า ผู้ที่พูดโกหกที่จะไม่ทำ ความชั่วอื่นย่อมไม่มี ซึ่งก็ตรงกัน เรื่องความไม่จริง

    สุ. เพราะข้อความมีว่า รวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะการก้าวล่วง สัจจธรรม และข้อความต่อไปมีว่า เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม ทั้งปวง เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวงให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะเห็นความสำคัญของสัจจบารมี คือ ความจริงใจต่อการขัดเกลากิเลส

    ถ. เรื่องการอนุโมทนาบุญกุศลของคนอื่น บางครั้งอนุโมทนาได้แต่ปาก ขอถามว่า องค์คุณของการอนุโมทนามีอะไรบ้าง

    สุ. ใจยินดีด้วยในกุศลของบุคคลอื่น มีจิตใจเป็นกุศลเกิดขึ้น แช่มชื่น ผ่องใส อนุโมทนา แต่ท่านคงจะเกรงว่าไม่ได้เอ่ยด้วยปากจะเป็นอะไรไหม ซึ่งความจริงไม่สำคัญ ถ้าขณะนั้นกุศลจิตเกิดแล้วอนุโมทนา

    ถ. พระพุทธองค์ทรงบอกว่า มีคำพูดอยู่ ๔ ประโยคด้วยกันที่ว่า คำพูดจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ไม่สมควรพูด คำพูดโกหกแต่มีประโยชน์ก็ไม่ควรพูด คำพูดโกหก และไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรพูด สุดท้าย คำพูดจริงและมีประโยชน์จึงสมควรพูด สงสัยว่า ทำไมคำพูดโกหก แต่มีประโยชน์ ทำไมไม่สมควรพูด

    สุ. เพราะเป็นคำไม่จริง

    ถ. แม้เป็นคำไม่จริง แต่มีประโยชน์

    สุ. ผู้ที่เห็นประโยชน์ของตนเอง คือ ผู้ที่พูดสิ่งที่จริง ประโยชน์ของตน คือ พูดสิ่งที่จริง

    ได้สนทนาธรรมกับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นผู้สนใจในการปฏิบัติ และท่านไปสู่สำนักปฏิบัติหลายแห่ง เวลาที่เริ่มสนทนากัน ท่านก็บอกว่า ขอเรื่องโลกุตตระ เรื่องอื่นไม่เอา คือ ไม่สนใจเลยที่จะพูดเรื่องอื่น ท่านต้องการพูดเรื่องโลกุตตรธรรมเท่านั้น เพราะว่าท่านไปสู่สำนักปฏิบัติหลายแห่ง และแต่ละแห่งคงทำให้ท่านเข้าใจว่า ท่านจะต้องเร่งขวนขวายแต่เฉพาะเรื่องของโลกุตตรธรรม

    แต่ถ้ายังไม่เข้าใจโลก จะเข้าใจโลกุตตระได้อย่างไร ถ้าไม่พูดเรื่องของโลกก่อน และจะพูดเรื่องโลกุตตรธรรมทันทีโดยไม่เข้าใจเรื่องโลกเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ได้เรียนให้ท่านทราบว่า โลกุตตระคืออะไรเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วท่านก็ยังไม่เข้าใจว่า โลกุตตระ คือ สภาพธรรมที่พ้นจากโลกหรือเหนือโลก เพราะว่า โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ส่วนโลกุตตรธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่พ้นจากการ เกิดดับ ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของโลกเลย และจะพูดแต่เฉพาะโลกุตตรธรรมอย่างเดียว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    และสำหรับท่านผู้นั้น เวลาที่ท่านไปที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ท่านมักจะนึกถึงเท้า ที่กำลังก้าวไป ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน หรือบางครั้งท่านนั่งๆ อยู่ ท่านก็นึกถึงท้องบ้าง แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นหนทางไปสู่ โลกุตตระ เพราะว่าท่านจะเอาแต่เรื่องโลกุตตระเท่านั้น เรื่องโลกท่านไม่สนใจ

    แต่ก็ได้เรียนให้ท่านทราบว่า ผลที่ท่านต้องการ หรือที่ท่านบอกว่า ได้ผล ซึ่งท่านบอกเอง คือ ทำให้จิตใจของท่านไม่คิดนึกไปในเรื่องอื่น นั่นไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติและปัญญาเพิ่มความรู้ขึ้น เพิ่มความละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นแต่เพียงท่านพอใจว่า จิตของท่านไม่ไปที่อื่น นอกจากอยู่ที่ขวา ซ้าย เวลาที่ท่านเดิน หรือเวลาที่ท่านนั่งก็ อยู่ที่ท้อง แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง และมีความพอใจเพียงว่า ขณะนั้นจิตใจไม่ไปสู่ที่อื่น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด และสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นผล ต้องการผลเพียงเท่านั้นหรือ คือ ต้องการให้จิตอยู่ที่หนึ่งที่ใด โดยไม่รู้ว่า การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยินตามปกติ เป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชา เป็นอกุศล และจะละได้อย่างไร เพราะ ผู้ที่จะดับกิเลสได้ต้องรู้ว่า เมื่อเห็นแล้วเกิดกิเลส เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือเมื่อได้ยิน ซึ่งในขณะที่หลงลืมสติขณะนั้นต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะละอกุศลที่เกิดเมื่อเห็นแล้ว ก็ต้องเป็นปัญญาและสติสัมปชัญญะที่จะเกิดในขณะที่เห็นและสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น อย่าพอใจที่จิตไปจดจ้อง หรือไปตั้งอยู่ที่หนึ่งที่ใดโดยไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม

    ปัญญาต้องเริ่มตามลำดับ คือ เข้าใจให้ถูกต้องว่า กิเลสอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ และปัญญาที่สามารถละคลายกิเลสนั้นอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ด้วย ซึ่งก็ต้องเป็นที่เดียวกัน คือ เมื่อเห็นแล้วกิเลสเกิด การที่จะละคลายกิเลส คือ เห็นแล้วสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนเข้าใจชัดขึ้นในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๖ ตอนที่ ๑๙๕๑ – ๑๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564