กุมารลิจฉวีสูตร


    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กุมารลิจฉวีสูตร ข้อ ๕๘ โดยย่อมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปสู่เมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่โคนต้นไม้ ต้นหนึ่ง

    แม้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พักผ่อนของพระองค์ คือโคนต้นไม้ต้นหนึ่งในป่ามหาวัน

    ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายคนถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อม เดินเที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงวางธนูที่ขึ้นสาย ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้ พระผู้มีพระภาค

    เพียงเท่านี้ เห็นจิตไหม ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน มีหิริ มีโอตตัปปะไหม ที่แสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม

    ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะ เดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็น เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านั้นผู้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เปล่งอุทานว่า

    เจ้าวัชชีจักเจริญๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร มหานามะ ก็เพราะเหตุไรท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ

    เจ้ามหานามะกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้เป็นผู้ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่างๆ ที่ส่งไปในตระกูลทั้งหลาย คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือ ขนมแดกงา เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ย่อมแย่งชิงกิน ย่อมเตะหลังหญิงแห่งตระกูลบ้าง เตะหลังกุมารีแห่งตระกูลบ้าง แต่บัดนี้เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค

    แม้เพียงชั่วขณะที่นั่งนิ่งประนมอัญชลี ก็ต่างกับขณะที่เป็นอกุศลที่เคยเป็น ซึ่งไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไร มีความเกเรมากมายอย่างไรก็ตาม เมื่อ มีโอกาสได้สนใจในพระธรรมและฟังพระธรรม ย่อมเป็นที่หวังได้ว่า คนนั้นย่อมดีขึ้น จะน้อยหรือจะมากแล้วแต่พื้นของจิตที่สะสมมา แม้แต่บรรดาเจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหานามะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็น ขัตติยราชได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม ผู้ปกครองรัฐซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม กุลบุตรนั้นพึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

    เรื่องของหิริโอตตัปปะทั้งนั้น

    ดูกร มหานามะ กุลบุตรในโลกนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา มารดาบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม มารดาบิดาผู้ได้รับการสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับ ความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม

    แม้แต่เพียงความคิดที่อยากจะให้ใครมีอายุยืนนาน ขณะนั้นแสดงว่า ต้องเห็นคุณธรรมความดีของบุคคลนั้น ใช่ไหม ขณะนั้นก็มีความเคารพ มีความ นอบน้อม สักการะในคุณความดีของท่านผู้นั้น ซึ่งขณะนั้นเป็นหิริโอตตัปปะ

    ประการต่อไป

    ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของกุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มา ... โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๓ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เพื่อนชาวนาและ คนที่ร่วมงานด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ ... โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๔ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เทวดาผู้รับพลีกรรมด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ ... โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๕ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์ด้วยโภคทรัพย์ที่หาได้ ... โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    กุลบุตรผู้โอบอ้อมอารี มีศีล ย่อมทำการงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์แก่บุตร ภริยา แก่ชนภายในครอบครัว แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพ แก่ชนทั้งสองประเภท กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตเมื่ออยู่ครองเรือนโดยธรรม ย่อมยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ญาติทั้งที่ล่วงลับไป ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แก่สมณพราหมณ์ และเทวดา กุลบุตรนั้นครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรมแล้ว เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ฯ

    จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมทำกุศลไม่ได้ครบถ้วนตามที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะท่านผู้มีพระคุณและท่านที่ใกล้ชิดที่สุด คือ มารดาบิดาเท่านั้น การสักการะ เคารพ นับถือบูชาในประการที่ ๒ คือ บุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ เป็นกุศลไหม ถ้าทำได้ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ถือตน สำคัญตนว่า เป็นใหญ่ เป็นนาย แต่เป็นผู้ที่เคารพนับถือบูชาคุณความดีของ บุคคลอื่นได้ แม้บุตรซึ่งเป็นผู้ที่มีความดี มารดาบิดาก็ยังเห็นในความดีของบุตรนั้นได้ เคารพในคุณความดีได้ ไม่ถือว่าตนเป็นใหญ่ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นภริยา หรือเป็นทาส เป็นกรรมกร หรือคนใช้

    ผลที่ได้จะดีไหม ถ้ามีความเคารพในกันและกัน ไม่ใช่มีความสำคัญตน เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ธรรมใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ต้องเป็นกุศล และผลของกุศลก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ไม่ใช่ว่าผู้เป็นหัวหน้าต้องถูกเสมอ ทั้งๆ ที่ผู้เป็นหัวหน้ามีอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาให้ถูกต้องว่า ในขณะนั้นกุศลธรรมมีในบุคคลใด ก็ควรจะเคารพในกุศลธรรมของบุคคลนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    1 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ