สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณกวรรคที่ ๓ สัปปุริสสูตร ข้อ ๗๓ แสดงถึงเรื่องของการพูดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยจิตที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ
ที่ผ่านมาแล้วตัวท่านเป็นอย่างไร เป็นอย่างนี้หรือเปล่า แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง รีบอธิบายชัดเจนถึงความไม่ดี หรือความเสียหายของคนอื่น ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เพราะอะไร ก็เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิต
ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่บุคคลใดจะมีตัวตน มีกำลัง สามารถละอกุศลทั้งหลายได้เลย แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่เกิดพร้อมการระลึกรู้ สำเหนียก สังเกต จนประจักษ์ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้มีแล้วในโลก และมีมานานแล้วด้วย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ
เห็นกำลังของกิเลสไหม ความดีแท้ๆ ของคนอื่น สรรเสริญไม่ได้ กล่าวไม่ได้ กิเลสอกุศลทำให้ปกปิดความดีของคนอื่น แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของคนอื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม
เคยเป็นอย่างนี้ไหม สังเกตจากบุคคลที่แวดล้อมท่าน มิตรสหายก็ได้ มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามการสะสมจริงๆ จะไปเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของใครก็ไม่ได้ ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่ชัดเจนว่า แล้วแต่การสะสม แม้ถูกถาม บางคนก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกถามแท้ๆ ยังไม่บอก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ถาม เป็นอันว่าไม่พูดแน่ และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่
ตระหนี่จริงๆ ในการที่จะสรรเสริญความดีของคนอื่น ซึ่งขณะนั้นต้องเป็นกิเลส เป็นอกุศลแน่นอน เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่สะสมมา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นอย่างนั้น ในขณะนั้น ขัดขวางไว้ เหมือนกับความตระหนี่ บางทีตั้งอกตั้งใจว่า จะให้ ถึงเวลาจริงๆ ไม่ให้ ความตระหนี่เกิดขึ้นแล้ว สะสมมาแล้วที่จะเกิดก็เกิด
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้เห็นความละเอียดของกิเลสที่สะสมมาตามความเป็นจริง จะได้รู้ว่าตนเองมีกิเลสมากน้อยเพียงไร จึงจะละกิเลสนั้นได้
แต่ถ้าไม่รู้ ข้ามไปๆ หวังจะไปรู้นามรูปอะไรไม่ทราบ แล้วจะละการยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดในชีวิตประจำวันนี้ได้อย่างไร เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายแม้ขณะที่กำลังตระหนี่ หรือว่ากำลังกล่าวสรรเสริญคุณของคนอื่น หรือว่ากำลังกล่าวโทษของบุคคลอื่นก็ตาม ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกรู้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะรู้ตื้นลึกหนาบางของการสะสมของกิเลสและอกุศลที่จะละได้ ด้วยปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อไม่เต็มที่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้ว ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ฯ
ลักษณะของอสัตบุรุษ พอถึงความดีของตนเอง แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผย ขณะใดเป็นอย่างนี้ กิเลสมากหรือน้อย เป็นสัตบุรุษหรืออสัตบุรุษ และเมื่อถูกถามแล้ว ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว ทำความดีอะไรๆ ไว้บ้าง ก็บรรยายโดยละเอียดถี่ถ้วนทีเดียว กล่าวถึงความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ขณะนั้นให้ทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เพราะว่าพอถึงความดีของคนอื่นไม่พูด แต่พอเป็นความดีของตนเอง อะไรที่ทำให้วาจาอย่างนั้นเป็นไป ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็ไม่รู้ถึงสภาพของจิตในขณะนั้นที่เป็นตัวตน ที่เป็นอกุศล ที่เป็นปัจจัยให้วาจาอย่างนั้นกล่าวออกไป
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่า เป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ
ความเสียหายของคนอื่น เขาอยากจะให้คนอื่นรู้ไหม ไม่อยาก น่าเห็นใจไหม เมื่อเห็นใจในการกระทำที่พลั้งพลาด หรือในความผิดของบุคคลนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงรู้ถึงบุคคลอื่น แต่ควรที่จะช่วยให้เขาเห็นว่า ควรที่ประพฤติในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควรอย่างไร และไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความเสียหายของบุคคลนั้นให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นเป็นความเมตตา เป็นความกรุณา เป็นความเห็นใจ เป็นกุศลจิต
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ
บางคนรู้สึกว่ายากใช่ไหม แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล ควรอบรม ถ้านิสัยเดิมที่สะสมมาไม่ค่อยจะกล่าวถึงความดีของบุคคลอื่น ก็รู้ว่าตัวเองนี้ไม่ดีที่ไม่พูด ไม่แสดง ไม่สรรเสริญคุณความดีของคนอื่น และถ้ารู้ว่าขณะนั้นตัวเองเป็นอกุศล เป็นกิเลสที่ ปิดกั้นขัดขวาง ทำให้ไม่กล่าววาจาที่ควรจะกล่าว ก็ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ กล่าว ค่อยๆ อบรมนิสัยใหม่ ที่จะเป็นผู้ที่มีกุศลจิตในการที่จะเปิดเผยความดีของผู้อื่น หรือว่ากล่าวความดีของผู้อื่นอย่างเต็มที่กว้างขวาง
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ
ข้อนี้ยากกว่าข้ออื่นหรือเปล่า ลองคิดดู แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของตน ดูจะยากกว่าข้ออื่นหรือเปล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง
ถ้าเคยเข้าใจอะไรผิด เป็นโทษ ก็แสดงโทษว่า เคยเข้าใจผิดอย่างนั้น หรือว่าเคยพูดผิดอย่างนั้น กล้าที่จะทำอย่างนี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็เป็นอสัตบุรุษ ถ้าได้ แม้ยากก็เป็นสัตบุรุษ
เพราะฉะนั้น แต่ละข้อๆ ท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า สำหรับตัวท่านเองประการใดยากกว่าประการใด หรือว่าง่ายกว่าประการใด
ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงคำว่า สัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ ตามศัพท์ ตามไวยากรณ์ ตามบาลีที่เรียนมา สัตบุรุษ ส แปลงมาจาก สันตะ ตะ แปลว่า ผู้ที่ถึง
ผู้ที่ถึงความสงบด้วยกาย วาจา ใจ จึงเรียกว่า สัตบุรุษ หรือสัปบุรุษ
ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาให้ความละเอียดในเรื่องของพยัญชนะ คำว่า สัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ มาจากคำว่า สันต + บุรุษ = สัตบุรุษ ซึ่งในพระสูตรบางแห่งท่านแสดงไว้ถึงขั้นอุกฤษฏ์ คือ การเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม
ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสัตบุรุษ แต่แม้ผู้ที่สงบ ขณะที่สติเกิด ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นครั้งคราวก็เป็นสัตบุรุษได้ คือ ผู้ที่เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตในขณะนั้น
ข้อความต่อไป
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อไม่เต็มที่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ฯ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งเท่านั้น นางตั้งหิริและโอตตัปปะได้อย่างแรงกล้าในแม่ผัว พ่อผัว และผัว โดยที่สุดในคนรับใช้ และคนทำงาน สมัยต่อมา นางอาศัยอยู่คุ้นเคย จึงกล่าวกะแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง และผัวบ้างอย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพียงออกบวชได้วันหนึ่งหรือคืนหนึ่งเท่านั้น เธอตั้งหิริและโอตตัปปะไว้อย่างแรงกล้าในพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในคนวัด และสามเณร สมัยต่อมา เธออาศัยความอยู่ร่วม จึงกล่าวกะอาจารย์บ้าง กะอุปัชฌาย์บ้างอย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้
เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีใจเสมือนหญิงสะใภ้ซึ่งมาใหม่อยู่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่จะให้กล่าววาจาโดยอาศัยความคุ้นเคย ทีแรกก็มีหิริ มีโอตตัปปะดี วาจาก็ไพเราะน่าฟัง แต่พอคุ้นเคยกันมากเข้าๆ ก็มีผรุสวาจาบ้าง หรือว่ามีวจีทุจริตต่างๆ บ้าง เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน ด้วยเหตุนี้ ในเรื่องของวาจาที่จะขัดเกลา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอุปมาให้เหมือนหญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งเท่านั้น วันแรกที่ไปสู่บ้านของสามีก็สงบเสงี่ยมเจียมตัว วาจาก็ดี แต่ว่าพอคุ้นเคยกันขึ้น วาจาก็เป็นวจีทุจริต เป็นคำพูดที่ไม่น่าฟังต่างๆ เพราะฉะนั้น เรื่องวาจาจึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังให้เกิดหิริโอตตัปปะ
การที่จะละเว้นวจีทุจริตได้ ก็ตามกำลังของสติปัญญาที่สามารถระลึกรู้ได้ว่า ในขณะนั้น คำพูดเช่นนั้น เกิดขึ้นเพราะกุศลจิตหรือเพราะอกุศลจิต และคำพูดใดควรจะเว้นก่อน เช่น มุสาวาท ควรเหลือเกินที่จะไม่กล่าวเลย เพราะว่าทำให้บุคคลอื่นเสียประโยชน์ เป็นเรื่องที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น
และถ้าได้ระลึกรู้ถึงวจีทุจริตประการอื่น เช่น ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปวาจา ก็จะทำให้สามารถอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในสภาพธรรมที่ทำให้กล่าววาจาอย่างนั้น จนถึงการที่จะดับวจีทุจริตประการนั้นๆ ได้เป็นสมุจเฉท
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
ผู้ฟัง สัตบุรุษ ไม่ถูกถามก็พยายามพูดถึงความดีของผู้อื่น แต่ความเสียหายของผู้อื่น แม้ถูกถาม สัตบุรุษก็พยายามอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้อื่นรู้ จริงอยู่ จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล ข้อนี้แน่นอน แต่ว่าคำพูดที่อ้อมค้อม ที่หน่วงเหนี่ยว ปิดความจริงไว้นี้ คำพูดนั้น ไม่น่าเป็นสัมมาวาจาเลย
ท่านอาจารย์ ชีวิตตามความเป็นจริง รู้เรื่องความเสียหายของคนอื่นบ้างไหม ก็รู้ เป็นประโยชน์ไหมในการที่จะกล่าวให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย หรือว่าไม่มีประโยชน์เลย เป็นเรื่องของเขาจริงๆ ถ้าคนอื่นๆ รู้ ก็จะเพิ่มอกุศลมากมาย มีแต่วาจาที่ต่อกันไปต่อกันมา โดยที่ไร้ประโยชน์
นี่เป็นความจริง และเป็นชีวิตจริงด้วย ซึ่งก่อนที่จะกล่าวควรจะพิจารณาแต่ละเรื่อง แต่ละรายว่า มีประโยชน์บ้างไหม ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็เว้น ไม่กล่าวเลย ซึ่งเวลาที่สติเกิด ก็สามารถจะให้เป็นไปในทางที่ควรได้ทุกประการ
บางครั้งเรื่องผ่านไปแล้ว แต่คนที่สะสมสติมาที่จะพิจารณาสภาพธรรม ก็ยังย้อนระลึกได้ว่า ได้ทำสิ่งที่ควรหรือไม่ควรประการใด แม้ว่าขณะที่กระทำสติไม่เกิดจริง สติเกิดช้า เกิดทีหลัง แต่ก็ยังพิจารณาเพื่อละเว้นได้ว่า ที่กระทำผ่านไปแล้วไม่เหมาะไม่ควรประการใด ซึ่งก็ยังเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็เป็นสติขั้นที่พิจารณารู้ว่า อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร อย่างไรเป็นกุศลควรเจริญ อย่างไรเป็นอกุศลควรละ
ท่านผู้ฟังเขียนถามมาว่า ทราบความประพฤติของสามีว่า พรั่งพร้อมด้วยสุรา นารี พาชี และถูกภรรยาของผู้นั้นสอบถามถึงความประพฤติต่างๆ เหล่านั้น เราก็บอกเล่าโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ อย่างนี้จัดเป็นอสัตบุรุษหรือไม่
เรื่องของใจ ละเอียด ลึกซึ้ง คนอื่นล่วงรู้ได้ยาก ถ้าจะดูเพียงการกระทำภายนอก ผิวเผิน จะไม่แน่นอนเท่ากับสติที่ระลึกรู้ได้ในขณะนั้นว่า เป็นจิตประเภทใด คนที่กำลังบรรยายโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ผู้นั้นรู้ดีว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ถามเจริญสติระลึกรู้ ถ้าก่อนจะพูดสติเกิดพร้อมปัญญาที่รู้ความควรและไม่ควร ก็จะรู้ได้ว่า จะพูดหรือจะไม่พูด จะพูดมากหรือจะพูดน้อย จะพูดละเอียดหรือไม่พูดละเอียด จะพูดเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์หรือรวมส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย ก็แล้วแต่กำลังของกิเลส ซึ่งอกุศลนี้จะผลักดันให้เป็นวจีทุจริตประการใด ประกอบด้วยกิเลสอกุศลแรงกล้าอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นจริงตามการสะสมของบุคคลนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นที่จะทราบได้ ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล ก็รู้ว่าเป็นอกุศล
เรื่องของคำพูดมีมาก ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องของคำพูดไว้มาก ทรงโอวาทเพื่อที่จะให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นวจีทุจริตทุกประการ
ข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรณวิภังคสูตร ณ พระวิหาร เชตวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการพูดที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แต่พระสูตรนี้ยาวมาก จะขอกล่าวถึงข้อความบางประการ
ข้อ ๖๖๐ มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใดไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด
แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น
เป็นชีวิตจริงใช่ไหม ซึ่งตรงกับข้อความที่เขียนถามมาว่า ทราบความประพฤติของสามีว่า พรั่งพร้อมด้วยสุรา นารี พาชี และถูกภรรยาของผู้นั้นสอบถามถึงความประพฤติต่างๆ เหล่านั้น เราก็บอกเล่าโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ อย่างนี้จะจัดเป็นอสัตบุรุษหรือไม่
นี่เป็นวาทะลับหลัง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด
ถ้าไม่จริง ไม่กล่าวเลย เพราะฉะนั้น ที่รู้นี้จริงแค่ไหน ถ้าจริงหรือเท็จยังไม่ทราบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ข้อความต่อไปที่ว่า แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น ทรงเพ่งเล็งถึงประโยชน์ สำคัญที่สุด และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น
ครบทุกประการ ถึงแม้ว่าจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น
แสดงให้เห็นว่า เรื่องของคำพูดต้องระวังจริงๆ และให้เป็นประโยชน์จริงๆ มิฉะนั้น ท่านไม่ทราบเลยว่า จะเกิดความเสียหายกับคนอื่นมากน้อยสักแค่ไหน อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้ อาจจะมีเรื่องใหญ่โตร้ายแรงเกิดขึ้นก็ได้จากคำพูดเพียงไม่กี่คำ โดยความไม่ระวังของท่าน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด
แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น
ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
แม้แต่วาทะ หรือคำพูดลับหลัง หรือคำล่วงเกินต่อหน้า ก็ต้องระวังไปทุกประการสำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงโอวาทแม้ภิกษุผู้มีชีวิตอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะทรงทราบชัดถึงการสะสมของจิตของภิกษุแต่ละรูปว่า มีการสะสมมาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส สะสมมาอย่างไร แม้ว่าจะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นวจีทุจริตประการต่างๆ ซึ่งจะต้องขัดเกลาจริงๆ พร้อมด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริง จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่อไป
ข้อความต่อไป
ข้อ ๖๖๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูดก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูดก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้
ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ยังจะรีบด่วนพูดอีกไหม ก็แล้วแต่ปัจจัยอีกเหมือนกัน บังคับบัญชาอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว มีหน้าที่ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้จริง จึงจะละได้
ข้อความต่อไป
ข้อ ๖๖๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปัตตะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิฏฐะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าสราวะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหโรสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหนะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า เป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และไม่เป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปัตตะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิฏฐะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าสราวะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหโรสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหนะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิปิละ ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ อย่างไม่ใช่ความแน่ใจว่า เป็นอันท่านผู้มีอายุทั้งหลายพูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าให้เข้าใจสภาพธรรมผิด คลาดเคลื่อน จะใช้คำพูดตามภาษาของชนบท หรือภาษาอื่นที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั่นเป็นจุดประสงค์ของการแสดงธรรมหรือการกล่าวธรรม แต่ถ้าใช้คำที่ทำให้คนอื่นเข้าใจสภาพธรรมผิด ก็ควรที่จะแก้ และพยายามใช้คำที่จะให้ผู้อื่นสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนไปจากลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของวาทะลับหลัง
ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นการปฏิบัติผิดๆ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์
คือ ขณะใดที่มีวาทะลับหลัง ซึ่งไม่จริง ไม่แท้ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่มีทุกข์ เพราะเป็นกิเลส มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นการปฏิบัติผิด และธรรมนั้นยังมีกิเลสต้องรณรงค์ ซึ่งเป็นกิเลสของตัวเอง เป็นปัจจัยที่จะให้กล่าววาทะลับหลังที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้วาทะลับหลัง จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ มีความเร่าร้อน มีการประพฤติผิด ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์
ส่วนวาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
เป็นเรื่องของกิเลสซึ่งทุกคนจะทราบดีด้วยตัวเองว่า มีมากน้อยแค่ไหน และการที่จะละกิเลสนั้นๆ ยากแค่ไหน ไม่ใช่ของที่จะละได้โดยง่ายเลย ท่านที่มีสัมผัปปลาปวาจามากๆ ละเร็วๆ ได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ข้อแรก คือ ต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และละวจีทุจริตที่เป็นมุสาวาทให้เป็นสมุจเฉทก่อน
ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร ข้อ ๔๘๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละว่า
ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง คือ เป็นผู้กล่าวเท็จ เป็นผู้ส่อเสียด เป็นผู้มีวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ
สำหรับข้อที่ว่า เป็นผู้เพ้อเจ้อ มีข้อความว่า
เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีที่ตั้ง ไม่มีหลักฐานที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร
ส่วนความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ อย่าง คือ ละการพูดเท็จ ละวาจาอันส่อเสียด ละวาจาหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ
สำหรับข้อที่ว่า เป็นผู้ละการพูดเพ้อเจ้อ มีข้อความว่า
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดตามจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัย และกล่าววาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
เรื่องของสัมผัปปลาปวาจา และการละเว้นสัมผัปปลาปวาจาในพระไตรปิฎก จะมีข้อความตรงกันอย่างนี้ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้พูด แต่หมายความว่า ให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าเข้าใจผิดว่า สัมผัปปลาปวาจาเป็นการพูดเพ้อเจ้อ เพราะฉะนั้น ที่จะเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อได้ คือ ไม่พูดเลย ถ้าเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูก
ขอให้ดูชีวิตของพระอรหันต์ตามความเป็นจริงว่า ท่านพูดไหม แต่คำพูดนั้นๆ เป็นสิ่งที่ควรพูด ถูกกาละ และเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร