เรื่องพระสุขเถระ
ในเรื่องความพอใจในรูปบ้าง ในรสบ้าง ในสัมผัสบ้าง ที่สะสมมาตลอดเวลาที่ยาวนาน ไม่มีผู้ใดรู้เลยว่า อาจจะเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามโอกาสของกรรมและกิเลสนั้นๆ ซึ่งบางท่านพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอุบาสกท่านนั้นเพียงแต่จะนั่งฟังพระธรรมต่อไปอีกเพียงสักครู่เดียว เขาจะได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน แต่อุบาสกท่านนั้นก็มีกิจธุระที่ต้องกลับไปสู่บ้านเรือนของตน เพราะฉะนั้น ก็พลาดโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลย
ขอกล่าวถึงเรื่องของ ท่านพระสุขเถระ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ถ้า ท่านฉันภัตตาหารก่อนในวันนั้น จะไม่ได้บรรลุพระอรหัต
ข้อความในเรื่องนี้มีว่า
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภท่าน พระสุขสามเณร แล้วตรัสเรื่องที่เกี่ยวกับรสอาหารในอดีตชาติของท่าน ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า
ในระหว่างพระพุทธศาสนาแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสมณโคดมพระองค์นี้ เป็นกาลว่างพระพุทธศาสนา มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ครั้งนั้น ท่านพระสุขสามเณรเกิดเป็นคนขายฟืนในชนบท ท่านมีเพื่อนรัก คนหนึ่งอยู่ในพระนครพาราณสี สมัยนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่าคันธกุมาร มีปกติอยู่ในพระนครพาราณสี เมื่อเศรษฐีบิดาของคันธกุมารนั้นสิ้นชีวิตแล้ว พระราชาแห่ง พระนครพาราณสีก็ได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีนั้นให้แก่คันธกุมาร ด้วยสักการะเป็นอันมากกว่ามาก ตั้งแต่นั้นมาคันธกุมารนั้น ก็มีชื่อว่าคันธเศรษฐี
สมัยนั้น ผู้รักษาคลังสมบัติของคันธเศรษฐีนั้นได้เปิดประตูห้องคลังสมบัติ แล้วขนเอาทรัพย์สมบัติออกมาเป็นอันมากให้คันธเศรษฐีดู และกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ทรัพย์มีประมาณเท่านั้นๆ เป็นของบิดาของท่าน ทรัพย์มีประมาณเท่านั้นๆ เป็นของปู่ของท่าน
คันธเศรษฐีแลดูกองทรัพย์นั้น แล้วถามนายคลังว่า
คนเหล่านั้นมีปู่และบิดาเป็นต้น ทำไมไม่ขนทรัพย์ทั้งหลายเอาไปด้วย
ผู้รักษาคลังสมบัตินั้นก็ตอบว่า
ธรรมดาคนทั้งหลายผู้ตายไปแล้ว และไปสู่ปรโลกนั้น ย่อมขนเอาทรัพย์ไปด้วยไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายจะพาไปได้ก็แต่กุศลและอกุศลที่ตนกระทำไว้เท่านั้น
คำของนายคลังสมบัตินั้นเป็นสุภาษิต เป็นคำที่ควรคิด แต่คันธเศรษฐีได้ฟังแล้วกลับคิดว่า
บิดาของเราเป็นต้นสะสมทรัพย์สมบัติทั้งปวงไว้แล้ว แต่ละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ต่างคนก็ต่างจากโลกนี้ไปแต่ตัวเปล่า เพราะปราศจากปัญญา แต่สำหรับตัวเราเอง จะขนสมบัติทั้งหมดนี้ไปกับตัวให้ได้
เมื่อคันธเศรษฐีคิดอย่างนี้แล้ว แทนที่จะคิดให้ทานหรือว่ากระทำการสักการบูชา ก็คิดว่า เราจะบริโภคทรัพย์เหล่านี้ให้หมด
นี่คือการนำไปกับตัวเอง คือ คิดว่าเป็นการฉลาดที่จะใช้ทรัพย์ให้หมดไป
เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็จำหน่ายทรัพย์แสนกหาปนะทำซุ้มสำหรับอาบน้ำด้วยแก้วผลึก และจ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นแผ่นสำหรับอาบน้ำด้วย แก้วผลึก จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเตียงรองสำรับอาหาร จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นบัลลังก์สำหรับนั่ง จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นถาดสำหรับบริโภคภัตตาหาร จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งให้กระทำมณฑปสำหรับเป็นที่นั่งบริโภคอาหาร แล้วให้ทำเป็นสีหบัญชร ช่องหน้าต่างในเรือนด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง และจ่ายทรัพย์เป็นค่าอาหารวันละพัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำก็จ่ายทรัพย์แสนหนึ่งให้ทำอาหาร และให้ประดับประดาพระนคร ให้ตีกลองร้องป่าว ให้ชาวพระนครทั้งหลายมาดูลีลาการบริโภคอาหารของคันธเศรษฐี
ถ้าใครมีทรัพย์มากมายอย่างนี้ และคิดอย่างคันธเศรษฐี ก็แล้วแต่การสะสม ซึ่งแต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน แต่แสดงให้เห็นว่า ใครจะคิดอย่างไร ก็ต้องเคยคิดอย่างนั้นมาบ้างในอดีต เวลาที่มีทรัพย์เกิดขึ้น บางคนคิดจะให้ทาน บางคนก็คิดที่จะใช้ทรัพย์นั้นให้หมด
มหาชนทั้งหลายก็ประชุมกัน ผูกเตียงน้อยและเตียงใหญ่เพื่อที่จะดูลีลา บริโภคภัตตาหารของคันธเศรษฐี
ท่านคันธเศรษฐีขึ้นนั่งเหนือแผ่นกระดานอันควรค่าหนึ่งแสน ในซุ้มสำหรับอาบน้ำอันควรค่าแสนหนึ่ง แล้วก็อาบน้ำหอม ๑๖ กระออม แล้วเปิดสีหบัญชร ช่องแกล ออกนั่งเหนือบัลลังก์
ครั้งนั้น ชนชาวพนักงานทั้งหลายตั้งถาดทองไว้ที่เชิงรองสำรับอาหาร แล้วตักโภชนาหารอันควรค่าแสนหนึ่งออกจากหม้อ ส่วนคันธเศรษฐีก็บริโภคอาหาร โดยมีสตรีบำรุงบำเรอแวดล้อมเป็นอันมาก
ส่วนกัฏฐหารกบุรุษ ผู้เก็บฟืนขาย ซึ่งมีเพื่อนอยู่ในพระนครพาราณสี ก็บรรทุกฟืนใส่ยานขับไปหาสหายที่อยู่เมืองพาราณสี
วันนั้นก็เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง มหาชนตีฆ้องร้องป่าวให้ ชาวพระนครพาราณสีไปดูลีลาบริโภคภัตตาหารของคันธเศรษฐี สหายชาวพระนครก็ได้ถามสหายชาวชนบทว่า เคยเห็นลีลาบริโภคภัตตาหารของท่านคันธเศรษฐีบ้างไหม สหายชาวชนบทก็บอกว่า ไม่เคยเห็นเลย สหายชาวพระนครก็ชวนให้สหายชาวชนบทไปดู
พอไปถึงเขาก็เห็นมหาชนทั้งหลายนั่งบนเตียงน้อยเตียงใหญ่ แล้วกลิ่นภัตตาหารก็หอมฟุ้งตลบ สหายชาวชนบทก็บอกสหายชาวพระนครว่า อยากบริโภคอาหารในถาดของท่านเศรษฐีเหลือเกิน ทำอย่างไรถึงจะได้บริโภคบ้างแม้เพียงสักคำ ก็ยังดี สหายชาวพระนครก็บอกว่า อย่าเลย ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ สหายชนบท ก็บอกว่า ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารของท่านคันธเศรษฐีแล้วต้องตายแน่ๆ
นี่คือการติดในรส ที่เพียงได้กลิ่นก็มีความอยากที่จะบริโภคอาหารนั้น แม้เพียงคำเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้บริโภคก็ต้องตายแน่ๆ
สหายชาวพระนครนั้น จะห้ามสหายชาวชนบทสักเท่าไรก็ห้ามไม่ได้ และถึงแม้ว่าเขาจะนั่งอยู่ท้ายสุดของบริษัท เขาก็ต้องร้องตะโกนออกมา ๓ ครั้งว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐีเจ้าข้า ข้าพเจ้าไหว้เจ้าข้า
เศรษฐีก็ถามว่า นั่นใคร ชื่ออะไร
เขาก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเจ้าข้า
เศรษฐีก็ถามว่า มีเรื่องอะไรรึ
เขาก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ชาวชนบทคนหนึ่งอยากบริโภคภัตตาหารในถาดของท่านสักคำหนึ่ง ท่านจงกรุณาให้ทานสักคำหนึ่งเถิดเจ้าข้า
คันธเศรษฐีกล่าวว่า เราให้ไม่ได้
สหายชาวพระนครก็กล่าวกับสหายชาวชนบทว่า ท่านได้ยินถ้อยคำของ ท่านมหาเศรษฐีแล้วไหมล่ะ สหายชาวชนบทก็กล่าวว่า ได้ยินแล้ว แต่ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารนั้นจะต้องตายแน่ๆ ถ้าได้บริโภคถึงจะมีชีวิตอยู่ได้
สหายชาวพระนครก็ร้องขึ้นไปใหม่ว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ได้ยินว่า สหายของข้าพเจ้าคนนี้ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสียแล้ว ท่านจงให้ทานชีวิตแก่สหายของข้าพเจ้าเถอะ
เศรษฐีก็กล่าวว่า
ชื่อว่าคำข้าวของเราคำหนึ่งนั้น ราคา ๑๐๐ กหาปนะบ้าง ๒๐๐ กหาปนะบ้าง ถ้าใครๆ ขอก็ให้ แล้วเราจะบริโภคอะไรล่ะ
สหายชาวพระนครก็กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี แต่สหายของข้าพเจ้านี้ ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารของท่าน ก็คงจะตายเป็นแน่แท้ ท่านจงให้ทานชีวิตแก่สหายของข้าพเจ้าเถอะ
คันธเศรษฐีก็กล่าวตอบว่า
เราไม่อาจจะให้เปล่าๆ แต่ถ้าเขามาทำงานบ้านเราได้ ๓ ปี เราจะให้ข้าว ในถาดของเราสำรับหนึ่งแก่เขา
เมื่อบุรุษชาวชนบทได้ฟังอย่างนั้นก็บอกกับสหายว่า เป็นอย่างไรก็เป็นเถอะ แล้วเขาก็รับทำงานในบ้านท่านเศรษฐี แล้วก็จากบุตรภรรยาเข้าไปทำงานในบ้าน ท่านเศรษฐีด้วยความอุตสาหะ ไม่เกียจคร้าน การงานในบ้านไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนเขาก็ทำหมด จนมีชื่อปรากฏไปทั่วพระนคร คนทั้งปวงเรียกเขาว่า ภัตตภติกบุรุษลูกจ้าง ด้วยเหตุที่เป็นลูกจ้างเพราะอยากจะบริโภคภัตตาหารของท่านเศรษฐี
ในวันครบกำหนด ๓ ปี ผู้เป็นไวยาวัจกรใช้สอยของท่านเศรษฐี ก็ได้บอกกับท่านเศรษฐีว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ครบกำหนด ๓ ปีที่ภัตตภติกบุรุษลูกจ้างผู้นี้ทำการงานแล้ว และการงานที่ลูกจ้างผู้นี้ได้กระทำมาตลอด ๓ ปีนั้น ก็ยากที่ผู้อื่นจะทำได้ เพราะเขาเป็นคนที่ภักดี ไม่เกียจคร้านเลย
ลำดับนั้น เศรษฐีนั้นก็ได้ให้ทรัพย์ ๓,๐๐๐ แก่ภัตตภติกบุรุษ แล้วก็อนุญาตให้ใช้สอยทรัพย์นั้น แล้วก็มอบสมบัติทั้งปวงให้ภัตตภติกบุรุษนั้นเฉพาะในวันนั้น และให้คนในบ้านเป็นบริวารของภัตตภติกบุรุษ ยกเว้นภรรยาอันเป็นที่รักของท่านคนหนึ่งซึ่งชื่อว่าจินดามณี ส่วนภัตตภติกบุรุษก็นั่งเหนือแผ่นกระดานในซุ้มอาบน้ำของท่านเศรษฐี อาบน้ำชำระกายเสร็จแล้วก็นุ่งผ้าสาฎกของท่านเศรษฐี แล้วขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์ของท่านเศรษฐี แล้วให้ตีกลองร้องป่าวไปทั่วพระนครว่า
ภัตตภติกบุรุษ ลูกจ้างของคันธเศรษฐีกระทำการรับจ้างในเรือนครบ ๓ ปี บัดนี้ได้ถาดภัตตาหารแล้ว ท่านทั้งหลายจงมาดูซึ่งการบริโภคภัตตาหารของบุรุษลูกจ้างนั้นเถิด
มหาชนทั้งหลายก็ผูกเตียงน้อยเตียงใหญ่ แล้วก็พากันมาดูการบริโภคภัตตาหารของภัตตภติกบุรุษ
เมื่อภัตตภติกบุรุษแลดูไปในทิศทั้ง ๔ นั้นก็ตื่นเต้น หวั่นไหวอย่างยิ่ง หญิงบำเรอทั้งหลายก็นั่งแวดล้อมเขาโดยรอบ เจ้าหน้าที่อาหารก็ตักอาหารใส่ถาดทองตั้งไว้ข้างหน้าเขา แต่ในขณะที่ภัตตภติกบุรุษล้างมือเพื่อจะบริโภคภัตตาหารนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งอยู่ที่เขาคันธมาศออกจากนิโรธสมาบัติในวันที่ครบ ๗ และพิจารณาดูว่า จะไปบิณฑบาตที่ไหนเพื่ออนุเคราะห์บุคคลใด ท่านก็เห็น ภัตตภติกบุรุษนั้น ซึ่งทำการงานถึง ๓ ปีเพื่อที่จะได้ถาดภัตตาหารของท่านเศรษฐี เมื่อท่านพิจารณาศรัทธาของภัตตภติกบุรุษก็รู้ว่าเขามีศรัทธา และเมื่อภัตตภติกบุรุษถวายภัตตาหารแก่ท่านแล้ว เขาจะได้สมบัติเป็นอันมาก พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเหาะไปปรากฏอยู่ตรงหน้าภัตตภติกบุรุษ
เมื่อภัตตภติกบุรุษเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงคิดว่า เพราะแต่ก่อนไม่ได้ทำทานไว้ จึงต้องรับจ้างอยู่ในเรือนผู้อื่นถึง ๓ ปี เพื่อจะได้บริโภคภัตตาหารถาดเดียวเท่านี้แหละ ภัตตาหารของเรานี้ก็เพียงรักษาชีวิตไว้ได้ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมจะรักษาเราไปได้มากกว่าพันโกฏิกัปป์ อย่ากระนั้นเลย เราจะถวายภัตตาหารนี้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ทำงานมา ๓ ปี และอาหารตั้งอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ได้บริโภคสักคำเดียว ทั้งๆ ที่ตอนแรกขอบริโภคเพียงคำเดียวก็พอ แต่ด้วยศรัทธาและเป็นผู้ที่มีปัญญาสะสมมา จึงเห็นว่า ถ้าได้ถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และได้เจริญบุญกุศลอื่นๆ สังสารวัฏฏ์ย่อมจะหมดสิ้นลงได้ในวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าบริโภคอาหารนี้จะรักษาชีวิตไว้ได้เพียงชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าได้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ย่อมจะทำให้เจริญกุศลอื่น จนกระทั่งรักษาท่านได้มากกว่าพันโกฏิกัปป์
แท้จริงบุรุษผู้นั้นกระทำการรับจ้างอยู่ถึง ๓ ปีจึงได้ภัตตาหารนี้ แล้วยังไม่ได้วางลงในปากแม้เพียงสักว่าคำหนึ่งเลย ก็สู้บรรเทาความอยากเสียได้ ยกถาดภัตตาหารขึ้นด้วยตนเองไปยังพระปัจเจกพุทธเจ้า กราบถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วถือเอาถาดทองด้วยมือข้างซ้าย เรี่ยรายภัตตาหารลงในบาตรด้วยมือข้างขวา เวลาที่ภัตตาหารยังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ยกหัตถ์ปิดบาตรเสีย ภัตตภติกบุรุษก็ได้กราบเรียนว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ภัตตาหารส่วนเดียวเท่านี้ ข้าพเจ้ามิอาจเพื่อจะกระทำให้เป็น ๒ ส่วนได้ พระผู้เป็นเจ้าอย่าได้กระทำสงเคราะห์แก่ข้าพเจ้าในโลกนี้เลย จงกระทำสงเคราะห์แก่ข้าพเจ้าในปรโลกเถิด จงอย่าได้กระทำภัตตาหารให้เหลืออยู่เลย ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายให้สิ้นไม่ให้เหลือเศษ
แท้จริงทานใดของตนมีอยู่น้อยและถวายให้สิ้นไม่ให้เหลือเศษ ทานนั้นย่อมมีผลมาก
เมื่อภัตตภติกบุรุษถวายภัตตาหารหมดสิ้นแล้ว ก็ถวายนมัสการพระปัจเจก- พุทธเจ้า และตั้งความปรารถนาว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาศัยภัตตาหารประมาณเท่านี้ จึง สู้อุตส่าห์กระทำการรับจ้างอยู่ในเรือนผู้อื่นถึง ๓ ปี ได้ความทุกขเวทนายิ่งนักหนา ในกาลบัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีแต่ความสุขในที่อันข้าพเจ้าบังเกิด อนึ่ง ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบุคคลมีส่วนแห่งธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าเห็นนั้นเถิด
พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำอนุโมทนาว่า
จงสำเร็จดังท่านปรารถนานั้นเถิด ประดุจดังแก้วมณีจินดาให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง ความปรารถนาจงบริบูรณ์ดุจพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญเถิด
เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าได้กระทำอนุโมทนาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าก็อธิษฐานให้บรรดามหาชนทั้งหลายแลดูท่านตามไปจนถึงภูเขาคันธมาศ ซึ่งท่านก็ได้เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาศ และได้เอาจังหันบิณฑบาตนั้นแจกจ่ายถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ องค์นั้น ก็ได้บริโภคจังหันบิณฑบาตของภัตตภติกบุรุษนั้นครบทุกองค์
เมื่อมหาชนทั้งปวงได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแจกจ่ายจังหันบิณฑบาตนั้น ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงแล้ว ก็ได้เปล่งเสียงสาธุการดังสนั่นดุจเสียงฟ้าผ่า
เมื่อคันธเศรษฐีได้ฟังเสียงสาธุการสนั่นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษลูกจ้างคงไม่อาจรับสมบัติที่เราให้นั้นไว้ คนทั้งหลายคงจะเยาะเย้ยบุรุษลูกจ้างเสียงสนั่นหวั่นไหวแน่ๆ
คันธเศรษฐีก็ส่งคนไปดูเหตุการณ์ เมื่อได้ทราบเหตุการณ์นั้น ก็เกิดปีติอย่างยิ่ง และคิดเปรียบเทียบกับตัวเองว่า บุรุษลูกจ้างผู้นี้ทำสิ่งที่ยากที่จะกระทำได้ เพราะว่าตัวท่านเองนั้นได้ครอบครองสมบัติเห็นปานนี้มาเป็นเวลาช้านาน ก็ยังไม่อาจกระทำทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ท่านเศรษฐีจึงได้เรียกภัตตภติกบุรุษมาสอบถาม แล้วขอให้ ภัตตภติกบุรุษรับเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วนบุญในทานแก่ท่าน
เมื่อภัตตภติกบุรุษได้ให้ส่วนบุญแก่ท่านเศรษฐีแล้ว ท่านเศรษฐีก็ได้แบ่งทรัพย์สมบัติทั้งหมดของท่านออกเป็น ๒ ส่วน แล้วก็ให้ภัตตภติกบุรุษนั้นส่วนหนึ่ง
การที่ทานทั้งหลายจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ต้องเป็นทานที่บริบูรณ์พร้อมด้วยสัมปทา ๔ ประการ คือ วัตถุสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งวัตถุ ๑ ปัจจัยสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งปัจจัย ๑ เจตนาสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งเจตนา ๑ คุณาติเรกสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก ๑
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมภัตตภติกบุรุษจึงได้รับสมบัติมากอย่างรวดเร็ว ก็เพราะเหตุว่าการให้ทานของท่านนั้น บริบูรณ์ด้วยสัมปทาทั้ง ๔
สัมปทาทั้ง ๔ คือ
วัตถุสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งวัตถุ ได้แก่ พระอรหันต์ก็ดี พระอนาคามีก็ดี ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลผู้สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เป็นวัตถุ คือ ผู้รับที่สมบูรณ์ยิ่งของทาน
ปัจจัยสัมปทา คือ การเกิดขึ้นของปัจจัยทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ ชื่อว่าปัจจัยสัมปทา
ถ้าใครที่ต้องการจะทำบุญให้ทานถวายภัตตาหารก็ตาม ก็จะต้องแสวงหาปัจจัยโดยชอบ จึงชื่อว่าปัจจัยสัมปทา
เจตนาสัมปทา คือ ความบริบูรณ์แห่งเจตนา หมายถึงในขณะที่ให้ประกอบด้วยความรู้สึกปีติโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นเป็นความบริบูรณ์แห่งเจตนา
คุณาติเรกสัมปทา คือ ภาวะแห่งทักขิไณยบุคคลซึ่งออกจากสมาบัติในวันนั้น ชื่อว่าคุณาติเรกสัมปทา บริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก ผู้ยิ่งด้วยคุณ
เพราะฉะนั้น วัตถุสัมปทา คือ ผู้นั้นเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ผู้สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เพราะแม้พระโสดาบันหรือพระสกทาคามีก็ไม่สามารถ เข้านิโรธสมาบัติได้ นอกจากนั้น วัตถุที่ถวาย คือ ปัจจัยธรรม ต้องเป็นปัจจัยสัมปทา บริบูรณ์ด้วยปัจจัยที่ได้มาโดยชอบ และยังต้องประกอบพร้อมด้วยเจตนาสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งเจตนา คือ ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับความรู้สึกปีติโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา นอกจากนั้นแล้วที่จะให้ผลภายใน ๗ วันเป็นอย่างช้า คือ คุณาติเรกสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก คือ ได้ถวายปัจจัยนั้นแก่ ทักขิไณยบุคคล ได้แก่ พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ซึ่งออกจากสมาบัติในวันนั้น
สำหรับภัตตภติกบุรุษ ก็พร้อมด้วยความบริบูรณ์ทั้ง ๔ จึงได้เหตุแห่งความเป็นเศรษฐีภายในวันนั้น
นี่ยังไม่ถึงเรื่องของท่านพระสุขเถระ เป็นแต่เพียงอดีตชาติของท่านชาติหนึ่งเท่านั้น แต่ในชาติสุดท้าย ถ้าท่านฉันภัตตาหารก่อน ท่านจะไม่ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงอดีตชาติของท่าน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสละอาหาร
ถ. การติดในรสของภัตตภติกบุรุษเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ประโยชน์อย่างไร ต้องไปทำงานถึง ๓ ปี
ถ. แต่ได้ผลคุ้มค่า
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่พบพระปัจเจกพุทธเจ้า
ถ. สรุปแล้วการติดในรสของภัตตภติกบุรุษเป็นประโยชน์ ซึ่งตรงกันข้ามกับปุถุชนอย่างเราทั้งหลายที่ติดในรส
ท่านอาจารย์ จะเรียกว่า ติดในรส หรือว่าสามารถสละรสที่ติดได้
ผู้ฟัง ตอนแรกมาจากติดก่อน ถ้าไม่ติดก็สละไม่ได้ ติดแล้วจึงได้สละ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ต้องติดให้แน่นก่อน
ท่านอาจารย์ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึงอดีตชาติของพระสาวกทั้งหลาย เป็นการแสดงให้เห็นว่าควรจะกระทำสิ่งใด ถ้าเป็นคันธเศรษฐีก็คิดที่จะใช้เงินให้หมด แต่ภายหลังเมื่อได้เห็นศรัทธาของภัตตภติกบุรุษ จึงเกิดความเลื่อมใส ใคร่จะได้ทำทานอย่างนั้นบ้าง เพราะถึงแม้ท่านจะเป็นเศรษฐีมาช้านาน ท่านก็ยังไม่สามารถสละได้
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม หรืออดีตชาติของแต่ละบุคคล ควรจะ น้อมนำมาพิจารณา แต่ถ้าพิจารณาในทางที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะสละ ก็อาจจะคอยให้ติดมากๆ อย่างภัตตภติกะ ไปทำงานถึง ๓ ปี และก็หาพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งไม่มี ก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าได้เหมือนใครในเรื่องการกระทำ แต่ควรพิจารณาว่า อกุศลทั้งหลายยากที่จะละได้ ถ้าได้สะสมการเจริญกุศลและละอกุศลเสียในปัจจุบันก็ยังสามารถจะละได้ เพราะถ้าภัตตภติกบุรุษไม่เคยกระทำการสละอาหารมาในอดีต ก็คงจะอยากชิมอาหารนั้นสักคำหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถสละได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องของภัตตภติกบุรุษนั้น ก็ได้รับสั่งให้ ภัตตภติกบุรุษมาเฝ้า และได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเพื่อส่วนบุญนั้น
ทุกคนปรารถนาจะมีส่วนในทานของภัตตภติกบุรุษ แม้พระราชาเองก็ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเพื่อส่วนบุญนั้น
และเมื่อทรงอนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว ก็ทรงโสมนัส พระราชทานทรัพย์ให้ ภัตตภติกบุรุษเป็นอันมาก และพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ภัตตภติกบุรุษ ภัตตภติกบุรุษนั้นก็ปรากฏชื่อว่าภัตตภติกเศรษฐี ได้เป็นสหายกับคันธเศรษฐี บริโภคสมบัติด้วยกัน ด้วยความสนิทสนมอย่างยิ่ง
ครั้นเมื่อภัตตภติกบุรุษสิ้นชีวิตแล้ว ได้เกิดในสวรรค์ประมาณชั่วพุทธันดรหนึ่ง
ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรในพระนครสาวัตถี ตั้งแต่ท่านเกิดมา ในครรภ์ ในเรือนของท่านนั้น คนในบ้านไม่มีความทุกข์ใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อว่าสุขกุมาร
ข้อความต่อไป เรื่องท่านพระสุขเถระ มีว่า
เมื่อท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ ท่านขออนุญาตมารดาบวช ซึ่งเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว มารดาของท่านก็ได้ถวายโภชนะมีรส ๗ ประการแก่พระภิกษุสงฆ์ มี พระผู้มีพระภาคเป็นประธาน ภายในพระวิหารสิ้นประมาณ ๗ วัน
ในตอนเย็นวันที่ ๗ มารดาบิดาก็กลับไป วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๘ เมื่อ พระภิกษุสงฆ์เข้าไปในเขตบ้านเพื่อที่จะบิณฑบาต ท่านพระสารีบุตรก็ได้กระทำกิจ ในวิหารเสร็จแล้วได้ให้สุขสามเณรถือบาตรและจีวรตามไปบิณฑบาต ในระหว่าง ทางนั้นสุขสามเณรเห็นเหมืองทดน้ำ ก็ได้กราบเรียนถามท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่าน ได้แสดงธรรมเรื่องการอบรมจิตอุปมาเหมือนกับการทดน้ำ ทำให้สุขสามเณรเมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ได้คิดที่จะไปบิณฑบาตต่อไป ขอให้ท่านพระสารีบุตรรับบาตรและจีวรไป ส่วนท่านเองจะกลับไปสู่สำนักเพื่อเจริญสมณธรรม
เมื่อท่านพระสารีบุตรรับบาตรและจีวรไปแล้ว สุขสามเณรได้ขอให้ท่าน พระสารีบุตรนำโภชนาหารมีรส ๗ ประการมาให้ด้วย
ถึงแม้ไม่ติดตามไป ก็ได้ขอให้ท่านพระสารีบุตรนำอาหารที่มีรส ๗ ประการนั้นมาให้
ท่านพระสารีบุตรได้ไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของท่าน เพื่อนำอาหารมีรส ๗ ประการนั้นไปให้สามเณร แต่อุปัฏฐากนั้นได้ขอฟังธรรมก่อน เมื่อท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมแล้ว ตระกูลอุปัฏฐากก็ได้นำโภชนะมีรส ๗ ประการมาถวายท่าน ท่านก็รีบที่จะนำไปให้สุขสามเณร แต่ตระกูลอุปัฏฐากนั้นได้ขอให้ท่านฉันภัตตาหารนั้น แล้วจะได้ถวายใหม่ให้เต็มบาตรเพื่อจะได้นำกลับไป
เมื่อท่านพระสารีบุตรกลับไป ท่านก็คิดว่า สุขสามเณรคงจะต้องหิวมากจนแสบท้อง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาว่า วันนี้สุขสามเณรให้บาตรและจีวรแก่พระอุปัชฌาย์และกลับไปสู่สำนักเพื่อเจริญสมณธรรม พระองค์ทรงพิจารณาว่า กิจของสามเณรสำเร็จแล้วหรือไม่ ก็ได้ทรงเห็นภาวะที่สามเณรนั้นบรรลุมรรคผลถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล พระองค์จึงทรงพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า สามเณรนี้อาจเพื่อจะบรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านพระสารีบุตรนำอาหารมาให้สามเณรโดยเร็ว สามเณรยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ก็จะเป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ควรที่ พระผู้มีพระภาคจะไปรักษาความบรรลุมรรคผลของสามเณรนี้อยู่ที่ซุ้มประตู
ธรรมดาของคนหิวมากๆ ถ้าบริโภคจะสิ้นชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่บริโภค จะทำให้สามารถบรรลุอรหันต์ได้ในชาตินั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้แล้ว ได้เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ไปประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรนำจังหันมาถึง พระผู้มีพระภาคก็ทรงถามปัญหาท่านพระสารีบุตร ๔ ข้อ เมื่อจบปัญหาวิสัชนาของท่านพระสารีบุตรแล้ว ขณะนั้นสุขสามเณรได้บรรลุพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านพระสารีบุตรให้จังหันแก่สามเณร
และเมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ก็ปรากฏว่า สุขสามเณรฉันภัตตาหารล่วงเวลา ด้วยเหตุนี้พระภิกษุทั้งหลายได้กล่าวติเตียนว่า เวลาล่วงเลยแล้ว สามเณรยังกระทำภัตตกิจ และสงสัยว่า ทำไมในวันนั้นตอนเที่ยงถึงได้ยาวมาก และตอนบ่ายก็น้อยลง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ได้ตรัสถึงการบรรลุคุณธรรมของสุขสามเณร และ ตรัสพระสัทธรรมเทศนาเป็นบาทพระคาถาว่า
ชนผู้ขุดเหมืองทั้งหลาย ย่อมให้น้ำไหลเข้าไปสู่นา ช่างปืนทั้งหลายก็ดัด ไม้ลูกปืนให้ตรง ชนช่างถากไม้ทั้งหลายก็ย่อมถากไม้ที่คด ดัดให้ตรงตามชอบอัธยาศัย ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยปัญญารับโอวาทคำสั่งสอนแล้ว ก็ย่อมฝึกสอนทรมานตน ให้พ้นจากทุกข์ได้
มีท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องที่ท่านคันธเศรษฐีได้ให้เงินกับภัตตภติกบุรุษ เพื่อจะได้มีส่วนในภัตตาหารที่ภัตตภติกบุรุษถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านคิดว่า คล้ายๆ กับเป็นการซื้อบุญ
เรื่องของภัตตภติกบุรุษและคันธเศรษฐีแสดงให้เห็นว่า ท่านคันธเศรษฐีมีเจตนาที่เป็นกุศล ที่ต้องการมีส่วนในการถวายภัตตาหารของภัตตภติกบุรุษ แต่สำหรับเรื่องการดูเหมือนกับซื้อบุญ
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร