อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)


    อัสสุสูตร ติณกัฏฐสูตร ปฐวีสูตร ขีรสูตร

    ในพระสูตร ได้กล่าวถึงความทุกข์ซึ่งแต่ละคนประสบผ่านมาในสังสารวัฏฏ์ เช่น ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุตปฐมวรรคที่ ๑ อัสสุสูตร ข้อ ๔๒๕ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระอภิธรรมโดยละเอียดตลอดเวลา แต่ทรงแสดงธรรมที่จะเตือนให้บุคคลนั้นระลึกถึงการที่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากการร้องไห้ หรือความโศกเศร้าต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ได้ จึงได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ที่เคยร้องไห้มาแล้วในสังสารวัฏฏ์ กับน้ำในมหาสมุทร สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    ผู้ที่เห็นทะเล ก็ควรจะระลึกได้ว่า น้ำตาของท่านในสังสารวัฏฏ์นั้น มากกว่าน้ำในมหาสมุทรอีก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ... ของน้องสาว ... ของธิดาเป็นต้น ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค เป็นต้น ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขาร ทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ไม่ใช่ว่าภิกษุเหล่านั้นจะไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะเป็น ผู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็จริง แต่ถ้าไม่มีพระธรรมเทศนาที่ทรงเตือนให้ระลึกถึงสภาพของสังขารซึ่งเป็นทุกข์ สติย่อมไม่เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และพระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ทรงอุปมาเพียงน้ำตากับน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น ยังมีข้อความใน ติณกัฏฐสูตร ข้อ ๔๒๑ - ๔๒๒ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉันนั้น

    ข้อความต่อไป ใน ปฐวีสูตร ข้อ ๔๒๓ - ๔๒๔

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา โดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ท่านผู้ฟังที่อยากจะรู้ว่า เมื่อไรโลกเราจะหมดไป ก็ควรคิดถึงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้เอาดินมาปั้นเป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา และสมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา จนกระทั่งหมดโลกนี้ แต่สังสารวัฏฏ์ก็ยังไม่หมด ก็จะต้องมีทุกข์สืบต่อไปอีก

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังได้ตรัสไว้ใน ขีรสูตร ข้อ ๔๒๗ - ๔๒๘ ว่า

    น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนั้น ดื่มแล้วนั่นแหละมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เพราะสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกข์ต่างๆ โดยนัยของพระสูตร ซึ่งแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องมีทุกข์ที่ไม่เหมือนกับชาตินี้เลย ชาติก่อนใครเคยมีทุกข์อย่างไหน ก็ ไม่เหมือนกับทุกข์ของชาตินี้แน่นอน และทุกข์นั้นก็ผ่านไปหมดแล้ว ทุกข์ในชาตินี้ก็ ใกล้จะจบสิ้นด้วยความตาย และจะต้องตั้งต้นทุกข์ของภพชาติต่อไปอีก


    มุทุลักขณชาดก เริ่มนาที 07:35

    อรรถกถาชาดก เอกนิบาต อรรถกถา มุทุลักขณชาดกที่ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงเมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ข้อความมีว่า

    ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มีสมบัติมากตระกูลหนึ่งในแคว้นกาสี เมื่อท่านเรียนจบศิลปะทุกประเภทแล้วได้ออกบวชเป็นฤๅษี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นผู้ที่ได้อภิญญาสมาบัติ

    กาลครั้งหนึ่ง ท่านออกจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะที่มีรสเปรี้ยวบ้าง เค็มบ้าง และได้ท่องเที่ยวภิกษาจารอยู่ในกรุงพาราณสีถึงประตูพระราชวัง พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ก็รับสั่งให้นิมนต์มา ได้อาราธนาให้พักอยู่ที่ พระราชอุทยาน และให้ฉันในพระราชวัง ซึ่งท่านก็ได้ถวายโอวาทพวกราชสกุล และ ได้อยู่ในพระราชอุทยานนั้น ๑๖ ปี

    อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกไปปราบปรามกบฏชายแดนซึ่งกำเริบ และได้ตรัสให้พระมเหสีพระนามว่า มุทุลักขณา ปรนนิบัติฤๅษีโพธิสัตว์ ซึ่งพระนางก็ทรงเตรียมอาหารถวายพระโพธิสัตว์ตามที่พระราชาทรงสั่งไว้

    อยู่มาวันหนึ่ง พระนางมุทุลักขณาทรงเตรียมอาหารสำหรับพระโพธิสัตว์เสร็จแล้ว ทรงดำริว่า วันนี้พระคุณเจ้าคงช้า จึงได้ทรงสรงสนานด้วยเครื่องหอม และทรงตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ให้ลาดพระยี่ภู่น้อย ณ พื้นท้องพระโรง ประทับเอนพระวรกายรอพระโพธิสัตว์จะมา ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์กำหนดเวลาของตนแล้ว ก็ได้ออกจากฌานเหาะไปสู่พระราชวังทันที พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียง ผ้าเปลือกไม้ก็รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง พอดีพระโพธิสัตว์เข้าทางช่องพระแกล เมื่อพระโพธิสัตว์เห็น ก็ตะลึงดูความงามของพระวรกายของพระนาง กิเลสที่อยู่ภายในของท่านก็กำเริบเป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด

    ทุกคนที่กำลังมีโลภะเกิดขึ้น ขอให้ระลึกว่า แต่ละขณะที่โลภะเกิดขึ้น โลภะสะสมอยู่ในจิตจนชุ่มเหมือนกับต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีดทุกขณะ แต่ไม่เคยมีใครรู้สึกอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ฟังคำอุปมาที่เปรียบเทียบให้เห็นจริงๆ ว่า ลักษณะของโลภะนั้นชุ่มอย่างนั้นจริงๆ

    ทันใดนั้นเองฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว ท่านยืนตะลึง รับอาหารแล้วก็ไม่ได้บริโภค ลงจากปราสาทเดินไปพระราชอุทยาน เข้าไปในบรรณศาลา วางอาหารไว้ไม่บริโภค นอนซมบนกระดานที่นอนถึง ๗ วัน

    นี่คือพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุทาหรณ์ที่เตือนทุกคนในเรื่องความไม่ประมาท แม้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้ แต่เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ กิเลสที่สะสมมาก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยได้ทุกอย่าง

    ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับมา ยังไม่ได้เสด็จไปพระราชนิเวศน์ ด้วยทรงพระดำริว่า จะพบพระฤๅษีก่อน พระราชาจึงเสด็จเลยไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีนอนอยู่ก็ทรงดำริว่า ฤๅษีคงจะไม่สบาย พระราชาจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดบรรณศาลา พลางทรงนวดเท้าทั้งสองของฤๅษีแล้วตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ ซึ่งพระฤๅษีก็ทูลว่า ท่านต้องการพระนางมุทุลักขณา พระราชาก็รับสั่งว่า พระองค์ทรงยินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแก่พระฤๅษี และทรงพาพระฤๅษีเข้าไปในพระราชวัง ให้พระนางมุทุลักขณาประดับพระองค์งามพร้อมแล้วพระราชทานแก่ฤๅษี แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น พระองค์ได้ทรงให้สัญญาลับแก่พระนางมุทุลักขณาว่า ให้พระนางพยายามรักษาพระองค์ให้พ้นจากฤๅษี ซึ่งพระนางก็ทรงรับสัญญานั้น

    เมื่อฤๅษีพาพระนางลงจากพระราชวัง กำลังจะออกประตูใหญ่ พระนางก็ตรัสกับพระฤๅษีว่า ท่านเจ้าคะ เราควรจะได้เรือน แล้วก็ให้ฤๅษีไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่ง พระราชาก็ได้พระราชทานเรือนร้างให้หลังหนึ่ง ซึ่งเรือนร้างนั้นมนุษย์ใช้เป็นที่ถ่ายทุกข์ ฤๅษีพาพระนางไปที่เรือนนั้น แต่พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป พระฤๅษีก็ทูลถามว่า เหตุไรจึงไม่เสด็จเข้าไป พระนางก็รับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก ฤๅษีก็ทูลถามว่า บัดนี้เราควรจะทำอย่างไร พระนางก็รับสั่งว่า ต้องทำความสะอาดเรือนนั้น แล้วก็ให้ฤๅษีไปสู่ราชสำนัก เอาจอบและตะกร้ามา ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะไปทิ้ง ให้ขนเอาโคมัยสดมาฉาบไว้ ให้ขนเตียงตั่งมา ทีละอย่าง แกล้งใช้ให้ตักน้ำจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำอาบ ปูที่นอน และทรงจับฤๅษีผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอนฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้าพลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่า เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือเจ้าคะ ฤๅษีก็กลับได้สติในเวลานั้นเอง แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย

    นี่คือผู้ที่ได้สะสมปัญญามา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกได้ ก็ระลึกได้ และให้เห็นกำลังของกิเลสว่า

    ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้

    นี่คือลักษณะของโมหเจตสิก ซึ่งเกิดกับอกุศลธรรมทุกประเภท ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ย่อมทำให้ไม่รู้ตัว ทำให้มืด

    เมื่อฤๅษีกลับได้สติก็คิดว่า ตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้น จักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔ เราควรถวายคืนพระเทวีนี้แด่พระราชา แล้วท่านก็กลับเข้าสู่ป่า หิมวันต์ในวันนี้ทีเดียว

    เมื่อท่านถวายคืนพระเทวีแด่พระราชานั้น ท่านกล่าวคาถานี้ ความว่า

    ครั้งเรายังไม่ได้พระนางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้พระนางมุทุลักขณาผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก

    ตอนแรกที่ไม่ได้พระนางมุทุลักขณา ก็มีแต่ความอยากได้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้แล้ว โดยที่พระราชาพระราชทานให้ ท่านก็ต้องปรารถนาเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น ปรารถนาเรือน ปรารถนาเครื่องอุปกรณ์ ปรารถนาเครื่องอุปโภค และต่อๆ ไป ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกคนที่มีความปรารถนาอย่างนี้ก็รู้ว่า เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาอื่นต่อๆ ไปอีก

    และทันใดนั้นเอง ฤๅษีก็ทำฌานที่เสื่อมให้บังเกิดขึ้น นั่งในอากาศ แสดงธรรม ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที ไม่มาสู่ประเทศที่ ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย แต่เจริญพรหมวิหาร ไม่เสื่อมจากฌาน บังเกิดในพรหมโลกแล้ว

    พระผู้มีพระภาคครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ มุทุลักขณาได้มาเป็นอุบลวรรณา ส่วนฤๅษีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    จบ อรรถกถามุทุลักขณชาดกที่ ๖

    เวลาที่ฟังสัจธรรมแล้ว รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือฟังแล้วมีบัญญัติเป็นอารมณ์ สติปัญญาไม่สามารถเกิดได้ ถ้าคิดอย่างนี้ จะไม่ตรงกับความจริงและไม่ตรงกับข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศสัจธรรมจบ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ