ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)


    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มงคลวรรคที่ ๕ สุปุพพัณหสูตร ข้อ ๕๙๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้นก็เป็นเวลาดีของ สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น

    สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

    บุคคลทั้งหลายทำกรรมประกอบด้วยความเจริญแล้ว ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์อันประกอบด้วยความเจริญ ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกายใจ พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ

    จบ มงคลวรรคที่ ๕

    เช้านี้เป็นเช้าที่ดีไหม ไม่ต้องคิดถึงฤกษ์งามยามดีอะไรทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกุศลจิตเกิดขณะใด ในตอนเช้าก็เป็นเช้าดี ในตอนกลางวันก็เป็นกลางวันดี ในตอนเย็นก็เป็นเย็นดี แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อย่าคิดเพียงเรื่องทานกุศลอย่างเดียวว่าได้กระทำแล้วตอนเช้า ได้กระทำแล้วตอนกลางวัน ได้กระทำแล้วตอนเย็น แต่กาย วาจา และใจด้วยที่จะต้องพิจารณาว่า เช้านี้เป็นเช้าดีหรือเปล่า ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุและผลก็ทราบว่า ฤกษ์ดี เวลาดี มงคลดี ทั้งหมด คือ ขณะจิตที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใด ทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น จริงไหม แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๔๕ พรรษา มีประโยชน์สำหรับผู้ที่น้อมรับฟังพระธรรมด้วยความเคารพ คือ เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างสูงสุด ตามข้อความที่ตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

    ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น แต่ให้ประพฤติธรรม คือ การเจริญกุศล ซึ่งตามความ เป็นจริงทุกคนก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละประการที่ได้ฟัง เป็นการ เห็นประโยชน์ของกุศลในขั้นของการฟังและในขั้นของการพิจารณา แต่ยากที่จะเกิดได้บ่อยๆ แต่ก็ยังดีใช่ไหม คือ เมื่อฟังแล้ว พิจารณาในเหตุในผลให้เข้าใจ ก็เป็นการเกื้อกูลปรุงแต่งให้เกิดกุศลในแต่ละประการเพิ่มยิ่งขึ้น แต่ถ้าฟังน้อย พิจารณาน้อย ก็ไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลเจริญขึ้นได้

    กุศลของแต่ละคนจะเจริญขึ้นได้ต่อเมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เป็นการศึกษารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เพียงในขั้น ของการฟัง หรือในขั้นของการพิจารณาเท่านั้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ