โกกาลิกสูตร


    ใน ขุททกนิกาย โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

    ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความ ปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็น ที่รัก

    แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงชักนำข้าพระองค์ให้จงใจเชื่อ ให้เลื่อมใสก็จริง แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก

    แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก

    แม้ครั้งที่ ๓ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ที่ตรัสเป็นพระผู้มีพระภาค แต่ว่ากิเลสในใจของคน แม้ได้ฟังพระโอวาทจากพระโอษฐ์ที่จะให้เลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ แต่เพราะกิเลสของตนทำให้ไม่เลื่อมใส เห็นความรุนแรงของกิเลสไหม ถ้ามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด วาจาก็ผิด การกระทำก็ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด แม้แต่พระอรหันต์ที่เป็นอัครสาวกอย่างท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ แม้ภิกษุอื่น เช่น โกกาลิกภิกษุ ยังไม่เลื่อมใสและเห็นผิดว่า ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามก

    นี่เป็นอันตรายมากเหลือเกินสำหรับความเห็น ถ้าความเห็นของท่านคลาดเคลื่อนผิดไป ทุกอย่างจะผิดหมด สิ่งที่ถูก ท่านก็เห็นเป็นผิด สิ่งที่ผิด ท่านก็เห็นเป็นถูก แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสโอวาทก็ไม่ฟัง ไม่พิจารณา แม้เป็นพระภิกษุ แต่ก็ไม่ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้นแล โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นานนัก ได้มีต่อมประมาณเท่าเมล็ดพันธ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วกาย ครั้นแล้ว เป็นต่อมประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำ เท่าเมล็ดพุทรา เท่าผลพุทรา เท่าผลมะขามป้อม เท่าผลมะตูมอ่อน เท่าผลขนุนอ่อน แตกหัวแล้ว หนองและเลือดไหลออก

    ลำดับนั้น โกกาลิกภิกษุ มรณภาพเพราะอาพาธนั้นเอง ครั้นโกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ก็ย่อมอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ

    ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้วมีรัศมีงามยิ่ง ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ครั้นแล้วอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

    ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณแล้วได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

    ไม่เห็นก็ไม่เชื่อใช่ไหม เรื่องปทุมนรก แต่คนที่เห็นมี คนที่รู้มี และเหตุที่จะให้เกิดที่นั่นก็มี

    ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมมีรัศมีอันงามยิ่ง ทำวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ครั้นแล้วอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณแล้วได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรก นานเพียงใดพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก การนับประมาณอายุในปทุมนรกนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ไม่ใช่ทำได้ง่าย

    ภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์สามารถจะทรงกระทำการเปรียบเทียบได้หรือไม่พระเจ้าข้า

    โดยมากท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า กัป เป็นจำนวนที่นานมาก เรื่องจำนวนเป็นเรื่องที่นับไม่ไหวทีเดียวว่ากาลเวลานั้นจะยืดยาวมากมายสักเพียงใด ซึ่งพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงวิธีที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปนั่งคิด นั่งนับ แต่ว่ามีทางใดที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจได้ถึงความยาวนานนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรับว่า สามารถภิกษุ ดังนี้

    แล้วตรัสว่า ดูกร ภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบ ของชาวโกศล เมื่อล่วงไปได้ ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดงาขึ้นจากเกวียนนั้น ออกทิ้งเมล็ดหนึ่งๆ

    ดูกร ภิกษุ เกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบ ของขาวโกศลนั้น จะพึงถึงความสิ้นไปโดยลำดับนี้เร็วเสียกว่า แต่อัพพุทธนรก ๑ จะไม่พึงถึงความสิ้นไปได้เลย

    ดูกร ภิกษุ ๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก

    ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อัพพนรก

    ๒๐ อัพพนรก เป็น ๑ อหหนรก

    ๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฎฎนรก

    ๒๐ อฎฎนรก เป็น ๑ กุมุทนรก

    ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก

    ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น ๑ อุปลกนรก

    ๒๐ อุปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑริกนรก

    ๒๐ ปุณฑริกนรก เป็น ๑ ปทุมนรก อย่างนี้ ก็โกกาลิกภิกษุอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในสารีบุตรและโมคคัลลานะ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ก็วาจาหยาบเช่นกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว เป็นเหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาล ผู้กล่าวคำทุภาษิต

    ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา หรือนินทาคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น การแพ้ด้วยทรัพย์เพราะเล่นการพนันเป็นโทษเพียงเล็กน้อย โทษของผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีนี้แล เป็นโทษมากกว่า

    บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้แล้ว เป็นผู้ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกตลอดกาล ประมาณด้วยการนับปี ๑ แสนนิรัพพุทะ และ ๔๐ อัพพุทะ

    ผู้กล่าวคำเท็จ ย่อมเข้าถึงนรก อนึ่งผู้ทำกรรมอันลามก แล้วกล่าวว่าไม่ได้ทำ ก็ย่อมเข้าถึงนรกอย่างเดียวกัน แม้คนทั้งสองนั้นเป็นมนุษย์มีกรรมอันเลวทราม ละไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในโลกเบื้องหน้า

    ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้เป็นพาลนั้นเอง เหมือนธุลีละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น

    ผู้ที่ประกอบเนืองๆ ในคุณ คือ ความโลภ ไม่มีศรัทธา กระด้าง ไม่รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความตระหนี่ ประกอบเนืองๆ ในคำส่อเสียด ย่อมบริภาษผู้อื่นด้วยวาจา

    แน่ะคนผู้มีปากเป็นหล่ม กล่าวคำไม่จริง ผู้ไม่ประเสริฐ ผู้กำจัดความเจริญ ผู้ลามก ผู้กระทำความชั่ว ผู้เป็นบุรุษในที่สุด มีโทษ เป็นอวชาติ ท่านอย่าได้พูดมากในที่นี้ อย่าเป็นสัตว์นรก

    ท่านย่อมเกลี่ยธุลี คือ กิเลส ลงในตนเพื่อกรรมมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ท่านผู้ทำกรรมหยาบ ยังติเตียนสัตบรุษ ท่านประพฤติทุจริตเป็นอันมากแล้ว ย่อมไปสู่มหานรกสิ้นกาลนาน

    กรรมของใครๆ ย่อมเสื่อมพินาศไปไม่ได้เลย บุคคลมาได้รับกรรมนั้นแล เป็นเจ้าของแห่งกรรมนั้น (เพราะ) คนเขลาผู้ทำกรรมหยาบ ย่อมเห็นความทุกข์ในตน ในปรโลก

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    19 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ