มหากัสสปสูตร
ข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน มหากัสสปสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปนั่งเข้าสมาธิอยู่ โดยบัลลังก์เดียว ที่ถ้ำปิปผลิคูหาสิ้น ๗ วัน ครั้นพอล่วง ๗ วันนั้นไป ท่าน พระมหากัสสปก็ออกจากสมาบัตินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสปออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์เถิด
ก็สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวาย เพื่อจะให้ท่าน พระมหากัสสปได้บิณฑบาต ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วนุ่งห่มผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ ฯ
ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงพระประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่ท่านพระมหากัสสป จึงทรงนิรมิตเพศเป็นนายช่างหูกทอหูกอยู่ นางอสุรกัญญา ชื่อว่าสุชาดา กรอด้ายหลอดอยู่
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ตามลำดับตรอก เข้าไปถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็นท่านพระมหากัสสปมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับบาตรจากมือ เสด็จเข้าไปสู่เรือน ทรงคดข้าวออกจากหม้อใส่เต็มบาตร แล้วทรงถวายแด่ท่านพระมหากัสสป บิณฑบาตนั้นมีสูปะและพยัญชนะ (คือ กับข้าว) เป็นอันมาก
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคิดว่า ผู้นี้เป็นใครหนอมีอิทธานุภาพเห็นปานนี้ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมีความคิดว่า ท้าวสักกะจอมเทพหรือหนอแล ท่านพระมหากัสสปทราบดังนี้แล้ว ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า
ดูกร ท้าวโกสีย์ มหาบพิตรทำกรรมนี้แล้วแล มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมเห็นปานนี้แม้อีก
ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้า ก็ต้องการบุญ แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำบุญ
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสป ทรงทำประทักษิณแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ เปล่งอุทาน ๓ ครั้งในอากาศว่า
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระมหากัสสป
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานของท้าวสักกะจอมเทพด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน มิใช่เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่ สงบแล้ว มีสติทุกเมื่อ ฯ
ถ. ท่านพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ ขณะที่ท่านเที่ยวบิณฑบาต ท่านคงไม่ได้เข้าฌาน หรือฌานจิตคงจะไม่เกิด เพราะถ้าเกิด หรืออภิญญาเกิด ท่านต้องรู้ว่าพระอินทร์แปลงมาแน่ๆ ตอนหลังท่านรู้เนื่องจากท่านได้กลิ่นอาหารนั้นเป็นทิพย์ โดยนัยนี้แสดงว่า พระอรหันต์ก็ไม่ใช่ว่าจะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือมี เจโตปริยญาณอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ท่านก็ได้ญาณเหล่านั้นแล้ว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ไม่ได้ทรงเข้าสมาบัติอยู่ตลอดเวลา ต้อง มีอเหตุกจิต หรือกามาวจรจิตตามควร คือ มีจักขุวิญญาณทำกิจเห็น มีโสตวิญญาณ มีฆานวิญญาณ มีชิวหาวิญญาณ มีกายวิญญาณตามปกติ เพียงแต่ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าดับหมดแล้ว
ถ. ขณะที่ท่านพระมหากัสสปะไปบิณฑบาต ท่านก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า เป็นคนเข็ญใจแน่ๆ สองผัวเมียทุกข์ยากแน่ๆ ท่านจึงไปโปรด
ท่านอาจารย์ ความกรุณาของพระอรหันต์ โดยท่านรู้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ถวายอาหารบิณฑบาตแล้วย่อมจะได้รับผล ถ้าผู้นั้นมีศรัทธา ทำให้ท่านคิดที่จะสงเคราะห์ คนเข็ญใจ มากกว่าที่จะสงเคราะห์เทวดา หรือผู้ที่มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์แล้ว แม้แต่ทุกท่านเองในที่นี้ก็คงเหมือนกัน คือ ถ้าเห็นผู้ที่ยากไร้เข็ญใจ ท่านก็คงคิดที่จะสงเคราะห์ ถ้าจะทำให้บุคคลผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ยากได้
แต่อย่างพระอินทร์เป็นถึงจอมเทพ และเป็นพระโสดาบันด้วย สบายมากๆ ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็มีกุศลหลายอย่างที่พระอินทร์จะกระทำได้ เช่น อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น แม้แต่การให้ บางท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องให้เอง แต่อาจจะหาวัตถุเพื่อให้บุคคลอื่นได้กระทำทาน เพื่อเขาจะได้ผลของกุศลนั้นก็ได้ เป็นความเมตตาที่ต้องการจะอนุเคราะห์บุคคลอื่น ฉันใด ท่านพระมหากัสสปะหรือบรรดาผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ เมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ท่านก็จะพิจารณาว่า ควรที่จะไปสงเคราะห์คนเข็ญใจคนใด มากกว่าที่จะไปสงเคราะห์เทวดาหรือว่า พระอินทร์
ถ. กรณีพระอินทร์แปลงร่าง จะถือว่าท่านมาหลอกลวงได้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ท่านได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า แม้ท่านเองก็ต้องการกุศล ใช่ไหม
ถ. ท่านเองก็เป็นคนจน อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แม้ท่านเองก็เป็นผู้ที่จะกระทำกุศลด้วย
ถ. หลังจากที่ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระมหากัสสปะแล้ว ท่านได้รับผลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างไรหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่มนุษย์จะไม่เห็นอย่างนั้น เพราะทรัพย์สมบัติของเทวดาก็มีมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ของนิโรธสมาบัติจะสงเคราะห์บุคคลเข็ญใจ ซึ่งภูมิมนุษย์เป็นภูมิที่ยากไร้ มีความลำบากมาก แต่พระอินทร์เองที่ทำอย่างนั้น ก็กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำบุญ
ถ. กรณีที่บุคคลหนึ่งทำกุศลแล้วอุทิศกุศลให้อีกบุคคลหนึ่งอนุโมทนา กับกรณีที่บุคคลหนึ่งทำกุศล และอีกบุคคลหนึ่งรู้ก็อนุโมทนา ผลของ ๒ กรณีนี้ จะต่างกันหรือไม่
ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่อนุโมทนาเอง ก็ได้อนุโมทนามัย คือ บุญที่สำเร็จเพราะอนุโมทนา และสำหรับบุคคลที่บอกคนอื่น แผ่กุศลให้คนอื่นได้อนุโมทนาด้วย คนนั้น ก็ได้กุศลนอกจากทานมัยแล้ว ก็ได้ปัตติทานมัยด้วย
ถ. ได้เพิ่ม แต่สำหรับผู้อนุโมทนา ผลของกุศลก็ไม่ต่างกัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ต่าง
ถ. เขาจะอุทิศให้เรา หรือไม่อุทิศให้เรา เมื่อเรารู้และอนุโมทนา ก็ได้กุศลเท่ากัน
สุ. ใช่
ถ. ขอบคุณ
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร