มิตตามิตตชาดก
ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สติจะเกิดพิจารณาความถูกต้องและความจริงของสภาพธรรมแม้ในทางโลกอย่างไรบ้าง เพราะว่าทุกคนยังอยู่ในโลก ยังพ้นโลกไปไม่ได้เลย ยังมีเพื่อนสนิทมิตรสหาย ยังมีการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ แต่ว่าจิตที่ระลึกเป็นไปแต่ละขณะในขณะที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลอื่น หรือว่าพิจารณาความถูกต้องความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นอย่างไร
แม้แต่ในเรื่องของเพื่อน พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงข้อความที่ทำให้ทุกท่านได้พิจารณาว่า สติเกิดระลึกเป็นไปในเรื่องของมิตรสหายในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ซึ่งใน ขุททกนิกาย ทวาทสนิบาตชาดก มิตตามิตตชาดก ข้อ ๑๗๑๓ – ๑๗๒๔ มีข้อความว่า
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็น และได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร
เรื่องของมิตรเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าการคบสมาคมกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดอาจจะนำความเจริญอย่างมากมาให้ หรืออาจจะนำความเสื่อมอย่างมากมาให้ ซึ่งความเสื่อมอย่างมาก คือ ความเสื่อมโดยเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติในธรรม
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลผู้มิใช่มิตร เห็นเพื่อนๆ แล้วไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่แลดูเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน
เพียงแค่นี้ก็เตือนสติได้แล้ว ใช่ไหม ถ้าขณะใดที่นึกย้อน หรือพูดย้อนเพียง นิดเดียว ขณะนั้นไม่ใช่เพื่อน เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเป็นเพื่อนของใคร หรือใครจะเป็นเพื่อนกับใคร ก็สามารถพิจารณาสภาพของจิตในขณะนั้นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของผู้ที่เป็นมิตร และผู้ที่ไม่ใช่มิตรนั้น ต่างกันอย่างไร
บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีท่านพระเทวทัต และยังมีพระภิกษุซึ่งมีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิดอีกหลายท่าน
บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
เป็นเรื่องสติหรือเปล่า เป็นชีวิตจริงๆ ที่จะรู้ว่าสติเกิดในขณะใด และสติไม่เกิดในขณะใด บางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลยที่จะกล่าวถึง เพราะว่าทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดอกุศลจิต ก็ไม่พูดจะดีกว่า หรือในเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็พูด หมายความว่าต้องพิจารณาก่อน ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติ เพราะฉะนั้น แม้ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล
บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน
เพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของใคร ในขณะนั้น สติควรจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตได้แล้ว แต่ถ้าสติไม่เกิด ขอให้พิจารณาจิต ในขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่า สติเกิดหรือไม่เกิดในขณะใด เพราะไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของบุคคลใด ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และถ้า ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ก็เป็น อกุศลจิต รวมทั้ง ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็น และได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร
วิธีที่จะทราบว่า ท่านเป็นมิตรของใคร และไม่ใช่มิตรของใคร ก็คงพอที่จะรู้ได้จากจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังบุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร
บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อน ผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ
คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน
ถ้าท่านผู้ฟังอยากจะเจริญแต่เมตตา อยากจะมีเมตตามากๆ แต่เวลาที่ พูดถึงเพื่อน เกี่ยวข้องกับเรื่องเมตตาหรือเปล่า เพราะว่าเมตตาคือความเป็นมิตร อย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านคิดว่าท่านจะเจริญเมตตาโดยขาดการพิจารณาบุคคลที่เป็นเพื่อนของท่านในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การเป็นเพื่อนของท่านต่อบุคคลอื่นจริงๆ
ถ้าท่านเป็นเพื่อนแท้ของบุคคลใด ก็แสดงว่า ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อบุคคลนั้น และก็รู้ได้ว่าถ้าหวังร้ายต่อใคร หรือว่ายินดีในความพินาศของใครในขณะใด ขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญเมตตา ไม่ต้องไปแผ่ไปให้ไกลมาก เพียงแต่ผู้ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย และ ท่านเกิดความไม่พอใจในความเจริญของบุคคลนั้น หรือว่ายินดีในความพินาศของบุคคลนั้น ก็ชื่อว่าท่านไม่ได้เจริญเมตตาในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะส่องไปถึงสภาพของธรรม แม้แต่ส่วนที่ท่านคิดว่าท่านต้องการเจริญ เช่น เมตตา แต่ถ้าท่านไม่อยากจะฟังเรื่องของเพื่อน ท่านจะรู้จักตัวของท่านได้อย่างไรว่า มีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า
ข้อความต่อไปมีว่า
คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่มิตร ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญ การงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยมาย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าเป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร
จบ มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐
ไม่เคยคิดที่จะนับ ๑๖ ประการเพื่อที่จะทดสอบความเป็นเพื่อน ใช่ไหม ก็ไม่จำเป็น แต่เวลามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือระลึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็พิจารณาจิตว่า ในขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นมิตร ด้วยความเมตตาหรือไม่ หรือว่าต่อไปนี้จะต้องรีบไปบอกความลับให้เพื่อนทราบหมดทุกอย่าง นั่นก็ ไม่ถูกอีก คือ เรื่องของสติ ต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในทางที่สมควร เพราะข้อความในชาดกตอนหนึ่งมีว่า
ไม่ควรให้มิตรโง่รู้ความลับ
อะไรก็ตามที่จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตเจริญมากมาย จากบุคคลหนึ่งสู่อีก บุคคลหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งต่อๆ ไปอีกบุคคลหนึ่ง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่จำเป็น ส่วนในเรื่องของความลับที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเพื่อนหรือไม่ คือ เมื่อสามารถ ที่จะเกื้อกูลได้ ช่วยเหลือได้ ก็ควรที่จะบอก แต่ไม่ใช่บอกให้บุคคลอื่นเกิดความ เป็นห่วง ความทุกข์ร้อน หรือว่าความกังวลใจ
เป็นเรื่องของสติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านจะพูด หรือจะทำอะไร แม้แต่ในเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นความลับ ก็ต้องมีสติที่จะรู้ว่าบอกเพื่ออะไร และไม่บอกเพื่ออะไร
สำหรับท่านที่เห็นประโยชน์ของสติ และรู้ว่าสติที่เจริญสมบูรณ์ถึงขั้น คือ ขั้นสติปัฏฐาน
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร