โสณนันทบัณฑิตจริยา
ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยา คือ ความประพฤติเป็นไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นชีวิตธรรมดา แต่ถ้า ไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า เป็นบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ
โสณนันทบัณฑิตจริยา มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลกบังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพรหมวัทธนนคร มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โสณกุมาร
เมื่อโสณกุมารเดินได้ ก็มีสัตว์อื่นจุติจากพรหมโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาพระโพธิสัตว์ และมารดาก็ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า นันทกุมาร
นันทกุมาร คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายของท่าน
มารดาบิดาได้เห็นรูปสมบัติของบุตรทั้งสอง ก็ให้ศึกษาศิลปะทุกอย่าง และอยากจะให้ท่านครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน ปรารถนาที่จะบำรุงบิดามารดาตลอดชีวิต เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วก็ปรารถนาที่จะบวช
มารดาบิดาของท่านพยายามชักชวนให้พระโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ที่จะ ให้ครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ก็มีความตั้งใจมั่นคงที่จะบวช มารดาบิดาก็มอบสมบัติให้นันทกุมารแทน แต่นันทกุมารก็กล่าวว่า เมื่อโสณกุมารผู้เป็นพี่ชายไม่รับสมบัติ เพราะฉะนั้น นันทกุมารก็ไม่รับสมบัติ และจะบวชด้วย ซึ่งมารดาบิดาก็แปลกใจมากที่บุตรทั้งสองต้องการจะละสมบัติออกบวชในวัยหนุ่ม ทั้งๆ ที่มารดาบิดาก็เป็นผู้สูงอายุกว่ามาก เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความตั้งใจของบุตรทั้งสองก็คิดว่า เมื่อบุตรซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มยังสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ มารดาบิดา ก็ขอบวชด้วย
ในครั้งนั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้สร้างอาศรมอยู่ในป่า และทั้งสองพี่น้องนั้นก็บำรุงมารดาบิดา นันทบัณฑิตคิดว่า เราจะให้มารดาบิดาบริโภคผลไม้ที่เรานำมาเท่านั้น ท่านจึงได้นำผลไม้ที่เหลือจากวันก่อน และที่ตนหาได้ในวันก่อนๆ มาให้มารดาบิดาบริโภคตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อมารดาบิดาบริโภคผลไม้เหล่านั้นแล้วก็บ้วนปาก รักษาอุโบสถ ส่วนโสณบัณฑิตไปไกลหน่อย และนำผลไม้ที่สุกดีแล้ว มีรสอร่อย นำไปให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดากล่าวกับโสณบัณฑิตว่า เราบริโภคแล้ว และรักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องการบริโภคผลไม้ของโสณบัณฑิต แต่ผลไม้ของนันทบัณฑิตนั้น เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ก่อน เนื่องจากอยากให้มารดาบริโภคแต่เช้า เพราะฉะนั้น บางที ก็เป็นผลไม้ที่เสีย
ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า มารดาบิดาเป็นคนแบบบาง นันทะนำผลไม้ ดิบบ้าง สุกไม่ดีบ้าง มาให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดาก็จะอยู่ได้ไม่นาน
คือ เป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง เพราะฉะนั้น ไม่ควรบริโภคผลไม้ที่ไม่ดี คือ บางครั้งก็เสีย บางครั้งก็ดิบไปบ้าง
ท่านห้ามนันทะ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปเวลาที่นันทะนำผลไม้มาให้มารดาบิดา ก็ขอให้รอท่านกลับมาก่อน เพื่อให้มารดาบิดาบริโภคร่วมกัน
คือ ไม่ใช่บริโภคแต่ผลไม้ของนันทะเท่านั้น
เมื่อโสณบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว นันทบัณฑิตหวังได้บุญ จึงไม่ทำตาม
คือ หวังที่จะให้มารดาบิดาบริโภคแต่ผลไม้ที่ตนนำมาเท่านั้น
เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นนันทบัณฑิตไม่ทำตาม ก็บอกให้นันทบัณฑิตไปอยู่ เสียที่อื่น ท่านเองจะเป็นผู้บำรุงมารดาบิดา
นันทบัณฑิตเมื่อถูกพี่ชายขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่นั้น ก็ได้ไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วได้บอกลามารดาบิดา ท่านเจริญกุศลยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้น และ คิดที่จะขอโทษพี่ชาย
นี่เป็นความรู้สึกของผู้ที่สะสมบารมีมาที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
แต่ท่านก็เห็นว่า การที่จะให้พี่ชายยกโทษให้ ก็ควรจะเป็นการยกโทษอย่างดียิ่ง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า ทำอย่างไรพี่ชายจึงจะยกโทษให้อย่างดี ท่านคิดที่จะนำ ท้าวสักกเทวราชมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาขอขมาพี่ชาย แต่ก็คิดว่าทำอย่างนั้นไม่ควร เพราะว่าเมื่อทั้งสองยังอยู่ในโลกนี้ ก็ควรนำพระราชาผู้เป็นใหญ่ของ เมืองพรหมวัทธนะผู้มีนามว่า มโนชะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายมาเพื่อ ให้ได้รับทราบการขอโทษพี่ชายของท่านด้วย
เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปยังพระราชวังของพระเจ้ามโนชะ และกล่าวว่า จะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวาย แต่ขอให้พระองค์ได้เสด็จไปหาพี่ชายของท่าน เพื่อที่ท่านจะได้ขอโทษพี่ชาย ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้กระทำอย่างนั้น และท่าน ก็ได้ขอขมาพี่ชาย
พระโพธิสัตว์ให้นันทบัณฑิตดูแลมารดา ส่วนท่านเองบำรุงบิดาจนตลอดชีวิต และพระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยพุทธลีลาว่า
ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอมารดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ
ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอบิดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ
การสงเคราะห์เหล่านี้แลในโลกตามสมควรในธรรมนั้นๆ คือ การให้ การเจรจาถ้อยคำอ่อนหวาน การประพฤติเป็นประโยชน์ การวางตนเสมอต้น เสมอปลาย ดุจลิ่มรถที่แล่นไปฉะนั้น
การสงเคราะห์เหล่านี้ไม่พึงมี มารดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร
คือ ถ้าไม่สงเคราะห์กันอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นการบูชามารดาบิดา
เพราะบัณฑิตทั้งหลายเพ่งเล็งโดยชอบการสงเคราะห์เหล่านี้ ฉะนั้น จึงถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และได้ความสรรเสริญ
มารดาบิดาท่านกล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็นผู้ควรบูชา ของบุตรทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์
เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะบิดามารดาเหล่านั้น ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยน้ำอาบ และด้วยการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ ด้วยการบำรุงบำเรอ ในมารดาบิดาทั้งหลาย บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
มีบารมีอะไรบ้างหรือเปล่าในพุทธจริยา ในพระชาติที่เป็นโสณบัณฑิต ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น
ข้อความตอนท้ายมีว่า
เนกขัมมบารมียอดเยี่ยมอย่างยิ่งของโสณบัณฑิตนั้นก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น ก็พึงกล่าวถึงบารมีที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล อนึ่ง พึงประกาศ คุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้คือ ความเป็นผู้ไม่คำนึงถึงกามทั้งหลาย โดยสิ้นเชิง (เนกขัมมบารมี) ความเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงอย่างแรงกล้าใน มารดาบิดาทั้งหลาย ความไม่อิ่มด้วยการบำรุงมารดาบิดา แม้เมื่อมีการบำรุง มารดาบิดาเหล่านั้นอยู่ ก็ยังกาลเวลาทั้งหมดให้น้อมไปด้วยสมาบัติ …
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ต้องมีวิริยบารมีในการที่จะไปแสวงหาผลไม้ที่ดีๆ มา เพื่อบำรุงมารดาบิดา และต้องมีความอดทน มีความเพียรด้วย ในการที่จะทำอย่างนั้น
ถ้าทุกท่านจะพิจารณาบารมี ๑๐ ของท่านเอง ก็ดูจากความประพฤติของตนเองในปัจจุบันชาติซึ่งสืบต่อมาจากชาติก่อนๆ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ไม่ว่าจะเกิด เป็นอะไร ที่ไหน ชาติไหนก็ตาม
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร