กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
สำหรับในเรื่อง กกจูปมสูตร
สมัยนั้น ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ คือถ้าภิกษุรูปใดกล่าวติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่าน ท่านก็โกรธขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี
อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปใดติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะต่อหน้าภิกษุณีรูปนั้น พวกภิกษุณีนั้นก็พากันโกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี
ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้นภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลให้ทรงทราบว่า ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณี
เป็นชีวิตธรรมดาหรือเปล่า หรือว่าบุคคลในครั้งกระโน้นไม่เหมือนบุคคลในครั้งนี้เลย ต่างกันมาก หรือว่าเหมือนกัน ถ้ายังมีกิเลส มีความผูกพัน มีความกังวล มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นวงศาคณาญาติ หรือว่าสหายธรรมก็ได้ ถ้ามีผู้อื่นติเตียนว่ากล่าวผู้ที่ท่านเกี่ยวข้องด้วย ท่านจะรู้สึกขัดใจไหม ซึ่งท่านจะพิจารณาเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระโมริยผัคคุณะเองก็ยังมีกุลปลิโพธ และถึงแม้ภิกษุณีเหล่านั้นเองก็เหมือนกัน เวลาที่มีภิกษุรูปใดกล่าวติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะ ภิกษุณีเหล่านั้นก็โกรธและก็ขัดใจ ถ้าท่านอ่านในพระสูตรหลายๆ พระสูตร ก็จะพบเรื่องของกุลปลิโพธ แม้ในบรรดาภิกษุและภิกษุณี อย่างภิกษุณีบางรูปก็มีศรัทธามากในพระภิกษุบางรูป เช่นมีศรัทธามากในท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงธรรมต่อหน้าท่านพระอานนท์ ภิกษุณีรูปนั้นก็โกรธขัดเคืองใจ ที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงธรรมต่อหน้าท่านพระอานนท์
นี่ก็เป็นกิเลสของแต่ละคน ซึ่งมากบ้างน้อยบ้าง ทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้างเป็นของธรรมดา
เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสให้ภิกษุรูปหนึ่งไปบอกท่านพระโมริยผัคคุณะว่า พระศาสดาให้หา และเมื่อท่านพระโมริยผัคคุณะมาเฝ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามว่า ที่พระองค์ทรงทราบนั้นเป็นความจริงไหม ซึ่งท่านพระโมริยผัคคุณะก็กราบทูลรับว่าจริง
ท่านลองคิดดูว่า ถ้าเป็นท่าน ท่านจะกล่าวเตือนว่าอย่างไร จะแสดงสติปัฏ-ฐานหรือจะว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าธรรมนั้นมีมาก เรื่องสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ภิกษุเจริญเสมอเนืองๆ เป็นปกติ แต่สติก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับให้เกิดได้ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งทุกโอกาส ไม่ต้องขัดเกลากิเลสอะไรเลย ให้สติเกิด พยายามจงใจพากเพียรที่จะให้สติเกิด แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นอนัตตา แม้สติ แต่ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าธรรมใดอุปการะแก่สติ เจริญอกุศลอยู่เนืองนิจ มีความขัดเคืองใจหรือว่ามีปลิโพธ เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ โดยที่ไม่ขัดเกลากิเลสทุกๆ ทางแล้ว ย่อมยากที่จะให้สติเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าผู้ใดเจริญกุศลทุกประการเป็นเนืองนิจแล้ว นอกจากจะเป็นการขัดเกลากิเลสให้น้อยลง ก็ยังเป็นการอุปการะแก่สติ ให้ระลึกถึงลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏนั้นด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระโมริยผัคคุณะว่า
ดูกร ผัคคุณะ เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยศรัทธามิใช่หรือ
ซึ่งท่านพระโมริยะก็กราบทูลรับว่า อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า
คือเตือนให้ท่านพระโมริยะระลึกถึงกิจของพระภิกษุที่ละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเตือนท่านพระโมริยะว่า ที่บวชนั้นด้วยศรัทธามิใช่หรือ เมื่อท่านพระโมริยะกราบทูลรับอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับท่านพระโมริยผัคคุณะ มีข้อความว่า
การที่ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลานั้น ไม่สมควรแก่ท่านผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าการที่จะเป็นภิกษุ ก็จะต้องขัดเกลากิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ทุกๆ ทาง
เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ภิกษุรูปใดติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น ต่อหน้าท่านพระโมริยผัคคุณะก็ดี หรือถ้าใครๆ ประหารภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตรา ต่อหน้าท่านพระโมริยผัคคุณะ แม้ในข้อนั้น ท่านพระโมริยผัคคุณะพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ และจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน และแม้ใครๆ ติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะต่อหน้า ประหารท่านด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตรา ก็พึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ จักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน
สมควรไหมที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสเตือนอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าส่งเสริมให้มีโลภะ ให้มีโทสะ ถ้าใครติเตียนว่ากล่าวภิกษุณีก็ต้องโกรธต้องขัดใจ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเลย แต่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะติเตียน จะประหารด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ผู้ที่เป็นภิกษุนั้นก็จะต้องให้จิตไม่แปรปรวน และก็ไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน
ใครจะทำได้หรือไม่ได้ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าสามารถกระทำได้ ก็เป็นประโยชน์กับตนเอง แล้วกับผู้อื่นด้วย นอกจากนั้นยังมีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า
สมัยหนึ่ง พวกภิกษุได้ทำกิจของพระองค์ให้ยินดีเป็นอันมาก พระองค์จะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก การทำสติให้เกิดขึ้นเป็นกรณียะ ในภิกษุเหล่านั้นแล้ว
จุดประสงค์ของการบรรพชา ก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม และก็รู้แจ้งอริยสัจตามพระผู้มีพระภาค แต่การเกิดปัญญารู้แจ้งสภาพธรมตามความเป็นจริงตามปกติที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งปัญญารู้ชัดในสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ
เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพระภิกษุเหล่านั้น แล้วพระภิกษุเหล่านั้นทำสติให้เกิดขึ้นเป็นกรณียะแล้ว พระองค์ก็จะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก
พวกภิกษุเหล่านั้นได้ทำกิจของพระองค์ให้ยินดีเป็นอันมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า
เปรียบเหมือนรถที่เทียมด้วยม้าอาชานัย ซึ่งได้รับการฝึกมาดีแล้ว นายสารถีไม่ต้องใช้แซ่ เพียงแต่จับสายบังเหียน เตือนให้วิ่งไปตามทิศทางที่ปรารถนาได้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคจะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายเนืองๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
แล้วต่อไปพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า แม้ภิกษุทั้งหลาย ก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
การฟังธรรมก็เป็นกุศลธรรม การเแสดงธรรมก็เป็นกุศลธรรม การรักษาศีลก็เป็นกุศลธรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมครั้งหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า เมื่อจบเทศนาแล้ว บางท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ บางท่านบรรลุอริยสัจเป็นพระอนาคามีบุคคล บางท่านบรรลุอริยสัจเป็นพระสกทาคามีบุคคล บางท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล บางท่านไม่เป็นอะไรเลย ต้องมีเหตุที่ทำให้ได้ผลต่างกัน ถ้าในขณะที่ฟังธรรม เข้าใจพระธรรม พร้อมกับมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นนั่นเอง ไม่ต้องคอยเลย เพราะเหตุว่า กำลังเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ สามารถละคลายความต้องการ ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น รู้แจ้งอริยสัจได้ ถึงเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ไม่เป็นอะไรเลย เพราะขาดสติ หลงลืมสติ ไม่พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร จะเป็นพระสกทาคามีได้อย่างไร จะเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า การฟังธรรมนั้นมีประโยชน์ เมื่อฟังแล้วเข้าใจถูกต้อง ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นไม่ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์มาแล้ว ก็สามารถละคลายความไม่รู้ ความสงสัย ความต้องการนามและรูปที่กำลังปรากฏ เมื่อละคลายความไม่รู้ ความสงสัย ความต้องการ ก็สามารถที่จะประจักษ์สภาพความจริงของนามและรูปในขณะนั้นได้ และสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า เปรียบเหมือนป่าไม้รังใหญ่ ใกล้บ้านหรือนิคม และป่านั้นดาษไปด้วยต้นระหุ่ง ชายคนหนึ่งเล็งเห็นประโยชน์ หรือคุณภาพของต้นรังนั้น ใคร่จะทำให้ต้นรังนั้นให้ปลอดภัย เขาจึงตัดต้นรังเล็กๆ ที่คด และถางต้นละหุ่ง ที่คอยแย่งโอชาของต้นรังนั้นออก ทำภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว คอยรักษาต้นรังเล็กๆ ต้นตรง ที่แข็งแรงดี โดยถูกต้องวิธีการ ด้วยการกระทำดังที่กล่าวมานี้แหละ กาลต่อมา ป่าไม้รังนั้น ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ ฉันใด แม้พวกภิกษุทั้งหลาย ก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรอยู่แต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกภิกษุทั้งหลายก็จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ถ่ายเดียว
แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติอุปมาเหมือนกับการปลูกต้นไม้ซึ่งก็จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าในตอนต้น จะให้มีสติมากๆ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า สติระลึกรู้ที่ไหน แล้วก็ปัญญารู้อะไร
ข้อความใน กกจูปมสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่พระนครสาวัตถีนี้แหละ มีแม่เรือนคนหนึ่ง ชื่อเวเทหิกา มีกิตติศัพท์ขจรไป ว่าเป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยนเรียบร้อย แม่เรือนเวเทหิกามีทาสี ชื่อกาลี เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี
นางกาลีได้คิดว่า นายของตนนั้นไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ หรือว่าไม่มีความโกรธอยู่เลย เพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี เพราะฉะนั้น ด้วยความสงสัย นางกาลีทาสีแกล้งลุกขึ้นสาย ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็โกรธ ขัดใจ ทำหน้าบึ้ง ดุว่านางกาลี นางกาลีก็รู้ว่า ที่แม่เรือนเวเทหิกาไม่แสดงความโกรธนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีความโกรธ แต่เป็นเพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี
ซึ่งนางกาลีก็ใคร่ที่จะทดลองนายหญิงของตนให้ยิ่งขึ้นไป ถัดจากวันนั้นมา ก็ลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็ได้แสดงความโกรธออกมาให้ปรากฏยิ่งขึ้น จนกระทั่งกิตติศัพท์อันชั่วขจรไปว่า แม่เรือนเวเทหิกาเป็นคนดุร้าย ไม่อ่อนโยนไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนอ่อนโยนจัด เป็นคนเรียบร้อยจัดได้ ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็เมื่อใดกระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง
นี่ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่อุปการะแก่พระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ในพระนครสาวัตถีเลย แต่ทำไมตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ก็เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า
บุคคลที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นคนที่อ่อนโยนเรียบร้อยนั้น เป็นเพราะเหตุว่า ยังไม่มีสิ่งที่ไม่น่าพอใจมากระทบ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นที่พอใจ เป็นต้นว่า ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็ไม่เป็นคนสงบเสงี่ยม ไม่เป็นคนอ่อนโยน ไม่เป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าถ้าผู้ใดเป็นคนที่ถึงแม้กระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่น่าพอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง
พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ว่าเป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะ เคารพนอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย
คือว่าง่ายในพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่าเป็นคนว่าง่ายดังนี้
เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจะเป็นผู้สักการะ เคารพ นอบน้อมพระธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย ดังนี้
ความเป็นคนว่าง่าย ไม่ใช่เพียงเวลาที่ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนั้น ไม่ใช่ถึงความเป็นคนว่าง่าย ถ้าเป็นภิกษุ ก็เพราะเหตุว่าได้จีวร ได้บิณฑบาต ได้เสนาสนะ แต่ว่าผู้ใดมาเคารพ สักการะ นอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนี้
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทควรจะตรวจสอบถึงความเป็นบุคคลผู้ว่าง่ายของท่านเองด้วยว่า ว่าง่ายในขั้นไหน ในขั้นที่ยังไม่ได้กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าง่ายแม้ในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าสิ่งใดก็ตามที่มีอยู่ในพระธรรมวินัย ท่านควรจะว่าง่ายในลักษณะใด ควรจะเป็นผู้ที่สอบทาน ศึกษา พิจารณา เทียบเคียงให้ถูกต้อง ไม่ถือความเห็นของตน หรือหมู่คณะเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าบางท่านต้องการให้ตนเป็นที่รัก ต้องการให้หมู่คณะเป็นที่รัก หรือต้องการให้ตนเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้คำนึงถึงพระธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วพระธรรมต้องเป็นใหญ่ แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นที่รักของบุคคลใด หมู่คณะใดก็ตาม แต่ว่าการศึกษาการแสดงธรรมนั้นควรให้ถูกต้องตรงตามพระธรรม ไม่ใช่คิดถึงตนหรือหมู่คณะเป็นใหญ่
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร