พระสารีบุตรปรินิพพาน
วันมาฆบูชาเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ ถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสุกรขาตา ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่าน เพราะฉะนั้น วันสำคัญทางศาสนาจะเป็นอนุสสติได้หลายอย่าง คือ นอกจากจะระลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาแล้ว ยังระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนบ่าย ตอนเย็น ซึ่งขณะนั้นทีฆนขปริพาชกได้ไปหา ท่านพระสารีบุตรเพื่อไต่ถามทุกข์สุขที่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของ พระผู้มีพระภาค และท่านพระสารีบุตรก็ได้พาท่านซึ่งเป็นหลานไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรก็ถวายอยู่งานพัด ขณะที่ฟังพระธรรมนั้นเอง ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
กาลเวลาก็ล่วงผ่านไป หลังจากที่ท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้วประมาณ ๔๕ ปี ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีทุกข์ใจ แต่มีทุกข์กาย แม้พระผู้มีพระภาค พระอัครสาวก และพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ซึ่งอกุศลกรรมย่อมมีปัจจัยที่จะให้ผลได้ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน
ขอกล่าวถึงการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร หลังจากที่ท่านบรรลุ พระอรหันต์ในวันมาฆบูชา ล่วงเลยไปประมาณ ๔๕ ปี ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาจุนทสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะ เป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ
ถ้าย้อนระลึกไปถึงที่แคว้นมคธ หรือเมืองสาวัตถี หรือแม้บ้านนาลกคาม ในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ใน ๔๕ ปีนั้น มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ย้อนกลับมาเกิดอีกเลย ไม่ว่าใครจะเกิดอยู่ ณ สถานที่นั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ข้อความใน อรรถกถา มีว่า
ตำบลนาลกะเป็นที่อยู่ของสกุลของท่านพระสารีบุตร ท่านสามเณรจุนทะ เป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เวลาที่ท่านยังไม่ได้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ แม้เวลาที่ท่านเป็นพระเถระแล้วก็ยังเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สามเณรจุนทะ
ท่านสามเณรจุนทะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระสารีบุตรด้วยน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน
และน้ำฉัน กวาดบริเวณ นวดหลัง และรับบาตรจีวร
ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในปีที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน แต่ปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ และก่อนพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถาโดยย่อมีว่า
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาแล้ว เสด็จออกจากหมู่บ้าน เวฬุวะไปเมืองสาวัตถี และประทับ ณ พระวิหารเชตวัน
ท่านพระสารีบุตรแสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปที่พักกลางวัน เพื่อนเหล่าอันเตวาสิกในที่นั้นแสดงวัตรหลีกไปแล้ว ท่านจึงกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้าแล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าผลสมาบัติ
ลำดับนั้น เมื่อท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดความปริวิตก นี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจักปรินิพพานก่อนหรือหนอ หรือว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แต่นั้นรู้แล้วว่า พระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แล้วจึงตรวจดูอายุสังขารของตน รู้แล้วว่า อายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงคิดว่า เราจะปรินิพพานที่ไหน
ลำดับนั้นจึงคิดแล้วคิดอีกว่า พระราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์พิภพ พระอัญญาโกณฑัญญเถระปรินิพพานที่สระฉัททันต์ เราจะปรินิพพานที่ไหน ดังนี้ จึงเกิดความสังเวชปรารภมารดาว่า มารดาของเราก็เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เลย ท่านมีอุปนิสัย หรือไม่หนอ
เมื่อท่านได้เห็นอุปนิสัยแห่งพระโสดาปัตติมรรคของมารดาของท่าน จึงตรวจดูว่า มารดาของท่านจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ทราบว่าจักบรรลุด้วยธรรมเทศนาของท่านเท่านั้น มิใช่ของใครอื่น และคิดต่อไปว่า ถ้าท่านพึงขวนขวายน้อย ก็จักมีผู้กล่าวว่า พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งของคนที่เหลือทั้งหลาย แต่ไม่อาจจะเปลื้องแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาของตนได้ ท่านจึงตกลงใจจักเปลื้องมารดาของท่านจากความเห็นผิด แล้วปรินิพพานในห้องที่เกิดนั่นแหละ
ท่านให้ท่านสามเณรจุนทะไปบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของท่าน ให้ทราบว่า ท่านจะไปบ้านนาลกะ ภิกษุทั้งหลายจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรไปสำนักของ ท่านพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตรเก็บเสนาสนะ กวาดที่พักกลางวัน และยืนที่ประตูพักกลางวัน ตรวจดูที่พักกลางวันคิดว่า บัดนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการกลับมาอีกแล้ว
ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ แวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตข้าพระองค์ ขอพระสุคตทรงอนุญาต นี้เป็นกาลปรินิพพานของข้าพระองค์ อายุสังขารข้าพระองค์ปลงลงแล้ว
ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อตรัสว่า เธอจงปรินิพพาน ก็จะกลายเป็นสรรเสริญความตาย เมื่อตรัสว่า เธออย่าปรินิพพาน คนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะยกโทษว่า กล่าวสรรเสริญคุณของวัฏฏะ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสคำแม้ทั้งสอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอจักปรินิพพานที่ไหน สารีบุตร
เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักปรินิพพานในห้องที่ข้าพระองค์เกิดในบ้านนาลกะ แคว้นมคธนั้น จึงตรัสว่า สารีบุตร เธอจงสำคัญเวลาในบัดนี้ ก็การเห็นภิกษุเช่นเธอ ของภิกษุผู้เป็นทั้งพี่และน้องของเธอจักหาได้ยากในบัดนี้ เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น
ท่านพระสารีบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ให้ท่านแสดงธรรม หลังจากที่ได้แสดงอิทธิฤทธิแล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วเหาะขึ้นไปแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง แล้วปรารภธรรมกถา
ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมกถาด้วยกายที่ปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง ด้วยกายเบื้องบน เบื้องล่าง หรือครึ่งกาย บางทีก็แสดงเป็นรูปพระจันทร์โดยไม่มีใครเห็น บางครั้งก็เป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งก็เป็นรูปภูเขา บางทีก็เป็นรูปทะเล บางทีก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางทีก็เป็นเวสวัณมหาราช บางทีก็เป็นท้าวสักกมหาราช บางทีก็เป็นท้าวมหาพรหม
เมื่อแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง อย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวธรรมกถา ชาวพระนครทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว ท่านเหาะลงแล้ว ได้ยืนถวายบังคม พระบาทพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะพระเถระนั้นว่า
สารีบุตร ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ชื่อสีหนิกีฬิตะ พระเจ้าข้า
ท่านพระสารีบุตรได้เหยียดมือมีสีดังครั่งสด แล้วจับที่ข้อพระบาทเช่นกับ ลายเต่าทองของพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็เพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองนี้ของพระองค์ มโนรถของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ แต่นี้ไปการประชุมกันในที่เดียวกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะมิได้มีอีกแล้ว
คือ จะไม่มีการเกิดมาพบกันอีก
สมาคมก็จะมิได้มี ความคุ้นเคยกันได้ขาดแล้ว ข้าพระองค์จักเข้าสู่ พระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย เกษม มีสุข เย็นสนิท ไม่มีภัย ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปแล้ว ถ้าว่าพระองค์ไม่ทรงชอบพระทัยโทษไรๆ ของข้าพระองค์ที่เป็นไป ทางกายหรือทางวาจา ขอพระองค์ทรงอดโทษนั้นด้วย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นการไปของข้าพระองค์แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ ก็โทษไรๆ ของเธอที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาที่ไม่ชอบใจเรา ไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด
พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจากที่ฟังธรรม เสด็จมุ่งหน้าต่อพระคันธกุฎี ได้ประทับยืน ท่านพระเถระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลแล้วว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เลยไปหนึ่งอสงไขยแสนกัปแต่กัปนี้ ข้าพระองค์ หมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ปรารถนาเห็นพระองค์ ความปรารถนาของข้าพระองค์นั้นสำเร็จแล้ว ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว เป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การได้เห็นพระองค์ ไม่ได้มีอีกแล้ว ดังนี้ แล้วประคองอัญชลี หันหน้าเฉพาะตราบเท่าที่ที่จะเห็นได้ ถอยกลับ แล้วถวายบังคม แล้วหลีกไป
มหาปฐพีไม่อาจจะทรงไว้ได้ ไหวจนถึงน้ำรองรับแผ่นดิน
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเหล่าภิกษุที่ยืนแวดล้อมว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงติดตามพี่ชายของพวกเธอเถิด
ขณะนั้นบริษัท ๔ ละพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้พระองค์เดียวในพระเชตวัน ออกไปไม่เหลือเลย
ฝ่ายชาวพระนครสาวัตถีพากันพูดว่า ข่าวว่า ท่านพระสารีบุตรเถระทูลลา พระผู้มีพระภาคแล้ว ประสงค์จะปรินิพพานออกไปแล้ว พวกเราจะไปนมัสการท่าน พากันถือเอาของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นออกไปจนแน่นประตูเมือง สยายผม ร้องไห้ คร่ำครวญ โดยนัยเป็นต้นว่า บัดนี้พวกเราเมื่อถามว่าท่านผู้มีปัญญามาก นั่งที่ไหน พระธรรมเสนาบดีนั่งที่ไหน ดังนี้ จะไปสำนักของใคร จะไปวางสักการะ ในมือของใคร
เมื่อท่านพระเถระหลีกไปแล้ว จึงได้ติดตามพระเถระไป
ท่านพระสารีบุตรเถระเพราะความที่ท่านดำรงอยู่ในปัญญามาก คิดแล้วว่า ทางนี้คนทั้งหมดไม่ควรก้าวเลยมา แล้วโอวาทมหาชนว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกท่านจงหยุด อย่าถึงความประมาทใน พระผู้มีพระภาคเลย แล้วให้พวกภิกษุกลับ หลีกไปกับบริษัทของตน
พวกชนเหล่าใดต่างคร่ำครวญว่า ครั้งก่อน พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเที่ยวจาริกไปแล้วกลับมา บัดนี้ การไปนี้เป็นการไปเพื่อไม่กลับมาอีก จึงพากันติดตามอยู่อย่างนั้น
พระเถระก็กล่าวกะชนเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมเป็นอย่างนี้ แล้วได้ให้ชนเหล่านั้นกลับไป
ท่านพระสารีบุตรทำการแสดงธรรมสงเคราะห์ชนทั้งหลายตลอดเจ็ดวัน ในระหว่างทางพักแรมคืนเดียวในที่ทุกแห่ง ได้ถึงบ้านนาลกะเวลาเย็น และยืนที่โคนต้นนิโครธใกล้ประตูบ้าน
ลำดับนั้นหลานของพระเถระชื่อว่าอุปเรวตะ ไปนอกบ้าน ได้เห็นพระเถระแล้ว จึงเข้าไปยืนไหว้อยู่แล้ว ท่านพระเถระจึงกล่าวกับเขาว่า
ยายของเธออยู่ในเรือนหรือ
อุปเรวตะกล่าวว่า
อยู่ขอรับ ท่านผู้เจริญ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
เธอจงไปบอกว่า เรามาที่นี้ เมื่ออุบาสิกาถามว่า มาเพราะเหตุอะไร ก็จงกล่าวว่า ข่าวว่าท่านพระเถระจะอยู่ในบ้านตลอดวันหนึ่งในวันนี้ ท่านจงจัดแจงห้องสำหรับท่านพระเถระเกิด และท่านจงรู้ที่เป็นที่อยู่ของภิกษุ ๕๐๐ รูป
คือ ขอให้อุบาสิกาจัดเตรียมห้องที่ท่านเกิด และจัดที่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูปด้วย
อุปเรวตะก็ไปแจ้งให้นางสารีพราหมณี มารดาของท่านพระสารีบุตร ทราบตามนั้น
นางสารีพราหมณีคิดว่า ลูกชายเราทำไมจึงให้เตรียมที่อยู่แก่พวกภิกษุเท่านี้ ท่านบวชมาตั้งแต่หนุ่ม ตอนแก่คงอยากจะสึกละกระมัง
นี่เป็นความเห็นของผู้ที่เป็นมารดา
นางได้จัดแจงห้องที่ท่านพระสารีบุตรเกิด และได้จัดที่พักของภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้จุดเทียนและตะเกียงส่งไปถวายพระเถระ พระเถระพร้อมกับพวกภิกษุขึ้นปราสาทเมื่อท่านพระสารีบุตรเข้าไปยังห้องที่ท่านเกิดแล้ว ก็ให้พวกภิกษุไปพักผ่อนกันยังที่ ของตนๆ พอพวกภิกษุไปแล้วเท่านั้น อาพาธอย่างกล้าก็เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตรเวทนาปางตายเพราะถ่ายเป็นโลหิต ต้องเอาภาชนะหนึ่งเข้าไปรองรับ เอาภาชนะหนึ่งออกมา
นางพราหมณีคิดว่า เราไม่ชอบใจความเป็นไปแห่งบุตรของเราเลย และได้ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูว่าท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ไหน เมื่อเห็นว่า นอนบนเตียงอันเป็นที่ปรินิพพานในห้องที่ตนเกิดในบ้านนาฬกะ ก็ได้พากันไปนมัสการเป็นครั้งสุดท้าย
เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นก็ถามว่า เป็นใคร และเมื่อทราบว่าเป็น ท้าวจาตุมหาราชมาเพื่อจะอุปัฏฐาก ท่านก็กล่าวว่า ผู้อุปัฏฐากไข้ของท่านมีอยู่แล้ว ท้าวจาตุมหาราชก็กลับไป
เมื่อท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพก็มาโดยนัยนั้นนั่นแหละ ก็เมื่อท้าวสักกะไปแล้ว ท้าวมหาพรหมก็มา แล้วก็กลับไปเหมือนอย่างนั้น
เมื่อนางสารีพราหมณีเห็นพวกเทวดาพากันมา จึงคิดว่า เทวดาเหล่านี้ไหว้ บุตรของเราแล้วก็ไป เพราะเหตุอะไรหนอ จึงได้ไปถามเรื่องนั้นแก่ท่านพระสารีบุตรว่า
เจ้าใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ พ่อ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อุบาสิกา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เหมือนศิษย์วัด ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคของเราทรงปฏิสนธิ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถือพระขรรค์รักษาแล้ว
นางสารีพราหมณีถามว่า
พ่อ คล้อยหลังท้าวจาตุมหาราชไปแล้ว ใครมาล่ะ
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
ท้าวสักกะจอมเทพ
นางสารีพราหมณีถามว่า
เจ้าใหญ่กว่าจอมเทพหรือ พ่อ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อุบาสิกา ท้าวสักกะก็เช่นเดียวกับสามเณรผู้ถือสิ่งของ เวลาที่พระศาสดาของพวกเราเสด็จลงจากดาวดึงส์พิภพ ก็ได้ถือบาตรจีวรตามลงมา
นางสารีพราหมณีถามว่า
พ่อ หลังจากที่ท้าวสักกะนั้นไปแล้ว ดูเหมือนสว่างไสว ใครมา
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
อุบาสิกา นั่นคือท้าวมหาพรหม ผู้เป็นพระเจ้าและศาสดาของอุบาสิกา
เพราะว่านางสารีพราหมณีไม่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเลย ยังคงบูชาพรหม และถือว่าพรหมเป็นศาสดา เป็นพระเจ้าของนาง
นางสารีพราหมณีกล่าวว่า
พ่อยังใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมพระเจ้าของแม่หรือ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อย่างนั้นอุบาสิกา เล่ากันมาว่า วันที่พระศาสดาของพวกเราประสูตินั้น ท้าวมหาพรหม ๔ เหล่านั้น เอาข่ายทองรองรับพระมหาบุรุษ
ขณะนั้นเมื่อนางพราหมณีคิดว่า เพียงลูกของเรายังมีอานุภาพเท่านี้ พระศาสดาซึ่งเป็นพระศาสดาของลูกเราจักมีอานุภาพขนาดไหนหนอ พลันปีติ ๕ อย่างก็เกิดขึ้นแผ่ไปทั่วสรีระ
พระเถระทราบว่า ปีติโสมนัสเกิดขึ้นแล้วแก่มารดา บัดนี้เป็นเวลาสมควรแสดงธรรม ท่านจึงกล่าวว่า
มหาอุบาสิกา ท่านกำลังคิดอะไร
นางสารีพราหมณีกล่าวว่า
แม่กำลังคิดถึงเหตุนี้ว่า เพียงลูกเรายังมีคุณถึงเพียงนี้ แล้วพระศาสดาของ ลูกนั้นจะมีคุณถึงเพียงไหน
ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวว่า
อุบาสิกา ในขณะที่พระศาสดาของอาตมาประสูติ ในขณะเสด็จออกผนวช ในขณะตรัสรู้ และในขณะประกาศธรรมจักร หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ขึ้นชื่อว่า ผู้ที่เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะไม่มี
แล้วแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยขยายความละเอียดว่า แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นต้น
คือ ตามบทสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาค
เวลาจบธรรมเทศนาของท่านพระสารีบุตร นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ใน พระโสดาปัตติผล
พระเถระคิดว่า บัดนี้เราให้เท่านี้ก็ควรแก่มารดาแล้ว ค่าเลี้ยงดูสำหรับ แม่พราหมณีสารี จักควรด้วยเหตุเท่านี้
ขณะนั้นเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ให้ท่านพระจุนทะประคองให้นั่ง แล้วกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
อาวุโส เมื่อพวกท่านทั้งหลายเที่ยวไปกับผมตลอด ๔๔ ปี กรรมใดของผมที่เป็นไปทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ซึ่งพวกท่านไม่ชอบใจ ขอให้พวกท่านจงอดโทษแก่ผมด้วย
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ย่อมไม่มีแก่พวกข้าพเจ้า ผู้ไม่ละท่านเที่ยวไป ดุจเงาของท่านตลอดกาลเท่านี้ แต่ว่าขอท่านจงอดโทษให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรดึงมหาจีวรมาปิดหน้า นอนโดยข้างขวา เข้าสมาบัติ ๙ ตามลำดับสมาบัติ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมเหมือนพระศาสดา แล้วเข้าตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นางสารีอุบาสิกาคิดว่า ลูกของเราไม่กล่าวอะไรเลยหรือหนอ จึงลุกขึ้น นวดหลังเท้าก็รู้ว่าปรินิพพานแล้ว เปล่งเสียงดังหมอบที่เท้า กล่าวว่า
พ่อ พวกเราไม่รู้คุณของพ่อ ก่อนแต่นี้ ก็บัดนี้แม่ไม่ได้เพื่อนิมนต์ภิกษุหลายร้อยหลายพันหลายแสน ตั้งแต่พ่อให้นั่งฉันในนิเวศน์นี้ ไม่ได้เพื่อให้นุ่งห่มด้วยจีวร ไม่ได้เพื่อให้สร้างวิหารเป็นพัน ดังนี้ คร่ำครวญอยู่จนถึงอรุณขึ้น
เมื่ออรุณขึ้น นางก็ให้เรียกช่างทองมาให้เปิดห้องเก็บทอง แล้วให้นำทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทองทำเป็นบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้ศพท่าน พระสารีบุตร
เมื่อได้กระทำมหาบุษบกในท่ามกลางมณฑปสำหรับไว้ศพท่านพระสารีบุตร ทั้งขอบเขตบริเวณนั้นเสร็จแล้ว ก็ได้อาราธนาศพท่านพระสารีบุตรขึ้นไว้เหนือ บุษบกทองคำ และได้ทำสักการบูชาถึง ๗ วัน ๗ คืน
ในครั้งนั้น อุปัฏฐายิกา (อุบาสิกาผู้อุปัฏฐาก) ของพระเถระคนหนึ่ง ชื่อเรวดี คิดที่จะบูชาพระเถระ ก็ได้ให้ทำเสาดอกไม้ทอง ๓ ต้น และแม้ท้าวสักกเทวราชก็คิด จักบูชาพระเถระ ผู้คนไปที่นั่นมากมายจนเหยียบอุบาสิกานั้นตาย
อุบาสิกานั้นก็ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้ระลึกถึงอดีตกรรมว่า ได้กระทำกุศลใดจึงทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็รู้ว่า เราชื่อนางเรวดี บูชา พระเถระด้วยเสาประดับด้วยดอกไม้ทองสามต้น ถูกพวกมนุษย์เหยียบแล้วตายไป เกิดในดาวดึงส์พิภพ เชิญท่านทั้งหลายดูสิริสมบัติของเรา บัดนี้ ถึงพวกท่านก็จง ให้ทานทำบุญเถิด
ถ. ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาค แต่ปีเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วย
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร