นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
เรื่อง นางรัชชุมาลา เริ่มนาที 06:06
ขอกล่าวถึงเรื่องของกรรมที่ทำให้วนเวียนไปจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านผู้หนึ่ง คือ นักฟ้อนท่านหนึ่ง ข้อความใน อรรถกถาตาลปุฏเถรคาถา ที่ ๑ มีว่า
นักฟ้อนท่านหนึ่งมีนามว่า นฏคามณิ มีมาตุคาม ๕๐๐ เป็นบริวาร แสดงมหรสพในบ้าน นิคม และราชธานี ได้การบูชาและสักการะเป็นอันมากเที่ยวไป มายังกรุงราชคฤห์แสดงแก่ชาวพระนคร เพราะท่านได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ จึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา ฟังพระธรรม และอุปสมบท ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหันต์
ทุกท่านก็ปรารถนาที่จะเป็นอย่างนี้ แต่กว่าจะได้เป็นอย่างนี้ จะต้องฟัง พระธรรมที่ทรงพร่ำสอนเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องตายแล้วเกิด เพื่อ จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน
ท่านได้กล่าวคาถามีข้อความตอนหนึ่งว่า
ดูก่อน จิต ท่านทำเราให้เป็นพราหมณ์ก็มี เป็นพระราชามหากษัตริย์ก็มี เพราะอำนาจแห่งท่าน บางคราวเราเป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นเทพเจ้าก็มี เพราะอำนาจแห่งท่าน เพราะเหตุแห่งท่าน มีท่านเป็นมูลเหตุ เราเป็นอสูร บางคราวเป็นสัตว์นรก บางคราวเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางคราวเป็นเปรต ท่านได้ประทุษร้ายเรา บ่อยๆ มิใช่หรือ บัดนี้เราจักไม่ให้ท่านทำเหมือนกาลก่อนอีกละ แม้เพียงครู่เดียว ท่านได้ล่อลวงเราเหมือนคนบ้า ได้ทำความผิดให้แก่เรามาแล้วมิใช่หรือ
ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า
จิตนี้แต่ก่อนเคยเที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆ ตามความประสงค์ ตามความใคร่ ตามความสบาย วันนี้เราจะข่มจิตนั้นไว้โดยอุบายอันชอบ ดังนายหัตถาจารย์ข่มช้างตกมันไว้ด้วยขอฉะนั้น
ข้อความตอนท้ายอีกตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า
ดูกร จิต ท่านได้นำเราไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด ๔ ประการ เหมือนบุคคลจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น ท่านควรคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวและเครื่องผูกเสียได้ เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณาเป็นจอมปราชญ์ มิใช่หรือ
นึกถึงสภาพของคนที่จูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไป ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากกิเลส โลภะ ความปรารถนา ความต้องการในวันหนึ่งๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่เห็นกิเลสตามความเป็นจริงและเห็นโทษ จะรู้ว่า กิเลสล่อลวงเราเหมือนคนบ้า และเหมือนบุคคลเดินจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ด้วยความปรารถนาต่างๆ
เพราะฉะนั้น ทุกคนยังมีกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และกรรมที่แต่ละคน ได้กระทำแล้วทั้งในชาตินี้และในชาติก่อนๆ ก็เป็นเสมือนไร่นา จิตเป็นเสมือนพืช ตัณหาซึ่งมีอยู่ในจิตที่ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉทเป็นยางเหนียวในพืช ซึ่งจะทำให้พืชสามารถส่งผลต่อๆ ไปอีก ไม่ใช่เป็นพืชที่ตาย หรือไม่สามารถที่จะงอกงามได้
เพราะฉะนั้น กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็จริง แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมดก็ยังเป็นเสมือนไร่นา แล้วแต่ว่าใครจะมีที่นา มีไร่มากมาย หรือเล็กน้อย และ ไร่นานั้นจะเป็นประเภทดี หรือประเภทปานกลาง หรือประเภทเลว
ถ้าพิจารณาจิตจริงๆ ก็ทราบได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นวิบากที่ต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย และอีกส่วนหนึ่งเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดขึ้น และถ้าอกุศลนั้นมีกำลังก็ทำให้กระทำอกุศลกรรมต่างๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง และสำหรับกุศลก็เป็นเหตุเช่นเดียวกันที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น
วันหนึ่งๆ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นวิบาก ระลึกขึ้นได้ว่าเป็นวิบากในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน และต่อจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศล จะทำให้รู้ว่า เป็นแต่เพียง สภาพธรรมตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย
เรื่อง นางรัชชุมาลา เริ่มนาที 06:06
สำหรับเรื่องของกรรม จะขอกล่าวถึงอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถรู้ได้เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วว่า จะมีการเห็นอะไร จะมีการรับผลของกรรมในลักษณะใด และจะมีกุศลหรืออกุศลจิตเกิดขั้นใด ไม่มีทางที่แต่ละคนจะรู้ได้เลยจนกว่าจะถึงเวลานั้น
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย รัชชุมาลาวิมาน มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านคยาได้ให้ธิดาของตนแก่บุตรพราหมณ์คนหนึ่งใน หมู่บ้านคยานั้น เมื่อนางเป็นใหญ่ในเรือนแล้ว ไม่ชอบหน้าลูกสาวทาสีในเรือนนั้นเลย ทั้งด่าว่า ทุบตีด้วยศอก เข่า หมัด เหมือนผูกอาฆาตกันมาในชาติก่อนๆ หลายชาติทีเดียว
ใครกำลังทุกข์ยากอย่างนี้ต้องทราบว่า ถ้าไม่มีเหตุ คือ กรรมของตนในอดีต ก็จะไม่ได้รับกระทบสัมผัสอย่างนี้แน่
ซึ่งในอดีตสมัย คือ สมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าพระกัสสปะนั้น ทาสีนั้นได้เป็นนายของนาง ส่วนนางก็เป็นทาสีของหญิงนั้น ในสมัยนั้น นางผู้เป็นทาสีก็ถูกนายดุด่าว่า ทำร้ายด้วยก้อนดิน ศอก เข่า หมัด จนเหนื่อยหน่ายต่อการที่ถูกกระทำร้ายบ่อยๆ จึงได้กระทำบุญให้ทานเป็นต้นตามกำลังของตน และตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตขอเราพึงเป็นนาย มีความเป็นใหญ่เหนือหญิงนั้น และความปรารถนาของหญิงทาสีนั้นก็สัมฤทธิ์ผลในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ คือ หญิงที่เคยเป็นทาสีในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะก็เป็นนาย และนายของหญิงนั้นในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็เกิดเป็นทาสีในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
นางพราหมณีผู้เป็นนายก็ได้กระทำแก่ทาสีซึ่งเคยเป็นนาย โดยจิกผม ใช้ทั้งมือ ทั้งเท้าตบถีบอย่างเต็มที่ เมื่อทาสีนั้นไปศาลาอาบน้ำ ก็โกนผมของตนเองจนเกลี้ยง เพื่อไม่ให้นายจิกผมอีก แต่ก็ไม่พ้นจากการประทุษร้ายของนายไปได้ หญิงผู้เป็นนายได้เอาเชือกพันศีรษะ และจับนางให้ก้มลงเฆี่ยนตรงนั้นเอง และไม่ให้นางเอาเชือกนั้นออก นางทาสีนั้นจึงได้ชื่อว่ารัชชุมาลาตั้งแต่นั้นมา
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกตอนใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง โสตาปัตติมรรคของนางรัชชุมาลา จึงเสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง นางรัชชุมาลาถูกนายเบียดเบียนจนคิดที่จะฆ่าตัวตาย จึงคิดจะไปผูกคอตาย โดยถือเอาหม้อน้ำออกจากบ้าน ทำทีเดินไปที่ท่าน้ำ และผูกเชือกเข้าที่กิ่งไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลต้นที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง
นางรัชชุมาลาเหลียวดูรอบๆ เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกนาง เมื่อนางเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระองค์แล้ว พระองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถาและอริยสัจจ์ ๔ นางก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล มีขันติ เมตตา เอาหม้อน้ำตักน้ำกลับไปเรือน ไม่หวั่นเกรงนางผู้เป็นนายว่าจะเบียดเบียนหรือจะฆ่าก็ตาม
เมื่อพวกพราหมณ์ในบ้านเห็นนางกลับมาช้า และเห็นสีหน้าของนางผ่องใส ไม่เหมือนเดิม ก็ได้ไต่ถามเรื่องราว ซึ่งนางก็ได้เล่าให้ฟัง พราหมณ์ก็นิมนต์ พระผู้มีพระภาคไปที่เรือนเพื่อถวายภัตตาหารและได้ฟังธรรม แม้พวกชาวบ้าน คฤหบดีทั้งหลาย ก็ได้ไปเฝ้าและฟังพระธรรมด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสกรรมที่นางรัชชุมาลาได้กระทำในชาติก่อน และ นางพราหมณีผู้เป็นนายได้กระทำในชาติก่อนด้วย และได้ทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่บริษัทที่มาฟังธรรมนั้น นางพราหมณีและมหาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นั้น ฟังพระธรรมแล้ว ต่างดำรงอยู่ในสรณะและศีล
พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะ และเสด็จไปยังกรุงสาวัตถีตามเดิม
พราหมณ์ผู้บิดาของนางพราหมณี ได้ตั้งนางรัชชุมาลาไว้ในตำแหน่งลูกสาว และลูกสะใภ้คือนางพราหมณีผู้เป็นนายนั้น ก็มีความรักใคร่เอ็นดูในนางรัชชุมาลาตั้งแต่นั้นไปตลอดชีวิต
ต่อมานางรัชชุมาลานั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่าน พระมหาโมคคัลลานะได้ไปเทวจาริกยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางรัชชุมาลาก็ได้เล่าถึงกรรมที่นางได้กระทำแล้ว และได้กล่าวถึงความเลื่อมใสของนางที่มีต่อพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถามีว่า
พระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นผู้เกื้อกูลแก่โลกทั้งมวล เพราะพระองค์มีประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียวแก่โลกแม้ทั้งมวลที่แตกต่างกันโดยประเภทมีคนเลวเป็นต้น เพราะ ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ถึงพระมหากรุณาคุณของพระองค์ พระมหากรุณาคุณ ของพระผู้มีพระภาคก็เป็นเองอย่างนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า มีพระอินทรีย์อันทรงคุ้มครองแล้ว เพราะ พระอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ พระองค์ทรงคุ้มครองได้แล้วด้วยมรรคอันยอดเยี่ยม คือ ด้วยอรหัตตมรรคที่ทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงพระนามว่า ยินดีในฌาน เพราะทรงยินดียิ่งในผลฌานอันเลิศ
ไม่มีใครมีคุณธรรมเลิศเทียบเท่ากับพระผู้มีพระภาค ทรงประกอบทั้งวิชชา และจรณะ แม้ในเรื่องของฌานสมาบัติก็ทรงเป็นผู้มีความชำนาญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พระองค์ทรงพระนามว่า ยินดีในฌาน เพราะทรงยินดียิ่งในผลฌานอันเลิศ คือ โลกุตตรฌาน ได้แก่ พลสมาบัติ ไม่ว่าในขณะใด แม้ในขณะที่ทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโดยสลับกับการเข้าพลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ทรงพระนามว่า มีพระทัยไม่วอกแวกไปภายนอก เพราะทรงมีพระทัยหลีกออกจากอารมณ์ที่มีรูปเป็นต้นอันเป็นภายนอก แล้วหยั่งลงในพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ภายใน
ตามปกติทุกคนก็ต้องมีอารมณ์ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และทุกคนก็ติด ยังคงแสวงหาพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ประจักษ์ในพระนิพพาน แต่สำหรับผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจ์ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมทั้งวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยฌานสมาบัติ เป็นผู้ที่ หลีกออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นอันเป็นภายนอก แล้วหยั่งลงในพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ภายใน
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่รู้แจ้งแล้ว และถึงพร้อมด้วยฌาน สามารถมีนิพพาน เป็นอารมณ์ได้อีกในขณะที่ผลจิตเกิด
ทรงพระนามว่า เป็นที่หวาดหวั่นของมิจฉาทิฏฐิกบุคคลผู้น่ากลัว เพราะ อันมิจฉาทิฏฐิกบุคคลผู้มีความหลงผิดด้วยกลัวจะถูกปลดเปลื้องจากการถือผิด และเพราะให้เกิดความกลัวแก่เขาเหล่านั้น
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คนที่ยึดมั่นมีความหลงผิด มีความเข้าใจผิด ไม่กล้าที่จะฟังสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกลัวว่าจะถูกปลดเปลื้องจากความเห็นผิดหรือความยึดถือผิด
เป็นไปได้ไหม คนที่ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในความเห็นผิด เพราะว่าธรรมดาทุกคนก็มีความเห็นผิดบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่บางคนก็มีมากจนกระทั่งไม่กล้า ที่จะไปสู่ความเห็นถูก ไม่กล้าที่จะไปหาผู้ที่มีความเห็นถูก ไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ผู้ที่ มีความเห็นถูก แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่สะสมมาต่างๆ กัน ไม่กล้าแม้แต่จะ ฟังคำอธิบายที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกในพระธรรมเกิดขึ้น
ทรงพระนามว่า หาผู้เข้าใกล้ได้ยาก เพราะอันบุคคลผู้ปโยควิบัติและ อาสยวิบัติเข้าถึงไม่ได้ และอันใครๆ จะพึงเข้าใกล้ไม่ได้ คือ แม้เพื่ออันเห็น ความว่า ดอกที่มีในต้นมะเดื่อเป็นของเห็นได้ยาก บางคราวก็มี บางคราวก็ไม่มี ฉันใด การเห็นบุคคลผู้สูงสุดเช่นนี้ก็ฉันนั้น
ใครจะได้เห็นพระผู้มีพระภาคบ้าง ในสมัยที่ยังไม่ปรินิพพาน อาจารย์ที่เป็น ผู้ยึดมั่นในความเห็นผิด เช่น นิครนถ์นาฏบุตร ไม่เคยไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย แม้ว่าจะเคยได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์ของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ไม่เคยแม้เพียงที่จะเข้าใกล้ ที่จะได้เห็นพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ทรงพระนามว่า หาผู้เข้าใกล้ได้ยาก เพราะอันบุคคลผู้ปโยควิบัติและอาสยวิบัติเข้าถึงไม่ได้
อาสยวิบัติ คือ อุปนิสัย ปโยคะ คือ ความเพียร หรือการกระทำ
เพราะฉะนั้น ใครมีอุปนิสัยอย่างไร ก็ทำความเพียรอย่างนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเห็นผิด ก็เพียรผิดๆ เพียรที่จะผิดเรื่อยๆ เพียรเท่าไรก็ยิ่งผิดมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปโยควิบัติและอาสยวิบัติ
อันใครๆ จะพึงเข้าใกล้ไม่ได้ คือ แม้เพื่ออันเห็น
เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ใครได้เห็นพระองค์ ก็คือผู้ได้เห็นพระธรรม หรือใคร่ที่จะได้ฟังพระธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความใคร่ที่จะเห็นถูกเป็นผู้ที่ ไม่กลัวต่อการเข้าใกล้พระธรรมที่จะฟังให้เข้าใจ
แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เรื่องที่ได้ยินได้ฟังจะซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร แต่ประโยชน์คือ ให้ถึงการที่จะรู้ได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นจิตแต่ละขณะที่ทำกิจแต่ละอย่าง
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร