อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาสีวิสวรรคที่ ๔ อาสีวิสสูตร ข้อ 309 มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า มีอสรพิษ ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า ถ้ามีบุรุษรักชีวิต ผู้ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน อสรพิษ ๔ จำพวกนี้ มีฤทธิ์เดชแรงกล้า ท่านพึงปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ตามเวลา เวลาใดอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนี้ ตัวใดตัวหนึ่งโกรธขึ้น เวลานั้นท่านก็จะพึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบปางตาย กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ขณะนี้ที่พึ่งอันแท้จริงไม่ใช่กุศลขั้นทาน ไม่ใช่กุศลขั้นศีล ไม่ใช่กุศลขั้นความสงบ แต่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น ที่เป็น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย
อสรพิษ ๔ จำพวก ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ท่านยึดถือว่า เป็นร่างกายของท่านตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า วันนี้อสรพิษ ๔ จำพวกนี่ยังไม่โกรธ ก็ยังไม่ขบกัดให้เดือดร้อน เป็นทุกข์ ยังอยู่ดี เพราะท่านรักอสรพิษทั้ง ๔ ตัวนี้ ปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ คือ นอนพักผ่อนตามเวลา แต่ให้เห็นภัย ให้เห็นโทษของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เวลาที่เกิดเจ็บป่วยขึ้น เกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช่เกิดจากร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งถ้าไม่เจ็บปวด ยังไม่ป่วยไข้ ก็ยังไม่เห็นโทษ จนกว่าจะมีผู้เตือนให้เห็นว่า ร่างกายซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่ยึดถืออย่างมาก ที่ท่าน ปลุกให้ตื่นตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ คือนอนพักผ่อน ตามเวลา ด้วยความ หวงแหน ด้วยความพอใจ ยึดมั่นในร่างกายนี้ แท้จริงก็คือสิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะไม่มีใครที่ไม่ถูกอสรพิษ ๔ จำพวกนี้ขบกัด คือ เวลาที่ป่วยไข้ได้เจ็บ ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นั่นเอง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีเพชฌฆาตผู้เป็นฆ่าศึกอยู่ ๕ คน ได้ติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใดก็จะฆ่าท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
ทุกขณะผ่านไปโดยที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเพื่อให้เห็นโทษของขันธ์ ๕ ว่า เปรียบเสมือนเพชฌฆาต ๕ คนซึ่งติดตามมาข้างหลัง กำลังติดตามอยู่ทุกขณะ ทันเมื่อไรก็จะฆ่าให้ตายเมื่อนั้น หมดโอกาสที่จะได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไปเกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึก ๕ คน กำลังติดตามอยู่ทุกขณะ เวลานี้ยังไม่ทัน ใช่ไหม ยังมีโอกาสอยู่ เพราะฉะนั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏลักษณะหนึ่งลักษณะใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปท่านจะเห็นประโยชน์อย่างมากทีเดียวว่า ปัญญาที่คมกล้าจะมีได้ก็เพราะอาศัยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เรื่อยๆ เนืองๆ บ่อยๆ เพราะถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่มีวันที่จะเจริญขึ้น จนกระทั่งคมกล้าได้ แม้ว่าสติเกิดไม่มาก แต่ว่าสติก็เกิดจนกว่าปัญญาจะคมกล้า
มีสติเกิดบ้างไหม เพชฌฆาต ๕ คนกำลังติดตามมาข้างหลัง ถ้าคิดว่ายังอยู่ไกล ก็เป็นผู้ที่ประมาท
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ครั้งนั้นแล บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก และกลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ คนนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใดก็จะตัดศีรษะของท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
ทรงเตือนอยู่ตลอดเวลา กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย
สำหรับเพชฌฆาตคนที่ ๖ ได้แก่ นันทิราคะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นศัตรูที่ปรากฏเหมือนมิตร เพราะให้แต่ความยินดีพอใจเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ไม่ให้หน่าย ไม่ให้ทิ้ง ไม่ให้เห็นโทษ แต่ให้เพลิดเพลินไว้ ให้ยินดีไว้ ให้พอใจไว้ แม้ว่าสภาพธรรมนั้นจะไม่เที่ยงเลย การเห็นไม่เที่ยง การได้ยินไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง แม้ว่ารู้ว่าไม่เที่ยง แต่นันทิราคะก็ยังให้หลงเพลิดเพลินยินดี นี่เป็นเพชฌฆาตคนที่ ๖ เงื้อดาบติดตามมาข้างหลังท่าน เพราะคอยที่จะให้เกิดทุกข์ขึ้น แต่ในขณะที่กำลังพอใจนั้นจะไม่เห็นว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า กลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่ จึงหนีไปในที่อื่น เขาพบบ้านร้างเข้า จึงเข้าไปสู่เรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
เมื่อกลัวอสรพิษ ๔ จำพวก กลัวข้าศึกทั้ง ๕ คน และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ก็หนีไปสู่เรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ซึ่งชนทั้งหลาย ก็ได้มากล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ สำหรับเรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เวลาที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ก็ดูคล้ายๆ กับเป็นเรือนร้างว่างเปล่า ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่ว่าบุรุษนั้น เข้าไปในเรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง มีอารมณ์ที่ปรากฏอยู่เสมอ แต่อารมณ์นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงถาวร ที่เป็นประโยชน์สุขอันแท้จริง และก็ยังมีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้านเข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ
สำหรับคำอุปมาที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า โจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอนั้น ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ซึ่งไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ใครติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ ก็เท่ากับติดทุกข์ เพราะไม่ว่าจะมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์สักเท่าไรก็ตาม ผลที่แท้จริงซึ่งจะได้รับการติดการพอใจนั้น คือ ความทุกข์จากการพลัดพรากจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่จะไม่พลัดพรากไปนั้น ไม่มี
มีใครบ้างที่ไม่พลัดพรากจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วพลัดพรากอยู่ทุกขณะ แต่ถ้ายังไม่ปรากฏการแตกทำลาย การสูญเสีย การพลัดพราก ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีการจาก ไม่มีการพลัดพรากเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้วพลัดพรากอยู่ทุกขณะ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ กลัวเพชฌฆาตทั้ง ๕ กลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น เขาไปพบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้น ไม่มี ฯ
ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพหรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้นพยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี
ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ
ท่านผู้ฟังเห็นห้วงน้ำใหญ่หรือยัง เวลานี้อยู่ที่ไหน อยู่ในห้วงน้ำหรือเปล่า
อยู่ในห้วงน้ำ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในโผฏฐัพพะ ถ้าตราบใดยังไม่คิดที่จะข้ามฝั่ง ก็ยังคงจมอยู่ หรือติดอยู่ในฝั่งข้างที่เป็นที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อไม่เห็นว่าน่ารังเกียจ อยากจะพ้นไหม ก็ยังไม่อยากที่จะพ้น จนกว่าจะเห็นว่า ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือ แพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี
จะใช้อย่างอื่นได้ไหม ใช้วิธีอื่น หนทางอื่น พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า
ขอให้คิดถึงความอดทนที่จะข้ามจากฝั่งข้างนี้ไปฝั่งข้างโน้น จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้ โดยความสวัสดี ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความโดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง ๔ จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่าเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่า บ้านร้างนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาดมีปัญญาใคร่ครวญอายตนะภายใน ๖ นั้น ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะปรากฏว่า เป็นของว่างเปล่า สูญทั้งนั้น ฯ
คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
จริงไหม ไม่เห็นว่าเดือดร้อนใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ขณะที่กำลังพอใจในรูป เดือดร้อนสักแค่ไหนด้วยความพอใจนั้น โดยมากมักจะเห็นความเดือดร้อนเพราะเห็นรูปที่ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ธรรมดาในขณะนี้ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ขณะอื่น อย่ารอ และอย่าเลือก ทางตาที่กำลังเห็น ตรัสไว้ ทรงแสดงไว้ ที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง
หูย่อมเดือดร้อนเพราะเสียงเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
เคยสบายเพลิดเพลินเพราะเสียงที่พอใจมานานแล้ว ต่อไปนี้ให้ทราบว่า ในขณะที่กำลังสบายเพลิดเพลินนั้น เดือดร้อนด้วยความพอใจนั้นเอง ไม่ใช่เดือดร้อนแต่เฉพาะได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ แม้ขณะที่กำลังได้ยินเสียงที่พอใจก็ต้องทราบว่า เดือดร้อนแล้วเพราะความพอใจนั้น
จมูกย่อมเดือดร้อนเพราะกลิ่นเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
แทนที่จะรู้ว่าเดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ กลับไปแสวงหากลิ่นที่พอใจ ใช่ไหม มีครบทุกอย่างแล้วไม่พอ ยังจะต้องมีกลิ่นหอมๆ ด้วย นั่นคือการไม่รู้ว่า เดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ
ลิ้นย่อมเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
พระผู้มีพระภาคตรัส ทรงแสดงไว้เพื่อที่จะให้ระลึกถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
กายย่อมเดือดร้อนเพราะโผฏฐัพพะเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด จะเป็นอย่างนี้ไหม เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมด้วยปัญญาที่กำลังศึกษา น้อมไปที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงจะรู้ว่าสงบ เพราะไม่ได้เดือดร้อนด้วยความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังเห็นรูป หรือว่าได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบโผฏฐัพพะ ที่จะเห็นว่าเดือดร้อนได้ ก็ต่อเมื่อขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
กาโมฆะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภโวฆะ คือ ความยินดีพอใจในภพ ในการเกิด ทิฏโฐฆะ คือ ความยินดีพอใจในความเห็นผิด ซึ่งรวมทั้งในการปฏิบัติผิดด้วย ถ้าไม่มีความยินดีพอใจ จะเห็นผิดว่าเป็นถูกไม่ได้ หรือว่าจะยังคงปฏิบัติผิดต่อไปไม่ได้ อวิชโชฆะ คือ ห้วงน้ำของอวิชชา การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ในโอฆะทั้ง ๔ ท่านผู้ฟังพอจะพิจารณาได้ใช่ไหมว่า ท่านอยู่ในห้วงน้ำไหน กามโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ หรือว่าแวดล้อมด้วยโอฆะทั้ง ๔ ยากแก่การที่จะข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกษมที่ปลอดภัย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจเต็มไปด้วยภัยอันตรายนั้น เป็นชื่อแห่งร่างกายของตน คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัยนั้น เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า แพนั้น เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่า พยายามข้ามไปด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งวิริยารัมภะ คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไป เป็นชื่อแห่งพระอรหันต์ ฯ
จบ สูตรที่ ๑
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร