อิณสูตร


    ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อิณสูตร พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบอกุศลกรรม กับการเป็นหนี้ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เป็นหนี้ไม่ใช่คนอิสระ มีหนี้ที่จะต้องชดใช้ ไม่พ้นจากหนี้ของกรรม เมื่อได้กระทำทุจริตกรรมลงไปแล้ว ท่านก็เป็นหนี้ของกรรมนั้น ซึ่งจะต้องรับใช้หนี้นั้นตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    ใครว่าไม่จริงบ้าง ปรารถนาอะไรก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของใดๆ มีชีวิตอยู่ก็ด้วยความลำบาก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้ กู้ยืมแล้ว ย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวง ไม่ให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ความเป็นคนจน ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การกู้ยืม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การรับใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การทวง ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม ในโลก แม้การติดตาม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การจองจำ ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ด้วยประการฉะนี้

    ถ้าเป็นหนี้ทรัพย์สินเงินทอง ยังมีทางที่จะชดใช้ให้หมดสิ้นไปได้ ไม่เหมือนกับการเป็นหนี้กรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นต้องแล้วแต่กำลังของกรรมว่าจะให้ผลมากน้อยเท่าไร จะสิ้นสุดลงเมื่อไร และจะให้ผลสืบต่อมากน้อยในภูมิไหน ถ้าเป็นกรรมที่หนักแม้ว่าจะเกิดในนรกแล้ว ได้รับผลของกรรมแล้ว แต่ยังไม่หมดหนี้ของกรรมนั้น แม้ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ กรรมนั้นก็ยังติดตามมาให้ผลได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการเป็นหนี้ทรัพย์สินเงินทอง ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีความพากเพียรหาทรัพย์มาใช้หนี้นั้น ยังดีกว่าการที่ท่านเป็นหนี้อกุศลกรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ย่อมไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริใน กุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่าเป็นคนจนเข็ญใจ ยากไร้ ในวินัยของพระอริยะเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดกายทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา

    นี่เป็นความทุกข์ของผู้ที่กระทำทุจริตกรรม ถ้ากระทำทุจริตไปแล้ว อยากให้คนอื่นรู้ไหม ปกปิดกันนักหนาไม่ให้คนอื่นรู้ ตัวเองรู้คนเดียวดีกว่าที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนได้ทำทุจริตกรรม เป็นชีวิตจริงๆ ของผู้ที่ยังมีกิเลส และในขณะที่พลาดพลั้งเป็นทุจริตกรรมนั้น ก็เพราะหลงลืมสติ ในขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีศรัทธา ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ทุจริตกรรมนั้นก็สำเร็จลงไปได้ และในขณะที่ปกปิดด้วยกาย ด้วยวาจาที่จะไม่ให้ผู้อื่นรู้ ไม่ให้ผู้อื่นเห็นนั้น ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริตนั้น ฯลฯ

    เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดมโนทุจริตนั้น ฯลฯ

    ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา เรากล่าวเหตุการปกปิดทุจริตของเขานั้นว่า เป็นการรับใช้ดอกเบี้ย

    เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้กล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้ เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่า เป็นการทวงดอกเบี้ย

    นี่ยังไม่ได้ใช้หนี้ ยังไม่ได้ใช้จริงๆ ยังไม่ได้รับผลของกรรมนั้นจริงๆ เพียงแต่ว่าถูกทวงดอกเบี้ย โดยการที่ถูกบุคคลอื่นว่ากล่าว เวลาที่ประพฤติทุจริตกรรมก็ย่อมจะได้รับคำติเตียนจากบุคคลอื่น

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อกุศลวิตกที่เป็นบาป ประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมครอบงำเขา ผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ในเรือนว่าง เรากล่าวการถูกอกุศลวิตกครอบงำนี้ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา

    อยู่คนเดียวยังคิดเป็นห่วงได้เมื่อได้กระทำทุจริตกรรมลงไปแล้ว ขณะที่วิตกกังวลต่างๆ ก็เหมือนกับเจ้าหนี้ติดตามไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    คนจนเข็ญใจ ยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำในเรือนจำ คือ นรก หรือในเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉานเลย

    พระผู้มีพระภาค ตรัสต่อไปว่า

    ความเป็นคนจน และการกู้ยืม เรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก คนจนกู้ยืมเลี้ยงชีวิต ย่อมเดีอดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา เพราะไม่ใช้หนี้นั้น เขาย่อมเข้าถึงแม้การจองจำ ก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ปรารถนาการได้กาม

    ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรมในที่นั้นๆ อยู่บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคตย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ ย่อมเดือดร้อน

    ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้น เพราะความเดือดร้อนของเขา ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง หรือถูกจองจำในนรก ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์ ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้

    บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ

    การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแล เราเรียกว่า มีชีวิตเป็นสุขในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส ยังอุเบกขาให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิจ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติ จิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบเหตุในนิพพาน เป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง หากว่าเขา ผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแล เป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุข ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศก หมดมัวหมอง เป็นญาณเกษม สูงสุดกว่าความไม่มีหนี้

    จะเห็นได้ว่า พระธรรมเทศนาทั้งหมด ไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าตอนสุดท้ายของพระธรรม พระผู้มีพระภาคได้ให้พุทธบริษัทอบรมเจริญกุศลธรรม จนกระทั่งบรรลุญาณที่จะทำให้พ้นจากอกุศลธรรมได้ คือ พ้นจากการเป็นหนี้

    ชาตินี้มีใครเป็นหนี้บ้าง จะพ้นไปจากหนี้ของกรรมได้ไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นอะไรในวันหนึ่งๆ ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้รสอะไร ได้โผฏฐัพพะอะไร โภคสมบัติเป็นอย่างไร เสื่อมไปบ้างไหม หรือว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยมีไหม สิ่งต่างๆ นานาที่ไม่น่าพอใจมีไหม ในวันหนึ่งๆ

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม ท่านก็ทราบว่า ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ที่ไม่น่าปรารถนา ที่ไม่น่าพอใจ เป็นการรับใช้หนี้ของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ขณะนี้กิเลสเบาบางไปบ้างไหม ละคลายทุจริตกรรมไปบ้างไหม หรือว่ายังคงสร้างหนี้อยู่เรื่อยๆ ที่จะต้องชดใช้ต่อไปในสังสารวัฏฏ์

    สำหรับเรื่องการเกิด ทุกท่านไม่สามารถจะทราบได้จริงๆ ว่า ภพภูมิต่อไปของท่านนั้นจะเป็นที่ใด

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ