รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร ข้อ ๔๒๓ ซึ่งเป็นชีวิตของท่านพระรัฐปาละผู้เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา
ข้อความมีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวกุรุ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวกุรุอันชื่อว่า ถุลลโกฏฐิตะ (คือ เป็นที่ที่มีข้าวแน่นยุ้ง เป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร)
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกพราหมณ์และพวกคฤหบดี ชาวถุลลโกฏฐิตนิคม ให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้น รัฐปาลกุลบุตร ผู้เป็นบุตรของสกุลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคม ได้ ขออนุญาตมารดาบิดาบวชด้วยความยากยิ่ง เพราะว่าท่านเป็นบุตรเพียงคนเดียว มีทรัพย์สมบัติมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่เมื่อได้ฟังธรรมท่านก็เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์สำหรับท่านเป็นการยาก เพราะท่านสะสมอุปนิสัยที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิต ความยากของการที่ท่านจะขออนุญาตมารดาบิดาบวช ทำให้ท่านต้องอดอาหารตลอด ๗ วัน มิฉะนั้นมารดาบิดาก็ไม่ยอมให้บวช แต่เมื่อเห็นศรัทธาของท่านที่มั่นคง ในที่สุดมารดาบิดาก็ยอมให้บวช โดยกล่าวว่า เมื่อบวชแล้วให้มาเยี่ยมบ้าง
เมื่อท่านรัฐปาละอุปสมบทได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคได้ประทับอยู่ใน ถุลลโกฏฐิตนิคมตามควรแล้ว ได้เสด็จจาริกไปถึงพระนครสาวัตถี ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และไม่นานท่านพระรัฐปาละ ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
คำว่า ไม่นาน ไม่นาน ในพระไตรปิฎก ควรที่จะได้ทราบว่า ในแต่ละสูตรนั้น ข้อความในอรรถกถาแสดงว่าอย่างไร สำหรับท่านพระรัฐปาละที่กล่าวว่าไม่นาน ท่านพระรัฐปาละก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คือ ๑๒ ปี
เมื่อท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้ทูลขออนุญาตพระผู้มีพระภาคไปเยี่ยมมารดาบิดาของท่านที่ถุลลโกฏฐิตนิคม เมื่อท่านไปถึงบ้านมารดาบิดาของท่าน ขณะนั้นบิดาของท่านกำลังให้ช่างตัดผมสางผมให้ที่ซุ้มประตูบ้าน ซึ่งซุ้มประตูบ้านของท่านมี ๗ ซุ้ม เมื่อบิดาของท่านเห็นท่านแต่ไกล ไม่รู้ว่าเป็นบุตร ก็ได้กล่าวว่า
พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียวผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละไม่ได้การให้ ไม่ได้คำตอบที่บ้านบิดาของท่าน (คือ ไม่ได้การเชื้อเชิญหรือการนิมนต์) ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น
เพราะบิดาของท่านกล่าวว่า พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียว ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ขณะนั้น ทาสีของญาติของท่านพระรัฐปาละกำลังจะเอาขนมกุมมาสค้างคืน ไปทิ้ง ท่านรัฐปาละก็ได้กล่าวว่า ถ้าจะทิ้ง ก็ขอให้ใส่ลงในบาตรของท่านเถอะ เมื่อกล่าวอย่างนั้น ทาสีก็จำเสียงได้ และจำสัณฐานมือเท้าของท่านได้ ก็ได้รีบ ไปเรียนให้มารดาของท่านทราบว่า ท่านรัฐปาละมาแล้ว
เมื่อมารดาบิดาของท่านได้ไปหาท่านรัฐปาละซึ่งอาศัยฝาเรือนแห่งหนึ่ง ฉันขนมกุมมาสค้างคืนนั้น มารดาบิดาก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปฉันที่บ้าน แต่ท่านก็ กล่าวว่าท่านฉันเสร็จแล้ว มารดาบิดาจึงนิมนต์ท่านให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น
แม้ว่าอาหารที่บ้านจะเป็นอาหารที่ประณีต และอาหารที่กำลังฉันเป็น ขนมกุมมาสค้างคืน แต่สำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้วไม่มีความต่างกัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องไปฉันต่อที่อื่นอีก
ในวันรุ่งขึ้นมารดาบิดาของท่านก็ให้ขนเงินทอง ทรัพย์สมบัติออกมากองเป็น อันมาก
ที่ว่าเป็นอันมาก หมายความว่ากองจนคนที่ยืนข้างนี้ไม่เห็นคนที่ยืนอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้ท่านลาสิกขาบทออกมาใช้ทรัพย์สมบัตินั้นและทำบุญ เพราะว่าเมื่อมีเงินก็ยังสามารถที่จะทำกุศลอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องบวช แต่ท่านพระรัฐปาละก็ได้กล่าวตอบว่า
ดูกร คฤหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้เขาขนกองเงินกองทองนี้บรรทุกเกวียน ให้เข็นไปจมเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะความโศก ความร่ำไร ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส มีทรัพย์นั้น เป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน
ไม่ค่อยมีใครพิจารณาว่า ความทุกข์ของท่านเกิดจากทรัพย์ แต่อยากได้ทรัพย์ เพราะเห็นว่า ถ้าได้ทรัพย์แล้วจะไม่มีความทุกข์ แต่ขอให้คิดจริงๆ ว่า ความทุกข์ ของท่านทั้งหมดมาจากทรัพย์ จริงไหม มาจากเยื่อใย ความติดข้อง ความต้องการ ความปรารถนาทรัพย์ ขณะที่กำลังติดข้องต้องการ ปรารถนา แต่ไม่ได้ เป็นทุกข์ไหม หรือที่จะต้องหมดสิ้นไปก็เป็นทุกข์ ใช่ไหม
ขอให้ดูชีวิตของบางคนที่อาจจะไร้ทรัพย์ แต่ยังสามารถที่จะเป็นสุข มีหน้าตาเบิกบาน ยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้ ในขณะที่คนมีทรัพย์มากๆ บางทีหน้าตาก็ ไม่เป็นสุขเลย นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตใจว่า ท่านมีความผูกพัน เกี่ยวข้อง ปรารถนาทุกข์ที่เกิดจากทรัพย์มากน้อยแค่ไหน
เมื่อท่านรัฐปาละทำภัตกิจที่บ้านมารดาบิดาของท่านแล้ว ท่านก็ได้ไปนั่งพักกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่งในพระราชอุทยานมิคาจีระของพระเจ้าโกรัพยะ เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ
เพราะทุกคนรู้จักท่านพระรัฐปาละซึ่งในอดีตเป็นบุตรของตระกูลที่เลิศว่า มีทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมหมด แต่ก็ยังสละทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปได้ ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ และได้ตรัสแก่ท่านพระรัฐปาละว่า
ท่านรัฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ ถึงเข้าแล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ความเสื่อม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน คือ ความเสื่อมเพราะชรา ๑ ความเสื่อมเพราะเจ็บไข้ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อมจากญาติ ๑ ...
แต่ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือ ได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า
ท่านพระรัฐปาละได้ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงแสดง ธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ธัมมุทเทส ๔ คือ
ธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน ดังนี้แล อัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เห็นภัยของความชราว่า ต้องมีแน่นอน เมื่อชราแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ตลอดไปจนทุกสิ่งทุกอย่าง น่าที่จะหน่าย ที่จะเบื่อในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น บางคนเห็นโทษของชรา จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ธัมมุทเทสข้อที่สองว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตนดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ธัมมุทเทสข้อที่สามว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ข้อความตอนท้ายของพระสูตร ข้อ ๔๕๑ มีข้อความว่า
ท่านพระรัฐปาละได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้วภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้อื่นอีกว่า
เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้ เพราะความหลง โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์ และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้ ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย
อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น พากันกล่าวว่า ได้ตายแล้วหนอ พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไปยกขึ้นเชิงตะกอน แต่นั้นก็ เผากัน ผู้นั้นเมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาว มีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลายเป็นที่ต้านทานของบุคคล ผู้จะตายไม่มี ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรม ที่ทำไว้ ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และ แว่นแคว้นก็เช่นนั้น บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ ด้วยทรัพย์ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้ คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่ เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด
สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมาย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง ผู้อื่นนอกจาก ผู้มีปัญญานั้น ย่อมเชื่อได้ว่าจะเข้าถึงครรภ์และปรโลก หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรมละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรมมีตัดช่องเป็นต้น ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น
ความจริงกามทั้งหลายวิจิตร มีรสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูป มีประการต่างๆ มหาบพิตร อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงบวชเสีย ผลไม้ทั้งหลายยังไม่หล่นทีเดียว มาณพทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ย่อมมี สรีระทำลายได้ มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวชเสีย ความเป็นสมณะเป็น ข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นคุณประเสริฐแท้ ดังนี้แล
จบ รัฐปาลสูตรที่ ๒
วันนี้บางท่านฟังแล้วอาจจะลืม แต่บางท่านฟังแล้วอาจจะพิจารณาธรรม ที่ประสบพบเห็นได้ ที่บ้านทุกคนมีต้นไม้ใบหญ้า บางท่านมองดูใบไม้บางใบยังไม่ ทันแก่ ยังไม่ถึงความเหี่ยวแห้งจริงๆ ก็หลุดจากขั้วหล่นแล้ว ฉันใด ชีวิตของทุกๆ คนก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ทั้งๆ ที่มีความยินดีติดข้องในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างไม่รู้จักอิ่ม แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่มีทรัพย์สมบัติใดที่จะตามไป ได้เลย ทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรม
เพราะฉะนั้น ความชราก็ดี หรือโรคภัยต่างๆ ก็ดี ไม่ใช่ว่าทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่ความเป็นผู้มีปัญญา ซึ่งอบรมเจริญการรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถทำให้ถึงที่สุด คือ ที่สุดของการท่องเที่ยวไปในครรภ์และในปรโลกได้
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร