พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61


    ตอนที่ ๖๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ชาตินี้แม้แต่เป็นคนก็ไม่เหมือนกัน เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งต่างกันไปมาก แล้วพวกเปรตอีก พวกสัตว์ในนรกอีก แล้วก็จะจากโลกนี้ไปอีกไม่นาน กรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะทำให้มีรูปซึ่งใครก็เดาไม่ได้ใช่ไหม ว่ารูปของแต่ละท่านในภพหน้าชาติหน้าเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดก็มาจากการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ของกรรมทั้งหลาย ซึ่งบางกรรมก็เป็นสภาพที่ทำให้เกิดขึ้นเป็นชนกกรรม บางกรรมก็อุปถัมถ์ บางกรรมก็เบียดเบียน

    เพราะฉะนั้นจึงได้มีความหลากหลายมากในเรื่องของรูปร่างซึ่งเกิดจากกรรม ถ้าเป็นในอบายภูมิคือเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นต้องปฏิสนธิด้วยจิตที่เป็นอกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ถึงตรงนี้ผู้ที่เคยได้ฟังมาบ้างแล้วก็คงจะทราบว่า อกุศลวิบากจิตที่มีจำนวน ๗ ประเภทนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้กล่าวถึงชื่อเพราะเหตุว่าไม่ต้องการจะให้สับสน และท่านที่มาใหม่จริงๆ ก็จะไม่ชินหูกับชื่อนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ให้ฟังเรื่องเหตุผลให้เข้าใจก่อน แล้วภายหลังเมื่อทราบว่าอกุศลวิบากจิต ๗ ประเภทนั้นมีอะไรบ้าง ก็จะรู้ว่าเพราะอะไร จิตนั้น เป็นหนึ่งใน ๗ ประเภทจึงทำปฏิสนธิกิจ

    ทุกคนในที่นี้ก็ได้ปฏิสนธิด้วยผลของกุศลกรรม ไม่ใช่อกุศลกรรม และเมื่อคืนนี้ก็ได้หลับ ซึ่งกรรมไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ทำให้ปฏิสนธิกับเป็นภวังค์ ซึ่งภวังค์ในขณะนั้นก็จะต้องเป็นจิตประเภทที่เป็นผลของกรรมดีประกอบด้วยสติ ศรัทธา และบางท่านก็จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือโดยส่วนมากของผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ก็ได้สะสมกุศลที่จะมีโอกาสได้ฟัง และก็มีโอกาสเข้าใจต่อไป แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าเป็นผลของกรรมใด แม้จะเป็นกรรมของผู้ที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ก็จริง แต่จะประกอบด้วย ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ ถ้าประกอบด้วย ๒ เหตุก็เป็นผลของกรรมที่ทำด้วยเหตุเพียงด้วยอโลภะ อโทสะ แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่ทำด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ คือประกอบด้วยเหตุ ๓ ในขณะที่มีการฟังธรรม มีการพิจารณา มีความเข้าใจ ถ้ากรรมนี้ให้ผล ปฏิสนธิก็จะเป็นจิตที่เป็นวิบากที่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ นี่คือความต่างกันของคนที่เกิดในกามภูมิ ซึ่งการปฏิสนธิในอบายเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ต่างกันไปตามเหตุว่าประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ ประกอบด้วยเหตุ ๓ นี่คือ "เหตุ"

    ในขณะที่นอนหลับสนิทเป็นภวังคจิต และ ถ้าไม่มีเหตุ นั่นคือผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอสูรกาย เป็นเปรต หรือว่าเป็นสัตว์นรกเกิดในนรก ส่วนกามาวจรภูมิที่เป็นภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ ปฏิสนธิต้องประกอบด้วยเหตุ เราจะรู้ หรือไม่รู้ แต่พื้นฐานของจิตก็จะทำให้ชีวิตเป็นไปตามกรรมอื่นๆ ซึ่งสามารถจะให้ผลได้ แล้วแต่ว่ากรรมนั้นจะให้ผลเมื่อใด ซึ่งก็จะทราบได้ว่ากรรมที่ทำแล้วต้องให้ผลแน่นอนโดยไม่ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย

    เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดโดยไม่ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยทั้งหมด คือ ทั้ง ๗ ประเภท แต่สำหรับกุศลกรรมก็จะมีที่ทำให้จิตที่เป็นกุศลวิบากเกิดโดยไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มีอีก ๘ ประเภท และที่ทำให้กุศลวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาไป โดยให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า กรรม คือ เจตนาที่ได้กระทำกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ถึงกาลก็ทำให้กุศลวิบากจิตเกิด หรืออกุศลวิบากจิตเกิด ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในเรื่องของกรรม พร้อมกันนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่ากรรมสามารถทำให้วิบากเกิดโดยที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

    กุศลวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี หรือไม่ "มี" เพราะว่าอย่างไรกรรมที่ได้กระทำแล้วต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากโดยไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ สำหรับอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากโดยไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ไม่ว่าเมื่อใด ที่ไหน ผลของอกุศลกรรมที่ทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด อกุศลวิบากจิตทั้ง ๗ นั้นจะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ไม่ว่าจะเกิดในนรก เกิดในสรรรค์ หรือเกิดเป็นมนุษย์ เมื่ออกุศลวิบากเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรม อกุศลวิบากจะไม่มีเหตุเกิดใดๆ ร่วมด้วยเลย ซึ่งต่างกับทางฝ่ายกุศล คือ ทางฝ่ายกุศลเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดโดยไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้ และทำให้กุศลวิบากมีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้

    ผลทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุ เมื่อปฏิสนธิมาแล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็ยังจะต้องรอกรรมที่จะให้ผล เพราะว่าไม่มีใครเลยที่ปฏิสนธิแล้วเป็นภวังค์แล้วก็ตายขณะที่เป็นภวังค์ จึงต้องมีวิถีจิตซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต และไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าการที่จะใช้คำว่า "วิถีจิต" กับ "จิตที่ไม่ใช่วิถี" จิตที่ไม่ใช่วิถี สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่จิตรู้คืออารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดเมื่อใด ที่ไหน อย่างไรก็ตาม จิตต้องเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่เป็นปัญญาแต่สามารถรู้ชัดในอารมณ์ของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นสำหรับจิตที่ไม่ใช่วิถีสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยหู ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย ไม่ต้องอาศัยใจ ซึ่งในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่นั้นจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังหลับสนิท เพราะว่ากำลังหลับสนิท อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แม้ตัวเราขณะนั้นก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีฝัน ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ใดๆ เลยที่จะปรากฏ แต่จิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็เกิด แล้วก็ทำกิจภวังค์ดำรงค์ภพชาติจนกว่าจะถึงกาละซึ่งกรรมอื่นก็จะให้ผล เช่น หลังจากหลับสนิทแล้วก็ตื่น เป็นกาละที่วิถีจิตจะเกิดโดยอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจก็ได้

    ตื่นขึ้นมาลืมตาแล้วเห็น ก็อาศัยทางตา "จักขุปสาท" เป็นทางที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หากตื่นได้ยินเสียงแล้วตื่น ขณะนั้นก็อาศัยทางหู "โสตปสาท" หรืออาจรู้จะกลิ่น เช่น บางคนที่สลบ หรือเป็นลม เมื่อเขารู้สึกตัวครั้งแรกเขาจะรู้ได้เลยว่าขณะนั้นจิตกำลังรู้อะไรจะอาจเป็นกลิ่นก็ได้ แต่ตอนนั้นคงไม่มีใครที่จะรู้รสใช่ไหม หรืออาจจะรู้ทางกายที่กระทบสิ่งที่ปรากฏ คือ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว หรือมิฉะนั้นก็คิดนึก

    ถึงแม้จะใช้คำว่าหลับ แต่ก็ยังมีการฝัน ขณะนั้นเป็นวิถีจิต หรือเป็นจิตที่พ้นวิถี "เป็นวิถีจิต" แต่ไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้เห็นเลย ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดนึก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าขณะที่ไม่ใช่วิถีจิตไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แต่ส่วนจิตที่เป็นวีถีต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเกิดขึ้นรู้ทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่ใช่วิถีจิต ก็ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจซึ่งยังไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่เราได้เรียน ได้เข้าใจในเรื่องของเหตุในวันหนึ่งๆ เช่น วันนี้ เป็นต้น

    จิตที่ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุไหม คนที่นั่งอยู่ที่นี่ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเหตุไหม

    คุณวีณาบอกว่ามี ๒ เหตุ รู้ได้อย่างไร อาจจะฉลาดวันหนึ่งได้ไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่ทรงแสดงไว้ ที่เห็นชัดๆ คือผู้ที่ไม่สนใจธรรมเลย แม้ว่าจะมีโอกาส แม้จะได้ยินได้ฟังก็ยังไม่สนใจ เป็นเดือนเป็นปี ก็ยังไม่สนใจ แล้วเมื่อไหร่จะสนใจถ้าไม่มีเหตุที่สะสมมาคือปัญญาเจตสิกก็จะไม่เข้าใจว่าสิ่งไหนเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ที่สมควรจะอบรมเจริญขึ้น แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่จะไม่มีใครพยากรณ์ได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ที่รู้ได้จริงๆ ว่าเป็นผู้ที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอนถึง ๓ เหตุ ทั้งอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็คือผู้นั้นสามารถจะได้ฌาณสมาบัติอัปปนาสมาธิ ได้วิปัสสนาญาณ และได้มรรคผลนิพพาน เช่นนี้ก็แน่นอนว่าปฏิสนธิจิตต้องประกอบด้วย ๓ เหตุ แต่ยังไม่กล่าวถึง แต่จะกล่าวถึงว่าต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นจึงจะเป็นวิถีจิต

    วิถีจิตแรกคงยังไม่ลืม ก็จะกล่าวซ้ำอีก เพราะว่าเป็นชีวิตจริงๆ เพื่อให้ได้รู้ว่าไม่ใช่ไปจำเพียงคำ หรือว่ารู้คำ รู้เรื่อง รู้วิถีจิตทั้งหมด แต่ขณะนี้เองที่มีชีวิตอยู่ในวันหนึ่งๆ ที่จะเห็นความเป็นไปของธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอื่นไม่ได้ ไม่ว่าในภพใด ภูมิใด

    วิถีจิตแรกคืออะไร ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทาง (ปัญจ) ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด จึงต้องเป็นปัญจทวาร แต่ปัญจทวารเป็นรูปไม่ใช่จิต ปัญจทวารก็จะได้แก่ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพื่อที่จะให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดรับผลของกรรม แสดงให้เห็นว่าพ้นจากกรรมไม่ได้เลย มีตาเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มีหูเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ใครทำตาทำหูได้บ้าง คุณหมอเองก็บอกว่าไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิดได้ แม้โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท วันหนึ่งวันใดจักขุปสาทไม่เกิด ใครทำ อุบัติเหตุ หรือเปล่า หรือว่ากรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปไม่เกิด ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของกรรม ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ จะรู้เลยว่าจะไม่คิดที่จะกระทำอกุศลกรรม และจะเจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น

    เมื่อตื่นขึ้นเห็น วิถีจิตแรกต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตเพราะทำอาวัชชนกิจ คือนึกถึง จะใช้คำว่า “รำพึงถึง” หรือว่าจะใช้คำว่ารู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารนั้นก็ได้ จิตนี้เป็นกิริยาจิต ยังไม่สามารถจะมีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงเป็นอเหตุกจิต ตัวจิตปัญจทวาราวัชชนจิตเป็น "นเหตุ" ไม่ใช่เหตุ และไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็น "อเหตุกจิต" คือไม่มีเหตุเกิดในขณะที่เป็นวิถีจิตแรก ดังนั้นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจิตซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ "มี"

    ผู้ฟัง ขอย้อนไปจักขุ โสตปสาทรูป ทั้ง ๕ รูป นี้ ที่ว่าเกิดจากกรรม ในกรณีของสัตว์เดรัจฉานเช่น หมู หมา กา ไก่ ปลา หรือนก ล้วนแต่มีทวารเหล่านี้ทั้งนั้น แม้แต่มดที่เขาบอกว่ามีตาเยอะ ก็ยังข้องใจว่าทำไมถึงผิดปกติอย่างนั้น หรือธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ความวิจิตรของกรรม เป็นมนุษย์ก็ยังสนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ติดข้องในเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เรามีอยู่สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ก็ควรเข้าใจสิ่งที่กำลังมี เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นมดเห็นเมื่อไหร่ ต้องมีจักขุปสาทซึ่งเป็นจักขุทวาร และจิตเห็นก็จะเห็นอื่นใดไม่ได้นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เทวดาก็เช่นเดียวกันต้องมีจักขุปสาท และต้องเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พรหมบุคคลก็ต้องมีจักขุปสาทซึ่งจะต้องมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาทนั้นได้ แล้วจิตจึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เหมือนกันทุกประการ หรือว่าผู้ที่เกิดในนรกก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาปรมัตถธรรม ให้ทราบว่าเรากำลังศึกษาธรรมซึ่งเป็นธาตุ ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครก็ไปเปลี่ยนแปลงบังคับบัญชาไม่ได้ จึงต้องเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริง แล้วแต่ว่าเราจะเรียกสิ่งนั้นด้วยชื่ออะไร เช่น เรียกโดยสภาพที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป หรือโดยสมมติบัญญัติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    หากจะเข้าใจเรื่องอเหตุกจิต ก็ให้เข้าใจจากชีวิตจริงๆ ว่าขณะนี้ จากภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นกระแสภวังค์สุดท้าย จิตที่สืบต่อต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตหนึ่งใน ๕ ทางแล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา (จักขุทวาราวัชชนจิต) ทางหู (โสตทวาราวัชชนจิต) เป็นต้น แต่ถ้าไม่บ่งชี้เฉพาะก็ใช้คำรวมว่า "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เป็นกิริยาจิตด้วย เมื่อศึกษาเรื่องชาติก็จะต้องรู้เหตุผลในความเป็นชาติ ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกชื่อว่า "อเหตุกกิริยา" ปัญจทวาราวัชชนจิตเรียกโดยชาติคือเป็นกิริยา เรียกโดยเหตุเป็นอเหตุกะ เป็นอเหตุกกิริยาจิต

    อ.กุลวิไล สำหรับทวิปัญจวิญญาณก็เป็นอเหตุกจิต และเป็นชาติวิบากซึ่งจะเกิดทางทวารทั้ง ๕ ถ้าเป็นการรับอารมณ์ที่ดีก็จะเป็น "อเหตุกกุศลวิบาก" แต่ถ้าเป็นการรับอารมณ์ที่ไม่ดีก็เป็น "อกุศลวิบาก" ส่วนทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน จะมีจิตที่ทำกิจต่อจากอาวัชชนจิตนั้น ๕ ทาง ซึ่งเป็นชาติวิบาก และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุเป็น "อเหตุกจิต"

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเป็นวิบาก หรือไม่ "เป็น" วันไหนไม่มีวิบากบ้าง "ไม่มีเลย" แล้วแต่ว่าจะเป็นวิบากทางตาคือกำลังเห็นสิ่งที่ดี ที่น่าพอใจ หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นั่นก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เลือกได้ไหม "เลือกไม่ได้เลย" เพราะฉะนั้นเวลาได้รับผลที่ดี เห็นสิ่งที่ดี ใครทำ กรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นกุศลวิบากนั่นเอง แก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม "ไม่ได้" เพราะว่ามีปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่นานเลย เพียงแค่เกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วดับ นี่ก็เป็นผลของกรรมทางตา ถ้าได้ยินเสียง ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้อีกว่าจะได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะหยั่งรู้ไปถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะเดือดร้อนไหม ทำแล้วก็ให้ผล ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีความเข้าใจถูกต้องว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน ทางจมูกได้กลิ่นที่ไม่ดีก็เป็นผลของอกุศลกรรม สำหรับจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมทางจมูกก็คือฆานวิญญาณ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ฆานวิญญาณ” คือจิตที่ได้กลิ่น ถ้าเป็นทางกายขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่รู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็เป็นกายวิญญาณ ก็เติมคำว่าอกุศลวิบากต่อท้าย เติมเองได้ไหมต่อไปนี้ รู้สึกแข็งตรงไหนที่ไม่สบายบ้างไหม ปวดตรงไหนที่ไม่สบาย ขณะนั้นเป็นเรา หรือไม่ หรือว่าเป็นจิต เจตสิกที่เกิด แล้วก็กำลังรู้สิ่งที่กำลังกระทบทางกาย ถ้าไม่สบายขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม "กายวิญญาณอกุศลวิบาก" ภาษาบาลีก็ใช้คำตรงเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากเป็นผล เพราะฉะนั้นผลของอกุศลกรรมก็คือ อกุศลวิบาก และถ้าเป็นทางกายก็เป็น “กายวิญญาณอกุศลวิบาก”

    จิต ๕ ประเภทที่เป็นผลของอกุศลกรรม เริ่มตั้งแต่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และกรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ฉะนั้นวิบากก็ต้องมีทั้งที่เป็น กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก จึงมี จิตเห็น จักขุวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตได้ยิน โสตวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตได้กลิ่น ฆานวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตลิ้มรส ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก และ ทางกายจิตรู้กระทบสัมผัส กายวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก รวมเป็นอกุศลวิบาก ๕ และ กุศลวิบาก ๕ รวมเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเท่าไหร่ที่ได้กล่าวถึงแล้ว

    จากที่ได้กล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม จะเห็นได้ว่ามีจิต ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตดับไปแล้ว วิบาก ๑๐ ดวง หนึ่งใน ๑๐ ดวง นี้จะเกิดต่อ วิบากเพียงแค่เห็น แค่เห็นเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดมาสั้นนิดเดียว เพียงเกิดขึ้นแล้วเห็น จะมีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จิต ๑๐ ดวงซึ่งเป็นผลนี้จึงเป็นอเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นั่นเอง รวมเป็นอเหตุกที่กล่าวถึงวิบากเท่าไหร่ ๑๐ ดวง ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ๕ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๕ ดวง และที่เป็นกิริยา ไม่ใช่เป็นผลของกรรม และเป็นอเหตุกอีก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๑ ดวง ทั้งหมดจะมี ๑๘ ดวง แต่ยังไม่ต้องไปคิดให้รู้สึกยากที่จะจำ เพราะเมื่อเราเข้าใจ เราจะได้เข้าใจจริงๆ เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม และถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นผลของกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก

    ทบทวน ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดต่อจากภวังค์ ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางหนึ่งทางใด เป็นภูมิอะไร ภูมิมี ๔ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ โลกุตตรภูมิ หรือจะใช้คำว่าจิตก็ได้ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นภูมิอะไร "เป็นกามภูมิ" พระพุทธเจ้ามีจิตที่เป็นกามภูมิ หรือไม่ "มี" มีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุไหม "มี" นี่คือความถูกต้อง เพราะว่าปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตรู้รส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดังนั้นขณะแรกที่ยังไม่เห็นเลย โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยเหตุซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อเหตุกะ”


    Tag  กามารวจรวิบาก  กามาวจรวิบาก  กายวิญญาณจิต  การฟังเพื่อให้เข้าใจ  การเรียกชื่อจิต  กิริยาจิต  กิริยาจิตที่เป็นสเหตุกะ  กิเลส กรรม วิบาก  กุศลวิบาก ๘ ประเภท  ขณะย่อยของจิต  คนเจ้าโทสะ  ความทรงจำ  ความเพียร  ความไม่ประมาท  คิดเอง  คิดไม่จบ  ฆานวิญญาณจิต  จักขุปสาท  จักขุวิญญาณจิต  จิต  จิตชาติวิบากและกิริยา  จิตที่พ้นวิถี  ชวนปฏิปาทกมนสิการ  ชิวหาวิญญาณจิต  ฐานที่เกิดของจิต  ฐิติ  ตัวตน  ติเหตุกบุคคล  ทวิปัญจวิญญาณจิต  ทวิเหตุกบุคคล  ทวิเหตุกะ  ทางสายกลาง  ธาตุน้ำ  นิพพาน  นิมิต  นเหตุ  บังคับ  ปฏิสนธิ  ปฏิสนธิกิจ  ปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ  ปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุสาม  ประมาท  ปสาทรูป ๕  ปัญจทวาร  ปัญจทวารวัชชนจิต  ปัญจทวาราวัชชนจิต  ปัณฑระ  พระอานนท์  พระเทวทัต  ภวังคกิจ  ภวังคจิต  ภวังค์  ภังคะ  มนสิการะ  มรรคมีองค์ ๕  มหากุศล  มหาภูตรูป ๔  มหาวิบากจิต  มิจฉาทิฏฐิ  มโมทวาราวัชชนจิต  รูปาวจรวิบาก  วาระของวิถีจิต  วิถีจิต  วิถีปฏิปาทกมนสิการะ  วิบาก  วิบากจิตที่เป็นสเหตุกะ  วิบากจิตที่เป็นอเหตุกะ  วิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย  วิบากประกอบด้วยเหตุและไม่ประกอบด้วยเหตุ  วิปากะ  ศึกษาธรรมะ  ศึกษาธรรมะใหม่ๆ  สติปัฏฐาน  สะสม  สะสมธรรมะ  สังสารวัฏ  สันตีรณจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ  สันตีรณจิตที่มีโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา  สันตีรณอกุศลวิบาก  สันตีรณะ  สันตีรณะ ๓  สัมปฏิจฉันนะ  สัมปยุตตปัจจัย  สเหตุกจิต  สเหตุกวิบาก  สเหตุกะ  หทยวัตถุ  หสิตุปาทจิต  อกุศลจิตเกิดร่วมกับอวิชชา  อกุศลวิบาก  อกุศลวิบาก ๗  อนัตตา  อนิฏฐารมณ์  อนุตตริยะ  อนุบาล  อนุพยัญชนะ  อบรมเจริญปัญญา  อรูปาวจรวิบาก  อัพยากตเหตุ ๓  อารมณ์ของภวังคจิต  อารมณ์ที่ประณีต  อารัมมณมนสิการะ  อาวัชชนกิจ  อิฏฐารมณ์  อุปาทะ  อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก  อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก  อเหตุกกิริยา  อเหตุกกิริยา ๓  อเหตุกกิริยาจิต  อเหตุกจิต  อเหตุกบุคคล  อเหตุกวิบาก  อเหตุกวิบาก ๑๕  อเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง  อเหตุกสันตีรณะ  อเหตุกะ  เข้าใจธรรมะ  เจตสิกที่เป็นรากแก้ว  เลือก  เหตุ ๙  โทสมูลจิต  โมหมูลจิต  โลภมูลจิต  โวฏฐัพพนจิต  โวฏฐัพพนะ  โสตวิญญาณจิต  โสมนัสมหาวิบาก  โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ