พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
ตอนที่ ๗๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
ผู้ฟัง พูดถึงมนสิการที่ท่านอาจารย์กล่าวสงสัยว่าเป็นตัวเดียวกับมนสิการเจตสิกไหม
ท่านอาจารย์ มีมนสิการ ๓ อย่าง ก็ขอทบทวนว่าเป็น อารัมมณมนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก แล้วก็เป็น วิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายความถึง ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก เมื่อวิถีจิตนี้เกิดแล้ว ต่อไปต้องเป็นวิถีจิตตลอด จะเป็นภวังค์ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อกล่าวว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก ก็หมายความว่าต้องมีวิถีจิตเกิดสืบต่อซึ่งก็เป็นวิถีเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจ คือรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใด แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่ว่าไม่ใช่ภวังค์ เพราะว่าภวังค์ไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์อื่นได้เลย และเมื่อเป็นภวังค์ แม้ว่ามีอารมณ์จริง แต่อารมณ์นั้นไม่ได้ปรากฏเลย เป็นอารมณ์สืบเนื่องมาจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน คนละภพคนละชาติ แต่ว่าเวลาที่เป็นภวังค์ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราว ฝันต่างๆ ไม่มีเลย ต้องเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ภวังคจิต แต่เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนะ จิตนี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนจักขุวิญญาณ มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนโสตวิญญาณ นี่คือ "วิถีปฏิปาทกมนสิการ"
ผู้ฟัง โวฏฐัพพนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต เหมือนกับว่ามโนทวาราวัชชนจิตจะมาเกี่ยวอะไรกับตรงที่เป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร เมื่อมาเกี่ยวข้อง ก็ต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกันก็เนื่องจากว่าถ้าเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวารก็มีรูปมีอารมณ์เหมือนกัน ตรงนี้ท่านอาจารย์ให้ข้อคิดเห็นหน่อยได้ไหม ทำไมจะต้องมากล่าวถึงว่าเป็นมโนทวาราวัชชนจิตถ้าไม่เกี่ยวข้องกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กล่าวถึง เป็นจิตประเภทนั้นเอง จะไปเปลี่ยนจิตประเภทอื่นให้ทำหน้าที่อาวัชชนะทางมโนทวารไม่ได้ เพราะว่าหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับไป แล้วจะรู้อารมณ์ทางใจ วิถีจิตแรกก็ทำหน้าที่อาวัชชนะทางใจ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจนี้จึงชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตประเภทนี้ เปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ทางปัญจทวาร เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตเกิดต่อทำโวฏฐัพพนกิจ จะเรียกจิตนั้นว่าอะไร หรือไม่เรียกก็ได้ แต่จิตนั้นต้องมี เป็นสภาวธรรมที่มี แล้วก็เป็นจิตประเภทเดียวกันเลยกับจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นขณะนั้นเมื่อไม่ได้ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร จะเรียกว่าอาวัชชนกิจไม่ได้ เพราะทำโวฏฐัพพนกิจ ฉะนั้นจึงเป็น ชวนปฏิปาทกมนสิการ หมายความว่าไม่ว่าจะเกิดทางทวารไหน ก็มนสิการให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดตามการสะสม เพียงแต่เป็นจิตที่ทำหน้าที่ทำกิจก่อนที่จะให้ชวนจิตเกิดเท่านั้นเอง แต่จะเป็นกุศลหรืออกุศลตามการสะสมที่ได้สะสมมา
ผู้ฟัง ดูเหมือนกับว่าจะเป็นลักษณะของชวนะก็เหมือนกัน ตทาลัมพนะก็เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน ชวนะเหมือนกันไม่ได้ เพราะว่าเป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี
ผู้ฟัง แต่หลังจากที่ชวนะที่เป็นกุศลหรืออกุศลเกิดทางปัญจทวารแล้ว ต่อไปก็เหมือนกันเลย
ท่านอาจารย์ อะไรที่เหมือนกัน
ผู้ฟัง ชวนะที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ ยัง ยังต้องมีจิตเกิดคั่นสลับ
ผู้ฟัง หมายถึงภวังคจิตใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หรือตทาลัมพนจิตถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ โวฏฐัพพนจิตหรือชวนปฏิปาทกมนสิการมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม เป็นชาติอะไร เป็นชาติกิริยา แล้วก็มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เป็นอเหตุกจิต เพราะฉะนั้นก็เกือบจะครบอเหตุกจิต ๑๘ แล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๐ กุศลวิบาก อกุศลวิบากอย่างละ ๕ สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ เป็น ๑๒ สันตีรณะ ๓ เป็น ๑๕ เพราะฉะนั้น อเหตุกวิบากทั้งหมดมี ๑๕ กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว เมื่อให้ผลก็จะทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และก็วิบากของกรรมทั้งหลายทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีเพียง ๑๕ ยังไม่กล่าวถึงตทาลัมพนะ เพราะค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ เพราะถ้ามากเกินไปก็จะสับสนได้ หรือจำไม่ได้ แต่ถ้ามีความแม่นยำตั้งแต่ต้นทีละเล็กทีละน้อย ก็ค่อยๆ เพิ่มได้ ให้ทราบว่า ๑๕ ดวง เป็นวิบากเป็นผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ถ้ากล่าวเช่นนี้แสดงว่ามีผลของกรรมที่ประกอบด้วยเหตุ แต่สำหรับผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยเลยทั้งหมดจะมี ๑๕ ดวงเท่านั้น
ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะจะมี ๒ ดวงคือกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก แต่เหตุใด สันตีรณะจึง มี ๓ ประเภท
ท่านอาจารย์ เป็นผลของอกุศลกรรม ๑ คือเป็นอกุศลวิบาก ๑ เป็นผลของกุศลกรรม ๒ เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ต่างกันที่เวทนา แล้วก็เป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ๑
ผู้ฟัง เหตุใดจึงต่างกัน
ท่านอาจารย์ ตามอารมณ์ที่ประณีต อารมณ์ที่ดีประณีตมากก็มี ฉะนั้นถ้าอารมณ์นั้นดีธรรมดา สันตีรณะที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนกุศลวิบากก็เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ประณีตมากเป็นพิเศษ หลังจากที่อุเบกขาสัมปฏิจฉันนกุศลวิบากดับ ก็เป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก
ผู้ฟัง เกิดได้ ๒ ขณะหรือ
ท่านอาจารย์ มิได้ อย่างหนึ่งอย่างใด แล้วแต่ว่าจะเป็นอุเบกขาสันตีรณะถ้าเป็นอารมณ์ดีปานกลาง ถ้าไม่ใช่อารมณ์นั้นแต่เป็นอารมณ์ที่ประณีตกว่านั้น แทนที่จะเป็นอุเบกขาสันตีรณะเกิด ก็เป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากเกิด อารมณ์ไม่เปลี่ยนจะมีสันตีรณะ ๒ ขณะไม่ได้ หรือ ๒ ประเภทก็ไม่ได้
ตอนนี้ก็รู้จักตัวเองละเอียดขึ้นมาก ที่เป็นตัวตนหามีไม่ มีแต่จิต เจตสิก รูป เกิดดับๆ ตลอดเวลา แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม หรือว่าไม่ใช่ผลของกรรม ซึ่งหลังจากที่โวฏฐัพพนะดับแล้ว พ้นเรื่องผลของกรรมแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของการสะสมใหม่ ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ฟัง ที่ภวังค์มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่
อ.อรรณพ ไม่ว่าจะมีจิตชาติใด ภูมิใด หรือจิตที่เกิดขึ้นทำกิจใดก็ตาม จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดประกอบกับจิตนั้นเสมอ เพราะจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ต้องพึ่งพิงอาศัยกัน เป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน และถ้าเป็นภพภูมิที่มีรูปขันธ์ด้วยก็ต้องอาศัยรูปเดียวกันเป็นที่เกิด เพราะฉะนั้นจะปราศจากเจตสิกไม่ได้เลย แม้ภวังคจิตก็ต้องประกอบด้วยเจตสิก
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดไม่อาศัยปัจจัยเกิดได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จิตเกิดหรือไม่
ผู้ฟัง เกิด
ท่านอาจารย์ จิตจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ สัญญาเป็นอะไร
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีรูป จิตต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิดแน่นอน และก็เห็นรูป เป็นไปกับรูปทั้งหมด แต่แม้ในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปเลย แต่ต้องมีเจตสิก มิฉะนั้นจิตเกิดไม่ได้ สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือจิต เจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และเมื่อทั้ง ๒ อย่างเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด จิต และเจตสิกต้องเกิดที่เดียวกัน โดยความเป็นสัมปยุตตปัจจัยเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งรูปไม่ใช่ปัจจัยนี้ รูปไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ แต่สำหรับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกัน ก็คือจิต และเจตสิก ต่างก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกัน และกัน จิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือไม่ เป็น เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่อะไร แก่เจตสิก เจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือไม่ เป็น เป็นปัจจัยแก่อะไร แก่จิต นี่คือการที่จะค่อยๆ ซึมในความไม่ใช่ตัวตน ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็มั่นคงขึ้น
จิตต้องมีปัจจัยคือเจตสิกเกิดร่วมด้วยใช่ไหม และคำถามก็ไปถึงขณะที่ภวังคจิตเป็นภวังค์อยู่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ตอนนี้ตอบได้ใช่ไหม ภวังคจิตเป็นชาติอะไร
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ เมื่อปฏิสนธิดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ทำให้เพียงแค่ปฏิสนธิจิตเกิด เกิดมาแล้วหมดไปหายไปเลย กรรมจะให้ผลได้อย่างไร แค่เกิดมานิดเดียวใช่ไหม เพราะฉะนั้นกรรมก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อ จิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นชาติอะไร จิตที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย
ผู้ฟัง เป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นวิบากดับไปแล้ว จิตเกิดสืบต่อหรือไม่ จิตนั้นเป็นชาติอะไร เป็นวิบาก จะเป็นกุศล หรืออกุศลไม่ได้ วิบากจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี
เพราะฉะนั้น นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราจะได้ทราบความต่างของผลของกรรมว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว อยางไรก็ต้องให้ผลแน่นอน โดยทำให้วิบากที่เป็นอเหตุกะเกิด วิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย เป็นทั้งกุศลวิบากก็มี อกุศลวิบากก็มี ถ้ากรรมที่ได้กระทำไปแล้ว แล้วไม่ให้เห็นสิ่งที่ดี ไม่ให้ได้ยินเสียงที่ดี ก็จะไม่มีผลอะไร เพราะเหตุว่า ตอนเป็นภวังค์ก็ไม่มีอะไรปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลกรรมหรือเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้วิบากเกิดขึ้น วิบากขณะแรกที่เกิดคือปฏิสนธิจิต เลือกไม่ได้เลยว่าจะเป็นผลของอะไร ที่เกิดเป็นคุณวิจิตเป็นผลของอะไร
ผู้ฟัง ของวิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมอะไร
ผู้ฟัง ของกุศลกรรม
ท่านอาจารย์ เลือกมาเป็นวันนี้คนนี้หรือไม่
ผู้ฟัง เลือกไม่ได้
ท่านอาจารย์ เลือกไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีกรรมทำให้ปฏิสนธิ ขณะที่ใครก็ตามแต่เกิดในสุคติภูมิ คือภูมิที่เป็นมนุษย์หรือสวรรค์ หรือถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีตมากว่านั้น ก็มีทั้งที่เป็นรูปพรหม และอรูปพรหม แต่ไม่ถึง เพราะอยู่ที่นี่ในภูมินี้เป็นมนุษย์ ผลของกุศลกรรมทำให้กุศลวิบากปฏิสนธิต่างกับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อกุศลกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิมีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิบากจึงมี ๒ ประเภท วิบากประเภท ๑ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วิบากอีกประเภทหนึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่ได้ให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส แต่จะทำตทาลัมพนกิจซึ่งเราจะกล่าวถึงทีหลัง แต่หมายความว่าผลของกรรมจะมี ๒ ประการ คือ ถ้าเป็นในภูมิที่เป็นสุคติภูมิ ก็จะต้องเป็นวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยประการหนึ่ง และเป็นวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นที่ควรจำสำหรับอกุศล มีวิบากประเภทเดียวเท่านั้น คือ อเหตุกวิบาก เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล วิบากของอกุศลกรรมจะไม่มีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วยเลยทั้งสิ้น จะมีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะเหตุว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นชาติอกุศลอย่างเดียว เกิดเมื่อไหร่จิตนั้นเป็นอกุศล แต่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ เป็นอกุศลได้ไหม ไม่ได้ เป็นได้แค่ ๓ อย่าง คือ วิบาก กิริยา หรือ กุศล หรือจะกล่าวว่าวิบาก กุศล กิริยาก็ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล อย่าลืมว่า กุศลกรรมให้ผลได้ทั้งที่เป็นอเหตุกวิบาก และสเหตุกวิบาก ในขณะที่อกุศลกรรมให้ผลเป็นอเหตุกวิบากเท่านั้น เพียง ๗ ดวง น้อยก็น้อยใช่ไหมแค่ ๗ เท่านั้นไม่มากกว่านั้นเลย จะไปหาที่ไหนๆ ในกี่โลกที่จะให้เป็นผลของอกุศลกรรมที่จะเป็นอกุศลวิบากไม่เกิน ๗ แต่ทางฝ่ายกุศลมีมากกว่านั้น นี่ก็คือคำตอบสำหรับคุณวิจิตร
ผู้ฟัง ในขณะที่เรานอนหลับ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม มนุษย์ต่างกันมาก มนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิดก็มี มนุษย์ที่ไม่ได้มีปัญญาในทางธรรมเลยก็มี และผู้ที่สามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ก็แสดงว่าผู้นั้นต้องมีปัญญา เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็มีความหลากหลาย ถ้าเป็นผลทางฝ่ายกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ที่ประกอบด้วยเหตุเพียง ๒ เหตุคือ อโลภะ อโทสะเกิดมาเป็นเศรษฐีมั่งมี รูปร่างสวยงามอะไรก็ตาม แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดกับปฏิสนธิจิต อีกประเภทหนึ่งก็คือปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นให้ผลเป็นปฏิสนธิจิตที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถึงแม้คนที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ได้ฟังธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา แต่ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น
ผู้ฟัง ในกรณีที่เรานอนหลับ ก็ไม่น่าจะมีอารมณ์ที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญญาได้
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นวิบาก กรรมทำให้จิตนั้นเกิด เลือกไม่ได้ว่าจะมีอารมณ์อะไร เลือกไม่ได้ที่วิบากนั้นจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ขอความเข้าใจในเรื่องสัมปฏิจฉันนะ และ สันตีรณะ คือสัมปฏิจฉันนะมีอยู่ ๒ ประเภท คือกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ ส่วนสันตีรณะก็มี ๒ ประเภทด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สันตีรณะเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง เป็นชาติวิบาก
ท่านอาจารย์ สันตีรณะมีกี่ประเภท หรือกี่ดวง
ผู้ฟัง ๓ ประเภท
ท่านอาจารย์ ๓ ประเภท แล้วเป็นวิบากทั้ง๓ หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นวิบากทั้ง ๓
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องกิริยา กุศล อกุศล เพราะสันตีรณะเป็นวิบาก
ผู้ฟัง วิบากก็มีเพียงแค่กุศลวิบากกับอกุศลวิบาก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แต่เนื่องจากว่ามี ๓ ดวง อีกดวงหนึ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าคืออุเบกขา
ท่านอาจารย์ สำหรับสันตีรณะ ๓ ดวง เป็นอุเบกขา ๒ ดวง ทำไม ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ แต่สำหรับอีกดวงหนึ่งเป็นวิบาก แต่เวทนาไม่ใช่อุเบกขา เป็นโสมนัส เพราะว่าขณะใดที่รู้อารมณ์ที่ประณีต อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากไม่เกิด แต่ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากเกิดตามอารมณ์ที่ดีที่ประณีต
อ.วิชัย สำหรับสัมปฏิจฉันนะ และก็สันตีรณะ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เช่นการเห็นในสิ่งที่ไม่ดี ก็มีอารมณ์ที่เป็นวัณณะรูปมากระทบกับปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น วิถีจิตแรกปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่มากระทบ และเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก ถ้าเห็นในสิ่งที่ไม่ดี หลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว จิตคือสัมปฏิจฉันนะที่เป็นอกุศลวิบากก็เกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในสิ่งที่ไม่ดี ส่วนที่เป็นสันตีรณะ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง สันตีรณะที่เป็นโสมนัสเวทนาก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ธรรมดา อุเบกขาเวทนาก็เกิดขึ้น
ผู้ฟัง สรุปแล้วก็คือสันตีรณะจะมีอุเบกขาทั้ง ๒ ประเภท
ท่านอาจารย์ สันตีรณะมีเท่าไหร่ก่อน
ผู้ฟัง ๓
ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง ต่างกันด้วยอารมณ์
ท่านอาจารย์ ตัวจิตไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอารมณ์
ผู้ฟัง ตัวจิตก็คือเป็นกุศลวิบาก ๒ และก็อกุศลวิบากหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ้น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส เมื่อได้ยินเพียงนิดเดียว สภาพธรรมปรากฏไม่มีความหมาย มีเพียงสั้นๆ
ท่านอาจารย์ สั้นมาก และเร็วมากด้วย
ผู้ฟัง เข้าใจอย่างสั้นๆ นี่จะถูกไหม
ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกว่านี่คือทางปัญจทวารวิถี รูป ๑๗ ขณะจิตเร็วแค่ไหน ขณะที่กำลังเห็นกับได้ยินพร้อมกันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่พร้อม
ท่านอาจารย์ ไม่พร้อม ห่างกันเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อจักขุทวารวิถีจิตมีรูปเป็นอารมณ์จริงๆ จะเล็กน้อยสักแค่ไหน เหมือนฟ้าแลบ จากภวังค์ซึ่งไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง จะเป็นการบัญญัติ หรือหลงในบัญญัติรูปนาม หลงในบัญญัติสมมติหรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเหตุใดทรงแสดงให้เราทราบ ด้วยพระมหากรุณาที่จะให้เห็นความชัดเจนว่าจิตเกิดดับเร็วมากที่เราคิดว่าจิตไม่เกิดดับเลย ทำให้เรายึดถือว่าจิตเป็นเรา เช่น กำลังเห็นเป็นเราเห็น ขณะได้ยินก็เป็นเราได้ยิน แต่ความจริงจิตเกิดดับหลายขณะเลย ในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับไป ซึ่งขณะนี้เร็วมากจนประมาณไม่ได้ที่ทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรดับเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มเกิดตั้งแต่รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม คือแต่ละลักษณะของธรรมเป็นอย่างนั้นเอง สภาพธรรมใดปรากฏแสดงว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิด เกิดแล้วต้องดับ และดับเร็วด้วย
ผู้ฟัง ต้องพึ่งพากันใช่ไหม บัญญัติแล้วก็รูปนาม
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่จะเกิดได้ต้องมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้
ผู้ฟัง ละมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดมีอะไรบ้าง แล้วก็คำว่าละมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ละอย่างไร
ท่านอาจารย์ มิจฉาทิฏฐิเกิดเมื่อไหร่ อยู่ที่ไหน จะได้ละ ไม่เห็น ไม่รู้แล้วละอย่างไร ทุกอย่างที่จะละต้องปรากฏ เวลานี้ถ้ามิจฉาทิฏฐิไม่เกิด ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะละไหม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120