พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78


    ตอนที่ ๗๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    อ.อรรณพ สภาพธรรมปรากฏทางกายคืออะไร เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้นที่ปรากฏทางกาย แต่เรามีความจำเรียกว่าวัตถุ นี่เรียกว่าน้ำ แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมปรากฏในแต่ละทวาร ทางตาเป็นเพียงแค่สีเท่านั้น เราไม่เห็นน้ำด้วย ไม่เห็นโต๊ะ ไม่เห็นเก้าอี้ เห็นแค่สี ทางกายก็เหมือนกัน เช่นในขณะที่ว่าเป็นเราที่กำลังอาบน้ำก็เป็นกลุ่มก้อน ทั้งตัวเราก็เป็นกลุ่มก้อน ทั้งน้ำก็เป็นกลุ่มก้อน เราก็นึกถึงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จริงๆ แล้วเมื่อปรากฏทางกาย เย็นปรากฏ หรือ ร้อน หรือ ตึงไหว หรือ อ่อน หรือแข็ง เท่านั้นปรากฏ

    ผู้ฟัง คำว่า “น้ำ” “ธาตุน้ำ” มีหรือไม่

    อ.อรรณพ ตามที่เรียนให้ทราบแล้วว่า“น้ำ” ในภาษาไทยที่เราใช้อาบ ดื่มกินก็ประกอบด้วยทั้งธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม และมีอุปาทายรูปต่างๆ ที่อาศัยพึ่งพิงมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้คือโดยขั้นเข้าใจ ส่วนขั้นระลึกนั้นก็จะประจักษ์ในลักษณะเฉพาะธาตุอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา แต่ที่คิดว่าเป็นน้ำแล้วไหล ก็คือเป็นความคิด

    ผู้ฟัง คำว่า ชื่อเสียงเรียงนาม ตึกรามบ้านช่อง ภูเขา ต้นไม้ รถ เรือ คนขณะที่นั่งอยู่นี้ ไม่มีใช่ไหม เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    อ.อรรณพ สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สีสันวัณณะเท่านั้น แต่การคิดนึกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นภูเขา เป็นน้ำ เป็นแม่น้ำลำคลอง หรืออะไร นั่นคือความคิดหลังจากการเห็น

    ผู้ฟัง เป็นบัญญัติใช่ไหม

    อ.อรรณพ ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดง่ายๆ ก็คงจะง่ายใช่ไหม เพราะว่ารูปใดที่จะมีโลภะ รูปใดเป็นโลภะ รูปใดเป็นโทสะ รูปใดเป็นโมหะ รูปทั้งหมดเป็นไม่ได้เลย เพราะรูปไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย ส่วนจิตเป็นอโลภะ เพราะว่ามีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต แต่รูปใดจะมีอโลภะไปทำบุญให้ทานก็ไม่ได้ มีอโทสะก็ไม่ได้ มีอโมหะก็ไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจธรรมดาเช่นนี้ว่า รูปจะมีโลภะได้อย่างไร ตัวรูปจะไปชอบอะไรที่ไหน ต้องการอะไร หรือรูปจะโกรธใครที่ไหน รูปรู้ไม่ได้เลยใช่ไหม

    เพราะว่าเป็นรูป นั่นก็คงจะเหมือนกับที่เราคิดอีกมุมหนึ่ง คือ โดยศัพท์กล่าวว่ารูปเป็น "นเหตุ" ไม่ใช่โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่อโลภะ อโทสะ อโมหะ และรูปก็เป็นอเหตุกะด้วย เพราะว่ารูปจะไม่มีโลภะมาเกิดร่วมกับตัวรูปได้เลย ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะว่ารูปไม่โกรธ รูปไม่หลง รูปไม่รู้อะไร

    ปรมัตถธรรมมี ๔ ใช่ไหม วิญญาณขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง รูปเป็นรูปขันธ์ไม่รู้อารมณ์ เวทนาขันธ์เป็นเจตสิก สัญญาขันธ์เป็นเจตสิก สังขารขันธ์เป็นเจตสิก วิญญาณขันธ์เป็นจิตเป็นสภาพรู้

    อ.วิชัย ขันธ์ใดบ้างที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้

    ผู้ฟัง เวทนาได้ สัญญาได้

    ผู้ฟัง สังขารขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีใช้ชื่อว่าอะไร

    ผู้ฟัง สเหตุกะ

    คุณอุไรวรรณ วิญญาณขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงเรื่องสเหตุกะ หมายถึงสภาพธรรมที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยได้ แต่ไม่ใช่พร้อมกันทั้ง ๖ แล้วแต่ว่าจะ๑ เหตุ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุก็ตาม ซึ่งก็เป็นความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ เพราะเราเรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แต่ความเข้าใจของเราก็จะต้องชัดเจนด้วย เพราะว่าธรรมไม่เปลี่ยน เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จากการตรัสรู้ก็ทรงแสดงสภาพธรรมซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก

    "สเหตุกะ" หมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถจะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยได้ ส่วนสภาพธรรมที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยก็ได้ มีไหม มี ได้แก่อะไรบ้างที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้เลย สภาพธรรมที่ไม่มีเหตุทั้ง ๖ ที่จะสามารถไปเกิดร่วมด้วยได้แน่นอนคือรูปขันธ์อย่างเดียว รูปเท่านั้นที่ไม่สามารถจะมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วยตลอดกาลตลอดไป รูปเกิดเมื่อใดจะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยไม่ได้

    แต่สำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ บางกาละก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย บางกาละก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จึงมีทั้งที่เป็นสเหตุกะขณะที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และขณะที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้น เมื่อถามว่าสภาพธรรมใด ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยก็อย่างหนึ่ง และสภาพธรรมใดที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ยังเหลือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วยซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพิ่มมาอีกหนึ่ง ประเภทแรกคือ รูป ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ปรมัตถธรรมอีกหนึ่งประเภทซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยอีกเลย คืออะไร

    ผู้ฟัง นิพพาน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอย่างไรๆ เราก็ต้องกลับมาที่ปรมัตถธรรม ๔ ไม่มีสิ่งใดในโลก นอกโลก เหนือโลกที่ไหนก็ตามที่จะพ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นทรงแสดงโดยประมวลว่าสภาพธรรมก็จำแนกเป็น ๔ ประเภทคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน รูปไม่ใช่สภาพรู้ นิพพานเป็นสภาพรู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ต้องมั่นคงว่านิพพานไม่ใช่สภาพรู้ ถ้านิพพานเป็นสภาพรู้ นิพพานเป็นจิต หรือนิพพานเป็นเจตสิก แต่เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก นิพพานเป็นสภาพรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยก็มี ๒ ประเภท คือรูปกับนิพพาน แต่ทั้ง ๒ ประเภท นี้ต่างกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่สภาพรู้แล้วจะต้องเหมือนกันหมด เป็นอย่างเดียวกัน แม้ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ เป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง และก็เป็นนิพพานอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป และรูปก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน และจิตก็ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เป็นแต่ละประเภทไป เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ถามอย่างไรก็ตอบได้ใช่ไหม เช่น ถามว่าสภาพธรรมใดไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายก็มีรูปกับนิพพานที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จิต และเจตสิกมีเหตุเกิดร่วมด้วยในปรมัตถธรรม ๔

    ท่านอาจารย์ ก็จะขยายความเข้าใจของเราได้ ว่าจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตต้องเกิดกับเจตสิก และเจตสิกต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นโลภะเป็นเจตสิก โทสะเป็นเจตสิก โมหะเป็นเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นเจตสิก จะไปเกิดร่วมกับอย่างอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น จะเกิดได้ก็เฉพาะกับจิตเท่านั้น เจตสิกทั้งหมดจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ เกิดกับนิพพานไม่ได้ แต่เกิดกับจิตได้ ด้วยเหตุนี้โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จึงต้องเกิดกับจิต และขณะใดที่จิตนั้นมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตเกิดขึ้น๑ขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงอย่างเดียวไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุดมี ๗ ประเภท ฉะนั้นเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเหตุก็เป็นสเหตุกะด้วยเพราะว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตมี ๔ ชาติ จิต ๒ ชาติไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย

    ท่านอาจารย์ ได้แก่ จิตชาติอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง วิบากจิต กับกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ กิริยาจิตก็มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้

    ผู้ฟัง จิตชาติวิบาก จิตชาติกิริยา มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ จิตชาติวิบากมี ๒ ประเภท คือ สเหตุกะ และ อเหตุกะ

    ผู้ฟัง จิตชาติวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย คืออะไร

    ท่านอาจารย์ จิตชาติวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยคือ มหาวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก

    ผู้ฟัง มีเหตุเกิดร่วมด้วยใช่ไหม แต่ยังมองไม่เห็นภาพ ขอให้กรุณาอธิบาย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กรรมที่ได้กระทำไปแล้วต้องมีผลต่อเมื่อถึงกาละที่สมควรที่จะให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้น กรรมทำมามากมาย แล้วแต่ว่ากรรมไหนที่จะให้ผลเมื่อใด ก็เป็นปัจจัยให้ผล คือ จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น กรรมก็ทำให้รูปเกิดได้ด้วย แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น กรรมสามารถจะทำให้ทั้งจิต เจตสิก และรูปเกิด แต่เมื่อกล่าวถึงเหตุ ซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ก็ไม่กล่าวถึงรูป แต่จะกล่าวถึงเฉพาะจิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม กรรมที่ได้กระทำไปแล้วก็จะให้ผลเป็นวิบากจิตแน่นอนที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า วันหนึ่งๆ จิตที่เป็นวิบากคือขณะใด เมื่อใด เพื่อที่จะได้รู้ว่าขณะนั้นๆ เป็นผลของกรรมแน่นอน เมื่อเป็นวิบากจิตแล้วต้องเป็นผลของกรรม แต่กรรมที่ให้ผลให้ผลเป็นวิบากต่างกัน คือ ถ้าเป็นอกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบากที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเท่านั้น อกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว แม้ว่าจะเป็นกรรมหนักมากสักเท่าไหร่ก็ตาม เช่น ทำร้ายพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ หรือ การฆ่าสัตว์ การทุจริตต่างๆ ทั้งหมดหนักเบาเท่าใด ก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิตเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น คือ ๗ ดวงไม่มากกว่านั้นเลย เป็นอเหตุกะจิต คือ จักขุวิญญาณ จิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก จิตได้ยินสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก จิตได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก จิตลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก เพียงเห็น เพียงได้ยิน เพียงได้กลิ่น เพียงลิ้มรส เพียงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วหมดไปเลยก็ไม่พอ ยังมีวิบากจิตซึ่งรับรู้อารมณ์นั้นต่อ ซึ่งเป็นสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากอีก ๑ และเมื่อสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากดับไปแล้ว สันตีรณอกุศลวิบากก็เกิดต่ออีก ๑ รวมเป็น ๗ ที่เป็นอกุศลวิบาก ไม่มากกว่านั้นเลย ไม่ว่าภพไหน ภูมิไหน แต่สำหรับกุศลกรรมให้ผลมากกว่านั้นอีก คือนอกจากจะให้ผลเป็นกุศลวิบากถึง ๘ ประเภท มากกว่าอกุศลวิบากที่มีเพียง ๗ ประเภท ซึ่งเป็นอเหตุกะไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย ก็ยังให้ผลเป็นสเหตุกวิบากได้ด้วย นี่เป็นการจำแนกบุคคลซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมว่าแม้อย่างนั้นก็ยังต่างกัน เกิดมาเป็นมนุษย์ในภูมิที่มีขันธ์๕ ต่างกับพวกที่เกิดในอบายภูมิ ปฏิสนธิจิตต่างกันแล้วใช่ไหม เกิดเป็นมนุษย์กับเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย พวกนี้ก็ต่างกัน เพราะว่าเป็นผลของอกุศลกรรม จะเกิดเป็น มนุษย์ เป็นสุขติภูมิ สวรรค์ เทพพวกนี้ไม่ได้เลย ต้องเกิดในอบายภูมิ ๔ เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในนรก นี่คือผลของการเกิด

    แต่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็ต่างกันแล้ว ถึงแม้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็ต่างกันไปตามกรรมอีก ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่ไม่มีกำลัง อ่อนมาก ขณะนั้นก็มีอกุศลกรรมเบียดเบียนได้ ทำให้บุคคลที่เกิดแม้ไม่เกิดในอบายภูมิ เกิดในมนุษย์ได้แต่ก็เป็นผู้ที่พิการ บ้า ใบ้ ตั้งแต่กำเนิด ขณะนั้นเป็นกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ นี่คือความต่างกันของผู้ที่เกิดในมุษย์เป็นผลของกุศลกรรม ฉะนั้นจิตของเขาเป็นกุศลวิบาก แต่เป็นอเหตุกะ คือไม่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ พื้นฐานของจิตก็จะต่างกับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยผลของกุศลกรรมที่ไม่ใช่กุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก แต่ปฏิสนธิด้วยจิตประเภทที่เป็นกามาวจรวิบากที่เป็นมหาวิบาก เพราะฉะนั้นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลที่พิการตั้งแต่กำเนิด ก็จะเป็นผู้ที่ต่างกันอีก เพราะว่าบางท่าน กุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาให้ผล เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็มี อโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นกุศลก็ให้ผลมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ถึงแม้เป็นวิบากก็มี ๒ ประเภท คือวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ และวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ แล้วแต่ว่าจะ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ บางคนก็เกิดพร้อมด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็สามารถที่จะฟังพระธรรมเข้าใจ อบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะถึงการเป็นฌาณจิตเวลาที่อบรมสมถภาวนา หรือสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นก็เป็น "สเหตุกะ"

    ผู้ฟัง จิตชาติวิบากมีทั้งอเหตุกะ และสเหตุกะ ส่วนจิตชาติกิริยาไม่มีเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตชาติกิริยาก็เหมือนกัน กิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะก็มี ที่เป็นสเหตุกะก็มี ถ้าเป็นกิริยาจิตที่เป็นสเหตุกะก็เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะ

    ผู้ฟัง บุคคลที่เกิดมาพิการก็ด้วยสันตีรณกุศลวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อุเบกขาด้วย คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เกิดมาในภูมิมนุษย์

    ผู้ฟัง มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกะจิต ซึ่งต่างกับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และก็ยังต่างกับผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วย ๓ เหตุ ไม่ใช่เพียง ๒ เหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็น ๓ เหตุ เป็นติเหตุกบุคคล เพราะฉะนั้นก็จำแนกบุคคลตามเหตุได้ เป็นอเหตุกบุคคล เรารู้เลยใคร อยู่ที่ไหน แล้วก็เป็นทวิเหตุกบุคคล แล้วก็เป็นติเหตุกบุคคล

    อ.วิชัย ถามว่า ขันธ์อะไรที่เป็น "นเหตุ"

    ผู้ฟัง รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์

    อ.วิชัย ขันธ์อะไรอีกบ้าง

    ผู้ฟัง เวทนาขันธ์ กับสัญญาขันธ์

    อ.วิชัย สังขารขันธ์ที่ไม่ใช่เหตุมีไหม

    ผู้ฟัง เจตสิกที่เหลือจากเหตุ ๖ คือ ๔๔ ประเภท

    อ.วิชัย ที่เหลือ ๔๔ เพราะว่าต้องตัดเวทนาขันธ์ และ สัญญาขันธ์ออกไปด้วย
    ถามว่า กุศลขันธ์เป็นสเหตุกะ หรือ อเหตุกะ

    ผู้ฟัง สเหตุกะ

    อ.วิชัย ขันธ์ที่เป็นอกุศลเป็นสเหตุกะหรืออเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นสเหตุกะเหมือนกัน

    อ.วิชัย ขันธ์ที่เป็นวิบาก ที่เป็นอเหตุกะมีไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    อ.วิชัย อย่างเช่นที่เป็นอกุศลวิบาก เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสที่ไม่ดี ก็เป็นอเหตุกะ หรือว่า ที่เป็นอเหตุกกุศลวิบากก็มี ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสที่ดี ก็เป็นกุศลวิบาก แล้วก็เป็นอเหตุกะด้วย

    ท่านอาจารย์ ขอถามว่าขณะนี้วิบากเป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกะก็มี สเหตุกะก็มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เมื่อใดที่เป็นสเหตุกะ และเมื่อไหร่ที่เป็นอเหตุกะ

    ผู้ฟัง เมื่อเราเห็นเป็นวิบากจิตประเภทอเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อใดเป็นสเหตุกะ ขณะที่เราอยู่ที่นี่ก็มีวิบากจิตนี่แน่นอน แต่เป็นวิบากประเภทไหน

    ผู้ฟัง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ประกอบด้วยเหตุหรือไม่ประกอบด้วยเหตุ ขณะที่กำลังอยู่ตรงนี้มีวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าทางตา ขณะที่เราเห็นเป็นวิบากจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะไหนเป็นวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง ภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะว่าภวังคจิตต้องเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิ และไม่มีใครพิการบ้า ใบ้ บอด หนวก ที่จะเป็นอเหตุกกุศลวิบากสันตีรณะ แต่ว่าก็เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยเหตุ แล้วแต่ว่าจะ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นภวังค์สลับกับเห็น สลับกับได้ยิน สลับกับแต่ละวาระของจิต ขณะนั้นก็เป็นวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ แต่เวลาที่ทำกิจเห็น ได้ยิน เหล่านี้ วิบาก ๑๕ ดวงนั้นไม่ประกอบด้วยเหตุ

    อ.กุลวิไล ดูเหมือนตอนตื่นเราจะไม่รู้ลักษณะของภวังค์ แต่จริงๆ แล้วภวังคจิตเกิดขึ้นคั่นระหว่างวาระของวิถีจิต ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวารดับไป ทางมโนทวารจะเกิดสืบต่อจะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วภวังคจิตก็ทำกิจดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนี้ ขณะที่หลับสนิทไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ขณะนั้นไม่มีโลกปรากฏ ขณะนั้นหลับสนิทเพราะว่าไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ แต่จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์เพราะภวังคจิตก็มีอารมณ์เหมือนกัน แต่อารมณ์ของภวังคจิตไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังคจิต และจุติจิตของชาตินี้เอง แล้วก็เป็นอารมณ์เดียวกับชวนจิตที่เป็นชวนะสุดท้ายก่อนที่จุติจิตจะเกิดขึ้น ฉะนั้นนี่ก็คือภวังคจิตที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้จักอเหตุกจิตที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุ ก็คือขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะที่รู้กระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งจากการศึกษาก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นผลของกรรม แล้วก็เป็นกิจที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุ

    อ.ธิดารัตน์ นอกจากวิบากจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเราเรียกกันว่าทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงจะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วก็ยังมีสัมปฏิจฉันนะ ๒ และสันตีรณะ ๓ ก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ส่วนในขณะปัจจุบันอย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้วแม้กระทั่งวาระของวิถีจิตแต่ละวาระก็จะต้องมีภวังคจิตซึ่งก็เป็นชาติวิบาก สำหรับบุคคลที่ไม่ได้พิการก็จะต้องประกอบด้วยเหตุอย่างน้อยเหตุ ๒ แต่ถ้าเป็นบุคคลที่พิการ ภวังคจิตเขาก็ไม่ประกอบด้วยเหตุ และถ้าเป็นวิถีที่จิตสามารถจะเกิดขึ้นได้ครบ ก็จะมีตทาลัมพนะด้วยอีกขณะหนึ่งก่อนที่วิถีจิตจะสิ้นสุดวาระ แต่ตทาลัมพนะก็จะจำแนกโดยรายละเอียดมาก จะมีทั้งสเหตุกะ และอเหตุกะที่ทำกิจนี้ได้

    ท่านอาจารย์ ถามว่าขณะที่นอนหลับสนิทแล้วก็ไม่ได้ฝันเป็นภวังค์ เพราะยังไม่ใช่คนที่จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังมีจิตที่เกิดดับดำรงภพชาติ ภวังคจิตในขณะที่กำลังหลับสนิท กับภวังค์ที่คั่นระหว่างวิถีแต่ละทวาร เช่น ทางตา ไม่ใช่ทางหู เพราะฉะนั้นจากวิถีจิตทางตาซึ่งดับไปก่อนที่วิถีจิตทางหูจะเกิดได้ยินเสียง จะต้องมีภวังคจิตคั่นทุกครั้งไป ภวังคจิตที่คั่นระหว่างวิถีกับภวังคจิตที่หลับสนิทเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ เปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้เลย ตลอดชาติ ต้องเป็นอย่างนี้ ยังเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่สิ้นสุดกรรมที่จะทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ