พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
ตอนที่ ๖๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะแรกที่ยังไม่ทันเห็นเลย จะมีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยเหตุซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อเหตุกะ”
สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ที่กล่าวถึง จิตเห็นชั่วขณะสั้นมากเลย เกิดแล้วดับ ทำกิจเห็นแล้วดับ จิตได้ยินก็สั้นมาก เกิดขึ้นทำกิจได้ยินแล้วดับ จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบกายก็สั้นมาก จิตทุกขณะสั้นมาก จิตทุกขณะมีอายุเพียงชั่วขณะที่เกิดแล้วก็ตั้งอยู่คือยังไม่ดับ แล้วก็ดับไปแสนเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโลกุตตรจิต รูปาวจรจิต หรือจิตใดๆ ต้องเหมือนกันทั้งหมดคือมีอายุที่สั้นมาก เพราะฉะนั้นเพียงแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสยังไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลยเป็นอเหตุกจิต ต่อไปเราสามารถที่จะจำอเหตุกจิต ๑๘ ดวงด้วยความเข้าใจ และไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อ แต่สามารถที่จะเข้าใจถึงการเกิดดับสืบต่อตามลำดับด้วย
ผู้ฟัง คำว่า “วิบาก” หมายรวมไปถึงมโนวิญญาณด้วยหรือไม่ กลุ้มใจเป็นวิบากหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้ากล่าวถึงเหตุจะต้องแยกให้ชัดเจน เมื่อกล่าวถึงทางใจ การรู้อารมณ์ทางใจ เช่นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น และไม่คิดนึกคือไม่ฝันด้วยนั่นคือภวังค์ตลอด แต่เวลาที่ฝันคือมโนทวารวิถีจิต เพราะว่าขณะนั้นจิตคิดนึกโดยที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่มีเรื่องที่คิด เห็นคนเดินทางไปที่ไหน พูดกับใคร เป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมด
เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงทางมโนทวารวิถีหมายความว่าเมื่อภวังคจิตดับแล้วก็ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป เมื่อกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายคือ"ภวังคุปัจเฉทะ" เป็นชื่อภาษาบาลีที่มีความหมายในภาษาไทยว่ากระแสภวังค์ขณะสุดท้าย เพราะว่าภวังคจิตจะไม่เกิดขณะเดียวจะเกิดดับสืบต่อเป็นระยะที่ยาวนานที่ปรากฏในขณะที่กำลังหลับสนิท แต่เวลาอื่นก็มีภวังคจิตแต่ไม่ปรากฏเพราะเป็นระยะที่สั้น ถ้ายาวมากก็เป็นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้ฝันเลยขณะนั้นเป็นภวังค์ กระแสภวังค์จะเกิดดับสืบต่อจนกว่าวิถีจิตจะเกิด ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป
ภวังคจิตก็รู้อารมณ์ จิตต้องรู้อารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย กระแสภวังค์สุดท้ายซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า "ภวังคุปัจเฉทะ" แล้ววิถีแรกเกิดทางใจ ขณะนี้ไม่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว แต่จะเกี่ยวกับทางใจซึ่งจะเห็นได้ตอนที่ฝัน เห็นชัดๆ เลยว่าขณะนั้นมีการคิดนึกเรื่องต่างๆ โดยอาศัยทวารใด ต้องมีทวาร เพราะว่าเฉพาะภวังคจิต ปฏิสนธิจิต จุติจิต ๓ ขณะเท่านั้นที่รู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยเพราะโลกไม่ได้ปรากฏ ขณะแรกที่เกิด และแม้ขณะสุดท้ายที่จะจากโลกนี้ไป หรือขณะที่กำลังเป็นภวังค์ ไม่มีอะไรปรากฏเลย จะไม่มีชื่อเสียง ไม่มีตัวตน ไม่มีความคิดใดๆ ทั้งหมดนั่นคือภวังค์ ดังนั้นเมื่อเกิดการคิดขึ้นมาจึงไม่ใช่ภวังค์แล้ว ภวังคจิตคิดไม่ได้ เป็นจิตคนละประเภท คนละขณะ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเกิดฝัน คือ "คิด" ต้องไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นภวังคจิตขณะสุดท้ายนั่นเองเป็นมโนทวาร เพราะว่าทวารมี ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร ถ้าไม่มีทวารคือไม่มีภวังคุปัจเฉทะ จิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์หรือจะคิดนึกไม่ได้เลย ต้องเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ตามปัจจัยคือสภาพของจิตนั่นเองเมื่อเกิดแล้วดับ การดับไปของขณะจิตก่อนก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ที่เราได้ยินในงานสวด วิคตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการที่ต้องปราศไปก่อน หมดไปก่อน จิตขณะก่อนต้องหมด จิตขณะต่อไปจึงเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ วิถีจิตจะเกิดไม่ได้เลย ต่อเมื่อภวังค์ขณะสุดท้ายดับ วิถีจิตจึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นภวังคุปัจเฉทะนั่นเองคือ มโนทวาร และจิตที่เกิดสืบต่อเป็นมโนทวารวิถีจิต ซึ่งไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้กระทบสัมผัสกาย ด้วยเหตุนี้เมื่อที่พูดถึงอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็จะกล่าวถึงจิต ๑๘ ประเภทที่ไม่ประกอบด้วยเหตุว่ามีอะไรบ้าง ก็เริ่มตั้งแต่ทางปัญจทวาร ส่วนทางมโนทวารนั้นเริ่มด้วยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ต่อจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศลเลย โดยที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน
ขณะที่ฝันเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นกิริยาจิต เมื่อคืนนี้ใครฝันบ้าง ดิฉันฝันทุกคืน ไม่มีสักคืนซึ่งจะไม่ฝัน
ผู้ฟัง ดิฉันคงสะสมมาไม่ค่อยดี ชอบฝันว่าขึ้นไปข้างบนแล้วก็ตุ๊บลงมา แล้วต้องตื่นตอนนั้น แบบนี้ฝันเป็นอกุศลจิตอย่างรุนแรง คงไปทำอะไรไม่ดีไว้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เห็นได้เลยว่าไม่ได้ขึ้นไปที่สูงจริงๆ และไม่ได้ตกลงมาจริงๆ ด้วยแต่คิด เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ได้ฝันว่าขึ้นไปที่สูงแล้วตกลงมาขณะนั้นจิตเป็นภวังค์ เป็นกระแสภวังค์ แต่เมื่อมีความคิดหรือฝัน (ที่ใช้คำว่าฝันเพราะว่าไม่จริง) ที่กล่าวว่าเราขึ้นไปที่สูงๆ แล้วตกลงมา จิตขณะแรกต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรกทางใจ เพราะเหตุว่า เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นทวาร สำหรับ ๕ ทวารนี้เป็นรูป จิตที่อาศัย ๕ ทวารนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวารนั้นๆ จึงเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดจึงรู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทางนั้น แต่เมื่อคิดนึกไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายแต่อาศัยภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร เมื่อดับไปแล้ว จิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนะเกิดขึ้นนึกถึง ทำไมไม่ฝันเรื่องอื่น แต่ต้องฝันเรื่องนี้ บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะว่าจิตมีปัจจัยที่จะคิดอย่างนี้
ผู้ฟัง อกุศลจิตในขณะที่กลัวจริงๆ มันสะสมให้เราเกิดคิดนึกในฝันหรือไม่
ท่านอาจารย์ เมื่อคิดเกิดขึ้นขณะนั้น หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จิตอะไรเกิด ลองคิดดู ฝันว่าขึ้นไปที่สูงๆ แล้วก็ตกลงมา มีจิตหลายขณะแล้วใช่ไหม คิดถึงด้วยอะไร และขณะที่ตกลงมา ตกใจหรือไม่ เป็นจิตต่างประเภทกันแล้วใช่ไหม ขณะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของศีล ไม่ใช่เป็นเรื่องความสงบของจิต ไม่ใช่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต ฝันด้วยอกุศลจิต หรืออกุศลจิตนั่นเองที่ฝันหรือคิดทางใจ วิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต ต่อจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ฟัง ถ้าฝันว่าได้ทำความดี จะเรียกว่ากุศลจิตไหม
ท่านอาจารย์ กุศลจิตคิด ขณะนั้นไม่ได้ไปฆ่าใคร ไม่ได้โกรธ ไม่ได้ทำอะไรเลย
ผู้ฟัง แต่ถ้าฝันไปฆ่าคน
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลจิต
ผู้ฟัง แต่ถ้าฝันทำความดี ทำบุญทำทาน
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุหลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการฝันก็ไม่ใช่อกุศลเสมอไป
ท่านอาจารย์ จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลเท่านั้นที่ฝัน พระอรหันต์ไม่ฝันเลย
ผู้ฟัง มี ๒ อย่างที่ฝัน กิริยาจิตไม่ฝัน
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีกิริยาจิต ไม่มีกุศลหรืออกุศลอีกต่อไป
ผู้ฟัง แล้วขณะนั้นเป็นการสะสมด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ทุกขณะที่เกิด ดับไป ไม่ไปเปล่า แต่ทิ้งรอยสะสมไว้ในจิตขณะต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสะสมของจิต อัธยาศัยต่างๆ กัน บางคนมีอัธยาศัยให้ทาน แต่ทานก็ยังต่างอัธยาศัยอีก บางคนชอบให้ทานคนพิการ บางคนชอบให้ทานคนป่วยเจ็บ หรืออะไรก็แล้วแต่ บางคนก็มีอัธยาศัยในศีล บางคนก็มีอัธยาศัยในภาวนา ก็เป็นเรื่องของแต่ละขณะจิต ถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็ตาม กุศล อกุศลทั้งหลายก็สะสมสืบต่อ
ผู้ฟัง ฉะนั้นถ้าหากว่าเราฝันที่เป็นอกุศลตลอด ก็เท่ากับเราสะสมไป
ท่านอาจารย์ เตือนแล้วว่าเรามากด้วยอกุศล แม้ฝันยังเป็นอกุศล ลองคิดดูว่าอกุศลที่เราสะสมมามากเพียงใด นี่ก็คือความวิจิตรของความคิด เห็นอย่างเดียวกันแต่คิดคนละอย่างก็เป็นได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะเห็นความวิจิตรของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะที่ดับไป ก็สะสมสืบต่อทุกอย่างทุกประการ
ผู้ฟัง จิตที่สะสมจะเป็นเฉพาะชาติกุศล และอกุศลเท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กิริยาด้วย
ผู้ฟัง เพราะอะไรกิริยาจิตจึงสะสมได้
ท่านอาจารย์ เป็นชวนจิต เกิดดับสืบต่อ
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ในภูมิ ...
ท่านอาจารย์ สะสมเป็นกิริยาด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงมีความเป็นเอตทัคคะมีอัธยาศัยต่างๆ กัน สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว มโนทวารวิถีหลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตคือจิตคิดเกิดขึ้นเป็นขณะแรกวิถีจิตแรกดับไปแล้วต้องเป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง ถ้าโดยภูมิของจิต การสะสมจะอยู่ในกามาวจรภูมิ ถ้าเป็นโลกุตตรภูมิมีการสะสมไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกเลยว่าโลกุตตรภูมิสะสม แล้วก็เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดจะไม่ได้เกิดซ้ำกัน ๗ ขณะเหมือนอย่างชวนะอื่นเลย
อ.ธิดารัตน์ มีข้อความแสดงเอาไว้ว่าการสะสมจะเป็นกามาวจรที่เป็นโลกียะ โลกียกุศลหรืออกุศล และกิริยาของพระอรหันต์ ส่วนโลกุตตระไม่สะสม และก็ไม่นำทั้งจุติ และปฏิสนธิ เพราะโลกุตตรกุศลเกิดขึ้นให้ผลเป็นโลกุตตรวิบากในขณะต่อไปเลย จะไม่ให้ผลอย่างอื่นอีก
ท่านอาจารย์ จากภวังค์ วิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิตที่จะต้องเข้าใจ จะได้ไม่ต้องจำวิบากจิตจะเกิดเมื่อใด กุศลจิตจะเกิดเมื่อใด แต่ให้ทราบว่าขณะที่เป็นภวังค์เป็นวิบาก เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิ แต่ก็จะต้องมีวิบากอื่นที่จะให้ผลในชาตินั้นด้วย แต่การให้ผลต้องเป็นการเป็นไปตามลำดับของการเกิด จากภวังคจิตจะให้มีจิตเห็นทันทีไม่ได้ เพราะว่าภวังค์เป็นวิบาก เป็นวิบากที่เป็นภวังค์จนกว่าจะมีปัจจัยที่วิถีจิตจะเกิดเมื่อใด เช่น ทางตา ก็เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้กระทบจักขุปสาท ถ้าสิ่งนี้ไม่กระทบจักขุปสาท จิตเห็นไม่เกิด ภวังค์ก็ยังคงเป็นภวังค์อยู่ต่อไป หรือถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาท และไม่ถึงกาลที่วิบากจิตจะเกิดขึ้น ภวังค์ก็เป็นภวังค์ต่อไป
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นภวังค์ ก็ต้องถึงกาลที่วิบากอื่นจะให้ผลด้วย แต่การที่จะมีการเห็น การได้ยินเมื่อใด ก็ต้องแล้วแต่กาลของกรรมของบุคคลนั้นที่จะให้ผล ซึ่งเมื่อจะให้ผล วิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตยังไม่ป็นผลของกรรมแต่เป็นกิริยาจิตซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก และไม่ประกอบด้วยเหตุเพราะว่าเพียงขณะแรกที่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทวารใด จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะไม่ได้
ผู้ฟัง คนไม่เรียบร้อยให้สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเรียบร้อย เมื่อมาคิดดูแล้วเป็นเรื่องที่ยาก และยาวนาน เราจะไม่บรรลุนิพพานก่อนหรือ เพราะว่าพระอรหันต์บางองค์ก็ยังมีกิริยาอาการไม่เรียบร้อย
อ.ธีรพันธ์ ถ้าไม่เรียบร้อยก็ควรจะสะสมฝ่ายกุศลดีกว่า เพราะว่ามัวไปพะวงถึงเรื่องความไม่เรียบร้อย ปัญญาก็ไม่เจริญ ควรจะเจริญปัญญามากกว่าที่จะไปพะวงเรื่องนั้น
ท่านอาจารย์ เหตุใดห่วงว่าเรียบร้อยแล้วไม่บรรลุมรรคผล ควบคู่ไปด้วยกันไม่ได้หรือ หากได้ศึกษาพระวินัย หรืออ่านพระวินัย ก็จะเห็นได้ว่ากาย วาจา ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ภิกษุประพฤติปฏิบัติงามมาก แล้วเหตุใดเราจึงไม่เห็นว่าทุกอย่างหัดได้จะละเลย มุ่งแต่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วก็ยังไม่เรียบร้อยอยู่ หรือว่าก็ควรจะกระทำด้วย
ผู้ฟัง แต่เราคงจะไม่เรียบร้อยขนาดนั้น เพราะว่ามันนานมาก
ท่านอาจารย์ ท่านที่เรียบร้อย แต่ก่อนท่านอาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้ แต่ท่านก็เรียบร้อยได้ อดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ทุกอย่างต้องอาศัยความอดทน
ผู้ฟัง อย่างเรากว่าจะรู้ธรรม ขันติก็เป็นตบะอย่างยิ่งเช่นกัน
ท่านอาจารย์ คงจะไม่มีใครที่ไม่โกรธใช่ไหม คงจะไม่มีใครที่ไม่ขุ่นเคือง แต่สามารถที่จะมีกาย วาจาที่ไม่แสดงออกได้ใช่ไหม นี่ก็คือขันติ ด้วยความเมตตา ด้วยความเป็นมิตร ด้วยความอดทน คือกุศลทั้งหลายต้องอาศัยกาลเวลา และความอดทนด้วยที่เห็นประโยชน์ว่าอะไรดีกว่าอะไร ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนที่เรียนรู้อะไรเยอะแยะแต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามเลย นี่ก็ผิดจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม บางทีอาจจะไปเห็นอย่างอื่นสำคัญ โดยที่คิดว่าต้องรู้เรื่องนั้น ต้องอ่านเรื่องนี้ ต้องเข้าใจคำนี้ อะไรต่างๆ แต่ลืมจุดประสงค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม "ธรรม" คือสิ่งที่มีจริงๆ ใครสามารถที่จะเข้าใจได้ นั่นคือตรงกับจุดประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีการแปลพระธรรมที่จารึกไว้เป็นภาษาบาลีออกสู่ภาษาต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้เข้าใจอรรถ ได้เข้าใจสภาพธรรม และประพฤติปฏิบัติตาม
ทราบได้เลยว่า เมื่อเริ่มสนใจในพระธรรมนั้นคือ "ละ" หรือ "สละความไม่รู้" เพื่อการที่จะเห็นว่าเราเกิดมาแล้วเราไม่รู้ แล้วก็มีผู้รู้ที่สามารถจะทรงแสดงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นจริงให้เกิดความเข้าใจถูกได้ แล้วเราจะไม่สนใจ จะยังคงสะสมความไม่รู้ต่อไป ควรหรือไม่ควร คือทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง จุดประสงค์คือให้เห็นถูก ให้เข้าใจถูกในสภาพธรรมจนกว่าสามารถที่จะประจักษ์แจ้งหรือรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นได้ ก็คือการขัดเกลากิเลสทั้งหมดด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะมีความรู้ แต่ว่าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม แล้วก็เข้าใจว่าเห็นถูกตามคำที่เข้าใจ แต่ว่าไม่ได้เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล
อ.สมพร มีนักศึกษาขอความละเอียดในการพิจารณาลักขณาทิจตุกของ"ขันติ"ในเจตสิก ๕๒ และลักขณาทิจตุกของวิริยะด้วย
ท่านอาจารย์ ได้ยินคำใหม่อีกคำหนึ่งแล้วใช่ไหม คือ "ลักขณาทิจตุกะ" เวลาที่ได้ยินภาษาบาลี ถ้าเราไม่เข้าใจเราจะรู้สึกว่ายาก และจะต้องพูดตามโดยไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าผ่านคำไหนขอให้ได้มีโอกาสได้ฟัง และได้เข้าใจความหมายของคำนั้นด้วย
อ.วิชัย "ลักขณาทิจตุกะ" คือ หมวด ๔ คือ มีลักษณะ ๑ มีกิจ ๑ มีอาการปรากฎ ๑ และ เหตุใกล้ ๑ ซึ่งจะมี ๔ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ คงจะทราบ ภาษาไทยเราก็ใช้บ่อยๆ “ลักขณะ” เราก็ใช้ “อาทิ” เราก็ใช้ “จตุกะ” เราก็ใช้ จตุกะ คือ สี่ ลักขณะหรือลักขณา รวมกันกับอาทิ ก็เป็น “ลักขณาทิจตุกะ” ลักขณะของสภาพธรรม หรือธรรมหมวด ๔ หมายความว่า ธรรมอย่างเดียวทรงประจักษ์แจ้ง และทรงแสดงความเป็นสภาพธรรมนั้นไว้ ๔ ประการ เริ่มด้วยลักษณะ เมื่อจะกล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เช่น จิตก็จะกล่าวทั้ง ๔ คือ ลักขณะคือลักษณะของจิต รสะ คือ กิจการงานของจิต ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ ปทัฏฐานะ คือเหตุใกล้ให้เกิด มี ๔ อย่าง
นี่แสดงให้เห็นว่า หากเรารู้เรื่องจิตเพียงแค่ลักษณะเดียว ว่าจิตมีลักษณะที่เป็นธาตุไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย เป็นสภาพรู้ แต่กิจของจิตก็มี และมีอาการปรากฏ ปัจจุปัฏฐาน ก็มี และ ปทัฏฐานะ เหตุใกล้ให้เกิดจิตนั้นก็มี เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงลักขณะเป็นต้นของสภาพธรรมโดยกล่าวถึงทั้งกิจ อาการที่ปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด แต่ส่วนใหญ่จะเรียงเป็น ลักขณะ รสะ ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐานะ ลักขณะก็ทราบอยู่แล้ว รสะ หมายถึง กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และ ปทัฏฐานะ คือ เหตุใกล้ให้เกิด
ผู้ฟัง เมื่อเราใส่บาตร กุศลขั้นทาน มีสติเป็นไปในทาน มีสติเป็นไปในบัญญัติ โดยขณะที่ใส่บาตร ไม่ได้ระลึกรู้รูปนามเลย แบบนี้ก็ถือว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ ถูกไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดกับกุศลจิต และเป็นธรรมฝ่ายกุศล แต่ส่วนชื่อจะใช้คำว่าสัมมา หรือไม่ใช้ โดยมากจะใช้เวลาที่สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่เกี่ยวกับการอบรมเจริญภาวนา แต่ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าสติจะเป็นอกุศล จึงต้องเป็นกุศล
ผู้ฟัง คำว่า “สัมมา” ยกตัวอย่างคำว่า “สัมมาสมาธิ” ก็ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย คือสัมมาทิฏฐิ ถูกไหมครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าสมาธิเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ก็อยู่ที่ๆ ใช้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคำว่า “สัมมา” อย่างสัมมาสมาธิ ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องมีรูปนามเป็นอารมณ์ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดกับสมถภาวนา เป็นสัมมาสมาธิที่ไม่มีรูปนามเป็นอารมณ์ นี่เป็นเรื่องของภาษาซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และเวลาที่ใช้คำนั้นจำกัดเฉพาะ แคบ หรือกว้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป
ข้อสำคัญที่สุดคือ ความรู้ของเราจริงๆ แม้แต่เพียงเรื่องลักษณะของจิต ทั้งๆ ที่ทรงแสดงไว้อย่างนี้ถึง ลักษณะ ถึงกิจ ถึงเหตุใกล้ให้เกิด ถึงอาการที่ปรากฏ เรารู้ได้เท่าไร หรือเรายังไม่รู้เลย เพียงแต่ทราบว่าขณะนี้มีจิตเพราะมีอารมณ์ปรากฏจึงรู้ได้ว่าถ้าไม่มีจิตอารมณ์จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ เพราะจิตนั่นเองเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ นี่ก็แสดงว่าเราเริ่มมีความเข้าใจในลักษณะของจิต แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่เริ่มรู้ว่าถ้าใช้คำว่า “จิต” ต้องหมายความถึงสภาพธรรมซึ่งมีจริง เป็นธรรมจะใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา+ตุ” ก็ได้ ใช้คำว่า “ธรรม” ก็ได้ และเมื่อเป็นจิตก็ต้องเป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปโดยประการทั้งปวง ไม่มีลักษณะของรูปใดๆ เจือปนเลย
แต่แม้กระนั้นจะรู้ได้ว่ามีจิตก็เพราะเหตุว่าขณะนี้มีอารมณ์กำลังปรากฏ และลักษณะของจิตก็คือสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ คือในขณะนี้เอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้มีชื่ออย่างนี้ ทรงแสดงไว้อย่างนี้ แต่เราต้องค่อยๆ เข้าใจว่าจิตไม่ใช่รูป ไม่ใช่เจตสิก และเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ด้วย นี่คือความเข้าใจในอรรถซึ่งเป็นกิจ หรือเป็น รสะของจิตว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน และขณะนี้แม้ว่าจิตเกิดดับโดยที่เรายังไม่มีการประจักษ์แจ้งเลยเพราะขณะนั้นยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็จะไม่ใช่ขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120