พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80


    ตอนที่ ๘๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    อ.ธิดารัตน์ ในชีวิตประจำวันก็จะมีกิเลสเกิดมาก เพราะฉะนั้นศึกษา และค่อยๆ เข้าใจกิเลสต่างๆ โดยละเอียดขึ้น ความเข้าใจนั้นก็จะสะสมไว้ เมื่อมั่นคงก็สามารถจะระลึกขึ้นมาได้ ด้วยกุศลจิต ด้วยสติที่ประกอบด้วยปัญญา ระลึกรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร กิเลสก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เช่น เห็นที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างลักษณะที่เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ถูกเห็นเป็นรูปธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจแบบนี้โดยการศึกษา และเมื่อมีลักษณะนั้น ในชีวิตประจำวันจะมีเห็นมากมาย ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เมื่อไหร่ที่เข้าใจจริงๆ มั่นคงขึ้น โดยที่ว่าไม่มีตัวเราไปคอยจดจ้อง หรือต้องการให้เกิด เมื่อความเข้าใจมั่นคง สภาพธรรมทำกิจนั้นของเขาเองคือระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง รูปธรรมอย่างหนึ่ง ทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะเจริญสติไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก่อนอื่นจะเจริญสติหรือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องเจริญสติเลยใช่ไหม ถ้ายังไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มีสติ เราก็พลั้งเผลอ วันๆ ก็เห็นนี่เห็นนั้น ลืมตัวไป อย่างนี้เรียกว่าขาดสติใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สติคืออะไร

    ผู้ฟัง ความระลึกรู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ ขณะไหน

    ผู้ฟัง เช่น จิตเราคิดอะไร เราก็รู้ทัน

    ท่านอาจารย์ รู้ทันหมายความว่าอย่างไร จิตคืออะไร

    ผู้ฟัง ความนึกคิดเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะได้ยินเป็นจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง ได้ยินก็เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ทันอะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าได้ยินเสียง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าได้ยินเป็นความคิดนึกใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง ยังไม่ถึงขั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นการนึกตลอด แต่ไม่ใช่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยประจักษ์ หรือโดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่เคยสังเกต เราก็พลั้งเผลอไป

    ท่านอาจารย์ เผลอเป็นเรา หรือ เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นอนัตตาหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ แล้วใครกำลังจะทำอะไร

    ผู้ฟัง ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ถูกแล้วใช่ไหม อะไรที่ไม่ถูกก็ทิ้งไปเลย ถ้าเก็บไว้ก็ยังคงไม่ถูกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีความเข้าใจ ก็เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เข้าใจอะไร เข้าใจขึ้นในลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นอะไร นี่คือเบื้องต้น ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจะชื่อว่าเรียนไม่ได้เลย เพราะเรียนเท่าไหร่ก็ไม่ได้รู้ว่ากำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูป แล้วทำไมไม่เกิดอาการเห็นเลย

    ท่านอาจารย์ คำถามของคุณสุกัญญาก็เหมือนกับจะถามว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วทำไมไม่เห็นเลย ทำไมต้องเป็นภวังค์ก่อน คือความคิดของเราจะคิดอย่างไรก็ได้ เหมือนกับว่าทำไมเราตื่นขึ้นมา เราไม่เห็นเลย หรือว่าเราตื่นขึ้นมา ทำไมเราไม่เป็นกุศลหรืออกุศลเลย ทำไมต้องมีจิตที่เกิดก่อน คำถามเหมือนอย่างนี้ เพราะเหตุว่า เราคิดว่าธรรมต้องเป็นอย่างนี้ จึงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงธรรมเป็นธรรม ธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัย หลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโดยเราไม่รู้เลย เช่น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะแรก ต้องมีปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เราอาจจะรู้ว่าขณะนี้มีเห็นแต่ไม่รู้ว่าเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้าง อย่างมากที่สุดที่จะคิด ด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นตัวตนคือว่าต้องมีจักขุปสาท ต้องตาไม่บอด ถ้าตาบอดก็ไม่เห็น สำหรับเสียงก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคนหูหนวก เสียงก็ไม่ปรากฏ เราคิดได้แค่นี้ แต่เราไม่รู้ถึงความเป็นธรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลง บังคับบัญชาได้ ธรรมต้องเป็นธรรม และธรรมก็เป็นปัจจัย แล้วก็เกิดจากปัจจัยด้วย เช่น ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรก ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีการเกิด อย่างผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมด หลังจากนั้นแล้วแม้ว่าจะมีชีวิตอยู่เป็นปกติ แล้วเป็นประโยชน์ต่อบุคคลมากมาย แต่ก็ไม่ใช่กรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเหมือนกันเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ปัจจัยที่มีอยู่ในจิตนั้นๆ ต่างกัน โดยที่จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นอนันตรปัจจัยที่จะทำจิตขณะต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับ เราจะเคยเป็นใครที่ไหนมีความผูกพัน สนุกสนานรื่นเริง มีทรัพย์สมบัติหรือว่ายากไร้สักเท่าไหร่ ไม่มีทางที่จะเป็นบุคคลนั้นอีกได้เลย แม้แต่จะรู้ก็รู้ไม่ได้ เหมือนประตูที่ปิดสนิท จะกลับมองย้อนไปว่าข้างในหรือข้างหลังมีอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตที่จะเกิดเมื่อมีกรรมเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกันเป็นสหชาตปัจจัย และปฏิสนธิจิตของแต่ละคนเมื่อเกิดดับสืบต่อจากเด็กถึงผู้ใหญ่ก็จะปรากฏอาการของการสั่งสมตั้งแต่อดีตอนันตชาติ ทุกขณะที่เป็นกุศล อกุศล แม้ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไหร่ก็เป็นปัจจัยที่มีกำลัง ที่ได้กระทำมาแล้ว เมื่อได้กระทำแล้วก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ที่จะสะสมไปที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นอีกได้ ปัจจัยนี้ก็คือ " ปกตูปนิสสยปัจจัย "

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิดเป็นกุศล อกุศลอย่างไร ดับไปแล้วก็เป็นส่วนที่จะเป็นกำลังที่เมื่อได้เกิดแล้วก็จะสะสมทำให้อนาคตต่อไปเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นๆ เช่น เราเคยใช้คำพูดอย่างไร มีกิริยาวาจาอย่างไรสิ่งนั้นก็สะสมสืบต่อ ทำให้น้อมไปสู่การที่จะมีกายวาจาอย่างนั้น นี่ก็หลายปัจจัยใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่โดย "สมนันตรปัจจัย" หมายความว่าจิตต่อไปจะเกิดขึ้นเป็นอะไรต้องเพราะสมนันตรปัจจัยของปฏิสนธิจิต ซึ่งเมื่อดับแล้วเป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด เราจะเห็นทันทีไม่ได้ ได้ยินทันทีไม่ได้ ฉันใด เวลาที่รูปกระทบกับจักขุปสาท จะทำให้เห็นทันที ได้ยินทันทีไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นภวังค์อยู่ดำรงภพชาติโดยที่ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย ฉะนั้นเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ อาศัยการกระทบของรูปที่ปสาทนั้นๆ เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด

    วิถีจิต หมายความว่า จิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางนั้น เช่น เสียงที่กระทบหูต้องอาศัยโสตปสาทเป็นรูปที่เป็นทางหรือเป็นทวารที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่กระทบ และยังไม่ดับไป เพราะว่าเสียงยังไม่ดับ และกระทบ เพราะฉะนั้นจะให้จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นเป็นไปไม่ได้ในเมื่อเป็นเสียงกระทบ แล้วภวังค์ขณะนั้นก็มีเสียงกระทบกับปสาทซึ่งจะทำให้จะสิ้นสุดของกระแสภวังค์เพราะมีสิ่งที่กระทบ แต่การที่กระทบแล้วจะได้ยินหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วถึงกาละที่จะให้ผลทำให้จิตเกิดได้ยินหรือไม่ ถ้าไม่ถึงกาละก็กระทบไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นภวังคจลนะ จนกระทั่งรูปนั้นดับก็ไม่มีการได้ยินนั้นเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจการเป็นธรรมโดยถ่องแท้ก็ต่อเมื่อเรารู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ว่าสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ทำให้คนไม่สามารถจะรู้ความจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป สืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏเลยว่าอะไรดับ มีแต่ความทรงจำยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคง แต่แท้ที่จริงขณะนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราวอย่างที่เราเข้าใจเลย แต่มีสภาพธรรมเกิดแล้วดับ แล้วมีความทรงจำในเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่ภวังค์ไหว เพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการได้ยินซึ่งเป็นผลของกรรม จะได้ยินทันทีก็ยังไม่ได้ เพราะว่าเป็นภวังค์ๆ มาตลอดก็จะต้องมีการสิ้นสุดกระแสภวังค์ก่อน เพราะฉะนั้นหลังจากที่ภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ที่เกิดต่อเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย จะใช้คำว่าตัดกระแสภวังค์ก็ได้ จะใช้คำว่าภวังค์สุดท้ายก็ได้ เพราะว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ภวังคจิตจะเกิดต่อไปอีกไม่ได้เลย ต้องเป็นวิถีจิต เพราะเหตุว่ามีอารมณ์กระทบแล้วยังไม่ดับ แล้วถึงกาละที่กรรมให้ผลทางหู เพราะฉะนั้นวิถีจิตขณะแรกต้องมี แต่วิถีจิตขณะแรกโดยการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบว่าไม่ใช่โสตวิญญาณ ไม่ใช่จิตได้ยินทันที ต้องเป็นจิตที่เปลี่ยนสภาพจากภวังค์ เป็นการรู้สึก เป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใดแต่ยังไม่ได้ยิน จนกระทั่งปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตขณะแรก เพราะว่าต่อไปจะทราบว่าวิถีจิตจะเกิดดับสืบต่อจนกว่ารูปนั้นจะดับ เรียกว่าวาระหนึ่งๆ เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้ารูปยังไม่ดับ อาศัยทวารนั้นเอง จิตที่เกิดสืบต่อจึงได้รู้รูปนั้นจนกว่ารูปนั้นจะดับ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่วิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิตที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบได้ทั้ง ๕ ทาง มีชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต มาจากคำว่าอาวัชชนะ (รำพึงถึง) ทวาระ กับ ปัญจะ ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิตเหมือนกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เพราะฉะนั้นกิริยาจิตซึ่งเป็นขณะนี้ยังไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหะเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ทั้งวันจึงมีจิตจำแนกโดยเหตุเป็น ๒ อย่าง คือ จิตที่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย อาจจะเป็น ๑ เหตุ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุก็ได้ แม้เพียงเหตุเดียวก็มีจิตที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “สเหตุกะ” ส่วนจิตที่ไม่มีเหตุเกิดเริ่มด้วยเลยเป็น “อเหตุกะ” เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะมีทั้งอเหตุกจิต และสเหตุกจิต ซึ่งต่อไปเราจะได้เห็นความสำคัญของจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เป็นเพียงผลของกรรมที่ทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ไม่กล่าวโดยปลีกย่อยถึงกิจซึ่งเป็นวิบากด้วย เพราะฉะนั้นจึงทราบได้ว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตอื่นเกิดไม่ได้เลยโดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย

    นี่คือการศึกษาธรรม ไม่ใช่เราไปคิดว่าทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หรือทำไมไม่เป็นอย่างนั้น นั่นคือความคิดของเรา โดยที่ไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นธรรม ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่ก็คือคำตอบที่ว่าเมื่ออารมณ์กระทบแล้วทำไมจึงไม่เห็นทันที ไม่ได้ยินทันที แต่ต้องมีอเหตุกจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุเลย แต่ว่าไม่ใช่ผลด้วย ไม่ใช่วิบากด้วย เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร เป็นกิริยาจิตซึ่งทุกคนมีก่อนจิตเห็น ก่อนจิตได้ยิน ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะแต่มนุษย์ เห็นเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ ประเทศไหน ดินแดนไหน ในนรก เปรต อสูรกาย อย่างไรก็ตาม ก่อนจิตเห็นจะเกิดต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก และก่อนนั้นต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย และก่อนนั้นก็ต้องมีภวังค์ก่อนที่จะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเข้าใจนี้เราก็จะไม่หลงลืม และเกื้อกูลให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะทำให้เราไปเข้าใจว่าเป็นเราได้เลยถ้ามีความเข้าใจจริงๆ

    อ.กุลวิไล ที่กล่าวว่า "จิตนิยาม" เป็นธรรมเนียมของจิต อันนี้จะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเกี่ยวข้องกัน เพราะว่าเป็นเรื่องของสมนันตรปัจจัยนั่นเอง และปัจจัยอื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง พื้นฐานอภิธรรมเป็นอย่างไรในขณะนี้

    อ.อรรณพ ขณะนี้มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    อ.อรรณพ และจิตเกิดโดยปราศจากเจตสิกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีเจตสิกด้วย ขณะนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย บางขณะก็ได้ยินสิ่งที่ปรากฏทางหู นั่นคือรูป ฉะนั้นจิต เจตสิก รูป ก็คือพื้นฐานจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ความละเอียดของจิต เจตสิก รูปก็มีมากมาย ฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมความเข้าใจจริงๆ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่พ้นจากสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และสภาพรู้เกิดประกอบกับจิตก็คือเจตสิก และรูปซึ่งเป็นอารมณ์บ้าง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงรูปที่เป็นทางหรือทวารในการที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นคือพื้นฐานพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน

    อ.ธิดารัตน์ พื้นฐานของพระอภิธรรมก็หมายถึงธรรมที่ละเอียดยิ่ง ก่อนที่เราจะสามารถเข้าใจธรรมที่ละเอียดยิ่งได้ก็ต้องเริ่มเข้าใจตั้งแต่ว่าความจริงในขณะนี้มีอะไรบ้างซึ่งความจริงทุกๆ อย่างก็เป็นพระอภิธรรม สิ่งที่เราควรจะรู้ ก็อย่างเช่นท่านอาจารย์ได้แนะนำจิต จิตมีอยู่กับเราในชีวิตประจำวันที่เรายังมีชีวิตยู่ ทุกคนก็ต้องมีจิต ก็ให้เข้าใจลักษณะของจิตที่มีอยู่กับตัวเราเท่าที่จะเข้าใจได้ นี่คือเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน

    อ.กุลวิไล สำหรับอภิธรรม ซึ่งในอภิธัมมัตถสังคหะท่านให้ความหมายว่าเป็นธรรมอันวิเศษยิ่งโดยความเป็นปรมัตถ์ที่แท้จริง ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก่อนที่จะศึกษาธรรมเราอยู่ในโลกของบัญญัติ แต่ประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรมก็คือเข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพราะถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้วไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือสภาพธรรมแต่ละอย่าง ฉะนั้นพื้นฐานของพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญ ที่จะเป็นเครื่องให้กุศลจิตเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเรามีความเข้าใจถูกในพื้นฐานพระอภิธรรม การที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมก็จะคลาดเคลื่อนจากเราแน่นอน เพราะว่าท่านแสดงถึงความเป็นอนัตตา ก็คือไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้มีลักษณะ เราสามารถจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องจากการศึกษา จากการฟัง และจากการพิจารณาสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญ ถ้าหากเราไม่มีความเข้าใจถูกสำหรับพื้นฐานพระอภิธรรมแล้ว ถึงแม้เราอ่านพระสูตร ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดเห็นเป็นความเป็นอัตตาตัวตนได้ เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญมาก

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่เป็นเพียงชื่อที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจริง และ “อภิ” ก็หมายความถึงละเอียดยิ่งสำหรับผู้ที่รู้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่สนใจเลยแม้แต่สิ่งที่มีในขณะนี้เป็นธรรม อาจจะเข้าใจผิดแล้วก็ไปแสวงหาธรรม ทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้เห็นธรรมหรือว่าเกิดธรรม แต่ความจริงขณะนี้เป็นธรรมที่มี แต่ว่ารู้ธรรมนี้แล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มีจริง จากการที่คนไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจละเอียดขึ้นๆ จนถึงการรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือปัญญาที่สมบูรณ์ที่สามารถที่จะอบรมเจริญได้ที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วไม่มีหนทางอื่นเลย ถ้าไม่ใช่ด้วยปัญญาของเราเอง ที่ฟังแล้วก็ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะไปอาศัยการทำอย่างอื่น หรือทำตามคำอื่นที่ไม่ใช่เป็นทางที่จะให้ปัญญาของเราเริ่มเกิด เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีทีละเล็กทีละน้อย แต่ด้วยความมั่นคงที่จะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังถูก แต่ความเห็นของเราในสิ่งที่กำลังมี ที่เป็นธรรมถูกหรือยัง เรื่องถูกคือเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ขณะนี้กำลังเห็นยังเป็นเราหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เราก็ยังไม่ต้องอบรมเจริญอะไรอีกแล้วใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ตรงก็คือยังรู้ว่าแม้จะทรงแสดงสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นชั่วขณะที่เล็กน้อยมากเมื่อปรากฏขณะที่จิตเห็น และจิตเห็นนั้นก็ดับไป นี่ก็แสดงถึงความห่างไกลของเราที่เมื่อยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ก็ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจเป็นอุปนิสัย เป็นการที่ปัญญาจะค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะไม่มีทางเลยที่จะเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่รู้อะไร หรือโดยไม่ได้อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเครื่องแสดงให้เรารู้ว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังในระดับไหน ระดับสุตมยปัญญา คือ ฟังเข้าใจ แต่ว่าการไตร่ตรองของเราบางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี ก็อาจจะน้อยมาก เราจะมีการไตร่ตรองในขณะที่เราฟัง แต่หลังจากที่ฟังแล้วก็เป็นอื่นไป ออกจากห้องนี้ไปก็เป็นเรื่องอื่น กลับไปถึงบ้านก็เป็นเรื่องอื่น แต่เมื่อถึงกาละที่จะได้ฟัง เราก็ฟังมีปัจจัยจะให้ฟัง นี่คือการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่ละเอียดขึ้นๆ จนกว่าจะสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา แม้ขั้นการฟังจนกระทั่งถึงการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะไหนก็ได้ ในขณะนี้ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้มีการระลึก และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น การที่เราฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นธรรม มีแสดงไว้โดยละเอียดในส่วนที่เป็นพระอภิธรรมปิฎก แต่ใครก็ตามที่ไม่มีพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่มีทางที่จะเข้าใจข้อความในพระอภิธรรมปิฎกได้ ถ้าทุกคนจะพิสูจน์ก็ได้ สักครู่หนึ่งก็ออกไปข้างนอกแล้วก็ขอหนังสือที่เป็นพระอภิธรรมปิฎกอ่าน จะรู้ได้เลยว่าถ้าไม่มีพื้นฐานไม่สามารถที่จะเข้าใจความหมายของ กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา หรือ ธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นอัพยากตะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ