พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81


    ตอนที่ ๘๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าทุกคนจะพิสูจน์ก็ได้ สักครู่หนึ่งก็ออกไปข้างนอกแล้วก็ขอหนังสือที่เป็นพระอภิธรรมปิฎกอ่าน จะรู้ได้เลยว่าถ้าไม่มีพื้นฐานไม่สามารถที่จะเข้าใจความหมายของ กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา หรือธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นอัพยากตะ เพราะเป็นเราจะเข้าถึงความหมายของธรรมได้อย่างไร ถ้ายังคงเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาฟัง เป็นผู้ที่เป็นสาวก เป็นผู้ที่ฟัง เป็นผู้ที่พิจารณาจนกว่าจะเกิดปัญญาของตัวเองที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้

    ผู้ฟัง เรียนใหม่ก็ต้องฟังระดับนี้ คือ ระดับที่ท่านอาจารย์บรรยาย พร้อมทั้งการเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ สติก็จะเจริญ คือต้องอบรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ขอทบทวนด้วยคำถามซึ่งทุกคนก็คงจะตอบได้ เพราะที่ผ่านมา เรากล่าวถึงจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุซึ่งเป็นอเหตุกจิต และได้กล่าวถึงจำนวนทั้งหมดด้วยซึ่งก็ไม่มากเลย จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท เป็นอเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๘ ประเภท ขอถามว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีอเหตุกจิตครบทั้ง ๑๘ ไหม ไม่ครบ ขาดอะไร

    ผู้ฟัง ขาดหสิตุปปาทจิตเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าสำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง กิริยาจิต ๓ ดวง สำหรับกิริยาจิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร (ซึ่งต้องเกิดกับทุกคน) ไม่ว่าใคร พระอรหันต์มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม มี คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มี พระอรหันต์มีมโนทวาราวัชชนจิตไหม มี ไม่มีไม่ได้ ใช่ไหม อย่างไรก็ต้องเกิด ต้องคิด ต้องนึก แม้คนไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมี แต่พระอรหันต์มีกิริยาจิตซึ่งไม่เกิดกับเหตุที่เป็นอเหตุกจิตหนึ่งดวงคือ "หสิตุปปาทจิต" ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้มของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่หัวเราะ ไม่มีกิเลสที่จะทำให้เพลิดเพลินสนุกสนานปีติ จนกระทั่งเกิดการหัวเราะขึ้น แต่สำหรับพระอรหันต์ก็จะมีจิตที่เบิกบานเป็นโสมนัส เป็นปัจจัยให้รูปมีอาการของความเบิกบาน อาจจะที่นัยน์ตาแจ่มใส หรือการแย้มหรือการยิ้มเพียงที่จะเห็นไรฟัน นั่นคือจิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่พระอรหันต์ยิ้ม จะเป็นจิตดวงนี้หรือประเภทนี้เท่านั้น แม้กิริยาจิตที่เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ หรือญาณวิปปยุตต์ อสังขาริก หรือสสังขาริก นี้กล่าวล่วงเลยไปจากที่เคยเรียน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะบางท่านอาจจะทราบแล้ว จิตของพระอรหันต์ที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา แม้ไม่ใช่อเหตุกจิตแต่เป็นมหากิริยาจิตที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นปัจจัยให้เกิดการเบิกบาน การแย้มหรือการยิ้มของพระอรหันต์ได้แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็หัวเราะ ก็ยิ้ม ก็เบิกบาน แต่ไม่ใช่ด้วยหสิตุปปาทะจิต เป็นกิริยาจิตไม่ได้ แต่จะเป็นอกุศลจิตก็ได้ เป็นกุศลจิตก็ได้ ในขณะที่เกิดการแย้มหรือการยิ้ม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีความเข้าใจทั้งหมดแล้วในเรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

    หสิตุปปาทะจิตเกิดเมื่อใด ก็เหมือนกับกุศลจิต และอกุศลจิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ เกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวาร หรือเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวารนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และมีความยินดีพอใจ จิตต้องเริ่มเป็นวิถีตั้งแต่วิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วจิตเห็น หรือ จิตได้ยิน เป็นต้น เกิดต่อแล้วก็ดับไป แล้วมปฏิจฉันนะเกิดต่อแล้วก็ดับไป สันตีรณะก็เกิดต่อแล้วก็ดับไป โวฏฐัพพนะเกิดต่อแล้วก็ดับไป ต่อจากนั้นก็จะเป็นหสิตุปปาทจิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยกิจคือ "ชวนกิจ" หมายความว่าพ้นจากการเห็น และการรับรู้ หรือการพิจารณาจนกระทั่งการที่จะกระทำทางให้จิตประเภทที่เป็นกุศล และอกุศลหรือกิริยาเกิด โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็จะเป็นกิริยาจิตเท่านั้น จะเป็นกุศล และอกุศลไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ คือ เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าวันหนึ่งหลังจากอเหตุกจิตดับไปแล้ว สเหตุกจิตก็เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าโดยกิจ จิตที่เกิดที่เป็นกุศลหรืออกุศลไม่ใช่อาวัชชนกิจ ไม่ใช่ทัศนกิจของจิตเห็น หรือไม่ใช่สวนกิจของจิตได้ยิน ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ใช่สันตีรณกิจ ไม่ใช่โวฏฐัพพนกิจ แต่เป็นชวนกิจเพราะเหตุว่าเป็นไปอย่างเร็วแล่นไป ๗ ขณะซ้ำกัน ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็เป็นโลภมูลจิตหนึ่งขณะเกิดแล้วก็ดับไปเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดอีกแล้วก็ดับไปทั้งหมด ๗ ขณะสะสมสืบต่อ

    ผู้ฟัง หสิตุปปาทจิต อยู่ในจำพวกอเหตุกะ หรือ สเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่าจำนวนอเหตุกจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ ๑๘ ดวง เป็นวิบากเท่าไหร่ ๑๕ ดวง ใน วิบาก ๑๕ ดวง นี้ เป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่ ๗ ดวง และก็เป็นกุศลวิบากเท่าไหร่ ๘ ดวง เพราะฉะนั้นเป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง ไม่ต้องใช้คำว่าอเหตุกะได้ไหม เพราะเหตุว่าสำหรับวิบากที่เป็นอกุศลวิบากจะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยทั้งสิ้น ถ้าเป็นอกุศลวิบากจะไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยเลย และก็ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลเจตสิกทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นขณะใด เป็นชาติเดียวคือเป็นอกุศลเท่านั้น จะเป็นวิบากไม่ได้ นี่คือความต่างกัน ถ้าเกิดความโลภขึ้นมาขณะนั้นไม่ใช่วิบาก ถ้าเกิดความโกรธขึ้นมาขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นสำหรับอเหตุกะ ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง ในวิบาก ๑๕ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง

    แต่เมื่อกล่าวถึงกุศลวิบาก เราใช้คำว่า อเหตุกวิบาก เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า กุศลที่ให้ผลเป็นสเหตุกวิบากก็มี นี่เป็นความละเอียดของการที่แม้จะใช้คำ ถ้าเราใช้คำเราก็จะรู้ได้ว่าอกุศลวิบากไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าอเหตุกะก็ได้ แต่จะใช้ก็ได้ เพื่อให้เข้าใจเพื่อให้ไม่ลืมว่าสำหรับอกุศลวิบากไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยจึงเป็นอเหตุกะ แต่ถึงไม่ใช้ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นชื่อว่าอกุศลวิบากเมื่อใดจะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยเป็นอเหตุกะ สำหรับอเหตุกวิบากมี ๘ ดวง ที่เหลือเป็นสเหตุกวิบาก นี่คือวิบาก ๑๕ ดวง ที่เป็นอเหตุกะ

    สำหรับกิริยาที่เป็นอเหตุกะมี ๓ ดวง แสดงว่ากิริยาอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเป็นสเหตุกะต้องประกอบด้วยเหตุ แต่กิริยาที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต้องมีเพียง ๓ เท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร และหสิตุปปาทะ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินคำว่า “หสิตุปปาทะ” ต้องทราบทันทีว่าเป็นอเหตุกจิต โดยประเภทเป็นอเหตุกจิต แสดงว่าจิตของพระอรหันต์ที่ทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้มมีทั้งที่เป็นสเหตุกะ และอเหตุกะ ในขณะที่คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยิ้มไม่มีทางที่จะเป็นอเหตุกะเลย ยิ้มเมื่อใดต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ กุศล หรือ อกุศล ที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มขึ้น นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องจำถึงเหตุผลประกอบกับจำนวนให้แม่นยำ และก็ไม่หลงลืมด้วย เพราะว่าเมื่อกล่าวถึงกิจเราอาจจะเข้าใจไปว่าจิตที่ทำชวนกิจต้องเป็นสเหตุกะ แต่ต้องไม่ลืมว่ามีอเหตุกะ ๑ ของพระอรหันต์ที่ทำชวนกิจได้

    จึงให้เห็นความต่างกันของจิตในวันหนึ่งๆ ว่าเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นอเหตุกะ กับจิตที่เป็นสเหตุกะ ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงเพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่าขณะไหนที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย อย่าไปหลงผิดคิดว่าขณะนั้นประกอบด้วยเหตุ เพราะว่าบางคนเข้าใจผิดคิดว่าที่เราต้องเห็นหรือที่เราต้องคิดอย่างนี้ ที่เราต้องเป็นคนไม่ดีอย่างนี้เพราะกรรม แต่ความจริงขณะนั้นวิบากเกิดจากกรรมทำให้เกิดในภพภูมิใด และก็ทำให้วิบากจิตประเภทใดเกิดได้บ้าง และก็จะเกิดเมื่อไหร่ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ไม่ว่าขณะใดก็ตามในชีวิต สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ขอทบทวนอีกครั้งว่า วิบากทั้งหมดที่เป็นอเหตุกวิบากมีเท่าไหร่ มี ๑๕ ดวง อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง แต่ที่เป็นอเหตุกวิบาก ๑๕ ดวง เป็นกิริยาที่เป็นอเหตุกะ ๓ ดวง

    ผู้ฟัง ขอคำอธิบายของคำว่า “อายตนะ”

    อ.วิชัย “อายตนะ” หมายถึงเป็นเหตุเป็นที่ประชุมให้เกิดวิญญาณ เพราะเหตุว่ามีอายตนะ เช่น จักขวายตนะ ได้แก่จักษุ รูปายตนะได้แก่สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อมีการประชุมกันให้เกิดมนายตนะคือจิตที่เกิดขึ้น เช่น จิตเห็น ฉะนั้น อายตนะก็คือที่ประชุมหรือบ่อเกิดให้เกิดวิญญาณ คือ จิต

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับนิพพานไม่มีการเกิด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีการปรากฏในขณะนี้ก็มีจิต เจตสิก รูป ต่างคนต่างอยู่ไม่เจอกัน หรือว่าจะต้องอยู่ที่นี่ด้วยกันเป็นเหตุเป็นปัจจัย เช่น จิตหนึ่งขณะที่เกิด เกิดมาลอยๆ เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง หรือว่าต้องมีสภาพธรรมอื่นประชุมคืออยู่ที่นั่น หรือว่าเกิดด้วยกันเกิดพร้อมกัน นี่คือความหมายของอายตนะ ขณะที่กำลังหลับสนิท ขณะนั้นมีอายตนะไหม ขณะที่กำลังหลับสนิทเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นเป็นจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตใช่ไหม ขณะที่หลับสนิท มีจิตอย่างเดียวหรือว่ามีอย่างอื่นด้วย

    ผู้ฟัง ถ้ามีจิตก็ต้องมีเจตสิกด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นอายตนะ มีไหมขณะนั้น ที่อยู่ที่นั่น ที่เกิดด้วยกัน ที่ประชุมอยู่ด้วยกันไม่ได้แยกจากกันเลย

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีจิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นมนายตนะ เจตสิกเป็นธัมมายตนะ เพราะฉะนั้นก็จะแยกให้เห็นก่อนที่จะรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ จริงๆ แล้วที่ใดที่มีจิตที่นั่นก็ต้องมีเจตสิกด้วย แต่สภาพของภวังคจิตหรือปฏิสนธิจิตไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจที่จะคิดนึก เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นเพียงแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลาโดยที่ยังไม่ได้รู้อารมณ์อื่นใด เพราะฉะนั้นอายตนะขณะนั้นก็มีเพียงมนายตนะกับธัมมายตนะ ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏก็ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงหรือไปรู้ แต่ถ้าจะเข้าใจความหมายของคำว่าอายตนะจริงๆ ก็หมายถึงธรรมที่ประชุมกันที่ต้องมีอยู่ในที่นั้น เช่น จิตกับเจตสิกจะขาดไม่ได้เลย แยกกันไม่ได้เลย และจิตก็เป็นที่เกิดของเจตสิกด้วยต้องเกิดกับจิต หรือจะกล่าวว่าจะเกิดในจิตก็ได้

    แต่เวลาที่จะมีการเห็นต้องมีอายตนะเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องมีปสาทรูปที่เกิด ถ้าปสาทรูปไม่เกิดจิตเห็นขณะนี้เห็นไม่ได้เลย และก็ไม่ใช่มีเพียงแต่ปสาทรูปเท่านั้นที่เกิด แม้สิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทก็ต้องเกิดด้วย เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นก็เป็นเพียงจิตที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏโดยอาศัยตาเพราะว่ากระทบกับตา และสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นก็ยังไม่ได้ดับไป ปสาทรูปต้องมียังไม่ดับ รูปารมณ์หรือรูปที่สามารถกระทบจักขุปสาทรูปก็ยังไม่ดับ แล้วเวลาที่มีจิตเห็น เช่น ขณะนี้จิตเห็นก็ยังต้องมีจิต และเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็มีตาเป็นจักขวายตนะ และมีรูปเป็นรูปายตนะ และมีจิตเห็นเป็นมนายตนะ และต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นธัมมายตนะ

    ก็แสดงว่าวันหนึ่งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏจะต้องมีอายตนะคือการประชุมกันของสภาพธรรมใดบ้าง และนอกจากนั้น ที่เป็นที่ต่อเป็นเหตุเป็นบ่อเกิดเป็นที่ประชุมแล้ว สังสารวัฎฏ์ก็สืบต่อไปอีกจากขณะที่มีการประชุมกันแล้ว และก็มีสภาพรู้สิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับไป ก็จะมีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยรู้ แต่ว่าต้องรู้ และก็ไม่ใช่รู้โดยเพียงขั้นฟัง แต่ว่าจะรู้โดยขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ และความรู้นั้นเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจ และละคลายความเป็นเราได้ แต่ไม่ต้องอาศัยชื่อ ไม่ต้องไปนั่งเรียกชื่อเลย ธรรมจะมีชื่อสำหรับให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพอะไร แต่เวลาที่เป็นสภาพธรรมนั้นจริงๆ ไม่มีชื่อ เช่น "แข็ง" ต้องเรียกชื่อไหม ไม่ "เห็น"ก็ไม่ต้องเรียกชื่อ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทุกอย่างก็ไม่มีชื่อ แต่ต้องใช้ชื่อสำหรับเรียกเพื่อให้เข้าใจ

    อ.สมพร จากอรรถกถาท่านอธิบายคำว่า “อายตนะ” กล่าวไว้ ๔ อย่าง ๑. ที่ประชุม ๒. บ่อเกิด ๓. เป็นเหตุ ๔. ต่อไป "ที่ประชุม" เราจะเห็นได้ว่าสี ทั้งตา ทั้งจิต ทั้งแสงสว่าง ประชุมกันจึงเห็นได้ เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ เช่นที่อาจารย์พูดว่า รูปายตนะ อายตนะคือ รูป สัททายตนะ อายตนะคือ เสียง ฆานายตนะ อายตนะคือ จมูก ชิวหายตนะ อายตนะคือ ลิ้น กายายตนะ อายตนะคือ กาย นี้เป็นที่ประชุม "เป็นบ่อเกิด" ของจิต และเจตสิก ถ้าไม่มีอายตนะจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นบ่อเกิดด้วย ส่วนอายตนะที่แปลว่า "ต่อไป" หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ต้องมีกาลต่อไป มีโลภะ มีโทสะ หรือมีโมหะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป "เป็นเหตุ" หมายความว่าเป็นปัจจัยให้ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนก็จะมีจำนวนเลขกำกับใช่ไหม เพราว่าคงจะเคยได้ยินว่าอายตนะ ๖ และอายตนะ ๑๒ เพราะฉะนั้นเรื่อง ๖ นี่ก็ไม่ยากเลย ตา ๑ หู จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ และจิต ๑ แสดงให้เห็นว่าเป็นอายตนะภายใน เพราะเหตุว่าสำหรับจิตภายในแน่นอนเลยใช่ไหม ไม่ได้ออกไปอยู่ข้างนอกกับใครที่ไหนเลย เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นอายตนะภายใน สำหรับตาก็เช่นเดียวกันอยู่ที่ไหน จักขุปสาท ก็อยู่ที่ร่างกายที่ตัวที่เกิดขึ้นเพราะกรรม เพราะฉะนั้นสภาพธรรม ๖ อย่างนี้คือ จักขุปสาทรูป ๑ เป็นจักขวายตนะ โสตปสาทรูป ๑ เป็นโสตายตนะ ฆานปสาทรูป ๑ เป็นฆานายตนะ ชิวหาปสาทรูป ๑ เป็นชิวหายตนะ กายปสาทรูป ๑ เป็นกายายตนะ และจิตทั้งหมดเป็นมนายตนะ เท่านี้ก็จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรม และสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ว่าเป็นธรรมที่สามารถที่จะระลึกได้ และเข้าใจถูกต้องได้

    ขณะนี้ก็มีจิต ขณะที่ได้ยินเสียง เราก็สามารถที่จะรู้ได้จากการที่ได้ศึกษาแล้ว ทั่วๆ ไปว่าถ้าเป็นเสียงก็ต้องมีโสตปสาท เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงปรากฏหรือว่ามีเสียง ถ้าเราจะคิดถึงในขั้นคิด เราก็รู้ว่าขณะนั้นต้องมีโสตปสาทที่ยังไม่ดับเป็นโสตายตนะ แล้วก็มีเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเป็นสัททายตนะ และก็มีจิต และเจตสิก นี่เราก็สามารถจะเข้าใจได้ แต่เวลาที่เราอ่านข้อความในพระไตรปิฎกก็จะมีอายตนะ ๑๒ อายตนะ ๖ นี่ก็เข้าใจแล้วใช่ไหม ส่วนภายนอกก็มีสี ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โผฏฐัพพะ ๓ ก็เป็นอายตนะปรากฏทางกายก็นับเป็น ๑ ก็เป็น ๕ นอกจากนี้แล้วเป็นธัมมายตนะทั้งหมด ก็ครบ ๑๒ โดยเข้าใจได้ ไม่ต้องจำใช่ไหม

    ผู้ฟัง อายตนะภายใน เช่นจักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สิ่งที่มาปรากฏทางตาเรียกว่าอายตนะภายนอก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ทางใจ อย่างไหนเป็นใน เป็นนอก

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นมนายตนะภายใน แม้เจตสิกก็เป็นภายนอก

    ผู้ฟัง จิตกับอะไรกระทบกัน ในอายตนะที่หก

    ท่านอาจารย์ จิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ต้องประชุม ต้องมีอยู่ เมื่อกล่าวถึงอายตนะ หมายถึงที่อยู่ ที่ประชุม บ่อเกิด เหตุ ที่ต่อ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเราจะไม่คิดถึงอย่างอื่นเลย นอกจากความหมายของอายตนะ ว่า มีธรรมที่เป็นอายตนะที่ต้องมีอยู่ตรงนั้น ถ้าไม่มีจิตเลย อะไรๆ ก็ไม่มี อายตนะที่จะมาประชุมกันที่ให้ "เห็น" ที่จะให้ "ได้ยิน" ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีจิต และเมื่อมีจิตก็ต้องมีเจตสิก เมื่อกล่าวถึงธรรมข้อไหนให้เข้าใจตรงนั้น ว่าความหมายของอายตนะคืออย่างนี้ ให้เราสามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นมีอะไร ที่กำลังมีจริงๆ

    ผู้ฟัง จิต จักขุปสาท และ สิ่งที่ปรากฏทางตา ๓ อย่างนี้มาพร้อมกันเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดเรื่องพร้อมไม่พร้อมเลย เพราะว่าถ้าศึกษาต่อไปก็จะทราบว่ารูปต้องเกิดก่อน แต่ว่ายังไม่ดับไป ยังมีอยู่ แม้เกิดก่อนก็ยังมีอยู่ ยังไม่ได้หมดไป

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจขณะนี้ก็คือ ต้องมีจักขุปสาท มีสิ่งที่มากระทบถึงเรียกว่ามีจิตเกิดขึ้น ถ้าไม่มี ๒ อย่างนี้ ไม่มีจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดตลอด ไม่เคยขาดหายไปเลย ภวังคจิตก็ต้องมี ถ้าไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีโดยนัยที่ทรงแสดงไว้เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา แต่ก็คือขณะนี้เอง ทุกอย่างก็คือขณะนี้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพระธรรม ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดง แสดงจากสิ่งที่มี เช่นเราบอกว่าเห็นเป็นจิต ก็ยังทรงแสดงโดยอายตนะ แสดงโดยขันธ์ โดยธาตุ ทั้งหมดก็มาจากขณะที่กำลังมีสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ เราถึงจะเข้าใจได้ว่าการศึกษาธรรมก็คือการศึกษาให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นเอง

    ผู้ฟัง มนายตนะคือจิตต่อกับอะไร

    ท่านอาจารย์ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ต้องมี ขาดไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ