พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
ตอนที่ ๘๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมทั้งหมด คือให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงในการที่จะเข้าใจธรรมว่าธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ผิดจากนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนี้ และจะไปรู้ผิดๆ จากอย่างนี้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง เมื่อเรามาเรียนเหมือนเป็นตัวเราที่มาฟังเรื่องขันธ์กับอายตนะ คือไม่ได้คิดเลยว่าจริงๆ แล้ว ขันธ์กับอายตนะก็คือเป็นเราขณะนี้ เพราะฉะนั้นอย่างที่กล่าวว่าที่มาฟังคือคลายความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นที่มาฟังตรงนี้ก็เข้าใจว่า เวลาที่เห็นก็คือจักขุวิญญาณเห็น คล้อยตามเข้าไปเห็น ไม่ใช่ว่ามีตัวเราที่มาเรียนเรื่องราว ตรงนี้เข้าใจอย่างนี้ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกว่าสติสัมปชัญญะกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นจะเข้าใจความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด จะเข้าใจความหมายของคำว่า ทะเลชื่อ ว่าขณะนั้นเท่านั้นที่ไม่ใช่ทะเลชื่อ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่มีชื่อ
ผู้ฟัง ขณะที่เรามีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน จะมีความรู้สึกว่าเราเย็น หรือว่าเราร้อน เช่นนี้ก็ยังเป็นลักษณะความเห็นที่ผิดใช่ไหม ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักของธรรมที่เราศึกษาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าฟังก็จะทราบได้ว่าปัญญามี ๓ ระดับ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งไม่เคยฟังมาก่อนว่าเป็นธรรม และแม้ในขณะที่เห็นก็จะต้องมีสภาพธรรมอะไรเป็นอายตนะอย่างไร สิ่งอื่นไม่มีเลย มีไม่ได้ ที่ทรงจำไว้ว่ายังมีก็คืออัตตสัญญา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างของขณะที่เป็นปัญญาขั้นฟัง เพราะปัญญาขั้นฟังไม่ใช่ขั้นที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมก็จะเข้าใจในลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้เท่านั้น ไม่มีอื่นจากนั้นเลยคือไม่มีเรา ไม่มีใคร มีแต่สภาพธรรมนั้น แล้วถ้าสามารถจะเข้าใจยิ่งขึ้นก็จะรู้ถึงความจริงของแต่ละทวารซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตรงกับที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งหมด ไม่มีผิดไม่มีคลาดเคลื่อนเลย จึงจะสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้
ผู้ฟัง ขณะที่เราประจักษ์สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เราจะผิดปกติหรือไม่
ท่านอาจารย์ ผิดปกติอย่างไร
ผู้ฟัง คือขณะนี้ก็มีความรู้สึกอัศจรรย์ในสิ่งที่เราได้รู้หรือว่าได้เรียนรู้
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังพูดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้เป็นปัญญาหรือเป็นความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัญญานั้นอัศจรรย์ด้วย เริ่มจากการที่สามารถเข้าใจสิ่งที่มีได้ ทั้งๆ ที่ปกติใครจะมาคิดถึงว่าหนึ่งขณะที่เห็นเป็นอายตนะอย่างไร และไม่มีเราอย่างไร นี่คือขั้นฟังใช่ไหม ต้องเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมปรากฏ ปรากฏกับอะไร
ผู้ฟัง ขณะที่สภาพธรรมเกิดหรือปรากฏจะต้องมีปัญญา
ท่านอาจารย์ แน่นอน และจะผิดปกติไหม ในเมื่อปัญญาสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติ เริ่มจากเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามปกติ ไม่ได้ผิดปกติเลย เพราะฉะนั้นเมื่อปัญญาเพิ่มขึ้นจะไปผิดปกติได้อย่างไร แต่เป็นความน่าอัศจรรย์ของปัญญาที่สามารถที่จะถึงระดับนั้นได้
ผู้ฟัง สมมติว่าแข็งปรากฏ เมื่อเรียนไปเรื่อยๆ แล้วเรารู้ว่านี่เป็นสภาพแข็งที่ปรากฏ แล้วมีตกใจไหม
ท่านอาจารย์ เดี่ยวนี้รู้แข็งแล้วตกใจไหม
ผู้ฟัง ไม่ตกใจ
ท่านอาจารย์ แล้วจะตกใจทำไม ตัวที่รู้ ตัวที่ค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม เป็นปกติ
ผู้ฟัง กว่าจะค่อยๆ คิดในลักษณะเรื่องราว ครั้งแรกที่หิวไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องอายตนะเลย ไล่หาว่าเป็นเรื่องขันธ์แน่ เป็นลักษณะนามธรรม ปัญญาค่อยๆ รู้ว่าตรงไหนเป็นรูปธรรม นามธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงมีปัญญา ๓ ขั้น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา จนกว่าจะถึง ภาวนามยปัญญา
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ไม่ได้มีการสนทนากับท่านอาจารย์ก็คงคิดเป็นทะเลชื่อไปอีกนานใช่ไหม กว่าจะค่อยๆ รู้ตัวว่าตรงไหนเป็นนามธรรม รูปธรรม
ท่านอาจารย์ ต้องค่อยๆ สะสมการฟัง การไตร่ตรอง สำคัญที่สุดคือเป็นปัญญาของเราเอง ถ้าใครจะมาบอกว่าเป็นนามธรรม แล้วเราไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมคือลักษณะนั้นเองที่หิว สภาพที่หิว ความรู้สึกเช่นนั้นใช่ไหม ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่แข็ง แล้วก็ไม่ร้อน และไม่ใช่เสียง และไม่ใช่กลิ่น เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่ว่าโดยการฟังแล้วเรารู้ได้ โดยการฟังเราพิจารณา เราเข้าใจได้ถึงความต่างของลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรม แต่ไม่ใช่รู้ตัวจริงๆ อย่างเรื่องหิวเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ แล้วก็รู้ตรงลักษณะนั้น แล้วถึงจะรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง คำถามที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคย แล้วก็เห็นได้ว่าไม่ใช่เราเลย มองดูแล้วเหมือนกับเป็นการเหมาเอา หรือสรุปเอา เป็นความคุ้นเคยจนกระทั่งเห็นได้ว่าไม่ใช่เรา คงจะไม่ใช่เหมาเอาหรือด่วนตัดสินไปว่านี่เป็นความคุ้นเคย แล้วก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดนั่นคือเหมา รู้เลยว่าเหมาแล้ว ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่เวลาใดที่สติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้เลยว่ายังไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพียงแต่ว่ารู้ว่าต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด นี่เป็นขั้นแรก
ผู้ฟัง คือเราจะหลีกเลี่ยงการเหมาเอาในช่วงต้นๆ คงจะไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่มีความเข้าใจ เรายังมีสภาพธรรมก็คือโลภะเกิดขึ้นต้องการที่จะให้มีปัญญาอยู่เสมอ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าบางคนเหมาว่ารู้สภาพธรรมแล้ว เหมาเลยใช่ไหม แต่ถ้าฟังแล้วรู้ว่านี่เป็นขั้นฟัง เราก็จะสามารถเข้าใจถูกต้องว่านี่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่ว่าได้ฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้นจะต้องมีสติสัมปชัญญะระลึกเมื่อไหร่ นั่นคือการเริ่มที่จะรู้ลักษณะนั้นตามที่ได้ฟัง เพราะว่าเราฟังทำไม เรามาฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรมทำไม เพราะเหตุว่าสิ่งนี้มีจริงๆ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง แม้ว่าการรู้ขั้นฟังมี แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะว่าจะยังไม่เห็นความต่างกันของสติที่เกิดกับกุศล ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบที่เป็นสมถะ และขั้นที่กำลังฟังธรรม และขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน มิฉะนั้นจะไม่มีคำว่า “สติปัฏฐาน” ในพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง เรายังแยกออกไม่ได้ว่าเป็นความต้องการหรือเป็นเรื่องของฉันทะ แม้กระทั่งจะพยายามคิดว่าขณะนี้ปัญญาเราเจริญขึ้นแล้วหรือไม่อย่างไร เราก็ยังไม่รู้เลยว่าสภาพสติเกิดหรือสติไม่เกิดอย่างไร เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะระลึกถึงในลักษณะที่ปรากฏก็คงจะเป็นไปไม่ได้
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะฟังพอที่เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด โดยเราไม่ต้องเตรียมตัวเลย ไม่ต้องไปนึกด้วยซ้ำ
ผู้ฟัง คือไม่เตรียมตัวหรือไม่ต้องนึก ก็หมายความว่า ไม่ต้องแสดงความต้องการ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปเฝ้ารอเลย ความเข้าใจเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเหตุคือความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด แต่ตรงกันข้าม ความเข้าใจไม่มีเลย หรือมีน้อยมากแต่อยากให้สติเกิด ก็แสดงให้เห็นว่าคนนั้นไม่ได้รู้เหตุเลยว่าสติจะเกิดได้อย่างไร ฉะนั้นก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าความเข้าใจถูก ความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นเรื่องของความเข้าใจ หรือเรื่องของปัญญา ไม่ใช่ถามคนอื่น แต่เป็นเรื่องราวที่พอได้ฟังอีกแล้วรู้ว่าเราเข้าใจมากกว่าก่อน ซึ่งเราอาจจะเพิ่งเริ่มฟังใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง การนำเรื่องที่เคยปรากฏผ่านมาแล้ว ที่ว่าเราเข้าใจแล้วมาถามอาจารย์ ถามท่านวิทยากรดีกว่าว่าขณะนี้เราเข้าใจนี่ใช่หรือไม่ อย่างนี้ไม่ควรทำหรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ใช่การศึกษาที่จะเป็นปัญญาของเราเองเลย เป็นการที่อาศัยคนอื่นบอก แต่ว่าถ้าเราฟังเพื่อความเข้าใจ เราจะรู้เลยว่าเราเข้าใจหรือไม่ และเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผู้ฟัง ขณะนี้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็อยู่ที่ผู้นั้นเท่านั้นที่จะรู้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คนอื่นรู้ไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร เช่น หิวที่เมื่อสักครู่นี้กล่าวถึง ความหิวนั้นเกิดขึ้นมา และระลึกถึงสภาพความหิวนั้น
ท่านอาจารย์ เราเรียนทุกอย่างแต่ว่าสติสัมปชัญญะยังไม่ได้รู้จริงๆ ตรงลักษณะนั้นสักอย่าง เช่นเราเรียนเรื่องความรู้สึก เราเรียนเรื่องจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่ขณะนี้ก็มีความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนา จะกล่าวว่าอุเบกขา อทุกขมสุขอย่างไร เราก็เรียน เราก็จำชื่อได้ แต่เราไม่คุ้นเคยกับลักษณะนั้นเลย เพราะเพียงฟังว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่รู้สึก จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ว่าเราจะรู้ทั่วนามธรรม และรูปธรรมทันทีที่สติสัมปชัญญะเกิด แต่ขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มระลึกรู้สิ่งใดจะค่อยๆ มีความเข้าใจในสิ่งนั้น และอีกหลายอย่างในวันนี้ใช่ไหม ที่สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึก นี่เป็นเหตุที่ว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งวัน กล่าวได้เลยว่าถ้าเพียงแต่เราไม่ได้เป็นทะเลชื่อไป ก็จะรู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรม แต่จะรู้จริงๆ ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้น มีลักษณะนั้นโดยที่ว่าไม่มีชื่อแต่มีลักษณะนั้นกำลังปรากฏกับสติที่ระลึก แล้วบุคคลนั้นก็รู้ว่าขณะนั้นสติระลึก ไม่ใช่เหมือนขณะอื่นๆ ซึ่งเพียงแข็ง เช่น แข็งสติไม่ได้ระลึกก็มี แต่แข็งแล้วสติระลึกตรงนั้นก็คือสติสัมปชัญญะที่เป็นปกติ
ผู้ฟัง สภาพที่ปรากฏเดี๋ยวนี้คือสติเกิดรู้หรือไม่ใช่
ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสติจะรู้ตรงลักษณะนั้นหรือไม่ หรือเพียงแต่ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง การฝึกนึก การฝึกคิด การฝึกทบทวนสิ่งที่ฟัง เป็นขั้นตอนของการที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้นหรือไม่ หรือสติเกิดขึ้นบ้างหรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็คือคิดว่าจะมีหนทางอื่น วิธีอื่นซึ่งจะช่วย เรื่องโลกกับเรื่องธรรมนี่คนละเรื่องเลย ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง ซึ่งคิดที่จะฝึก ใคร มีโลภะหรือไม่ ไม่สามารถเห็นตัวโลภะเลย โลภะซึ่งเป็นนายช่างผู้สร้างเรือนตลอดสังสารวัฏฏ์ทุกชาติๆ เกิดติดตามอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ทำไมคิดอย่างนั้นถ้าเป็นการฟัง กำลังฟัง พิจารณาเข้าใจสิ่งที่ฟัง ไตร่ตรองเกิดขึ้นในสิ่งที่ฟัง แทนที่จะไปคิดฝึกอย่างอื่น
ผู้ฟัง เกรงว่าการไตร่ตรองนั้นก็คือการฝึกนั่นเอง
ท่านอาจารย์ จะใช้คำอะไรก็ตาม มีคิดไหมถึงเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว คิดไปให้เข้าใจถูกขึ้นว่าควรจะเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะใช้คำอะไรก็ตาม แต่ว่าอย่าให้เข้าใจผิด
ผู้ฟัง ขณะที่สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏ นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่งใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นปัญญาขั้นการฟัง ในขณะที่กำลังสังเกตุลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ ความรู้ความเข้าใจในขณะที่ฟัง แม้ไม่ฟังก็ยังมีการคิด พิจารณาไตร่ตรอง เข้าใจ อยู่ที่ความเข้าใจทั้งหมดคือปัญญา คือความเข้าใจถูก เห็นถูก ขณะที่กำลังมีสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็รู้ถูกเข้าใจถูกว่าขณะนั้นไม่ได้หลงลืมสติ ไม่ใช่เพียงฟังแต่กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติที่ระลึกตรงนั้น ทุกคนต้องเป็นปัญญาของตัวเอง นี่เป็นประโยชน์ของการฟังธรรม
ผู้ฟัง รูปายตนะเป็นอายตนะภายนอก และจักขวายตนะเป็นอายตนะภายใน และเมื่อจักขุวิญญาณเกิดก็เป็นมนายตนะ มนายตนะเป็นภายใน แล้วจักขายตนะเป็นภายนอกของมนายตนะใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดอะไรเลย ให้เข้าใจถูกต้องว่าอายตนะ ๖ เป็นภายใน ที่เป็นรูป ๕ คือปสาทรูป ๕ เป็นอายตนะภายใน จิตทั้งหมดทุกขณะเป็นอายตนะภายในด้วย จิตจะไปยู่ข้างนอกไม่ได้เลย ในที่สุดคือจิต แต่รูปที่ในที่สุดในบรรดารูป ๒๘ ก็คือปสาทรูปนี่เอง ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้มีจิตเห็น จิตได้ยิน หรือจิตอื่นๆ ที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ภายนอกได้ ก็คือจัดประเภทของสภาพธรรมนั่นเอง
ผู้ฟัง ความเข้าใจพื้นฐานเมื่อธรรมเกิด แล้วปรากฏแต่ละทางตั้งแต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เขาจะมีลักษณะแต่ละลักษณะไม่ซ้ำซ้อน และก็ไม่แตกต่างกัน แต่ว่าสภาพธรรมนั้นรวดเร็วมาก มองครั้งใดก็เป็นแต่ดอกไม้ เป็นไมโครโฟน เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ความเข้าใจที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ หลังจากที่วาระทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็รับรู้อารมณ์นั้นสืบต่อหลายวาระ แล้วก็คิดนึกเรื่องสิ่งที่เห็นด้วยความทรงจำ นี่คือง่ายที่สุด เพราะว่าบางคนจะไปติดคำว่าแปลอีกก็ได้ เรื่องของการติดนี่มากมาย กลายเป็นมานั่งคิดว่านี่แปลเมื่อไหร่ แปลอย่างไร ก็เป็นอันว่าเมื่อเห็นแล้วหลังจากที่รูปนั้นดับไปทางทวารทั้ง ๕ ทางหนึ่งทางใดแล้ว มโนทวารก็รับรู้ต่อ แล้วก็ทรงจำคิดนึกเรื่องนั้นเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง แล้วก่อนที่จะแปลเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ แล้วสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นรู้ลักษณะ ก็จะรู้ลักษณะตรงนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมโดยไม่ต้องไปคิดเรื่องทวารเรื่องอะไรทั้งสิ้น เพราะแม้แต่ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ก็มีนามธรรม แล้วก็เป็นการรู้อารมณ์แต่ละทวารซึ่งสืบต่อดับไป เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็วมาก ไม่ต้องไปกังวลว่าอะไรจะเกิดจะดับก่อน เพียงแต่ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด และรู้ตรงลักษณะ ลักษณะหนึ่งที่สติกำลังระลึกเท่านั้น ไม่ต้องไปคิดว่าแล้วตรงนั้นอะไรเกิดก่อนตรงนี้หรือตรงนี้เกิดก่อนตรงนั้น ไม่ต้องคิดถึงเลย แล้วแต่จะระลึกลักษณะที่คิดก็ได้ จะรู้ลักษณะของแข็ง รู้ลักษณะของเสียง รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดก็ได้ แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรม
อ.กุลวิไล ภวังคกิจก็เพียงแต่ว่าหลับสนิทเท่านั้นเอง เรียนถามท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอเหตุกะไม่มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ส่วนสภาพธรรมที่เราจะกล่าวได้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ก็เมื่อมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับสเหตุกจิตซึ่งเป็นกุศลวิบากก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ดีกว่า เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งความจริงเรื่องของวิบาก ถ้าเราจะเข้าใจจริงๆ จะรู้ได้เลยว่าไม่มีสาระเลย โดยเฉพาะของอเหตุกวิบาก และกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะด้วย คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และเป็นเพียงชาติวิบาก ลองคิดดูว่าจะทำอะไรได้ เพียงต้องเกิดขึ้นเห็น เมื่อถึงกาละแล้วก็ดับไปเลย แค่เห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือเพียงแค่ได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป แต่การที่เรามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้เราคิดว่าเราต้องการเห็นอีก เราอยากจะได้วิบากที่ดีต่างๆ กุศลวิบาก ได้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี แต่เพียงชั่วขณะที่สั้นมากแล้วก็ดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยเท่านั้นในสังสารวัฏฏ์
แต่สำหรับสเหตุกวิบากก็เป็นพื้นฐานของจิตซึ่งสามารถที่จะประกอบด้วยปัญญาเจตสิกได้ ซึ่งในชาตินั้นในฐานะที่ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบากที่เป็นสเหตุกะประกอบด้วยเหตุ ๒ และถ้าดีกว่านั้นประกอบด้วยเหตุ ๓ เพราะเหตุว่ามีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะทำให้บุคคลนั้นเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ปัญญาที่มีสะสมมา และปฏิสนธิก็ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกก็สามารถที่จะเข้าใจธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ถ้าอบรมเจริญสมถภาวนา ผู้นั้นก็สามารถที่จะบรรลุถึงฌาณจิต แต่ไม่ได้หมายความถึงทุกท่าน ขึ้นกับเหตุปัจจัยของแต่ละคนซึ่งละเอียดมาก และก็ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้แต่ไม่ใช่หมายความว่าทุกท่าน เพราะฉะนั้นสำหรับวิบากที่เป็นสเหตุกะก็ต้องดีกว่า เพราะเหตุว่าแม้ในขณะที่ทำภวังคกิจไม่ได้รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย แต่เมื่อได้รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดแล้วก็ยังสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
อ.กุลวิไล สเหตุกชาติวิบากก็คือทำได้ทั้ง ๔ กิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และตทาลัมพนะกิจด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ ถ้าหากเป็นบุคคลที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ เขาก็มีปัจจัยที่จะมีตทาลัมพนะที่ประกอบด้วยเหตุเกิดร่วมด้วยทำให้เขามีโอกาสที่จะได้รู้อารมณ์ที่ดีในทางที่จะเจริญกุศลได้อีกใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงวิบากเช่น สัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ เราไม่มีโอกาสจะรู้เลยฉันใด ตทาลัมพนะฃึ่งเกิดต่อจากชวนะ เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นวิบากทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อที่จะทำกิจการงานตามหน้าที่เท่านั้นเองไม่ได้มีความสำคัญอะไรเท่ากับขณะที่เป็นกุศล และอกุศล แต่ก็ต้องเนื่องมาจากปฏิสนธิเป็นอย่างไร ถ้าปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นอเหตุกอกุศลวิบากก็ไม่มีทางเลยที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือว่าจะได้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่น่าพอใจ เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรม
ผู้ฟัง อเหตุกะที่เป็นชาติวิบากก็คือการรับผลของกรรมก็ทราบมาว่าการที่จะได้รับผลของกรรมทางกายที่ทุกข์ทรมานก็เนื่องมาจากว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใช่ไหม ทางกายนี่รุนแรงที่สุดใช่ไหม จะมาบอกว่าเป็นสภาพธรรมเท่านั้นหรือ.
อ.อรรณพ เวทนาเป็นอินทรีย์ด้วย ทุกขินทรีย์มีลักษณะที่ปรากฏได้ชัดเจน หยาบ สติปัฏฐานรู้ได้ หยาบกว่าเวทนาที่ละเอียดๆ แต่จริงๆ ถ้าสติปัฏฐานระลึกรู้ ไม่มีปัญหาเลย ลักษณะของทุกข์หรือสุขก็ปรากฏได้ชัด เวทนาก็เป็นสติปัฏฐานหนึ่ง คือ "เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน"
อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงผลของกรรม แม้แต่ผลของกุศลกรรม เวลาที่ให้ผลก็เป็นทั้งวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และก็เป็นอเหตุกวิบากด้วย เพราะฉะนั้นจะเลือกว่าเมื่อกระทำกรรมแล้วจะไม่ให้มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็คงจะเป็นเรื่องที่เลือกไม่ได้ แต่ก็แล้วแต่ภพภูมิด้วย ถ้าเป็นอรูปพรหม เห็น ได้กลิ่น ลิ้มรสพวกนี้ไม่มี จะมีแค่มโนทวาราวัชชนะซึ่งเป็นชาติกิริยาเท่านั้นที่เป็นอเหตุกะ
อ.ธีรพันธ์ ตราบใดที่มีกายอยู่ก็เป็นของธรรมดาที่จะต้องมีการกระทบกับสิ่งที่แข็งเกินไป แต่เมื่อมีสุขเวทนาเราก็ปรารถนาใช่ไหม แต่ว่าทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเวทนาเหมือนกัน เป็นสภาพธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีกายอยู่ก็เป็นที่ตั้งนำมาซึ่งความสุข และความทุกข์
อ.อรรณพ จริงๆ สะท้อนให้เห็นเลยว่าเรามีความติดในเวทนาขนาดไหน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120