พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84


    ตอนที่ ๘๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    อ.อรรณพ จริงๆ สะท้อนให้เห็นเลยว่าเรามีความติดในเวทนาขนาดไหน เราแสวงหาเวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นโสมนัส แล้วเราก็ไม่อยากได้รับทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา หรือถ้าไม่ได้จริงๆ อุเบกขาก็ยังดี นี่คือความติดในเวทนาอย่างมากๆ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพความรู้สึกว่าเป็นเพียงแค่สภาพความรู้สึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วแต่สติปัฏฐานจะเกิด คงจะไม่มีใครห้ามสติปัฏฐานได้ว่าถ้าในขณะที่เจ็บปวด สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ แต่เพียงว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดแล้ว ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่อกุศลวิบากทางกายจะเกิดอีก อกุศลวิบากทางกายก็เกิดอีกได้ แม้พระอรหันต์ที่ท่านดับกิเลสได้แล้ว ท่านก็มีทุกข์กาย ซึ่งท่านก็ไม่สามารถบังคับที่จะไม่ให้ทุกข์กายเกิดได้ตลอดเวลาแม้ท่านจะมีฌาณจิต หรือว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้ท่านรับอกุศลวิบากทางกายไม่มากหรือไม่เต็มที่เท่ากับผู้ที่ไม่ได้ฌาณ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยท่านก็ต้องได้รับทุกขเวทนาทางกาย ท่านก็ไม่ได้หวั่นไหว แต่ก็ไม่ใช่ทุกขเวทนาจะไม่เกิดอีก แม้ท่านพระสารีบุตรในขณะที่ท่านใกล้ปรินิพพาน เวทนาของท่านใช้คำว่าปางตายเลย ที่ท่านถ่ายออกมาเป็นโลหิต ภาชนะหนึ่งเต็มแล้วก็ต้องอีกภาชนะหนึ่งมารอง ท่านก็มีทุกข์ทางกาย แต่จะไม่มีอะไรไปจำกัดปัญญาที่จะไม่ให้ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะไปบังคับไม่ห้เหตุปัจจัยไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวันซึ่งเราไม่เคยทราบความต่างของจิตในวันหนึ่งๆ ว่าบางครั้งก็เป็นอเหตุกจิต บางครั้งก็เป็นสเหตุกจิต ความต่างก็คือว่าถ้าเป็นอเหตุกจิตก็ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของจิตย่อมต่างกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย สำหรับเหตุคืออกุศลเหตุ ๓ คือโลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เราก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าอกุศลทั้งหลายที่มีในวันนี้ซึ่งมากตั้งแต่ลืมตามา ก็คงจะมีผู้ที่รู้ว่าขณะใดที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้เป็นไปในเรื่องการกุศล ไม่มีแม้แต่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือการให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ กับใครก็ตามขณะนั้นก็เป็นอกุศลซึ่งขณะนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าที่อกุศลมีได้ก็เพราะมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเหตุนั้นก็เป็นเหตุของอกุศลที่จะทำให้จิตขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ แล้วก็เจริญงอกงามด้วยความที่เป็นเหตุที่มั่นคง เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นกับจิตนั้นก็จะทำให้จิตนั้นสามารถที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปในทางฝ่ายอกุศลในชีวิตประจำวันตั้งแต่ธรรมดาจนกระทั่งถ้ามีมากก็จะเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม ซึ่งผลก็ย่อมตามมาเป็นอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นผลก็คือจิต ในเมื่อเหตุก็คือจิต และเจตสิก แต่ว่าเจตสิกซึ่งเป็นเหตุนั้นได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม แต่ต้องมีอกุศลเจตสิกคือโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ ซึ่งถ้าขณะใดที่เป็นความติดข้อง ขณะนั้นก็มีทั้งโลภเจตสิก และโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่เป็นโทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าทราบตัวเหตุ ซึ่งได้แก่อกุศลเหตุ ๓ ก็จะรู้จักตัวของเราชัดเจนขึ้น ขณะใดกำลังมีอกุศล แต่ต้องเป็นปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ได้ ขณะนั้นไม่มีที่พึ่ง เราจะพึ่งอกุศลพึ่งไม่ได้เลย สมบัติที่มีก็สูญหายไป ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงก็ป่วยไข้ได้เจ็บ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรมเพราะเหตุ คืออกุศลจิตได้มีแล้ว การศึกษาธรรมก็คือให้รู้จักเหตุกับผล และก็สภาพธรรมที่มีจริงๆ และสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นจิตที่เป็นผลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และขณะใดเป็นจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน

    อ.วิชัย สำหรับเรื่องของสเหตุกจิต และอเหตุกจิต ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เช่น ขณะนี้มีการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และก็คิดนึกต่างๆ ขณะนี้แสดงว่ามีนามธรรม มีสภาพรู้ มีธาตุรู้ และมีสภาพอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูป ดังนั้นสภาพธรรมที่จะมีเหตุเกิดร่วมด้วย เหตุในที่นี้ก็หมายถึงเหตุ ๖ ก็คือโลภะ โมหะ โทสะ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุเป็นสภาพที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลเรียกว่าอกุศลเหตุ โลภะ คือความติดข้อง ความไม่สละต่างๆ เป็นลักษณะของโลภะ โทสะความประทุษร้าย โมหะก็คือความไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ในอริยสัจจะ ดังนั้นอกุศลเหตุเมื่อเกิดเป็นนามธรรม เมื่อพูดถึงว่า ขณะที่กำลังเห็นมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะไหม ชอบไหม พอใจไหม แต่ดูเสมือนว่าเห็นแล้วเราก็ชอบ แต่ว่าเป็นคนละขณะกัน เพราะเหตุว่ากำลังเห็นเป็นสภาพธรรมรู้ เป็นนามธรรม แต่ว่าขณะที่เห็นจริงๆ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยไม่ว่าจะเป็นอกุศลเหตุ หรือโสภณเหตุ แต่เป็นอเหตุกะคือไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ดังนั้น ที่แสดงถึงเรื่องนามธรรมที่เป็นสเหตุกะ และอเหตุกะ ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟังก็มีความเข้าใจจริงๆ ว่าธรรมเป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ จะให้สภาพธรรมเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น คือทันทีขณะนี้เห็นเลยก็ไม่ได้เพราะเราไม่รู้ แต่ถ้ารู้ก็จะรู้ได้จริงๆ ว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมากจึงทำให้ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นโลกที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่กว้างใหญ่ ไม่ได้เกิดดับเลย แต่จากการฟังไม่ได้มุ่งที่ว่าจะต้องไปจำ แต่กำลังฟังให้เห็นความจริงว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ก็ได้ทรงแสดงพระธรรมที่เป็นอภิธรรมโดยละเอียด ถ้าโดยนัยของพระสูตรก็จะไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต และก็จะไม่มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะเลย ก็จะมีแต่สิ่งซึ่งเราสามารถจะเข้าใจได้ในขณะนี้เช่น เห็นมี และก็เมื่อเห็นแล้วจะไม่ยินดีในสิ่งที่เห็นเป็นไปได้ไหม แต่เราไม่รู้ตัวไม่ว่าอะไรจะปรากฏ แม้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นเพียงรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เลย บังคับบัญชาก็ไม่ได้ ปรากฏเมื่อเกิดแล้ว แต่เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทุกอย่างจนกระทั่งเป็นอุปาทานเป็นการยึดถือที่มั่นคง เพราะฉะนั้นก็ยากแสนยากที่จะละคลายความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าความรู้ค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ไม่ต้องไปคิดเรื่องความจำที่จะต้องจำ

    มีหลายท่านซึ่งได้เคยศึกษาธรรมมาแล้วในอดีต ท่านก็บอกว่าท่านจำไม่ได้แน่ๆ เลย ชื่อภาษาบาลีต่างๆ ถ้าเข้าใจแล้วไม่จำเป็น เช่น ขณะนี้มีจิตเห็น ใครจะไปรู้ถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มนสิการเจตสิก ที่เกิดกับจิตชั่วขณะที่เห็น เมื่อไม่รู้ แต่ทราบว่ามี ก็ไม่ต้องไปจำชื่อให้ได้หมด แต่ค่อยๆ ให้มีความเข้าใจที่จะพิจารณาว่า มีจริงหรือไม่ เช่น ความรู้สึก เราจะรู้สึกหลังจากที่เห็น เวลาที่เห็นจริงๆ สั้นมาก เล็กน้อยนิดเดียวดับแล้ว เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับแล้ว ต้องใช้คำว่าหมดแล้วไม่กลับมาอีกเลยอย่างรวดเร็วมาก แต่สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ และก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกได้ที่จะเข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ต้องไปนับเลยว่ากี่ขณะผ่านไปแล้ว และขณะนี้เป็นอะไรทางทวารไหน ทางปัญจทวาร มโนทวาร ไม่ใช่คิดอย่างนั้น แต่หมายความว่าให้รู้ความต่างกันของขณะที่ขั้นฟังกำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจแน่นอน เพื่อที่จะได้รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติที่ได้ฟังธรรม จุดประสงค์คือเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย และต้องตรงตามความจริงนั้นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้นจึงเพียรที่จะฟังแล้วฟังอีก ให้รู้ว่าเรากำลังเข้าใจเรื่อง ค่อยๆ เริ่มเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยังมีอีกมากนักที่ปัญญาจะต้องถึงการที่สามารถประจักษ์ความจริงตรงตามที่ได้เข้าใจด้วย ฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท และก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฟังด้วยความหนักใจ ว่า เรายังไม่รู้นั่น เรายังจำนี่ไม่ได้ ไม่ต้องหนักใจเลย ทุกครั้งที่ฟัง คือให้เห็นความจริงว่า นี่คือสิ่งที่ยังไม่รู้ ฟังเพื่อรู้ และก็ฟังไปเพื่อจะถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น และผลก็คือว่า ท่านที่คิดว่าท่านจะไม่จำเลย ท่านก็จำได้ หลายคนท่านก็บอกว่าภาษาบาลีท่านไม่รู้เลย แม้แต่คำว่าเจตสิกก็ยากแสนยากสำหรับท่าน และท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้สะสมอุปนิสัยในเรื่องภาษาเลย ท่านอาจจะสะสมอุปนิสัยในเรื่องศิลปะ ในเรื่องดนตรี หรือในเรื่องอย่างอื่น แต่ไม่สะสมในเรื่องภาษา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรสำหรับท่านนอกจากภาษาที่ท่านเกิดมาแล้ว ท่านรู้สึกว่าแสนยาก และไม่สามารถที่จะจำได้ แต่พอท่านฟังไปนานๆ ท่านก็พูดตาม จากคำว่าไม่รู้อะไรเลย ท่านก็มีคำว่า “นามธรรม” มีคำว่า “รูปธรรม” มีคำว่า “เจตสิก” และฟังต่อไปก็มีคำว่า “ผัสสะ” “เวทนา” “สัญญา” ก็เป็นเรื่องซึ่งปกติที่ฟังแล้วมีความเข้าใจ แล้วไม่ต้องไปฝืนบังคับที่คิดว่าจะต้องไปจำ

    ขณะนี้ถ้าถามว่าเจตสิก ๕๒ ใครจะลำดับได้ทั้งหมด คงต้องใช้เวลาพอสมควรใช่ไหม หรือมีใครที่คล่องมากสามารถที่จะพูดถึงเจตสิก ๕๒ ได้ แต่ถ้าพูดโดยไม่เข้าใจจะมีประโยชน์ไหม เพราะว่ามีผู้ที่จำ จำเก่ง จำได้ แต่ไม่เข้าถึงอรรถของคำที่ได้ยินได้ฟังว่าหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่นคำว่า “อวิชชา” "วิชชา" แปลว่า รู้ "อะ" แปลว่า ไม่ เพราะฉะนั้นอวิชชาก็ไม่รู้ และก็มีศัพท์อีกหลายคำซึ่งแสดงถึงอรรถลักษณะความหมายของอวิชชาความไม่รู้เช่นความหลง และจริงๆ แล้วถ้าไปนั่งนึกถึงคำอีกมากมายกับการที่เรารู้เพียงคำเดียวว่าอวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะชื่ออะไรก็ตามแต่ หลงจริงเพราะเหตุว่าไม่รู้ หลงว่าเป็นคน หลงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วเกิดขึ้น แล้วปรากฏต่อสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ถ้าไม่มีจิต และเจตสิกในขณะนี้ สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย แต่ลืมคิดเพราะว่าฟังน้อยมาก ไม่ได้ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งแม่นยำในการมีความรู้ว่าขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมมากมายหลายลักษณะ ทางตากำลังปรากฏก็เป็นลักษณะหนึ่ง ทางหูแต่ละเสียง ขอให้คิดถึงแต่ละเสียง ไม่ใช่เสียงเดียวเลยก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น และจากการไม่รู้ก็จะทำให้วันหนึ่งๆ เราจำในสิ่งซึ่งเป็นอัตตาคือจำว่าเป็นเรา จำว่าเป็นตัวตน จำว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนี้ก็จำแล้วใช่ไหม จำหมดทุกอย่างในห้องนี้เลย ทะเลภาพกับทะเลชื่ออยู่อย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์วันหนึ่งๆ จนกว่าจะถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ เพราะฟังแล้วก็รู้ว่า แท้จริงเป็นธรรมมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏด้วย ขณะใดที่มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างแต่ยังไม่ถึงกับรวดเร็ว แต่ก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด โดยที่ไม่ต้องไปจำชื่อ ฉะนั้นใครที่จำไม่ได้หรือคิดว่ายากก็ไม่ต้องกังวลเลย ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจเป็นขณะที่เบาสบาย พ้นจากความไม่รู้ พ้นจากความหนักที่ไม่รู้เลย ว่าแท้ที่จริงแล้วก็หลงอยู่ในความไม่รู้แสนนาน

    ผู้ที่จำไม่ได้ จึงไม่ต้องกังวล แต่ให้เข้าใจความต่างเรื่อยๆ เช่นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย ต้องต่างกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะต่างโดยชาติ จะต่างโดยเวทนา (ความรู้สึก) จะต่างโดยธรรมที่เกิดร่วมด้วย จะต่างโดยประเภทอีกหลายอย่าง

    จิต และเจตสิกมีทั้งที่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ ๖ และไม่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ ๖ ซึ่งเป็นความสำคัญ เพราะว่าถ้าเกิดโดยที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยจะทำอะไรได้ ในเมื่อไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยนอกจากทำกิจหน้าที่ของจิตนั้นเท่านั้น เพียงแค่นั้นเองแล้วก็ดับไป แต่จะทำกุศลได้ไหม เช่น จิตเห็นกำลังเห็น จะไปทำกุศลได้ไหม ไม่ได้ จิตเห็นโกรธใครได้ไหม ก็ไม่ได้ จิตเห็นจะเข้าใจธรรมได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่ก็คือชีวิตของเราซึ่งเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าขณะไหนเป็นขณะไหน และก็จะรู้ได้เลยว่าเวลาที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็จะเป็นเพียงแค่จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งที่เป็นกุศลวิบาก ๘ประเภท และเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภท ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพียงเกิดขึ้นทำหน้าที่นั้นๆ เช่นทำหน้าที่เห็น ทำหน้าที่ได้ยิน ทำหน้าที่ได้กลิ่น ทำหน้าที่ได้ลิ้มรส ทำหน้าที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะนี้เอง หลังจากนั้นแล้วก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ นี่กล่าวโดยคร่าวๆ ไม่ละเอียด

    ผู้ฟัง กิริยาจิตของพระอรหันต์มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีทำไมถึงมี ถ้าไม่มีทำไมถึงไม่มี

    ท่านอาจารย์ กิริยาจิตมี ๒ ประเภท คือ อเหตุกกิริยา กับ สเหตุกกิริยา การศึกษาธรรมเริ่มตั้งแต่ว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าจิตนั้นเป็นเหตุคือเป็นกุศลหรืออกุศล หรือว่าจิตนั้นเป็นผล คือเป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก หรือจิตนั้นไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผลแต่เป็นกิริยา นี่คือการที่เราจะต้องทราบ และเมื่อพูดถึงพระอรหันต์ เราก็รู้ว่าท่านไม่มีกุศล และไม่มีอกุศลอีกต่อไป แต่ยังมีวิบากซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก่อนจะถึงจุติจิตซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้าย ซึ่งจะไม่เกิดอีกเลย ก็จะต้องมีวิบาก คือ มีจิตเห็น จิตได้ยินเหล่านี้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ระหว่างนั้นก็ต้องมีวิบากที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้น แต่เมื่อไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต ก็มีกิริยาจิต แต่เมื่อกล่าวถึงจิตที่เป็นชาติกิริยาโดยรวมก็จะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กิริยาจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยเป็นอเหตุกกิริยามีอยู่ ๓ เท่านั้น นอกจากนั้นกิริยาจิตทั้งหมดที่เหลือเป็นสเหตุกจิตคือ ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะสเหตุกกิริยาที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยไม่มีคนอื่นที่จะมีจิตอย่างนั้นได้เลย ปุถุชนก็มีไม่ได้ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็มีไม่ได้ ปุถุชน และพระเสกขบุคคลคือพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่มีสเหตุกกิริยา แต่มีอเหตุกกิริยา ๒

    ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวรวมถึงอเหตุกจิตทั้งหมดว่ามี ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ และสำหรับวิบาก ๑๕ ทุกคนที่ได้กระทำกรรมมาแล้วก็มีทั้งนั้น กรรมที่ได้กระทำไปแล้วที่จะไม่มีอเหตุกวิบาก ๑๕ เกิดไม่มี แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลวิบากหรือกุศลวิบาก แต่สำหรับกิริยาจิต ๓ ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ จะเป็นพระอริยบุคคลหรือปุถุชนก็ตาม เมื่อเกิดมาแล้วก็จะมีกิริยาจิต ๒ ดวง คือ อเหตุกกิริยา ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร และ มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร และก็เกิดทางปัญจทวารทำโวฏฐัพพนกิจด้วย จะมีเพียง ๒ ดวงนี้เท่านั้น แต่สำหรับพระอรหันต์แล้วมีครบทั้ง ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต และหสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง มหากิริยาของพระอรหันต์ ยังไม่ทราบคำตอบเลยว่ามีเหตุหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตยิ้มของพระอรหันต์ต้องเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา และเวลาที่โสมนัสเวทนาเกิดจะทำให้เกิดการแย้มยิ้มได้ จะประกอบด้วยเหตุก็มี คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ ๒ เหตุ หรือประกอบด้วยอโมหะ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ ตามประเภทของจิตว่ามีกิริยาจิตเท่าไหร่ที่ประกอบด้วยโสมนัสก็สามารถจะทำให้เกิดการยิ้มได้ นอกจากนั้นการยิ้มที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยคือหสิตุปปาทจิตคือขณะที่ยิ้มในอารมณ์ที่ละเอียดซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

    เคยพบพระอรหันต์ไหม ไม่พบก็หมดปัญหา ไม่ต้องไปรู้ว่าท่านยิ้มเพราะอะไรใช่ไหม แต่ให้ทราบได้ว่าการยิ้มต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนานี่แน่นอน และสำหรับพระอรหันต์เท่านั้นที่จะมีหสิตุปปาทจิตซึ่งยิ้มโดยที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย เพราะว่าถ้าเป็นปุถุชนเราก็ยิ้มด้วยโลภะใช่ไหม สนุกสนานรื่นเริง หรือว่ายิ้มด้วยกุศลโสมนัสก็ได้

    การศึกษาธรรมก็ค่อยๆ ศึกษาไปตามเท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ เช่น พระอรหันต์ยิ้มด้วยจิต ๕ ดวง คือ กิริยาจิตที่เกิดร่วมด้วยกับโสมนัสเวทนา และหสิตุปาทจิต

    ขณะนี้มีใครยิ้มบ้าง คนอื่นรู้ได้ไหมว่าทำไมถึงยิ้มหรือยิ้มเพราะอะไร แต่ไม่ใช่กิริยาจิตแน่นอน ไม่ใช่หสิตุปปาทะ ฉะนั้นคนที่ยิ้มก็จะรู้ว่าขณะนั้นมีอะไรที่ทำให้ยิ้ม มีโลภะ หรือ กุศลจิต การศึกษาธรรมก็มีสิ่งที่ปรากฏในชีวิตจริงที่จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจได้ยิ่งขึ้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอทบทวนเรื่องชวนจิต เพราะเหตุว่าจะใช้คำนี้กันบ่อยมาก คือ ชวนะ แต่ผู้ฟังจะมีความเข้าใจแม่นยำถูกต้องหรือไม่ คือ ไม่ลืมในเรื่องของชวนะ หรือได้ยินคำว่าชวนะไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าชวนะนี่คืออะไร เมื่อพูดถึงกุศลจิตเข้าใจใช่ไหม อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต จิตเห็น จิตได้ยินพวกนี้เข้าใจ แต่เมื่อกล่าวถึงชวนะมาจากไหน ถ้าได้ยินคำว่าสัมปฏิจฉันนะ รู้ว่ามีจิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แล้วก็เรียกชื่อตามกิจว่า สัมปฏิจฉันนจิต ไม่สงสัยเลยชื่อกับกิจตรงกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ