พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
ตอนที่ ๙๑
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนถึงตทาลัมพนจิต มีรูปๆ เดียวที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็เกิดรู้รูปเดียวนั้นเอง จนกว่ารูปนั้นจะดับจึงชื่อว่าวาระหนึ่งๆ
ผู้ฟัง ที่เราเรียนเรื่องวาระ ที่เราเรียนเรื่องขณะจิตจำเป็นเพื่อที่จะให้เราเรียนรู้ว่าชั่วขณะของรูปเกิดมากน้อยเท่าไหร่ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่าไม่มีเราเลย หลงคิดว่าเราเห็นตลอดเวลา ความจริงไม่ได้เห็นตลอดเวลาเลย เป็นเรื่องการเกิดดับสืบต่อของจิตเท่านั้นเอง ยิ่งรู้ก็ยิ่งรู้ความสั้นของการเห็นขณะหนึ่งหมดแล้ว ได้ยินขณะหนึ่งก็หมดแล้ว คิดนึกขณะหนึ่งก็หมดแล้ว ทั้งวันๆ ก็เป็นแต่ละวาระที่เกิดขึ้น แล้วก็หมดไปๆ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย
ผู้ฟัง ความต่างของขณะจิตที่ไม่ครบวาระ กับที่เป็นวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิถีจิตต้องคู่กันว่าจิตทางไหน เป็นจักขุทวารวิถี หรือเป็นโสตทวารวิถี แสดงว่ารูปมี และก็กระทบปสาทเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เพราะว่ารูป และก็มีปสาทที่กระทบกันเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด แต่วิถีจิตเกิดจะไม่เกิดเพียงขณะเดียว จะต้องเกิดสืบต่อกัน รู้อารมณ์เดียวกันคือรู้รูปที่กระทบจนกว่ารูปนั้นจะดับก็เป็นวาระหนึ่ง เพราะรูปดับไปแล้ว จะไปรู้อะไรอีกได้ ก็ต้องเป็นภวังคจิต จึงหมดวาระที่รู้รูปทางตา หมดวาระที่รู้รูปทางหู แสดงให้รู้ว่ารูปเกิดเมื่อใด ดับเมื่อใด รูปไม่รู้อะไรเลย ใครจะชอบรูปสักเท่าไร รูปก็ไม่รู้อะไร รูปไม่ใช่สภาพรู้เลย แต่ปรากฏให้ติดข้อง แต่ตัวรูปนั้นก็เป็นเพียงรูปเท่านั้น เกิดแล้วก็ดับไปด้วย สำหรับให้จิตรู้ แล้วก็ติดข้อง แล้วก็หมดไปทั้งจิต และรูป
ผู้ฟัง นอกเหนือจากที่เราฟังเรื่องเหล่านี้ เช่น โวฏฐัพพนวาระเกิดขึ้น เราเองก็ไม่สามารถที่จะไปทราบว่าโวฏฐัพพนวาระเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้ แต่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ใครจะไปรู้ตทาลัมพนวาระ เพียงแค่ขณะเห็นดับไปแล้ว มีได้ยินคั่น และมีภวังค์คั่นแล้ว เพราะฉะนั้นจะไปรู้ตทาลัมพนวาระได้ไหม
ผู้ฟัง ยาก
ท่านอาจารย์ แค่รู้ว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง โดยการนึกคิด
ท่านอาจารย์ จากการฟัง ว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป และกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยิน ได้ฟังมาไม่รู้กี่ชาติ ได้ยินคำว่านามธรรม ได้ยินคำว่ารูปธรรม ได้ยินคำว่า จิต เจตสิก รูป แต่ลักษณะจริงๆ จะต้องรู้โดยสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ ก็ระลึกสิ่งใด สิ่งนั้นก็ปรากฏให้เห็นความเป็นสิ่งนั้นว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ตามที่เราสนทนากันว่า การที่เราจะนอนหลับแล้วฝันเกิดขึ้นมา ก็แน่นอนทราบว่าทางทวารไหน
ท่านอาจารย์ ทางทวารไหน เวลาฝันทางทวารไหน
ผู้ฟัง ทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ มโนทวาร ไม่ใช่ภวังค์ใช่ไหม แต่เป็นวิถีจิต
ผู้ฟัง การรู้สึกว่าแข็งทางกายทวาร ขณะนั้นก็บอกไม่ได้ว่าเป็นทางกายทวาร หรือทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ แต่เห็นแข็ง หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแข็งจะกระทบจักขุปสาทได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ได้สามารถจะรู้แข็งทางไหน
ผู้ฟัง ทางกาย
ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าการรู้แข็งจะต้องรู้ทางกาย เพียงแค่เข้าใจโดยการฟังเท่านั้นเอง ไม่สามารถที่จะไปรู้ถึงอย่างนั้นได้เพราะว่าขณะนี้ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรมก่อน การที่จะได้รู้ตัวจริงของธรรมหลังจากที่ได้ฟังเรื่องของธรรมมาก เราจะเข้าใจเลย เช่น คำว่ารูปขันธ์ รูปเดียว หรือไม่
ผู้ฟัง รูปขันธ์ก็มีหลายรูป
ท่านอาจารย์ ทุกรูปเป็นรูปขันธ์ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แล้วรูปขันธ์เหมือนกัน หรือไม่ ต่างกัน หรือไม่ เช่น แข็งอย่างนี้ กระทบด้วยกายก็จริง จะมีอ่อน จะมีนุ่ม จะมีเหลว จะมีอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นลักษณะที่ปรากฏทางกายทั้งนั้น เราจึงเข้าใจอรรถของคำว่า "ขันธ์" ทั้งหยาบก็มี ละเอียดก็มี ภายในก็มี ภายนอกก็มี แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึก เราก็จำแค่คำว่าขันธ์ แต่ตัวขันธ์ คือความต่าง ความหลากหลายของรูปแต่ละรูปซึ่งปรากฏทำให้เราสามารถรู้ว่าขันธ์ก็คือสิ่งที่มีลักษณะต่างกัน ครั้งหนึ่งที่สติสัมปชัญญะรู้แข็ง อีกครั้งหนึ่งที่สติสัมปชัญญะรู้แข็ง อีกครั้งหนึ่งที่สติสัมปชัญญะรู้แข็ง แต่ละแข็งไม่เหมือนกัน
ผู้ฟัง เพราะคนละแข็ง
ท่านอาจารย์ และการปรุงแต่งของปัจจัยที่จะทำให้เป็นแข็งอย่างนั้นก็ต่างกันอีก เหตุใดบางครั้งเราสัมผัสอะไรแล้วก็บอกว่านุ่มมาก อาหารบางชนิดเราบอกว่านิ่มมาก นี่ก็คือขันธ์ หยาบ ละเอียด ภายใน ภายนอก ใกล้ ไกล อดีต อนาคต ปัจจุบัน นี่คือเราเริ่มความเข้าใจความหมายของขันธ์ โดยไม่ต้องไปท่องคำว่า ขันธ์ แต่รู้เลยว่าเป็นขันธ์เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุว่าหลากหลาย และ ในความเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏเพียงครั้งเดียวในสังสารวัฏฏ์ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนามธรรม และรูปธรรม เกิดแล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง เช่นว่า ขันธ์ แข็ง
ท่านอาจารย์ แข็งเป็นรูปขันธ์
ผู้ฟัง แข็งเกิดเมื่อสักครู่นี้ก็มีลักษณะแข็งเหมือนกัน แต่เมื่อแข็งเกิดอีกครั้งหนึ่งซึ่งแข็งดับไปไม่เกิดขึ้นแล้วในสังสารวัฏฏ์เกิดได้ครั้งเดียว เมื่อแข็งอีกครั้งที่เกิด จากแข็งนั้น ก็เป็นแข็งใหม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แข็งใหม่ที่มีปัจจัยเหมือนเดิมก็เป็นแข็งใหม่
ท่านอาจารย์ ลักษณะก็ปรากฏจนกว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ความหลากหลายโดยการรู้ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า หยาบ ละเอียด ภายใน ภายนอก แต่กำลังมีลักษณะนั้นจริงๆ ปรากฏ ก็จะเข้าถึงอรรถของคำว่า “ขันธ์”
ผู้ฟัง ยังติดใจว่าแต่ละคนเรียนธรรมมาแล้วไม่รู้กี่ชาติ เมื่อเราตายแล้วไปเกิดชาติใหม่ เราก็เป็นรูปใหม่นามใหม่หมดเลย ความรู้ที่เราเรียนไปแล้วจะติดไปบ้าง หรือไม่ เพราะว่าสิ่งที่เราเรียนในชาตินี้เราก็ยังลืม เมื่อเราไปชาติใหม่เราก็อาจจะลืมเป็นศูนย์ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมีมาเท่าไหร่ที่จะได้เป็นอัครสาวก หนึ่งอสงไขยแสนกัป ถ้าท่านไม่มีความรู้จากการที่สะสมมาในหนึ่งอสงไขยแสนกัป ท่านสามารถที่จะฟังท่านอัสสชิ และรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนั้นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่แน่ใจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็สะสมไป แม้แต่อัธยาศัย ประมาทไม่ได้เลย ชวนจิต ๗ ขณะ ถ้าเป็นโลภะบ่อยๆ เนืองๆ จะเห็นอัธยาศัยว่าเกิดมาใหม่คนนี้ก็อยากได้ของคนอื่นแต่ไม่อยากเสียของตน ใช้คำนี้ได้เลย อยากจะได้ไม่มีหยุด ไม่มียั้ง ไม่มีรอ ไม่พอเลย ถ้าสะสมโทสะ ไม่น่าจะโกรธ ก็หงุดหงิด ไม่น่าจะพูดอย่างนี้เลย แค่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นก็มีวาจาที่แสดงความโกรธออกมาแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนสะสมอะไรมา เราจะรู้จักตัวเราจริงๆ เมื่อเราได้ศึกษาธรรมว่าชวนะแต่ละวาระไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทั้งนั้นเลย
ผู้ฟัง คำว่า “บารมี” ครอบคลุมแค่ไหน
ท่านอาจารย์ กุศลที่สามารถจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ผู้ฟัง ลักษณะของจิตกับลักษณะของรูป คำว่าหนึ่งขณะของจิต เราใช้เฉพาะนามธรรมคือจิตใช่ไหม แต่สำหรับรูปที่เกิดดับเราเรียกว่าหนึ่งรูปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จะใช้คำอะไรก็ตาม ๑ ขณะ หรือ จิต ๑ จิต ถ้าไม่ใช้คำว่า ขณะ ก็ใช้คำว่า จิต ๑ จิตก็ได้ รูป ๑ รูป ชัดดีไหม ไม่ต้องใช้คำว่าขณะ หรือใดๆ เลย
ผู้ฟัง ลักขณะของรูปซึ่งมีการเกิดขึ้น การสืบต่อ การเสื่อม แล้วก็ดับ ส่วนจิตก็จะมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่อย่างไรก็ตามคำว่า “สันตติ” คือการสืบต่อนี้ ก็มีในนามธรรมด้วย
ท่านอาจารย์ ในหนึ่งขณะ หรือว่าหลายขณะ
ผู้ฟัง ในหลายขณะ
ท่านอาจารย์ คือพูดอะไรก็ตามแต่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้อง ๑ ขณะก็ ๑ ขณะ ๑ รูปก็ ๑ รูป จิต ๑ ก็ ๑ จิต
ผู้ฟัง คือจิตเป็นปัจจัยให้เกิดจิตขณะต่อไป
ท่านอาจารย์ โดยอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย
ผู้ฟัง ส่วนรูป เวลาเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แล้วจะเป็นปัจจัยให้รูปต่อไปเกิดไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเช่นนั้นมิได้ เพราะว่ารูปต้องเกิดจากสมุฏฐานหนึ่ง สมุฏฐานใด เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นจะให้รูปที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดรูปต่อไปนั้นไม่ได้ เพราะว่าการที่สภาพธรรมหนึ่งที่ดับไปเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อเป็นนามธรรม คือจิต และเจตสิกซึ่งเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นลักษณะของการสืบต่อจะมีเพียงนามธรรม
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราต้องเข้าใจว่ารูปเกิดจากสมุฏฐาน สมุฎฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก จงใจ ขวนขวาย กระทำ สำเร็จเป็นกรรมบทเมื่อไหร่ ก็สามารถจะเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้น คือทำให้วิบากจิต และกัมมชรูปเกิด ไม่มีใครมองเห็นกรรมเลย เจตนามีทุกขณะจิต เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็มี เป็นอย่างแรงกล้ากระทำสิ่งซึ่งเป็นอกุศลอย่างร้ายแรงก็มี ทั้งหมดดับไปแล้วเป็นนามธรรม ไม่มีที่ๆ จะเป็นวัตถุที่จะคิดว่าอยู่ตรงไหนอย่างไร แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อของจิตเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย คือจิตที่ดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่โดยวิคตปัจจัย คือ จิตก่อนจะต้องดับไปก่อน ถ้าจิตขณะก่อนยังอยู่ ไม่มีทางที่จิตขณะต่อไปจะเกิดได้เลย สะสมสืบต่อทุกอย่าง สืบต่อมาหมดเป็นปัจจัย รูปที่เป็นจิตตชรูปเกิดพร้อมอุปาทขณะของจิต ไม่เกิดในฐีติขณะ และภังคขณะของจิตเลย แต่กัมมชรูปเกิดในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะของจิต นี่เป็นความต่างที่เราจะต้องรู้
ผู้ฟัง จิตเห็นก็มีอยู่ ๓ ขณะ อนุขณะ
ท่านอาจารย์ แน่นอน จิตทุกจิตมีอนุขณะทั้งนั้นคือเกิดแล้วก็ดับ และก่อนดับก็เป็นฐีติขณะ แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็ว
ผู้ฟัง แล้วจะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ไหม
ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด นี่คือสิ่งที่จะต้องค่อยๆ เริ่มจำ จิตที่เป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดเลย ปฏิสนธิจิตไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด ตัวจิตไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปเกิด จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด อรูปาวจรวิบาก ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดเพราะอรูปาวจรวิบาก ทำกิจปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม จะมีรูปเกิดด้วยไม่ได้เลย นอกจากนั้นแล้วจิตเกิดเมื่อใดก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดในอุปาทขณะคือในทันทีที่รูปเกิดพร้อมกัน
ผู้ฟัง ขณะที่เห็น มีรูปกระทบกับจักขุปสาทรูป นี้คือ ๑ รูปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จักขุปสาทรูปกี่จักขุปสาทรูป
ผู้ฟัง ๑ รูป
ท่านอาจารย์ แล้วก็รูปที่กระทบกี่รูป
ผู้ฟัง ๑ รูป
ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ
ผู้ฟัง ขณะที่เราเห็นก็คือมีลักษณะของรูป ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ รูปมีมากมาย รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า รูปที่เกิดจากกรรม เกิดทุกอนุขณะของจิตก็เกิดไปดับไปไม่มีใครรู้ แต่รูปใดที่ปรากฏรูปนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏได้อย่างไร และไม่ว่าจะเป็นรูปใดที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ปสาทรูปเป็นสภาวรูป หรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ มีอายุเท่าไหร่
ผู้ฟัง ๑๗ ขณะ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีปสาทรูปเกิด หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ อายุเท่าไหร่
ผู้ฟัง ๑๗ ขณะ
ท่านอาจารย์ ปรากฏ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏก็เกิดแล้วดับแล้ว
ผู้ฟัง ลักขณรูป ๔ เกิดมาเรียงกันทั้ง ๔ อย่าง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ได้เรียง หมายความว่ารูปมีลักขณะของรูป มีลักขณะ ๔ ประการ หรือ ๔ ลักษณะ คือขณะที่เกิด และไม่ใช่ขณะที่ดับ เช่น เดียวกับจิต เพราะฉะนั้นขณะเกิดก็เป็นอุปจายะ ขณะดับก็เป็นอนิจจตา แต่ทันทีที่รูปเกิดไม่ได้ดับไปเลย สืบต่อทันทีเป็นสันตติ แล้วก็เป็นชรตา ส่วนจิตหนึ่งขณะก็มีอุปาทะ ฐิติ ภังคะเป็นอายุของจิต
ผู้ฟัง ขอให้ช่วยอธิบายคำว่า “สภาวรูป”
อ.อรรณพ สภาวรูป คือ รูปที่มีสภาวะจริงๆ ซึ่งจะมีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ เช่น สีที่ปรากฏทางตาเป็นสภาวรูป เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นสภาวรูป กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เหล่านี้เป็นสภาวรูป
อ.สมพร สภาวรูปคือรูปที่มีภาวะของตน "สะ" แปลว่า ของตน "ภาวะ" แปลว่า มี หรือเป็น รูปที่มีภาวะของตน ได้แก่ รูปที่เกิดจากดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกว่า มหาภูตรูป และ อุปาทายรูป คือรูปที่อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม การที่เรียกว่าสภาวรูป คือ ต้องเป็นปรมัตถ์ไม่ใช่บัญญัติ เช่น คน สัตว์ ไม่มีสภาวะ ไม่มีภาวะของตน สภาวะแปลว่าภาวะของตน
ผู้ฟัง จิตดับรูปถึงดับ อย่างนี้จะถูกไหม
ท่านอาจารย์ รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะถ้าเป็นสภาวรูป ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ ใครจะเปลี่ยนตามใจชอบเปลี่ยนตามความคิดไม่ได้
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่ารูปมีสมุฏฐานที่เกิด ๔ ประการ ขอให้อธิบาย และยกตัวอย่างให้เห็นให้ชัดเจน
อ.ธีรพันธ์ สมุฏฐานก็คือที่ตั้งที่ให้รูปเกิด เช่น จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จะสังเกตรูปที่เกิดจากกรรม ก็ได้ว่า ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่ที่เป็นสัตว์บุคคลที่เราสมมติบัญญัติกันมีรูปที่เกิดจากกรรม คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นต้น นี้เป็นรูปที่เกิดจากกรรม กระทำกรรมใดมาก็จะต้องทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นอยู่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ส่วนรูปที่เกิดจากจิต เช่น การเปล่งเสียงออกมา การพูด จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิต หรือ ที่มีการเคลื่อนไหว อิริยาบถต่างๆ ก็เป็นรูปที่เกิดจากจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวอะไรก็ควรจะเข้าใจสิ่งนั้นก่อนว่าคืออะไร ถ้าจะกล่าวถึงสมุฏฐานของรูป ก็จะต้องเข้าใจก่อนว่ารูปมีจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่สภาพรู้ และก็ต้องเป็นปัญญาของเราที่สามารถที่จะบอกได้ว่าถ้าเข้าใจแล้วว่ารูปมีจริง และสภาพที่เป็นรูปนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ขณะนี้อะไรเป็นรูป ต้องบอกก่อน แล้วเราถึงจะรู้สมุฏฐาน พอจะบอกได้ไหมว่า ขณะนี้อะไรเป็นรูป ขณะนี้มีรูปอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ถ้ายกตัวเราเองได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ รูปเป็นสิ่งที่มีจริง และก็รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะว่าถ้าเราเพียงฟังอาจจะไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นก็เลยคิดว่าตัวเราเป็นรูป แต่ถ้าพูดถึงธรรมสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย แต่มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ว่าสิ่งนั้นมี เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังมีปรากฏในขณะนี้ต้องมีแน่ๆ และสิ่งที่มีที่ปรากฏให้รู้นั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยเป็นรูป เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกล่าวถึงสมุฏฐานก็ควรจะพูดให้เข้าใจชัดเจนว่าขณะนี้อะไรเป็นรูป
ผู้ฟัง ความแข็งเป็นรูป เสียงเป็นรูป
ท่านอาจารย์ แข็งมีเป็นรูป ที่ว่าต้องรู้จริงเพราะว่าแข็งไม่รู้อะไรแน่ๆ ใช่ไหมแต่แข็งมี แต่สิ่งที่มีไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่รู้เลยว่าต้องมีปัจจัย หรือสมุฏฐานให้เกิดสำหรับรูป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏจะปรากฏเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่รู้คือลอยๆ คือไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปก็ไม่รู้ เกิดมาอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ผู้ที่ตรัสรู้ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นโดยตลอด โดยสิ้นเชิง สำหรับรูปที่มีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประการนี้ต้องไม่ลืมด้วย ไม่ใช่ว่ารูปตั้งอยู่นาน รูปไหนก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นสภาวรูปแล้วจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เราก็จะมาหาสมุฏฐาน ว่าใครทำให้รูปเกิด ทำได้ไหม ทำความเพียร ทำให้มีความเพียรได้ไหม
ผู้ฟัง ถ้าเราตั้งใจ
ท่านอาจารย์ แต่ตัวเพียร ทำยังไงให้เกิดตัวเพียร ความโกรธมีไหม ทำให้เกิดความโกรธได้ไหม
ผู้ฟัง มันเกิดขึ้นเอง
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องเข้าใจว่าทั้งนามธรรม และรูปธรรมต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถทำให้นามธรรมใด รูปธรรมใดเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นสำหรับรูปธรรมจะมีสมุฏฐานคือธรรมซึ่งก่อตั้งให้เกิดรูปได้ เช่น กรรมดับไปแล้วก็จริง นานแสนนานก็จริง แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วสามารถที่จะทำให้รูปเกิดได้ คิดดูถึงความน่าอัศจรรย์ของธรรม กรรมมีมากมายไม่รู้ว่ากี่กรรม แต่กรรมก็สามารถเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นโดยกรรมนั้น จึงกล่าวว่ารูปนั้นเป็นกัมมชรูป คือรูปที่เกิด (ชะ คือ เกิด) กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จักขุปสาทบางคนมี บางคนไม่มี โสตปสาท รูปที่สามารถรับกระทบเสียงบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี นักวิทยาศาสตร์จะทำให้รูปนี้เกิดได้ไหม
ผู้ฟัง ในการช่วยทางอื่น
ท่านอาจารย์ แต่ไม่สามารถจะทำให้รูปนี้เกิดได้เลย เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ว่า มีรูปอยู่ ๘ รูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน ให้รู้แค่นี้ก่อน แต่รูปทั้งหมดถึงจะกล่าวว่ามี ๒๘ รูป ก็ต้องแยกว่ารูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานใช้คำว่า "มหาภูตรูป" มี ๔ รูป รูปทั้งหมดมี ๒๘ เพราะฉะนั้นอีก ๒๔ รูป ไม่ใช่มหาภูตรูป แต่อาศัยมหาภูตรูป ชื่อว่า "อุปาทายรูป" ธรรมที่ได้ฟังไม่เปลี่ยนเลย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ไม่เปลี่ยนอีกเหมือนกัน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่แยกจากกันเลย ไม่มีที่ใดที่มีแต่ธาตุดิน ไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และไม่มีที่ใดที่มีแต่ธาตุน้ำ ไม่มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ ไม่แยกจากกันเลย และมหาภูตรูป ๔ เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี รูปกลุ่มหนึ่งที่เกิดเพราะว่ารูปไม่แยกจากกันเลย จะเกิดเพียงรูปเดียวไม่ได้ ที่กล่าวแล้วก็มี ๔ รูปที่ต้องเกิดร่วมกัน กลุ่มของรูป ๔ รูปเกิดจากกรรมขณะใดไม่ใช่กลุ่มของรูปที่เกิดจากจิต ไม่ใช่กลุ่มของรูปที่เกิดจากอุตุ ไม่ใช่กลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหาร รูปใดเกิดจากสมุฏฐานใดก็เกิดจากสมุฏฐานนั้น และสำหรับรูป ๔ รูปเมื่อเกิดแล้วก็จะมีอุปทายรูปเกิดรวมด้วย อีก ๔ รูปคือ สี หรือวัณณะที่สามารถจะกระทบกับจักขุปสาท ๑ รูป กลิ่น ๑ รูป รส ๑ รูป โอชา ๑ รูป รวม ๘ รูปเกิดจากสมุฏฐาน ๑ สมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน เพราะว่าบางคนไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วยได้ก็จริง แต่อย่างน้อยเมื่อรูปเกิดขึ้นแล้วต้องมีรูป ๘ รูป
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120