พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
ตอนที่ ๙๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ ทราบว่ามีผู้ที่มาใหม่หลายท่าน ขอถามคำถามเดียวว่าภวังคจิตอาศัยทวารไหน
ผู้ฟัง ภวังคจิตไม่อาศัยทวาร
ท่านอาจารย์ ตรงนี้ต้องมั่นคง ใครจะถามอย่างไรก็ตาม ต้องรู้ว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตเกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ฉะนั้นใครจะถามอย่างไรเมื่อไหร่ก็ต้องทราบ เพื่อความมั่นใจว่าจิตที่ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดมีเพียง ๓ ขณะ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ
ผู้ฟัง ทวารทั้ง ๕ ก็คือปสาท เช่น จักขุปสาทเป็นทวารทางตา แล้วมโนทวาร คืออะไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าทวารทั้ง ๖ มีเท่าไหร่ก่อน ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์มีเท่าไหร่
ผู้ฟัง ทางที่จิตรู้อารมณ์ก็ต้องมี ๖ ทวาร
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ เวลาที่ฟังเราอาจจะไปติดที่จำนวนบ้าง ชื่อบ้าง แล้วก็เตรียมจะตอบบ้าง ก็เลยลืมฟังที่คุณวิชัยพูดไปก่อนหน้านี้ว่า เมื่อมีการคิดนึกเกิดขึ้น การคิดนึกไม่ได้อาศัย ปัญจทวารหนึ่งทวารใดเลย ไม่เหมือนเห็น เห็นต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร คือเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตามที่อาศัยเกิดโดยทวารนั้นเป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นวิถีจิตจะไม่มีเพียงขณะเดียว แต่จะเกิดสืบต่อกันหลายขณะรู้อารมณ์ที่มีอายุ ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ ซึ่งความจริงถ้านับรวมทั้งภวังค์ด้วยถึงจะเป็น ๑๗ ขณะ ถ้าจะนับเฉพาะวิถีจิตก็ไม่ถึง ๑๗ ขณะ ความเข้าใจก็คือต้องเข้าใจจริงๆ ในคำที่ได้ยินได้ฟัง เช่นรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะไปเกิดตอนไหนอย่างไรก็เกินจากนี้ไม่ได้ จะต้องดับไป และจิตจะเกิดรู้รูปนั้นมากน้อยเท่าไหร่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ใครจะไปทำให้รูปนั้นมีอายุยืนยาวไปให้จิตอื่นๆ มาเกิดรู้ด้วยไม่ได้ รูปที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น
เพราะฉะนั้นสำหรับปสาทรูปก็เป็นรูปที่สามารถจะรับกระทบกับรูป เช่น จักขุปสาทสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ จักขุปสาทรูปกระทบรูปอื่นไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะรับกระทบกับรูปอื่นได้ สำหรับโสตปสาทก็เป็นรูปที่เกิดขึ้น และสามารถรับกระทบเฉพาะเสียงเท่านั้น และทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวมเป็น ๕ ทวาร แต่เวลาที่คิดนึกไม่ได้อาศัยตาก็คิด ไม่ได้อาศัยหู จมูก ลิ้น กายก็คิด แล้วจะเกิดคิดขึ้นมาได้อย่างไรเพราะว่ากำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วจะเปลี่ยนเป็นการคิดนึกก็ต้องหมายความว่ามีเรื่องที่เป็นอารมณ์ที่ได้สะสมไว้ ที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการตรึก นึกถึงเรื่องนั้น จึงรู้เรื่องนั้นได้ ที่เรากำลังคิดนี้อยู่ดีๆ จะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ในขณะที่กำลังคิดไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วจิตที่คิดเรื่องราวต่างๆ ด้วยกุศลจิตหรือด้วยอกุศลจิต จิตที่เป็นกุศลคิดหรือจิตที่เป็นอกุศลคิด เพราะฉะนั้น ความคิดของเรามีทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล แต่ก่อนที่จะคิด จิตเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นจะให้มีกุศลจิตเกิดทันทีไม่ได้ แต่จะต้องมีจิตที่เป็นอาวัชชนะ เป็นจิตที่รำพึงถึง ถ้าใช้ในภาษาที่แปล แต่ความจริงก็เกิดเพียงหนึ่งขณะแล้วก็นึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม นึกถึงรูปหนึ่งรูปใดก็ตาม รวมความว่าทางมโนทวารวิถีจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์
เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตก็แล้วแต่ว่าจะคิดถึงอะไร มีปัจจัยที่จะทำให้ความคิดนั้นเกิดขึ้น ภวังคจิตก็ไหว และต่อจากนั้นก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีภวังคุปัจเฉทะเกิดก่อน วิถีจิตจะเกิดไม่ได้เลย ฉะนั้นภวังค์สุดท้ายก็คือภวังคุปัจเฉทะ เมื่อเกิดแล้วดับไปจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ จะเป็นจิตอื่นก็ไม่ได้นอกจากวิถีจิตทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ที่เรากำลังคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้ทราบว่ามโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนแล้วดับไป จากนั้นแล้วกุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เกิดขึ้นมีอารมณ์นั้นที่ปรากฏทางใจเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต ดังนั้น ขอถามว่าอะไรเป็นมโนทวาร
ผู้ฟัง ก็ต้องภวังค์ดวงสุดท้าย
ท่านอาจารย์ ใช่ ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร จึงกล่าวว่าทวารมี ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร คือ ปสาทรูป ๕ และเป็นนาม ๑ ทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้น ความต่างกันก็คือ ภวังคุปัจเฉทะเป็น "มโนทวาร" ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต แต่มโนทวาราวัชนจิตเป็นวิถีจิตแรก ไม่ใช่มโนทวาร เพราะมโนทวารได้แก่ภวังค์ขณะสุดท้าย คือภวังคุปัจเฉทะ แต่วิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้นต้องระวัง ๒ ชื่อ มโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ส่วนมโนทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตแรกทางใจที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ
ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตทางมโนทวาร ปกติแล้วทางปัญจทวารเราก็จะรู้จุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด
ท่านอาจารย์ จุดเริ่มต้นของอะไร จุดสิ้นสุดของอะไร
ผู้ฟัง ของรูป เพราะว่าเรานับอายุรูปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แต่ว่าลักษณะที่มโนทวาร เรารู้ทางใจ แล้วจะมีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดไหม
ท่านอาจารย์ รู้อารมณ์อะไรทางใจ
ผู้ฟัง ถ้ารู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ เมื่ออายุของรูปดับไปก็รู้ต่อก็คือรู้อารมณ์ของสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวรูปที่กระทบกับมโนทวาร แต่มโนทวารวิถีจิต หลังจากที่ทางปัญจทวารหนึ่งทวารใดดับไปแล้ว แล้วก็มีภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิด แล้วก็มีรูปที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดของทางปัญจทวารก็จะปรากฏสืบต่อทางมโนทวารด้วย สามารถที่จะมีวิบากจิตเกิดสืบต่อทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนกิจทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นตทาลัมพนจิตจะเกิดได้ ๖ ทวาร เกิดทางปัญจทวารต่อจากชวนจิตก็ได้ แล้วก็เกิดทางมโนทวารต่อจากชวนจิตก็ได้
ผู้ฟัง ทางปัญจทวาร ทวารทั้ง ๕ เมื่ออายุของรูปสิ้นสุดลงก็สิ้นสุดทางทวารนั้น ก็จะมีอารมณ์ที่คิดถึงรูปที่เพิ่งดับไป รู้ทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แล้วลักษณะของวิถีจิตทางมโนทวารจะเป็นลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเราไม่เคยทราบความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อแต่ละวาระ เวลานี้เราไม่รู้ว่ามีภวังคจิตคั่นทุกวาระเหมือนกับไม่มีภวังค์เลย ไม่ปรากฏว่ามีภวังค์คั่น เห็นก็เห็นตลอด และยังมีได้ยินแทรก และยังมีคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าเราไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมแค่ไหน ซึ่งสภาพธรรมก็เป็นอย่างนี้เอง แต่ว่าจากการตรัสรู้ และการทรงแสดงก็ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าการที่เราจะไปนับจิตหนึ่งขณะเป็นไปไม่ได้เลย แม้จิต ๗ ขณะก็เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อมีภวังค์คั่นแล้วจึงจะมีแต่ละวาระซึ่งสั้นมาก ตามปกติชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะตามปกติ ศึกษาต่อไปก็จะทราบว่าจะลดลงได้อย่างไร แต่ตามปกติแล้วก็คือ ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นในขณะนี้จะนับทวารไหน ทางตานี่ก็นับวาระไม่ได้เลยว่ากี่วาระที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นแล้วก็เห็น เพราะเหมือนกับไม่มีอะไรดับ และก็ยังมีภวังค์คั่น และก็ถึงมโนทวาร
ผู้ฟัง ทางใจก็มีเรื่องมากระทบภวังคุปัจเฉทะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไร มโนทวารจะคิดถึงอะไร จิตต้องมีอารมณ์ทุกขณะ จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตประเภทไหนเกิดก็ต้องมีอารมณ์เฉพาะของจิตประเภทนั้นๆ เวลาที่เป็นภวังค์ กำลังเป็นภวังค์จะไปเอาอารมณ์ทางตามารู้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็ต้องมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตดำรงภพชาติโดยที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีเห็นไม่มีได้ยินเหล่านี้เลย ฉะนั้นขณะที่เป็นภวังค์จะมีอารมณ์เหมือนกำลังเห็นขณะนี้ไม่ได้ หรือจะคิดนึกก็ไม่ได้ แต่เมื่อคิดนึกก็ไม่ใช่ภวังค์ แล้วเรื่องนั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีการที่สะสมที่จะทำให้จิตนึกถึงอารมณ์นั้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการตรึกหรือนึกถึงอารมณ์ที่กระทบ
ผู้ฟัง ก็เหมือนเช่นเดียวกับทางตา
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่รูป เท่านั้นเอง ที่กล่าวว่าไม่ใช่รูปต้องเข้าใจว่าไม่ใช่รูปทางปัญจทวารในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าทางมโนทวาร คือมโนทวาราวัชชนจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่างแม้แต่รูปที่ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร ใครจะรู้รูปนั้นบ้างหรือไม่ ในชีวิตประจำวันก็จะรู้อย่างมากก็แค่ ๗ รูปที่เป็นสภาวรูป
คุณธิดารัตน์ช่วยให้ความหมายสำหรับผู้ที่มาใหม่ เพราะว่าคงต้องการทราบความต่างกันของคำว่า “วาระ" “วิถี” และ “ขณะ” คำว่า “ขณะ” ก็ดูจะยังไม่ค่อยพูดถึง เช่นทางปัญจทวารมี ๗ วิถี ๑ วาระ แต่ว่าวิถีแต่ละวิถีกี่ขณะ
อ.ธิดารัตน์ คำว่า “ขณะ” หมายถึงจิตที่เกิดขึ้น และก็ต้องมีดับด้วย ทรงแสดงว่ามีอนุขณะ ๓ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป นี้คือลักษณะการเกิดขึ้นของจิต ทั้ง ๓ อนุขณะ รวมเป็น ๑ ขณะจิต ส่วนคำว่า “วิถี” คือทางที่จิตนั้นเกิดขึ้นแล้วจะเป็นทางที่รู้อารมณ์ วิถีก็คือทาง ทวารหมายถึงประตูที่จิตนั้นจะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เช่น ทวาร ท่านจะมุ่งถึงปสาทรูปซึ่งเป็นรูปธรรม คือ จิตนั้นอาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้อารมณ์ วิถีก็คือ เป็นจิตขณะเดียวก็ได้ หรือหลายขณะก็ได้ซึ่งใช้คำว่าวิถี เช่นปัญจทวารวัชชนจิต เป็นจิตหนึ่งขณะ แล้วก็เป็นจิตหนึ่งวิถี ทวิปัญจวิญญาณไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส ซึ่งเกิดต่อ ก็เกิดขึ้นหนึ่งขณะจิตแล้วก็เป็นหนึ่งวิถี สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เป็นหนึ่งขณะ หนึ่งวิถีเหมือนกัน โวฏฐัพพนะวาระท่านจะใช้คำว่ามีอารมณ์เล็กน้อยเป็นโวฏฐัพพนวาระ ถ้าชวนวาระก็จะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นตทาลัมพนวาระก็เรียกว่าชัดเจนมากก็คือมีจิตเกิดขึ้นครบทั้ง ๗ วิถี ส่วนชวนวิถีมีจิตเกิดดับซ้ำๆ กันถึง ๗ ขณะแต่ก็เรียกว่าเป็น๑ วิถี ส่วนตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นด้วยกัน ๒ ขณะเป็นหนึ่งวิถี
ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้เลยใช่ไหม ฟังได้ แล้วค่อยๆ เข้าใจได้ในความเป็นอนัตตา แต่ว่าเราก็ต้องมีความชัดเจนในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเพื่อความไม่สับสน ถ้ากล่าวถึงขณะจิต ไม่ใช่ขณะของรูปๆ หนึ่งเลย แต่เป็นจิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าขณะใดก็ตามจะทำหน้าที่ใดก็ตามแต่จิตจะเกิดขึ้นทีละ๑ ขณะ จะไม่มีจิตของใครที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ ขณะได้เลย เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย "วิคตปัจจัย" หมายความว่าเมื่อสิ่งนั้นปราศไปแล้ว สิ่งอื่นจึงจะเกิดต่อไปได้ สำหรับจิตที่เป็นอนันตรปัจจัย รวมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ก็คือสภาพของจิตเป็นปัจจัยโดยที่ว่า ทันทีที่จิตนั้นดับ อนันตรปัจจัยที่เป็นจิตนั้นในขณะนั้น ก็จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย นี่เป็นเหตุที่จิตเกิดขึ้นแล้วไม่จบ มีจิตของใครจบบ้างไหม ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยจบเลยเพราะเหตุว่าจิตที่เกิดก็คือหนึ่งขณะดับ เช่น ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเพียงขณะเดียวที่สืบต่อ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าปฏิสนธิจิตเพราะทำปฏิสนธิกิจ ๑ ขณะ นี่คือความหมายของขณะ และเมื่อปฏิสนธิจิต ๑ ขณะดับไปแล้ว ต้องมีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะว่าจิตดวงก่อนขณะก่อนเป็นอนันตรปัจจัย และเป็นวิคตปัจจัยก็คือแม้ว่าจะเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ก็จริงแต่ก็ต้องเมื่อจิตนั้นปราศไปคือหมดไปเสียก่อน จะเกิดมาซ้อนพร้อมกันไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นขณะจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ทำภวังคกิจดำรงภพชาติ ๑ ขณะที่เกิดก็คืออนุขณะ ๓ ขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ขณะที่ดับไป ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าขณะเกิด คือ อุปาทขณะ ขณะดับ คือ ภังคขณะ ระหว่างที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ ซึ่งไม่ใช่รูป แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างเร็วมาก ก็ยังต่างเป็น ๓ อนุขณะย่อย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตในภพใด ภูมิใด ของใคร แม้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือจิตของบุคคลที่เกิดในนรก เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นความจริงตามที่ทรงตรัสรู้ว่าทุกขณะจิตหรือทุกจิตทีละ ๑ จิตทีละ ๑ ขณะจะต้องมีอนุขณะ ๓ เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจิต ๑ ขณะดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น และเป็นวิคตปัจจัยด้วย คือต้องปราศไปก่อนแล้วจิตขณะต่อไปจึงเกิดขึ้น จะเป็นแบบนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยทีละ ๑ ขณะๆ เรื่อยๆ ไป
ขณะใดที่ไม่ใช่การรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่วิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เช่น ในขณะนี้ต้องอาศัยจักขุปสาท จิตเห็นจึงเกิด ขณะที่ได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท จิตได้ยินจึงเกิด แม้ขณะที่คิดนึกก็ต้องมีทวารหรือทาง ถ้าเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ คิดไม่ได้เลยในขณะที่เป็นภวังค์ แต่ชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย แม้นอนหลับก็ยังมีฝันหรือตื่นขึ้นมาในขณะที่ไม่ใช่หลับสนิท แต่ละวาระของการรู้อารมณ์จะต้องมีภวังคจิตคั่น นี่แสดงให้เห็นว่าการรู้อารมณ์ของแต่ละทวารสั้นมากแค่ไหน โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ แล้วจิตเกิดขึ้นมารู้อารมณ์นิดเดียวเหมือนฟ้าแลบ และต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ แล้วก็รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดเหมือนฟ้าแลบแล้วก็เป็นภวังค์คั่น แล้วก็รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเหมือนฟ้าแลบแล้วก็เป็นภวังค์คั่น นี่คือชีวิตจริงๆ ซึ่งไม่มีเรา ไม่มีตัวตน เพราะว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เช่นจิตได้ยินขณะก่อนดับแล้ว ไม่มีการที่จะกลับมาอีกเลย ขณะนี้ที่ได้ยินก็เป็นขณะใหม่
เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงว่าใหม่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าเก่าก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ฉะนั้นก็จะมีความต่างกันของคำว่า “ขณะ” คือทุกขณะจิต คือ ๑ ขณะจิต ส่วนคำว่า “วาระ” คือขณะที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวารวิถี จิตที่เกิดขึ้นรู้ เมื่อรูปนั้นเกิดแล้วยังไม่ดับเป็น ๑ วาระ เมื่อรูปนั้นดับไปแล้ว จิตจะรู้รูปนั้นต่อไปไม่ได้เพราะเป็นภวังคจิต ฉะนั้นภวังคจิตไม่ใช่วาระของการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดเลย แต่วาระจิตที่กล่าวว่ามีสั้นบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เพราะเหตุว่าบางครั้งรูปกระทบหลายๆ ขณะ โดยที่จิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตจริงของเราวันหนึ่งๆ เราเห็นทุกอย่างเหมือนกันไหม เวลาที่เราง่วงมากๆ แล้วก็มีใครมาปลุก เขย่าตัวนิดหน่อย แล้วเราก็รู้นิดเดียวแล้วเราก็หลับไปแล้วไม่รู้เป็นใคร มาพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เขาจะเรียกอะไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเมื่อขณะนั้นมีจะให้วาระเท่ากันทั้งหมดก็ไม่ได้ จึงมีการแสดงว่า วาระต่างๆ ตามวิถีจิตที่เกิดมากน้อยต่างกัน
ถ้าเป็นวิถีจิตมากแต่ไม่ได้หมายความถึงขณะ ถ้าขณะจิต คือ ๑ ขณะ ถ้าเป็นวิถีจิตคือขณะที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเป็นวิถีจิตทั้งหมด จักขุวิญญาณจิตเห็นขณะนี้เป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อก็เป็นวิถีจิตเพราะเหตุว่ามีรูปที่ยังไม่ดับทางตาเป็นอารมณ์ สันตีรณะที่มีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ก็เป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเป็นวิถีจิตทั้งหมด ซึ่งสำหรับทางตาจะมีวิถีจิตเพียง ๗ วิถี วิถีจิตแรกคือปัญจทวารวัชชนจิตเป็นวิถีจิตหรือไม่ เป็น เพราะไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งขณะ นี่คือความต่างของการที่เราจะต้องกล่าวเรื่องขณะจิต วิถีจิต และวาระ ให้รู้ว่าสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดได้เพียงหนึ่งขณะเท่านั้น จะไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะเลย แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นวิถีจิตไม่ใช่ภวังคจิต ซึ่งก็เกิดได้ ๑ ขณะเท่านั้นในวาระหนึ่งๆ คือระหว่างที่รูปเกิดแล้วยังไม่ดับ จะมีจิตอื่นๆ เกิดสืบต่อเพื่อที่จะรู้รูปที่ยังไม่ดับ แต่ละวิถีจิต คือแต่ละประเภทของจิต ซึ่งจิตทั้งหมดที่รู้อารมณ์ทางทวารเป็นวิถีจิตทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตเกิด ๑ ขณะ มีข้อสงสัยเรื่องวิถีจิตกับขณะจิต หรือไม่ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย ที่ทำให้ปัญจวิญญาณจิตเกิดต่อ ซึ่งความจริงจะเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่งก็ได้คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดตามใจชอบไม่ได้เลยต้องตามลำดับจริงๆ ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตดับจะให้ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม ไม่ได้ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัยให้ปัญจวิญญาณจิต สำหรับปัญจทวาราวัชชนะดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตาเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิด จิตอื่นเกิดไม่ได้เลย และจักขุวิญญาณก็เกิด ๑ ขณะเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายของวิถีจิตกับขณะจิต และเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว ๑ ขณะ ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดต่อทำสัมปฏิจฉันนกิจ ๑ ขณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสำหรับปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะเป็นทีละ ๑ ขณะ เกิดได้ไม่มากกว่านั้น เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ ๑ ขณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวิถีจิตหรือในวาระหนึ่งๆ จะมีวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานกี่ขณะก็แล้วแต่ประเภทของวาระนั้นๆ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120