พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
ตอนที่ ๙๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในวิถีจิตหรือวาระหนึ่งๆ จะมีวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานกี่ขณะก็แล้วแต่ประเภทของวาระนั้นๆ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังกล่าวถึงทีละหนึ่งขณะ คือเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป สันตีรณะเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป แต่ถ้าเป็นขณะที่เราไม่ค่อยจะรู้สึกตัวเมื่อถูกปลุกขึ้นมา และไม่รู้ว่าใครพูดอะไรแล้วก็หลับต่อไปเป็นภวังค์ต่อไป โวฏฐัพพนะก็จะเกิดขึ้น ๒ - ๓ ขณะ แสดงให้เห็นว่าเป็นวาระที่ต่างกับวาระขณะนี้ที่เรามีเห็น เรารู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เพียงแค่โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วก็ดับไป ตรงนี้ก็พูดเกินที่ควรจะทราบในตอนต้น แต่เมื่อมาถึงคำว่า “ขณะจิต” กับ “วาระจิต” ก็จะให้ทราบว่าเมื่อเป็นวาระหนึ่งนั้นจะประกอบด้วยวิถีจิตหลายขณะ และเมื่อพูดถึงวิถีจิตก็แล้วแต่ว่าวิถีจิตนั้นจะเกิดกี่ขณะ เช่น ถ้าเป็นขณะนี้ โวฏฐัพพนะจิตดับไปแล้ว จิตที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่มีใครยับยั้งได้เลยที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลในรูปที่กำลังปรากฏ แม้ว่าเราจะไม่รู้เลยแค่เห็นนิดเดียว ไม่ใช่กำลังหลับ แต่กำลังตื่น และเห็นตามปกติ เพียงแค่เห็นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิตเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับตามการสะสม มีใครสะสมมาที่เมื่อเห็นแล้วก็เป็นกุศลจิตบ้างไหม ก็จะได้ทราบวาระของการที่จิตรู้อารมณ์แต่ละทางจะคั่นด้วยภวังค์ ระหว่างที่ภวังคจิตยังไม่เกิด และก็วิถีจิตเกิดสืบต่อกันทางทวารหนึ่งทวารใด เมื่อมีภวังค์เกิดคั่นเมื่อไหร่ก็นับว่าเป็นวาระหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้นวิถีจิตทางตาวาระหนึ่ง ไม่ปนกับวิถีจิตทางหู เพราะว่าทางตาจะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นวิถีจิตกี่ขณะก็ตามซึ่งเกิดขึ้น ถ้าภวังคจิตยังไม่คั่นก็ยังไม่หมดวาระนั้น ก็ยังคงเป็นวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันโดยตลอดโดยทางนั้นทางเดียว เมื่อมีภวังคจิตคั่นเมื่อใดก็สิ้นสุดวาระหนึ่งๆ ซึ่งจะมีวิถีจิตเกิดมากน้อยต่างกัน ในขั้นต้นนี้ก็คงจะไม่ต้องกล่าวถึงโดยละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่าการใช้คำว่า “วาระ” หมายความว่าวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันเมื่อไหร่ที่ภวังคจิตเกิดคั่นเมื่อนั้นก็เป็นวาระหนึ่ง และสำหรับวิถีจิตที่เป็นทางจักขุทวาร เมื่อรู้อารมณ์ทางจักขุทวารดับไป จะกี่ขณะจิตหรือจะกี่วิถีประเภทของจิตนั้นๆ ก็ตามแต่ เมื่อภวังค์เกิดคั่นเมื่อใด ก็หมดวาระของจักขุทวารวิถี และเมื่อเริ่มทางหูก็เป็นวิถีจิตที่เกิดสืบต่อกันรู้เสียง หมดเมื่อใดก็มีภวังค์คั่นจึงเป็นวาระหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจความหมายของ ขณะ วิถี และวาระ
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส หรือคิดนึก ในขณะที่ธรรมหนึ่งธรรมใดปรากฏ ขณะนั้นเป็นธรรมที่ปรากฏทีละหนึ่งขณะจิตหรือว่าเป็นหลายๆ ชุดมาเป็นทีละหนึ่งขณะที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะนี่แน่นอนใช่ไหม แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นภวังคจิตหรือไม่ใช่ภวังคจิต ถ้าไม่ใช่ภวังคจิตก็เป็นวิถีจิตทั้งหมด แล้วแต่ว่าวิถีจิตนั้นจะอาศัยทวารไหนเกิด เช่น ขณะที่กำลังเห็นอาศัยจักขุทวาร แต่ไม่ใช่เป็นวิถีจิตเดียว เพราะภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต และนอกจากภวังคจิตแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะที่จักขุวิญญาณเกิดเห็น ๑ ขณะเป็นวิถีจิต ๑ วิถี เป็นวิถีจิต และ ๑ ขณะ และเมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่เป็นสัมปฏิจฉันนะ ทั้ง๒ เป็นวิถีเพราะไม่ใช่ภวังค์ แต่จักขุวิญญาณทำกิจเห็น สัมปฏิจฉันนจิตทำสัมปฏิจฉันนกิจรับรู้ต่อจากจักขุวิญญาณที่ดับ เป็นวิถีจิตทั้ง ๒ และเกิดวิถีละ ๑ ขณะด้วย เมื่อรูปดับไปแล้ววิถีจิตทางทวารอื่นๆ เกิดสืบต่อ โดยภวังคจิตเกิดคั่นก็เป็นวาระหนึ่งซึ่งขณะนี้นับวาระไม่ถ้วนว่ากี่วาระ
ผู้ฟัง จนกระทั่งปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวันว่ากำลังเห็นบ้าง มีสิ่งที่ถูกเห็นบ้าง
ท่านอาจารย์ เมื่อเห็น ต้องเป็นจักขุทวารวิถี หลายวิถีเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อกำลังได้ยินใน ขณะนี้ไม่มีแต่เฉพาะโสตวิญญาณที่ได้ยิน แต่ยังมีวิถีจิตซึ่งเกิดก่อนคือปัญจทวาราวัชชนะหรือโสตทวาราวัชชนะ และเมื่อโสตวิญญาณดับ ยังมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ แล้วก็มีกุศลหรืออกุศลด้วย ทั้งหมดเป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเกิดกี่ขณะในวาระหนึ่ง
ศึกษาธรรมเพื่อให้ทราบว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละขณะ
ผู้ฟัง เช่นนี้ก็หมดโอกาสที่จะตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ดีงามได้เลย
ท่านอาจารย์ ความตั้งใจมีจริงๆ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมหรือเป็นเรา
ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ในที่สุดก็รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่มี มีทุกอย่างที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว และมีชั่วขณะที่เกิดแล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย
ผู้ฟัง ในเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏที่เราสามารถจะรู้ได้ เช่น รูป ก็พอจะทราบว่าที่รู้ได้เพียงสภาวรูป ซึ่งมี ๗ รูปในชีวิตประจำวัน ส่วนนามธรรมที่เราศึกษาทั้งวิถีจิต และทางทวารต่างๆ และวาระต่างๆ ไม่ทราบว่าในชีวิตประจำวันจะสามารถเกื้อกูลอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรมมีคุณสุกัญญาแน่นอนใช่ไหม แต่ฟังธรรมแล้วมีธรรม เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเป็นตัวคุณสุกัญญาเห็น หรือ เป็นธรรม
ผู้ฟัง ถ้าตอบท่านอาจารย์ก็สุกัญญาเห็นตอนนี้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือก่อนเรียน แน่นอนมีความเชื่อมั่นว่าเป็นเราเห็น แต่เมื่อฟังแล้วจากการฟัง มีอะไรที่เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ มีจิต เจตสิก รูป นิพาน มีแค่ ๔ เท่านั้นเอง ในพระไตรปิฎกไม่ว่าจะทรงแสดงโดยคัมภีร์ใด พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกก็ตาม เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่ไม่ใช่เรา และต้องเป็นผู้ที่รู้จริงอย่างละเอียด อย่างกว้างขวางที่สามารถจะกล่าวถึงสภาพธรรมนั้นๆ โดยนัยต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่พ้นจากธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็ยังมีเราที่กำลังรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น แม้การฟังก็ต้องฟังโดยการพิจารณาให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วมีหรือไม่ เช่น"เห็น" มี แต่"เห็น"จะเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีรูปที่สามารถกระทบมาในคลองของจักขุปสาทนั้น และถ้าไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต คือ วิถีจิตแรกเกิดขึ้น เพราะว่าก่อนนั้นไม่มี"เห็น" ก่อน"เห็น"ต้องไม่มี"เห็น" ก่อน"ได้ยิน"ต้องไม่มี"ได้ยิน" ก่อน"ได้กลิ่น"ต้องไม่มีการ"ได้กลิ่น" เพราะว่าจิตเกิดขึ้นในขณะปฏิสนธิไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภวังคจิตก็ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นอารมณ์อะไรๆ ก็ไม่ได้ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมีปราฏขึ้นได้ในขณะนี้ซึ่งเราไม่เคยรู้เลยว่าทำไมถึงเห็นได้ใช่ไหม แต่เมื่อรู้ก็จะรู้ได้ว่าต้องมีปัจจัยคือต้องมีจักขุปสาท และต้องมีรูปารมณ์ คือสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท และต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดคือเป็นภวังค์ จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องมีวิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด รู้ว่าอารมณ์กระทบเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วดับไป แล้วจิตเห็นจึงจะเกิดขึ้นสืบต่อจากจิตที่รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารใด คือทางตา แล้วจิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นเป็นคุณสุกัญญาหรือไม่ มิเช่นนั้นที่เราฟังมาทั้งหมดเรื่องจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ เรื่องภวังคจิต เรื่องวิถีจิตก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ผู้ฟัง แสดงว่าตราบใดที่เรายังเห็นเป็นเหมือนปัจจุบัน เห็นเป็นตัวเราเห็น การฟังธรรมของเรา เรายังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่เป็นเหตุที่ต้องเนื่องกัน คือ ต้องมีปัญญาระดับขั้นการฟังก่อน ถ้าไม่มีปัญญาที่เกิดจากขั้นได้ยินได้ฟัง สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ ใครจะคิดขึ้นมาได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะฟังอย่างนี้ เราฟังครั้งหนึ่ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง เราก็ยังมีความรู้สึกว่า เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่ขั้นฟัง ก็จะต้องมีการอบรมต่อไปอีก แต่ขั้นฟังนี่ต้องชัดเจนในความเป็นอนัตตาคือเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ความเข้าใจขั้นฟังทำให้ละความสงสัยหรือความไม่รู้ที่เกิดจากการไม่เคยฟังเท่านั้นเอง แต่ว่าดับกิเลสไม่ได้ จะต้องมีการอบรมซึ่งการอบรมก็คือให้สิ่งซึ่งยังไม่ได้เกิด ให้เกิดขึ้นคือปัญญาอีกระดับหนึ่งที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นทีละ ๑ ขณะ จะรู้หลายๆ อย่าง หลายๆ ประเภทพร้อมกันไม่ได้เลย ต้องทีละ ๑ ลักษณะ ต้องเป็นการอบรมที่เป็นความรู้จริงๆ เพราะว่าเป็นความรู้ของผู้ฟัง ไม่ใช่ความรู้ของคนอื่น เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟังก็จะเข้าใจได้ด้วยตัวเองว่าเข้าใจแค่ไหน และเข้าใจด้วยว่าความรู้ขั้นฟังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ต้องมีการอบรมต่อไปอีกจนสามารถประจักษ์แจ้งเหมือนเห็นมะขามป้อมบนฝ่ามือ
ผู้ฟัง เหมือนกับที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวเสมอๆ ว่าถ้าสภาพธรรมนั้นปรากฏไม่ต้องไปถามใครถึงสภาพธรรมปรากฏ ตัวเราเองก็ต้องรู้ได้อย่างชัดเจนเลยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่เป็นลาภที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้พุทธบริษัทคือปัญญาของผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่เกิดปัญญา ก็ไม่ได้ชื่อว่าฟังคำสอนของพระองค์เลย แต่ฟังแล้วเข้าใจว่าทรงตรัสรู้อะไร และสิ่งที่ทรงตรัสรู้เป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ อบรมได้ ประจักษ์แจ้งได้โดยมีหนทางที่ทรงแสดงไว้ ก็อบรมเจริญหนทางนั้น ไม่ใช่เป็นโมฆะ ไม่ใช่ฟังไปแล้วเป็นโมฆะหมดเลย ผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นมีมากในสมัยที่ยังไม่ทรงปรินิพพาน และหลังปรินิพพานแล้วก็มี แต่ว่าถ้าในกาละที่ห่างจากการที่จะได้ฟังโดยละเอียดโดยแจ่มแจ้ง และก็จนถึงกาละที่อาจจะไม่มีการได้ยินได้ฟังอีกต่อไปก็ได้ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเราก็ควรจะทราบว่าถ้าถึงกาละนั้นไม่มีใครจะพูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงกาละนั้น ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ได้ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง
ผู้ฟัง วันนี้ยิ่งมั่นคงขึ้นว่า ถ้าตราบใดที่เราไม่ฟังพระธรรม ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจสภาพธรรมได้ เพราะจริงๆ แล้วเราแค่ฟัง ก็รู้สึกว่ายากมากมาย แต่ขณะที่เราไม่ได้ฟัง ก็ยังไปทำอย่างอื่นอีก แล้วเราจะรู้สภาพธรรมได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อเห็นคุณประโยชน์แล้วก็มีความมั่นคงในการมีพระธรรมเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ
ผู้ฟัง และหากเกิดความไม่แน่ใจอีกว่า จะเป็นจริงหรือ ก็แสดงว่าเราก็ยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอใช่ไหม จึงต้องฟังไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ จนกระทั่งปัญญาของเราเองรู้ว่าจริงแน่
อ.วิชัย สภาวรูป มีสภาวะเป็นของตนเองมีทั้งหมด ๑๘ รูป แต่รูปที่เป็นอสภาวรูป หมายถึง รูปนั้นไม่มีสภาวะของตนเฉพาะต่างหากจากสภาวรูป มี ๑๐ รูป ส่วนรูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน มีคำเรียกที่ว่า “โคจรรูป” หรือ “วิสยรูป” คำว่า "โคจร" หมายถึงรูปที่เที่ยวไปของจิต มี ๗ รูป ส่วนรูปอีกนัยหนึ่งมีรูปใหญ่ เรียกว่าโอราริกรูป หมายถึง รูปที่รู้ได้ง่าย คือวิสยรูป ๗ และปสาทรูป ๕ ส่วนสุขุมรูป คือ รูปที่รู้ได้ยาก มี ๑๖ รูป นี้คือการจำแนกรูป
คุณอุไรวรรณ ขอให้คุณวิชัย กล่าวถึงโคจรรูป คือ รูปที่สามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน ๗ รูป ให้ผู้ฟังที่มาใหม่ๆ เพราะอาจจะยังไม่เข้าใจ
อ.วิชัย “โค” เป็นชื่อของจิต ในที่นี้หมายถึงจิต “วจร” หมายถึงเที่ยวไป ฉะนั้นรูปที่เที่ยวไปของจิตเป็นประจำ มี ๗ รูป คือ รูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย (กายมี ๓ รูป) วัณณะรูปทางตา สัททรูปทางหู คันธรูปทางจมูก รสรูปทางลิ้น และก็โผฏฐัพพรูป ๓ รูป ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จึงมี ๗ รูปที่เที่ยวไปของจิตเป็นประจำ
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ผมก็เห็นเป็นคน ได้ยินก็ได้ยินเป็นเสียงนก เสียงกา เสียงอะไรต่ออะไร ความเข้าใจขั้นการฟังระดับอย่างนี้ ท่านอาจารย์จะช่วยเกื้อกูลให้ได้มากกว่านี้ไหม เพราะมันเหมือนกับเรากำลังทวนกระแสที่ไม่ให้เห็นเป็นคน ไม่ให้ได้ยินเสียงเป็นนก เป็นเสียงนายประทีป เสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอีกสักครั้ง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าธรรมเป็นอนัตตาก็บอกอยู่แล้วว่าบังคับบัญชาไม่ได้ เห็นแล้วจะไม่ให้รู้ว่าเป็นใครได้ไหม ถ้าอย่างนั้นก็เรียกว่าไปพยายามบังคับไปฝืน นั่นไม่ใช่ความจริง แต่ธรรมที่จริงเป็นอย่างไร สามารถที่จะมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในความจริงของธรรมนั้นๆ เช่นเมื่อได้ฟังแล้วก็รู้ว่าจิตเห็นไม่ใช่จิตคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คิดหรือไม่ให้เห็นว่าเป็นใคร ให้มีแค่จิตเห็น นั่นไม่ถูกต้อง แต่เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง แต่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งซึ่งปรากฏ และไม่เคยเข้าใจเลย ด้วยเหตุนี้ปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้จึงเป็นปกติ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วในขณะนี้ว่าไม่มีใครทำเลย ขณะนี้เกิดแล้วทั้งหมด มีอะไรบ้างที่ปรากฏแล้วไม่ได้เกิด แล้วก็กำลังปรากฏด้วย แสดงว่าเกิดแล้วทั้งหมดก่อนที่จะคิดว่าจะไปทำ ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะว่าทุกอย่างนั้นเกิดแล้วแม้แต่ความคิดจะทำก็เกิดแล้วเป็นความคิด
ผู้ฟัง จากการศึกษาทราบว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก และเห็นครั้งใดก็เป็นท่านอาจารย์ทุกครั้ง แต่ถ้าฟังอย่างนี้แล้วก็พอจะมีความเข้าใจว่า เห็นแล้วไม่มีความเข้าใจผิด เพราะว่าสภาพธรรม"เห็น"กับ "คิด" นั้นต่างกัน
ท่านอาจารย์ ต้องอบรมด้วยสติปัฏฐาน ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราก็จะไปเห็นถูกต้อง นี่เป็นขั้นฟัง
ผู้ฟัง นี่เป็นเพียงความเข้าใจในขั้นการฟัง
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ต้องรู้หนทางที่ถูกต้องด้วย
ผู้ฟัง การศึกษาธรรมเพื่อตัวตน เพื่อให้เป็นคนดี เมื่อไม่ดีครั้งใดก็จะโทมนัสทุกครั้งเลย กับอีกประการหนึ่งการศึกษาธรรมเพื่อพระธรรม ขอท่านอาจารย์กรุณาขยายความ ๒ ประโยคนี้
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องทราบ ในครั้งพุทธกาลที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ไม่ได้มีแบ่งกลุ่ม แบ่งเป็นคัมภีร์ต่างๆ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัย เพราะว่าจริงๆ แล้วคนที่ไปฟังพระธรรมสามารถจะเข้าใจธรรมที่มีในขณะนั้นได้ เช่น ในขณะนี้เราพูดถึง "เห็น" มีเห็น ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของคนฟังในครั้งก่อนกับปัญญาของผู้ฟังในครั้งนี้ สามารถจะเข้าใจธรรมที่"เห็น" ต่างระดับกันหรือไม่ เพราะเหตุว่าสำหรับคนในยุคนี้ไม่คุ้นเคยกับพระธรรมเลย แล้วยังขึ้นอยู่กับการที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วในอดีตมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็มีความต่างกันของผู้ที่ฟังว่าบางท่านฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ แต่บางท่านก็จะงงไปหมดเลย ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” หรือ “เห็น” ท่านก็อาจจะไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า"เห็น" ขณะนั้น แม้มีแต่ก็ไม่ใช่เราอย่างไร แต่ว่าบางคนก็รู้ว่า"เห็น" กำลังมี เป็นชั่วขณะหนึ่ง จะเป็นเราได้อย่างไร ก็แค่"เห็น"ขณะเดียว แล้วขณะอื่นอีก แสดงว่าเมื่อมีขณะอื่น ขณะเห็นนี้ต้องไม่มี เมื่อขณะเห็นไม่มี เราที่เห็นเมื่อครู่นี้หายไปไหน
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ฟังด้วยกันแต่สามารถที่จะแตกออกไปได้กี่บท โดยการที่เข้าใจในสิ่งนั้นด้วยการสะสมที่จะเข้าใจสิ่งนั้นแม้พยัญชนะที่ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ฉะนั้น การศึกษาในยุคก่อนเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาในอดีตที่มีโอกาสที่จะได้ฟัง และก็ได้สะสมความเข้าใจ บางท่านเมื่อได้ฟังแล้วก็เป็นพระอริยบุคคล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อจบเทศนาเป็นพระโสดาบัน วิสาขามิคารมารดาตอนนั้นอายุ ๗ ขวบไปต้อนรับพระผู้มีพระภาค และก็ได้ฟังพระธรรมจบเป็นพระโสดาบันตอน ๗ ขวบ
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการสะสม เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าไม่ใช่เข้าใจแล้วต้องฟังอีกจนกว่าจะเข้าใจ นี่คือจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจธรรม แต่ถ้าเป็นการศึกษาแบบที่เราศึกษาทางโลก เพราะว่ายุคนี้สมัยนี้เมื่อโตขึ้นมา เราก็เข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ วิชาที่เราเรียนจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เรียนเพื่อที่จะรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน แล้วก็ค้นคว้ากันไปตามรูปแบบซึ่งไม่ใช่การเข้าใจสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตนเลยคือไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ สถาปัตยกรรมหรือการก่อสร้าง การทำอาหารการอะไรทั้งหมด เป็นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมโดยที่ไม่รู้ตัวธรรมเลยจริงๆ ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ซึ่งถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เพราะความไม่รู้การศึกษาทางโลกก็จะแบ่งเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจเรื่องราวที่ได้ศึกษา แล้วก็มีการสอบแล้วก็มีการประเมินต่างๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะคุ้นเคยกับการศึกษาทางโลก แล้วก็ใช้ความคิดอันนั้นมาศึกษาธรรมแบบทางโลก คือ ศึกษาแบบตำรับตำราแล้ว ก็เป็นเรื่องเป็นราวเป็นหมวดเป็นหมู่ แต่ไม่ใช่ศึกษาลักษณะสภาพธรรมด้วยการฟัง และเข้าใจตัวจริงของธรรม ให้รู้ว่าทั้งหมดในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา พระอรหันต์ทั้งหลายท่านกระทำสังคายนาเป็นหมวดหมู่ คงไม่ลืมว่าใครเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่รู้ทั่วจริงๆ โดยการประจักษ์แจ้ง ท่านทำสังคายนาไม่ได้ ท่านจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างนี้ไม่ได้ ความรู้ของท่านกว้างขวางมาก เมื่อจะพูดถึงปรมัตถธรรมใดๆ ที่ท่านรู้แล้ว ท่านสามารถที่จะพูดโดยนัยต่างๆ เช่น ธรรมสังคณีเป็นพระอภิธรรม หรือวิภังคปกรณ์ซึ่งได้ขยายสิ่งที่กล่าวแล้วในธรรมสังคณี จนกระทั่งถึงการกล่าวถึงโดยความเป็นธาตุต่างๆ โดยการเป็นบุคคลหรือว่าโดยการถามตอบ หรือโดยการแสดงธรรมที่เข้าใจแล้วเป็นคู่ๆ เพราะท่านเข้าใจกว้างขวางหมดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดคือสิ่งนั้นท่านเข้าใจแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยธรรมเลย ก็จะต้องเริ่มจากการที่ว่าเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่า ศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจธรรม เพื่ออะไร เพื่อละความไม่รู้ เพราะความไม่รู้จึงทำให้เข้าใจผิดเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล มีตัวตน แล้วก็ยังมีความเห็นผิดเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องมาจากความเป็นตัวตนอีกมากมาย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120