พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
ตอนที่ ๖๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่วิถีจิตที่ได้ยินเสียง หรือรู้เสียงทางหูเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะเดียว แต่จะมีหลายขณะเกิดดับสืบต่อจนกว่าเสียงดับเรียกว่าวาระหนึ่งๆ ซึ่งเป็นโสตทวารวิถี
เพราะฉะนั้นก็จะมีจิต ๒ ประเภทคือ ภวังคจิต ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ และ วิถีจิต ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ทีละทวาร ฉะนั้นวิถีจิตแรกจึงไม่ใช่ภวังคจิต แต่เกิดสืบต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นกระแสภวังค์สุดท้ายที่สิ้นสุดกระแสภวังค์ วิถีจิตแรกต้องเป็น "อาวัชชนจิต" จิตที่รู้ว่าอารมณ์กระทบเท่านั้น ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ถ้าเป็นทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิตนั้นเป็น "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เพราะเป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง
เมื่ออารมณ์กระทบทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา ถ้าเป็นเสียงทางหู ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีแรกที่ไม่ใช่ภวังค์ ก็รู้ว่าอารมณ์กระทบทางหู ถ้าเป็นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน แต่ถ้าเป็นทางใจ ไม่ใช่หน้าที่ของปัญจทวาราวัชชนจิต ต้องเป็นหน้าที่ของจิตอีกประเภทหนึ่งคือ "มโนทวาราวัชชนจิต" สามารถรู้อารมณ์เป็นวิถีจิตแรกโดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ขณะที่คิดนึก เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถี ก็รู้ได้ว่าจิตที่ไม่ใช่วิถีคือ ภวังค์ แต่จะเป็นวิถีจิตคือ เมื่อรู้อารมณ์โดยอาศัยทางหนึ่งทางใด
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดรู้อารมณ์ ที่มีคำถามว่า วิถีจิตแรกคือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดเมื่อไหร่ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางใจเกิดเมื่อไหร่ คำตอบคือเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ จิตอื่นจะเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะไม่ได้เลย นอกจากปัญจทวาราวัชชนจิต หรือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกจิต เพราะเหตุว่าไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย ยังไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุุว่าเพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตคือหนึ่งดวง ทำไมมีตั้ง ๕ อย่าง
ท่านอาจารย์ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง เมื่อเรียกเจาะจงทางตา จะเรียกว่า "จักขุทวาราวัชชนะ" ถ้าเรียกเจาะจงทางหู จะเรียกว่า "โสตทวาราวัชชนะ" แต่ถ้าไม่เจาะจงก็คือ "ปัญจทวาราวัชชนะ"
ผู้ฟัง แบบนี้หมายความว่ามีจิต ๕ ดวงหรือไม่
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่ง เรากำลังพูดถึงประเภทของจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก็จะทำหน้าที่นี้แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดอีก ไม่มีจิตดวงเก่ากลับมาเลยจะไปซ้ำจิตดวงเก่าไม่ได้ แต่หมายความว่าจิตใดก็ตามที่เกิดขึ้นทำกิจนี้ทางทวารหนึ่งทวารใด และเป็นกิริยาจิต ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง เกิดทางจักขุ ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ แล้วก็ทำกิจรำพึงรู้อารมณ์กระทบทางตา
ผู้ฟัง หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปัญจทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าเรียกรวมก็คือไม่บ่งถึงทวารหนึ่งทวารใดเลย เพราะว่าจิตนี้สามารถเกิดได้ทีละหนึ่งทวาร ทั้ง ๕ ทวาร อาศัยตาก็เกิดได้ อาศัยหูก็เกิดได้ อาศัยจมูกก็เกิดได้ อาศัยลิ้นก็เกิดได้ อาศัยกายก็เกิดได้ แต่ทีละขณะ ทีละหนึ่งดวง จักขุทวาราวัชชนะ โสตทวาราวัชชนะ ฆานทวาราวัชชนะ ชิวหาทวาราวัชนะ กายทวาราวัชนะ ทั้ง ๕ นี้ เรียกรวมว่า ปัญจทวาราวัชชนะก็ได้ หรือถ้าจะเรียกปัญจทวาราวัชชนะ ก็หมายความว่าขณะนั้นรู้อารมณ์ทางไหนทีละทาง ก็เปลี่ยนชื่อไปตามทวารนั้นๆ ได้ ถ้าไม่เคร่งครัด ขณะที่ทางตาปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ก็พูดอย่างนั้นก็ได้ถ้าไม่อยากจะเจาะจงไปทีละทวารว่าขณะนั้นเป็นจักขุทวาราวัชชนะ ทางหูก็เปลี่ยนชื่ออีกเป็น โสตทวาราวัชชนะ เป็นต้น จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ถ้าเข้าใจแล้ว
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชื่อรวม ใช้กับจักขุปสาทก็เรียกอย่างหนึ่ง ฆานปสาทก็เรียกอีกอย่างหนึ่ง โสตปสาทก็เรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยทำให้เรางงเพราะปัญจะแปลว่า ๕ แต่ถ้าจะใช้คำว่าอาวัชชนจิตเฉยๆ จะได้ไหม
ท่านอาจารย์ ก็มี ๒ อย่าง คือ หมายความว่าปัญจทวาราวัชชนะ หรือ มโนทวาราวัชชนะ เพราะ อาวัชชนจิตมี ๒ ถ้าใช้คำว่าอาวัชชนะก็ไม่ทราบว่าหมายถึงปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ
ผู้ฟัง สรุปว่าเกี่ยวกับรูปเป็นปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าเกี่ยวกับทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนะ
ท่านอาจารย์ นามธาตุไม่ใช่เกิดมาเฉยๆ แต่เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เพราะฉะนั้นจิตไม่ว่าจะเกิดเมื่อใด ขณะใด ภูมิใด ทำกิจการงานอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าจิตทุกประเภทต้องรู้อารมณ์ นี่ประการแรกที่สุด ซึ่งการรู้อารมณ์ของจิตต่างกัน ๒ อย่าง คือรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย กับรู้อารมณ์โดยต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด จิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์
จิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลยมีอยู่ ๓ ขณะ คือ "ปฏิสนธิจิต" เรียกตามกิจที่เกิดขึ้นครั้งแรกสืบต่อจากภพก่อน "ภวังคกิจ" หรือเรียกภวังคจิตก็ได้ คือเรียกชื่อตามกิจของจิต ซึ่งภวังคกิจจะเริ่มเกิดหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย เมื่อจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากชาติก่อนดับไปแล้วโดยกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย กรรมนั้นก็ทำให้จิตเกิดขึ้นสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจ
อีกข้อหนึ่งที่ต้องจำก็คือ จิตทุกประเภทต้องทำกิจ กล่าวคือ ๑ จิตทุกประเภทต้องรู้อารมณ์ และ ๒ จิตทุกประเภทต้องทำกิจ จะมีจิตเกิดโดยไม่ทำกิจใดๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงปฏิสนธิจิต ก็หมายถึงถึงจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เมื่อกล่าวถึงภวังคจิต ก็หมายถึงจิตที่ทำภวังคกิจ เป็นจิตที่ไม่ต้องอาศัยทวารเลย แต่ต้องรู้อารมณ์เพราะเป็นจิตแล้วต้องรู้อารมณ์
จิตที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวารเลยคือ ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ จิตทั้ง ๓ นี้ในชาติหนึ่งๆ ต้องเป็นจิตประเภทเดียวกันเปลี่ยนไม่ได้เลย จะเปลี่ยนจากคนนี้ไปเป็นคนอื่นโดยที่ยังไม่ตายไปนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้อกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจเป็นแมวดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้ภวังคจิตของแมว เราเรียกว่า แมว แต่ความจริงก็คือภวังคจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากอกุศลวิบากซึ่งทำปฏิสนธิกิจนั่นเอง เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็ต้องเป็นอกุศลวิบากประเภทเดียวกันเลยทั้งปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ซึ่งจุติจิตเป็นจิตขณะสุดท้ายที่ทำให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ถ้าจิตนี้เกิดแล้วจะเกิดกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ต้องพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จิต ๓ ขณะนี้ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย จึงชื่อว่า "ทวารวิมุตตจิต"
วิถีมุตตจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องอาศัยทวาร เมื่อไม่ใช่วิถีจิตจะอาศัยทวารอะไร เพราะคำว่า “วิถี” หมายถึงอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเพื่อเปลี่ยนสภาพจากภวังค์ โดยจิตจะเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดสืบต่อกัน ถ้าเป็นรูปก็จนกว่ารูปนั้นจะดับ เป็นวิถีจิตทั้งหมด จึงมีจิต ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต ที่เป็นวิถีจิตเพราะอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเมื่อไม่ใช่ภวังคจิตจึงเป็นวิถีจิต โลภมูลจิตก็ไม่ใช่ภวังคจิตก็เป็นวิถีจิ
ทิฏฐิเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเป็นเจตสิก ทิฏฐิความเห็นผิดเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิความเห็นผิดเป็นชาติอกุศล เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ เป็นกุศลไม่ได้ ดังนั้นจะทราบได้เลยว่าขณะใดที่มีความเห็นผิด ขณะนั้นเป็นอกุศล และเป็นอกุศลเจตสิกหนึ่งใน๑๔ แล้วเป็นเหตุหรือไม่ เหตุมี ๖ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เท่านั้นที่เป็นเหตุ ทิฏฐิ คือความเห็นผิด ไม่เป็นเหตุ ภาษาบาลีใช้คำว่า นเหตุ (มีเหตุ กับ นเหตุ)
ทิฏฐิเจตสิกเป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ มี ๒ อย่าง คือประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ "เป็นสเหตุกะ" เพราะขณะใดก็ตามที่มีความเห็นผิด จะต้องมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกจึงเป็นอเหตุกะไม่ได้ แต่ต้องเป็นสเหตุกะ จะเห็นได้ว่าเมื่อเราได้เรียนอะไรแล้ว ก็ควรกลับมาซ้ำ กลับมาทวนเพื่อจะได้ไม่ลืม
จะขอกล่าวถึงจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ที่ใช้คำว่า "ปสาท" เพราะว่าเป็นรูปที่มีคุณลักษณะเฉพาะตนพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้ขณะนี้เห็นสิ่งนั้นได้ ซึ่งความจริงวัณณะรูปมีอยู่ในทุกรูปที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ไม่ปรากฏจนกว่าจะกระทบกับจักขุปสาท เพราะว่ารูปนี้สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทได้เท่านั้น ถ้าเราทิ้งเรื่องถ่านไฟ เหล็กไฟ ขณะนี้มีรูปที่กำลังปรากฏทางตาอันนี้แน่นอน จะเรียกอะไร ไม่เรียกอะไร แต่ก็ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้สีสันวัณณะต่างๆ ได้
รวมความว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้มีจริง และก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง เราไม่ชินกับคำนี้เลย เราชินกับ รูปภาพ เห็นภูเขา เห็นอะไร เราชินกับรูปเหล่านั้น บอกว่ารูปเรารู้จัก รูปอย่างนั้น รูปกลม รูปเหลี่ยม เราก็บอกว่าเรารู้จัก แต่รูปในความหมายแท้จริง คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มี เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เอาเราออกหมดเลย ไม่มีเราที่กำลังนั่งอยู่ แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ต้องจริง และก็มีสภาพที่กำลังเห็นสิ่งนี้ด้วย สิ่งนี้จึงปรากฏได้ และในขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีใคร ไม่มีรูปอื่น แต่มีเห็นกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องลักษณะของนามธรรมก็คืออย่างไร ลักษณะของรูปธรรมคืออย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่ใช่จักขุปสาท แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏเมื่อมีจิตเห็น ถ้าจิตไม่เห็น สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้เลย ถึงจะมีก็ไม่ปรากฏ ที่ปรากฏได้ก็เพราะสามารถกระทบกับรูปๆ หนึ่งซึ่งต่างจากรูปอื่นคือไม่ใช่รูปอ่อน รูปแข็ง รูปเย็น รูปร้อน แต่เป็นรูปที่มีลักษณะที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงชื่อว่า ปสาทรูป
ในบรรดารูปทั้งหมด ๒๘ รูป จำไว้ก่อนก็ได้ว่ารูปจะไม่เกิน ๒๘ รูป ในรูป ๒๘ รูปจะมี ๕ รูปซึ่งเป็นรูปพิเศษ มองไม่เห็น กระทบไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ เพราะสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามปรากฎให้เห็นเป็นวัณณะรูป ไม่ใช่เป็นจักขุปสาทรูป แต่สำหรับรูปที่เป็น ๕ รูปพิเศษ รูปหนึ่งคืออยู่ตรงกลางตาสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น กระทบเสียงไม่ได้ กระทบกลิ่นไม่ได้ นี่เป็นรูปๆ หนึ่งใน ๒๘ รูป มีหรือไม่ ที่ไม่เห็น โดยที่ตาไม่บอด กรรมทำให้รูปนี้เกิดดับ รูปใดที่เกิดรูปนั้นต้องดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นรูปจักขุปสาทที่เห็นขณะนี้ไม่ใช่รูปเดียวกับที่กำลังนอนหลับ รูปที่เกิดดับในขณะที่กำลังหลับก็เกิดดับไปเรื่อยๆ แม้ในขณะนี้ ปสาทรูปก็มีอายุเท่ากับสภาวรูปอื่นๆ รูปที่มีลักษณะจริงๆ จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะฉันใด จักขุปสาทรูปขณะนี้ก็มีอายุเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีอายุเท่านั้น เมื่อกระทบกันก็ทำให้ภวังค์ไหว เป็น ภวังคจลนะ เมื่อถึงวาระที่กรรมจะให้ผลคือทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ภวังคจลนะเกิดแล้วดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดสืบต่อสิ้นสุดกระแสภวังค์ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะที่กระทบนี้ หมายถึงภวังค์ที่ถูกกระทบเพื่อแสดงอายุของรูป ๑๗ ว่าขณะนั้นเป็นอตีตภวังค์ ถ้าได้ยินคำว่า “อตีตภวังค์” ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวารให้รู้ว่าขณะนั้นรูปเกิด และกระทบกับจักขุปสาทเพื่อที่จะแสดงให้รู้ว่ารูปอายุ ๑๗ ขณะจะสิ้นสุดที่จิตขณะไหนที่ต้องเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นเมื่อกระทบ ขณะแรกของภวังค์ที่ถูกกระทบขณะแรกเป็นอตีตภวังค์ ต่อจากนั้นก็เป็นภวังคจลนะไหว ภวังคุปัจเฉทะคือกระแสภวังค์ขณะสุดท้าย ซึ่งถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะหมายความว่าภวังคจิตจะเกิดอีกต่อไปไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต
วิถีจิตแรก ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร เพราะว่าภวังคจิตไม่ได้อาศัยทวารเลยแม้แต่ทวารเดียว ทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจด้วย เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกทางตาก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต หรือว่าจะใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ได้ถ้าไม่บ่งชี้เฉพาะว่าเป็นทางตา ขณะเดียวแล้วดับ จิตนี้อาศัยอะไรจึงได้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นทวาร จะไม่มีอารมณ์ที่เป็นสีสันวรรณะ รูปธาตุจะมากระทบไม่ได้ เมื่อรูปธาตุกระทบไม่ได้ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ความชอบไม่ชอบในสิ่งที่เห็นก็เกิดไม่ได้ แต่จะเริ่มเมื่อรูปที่เป็นวัณณะรูปหรือรูปธาตุกระทบจักขุปสาท ก็เป็นปัจจัยให้วิถีจิตแรกซึ่งไม่ใช่ภวังคุปัจเฉทะรู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทางตาโดยอาศัยจักขุปสาท เพราะฉะนั้นจิตที่อาศัยจักขุปสาททั้งหมดที่จะเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เพราะมีจักขุปสาทนั่นเองเป็นทวาร มิฉะนั้นแล้วสีสันวัณณะก็จะปรากฏตลอดไปจนกระทั่งเป็นอารมณ์ของจิตอื่นๆ ไม่ได้เลย โดยอารมณ์ของวิถีจิตแรกคือ “ปัญจทวาราวัชชนจิต” รูปยังไม่ดับ จักขุปสาทก็ยังไม่ดับ โดยจักขุปสาทนั้นเป็นจักขุทวาร เพราะจิตที่เกิดต้องอาศัยจักขุปสาทนี้ ทวารนี้ จักขุปสาทรูปนี้ ที่ต้องกระทบรูปนั้นเท่านั้นไม่ใช่กระทบรูปอื่นจึงรู้รูปนั้นได้ นี่ก็คงพอจะเข้าใจลักษณะของจักขุปสาทซึ่งเป็นจักขุทวาร เมื่อจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาทนั้น แต่ถ้าจิตไม่ได้เกิด ปสาทรูปนั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็นทวาร เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับแล้ว แต่ว่าเมื่อไหร่ที่จิตอาศัยรูปนั้น แล้วก็รู้สิ่งที่กระทบทวารนั้นๆ รูปนั้นๆ ก็เป็นทวาร ซึ่งมี ๕ รูปสำหรับ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑
ถ้าไม่คิดไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะไม่เห็นความเป็นอนัตตา ก็จะไม่เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูป รูปหนึ่งรูปใด แม้แต่ปฏิสนธิจิตก็ต้องอาศัยรูปเกิด ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดอาศัยตา อาศัยหู อาศัยจมูกหรือไม่ ไม่อาศัยเลย แต่อาศัยรูปที่เป็นที่เกิด จึงเรียกรูปนั้นซึ่งเกิดเพราะกรรม ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตว่า "หทยรูป"หรือ"หทยวัตถุ" หมายความว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทุกประเภทในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นจิต ๑๐ ดวง คือจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จึงเป็น๑๐ นอกจากนั้นแล้วต้องเกิดที่หทยรูป เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าภวังคจิตเกิดที่รูปอะไร ก็คือ หทยรูป ภวังคุปัจเฉทะเกิดที่รูปอะไร ก็คือ หทยรูป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่รูปอะไร ก็คือ หทยรูป เพราะเว้นแค่ ๑๐ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่รูปอะไร ก็คือ หทยรูป จักขุวิญญาณเกิดที่รูปอะไร ก็คือ ปสาทรูปซึ่งเป็นวัตถุ เป็นที่เกิด และเป็นทวารด้วย
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตรับรู้อารมณ์ แต่ยังไม่ได้เห็นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อาศัยทวารนั้นจึงรู้อารมณ์กระทบทวารนั้น แต่ยังไม่เห็น ปรมัตถธรรมมี จิต เจตสิก รูป ขณะเห็นอาศัยอะไรเป็นทวาร
ผู้ฟัง จักขุปสาทรูปเป็นทวาร
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า ปรมัตถ์ต้องเป็นจักขุปสาทรูป จักขุปสาทรูปนั่นเองเป็นทวาร เมื่อมีจิตอาศัยรูปนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ถ้าจิตนั้นไม่ได้มีรูปที่อาศัยทวารนั้นเกิดขึ้น จักขุปสาทรูปซึ่งไม่มีจิตเกิดขึ้นอาศัยเป็นทางที่จะรู้รูปนั้น จักขุปสาทรูปนั้นไม่ใช่จักขุทวาร กำลังนอนหลับสนิทมีจักขุปสาทรูปเกิดดับ แต่ขณะใดที่ไม่มีการเห็น ไม่มีวาระที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นเป็นจักขุปสาทรูป แต่ไม่ใช่จักขุทวาร
ขณะที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น จักขุปสาทรูปเป็นเหตุหรือไม่ ไม่เป็นเพราะเป็น "นเหตุ" อย่าลืมว่ารูปทั้งหมดเป็นเหตุไม่ได้เลย ปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกมีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่ "ไม่มี" เพราะฉะนั้นจึงเป็นอเหตุกะ ไม่ใช่สเหตุกะ อาศัยทวารอะไร ปัญจทวาราวัชชนจิต อาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ เป็นทวารทั้ง๕ ได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่ไหน "หทยวัตถุ" เมื่อจักขุวิญญาณเกิดสืบต่อ จักขุวิญญาณเป็นเหตุหรือไม่ "จักขุวิญญาณไม่เป็นเหตุ" จักขุวิญญาณมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเหรือไม่ "ไม่มี" เป็นอเหตุกะ จักขุวิญญาณเป็นจิต เป็นนเหตุ เป็นอเหตุกะด้วย จักขุวิญญาณอาศัยทวารไหน อาศัย "จักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร" ตัวจริงๆ คือจักขุปสาทรูป แต่เมื่อจิตรู้อารมณ์ที่กระทบกับจักขุปสาทนั้น จักขุปสาทนั้นจึงเป็นทวารให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ จักขุวิญญาณเกิดที่ไหน เกิดที่ "จักขุปสาทรูป" เพราะฉะนั้นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตคือ "วัตถุ" เพราะขณะนั้นถ้าพูดถึงทวาร คือเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ แต่เมื่อพูดถึงวัตถุหมายความถึงเป็นที่เกิด ถ้าเข้าใจจิต ๓ ดวงนี้ได้ การเข้าใจจิตอื่นๆ ก็คงจะไม่มีปัญหา
ผู้ฟัง ปสาทรูปทางการศึกษามี ๕ มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น แต่ตามีสองข้าง ปัญหาที่จะถามคือ จักขุปสาทรูปมีทั้งสองข้างหรือไม่
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120