พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100


    ตอนที่ ๑๐๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตขณะแรกเป็นชาติกิริยา ภวังค์จิตเป็นชาติวิบาก แล้วกิริยาจิตเกิดแล้วก็ดับ เมื่อถึงสัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิตที่เกิดต่อก็ยังคงเป็นวิบากอยู่เป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตต้องเกิดสืบต่อจากปัญจวิญญาณ เมื่อถึงโวฏฐัพพนะจิตก็เปลี่ยนชาติอีกแล้วใช่ไหม เป็นกิริยาจิตแล้วก็ดับไป ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิต โวฏฐัพพนะจิต แต่หลังจากนั้นแล้วมีเหตุเกิดร่วมด้วย นี่คือแสดงความรวดเร็วว่าจิตที่เราไม่เคยรู้เลย แล้วก็เคยเป็นเรามาตลอดทั้งๆ ที่ไม่รู้ก็เป็นเราด้วยความไม่รู้ แต่ผู้ที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมก็ได้ทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้เราเห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชาได้เลยสักขณะเดียว แม้แต่จะเปลี่ยนชาติของจิตก็เปลี่ยนไม่ได้ จะให้มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ ถ้าจิตนั้นไม่มีปัจจัยที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ก็จะเข้าใจว่าวันหนึ่งๆ เกิดมาก็เป็นผลตั้งแต่ปฏิสนธิ และเวลาที่เกิดมาแล้วก็ยังมีผลของกรรมที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากนั้นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล นี่จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รู้จักตัวเราเพิ่มขึ้นว่าขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้สะสมเป็นกรรมที่จะทำให้ผลที่เป็นวิบากเกิดขึ้น แสดงถึงความไม่มีเราเลยสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องชาติของจิตก็เพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีเรา แต่จิตชาติต่างๆ ก็เกิดสลับกัน จากวิบากที่เป็นภวังคจิตก็เป็นกิริยาจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต และก็เป็นวิบากที่เป็นจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิต เมื่อถึงโวฏฐัพพนะจิตก็เป็นกิริยาอีก แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ยับยั้งไม่ได้เลย นี่คือชีวิตในสังสารวัฎฎ์ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิด การที่เราเข้าใจว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นบุคคลต่างๆ แต่ความจริงก็คือจิตประเภทต่างๆ นั่นเอง

    ผู้ฟัง ความเข้าใจจะเกิดขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้นได้เอง ถึงแม้จะมีตัวตนอยู่ แต่ก็เป็นลักษณะที่เข้าใจขึ้นไม่เหมือนที่เข้าใจครั้งแรก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัญญาด้วยความรู้ความเข้าใจต้องมี ๓ ระดับ ถ้าเราไม่เคยฟังไม่ได้ยินมาเลย แม้แต่เจตสิกเราก็ไม่รู้ รูปเราก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงก็เกิดดับ เพราะฉะนั้นจากการฟังมากๆ บ่อยๆ ก็จะเกิดคิดขึ้นมาได้ ความจริงจากการฟังที่ได้เข้าใจแล้วปรุงแต่งให้แม้แต่ความคิดก็เป็นความคิดที่ถูกในเรื่องธรรม เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราคิดเรื่องอื่นมาก ชีวิตจริงๆ เราต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าทรงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงเพื่อการขัดเกลา เพื่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าในขณะที่เกิดความคิดเรารู้เลยว่ามาจากการเข้าใจ จากการฟังปรุงแต่งให้บางกาละการคิดตามทำนองหรือคลองของธรรมก็เกิดขึ้นในความไม่เที่ยง ในการที่จะต้องรับผลของกรรม เมื่อเช้านี้ใครได้รับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกายบ้างไหม มีอะไรตกถูกเท้าบ้างไหม แม้แต่เจ็บนิดเดียว ขณะนั้นถ้าได้ฟังธรรมแล้วเราก็รู้ว่าถึงกาละที่กรรมจะให้ผล ใครก็ทำไม่ได้เลย ไม่ใช่ขณะอื่นด้วย ต้องเป็นขณะนี้ และก็ต้องเป็นในลักษณะอย่างนี้ และความเจ็บที่เกิดขึ้นก็เท่านี้ตามกำลังของกรรม จะไปเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ใจที่สะสมธรรมไว้ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นคือผลของเหตุที่ได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ขณะไหน จนกระทั่งมาถึงขณะที่แม้กำลังเห็นโดยที่ยังไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราคิดว่าเราได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศ เพียงแค่เห็น จะระลึกได้ไหมว่านี่คือผลของกรรม ยังไม่เกิดแต่ว่าจากการฟังบ่อยๆ และก็มีการเข้าใจว่าขณะนี้จิตเห็นก็กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง สั้นมาก เพราะเหตุว่ามีเสียงแล้ว เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนที่คั่นอยู่ทำให้เรายังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ทั้งๆ ที่ขณะที่เห็นสั้นแล้วเสียงก็ปรากฏ อ่อนหรือแข็งก็ปรากฏ คิดนึกก็มีสลับคั่น แต่ด้วยความไม่รู้ และด้วยความเป็นเรา จึงยังให้ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก แล้วก็จะเห็นความคิดของเราที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลสะสมมาที่จะคิดอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนความคิดที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลในขณะนั้นก็ไม่ได้ เมื่อถึงเวลาที่เป็นกุศลที่คิด ใครก็เปลี่ยนจิตที่เป็นกุศลที่คิดในขณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็คือเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าเราเรียนเรื่องจิตประเภทต่างๆ แล้วเราไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าใจชีวิตจริงๆ เลย อย่างนั้นจะเรียนทำไมใช่ไหม ก็อยู่แต่เพียงในตำรา แต่ถ้าเรียนแล้วสามารถที่จะเข้าใจได้นี่คือขั้นคิดหลังจากที่ได้ฟังเป็นจินตามยปัญญาซึ่งเกิดต่อจากสุตมยปัญญา แต่เราก็รู้ว่าขณะนี้เรากำลังคิดเรื่องจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น กำลังรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่นี่ขั้นคิด เพราะฉะนั้นจะต้องมีการอบรม ที่ใช้คำว่า “ภาวนา” คืออบรมที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็รู้ประโยชน์ของการฟังการศึกษา เพราะว่าพื้นฐานที่เราเข้าใจจะทำให้เราสามารถเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกได้ตรงตามฐานะหรือตามพื้นฐานที่เราเข้าใจ ไม่ผิด

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดอกุศล เราก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกอยากมากก็เกิดความรุนแรงมาก เราอยากที่จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งรู้สึกว่าได้ผลเร็ว ซึ่งก็ไม่ใช่อีก ทำให้เรารู้อีกว่านั่นก็เป็นธรรมอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำว่าอบรมไม่ใช่คนอื่นต้องมาบอก แต่จากการฟังแล้วรู้ว่าปัญญาขั้นฟังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นหลังจากที่ฟังแล้วแม้แต่ความคิดถูกตามคลองของธรรมก็ไม่ได้เกิดบ่อย แต่เมื่อฟังแล้วเกิด เราก็รู้ว่านี่เป็นขั้นคิด เรื่องจิตที่เป็นกุศลเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ขณะนี้จิตที่เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มีทั้งหมดตามที่เรากล่าวถึงเมื่อครู่นี้ เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่าจะต้องมีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราเองจะเป็นคนที่เข้าใจความหมายของคำว่า “อบรม” โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกเราว่าอบรมต้องทำแบบนี้ แต่เรารู้เลย ว่าถ้าไม่มีการฟังเป็นพื้นฐานจะเอาอะไรอบรมหรือจะอบรมอะไร และเมื่อฟังแล้วความรู้ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งทันที แต่ต้องอาศัยกาลเวลาจากการฟัง และก็เป็นความคิดที่ถูกตรงตามธรรม และยังต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นอบรมคือแบบนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่ใครมาแปลหรือมาบอกว่าอบรมคืออย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือคำแปล แต่คำแปลนั้นหมายความถึงอะไร การเข้าใจอย่างไรต้องมาจากความเข้าใจในขั้นต้นว่าเราไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลยถ้าไม่มีการฟัง และเมื่อการฟังพอสมควรแล้ว วันหนึ่งๆ ที่เราคิดหรือตรึก เราตรึกไปในทางกุศลหรืออกุศล นี่คืออบรมกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการฟังที่เข้าใจ แล้วเมื่อมีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น มีสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ก็จะรู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่ฟังเข้าใจ เพราะว่าฟังเข้าใจ คือฟังเข้าใจเรื่องราว ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็รู้ว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ตัวจริงของธรรมปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ แต่จากการที่ได้เริ่มรู้ลักษณะที่มีจริงๆ จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็จะต้องปรากฏกับปัญญาที่อบรมแล้ว อย่างนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่าอบรมหรือภาวนาด้วยตัวของเราใช่ไหม ไม่ใช่ไปอาศัยคำแปลว่าต้องแปลว่าอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ มาจากอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูลว่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจเราประมาทคำที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ เราต้องเข้าใจจนกระทั่งเราพูดว่ากุศลจิต อกุศลจิตอยู่ในชวนะ เรารู้แล้วว่าผิดแล้วใช่ไหม นั่นจำ แต่จะไปอยู่ในชวนะได้อย่างไรในเมื่อกุศลเป็นชวนจิตเพราะทำชวนกิจ ไม่ใช่ทัศนกิจ ไม่ใช่กิจอะไรเลย นี่คือฟังแล้วก็ต้องค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่าธรรมคือขณะนี้ และก็เป็นจริงอย่างนี้ ไม่ใช่กล่าวตามตำราแล้วเราก็จำไว้เป็นบรรทัดว่า กุศลจิตอยู่ในชวนะ หรือ ๕๕ ดวง อะไรอย่างนั้น แล้วก็ไปไล่เรียงหา แต่ขณะจริงๆ ก็คือยังไม่ได้เข้าใจว่าเป็นชวนจิตเพราะทำชวนกิจ เหมือนกับเป็นปฏิสนธิจิตเพราะทำปฏิสนธิกิจ

    ผู้ฟัง จากการฟังก็หมายความว่าการอบรมก็เท่ากับว่าเป็นการฟังไปเรื่อยๆ เข้าใจแค่ไหนก็เข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่ให้เราไปนั่งเข้าใจมากกว่านั้น ต้องยอมรับความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเข้าใจแค่นี้แล้วจะไปนั่งคิดให้เข้าใจมากกว่านั้น แต่ถ้าเราไตร่ตรองแล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั่นคือความเข้าใจเพิ่มเพราะการไตร่ตรอง ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น แฃะบางคนบอกว่าสติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ไปทำกุศลอื่น ก็ไปทำกุศลอื่นเพื่อให้สติปัฏฐานมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็เข้าใจอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เขาก็คิดว่าต้องมีทาน แล้วต้องมีศีล แต่ขณะใดก็ตามที่ให้ทานด้วยความไม่เข้าใจ ขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะเกิด และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็เป็นทานไปเรื่อยๆ ขณะที่วิรัติทุจริตแต่ไม่มีความเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา สภาพธรรมจริงๆ ก็มีนามธรรมกับรูปธรรมในขณะนั้น ขณะที่ไม่เข้าใจเช่นนี้ขณะนั้นก็เป็นศีล โดยหวังว่าทานกับศีลที่ไม่มีความเข้าใจจะทำให้สติปัฏฐานเกิดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย แต่ขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจเห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล แล้วกุศลอื่นๆ ทั้งหลายจะเจริญขึ้นไหม ไม่ใช่แค่ขั้นทานขั้นศีล ความอ่อนน้อม การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น หรือการที่จะสละวัตถุให้กับบุคคลอื่น การช่วยเหลือบุคคลอื่นจะเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ทำด้วยความหวังว่า ทำเพื่อจะให้เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด และขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด อธิศีลสิกขายิ่งกว่า ละเอียดยิ่งกว่าศีลที่เกิดแล้ววิรัติ มีความโลภเกิดขึ้นแต่วิรัติการกระทำทุจริต ถึงขณะที่จะวิรัติการกระทำทุจริต แต่เพียงความไม่พอใจหรือความพอใจเล็กน้อย สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น และก็ศึกษา และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องใส่ชื่อเลยเพราะว่าเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือไม่ใช่เรา แต่มีลักษณะเฉพาะอย่าง แต่ละอย่างที่กำลังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นยิ่งกว่าศีลธรรมดา เพราะเป็นอธิศีลสิกขา ศีลนี่ อกุศลเกิดมากมายแล้วก็วิรัติ แต่นี่แม้เพียงขณะแล้วแต่ว่าจะมากจะน้อยอย่างไร สติสัมปชัญญะก็สามารถที่จะเกิดแล้วรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ศีลปกติธรรมดาก็ยังเป็นมหาทาน เพราะเหตุว่าเป็นการวิรัติ การเว้นการเบียดเบียนชีวิตของบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้นกุศลมีหลายระดับ แต่ทั้งหมดเป็นไปด้วยความเข้าใจจึงจะไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็เป็นเราที่ขวนขวาย และพยายามทำทุกอย่างด้วยความเป็นเรา แล้วจะสละความเป็นเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นมีปัญญาเท่านั้นที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่า ณ ที่ใด และไม่ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่เช่นนั้แล้วก็เป็นเราด้วยความไม่รู้ต่อไป

    ผู้ฟัง บางครั้งเราสะดุดโต๊ะแล้วก็รู้สึกเจ็บ แต่ขณะนั้นเราก็คิดว่า นั่นต้องเป็นเรา เราจะต้องได้รับผลอย่างนี้เป็นเราแน่ เสร็จแล้วก็จบ ไม่รู้สึกโกรธต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะขณะนั้นที่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็ยังต้องเป็นเราอยู่ ฉะนั้นเกิดปัญญาของตัวเองใช่ไหมที่จะรู้ว่าขณะนั้นยังมีเรา เพราะไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง แต่ขณะนั้นก็ยังมีเรา แต่ไม่โกรธตอบ

    ท่านอาจารย์ ก็มีเราตั้งหลายอย่าง กุศลก็มีเราได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่ากุศลก็เป็นสภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง หลีกเลี่ยงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง และจริงใจต่อพระธรรม และก็รู้ว่าปัญญาเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่ว่าเราจะไปตะเกียกตะกายขวนขวายทั้งๆ ที่ไม่รู้ให้เป็นความรู้จนกระทั่งคิดว่าเข้าใจว่าดับกิเลส แต่ความจริงก็เป็นความไม่รู้นั่นเอง

    ผู้ฟัง จากการฟังวันนี้ก็ให้ทราบว่าไม่ต้องไปตะเกียกตะกาย แต่ฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ตะเกียกตะกายก็เป็นเรา ไม่ตะเกียกตะกายก็เป็นเรา ก็เป็นเราไปหมด ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็รู้สึกสบายขึ้น

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องเป็นเรื่องเบาสบาย ต้องละคลายความอยาก พระธรรมทั้งหมดเพื่อให้ถึงภาวะที่ไม่มีความอยาก ไม่มีโลภะ

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอธิบายการเจริญเหตุของทาน ศีล จะเข้าถึงสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าเข้าไม่ได้ เราจะเจริญเหตุซึ่งจะถึงสติปัฏฐานได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีทาน และศีลหรือไม่ มี แต่ทำไมไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องไตร่ตรอง ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร และถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้อง เพียงทาน เพียงศีล สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราจะต้องเจริญเหตุตรงนี้โดยตรง ไม่ใช่พึ่งทาน ศีล แล้วก็จะเจริญสติปัฏฐานได้ ประการนี้ต้องชัดเจน

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจถูกในหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกก็เป็นมิจฉามรรค

    ผู้ฟัง เรียนถามถึงสภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่ปรากฏ เช่น ลักษณะของโทสะที่เกิด จากการที่ได้เรียนมาก็จะรู้ว่า มีทั้งโทสมูลจิต และโทสเจตสิก แล้วเมื่อสภาพธรรมของโทสะเกิดขึ้น เราจะมีปัญญารู้ได้อย่างไรว่า เป็นโทสมูลจิต หรือเป็นโทสเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เราพยายามจะเทียบเคียง แต่ปัญญาของเรารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเทียบเคียงได้ แต่ต้องอบรมเป็นขั้นๆ ไป ขั้นแรกเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดเป็นปกติในขณะนี้ เราจะต้องมานั่งเรียกกายวิญญาณที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็งหรือไม่ แต่ลักษณะรู้ อาการรู้ มีจริง แล้วก็เป็นลักษณะนั้นเอง ใช่ไหม เมื่อเสียงปรากฏ ลักษณะที่รู้ สภาพที่รู้ก็คือได้ยิน ลักษณะนั้นเอง เป็นลักษณะของสภาพรู้ แล้ววันหนึ่งๆ นามธรรม รูปธรรมมากเท่าไหร่ เพราะเหตุว่าปรากฏสภาพธรรมของรูปธรรม และนามธรรมสั้นมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ไม่ได้ระลึก แล้วเราก็มาคิดว่านี่จะเป็นจิตหรือนี่จะเป็นเจตสิก จะเป็นลักษณะของโทสเจติกหรือจะเป็นลักษณะของโทสมูลจิต นี่คือคิด แต่ไม่มีทางที่จะรู้ เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมก็ยังไม่ได้รู้ชัด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปรู้ในสิ่งที่เราเรียนโดยการที่คิดเทียบเคียง และขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่เมื่อมีความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมมีไหมให้ปัญญารู้ขึ้น นั่นก็คือต้องเป็นไปตามลำดับขั้น

    ขณะนี้ที่กำลังนั่ง เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วสภาพคิดก็มี เพราะว่าในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้มีมโนทวารคั่นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นมโนทวารมีรูปารมณ์ขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอารมณ์ด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องมีด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีด้วย เพราะฉะนั้นมโนทวารสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แม้แต่รูปารมณ์ที่รู้ทางจักขุทวาร มโนทวารวิถีที่เกิดต่อก็รู้อารมณ์นั้นเหมือนขณะนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริงเลย แต่จากการศึกษาสามารถทำให้เราเข้าใจความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เรา เพราะยากแสนยากที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราโดยเพียงขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่จะต้องมีการฟังที่เข้าใจขึ้น แล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วก็ตรงด้วย เช่น มโนทวารวิถีเกิดต่อจากจักขุทวารวิถีมีรูปารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ มโนทวารวิถีเกิดต่อจากโสตทวารวิถีมีเสียงคือสัททารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นทางมโนทวารรู้ได้ทุกอารมณ์ ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อไปรู้ทางมโนทวารแล้วเปลี่ยนลักษณะของเสียงให้เป็นธัมมารมณ์ไปหมด

    ผู้ฟัง จากการศึกษามโนทวารในชุดแรกหรือวิถีแรกก็จะรู้อารมณ์เหมือนกับทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นอารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางจักขุทวารวิถีดับหมดไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารก็รู้สืบต่อ ไม่ปรากฏว่ามีการไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเลย

    ผู้ฟัง แต่ว่าในมโนทวารวิถีที่สืบต่อ ต่อไปที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็จะยิ่งเหินห่างจากทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีเสียงมีอะไรเกิดสลับอย่างรวดเร็วมาก ที่ทรงแสดงไว้เพื่อแยกให้เห็นทีละขณะจิต แต่ความเป็นจริงก็คือขณะนี้กี่วาระที่เกิดดับสืบต่อ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นความเข้าใจในขั้นการฟังก็จะต้องมั่นคงตรงนี้ด้วยจึงจะรู้ลักษณะของธัมมารมณ์ที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มั่นคงว่าขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแต่ไม่รู้ เพียงฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อใด ผู้นั้นจะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สติขั้นฟัง เพราะขณะที่ฟังเข้าใจเป็นกุศลจิตมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสติระดับฟังเกิดร่วมด้วย ขณะที่เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นสติระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่สติที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ฟังจากอาจารย์เข้าใจว่าขณะนี้มีธรรมปรากฏ มีเห็นจริงๆ และมีสิ่งที่ถูกเห็นจริงๆ และคิดนึกจริงๆ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้สภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เมื่อไหร่ที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะนั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ชินว่าลักษณะรู้หรือสภาพรู้ไม่มีรูปร่างเลย เพียงแต่เป็นสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อนั้นก็จะเริ่มเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่ได้ทรงแสดงธรรมตามความคิด ไม่ใช่ไปตรึกจนกระทั่งสามารถที่จะแสดงออกมาได้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ปฏิจจสมุปาท อายตนะ ขันธ์ ธาตุ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่จากการที่ทรงประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดโดยถ่องแท้ โดยประการทั้งปวง จึงทรงแสดงสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง โดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นอายตนะ เป็นต้น

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็จะเริ่มเข้าใจในขณะที่คิดนึกรู้เรื่องราวตามความเป็นจริงของสภาพธรรมก็จะต่างกับในขณะที่ธรรมจริงๆ ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง ตรงนี้ต้องมั่นคงพอสมควร

    ผู้ฟัง กิริยาจิตที่ทำกิจชวนะมีการสะสมเหมือนกุศล และอกุศล ถ้าเป็นกุศล และอกุศล เราจะมองเห็นชัดเลยว่าสะสม แต่กิริยาจิตสะสมทำกิจชวนะ มองไม่เห็นได้ ทำอย่างไรจึงจะให้เข้าใจว่าแม้เป็นกิริยาจิตเมื่อทำกิจชวนะแล้วย่อมสะสมด้วย ขอความกรุณาอธิบายให้เห็นด้วย

    อ.อรรณพ แม้พระอรหันต์เอง ท่านดับกิเลสได้แล้วเป็นสมุทเฉทแต่ท่านก็ยังต้องมีการดำเนินชีวิตของท่านตราบเท่าที่ยังไม่ปรินิพพาน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ