พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102


    ตอนที่ ๑๐๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ กำลังมีเฉพาะลักษณะนั้นปรากฏ ถ้าคิดถึงชื่อ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพียงอาศัยระลึกดับแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะละคลายความติดข้องไม่ใช่ไปจดจ้องอยู่ที่สิ่งนั้นซึ่งดับแล้วโดยไม่รู้ แต่ว่าจะต้องมีการละคลายด้วยความเข้าใจถูกจนกระทั่งถึงอาศัยเพียงสติระลึก และก็ดับแล้ว และมีสภาพธรรมอื่นปรากฏจึงจะสามารถรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันด้วยการคลายความไม่รู้ และคลายความเป็นตัวตน ฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องทราบว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการละคลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการติดข้อง ถ้ามีคำที่แสดงให้เห็นว่าให้จงใจ หรือให้ทำประการใดๆ ก็ตาม ด้วยความติดข้อง แล้วเมื่อไหร่จะรู้ความจริงว่าแท้จริงสิ่งที่ปรากฏเพียงอาศัยระลึก แล้วก็ดับแล้ว แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏแล้วเพียงอาศัยระลึก เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะ จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ แต่ต้องด้วยการคลายด้วยปัญญาที่รู้ตามลำดับจะให้ไปฝืนทำอย่างนั้นก็เป็นเรา ไม่ใช่ความรู้จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดที่ไม่ประมาทที่จะต้องรู้ว่าความรู้ขั้นไหนเป็นขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นสติสัมปชัญญะเกิด ขั้นอบรมต่อไปจนกว่าจะประจักษ์จนกระทั่งขณะไหนเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่วิปัสสนาญาณ และขั้นปริญญาก็ต้องต่อไปอีกหลังจากที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้วจึงจะเป็นปริญญาได้

    ผู้ฟัง คำว่า “วิบากจิต” ในขณะเดียวกันเป็น “วิถีจิต” หรือยัง

    ท่านอาจารย์ เป็นแล้ว ต้องทราบอย่างมั่นคงเลยว่ามีจิตอยู่ ๓ ขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ขณะปฏิสนธิขณะแรกที่เกิด แล้วก็ขณะที่ทำภวังคกิจ คือขณะที่เป็นภวังค์ หมายถึงขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และขณะจุติ มีเพียง ๓ ขณะเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นวิถีจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ยินชื่อจิตประเภทใดทั้งหมด โลกุตตรจิตหรืออะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด ที่ใช้คำว่า “วิถีจิต” เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะขณะปฏิสนธิ จิตไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่มีการเห็นการได้ยินโลกนี้ ขณะที่เป็นภวังค์คือขณะที่หลับสนิท โลกนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ สี เสียง กลิ่น รสอะไรก็ไม่ได้ปรากฏ แม้คิดนึกก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นโลกนี้ก็จะต้องอาศัยตาเห็นขณะนี้ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิถีจิตเพราะอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น และวิถีจิตจะไม่เกิดเพียงวิถีเดียว จะมีวิถีจิตหลายประเภทที่เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน จนกว่าจะหมดสิ้นการรู้อารมณ์นั้นก็เป็นภวังค์ต่อไป หลังจากนั้นก็เป็นวิถีจิตสลับกับภวังค์ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง แต่ก่อนจะเป็นวิถีจิตดวงอื่น มีภวังค์คั่นทุกครั้งหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ที่ผู้ถามกล่าวต้องหมายความถึงวาระหนึ่ง เพราะว่าวิถีจิตจะไม่เกิดเพียงหนึ่งขณะ จะต้องมีวิถีจิตที่เกิดสืบต่อหลายขณะ รู้อารมณ์เดียวกัน วาระหนึ่งหมดแล้ว ภวังคจิตถึงจะคั่นได้

    ผู้ฟัง ครั้งแรกที่เราได้ยิน ได้กลิ่น ได้เห็น เป็นวิบากจิต ใช่ไหม แล้วหลังจากนั้นถึงจะเป็นชวนจิต

    ท่านอาจารย์ การพูดถึงธรรมเราจะพูดถึงอย่างย่อมากๆ ก็ได้ หรืออย่างละเอียดขึ้นนิดหน่อยก็ได้ หรืออย่างละเอียดเป็นแต่ละขณะจิตก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าโดยนัยของพระสูตร เราจะเห็นได้ว่าทรงแสดงว่า เมื่อเห็นแล้วก็จะมีความพอใจไม่พอใจในสิ่งที่เห็น ขณะนี้เราพิจารณาว่าอย่างย่อคือขณะนี้หลังเห็นแล้ว เราก็จะมีความพอใจติดข้องในสิ่งที่เห็นหรือไม่พอใจหรือเป็นกุศลก็ได้ นี่คืออย่างย่อ แต่ถ้าละเอียดขึ้น เราจะพูดว่าขณะเห็นเป็นวิบากคือเป็นผลของกรรม ทำให้ต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ กรรมทำให้กายปสาท จักขุปสาท โสตปสาทซึ่งเป็นรูปที่สามารถจะกระทบกับอารมณ์เฉพาะทางนั้น เพราะฉะนั้นผลของกรรม ก็คือไม่ใช่เพียงเกิดแล้วก็เป็นภวังค์ โลกนี้ไม่ได้ปรากฏ อะไรก็ไม่ได้ปรากฏ เพียงเท่านั้นไม่พอ แต่ก็ยังมีวาระที่กรรมจะให้ผลทำให้เกิดเห็นขึ้น เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าไม่ว่าจะเห็นอะไรที่ไหน ขณะใด เป็นใครก็ตาม เป็นนกเป็นแมวเป็นอะไรก็ตาม เราไม่พูดถึงรูปร่างเลย พูดถึงเฉพาะจิตที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรมนี่คืออย่างย่อ แต่เมื่อเห็นแล้ว เป็นวิบากแล้วจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศลซึ่งไม่ใช่วิบากเริ่มเป็นเหตุใหม่ กรรมใหม่ ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า นี่คือกว้างออกมาอีกนิดหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้นคือเวลาที่เป็นปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เห็นอะไรหรือไม่ ละเอียดขึ้น แม้ขณะนี้ก็มี แต่ว่าเราจะไม่กล่าวถึงขณะนี้

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิแล้วมีภวังค์แล้วถึงจะเห็น

    ท่านอาจารย์ นาน ก็แล้วแต่ว่าภพชาติเกิดที่ไหน เกิดเป็นเทวดา ก็พร้อมเลยตา หู จมูก ลิ้น กาย ผุดขึ้นมาครบ แต่ถ้าอยู่ในครรภ์ก็อีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละกำเนิด เพียงให้ทราบว่าหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้วต้องเป็นภวังค์ ดำรงภพชาติเพื่อวิบากจิตจะเกิด แต่ตอนที่วิบากจิตจะเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กำลังเป็นภวังค์อยู่ไม่มีทางที่วิบากจิตจะเกิดทันทีได้ ต้องมีปสาทรูปซึ่งกรรมทำให้ปสาทรูปนั้นเกิดดับทุกอนุขณะของจิต ใครก็บังคับไม่ได้

    กำลังนอนหลับมีจักขุปสาทเกิดไหม

    ผู้ฟัง กำลังนอนหลับ ถ้าหลับสนิทก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป เราไม่รู้เลย รูปทั้งตัวที่เป็นปสาทรูป เราไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่กรรมทำให้รูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ขณะนี้จะยังไม่กล่าวถึงว่ารูปอะไรบ้าง แต่ให้ทราบว่ากรรมทำให้จิต เจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดพร้อมกับรูป ซึ่งกรรมทำให้เกิดขึ้น และกรรมจะทำให้รูปเกิดทุกอนุขณะของจิต เพราะว่าจิต ๑ ขณะจะมีอุปาทขณะคือขณะที่เกิด ภังคขณะ คือขณะที่ดับ ขณะที่ยังไม่ดับคือฐีติขณะ เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงหรือว่าทุกขณะไม่ว่าจะในภพไหนภูมิไหน จิตของใครแม้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปรมัตถธรรมเป็นเรื่องที่มีจริง จากที่ได้ทรงตรัสรู้ว่าไม่มีใครที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นได้เลย เพราะฉะนั้นกรรมทำให้รูปเกิดทุกอนุขณะ ไม่ว่าจะจิตเกิดที่ไหน เมื่อใด เวลาที่ปฏิสนจิตเกิด กรรมก็จะทำให้กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเกิดพร้อมปฏิสนธิแล้วยังไม่ดับด้วยต้องมีอายุถึง ๑๗ ขณะจิต ในขณะฐีติขณะของจิตที่เป็นปฏิสนธิ กรรมก็ทำให้กัมมชรูปเกิดอีก และในขณะภังคขณะ กรรมก็ทำให้กัมมชรูปเกิด และแต่ละอนุขณะ แต่ละรูปที่เกิดต่างขณะจะมีอายุ ๑๗ ขณะจิต เราไม่รู้เลย กำลังนอนหลับจักขุปสาทก็มี โสตปสาทก็มี เพราะกรรมทำให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมจะสอดคล้องกัน ถ้าเป็นความเข้าใจที่ละเอียด และก็ไม่ลืม จะรู้ว่าถ้ากล่าวถึงกัมมชรูปหมายความถึงรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่สมุฏฐานอื่นเลย เห็นกำลังของกรรมไหม ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดได้ซึ่งใครก็ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดไม่ได้เลย โสตปสาทรูปก็เกิดเพราะกรรม แต่รูปที่เกิดแต่ละกลาปแต่ละกลุ่มจะมีสมุฏฐานต่างๆ กัน รูปที่เกิดเพราะกรรมไม่ได้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ถามอีกครั้งหนึ่งว่า ระหว่างที่เป็นภวังคจิตมีรูปเกิดหรือไม่ ต้องมี เพราะกัมมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต จะไม่มีใครลืมอีกแล้วใช่ไหม จะหลับจะตื่นเมื่อไหร่ก็ตาม กรรมทำให้กัมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต (ถอดเทปไม่ครบ)


    ผู้ฟัง บางครั้ง พวกเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าภวังค์จะหยุดเฉยๆ เงียบ จะไม่มีอะไรเกิด แต่เมื่อฟังดูแล้วก็ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีจิตเกิด มีเจตสิกเกิดทำกิจภวังค์

    ผู้ฟัง ก็ยังมีอยู่ แต่ตา หู จมูก จะไม่มี

    ท่านอาจารย์ มี

    ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ยิน แต่เกิดดับตามกรรม ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่คนสงสัยมาก เขาจะคิดว่ากัมมชรูปหรือรูปใดๆ จะมีตอนที่มีการเห็น การได้ยิน แต่จริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น จริงๆ คนนั้นเมื่อนอนหลับก็ยังมีครบทั้งตัว คนตายไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท แต่คนเป็นมีจักขุปสาท โสตปสาทซึ่งละเอียดยิ่งกว่านั้นที่ไม่มีใครรู้ก็คือว่าเราเห็นคนหลับ และเราไม่รู้ว่าเขามีรูปอะไรบ้างที่ตัวของเขา แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่าแม้ขณะนั้นก็มีรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานทุกอนุขณะของจิต ยังไม่กล่าวถึงรูปอื่นเพราะรูปอื่นจะเป็นรูปที่เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง แต่ให้เห็นตามความเป็นจริงถึงความละเอียด และให้รูปที่เกิดแล้วที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับเร็วแค่ไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่จิตทำภวังคกิจ รูปที่เกิดจากกรรมยังมีอยู่ต่อ แต่รูปที่เกิดจากจิต เกิดจากอาหาร จากอุตุนี่จะไม่มี

    ท่านอาจารย์ จะต้องขยายต่อไปว่า จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะจิตจะไม่เกิดกับจิตขณะไหนบ้าง คือจิตขณะไหนไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย จิต ๑๐ ประเภทนี้เรียกว่าทวิปัญจวิญญาณ ไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังหลับไม่ใช่จิต ๑๐ ประเภทนี้ ถ้ากล่าวถึงรูปซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ปฏิสนธิจิตไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป คือ จิตขณะแรกของภพนี้ เพิ่งจากโลกก่อนมาไม่มีกำลังพอที่จะทำให้รูปเกิดเลย เพราะฉะนั้นหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตซึ่งเกิดต่อเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด นี่เห็นความเหลื่อมล้ำต่างกันของกัมมชรูปกับจิตตชรูป เพียงหนึ่งขณะจิตคิดดูว่าเร็วแค่ไหน เพราะขณะเห็นกับขณะได้ยินเหมือนพร้อมกัน ความจริงจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นหนึ่งขณะจิตจะต่างกันแค่ไหน ดังนั้น ให้ทราบว่าปฏิสนธิจิตไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดหนึ่งแล้ว แล้วทวิปัญจวิญญาณ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กุศลวิบากจิต อกุศลวิบากจิต รวมจิต ๑๐ ประเภทนี้ ไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด และอรูปพรหมบุคคลเป็นอรูป เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตหรืออรูปวิบากทั้งหมดไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด และจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังนอนหลับมีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานหรือไม่ มีรูปซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานหรือไม่ เว้นจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น

    ขอถามอีกครั้งว่า กำลังนอนหลับสนิท รูปที่เกิดจากกรรมมีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รูปที่เกิดจากจิต กำลังหลับสนิทมีหรือไม่ ต้องมี เพราะเหตุว่าเว้นจากปฏิสนธิ และจิต ๑๐ ดวง และอรูปวิบากคงไม่ต้องกล่าวถึง จุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่ต้องกล่าวถึง กำลังหลับก็มีรูปซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน กำลังหลับ หายใจหรือไม่

    ผู้ฟัง หายใจ

    ท่านอาจารย์ เราหายใจ หรือ ลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน นี่คือความต่างกัน ผู้ที่ตรัสรู้ ทรงรู้ว่าลมหายใจเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก ถ้าแบบนั้นคือเราคิด เพราะการเคลื่อนไหวของรูปทำให้มีความรู้สึกเข้า และออก แต่ว่าลมหายใจจริงๆ เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะว่าในขณะที่หลับสนิทก็มีลมหายใจใช่ไหม มีแน่นอน เราไปตั้งหน้าตั้งตาหายใจหรือไม่ ไม่เลย แต่ก็มีลมหายใจซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ถึงคำถามของผู้ถามที่ละเอียดขึ้นอีกว่า การที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ซึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกรรม เช่น เสียงที่ได้ยินปรากฏได้อย่างไร น่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีสภาพที่ได้ยินเสียงนี้เลย แม้เสียงจะมี และจิตก็เกิดขึ้นทำกิจได้ยินโดยไม่ใช่เรา แต่ก่อนนั้นก่อนที่วิถีจิตทั้งหลายจะเกิดต้องเป็นภวังค์ ถูกต้องไหม เป็นภวังค์ และทันทีที่วิบาก คือจิตเห็นจะเกิดทันทีต่อจากภวังคจิตไม่ได้ ต้องมีการสิ้นสุดกระแสของภวังค์ก่อน จากภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ นับไม่ถ้วนเลย และเมื่อมีรูปกระทบกับจักขุปสาทหรือโสตปสาท แสดงว่ารูปนั้นเกิด และจักขุปสาทหรือโสตปสาทก็ต้องเกิดด้วย อาศัยการเกิดของทั้ง ๒ อย่างซึ่งยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยที่จะให้วิถีจิตเกิดรู้เสียงนั้น หรือสีนั้น หรือกลิ่นนั้น ก็ตามแต่ละทวาร แต่ว่าขณะที่รูปทั้ง ๒ เกิด ยังเป็นภวังค์ และก็เมื่อรูปกระทบกัน ภวังค์ไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ ก่อนที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ ๑ ขณะ จากภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ ก็เป็นภวังคจลนะในภาษาบาลี จะจำหรือไม่จำก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีภวังคจิตก่อนที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ ๑ ขณะ คือภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้วก็ยังมีอีก ๑ ขณะคือภวังค์สุดท้ายของกระแสภวังค์เป็นภวังคุปัจเฉทะ แสดงว่าหลังจากนี้แล้วต้องเป็นวิถีจิต ก่อนนั้นเป็นภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ แล้วเมื่อใดที่ภวังคุปัจเฉทะเกิด เมื่อนั้นที่ภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตแรกต้องเกิดแล้วเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง คำว่า “วิถีจิตเกิดขึ้น” มีคำว่า “อาวัชชนะ” เข้ามาอีกคำหนึ่ง อยู่ด้วยกันหรือเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ อาวัชชนะเป็นกิจของจิต เพราะฉะนั้นจิตทุกดวง ทุกขณะ ทุกประเภทต้องเกิดขึ้นทำกิจ แม้แต่ภวังคจิตก็เป็นกิจของวิบาก วิบากที่ทำกิจปฎิสนธินั่นแหละทำภวังคกิจ วิบากที่เห็นทำภวังคกิจหรือไม่ ไม่ทำ ฉะนั้นวิบากมีหลากหลาย แต่เมื่อกล่าวถึงภวังคจิต ก็หมายความถึงวิบากที่กระทำภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิ ฉะนั้นก่อนที่วิถีจิตจะเกิดต้องเป็นอะไร เป็นภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตแรกเรายังไม่บอกว่าชื่ออะไร แต่ต้องเป็นวิถีจิตขณะแรกแน่นอนที่สืบต่อจากภวังคุปัจเฉทะ แล้วจิตนี้ทำหน้าที่อะไร เพราะว่าจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน จิตนี้ทำอาวัชชนกิจ หมายความถึงถ้าแปลโดยศัพท์คือรำพึงถึง แต่จริงๆ แล้วก็คือเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร แล้วแต่ว่าทวารหนึ่งทวารใด

    ทวารหรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ กี่ภพกี่ชาติก็มีเพียง ๖ ไม่เกิน ๖ เลย คือ จักขุทวารต้องเป็นรูป ได้แก่ จักขุปสาทรูปเป็นทางที่จะทำให้สามารถรู้รูปที่กระทบกับตาได้ รูปอื่นที่กระทบตาไม่ได้จะไม่สามารถปรากฏทางตาได้เลย ต้องเป็นรูปที่กระทบตาได้เท่านั้นขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจักขุทวารก็คือจักขุปสาทรูป ถ้ารูปนี้ไม่มี ต้องตาบอด สีสันใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากอะไร เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น การจำแนกประเภทของรูป คือ รูปประเภทใดเกิดจากกรรม รูปประเภทใดเกิดจากจิต รูปประเภทใดเกิดจากอุตุ รูปประเภทใดเกิดจากอาหาร

    รูปที่เกิดจากกรรม คือ จักขุปสาทรูป ไม่ใช่นามธรรม เพราะยังไม่เห็น และสีสันวัณณะต่างๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นวัณณธาตุ ไม่เหมือนธาตุแข็ง ธาตุแข็งไม่มีทางที่จะปรากฏทางตาเลย แต่จะปรากฏได้ทางกายเมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้น ถ้ายังไม่กระทบสัมผัสธาตุแข็งก็ปรากฏไม่ได้ ฉะนั้นธาตุทั้งหมดที่เป็นรูปธาตุ นามธาตุก็เป็นเฉพาะอย่าง ถ้าเป็นรูปธาตุ คือ รูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงๆ แต่เป็นวัณณธาตุ คือ ธาตุที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏเป็นสีสันวัณณะให้เห็นเป็นสีสันวัณณะต่างๆ นี่คือลักษณะของรูปธาตุ หรือถ้าจะใช้คำว่ารูปารมณ์ก็ได้ เพราะคำว่า “รูปธาตุ” ต่อไปจะพบว่ากว้าง ใช้หมายถึงอย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ สำหรับทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตก็เป็นรูปารมณ์ ธาตุชนิดนี้กระทบจักขุปสาทรูปต่อรูป ขณะนั้นภวังค์ไหว และภวังคุปัจเฉทะดับ รูปที่กระทบกันยังไม่ดับ เพราะทั้งจักขุปสาทรูป และวัณณธาตุจะมีอายุ ๑๗ ขณะจิต

    เพราะฉะนั้นเมื่อกระทบภวังค์แรกเพื่อที่จะแสดงอายุของรูปว่าเกิดเมื่อใด และดับเมื่อใด เราก็เรียกภวังค์ที่รูปนั้นกระทบว่า อตีตภวังค์ ๑ ขณะ ภวังคจลนะที่เกิดสืบต่อขณะที่ ๒ ภวังค์คุปัจเฉทขณะที่๓ ทั้ง ๒ รูปนี้ยังไม่ดับเลย และเมื่อหมดกระแสภวังค์แล้ววิถีจิตแรกเนื่องจากเป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิตนี้เกิดขึ้นรู้ได้ ๕ ทาง "ปัญจ" คือ ๕ "ทวาร" คือทาง "อาวัชชนะ" คือทำกิจรำพึงถึงหรือรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด เป็นจิตหนึ่งประเภทที่ทำกิจนี้ จิตนี้ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต ถ้าวิบากแล้วจะรู้อารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าเป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่กิริยาจิตคือปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ทั้ง ๕ ทวาร เป็นกิริยาจิต นี่คือความละเอียด ถ้าโดยสังเขปที่เราพูดก็คือเห็นแล้วพอใจไม่น่าพอใจ แต่ก่อนเห็น เป็นจิตอะไร และวิบากคืออะไรบ้าง ก่อนวิบากต้องมีกิริยาจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก วิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิตก่อน

    ผู้ฟัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ทุกคน สัตว์ นก อะไรก็ตาม ก่อนเห็นต้องเป็นภวังค์ นี่คือปรมัตถธรรมเหมือนกันทั้งหมด บนสวรรค์ ในนรก หรือที่ไหนก็ตาม ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทาง ๖ ทวาร ต้องเป็นภวังค์ก่อน วิถีจิตแรกหมดไปแล้วไม่สงสัยใช่ไหม

    ผู้ฟัง จากนี้ก็มาถึงกุศล อกุศล

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึง เพราะเพิ่งเป็นกิริยาจิต ๑ ขณะดับ ยังไม่เห็น ต้องจิตนี้ดับก่อน แล้วทางตาจิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนี้เห็น

    ผู้ฟัง แล้วมีภวังค์คั่นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่คั่น ต้องหมดกระแสของวิถีจิตก่อน หมดวาระของวิถีจิต เพราะว่าวิถีจิตจะเกิดขึ้น ๑ ขณะไม่ได้ ต้องเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกันจนกว่าจะสิ้นสุดการรู้อารมณ์นั้นเป็นวาระหนึ่ง ภวังค์จึงจะคั่นได้ เพราะฉะนั้นเพียงปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรกดับไปแล้ว ต่อไปเป็นวิถีจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะหมดการรู้อารมณ์หนึ่งที่เป็นอารมณ์เดียวกัน แล้วภวังค์ถึงจะคั่นได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ