พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
ตอนที่ ๑๐๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรกดับไปแล้ว ต่อไปเป็นวิถีจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะหมดการรู้อารมณ์หนึ่งที่เป็นอารมณ์เดียวกันแล้วภวังค์ถึงจะคั่นได้ เพราะฉะนั้นหลังจากกิริยาจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกดับไปแล้ว ตอนนี้เองวิบากจิตเกิดเห็น หรือ ได้ยินเช่นขณะนี้ หรือได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่จริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับอย่างเร็วมาก ซึ่งนามธรรมดับเร็วกว่ารูปธรรมมาก รูปๆ หนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะซึ่งก็เร็วอยู่แล้ว ไม่มีใครจะคิดเองได้ว่าขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น วัณณธาตุอายุแค่ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิบากจิตที่เห็น ก่อนจิตเห็นต้องเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไรได้ยินอะไรก็คือผลของกรรมที่เราเองเป็นผู้กระทำแล้ว
ผู้ฟัง ขณะที่เห็นรูปารมณ์ เห็นเป็นวิบากอยู่ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเห็นเป็นวิบาก
ผู้ฟัง จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ต่อเมื่อหลังจากนั้น
ท่านอาจารย์ หลังจากนั้น แต่หลังจากเห็นแล้วยังไม่ใช่กุศล อกุศลในทันที
ผู้ฟัง หลังเห็นแล้วเป็นกุศล อกุศลนี่แหล่ะ คือเป็นการสร้างกรรมต่อที่จะให้เป็นวิบากต่อไปอีกใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเหตุใหม่ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า
ผู้ฟัง เป็นเหตุใหม่ที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นดีชั่วในชีวิตประจำวันก็คือกุศลจิต และอกุศลจิตที่เป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตา ก็ต้องมีกุศลจิต และอกุศลจิต ยังไม่ถึงมโนทวาร
ผู้ฟัง มีคำบางแห่งใช้คำว่าชวนวิถีก็มี นี้คือปนกันอยู่ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรากำลังจะศึกษาจากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่งเพื่อถึงชวนวิถี
ผู้ฟัง แต่ชวนะก็เป็นวิถีจิตเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ จิตอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิตเป็นวิถีจิตทั้งหมด
ผู้ฟัง เพียงแต่เพิ่มชื่อชวนะเข้ามา
ท่านอาจารย์ โดยกิจ และเราจะต้องทราบว่าจิตไหนทำกิจนี้ กุศลจิตทำชวนกิจ อกุศลจิตก็ทำชวนกิจ กิริยาจิตของพระอรหันต์ก็ทำชวนกิจ โลกุตตรจิตก็ทำชวนกิจ ฌาณจิตก็ทำชวนกิจ เพราะว่าไม่เห็น กุศลไม่ได้ทำกิจเห็น กุศลทำกิจเห็นหรือไม่ กุศลจิตไม่ได้ทำกิจเห็นเลย จิตอะไรทำกิจเห็น วิบากจิต จักขุวิญญาณเท่านั้นด้วยที่ทำกิจเห็น นี่ก็เป็นการศึกษาความละเอียดของสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน วันนี้เราอาจจะหยุดเพียงแค่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ได้ แต่ที่จริงหลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้วก็คือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณในขณะนี้ก็สืบต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต
พระไตรปิฎกทั้งหมดก็ไม่พ้นจากเรื่องชีวิตประจำวันเหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจละเอียดขึ้นมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง อย่างน้อยที่สุดเราก็รู้ว่าจิตที่เป็นวิถีกับจิตที่ไม่ใช่วิถีต่างกัน เพราะว่าวิถีจิตก็คือ จิตที่อาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ เช่น ทางตาเห็น แล้วก็ชอบไม่ชอบ เป็นกุศล อกุศลในสิ่งที่เห็น แล้วก็ทางใจก็เกิดสืบต่อรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางปัญจทวารแล้วก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ต้องแยกกันระหว่างทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร
ผู้ฟัง ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบากเพราะขณะนั้นมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ชวนวิถีทางปัญจทวาร จำเป็นต้องเป็นอกุศลตามอารมณ์ที่ปรากฏหรือไม่ หรือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิด แต่ชวนะแรกทางปัญจทวารวิถีจะเป็นกุศลได้ไหม
ท่านอาจารย์ ที่กล่าวเมื่อครู่นี้สองคำ น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ
ผู้ฟัง ไม่น่าพอใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่น่าพอใจ จิตที่ไม่พอใจเป็นโทสมูลจิต จิตที่พอใจเป็นโลภมูลจิต ทั้งสองอย่างเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเราจะยังไม่ข้ามไปถึงกุศล คืออารมณ์เป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ โลภมูลจิตจะเกิดหรือว่าโทสมูลจิตจะเกิด และอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แม้ว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีขณะนั้นโลภมูลจิตจะเกิดหรือโทสมูลจิตจะเกิด เรื่องของวิบากเป็นเรื่องตรง ถ้าเป็นอกุศลวิบากต้องรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ คือ อนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นกุศลวิบากจะไปรู้อนิฏฐารมณ์ไม่ได้เลย เมื่อเป็นผลของกุศลกรรมก็ต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม แต่สำหรับชวนะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป เป็นไปตามการสะสม กลิ่นบางกลิ่นเป็นที่พอใจของบางคน ทุเรียนรสอร่อยดี แต่ขณะที่ได้กลิ่นก็ไม่พอใจ แต่พอใจรสใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่ากลิ่นบางกลิ่น สำหรับบางคนชอบได้ หรือกลิ่นที่หอมดูจะเป็นกลิ่นที่น่าพอใจ แต่บางคนก็ไม่พอใจหรือไม่ชอบก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ยากที่จะรู้ว่าสิ่งที่ชอบเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก แต่ส่วนรวมที่คนส่วนใหญ่พอใจก็เป็นเครื่องประมาณว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่ใครจะรู้ในเมื่อเกิดก่อนชวนจิต จักขุวิญญาณกุศลวิบากรู้รูปที่เกิดก่อนชวนจิต โสตวิญญาณที่ได้ยินเสียง ก็ได้ยินเสียงก่อนชวนจิต คือก่อนโลภมูลจิต ก่อนโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นต้องเป็นสิ่งที่แน่นอนว่าเมื่อเป็นกุศลวิบากก็ต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ ส่วนชวนจิตจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือเป็นกุศลจิต หรือเป็นกิริยาจิต แล้วแต่เหตุปัจจัย
ผู้ฟัง ถ้าจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบากก็ต้องรู้อารมณ์ที่ดี แต่ว่าชวนวิถีที่เกิดต่อทางปัญจทวารนั้นเป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นกิริยาจิตก็ได้ถ้าเป็นพระอรหันต์ ใครรู้ เราเองจะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทใด จึงสามารถจะดับทั้งกุศล และอกุศลถึงความเป็นพระอรหันต์ได้
ผู้ฟัง เคยได้ยินอาจารย์บรรยายทางวิทยุว่านักบวชนอกพระพุทธศาสนาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วโกรธคัดเคือง ทั้งๆ ที่ปกติก็จะไม่โกรธ คือเห็นสิ่งที่น่าพอใจแต่กลับไม่พอใจ
ท่านอาจารย์ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้ แต่จริงๆ แล้วทางปัญจทวารสั้นมากเหมือนฟ้าแลป หลังจากนั้นทางมโนทวารวิถีจิตก็รับรู้ต่อ และก็มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสามารถที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรภายหลังที่เกิดทางมโนทวารวิถีแล้ว
อ.วิชัย ธรรมทุกอย่างก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แม้ขณะนี้เองก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ฉะนั้นการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องตามสิ่งที่กระทบสัมผัสก็เกิดดับ มีเหตุปัจจัยให้เกิดหรือแม้แต่ขณะที่เป็นชวนะก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น เกิดจากการสั่งสมมาเป็นปกตูนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิดบ้าง อกุศลจิตเกิดบ้าง แต่สำหรับผู้ที่ละกุศล และละอกุศลหมดแล้วก็เป็นกิริยาจิตซึ่งเป็นพระอรหันต์ ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าบางคนแม้เห็นสิ่งนี้กุศลจิตเกิด แต่บางท่านก็อกุศลจิตเกิด นี่ก็เห็นถึงการสั่งสมการมีอัธยาศัยแตกต่างกันในการที่จะมีเหตุปัจจัยให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น
อ.อรรณพ แสดงให้เห็นความต่างกันของประเภทของจิต กิจของจิตด้วย เพราะว่าจิตเห็นเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอกุศลวิบากก็จะต้องมีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ คือ อนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นกุศลวิบากก็ต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ แต่การสะสมแล้วแต่บุคคลว่าจะเป็นกุศล และอกุศลประเภทใด
อ.ธีรพันธ์ จะเห็นได้ว่าขณะที่มีวิถีจิตเกิดขึ้นก็จะเริ่มจากปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นขณะแรกที่เป็นวิถีแรก คือรำพึงถึงอารมณ์ ขณะนั้นยังไม่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่รำพึงถึงอารมณ์เท่านั้น แต่ว่าจิตที่ทำกิจเห็นหรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะจริงๆ ก็คือขณะที่เป็นทวิปัญจวิญญาณเท่านั้น เช่น จักขุวิญญาณในขณะที่เกิดทางตาดับไปแล้ว หลังจากนั้น สัมปฏิจฉันนจิตรับรู้อารมณ์นั้นต่อ รู้สีนั้นต่อ รับโดยการรู้สีต่อ เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะพิจารณาอารมณ์คือพิจารณาสี แล้วโวฏฐัพพนจิตเกิดสืบต่อเป็นชาติกิริยา เป็นอเหตุกะ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย หลังจากโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ชวนวิถีจิตเกิดขึ้นสืบต่อมีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้ายังไม่กล่าวถึงพระอรหันต์ แต่กล่าวถึงบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ในชวนะจะมีเหตุเกิดร่วมด้วย กุศลก็ตามหรืออกุศลก็ตาม เพราะฉะนั้น การศึกษาทำให้ทราบว่าขณะที่เห็นจริงๆ คือขณะที่เป็นจักขุวิญญาณเท่านั้นเอง หลังจากนั้นจิตเป็นชวนวิถีเกิดสืบต่อมาแล้ว ขณะนั้นไม่ได้เห็นแต่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ เพราะฉะนั้นทำให้ทราบว่าขณะที่แล่นไปในอารมณ์ขณะนั้นไม่เห็น ทำให้เห็นว่าการเกิดดับสืบต่อของจิตเป็นไปแต่ละขณะ จะไม่ปนกันจริงๆ จะทำกิจหน้าที่ต่างกันแต่ละขณะๆ เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ชวนจิต ทั้ง ๗ ดวง แต่ละดวงจะให้ผล จะให้วิบากต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ยังไม่รู้แต่ละขณะจิตใช่ไหม
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ ฟังทางวิทยุ เมื่อเช้าหรือตอนไหนก็มีเรื่องของชวนจิต ก็แต่ว่าธรรมจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ คือได้เป็นความเข้าใจที่ว่า ไม่ว่าเราจะพูดถึงกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อจากจิตเห็นจิตได้ยิน เรารู้ตัวเราได้ไหมว่าขณะนี้กำลังเห็น แล้วหลังจากเห็นจิตเป็นอะไร เมื่อครู่นี้เราบอกแล้วใช่ไหมว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นโลภะ รู้ตัวไหมขณะเห็นเราพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น ยับยั้งไม่ได้เลย เร็วขนาดนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความพอใจของเรามากมายไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นจึงเห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กัน เพราะว่าชวนวิถีจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นโลภะก็เป็นโลภะ ๗ ขณะ ถ้าโลภะนั้นประกอบด้วยโสมนัสก็เป็นโลภโสมนัสทั้ง ๗ ขณะ ถ้าโลภะนั้นเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาทั้ง ๗ ขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อก็เป็นอุเบกขาเวทนา สะสมหลังจากที่ดับไปแล้ว เพราะว่าวิบากจิตไม่ได้สะสมเป็นอุปนิสัยหรือเป็นอัธยาศัยเลย เพราะว่าเป็นผลที่เกิดจากกรรม เมื่อกรรมได้กระทำแล้ววิบากจิตต้องเกิดตามกาละเพราะเหตุว่ากรรมมีมาก แล้วแต่ว่ากาละไหนกรรมใดพร้อมที่ใช้คำว่าสุกงอม พร้อมที่จะให้ผลที่จะทำให้เกิดขึ้น วิบากจิตประเภทนั้นๆ ก็เกิดขึ้น ทางตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจซึ่งเลือกไม่ได้ เป็นผลของกรรมจริงๆ แต่หลังจากนั้นเราติด ได้เริ่มเหตุใหม่ในสิ่งที่ปรากฏ หรือเราอาจจะเกิดโทสมูลจิตไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ เกินกว่าที่จะยับยั้ง ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงมีอัธยาศัยหรืออุปนิสัยต่างๆ กัน พอที่จะรู้ตัวไหมว่าเป็นคนที่มีอุปนิสัยหรืออัธยาศัยอย่างไร บางคนติดมาก ชอบไปหมดเลยทุกอย่าง บางคนก็หงุดหงิดตั้งแต่เช้า บ่นไปอะไรต่ออะไรไป ขวางหูขวางตาไปหมด ทุกอย่างนั้นก็ไม่เรียบร้อย มีฝุ่นมีอะไร อาจจะพร่ำพูดในสิ่งซึ่งขณะนั้นเป็นอย่างนั้น จะมีใครได้ยินหรือไม่ได้ยิน แต่ก็ทำให้มีการไหวของวาจาที่จะกล่าวคำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นชีวิตที่ผ่านมาในอดีต เราสามารถจะเห็นในปัจจุบันชาตินี้ได้ จากตัวเราเอง จากการกระทำของเราว่าได้เคยสะสมอะไรมา ถ้าสะสมการที่จะสนใจฟังธรรม ก็รู้ได้ว่าการสนใจของเราสนใจที่จะศึกษาในแบบไหน ในการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีหรือว่าศึกษาแบบวิชาการทางโลก เพราะเหตุว่าเราคุ้นเคยกับการศึกษาทางโลก มีตำรา มีคำถาม คำตอบ มีการสอบ มีการประเมิน แต่นั่นคือเราศึกษาธรรมเหมือนเราศึกษาวิชาหนึ่งวิชาใดที่เราเคยศึกษาแล้ว แต่ไม่ใช่ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามกำลังของการสะสมของเรา
เพราะฉะนั้นก็จะสามารถเข้าใจข้อความที่ว่าการศึกษา ๓ อย่าง การศึกษาเพื่อเป็นที่พึ่ง เพราะว่าขณะนี้เรามีพระธรรมเพื่อที่จะพึ่งโดยการที่ว่าได้ฟังแล้วไตร่ตรอง เข้าใจว่าสิ่งที่มีขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และก็เป็นเราที่สะสมมาทางฝ่ายอกุศลประเภทไหน ถ้ามีการรู้สึก และเข้าใจในสิ่งที่สะสมมาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรสะสมต่อไปก็จะมีการสะสมใหม่ นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเราก็สามารถจะเห็นได้ว่าการศึกษาของเราขณะนี้ ที่เราจะเป็นบุคคลที่มีปัญญามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ การศึกษานั้นเป็นไปเพื่อเป็นที่พึ่งในการที่จะขัดเกลากิเลส นี่คือการศึกษาที่เป็นประโยชน์
แต่ถ้าศึกษาแบบจับงูพิษข้างหาง ก็จะทำให้มีการสำคัญตนที่กำลังศึกษา ศึกษาด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มีเรารู้ เราเก่ง เราสามารถรอบรู้ต่างๆ เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความสำคัญตน ซึ่งเป็นมานะ และการศึกษาที่เป็นขุนคลังหรือเพื่อจะรักษาพระศาสนาได้ก็ต้องไม่ใช่ผู้อื่นนอกจากพระอรหันต์ หมดกิจที่จะกระทำเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร ปัญญาของเราระดับไหน ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจในขณะนี้ที่เห็นว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ขั้นนี้ก็เพียงโดยฟัง จริงๆ แล้วรู้ได้ไหม ปัญญาเท่านั้นที่รู้ได้ แล้วปัญญาที่ต้องเจริญขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นปัญญาขั้นฟังก็จะทำให้มีความเข้าใจในระดับที่สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง แต่ก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย แต่ให้เห็นความสำคัญ และความต่างของวิบากกับชวนจิต ถ้าเป็นวิบากก็เป็นการรับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ชวนะซึ่งเกิดต่อหลังจากเห็น ได้ยินแล้ว เป็นเหตุที่จะให้เกิดกรรม แล้วก็จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้า แล้วก็ระหว่างที่ยังไม่ได้กระทำทุจริตกรรมก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งขัดเกลาได้ ไม่ควรจะปล่อยไปโดยที่ว่าเป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็ให้เห็นความสำคัญของชวนจิตว่าแม้ว่าจะเกิด ๗ ขณะแล้วก็ยังสะสมสืบต่อไปด้วย
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันเราฟังเรื่องราวจากพระไตรปิฎกซึ่งแสดงอย่างละเอียดในเรื่องวิถีจิต สภาพจิต และความเข้าใจในขั้นการฟัง จะส่องให้เห็นปัญญาหรือส่องความเข้าใจว่าผู้ฟังกับผู้แสดงควรจะเข้าใจอย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ลืมเท่านั้นเอง ในเรื่องของจิต ๔ ชาติ เพราะเหตุว่าเมื่อกล่าวถึงแล้วปฏิสนธิเป็นวิบาก ภวังค์เป็นวิบาก ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดใน ๖ ทวารเป็นกิริยา ก็เป็นการกลาวถึงจิต ๒ ชาติแล้ว เหลืออีก ๒ ชาติ คือ กุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งเกิดต่อ หลังจากที่วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตทางปัญจทวารดับไป จักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเกิดต่อ คือในขณะใดก็ตามที่เห็น ให้ทราบว่าก่อนจิตเห็นจะเกิดได้ก็ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปรู้ แต่ให้เข้าใจความละเอียดให้ถูกต้อง ถึงความเป็นอนัตตา เพราะว่าที่เราฟังธรรมทั้งหมดเริ่มจากธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ ต่อเมื่อได้ฟังละเอียดขึ้นๆ ทั้งหมดที่ได้ฟังก็จะเป็นเครื่องที่จะปรุงแต่งให้ค่อยๆ เข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจนกว่าจะถึงระดับที่สามารถที่สติสัมปชัญญะจะเกิดเป็นสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้เข้าใจแล้วจากการฟังโดยความเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงปัญจทวาราวัชชนะเป็นกิริยาจิตดับไปแล้ว ปัญจวิญญาณเกิดต่อ สัมปฏิจฉันนวิบากจิตเกิดต่อ สันตีรณวิบากจิตเกิดต่อ โวฏฐัพพนกิริยาจิตเกิดแล้วก็หลังจากนั้นก็กุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เกิดต่อ ก็แสดงให้เรารู้ว่าเราติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากมายแค่ไหนในวันหนึ่งๆ เพราะว่าทุกคนแสวงหาสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็น โสตวิญญาณได้ยิน ฆานวิญญาณได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณลิ้มรส กายวิญญาณสัมผัสกระทบสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราติดในภพภูมินี้อย่างมากก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อมีการเห็นแล้ว จะพอใจหรือไม่พอใจก็แล้วแต่การสะสม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ความรู้สึกชอบในสิ่งหนึ่งสิ่งใด โลภมูลจิต ๗ ขณะดับไปแล้วสืบต่อจากวันก่อนจนถึงวันนี้ เมื่อวานนี้ชอบอะไรไว้ หลังจากที่ลิ้มรสแล้ว วันนี้ก็ยังคิดถึงชอบอยู่ แม้ว่าสิ่งนั้นจะหมดไปแล้วดับไปแล้ว ไม่มีแล้วก็ยังพอใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตลอดชีวิตความสำคัญอยู่ที่ว่าเราติดข้องในสิ่งที่เราเห็น เราได้ยิน ซึ่งเป็นเพียงชั่ววิบากจิตเป็นผลของกรรมเท่านั้นเอง แต่ก็ไปติดในสิ่งที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง การฟังพระธรรม ก็หมายถึงว่าเป็นการศึกษาตัวเองว่ามีความเข้าใจมีปัญญาได้ในระดับใด แต่ไม่ใช่ไปคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ หรือว่าไปเขียนพระไตรปิฎกขึ้นมาใหม่ เป็นความเข้าใจที่ผิดหรือถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ก็เป็นการอบรมความรู้จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ทราบว่าจิตขณะนี้เกิดดับประมาณไม่ได้เลย แล้วรูปก็เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นการฟังก็ทำให้เข้าใจว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจนี่เองที่จะเข้าใจสิ่งที่มี จนกว่าวันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้
ข้อสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของความไม่รู้กับเรื่องของความติดข้องในความเป็นตัวตนมากมายขนาดไหน ขนาดที่ว่าแม้ฟังอย่างนี้ก็จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่สามารถที่จะละกิเลสได้เลยเพียงขั้นฟัง แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะมีปัจจัยที่จะเกิด กล่าวถึงผู้ที่ได้ฟังมานาน และก็มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเกิดแล้ว ความเป็นเราก็ยังคิดที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดมากกว่านั้น โดยแท้ที่จริงแล้วถ้าละความเป็นเราในขณะนั้น ก็มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิด แต่เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาระดับถึงขั้นที่จะละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏก็มีความเป็นตัวตนพยายามต่อไปที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดบ่อยๆ นี่ก็เป็นเรื่องแต่ละคน เมื่อปัญญายิ่งเกิดก็จะยิ่งเห็นความละเอียดของสภาพธรรม และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดจะปรากฏกับสติสัมปชัญญะ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120