พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108


    ตอนที่ ๑๐๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะมาจากสองคำ คือ ปัจจยะ กับ อุปปันนะ อุปปันนะแปลว่าเกิด เพราะฉะนั้นสภาพนั้นเกิดจากปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไร ก็เป็นปัจจยุบบันของปัจจัยนั้นๆ

    ผู้ฟัง เช่น วิบากเป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และกรรมก็เป็นปัจจัยของวิบาก แต่วิบากเป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัจจุบันกับปัจจยุบบันไม่เหมือนกัน เพราะมาจากคำว่า "ปัจจยะ" กับ "อุปปันนะ" เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยนั้น กัมมปัจจัยไม่น่าสงสัยใช่ไหม กรรมที่กระทำสำเร็จแล้วจะให้ปัจจยุบบันเกิดขึ้นเมื่อถึงกาละที่กรรมนั้นพร้อมด้วยปัจจัยสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล เลือกไม่ได้เลยว่ากรรมไหนจะให้ผลเมื่อไหร่

    พระคุณเจ้า ถ้าเราทำกรรมที่ไม่ครบองค์จะถือว่าเป็นกัมมปัจจัยได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ครบองค์ให้ผลในปวัตติกาล ถ้าครบองค์ก็ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้

    ผู้ฟัง คำว่า “กรรมเป็นปัจจัย” ช่วยให้ความหมายด้วยว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่มีกรรม

    ผู้ฟัง ตัวกิเลสนั่นเองที่ทำให้เกิดกรรม

    ท่านอาจารย์ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

    ผู้ฟัง เราทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาจะถือว่าเป็นกิเลสไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ มิฉะนั้นจะสับสนปนกันหมดเลย ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นจิตจึงมี ๔ ชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

    ผู้ฟัง แสดงว่าการทำกรรม เพราะกรรมมีได้ทั้งกุศล และอกุศล ถ้าเราทำกรรมโดยไม่ครบองค์ คำว่า “ครบองค์” ก็เป็นได้ทั้งกุศลด้วย และอกุศลด้วย มีอะไรเป็นตัวชี้ว่า นี่เป็นกรรม และนี่ไม่ใช่กรรม

    ท่านอาจารย์ องค์ของกรรม

    ผู้ฟัง ช่วยแสดงองค์ของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าโกรธยังไม่ได้ฆ่าเลย ยังไม่ได้เบียดเบียนเลย จะเป็นกรรมอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นกิเลสอยู่ภายใน

    ท่านอาจารย์ สะสมสืบต่อ ยังไม่ได้เบียดเบียนบุคคลอื่น ยังไม่มีเจตนาที่จะเบียดเบียน

    ผู้ฟัง แสดงว่าตัวเจตนาเป็นตัวกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ใครไม่มีกรรมบ้าง ไม่มี นอกจากผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว หลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีกรรม แต่ก่อนเป็นพระอรหันต์เคยกระทำกรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยให้วิบากของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ต่างกันไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้วฉันใด ขณะนี้ที่ทุกคนได้ยินบ้าง ได้เห็นบ้างตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใดที่จิตเป็นวิบากเกิดขึ้น ก็ทราบได้ว่าไม่มีใครอื่นที่จะทำให้เกิดได้เลย นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุที่จะให้เกิดขึ้น

    ถ้าไม่สงสัยในเรื่องของกรรมหรือกัมมปัจจัย คุณธิดารัตน์จะกล่าวถึงปัจจัยอื่นไหมสำหรับปฏิสนธิจิต ผ่านไปหนึ่งปัจจัยแล้วไม่มีข้อสงสัย

    อ.ธิดารัตน์ กรรมที่สุกงอมแล้วเป็นชนกกรรมให้ผล ให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นจิตชาติวิบาก นอกจากรรมนั้นจะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิสนธิอีก ๓ กลุ่ม การที่ปฏิสนธิจิต และ กัมมชรูปทั้ง ๓ เกิดขึ้นพร้อมกันก็ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย เพราะว่าเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะเดียวกัน ส่วนกัมมชรูปทั้ง ๓ กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่เป็นกายทสกะ ๑ กลุ่ม คือกลุ่มของกาย ๑๐ รูป ภาวะรูป ก็คือภาวะรูปที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ๑ กลุ่ม และหทยรูป คือหทยวัตถุเป็นหทยทสกะอีก๑ กลุ่ม ทั้ง ๓ กลุ่มจะเกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิตโดยสหชาตปัจจัย โดยการเกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องทำให้เจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมนั้นก็ทำให้รูปเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย รูปนั้นก็เป็นปัจจยุบบันของกรรม และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตขณะนั้น ก็เกิดเพราะกรรมเดียวกันที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเจตสิกซึ่งเป็นวิบากก็เกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัย พอจะเข้าใจได้ว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก และทำให้รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี่ รูปร่างเหมือนกันหรือไม่ อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น กรรมทำให้แต่กต่างกันไป สูง ต่ำ ดำ ขาว หรืออะไรก็ตาม ยังมีสัตว์อีกมากมายใช่ไหม ใครก็ทำให้สัตว์เหล่านั้นเปลี่ยนรูปไม่ได้เลย เพราะว่ากรรมทำให้ปฏิสนธิของสัตว์นั้นเกิดพร้อมรูปนั้นๆ ซึ่งตอนที่เกิดรูปยังไม่ใหญ่โต แต่เล็กเท่ากันหมดเลยคือมองไม่เห็น แต่ว่าภายหลังก็เจริญเติบโตขึ้นก็จะทำให้เป็นไปตามกรรม ก็คือมีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง มีเท้าบ้าง ไม่มีเท้าบ้าง มีสองเท้าบ้าง มีหลายๆ เท้าบ้าง โดยที่ว่าทั้งหมดก็คือกรรมเป็นปัจจัย สำหรับกัมมปัจจัยคงไม่สงสัยใช่ไหม

    อ.วิชัย มีอีกปัจจัยที่ท่านผู้ฟังคงจะคิดได้ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตคืออะไร เป็นสภาพรู้ แสดงว่ามีปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้จิตเกิดขึ้นคืออะไร ถ้าไม่มีสิ่งที่จิตรู้ จิตจะเกิดได้ไหม?ไม่ได้ แสดงว่ามีปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้นคืออะไร คืออารมณ์ของจิต ฉะนั้นอารมณ์ของจิตก็เป็นปัจจัยแก่จิตทุกประเภทเลย ไม่เว้นเลย ดังนั้นปฏิสนธิจิตก็ต้องมีปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็คืออารมณ์ของปฏิสนธิจิต ดังนั้นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตก็เป็นอารัมมณปัจจัย ก็คือเป็นปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์แก่ปฏิสนธิจิต สภาพที่เป็นปัจจัยก็คืออารมณ์ก่อนจุติจิตของชาติที่แล้ว เป็นอารัมมณปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่พอจะรู้ได้เข้าใจได้ จำได้ไม่ลืมก็คือว่าจิตทุกประเภทต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์นั่นเองเป็นอารัมมณปัจจัยให้จิตทุกประเภทเกิดขึ้น จะไม่มีจิตสักประเภทเดียวที่ขาดอารัมมณปัจจัย เพราะจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งโดยเป็นอารัมมณปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ก็พอจะจำได้เข้าใจได้ใช่ไหม เข้าใจได้ และก็จำได้ด้วย ๒ ชื่อนี้ก็คุ้นหูมาก กัมมปัจจัย และ อารัมมณปัจจัย

    อ.ธีรพันธ์ ปัจจัยต่อไปที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะว่าจิตกับเจตสิกแยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันแล้วมีอารมณ์เดียวกัน และดับพร้อมกัน อาศัยที่เกิดเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ขณะนั้นก็คือปัจจัยที่เป็น สัมปยุตตปัจจัย นั่นเอง คือปฏิสนธิจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยให้แก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตนั้นเอง แยกขาดจากกันไม่ได้ คือสัมปยุตต์เป็นสภาพธรรมนามธรรมที่เกิดร่วมกันจึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเพียงแต่ชื่อใหม่ ความจริงก็ชื่อเก่า แต่ทบทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือสัมปยุตตปัจจัยเพราะว่าเราทราบแล้วว่าจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีแต่เจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่สภาพธรรมที่จะเกิดร่วมกันได้ที่เป็นนามธรรมทั้งจิต และเจตสิกก็คือเป็นนามธรรมล้วนๆ ลองคิดดู ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่นามธรรมที่เกิดพร้อมกันอย่างหนึ่งเป็นจิต และอีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิก และต่างก็อาศัยกัน และกันเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่จะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย จิตก็ต้องมีปัจจัย เจตสิกก็ต้องมีปัจจัย แล้วแต่ว่าขณะนั้นเราจะกล่าวถึงปัจจัยอะไร แล้วก็เป็นจิต เจตสิกประเภทไหน แต่ในเมื่อทั้งจิต และเจตสิกขาดกันไม่ได้เลย การที่จะขาดกันไม่ได้เลยต้องเป็นสภาพธรรมที่สามารถเข้ากันได้สนิทคือเป็นนามธรรมกับนามธรรม เมื่อเป็นนามธรรมที่เกิดต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เมื่อเกิดพร้อมกัน และเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะแยกอารมณ์กันไม่ได้เลย จิตมีอารมณ์อะไร เจตสิกก็มีอารมณ์นั้นรู้อารมณ์นั้นเอง และถ้าจิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตนั้นเกิดที่รูปไหน เจตสิกที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันก็เกิดที่รูปนั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็เพียงเพิ่มชื่อจากที่เราเคยเข้าใจแล้วเป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นรูปธรรมไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย เฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิกเท่านั้นโดยที่ว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่รูปเดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสัมปยุตตปัจจัย

    ๓ ปัจจัยแล้วไม่ยากเลยใช่ไหม กัมมปัจจัย อารัมณปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย เข้าใจแล้วทั้งหมดเพียงแต่ว่าแสดงความเป็นปัจจัยเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ที่เราใช้คำว่าเจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่จิต จะใช้ตรงกันข้ามได้ไหมว่าจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่เจตสิก ในเมื่อมาด้วยกัน ดับด้วยกัน เกิดด้วยกัน

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่าจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่แยกกันเลย และเวลาที่กล่าวว่าจิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกโดยสัมปยุตตปัจจัย หมายความว่าเมื่อเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน นามธรรมก็คือจิต และเจตสิกเท่านั้นที่เป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นคำถามของคุณเด่นพงศ์ว่าถ้ายกจิตขึ้นเป็นสัมปยุตตปัจจัย เจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจยุบบัน คือเป็นปัจจยุบันของจิตที่เป็นสัมปยุตตปัจจัย จะกล่าวว่าเจตสิกเป็นปัจจัย และจิตเป็นปัจจยุบบันได้ไหมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมถามกลับกัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกโดยสัมปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าเจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิตโดยสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม ถ้าเราเข้าใจแล้วเราคิด ต้องถูก ผิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตอบว่าได้หรือไม่ได้

    ผู้ฟัง ผมว่าได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เหตุผลต้องเป็นเหตุผล ความจริงต้องเป็นความจริง

    ผู้ฟัง เพราะส่วนใหญ่จะใช้คำอย่างที่พูดกัน เลยไม่แน่ใจว่าถ้าตรงกันข้ามกันจะใช้ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แสดงถึงอินทริยปัจจัยอีกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วขณะนี้เรากำลังพูดถึงอีกปัจจัยหนึ่งคือสัมปยุตตปัจจัย

    และสำหรับที่คุณธิดารัตน์กล่าวถึงที่มีผู้บอกว่าคุณธิดารัตน์กล่าวแล้วปัจจัยหนึ่งคือสหชาตปัจจัย “สห” แปลว่าพร้อมกัน ด้วยกัน ร่วมกัน “ชาตะ” ก็คือเกิด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมใดก็ตามไม่ได้มุ่งหมายอื่นเลยชื่อของแต่ละปัจจัยก็จะเจาะจงเฉพาะความเป็นปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ได้แยกนามธรรมหรือรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ความหมายของปัจจัยนี้ก็คือว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดพร้อมกัน ขณะนั้นสภาพธรรมหนึ่งเป็นสหชาตปัจจัยให้อีกสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้นโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ได้ เช่น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้แยกกัน เกิดพร้อมกัน โดยแต่ละธาตุก็เป็นสหชาตปัจจัยให้ธาตุอื่นๆ เกิด หรือจิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัย หรือจิต เจตสิกเกิดพร้อมกับจิตตชรูป ก็ต้องแยกไปว่าจิตเป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แต่จิตตชรูปไม่ได้เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตเกิด เพราะว่าจิตนั้นเกิดเพราะรูปเป็นปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดต่อไป แต่จะให้ทราบเพียงพอสมควรที่จะเข้าใจได้ และก็เป็นพื้นฐานที่มั่นคง และต่อไปก็จะแยกออกไปอีก

    อ.อรรณพ อีกปัจจัยหนึ่งของปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตจะเกิดได้ก็ต้องเกิดต่อจากจุติจิตเท่านั้น เมื่อจุติจิตของบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น และโดยความเป็นลำดับด้วยดี เพราะฉะนั้นจุติจิตเป็นอนันตรปัจจัย และ เป็นสมนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น นี้เป็นพื้นฐานความเข้าใจว่าปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตแรกของชาตินี้ จะต้องเกิดต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้วโดยจุติจิตเป็นปัจจัย ส่วนปฏิสนธิจิตซึ่งเกิดต่อจากจุติจิตโดยไม่มีระหว่างคั่นนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจยุบบันเพราะเป็นผลของปัจจัยคือจุติจิตของชาติที่แล้วแต่เกิดต่อกันเลย และเมื่อจุติจิตของชาติที่แล้วดับปฏิสนธิจิตต้องเกิดต่อเป็นลำดับด้วยดีโดยเป็นสมนันตรปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต

    ท่านอาจารย์ ก็จะเห็นได้ว่าการที่จะศึกษาหรือมาฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ถ้าได้ยินคำไหนก็คงต้องให้เข้าใจขึ้นๆ ไม่ใช่ว่าผ่านไป เพราะว่าจากการที่ฟังเบื้องต้น และก็จะได้ฟังต่อไปก็คือเรื่องนั้นเอง แต่ว่าเข้าใจขึ้น เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรก เรารู้แล้วทุกคนว่าเมื่อจิตเกิดขณะแรกสืบต่อจากชาติก่อน แต่จิตนี้ต้องมีปัจจัย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่จะเกิดจะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย จำไว้ได้เลยว่าทุกอย่างที่เกิดต้องอาศัยปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะมาดูว่าปฏิสนธิจิตอาศัยปัจจัยอะไรบ้างซึ่งไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพียงจิตหนึ่งขณะที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นเกิดหลายปัจจัย แต่ถึงเวลาดับ ดับหมดเลย จิตขณะนั้นดับ เกิดมาแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็คิดถึงปฏิสนธิจิตซึ่งมีปัจจัยหลายปัจจัยแต่ปัจจัยหนึ่งคือ กัมมปัจจัย เราก็ได้ยินคำว่า “กรรม” บ่อยมาก มีใครบ้างไหมที่ไม่เคยได้ยินคำว่ากรรม คงไม่มี กรรมหมายความถึงการกระทำ โดยทั่วไปเราก็ใช้คำนี้ กรรมคือการกระทำ แต่ว่าการกระทำที่เป็นกัมมปัจจัยต้องหมายความถึงเจตนาที่จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำกรรม ซึ่งเจตนาหรือความจงใจตั้งใจเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นสภาพของเจตนาที่เกิดกับจิตแต่ละดวงก็ต้องต่างกัน เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตซึ่งก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต และก็มีเจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตซึ่งก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิต นี่คือความละเอียดของชีวิตประจำวัน ทุกคนไม่ว่าจะเกิดภพไหน ภูมิไหน ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสำหรับปฏิสนธิจิตมีกรรมเป็นปัจจัยได้แก่เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ก็ต้องถึงความจงใจ ตั้งใจที่จะเป็นกุศล ที่จะกระทำให้สำเร็จ หรือเป็นอกุศลที่จะกระทำอกุศลกรรมให้สำเร็จก็จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ใครทราบบ้างว่าเราทำกรรมมามากน้อยแค่ไหน มากใช่ไหมถ้านับดูถอยหลังไปแสนโกฏิกัปป์ กรรมเหล่านั้นถ้าพร้อมด้วยองค์ ๕ คือสำเร็จก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ในวันหนึ่งวันใดซึ่งเราก็ทราบไม่ได้ที่ชาติต่อไปของเราก็จะต้องมีปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ อาจจะเป็นกรรมที่ได้กระทำในชาตินี้ กุศลกรรมขณะที่ฟังพระธรรม หรือว่าเข้าใจธรรมในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีลหรืออกุศลกรรมก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าชีวิตของเราสั้นมาก ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะถึงการสิ้นสุดของชาตินี้เมื่อไหร่ อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ประมาทเลยในการที่เมื่อมีโอกาสของกุศลกรรมก็สะสมกุศลกรรมเพื่อจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งอาจจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ก็ได้ เห็นกำลังของกรรมไหมว่าสามารถที่จะทำให้เกิดบนสวรรค์ก็ได้ ในโลกมนุษย์ก็ได้ มีสภาพลักษณะต่างๆ กันไปก็ได้ โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยเหตุนี้จึงทำเราสามารถที่จะเห็นความเป็นอนัตตา เมื่อเข้าใจลักษณะของปัจจัยของสภาพธรรมซึ่งก็ได้แก่จิต เจตสิก รูป นั่นเอง จิตเป็น กรรมหรือเปล่า ถ้ากล่าวโดยเจาะจง กรรมต้องได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น นี่ก็เป็นหนึ่งกรรม เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่เลือกเลยว่าจะเกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต ด้วยเหตุที่เจตนานั้นต้องเกิดกับจิตทุกดวงจึงเป็นสหชาตปัจจัยของจิตทุกดวง หมายถึงว่าเกิดร่วมกันกับจิต เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันด้วย โดยที่ว่าไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล วิบาก กิริยา ก็เป็นสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สำหรับเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิตเป็นสหชาตปัจจัยทำให้จิตเกิด แล้วก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีรูปเกิดด้วยหรือไม่มีรูปเกิดด้วย แต่ถ้าเป็นปฏิสนธิจิตจะไม่มีรูปเกิดจากปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย เพราะเหตุว่าเพิ่งเป็นขณะแรก เพราะฉะนั้นจิตตชรูปจะเกิดหลังจากที่เป็นปฏิสนธิจิตดับแล้ว แต่ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย นี่คือความละเอียดซึ่งแยกให้เห็นว่ารูปที่เกิดเป็นกัมมชรูปก็อย่างหนึ่ง เป็นจิตตชรูปก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจก็ไม่เป็นไร หมายความว่าเราฟังธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรม และมีโอกาสฟังอีกก็พิจารณาเข้าใจอีก ไม่ใช่คิดว่าจะยากเกินไป แต่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “สหชาตปัจจัย" และเจตนาเป็นกรรม เราสามารถจะเรียกปัจจัยนี้ได้ว่า “สหชาตกัมมปัจจัย” ก็คือแปลเป็นภาษาไทยหรือพูดอย่างภาษาไทย ก็หมายถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตนาที่เกิดกับสหชาตธรรมได้แก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันจึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นผลของปัจจัยนี้ก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดเพราะเจตนาเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชื่ออาจจะยาก และเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าเข้าใจความหมายแล้วก็ไม่เป็นไร ชื่อเรานึกถึงทีหลังก็ได้ และเราก็กล่าวเองก็ได้ ถ้าจะกล่าวถึงกัมมปัจจัยซึ่งเป็นสหชาตก็เรียกว่า “สหชาตกัมมปัจจัย” นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับปฏิสนธิจิตที่จะต้องมีเจตนาเจตสิก และเวลาที่กล่าวถึงกัมมปัจจัยสำหรับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว ไม่ได้หมายความถึงตัวเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต แต่ปฏิสนธิจิตนี่ต่างหากที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำกรรมสำเร็จแล้วในอดีตให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอย่างสหชาตกัมมปัจจัย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ