พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
ตอนที่ ๑๐๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำกรรมสำเร็จแล้วในอดีตให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอย่างสหชาตกัมมปัจจัย ฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำไปแล้วให้ผลต่างขณะจึงมีชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” หมายถึงว่าเหตุได้สำเร็จลงไปแล้วในอดีตทำให้ผลเกิดขึ้นภายหลัง ก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย นี่กล่าวถึงปฏิสนธิจิต แต่ก็เช่นเดียวกับจิตอื่นที่เป็นวิบาก เช่น จิตเห็นมีสหชาตกัมมะไหม มี แล้วก็เป็นวิบากหรือไม่?เป็น เพราะฉะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ตัวเจตนาขณะที่เกิดร่วมด้วยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ตัวเจตนาในอดีตที่ได้กระทำแล้วเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้ามีข้อสงสัยก็ซักถามได้เพราะว่าทั้งหมดคือการสนทนาธรรมเพื่อจะให้มีความเข้าใจเป็นของเราเองแต่ละคน ซึ่งไม่ต้องไปท่อง และก็ไม่ลืม ถ้าสงสัยตอนไหนก็เชิญซักถามได้
เวลาที่ได้ยินชื่อว่ากรรม เราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นเจตสิก และเจตสิก มี ๕๒ เจตสิกอะไรที่เป็นกรรม ก็ต้องได้แก่ เจตนาเจตสิก เจตสิกอะไรที่เป็นกรรมใน ๕๒ ประเภทนั้น ก็ได้แก่เจตนาเจตสิกประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นกรรม และเมื่อเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นจึงเป็นกัมมปัจจัย เพราะคำว่า “ปัจจัย” หมายความถึง สภาพที่อุปการะ เกื้อกูล สนับสนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิด หรือดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้จะต้องมีปัจจยุบบัน เพราะว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ปัจจยุบบันเกิด หรือเวลาที่สิ่งนี้เกิดเป็นปัจจยุบบันของปัจจัยอะไร ต้องคู่กันเสมอ จะมีปัจจัยโดยไม่มีปัจจยุบบันไม่ได้ และจะมีปัจจยุบบันโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย แม้แต่จิต ๑ ขณะก็ยังมีทั้งปัจจัย และปัจจยุบบัน
ผู้ฟัง ปัจจยุบบันก็คือผลที่เกิดจากปัจจัยนั้น
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงเจตนาเจตสิกในปฏิสนธิจิตที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต เจตนาเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นในขณะที่เจตนาเจตสิกเกิดกับปฏิสนธิจิต ปฎิสนธิจิตต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต ยกขึ้นมาเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบันในจิตขณะนั้นที่เกิด ดวงเดียวนั้นเอง จิตขณะนั้นเป็นปัจจยุบบัน และเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นปัจจยุบบันด้วย โดยเจตนาเจตสิกตัวเดียวที่เรายกขึ้นมาเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นขณะปฏิสนธิจิตเกิด เจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพิ่มคำว่า “สห”
ผู้ฟัง มีหลายชื่อ
ท่านอาจารย์ เพิ่มคำว่า “สห” ภาษาไทยคือเกิดพร้อมกัน จะพูดภาษาไทยก็ได้ และเกิดพร้อมกัน แต่ถ้าเป็นบาลีก็สหชาตกัมมปัจจัยแก่ปฏิสนธิ และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ปฏิสนธิจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจยุบบันของเจตนาเจตสิก เราค่อยๆ เข้าใจไปไม่ต้องท่องเลย ถ้าเข้าใจแต่ละปัจจัย ต่อไปเราก็จะเข้าใจปัจจัยที่เรากล่าวถึงด้วย เป็นอย่างไรบ้างแค่ปัจจัยเดียวแต่ ๒ อย่างคือ สหชาตกัมมปัจจัยกับนานักขณิกกัมมปัจจัย ถ้าเป็นชื่อภาษาไทยไม่ยากใช่ไหม กรรมที่ให้ผลต่างขณะกับกรรมที่ให้ผลทันทีที่เกิดพร้อมกัน ทันทีที่เกิดพร้อมกันก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัยเกิดกับจิตทุกขณะไม่เลือกเลย ถ้าเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยก็หมายถึงกุศลกรรม และ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ยังไม่ได้ให้ผลทันที ไม่มีกรรมใดที่จะให้ผลในขณะที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น ที่เป็นนานักขณิกกัมมะ ต้องให้ผลต่างขณะ
อ.ธิดารัตน์ ในชีวิตประจำวันก็จะมีกัมมปัจจัยอยู่ด้วยกันแค่ ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัยหนึ่ง และขณะที่จิตชาติวิบากเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้วก็คือผลของนานักขณิกกัมมปัจจัย
ผู้ฟัง ขอให้ยกตัวอย่างนานักขณิกกัมมปัจจัยขณะปัจจุบัน
อ.ธิดารัตน์ เช่น ปฏิสนธิจิตขณะแรก เป็นผลของนานักขณิกกัมมปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผล ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นปัจจยุบบันก็คือเป็นผลของเจตนากรรมในอดีต ซึ่งเราเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะเป็นผลของกุศลกรรมให้ผล เพราะฉะนั้นขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของนานักขณิกกัมมปัจจัย และในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดก็จะต้องมีเจตนาเกิดด้วย เพราะฉะนั้นก็มีสหชาตกัมมปัจจัยด้วย
ผู้ฟัง ก็มี ๒ ปัจจัย
อ.ธิดารัตน์ คือ เป็นผลของนานักขณิกกัมมปัจจัยหนึ่ง แล้วก็มีเจตนาซึ่งเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตกัมมปัจจัย
ผู้ฟัง ในขณะเดียวกันนั้นมี ๒ ปัจจัย
อ.ธิดารัตน์ เป็นผลของปัจจัยหนึ่งแล้วก็เป็นผลของปัจจัยที่ ๒ ก็ได้ เป็นผลของเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ปฏิสนธิจิตนั้นก็เรียกว่าอาศัย ๒ ปัจจัยโดยกัมมปัจจัย ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ วิบากคือผลของกรรมที่เกิดในชาตินี้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้ประสพกับอะไรก็ตาม ลาภ ยศ สรรเสริญทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ผลของกรรมในชาตินี้มาจากไหนหรือมีอะไรเป็นปัจจัยจะตอบว่าอย่างไร วิบากทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชาตินี้ทั้งหมดเป็นปัจจยุบบันคือเป็นผลของอะไร
ผู้ฟัง ผลของกรรม
ท่านอาจารย์ ผลของกรรมประเภทไหน นานักขณิกกัมมปัจจัย แม้เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากนั้นก็เป็นผลของกรรมเดียวกัน
ผู้ฟัง เจตนาในกุศลหรืออกุศลเป็นทั้งสหชาต และเป็นทั้งนานักขณิกกัมมปัจจัย
ท่านอาจารย์ เมื่อพูดถึงไม่ว่าจะเป็นสหชาตกัมมปัจจัยหรือนานักขณิกกัมมปัจจัย ต้องเมื่อปัจจยุบบันเกิด เพราะฉะนั้นเวลาที่ถามถึงกุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมกับกุศลจิตนั้น ขณะนั้นต้องเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นกุศล และเจตสิกทั้งหลายที่เกิดกับกุศลจิตนั้นเกิดขึ้น ต่อเมื่อใดที่ผลเกิดขึ้นคือวิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมนั้นก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยเพราะว่ามีปัจจยุบบัน จะมีปัจจัยโดยไม่มีปัจจยุบบันไม่ได้ และก็จะมีปัจจยุบบันโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้ เมื่อพูดถึงเหตุก็ต้องพูดถึงว่าทำให้เกิดผลอะไร เมื่อผลเกิดขึ้นก็มาจากเหตุอะไร ฉะนั้นปัจจัยกับปัจจยุบบันจึงต้องคู่กัน เมื่อพูดถึงปัจจยุบบันต้องถามว่า อะไรเป็นปัจจัย
ผู้ฟัง นานักขณิกกัมมปัจจัยกับวิปากปัจจัยเหมือนกันไหม
ท่านอาจารย์ วิปากปัจจัยเป็นผล ส่วนกัมมปัจจัยเป็นเหตุ เวลาที่วิบากจิตเกิดเพราะวิบากเป็นปัจจัยหรือเพราะกัมมะเป็นปัจจัย ถ้าพูดถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต้องหมายความถึงวิบากทั้งหลายเกิดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำไว้ และกรรมนั้นเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยทำให้วิบากเกิด วิบากเป็นผลของกรรม เวลาที่วิบากเกิดเฉพาะวิปากจิตทั้งหลาย ตัวจิตเป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิดโดยเป็นวิปากปัจจัย ตัวจิตเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิปากปัจจัย และเจตสิกที่เกิดร่วมกันกับจิตนั้นก็เป็นวิบากด้วย และก็ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นวิบากก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากจิตซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ทั้งวิบากจิต และเจตสิกเกิดเพราะนานักขณิกกัมมะที่ได้กระทำแล้ว และเจตนาเจตสิกที่เป็นวิบาก รวมทั้งวิบากทั้งหมดที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกันก็เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว ที่เป็นนานักขณิกกัมมะเพราะเหตุว่าให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ให้ผลพร้อมกันทันทีที่เกิดอย่างสหชาตกัมมปัจจัย นานักขณิกกัมมปัจจัยหมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะหรือต่างวาระจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ผลซึ่งเป็นปัจจยุบบันจะเกิดพร้อมกับปัจจัยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสหชาตกัมมปัจจัยได้ เพราะเหตุว่าเจตนาเกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเจตนาเกิดกับจิตไหน จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นผลของเจตนาที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัยเพราะเกิดพร้อมกัน เวลากล่าวถึงปัจจัยต้องมีปัจจยุบบัน เวลาที่กล่าวถึงปัจจยุบบันก็ต้องรู้ว่ามาจากปัจจัยอะไร เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงปัจจยุบบันก็ต้องกล่าวว่าขณะไหนอย่างไร
เพราะฉะนั้นสำหรับสหชาตกัมมปัจจัยที่เกิดกับวิบากจิต เจตนาเป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่อะไร ต้องมีปัจจยุบบันด้วย ถ้ากล่าวถึงปัจจัยแล้วไม่มีปัจจยุบบันไม่ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงปัจจัยแล้วต้องอะไรเป็นปัจจยุบบัน ฉะนั้นแมื่อกล่าวถึงวิบากจิตมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอนใช่ไหม โดยปัจจัยอะไร สหชาตกัมมปัจจัยแก่อะไร แก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นปัจจยุบบันของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะทั้งหมดเกิดพร้อมกันทั้งเจตนาด้วยซึ่งเป็นปัจจัย และจิต และเจตสิกอื่นซึ่งเป็นปัจจยุบบันก็เกิดพร้อมกันจึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ถ้าขณะนั้นเป็นวิบากจิตที่เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำหรับกรรมที่ได้กระทำแล้วที่ดับไปแล้วเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยแก่อะไร แก่วิบากซึ่งเกิด แต่ถ้าวิบากยังไม่เกิดจะกล่าวว่าเป็นนานักขณิกกัมมะยังไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยต้องมีปัจจยุบบัน เมื่อวิบากจิตเกิด มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม เกิดร่วมด้วย เป็นปัจจัยอะไร สหชาตกัมมปัจจัยแน่นอน กิริยาจิตเกิดขึ้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตนาเจตสิกเป็นกรรม เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกิริยาจิตเป็นปัจจัยโดยเป็นกัมมปัจจัยประเภทไหน สหชาตกัมมปัจจัย
อ.อรรณพ อรรถประการหนึ่งของจิตก็คือ กรรม กิเลสสะสมวิบาก เพราะในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นหรืออกุศลจิตเกิดขึ้น เจตนานั้นถ้าสำเร็จเป็นกรรมบถ แม้ว่าปัจจยุบบันของนานักขณิกกัมมปัจจัยยังไม่เกิดขึ้น แต่ขณะนั้นกรรมที่ได้ทำสำเร็จแล้วสะสมแล้ว ไม่ใช่สะสมที่อื่น สะสมไว้ในจิต เมื่อสุกงอมคือเมื่อได้ปัจจัย และพร้อมที่จะเป็นปัจจัย เมื่อสุกงอมกรรมที่ทำสำเร็จแล้วในอดีต ซึ่งสะสมในจิตก็จะเป็นปัจจัยให้ปัจจยุบบันคือวิบากจิตเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงปัจจัยก็คือชีวิตประจำวัน และก็เวลาที่กล่าวถึงปรมัตถธรรมก็กล่าวโดยนัยของปัจจัย หรือแม้แต่ปัญญัติก็เป็นปัจจัยได้ คือเป็นอารัมมณปัจจัย ก็ต้องรู้ด้วยบัญญัติเป็นสหชาตปัจจัยได้ไหม จิตกำลังรู้บัญญัติ เพราะฉะนั้นบัญญัติเป็นสหชาตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) เพราะไม่ใช่ปรมัตถ์ บัญญัติไม่ได้เกิดเหมือนเจตสิกซึ่งเป็นปัจจัยเกิดพร้อมจิต และก็ดับพร้อมจิต แต่บัญญัติไม่ได้เกิดเพราะไม่ใช่สภาพธรรม แต่บัญญัติเป็นปัจจัยให้จิตเกิดโดยเป็นอารัมมณปัจจัย แต่ว่าเป็นสหชาตปัจจัยไม่ได้ บัญญัติเป็นกัมมปัจจัยก็ไม่ได้ จิตเป็นกัมมปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) เพราะกัมมปัจจัยได้แก่ เจตนาเจตสิกเท่านั้น
นี่คือการที่เราจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เข้าใจจริงๆ และก็รู้จริงๆ แม้ว่าเราจะจำชื่อไม่ได้ก็ตาม แต่ก็มีเหตุผลว่าเราเข้าใจว่าบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นปัจจัยได้โดยเป็นอารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัยได้ แต่เป็นสหชาตปัจจัยไม่ได้ และจิตก็ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่เจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตจะเป็นกัมมปัจจัยไม่ได้แต่เป็นสหชาตปัจจัยได้
ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับหรือไม่ รูปที่โต๊ะกับรูปที่เก้าอี้ เก้าอี้ ๒ ตัวเกิดพร้อมกันมีอายุ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ เวลาที่รูปที่โต๊ะเกิดกับรูปที่เก้าอี้แต่ละตัวเกิดเป็นสหชาตปัจจัยหรือไม่ เกิดพร้อมกัน เป็นสหชาตปัจจัยหรือไม่ (ไม่เป็น) เพราะเหตุว่าเกิดเพราะสมุฏฐาน ไม่ใช่ปัจจัยของรูปนี้ไปเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดได้ ถ้าพูดถึงปัจจัยกับปัจจยุบบันต้องหมายความว่าถ้าใช้คำว่าสหชาตปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบันหรือสหชาตปัจจยุบบันของสหชาตปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อรูปนั้นเกิดไม่เกี่ยวข้องกับรูปนี้เลย จะบอกว่ารูปนี้เกิดไปเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดพร้อมกันไม่ได้ ต่างคนก็ต่างเกิดตามสมุฏฐานแม้ว่าจะเกิดพร้อมกัน แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัย และปัจจยุบบัน
มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีสี กลิ่น รส โอชา เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่มหาภูตรูปเกิด รูปที่เกิดร่วมด้วยเป็นสหชาตปัจจัยคือเกิดพร้อมกัน มหาภูตรูปเป็นปัจจัยให้อุปาทายรูป ๔ เกิด แต่อุปาทายรูป ๔ ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด
ปัจจัยเป็นเรื่องละเอียดแต่ว่าเข้าใจได้ และต้องเข้าใจความละเอียดด้วยว่า แต่ละปัจจัยก็ต้องต่างกัน แม้แต่จะเกิดพร้อมกันก็จริง แต่เมื่อไม่ใช่ปัจจัย และปัจจยุบบันซึ่งกัน และกันก็ต้องไม่ใช่เป็นปัจจัยแก่กัน ต่างคนก็ต่างเกิดตามสมุฏฐานต่างๆ กัน แต่ถ้ารูปใดเกิดพร้อมกันด้วยแล้วเป็นปัจจัย นั่นจึงจะกล่าวได้ว่า รูปนี้เป็นปัจจัยแก่รูปนั้น มหาภูตรูป ๑ คือธาตุดินเกิดขึ้นเป็นปัจจัยหรือไม่ ในเมื่อต้องมีมหาภูตรูปอีก ๓ เกิดร่วมด้วยพร้อมกัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเข้าใจว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ เกิดพร้อมกัน เวลายกมหาภูตรูป ๑ ก็แสดงว่ามหาภูตรูปอื่นเป็นปัจจยุบบันของมหาภูตรูปที่เป็นปัจจัย ถ้ายกธาตุดินเป็นปัจจัย ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็เป็นปัจจยุบบันของธาตุดิน ถ้ายกธาตุไฟเป็นปัจจัย ก็เป็นสชาตปัจจัยด้วย และเป็นปัจจยุบบันของปัจจัยที่ยกขึ้นมาหนึ่ง แต่ต้องเป็นปัจจัย แต่ สี กลิ่น รส โอชา ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิดแม้เกิดพร้อมกัน แต่เฉพาะมหาภูตรูปเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยให้แก่รูปอื่นซึ่งอาศัยรูปนั้นเกิด แต่รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิดนั้นจะกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิดไม่ได้
จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย กุศลวิบาก อกุศลวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๐ ดวงนี้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปเลย ตรงนี้ทบทวน จิตอื่นยังมีอีกแต่กล่าวถึงเฉพาะจิต ๑๐ ดวงนี้ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดในขณะที่จิตอื่นเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ แต่จิต ๑๐ ดวงนี้ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้เพราะอะไร เราถึงค่อยใช้คำว่าสหชาตปัจจัย
ผู้ฟัง เพราะจิต ๑๐ ดวงนี้มีกำลังอ่อน มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแค่ ๗ ดวงจึงไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด
อ.วิชัย โดยสภาพของจิตเห็นเป็นผลของกรรม และเป็นสภาพที่มีกำลังอ่อนด้วย ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ดังนั้นสหชาตปัจจัยก็โดยจิตเองเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกแน่นอน แต่ว่าจิตบางดวงเป็นสหชาตปัจจัยแก่รูปด้วย บางดวงก็ไม่เป็นสหชาตปัจจัยแก่รูป ดังนั้นเมื่อจิตเป็นปัจจัยแก่จิตตชรูป จิตนั้นก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่รูปนั้น ซึ่งจะมีบางขณะที่แม้ไม่มีจิตตชรูป แต่จิตสามารถเกิดได้ ถามว่า ถ้าไม่มีจิต จิตตชรูปเกิดได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย มีเว้นขณะใดบ้างไหม
ผู้ฟัง ไม่เว้น
อ.วิชัย ต้องไม่เว้น เพราะเหตุว่า จิตตชรูป ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นรูปที่เกิดจากจิต ดังนั้นรูปนั้นจะเกิดได้ต้องมีจิตนั้นเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ เท่าที่ให้ทราบก็คือได้ยินชื่อแล้วก็ต้องทราบว่าได้แก่สภาพธรรมอะไร และความหมายของปัจจัยนั้นคืออะไร และก็อาจจะไปคิดเองก็ได้ อย่างสหชาตปัจจัยต้องมีปัจจยุบบันไหม ที่เราใช้คำว่าปัจจัย ต้องมี เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้ก็คือเป็นสหชาตปัจจัยต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุบบัน ปัจจัยกับปัจจยุบบันเกิดพร้อมกันจึงเป็นสหชาตะ แล้วก็ชีวิตประจำวันเราก็มีสภาพธรรมทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูป ถ้าเราได้ฟังธรรมเรื่องอะไร เราก็อาจจะไตร่ตรองพิจารณาหรือเกิดคิดของเราเองขึ้นก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะคิดหรือไม่อยากจะคิดหรือว่าเรื่องนี้ยากไปอย่าเพิ่งคิดเลยดีกว่า แต่จริงๆ แล้วคิดได้ แล้วก็อาจจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เช่น เสียงเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ยินเสียงบ่อยๆ เสียงมีปัจจัยเกิดหรือไม่ ต้องมี สิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นต้องมีปัจจัย แล้วเวลาที่เสียงเกิดเฉพาะเสียงที่ปรากฏมีอะไรเป็นปัจจัย ไม่ได้กล่าวถึงว่ามีสมุฏฐานอะไร จากกรรม จากจิต จากอะไรพวกนี้ไม่พูดถึงเลย เพราะจริงๆ แล้วเสียงเกิดจากกรรมก็ไม่ได้ แต่ยังไม่พูดถึงสมุฏฐาน เพียงแต่จะกล่าวให้คิดว่าแล้วเสียงที่กำลังได้ยินขณะนี้เกิดแล้วต้องมีปัจจัย อะไรเป็นปัจจัยให้เสียงนี้เกิดขึ้น เสียงเกิดแล้วปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ และเสียงนี้ เฉพาะเสียงมีอะไรเป็นปัจจัย มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัย เห็นไหมเราเพิ่งกล่าวถึงเมื่อครู่นี้เอง แล้วก็โดยสหชาตปัจจัยด้วย คือแยกออกจากมหาภูตรูปไม่ได้เลย มหาภูตรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทายรูป รูปทั้งหมดมี ๒๘ มหาภูตรูปมี ๔ เพราะฉะนั้นอีก ๒๔ รูปอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ๔ แต่อุปาทยรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด เราก็ต้องรู้ว่าเวลากล่าวถึงปัจจัยก็ต้องละเอียดว่าเสียงก็ดี กลิ่นก็ดีเกิดขึ้นโดยอาศัยมหาภูตรูปเป็นสหชาตปัจจัย แยกกันเกิดไม่ได้ต้องเกิดพร้อมกับที่มหาภูตรูปเกิด แต่อุปาทายรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด แต่สำหรับมหาภูตรูปมี ๔ แต่ละหนึ่งก็อาศัยเป็นสหชาตปัจจัย และปัจจยุบบันเพราะว่าปราศจากกันไม่ได้ นี่ก็คือนิดๆ หน่อยๆ ในชีวิตประจำวัน จะคิด จะจำ จะกลับไปบ้านคิดอีก ตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ เสียงมีอะไรเป็นปัจจัย กลิ่นมีอะไรเป็นปัจจัยก็ย่อมได้
ผู้ฟัง เมื่อเสียงเกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นเรานึกถึงว่าเป็นมหาภูตรูปอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ เสียงไม่ใช่มหาภูตรูป แต่รูปทั้งหมดต้องมีมหาภูตรูปเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีมหาภูตรูป รูปอื่นๆ จะเกิดไม่ได้เลย จะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ว่ารูปหนึ่งรูปใดก็ตามต้องมีมหาภูตรูป แต่ก็มีสมุฏฐานที่เป็นปัจจัยด้วย เช่น กรรมเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัย หรือจิตเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัย แต่เราจะไม่กล่าวถึงสมุฏฐาน เราจะกล่าวถึงเฉพาะตัวเสียงที่ปรากฏ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120