พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
ตอนที่ ๖๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
ผู้ฟัง ปสาทรูปทางการศึกษามี ๕ มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น แต่ทีนี้ทางตามีสองข้าง ปัญหาที่จะถามคือว่าจักขุปสาทรูปมีทั้งสองข้างหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าปสาทรูปคืออะไร เราจะไม่คำนึงถึงเลยว่าอยู่ที่ไหน เช่น ฆานปสาทรูปของมนุษย์จะอยู่ตรงนี้ ของช้าง ของอะไรจะอยู่ตรงไหน ก็ไม่ต้องไปคิดถึงเพียงแต่รู้ว่ารูปนี้มีจริง เพราะว่าเป็นรูปที่สามารถกระทบกับรูปที่กระทบกับปสาทนั้นได้ ถ้ากลับไปหาความไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าอยู่ข้างไหนอีก
ผู้ฟัง ที่อาจารย์แนะก็คือว่าให้เข้าใจว่ามีแต่บ่งชัดไม่ได้ว่าอยู่ข้างไหน ตามีสองข้าง
ท่านอาจารย์ ตาบอดข้างเดียวได้ไหม ยังเห็นหรือไม่
ผู้ฟัง ตาบอดข้างเดียว เห็นครับ
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะยังมีปสาทรูป
ท่านอาจารย์ ดังนั้นไม่ต้องไปคำนึงถึงข้างไหนได้ไหม เมื่อไหร่ที่สามารถจะกระทบกับวัณณะรูปหรือรูปธาตุ เมื่อนั้นต้องมีจักขุปสาทที่สามารถกระทบได้ จิตเห็นจึงเกิดขึ้นได้
ผู้ฟัง ทางกายก็เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าปสาทซึมซาบไปทั่ว
ท่านอาจารย์ แข็งก็มีตลอด แต่กายปสาทรูป ไม่ใช่รูปแข็ง
ผู้ฟัง ทางกายนี้ก็ยิ่งมีปสาทรูปมาก
ท่านอาจารย์ กระทบแข็งตรงไหนก็รู้แข็งตรงนั้น รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง
ผู้ฟัง เป็นปสาทรูปทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ แน่นอน ตรงไหนที่แข็งปรากฏแสดงว่ากระทบกับกายปสาทรูป แข็งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะว่ากายปสาทรูปสามารถกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ใช่กายปสาทรูป
ผู้ฟัง ขอให้อธิบายธรรมชาติของรสที่ถูกเรียกว่า “เค็ม” และชื่อของเค็มที่บัญญัติในธรรมชาติเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน
ท่านอาจารย์ ถ้ามีเกลือให้อม ตอบได้เลยใช่ไหม
ผู้ฟัง บางครั้งเคยป้อนอาหารให้เด็กตัวเล็กๆ แล้วถามว่าเค็มไหม เด็กก็ยังบอกได้ว่าเค็ม ก็แสดงว่าเขารู้ธรรมชาติของเค็ม
ท่านอาจารย์ เอาเกลือให้หรือน้ำตาลให้ที่ตอบว่าเค็ม ลักษณะของรสต้องมี เปลี่ยนลักษณะของรสไม่ได้ อาจจะเรียกชื่อไม่ถูก แต่เปลี่ยนลักษณะของรสไม่ได้เลย ทานน้ำตาล แล้วให้ทานเกลือ เหมือนกันหรือไม่
ผู้ฟัง ก็บางครั้งรู้ตรงนั้นแล้ว แต่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหาคำอธิบาย รสนั้นๆ ใครจะรู้ อธิบายเท่าไหร่ คนอื่นที่ไม่รู้ ไม่ได้ร่วมรับประทานด้วยก็รู้ไม่ได้ว่าเค็มแค่ไหน บางคนถามว่าเปรี้ยวไหม คนอื่นจะตอบได้ไหมเพราะว่ามีหวานอยู่ด้วย หรือบางครั้งก็เปรี้ยวมาก แล้วจะตอบว่าอย่างไร เปรี้ยวอมหวาน เปรี้ยวมากกว่ากัน หรือว่าหวานมากกว่ากัน ก็ต้องตอบเอง ลิ้มไปเลยแล้วถึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร
ทั้งๆ ที่ขณะนี้ที่กล่าวถึงทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้
จะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีการได้ฟังเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เราจะไม่รู้เลยว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สิ่งที่ได้กล่าวถึงกำลังมีอยู่ เพราะว่าบางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ขณะนี้ ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องธรรม ก็คิดว่าเป็นขณะอื่น แต่ความจริงทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นธรรมซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เช่นในขณะที่เราเกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เรารู้อะไรบ้างที่เป็นเหตุกับเป็นผล ขณะที่เกิดไม่รู้เลยใช่ไหม ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นจิตประเภทที่มีเหตุ หรือประเภทที่ไม่มีเหตุก็ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟังธรรมจึงจะทราบได้ว่าจิตจำแนกโดยนัยต่างๆ เช่น จำแนกโดยนัยที่ประกอบด้วยเหตุ ไม่ใช่เป็นเหตุ จิตเป็นเหตุไม่ได้ แต่ว่าจิตในขณะนี้ประกอบด้วยเหตุหรือว่าไม่ประกอบด้วยเหตุ ขณะนี้รู้ไหม ถ้าไม่ฟังเลยจะไม่ทราบ แต่ถ้าฟังจะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหตุ และเป็นผล เช่นที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผลของกรรม แต่ว่าเท่านั้นไม่พอเลย ทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากกรรม วิบาก กิเลส หรือจะกล่าวว่ากิเลส กรรม วิบาก ก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะกล่าวถึงขณะไหนก่อน เช่นขณะที่เกิดมาไม่ได้กระทำกรรมเลยทั้งสิ้น แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็ไม่มีใครรู้เลย แม้ในขณะนี้ว่าปฏิสนธิจิต จิตที่ทำกิจเกิดขึ้นขณะแรกของแต่ละคนเป็นผลของกรรมอะไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าเราจะศึกษาธรรม แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างซี่งไม่ใช่ฐานะของปัญญาของเราที่สามารถรู้ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ในเหตุ และในผล เช่นทุกคนที่เกิดมานั่งอยู่ที่นี่ต่างกันโดยกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นเหตุให้ผลของกรรมที่ทำให้เกิดขึ้นก็ต้องต่างกันด้วย แต่แม้จะต่างกันอย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แม้กระนั้นก็ยังไม่ทราบว่ามาจากกรรมไหนในชาติไหน นี่เป็นส่วนที่ไม่ทราบ แต่รู้ได้ว่าขณะที่เกิดเป็นผลของกรรมหนึ่ง ซึ่งก็ต้องจำแนกว่าผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี คือประกอบด้วยปัญญาเจตสิกหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นรู้ได้ไหม ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อใด หรือว่ามีวิปัสสนาญาณเมื่อใด หรือว่าเป็นผู้ที่สนใจ เข้าใจธรรม เมื่อได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วในชาตินี้ ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ นอกจากว่าเมื่อฟังธรรมแล้วเข้าใจไหม อบรมเจริญปัญญาไปแล้วมีปัญญาเกิดได้มากน้อยแค่ไหน เช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่จะทราบได้ว่าปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา และก็มีกุศลที่ไม่เป็นไปกับปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับผลของกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญามาก มีทรัพย์สินเงินทอง มีเกียรติยศ มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของความไม่รู้ตั้งแต่เกิด แม้แต่ขณะที่เกิดก็ไม่รู้ว่าเกิดเป็นผลของกรรมอะไร แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งก็ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา และถ้าเป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน เราก็จะเห็นว่าแม้ว่าเกิดเป็นมนุษย์แต่ก็พิการตั้งแต่กำเนิดบ้างเป็นบ้า ใบ้ บอด หนวก หรือปัญญาอ่อน ประเภทนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น ในชาตินี้เรามีกุศลกรรมที่เป็นอย่างอ่อนก็มี และก็ที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี
นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล ที่ว่าจะมีผลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือเป็นประเภทที่เกิดแล้วพิการตั้งแต่กำเนิด นี่คือขณะแรก จนกระทั่งแม้ในขณะเดี๋ยวนี้เอง หลังจากที่หลับไปแล้ว ขณะหลับ ต้องไม่รู้เรื่องอะไรเลยแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะปรากฏให้รู้เลย แต่ขณะนี้จากการที่ได้ฟังเรื่องของจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยกับไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ต้องคิดถึงในขณะนี้ ในขณะที่กำลังเห็น จิตเห็น ไม่มีเหตุ ๖ คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย จิตเห็นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ภาษาบาลีใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้นผลของกรรมที่จะให้เห็นสิ่งต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ถ้าเป็นผลของกุศลก็เห็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศลก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ด้วย ๒ ขณะจิตคือจักขุวิญญาณกุศลวิบาก และจักขุวิญญาญอกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยเหตุ หากเราเข้าใจจิตในขณะนี้แล้วจะทราบว่าทั้งหมดจะมีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเท่าไหร่ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย
แต่ทว่าเกิดแล้วดับเร็วมาก หลังจากที่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดับหมดแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยกรรมทำให้จิตที่เกิดสืบต่อจากจักขุวิญญาณทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็น หรือโสตวิญญาณได้ยิน โดยฐานะที่เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ จึงทรงบัญญัติคำว่า “สัมปฏิจฉันนะ” เป็นจิตที่รับต่อด้วยดี เวลาที่จิตเห็นขณะนี้เดี๋ยวนี้เองดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยนอกจากสัมปฏิจฉันนะจิต เรารู้ได้ไหม ก็ไม่รู้ แต่จากการฟังก็จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เห็นความมหัศจรรย์ของความเป็นธาตุคือธรรมแต่ละอย่าง แม้แต่ในการที่สภาพธรรมจะเกิดดับสืบต่อเป็นไปอยู่ทุกขณะ ผู้ที่ไม่รู้ความจริงก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลยถึงความต่างของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดต่ออย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นจิตที่รับรู้สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น เห็น ได้ยิน จิตนั้นก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพียงแต่ขณะที่เห็นดับ แล้วจะมีจิตนี้เกิดขึ้นสืบต่อ ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิตก็ต้องมีสอง ถ้าชื่อว่าเป็นวิบากแล้วจะมีเพียงหนึ่งไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากจะต่างกันตามประเภทของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมเป็นปัจจัยแม้ว่าดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากหนึ่งวิบากใดทั้งหมดก็ตาม ภูมิใดก็ตาม ถ้ากุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมดับไปก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นวิบากมี ๒ อย่างตามเหตุ เมื่อเหตุเป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบากก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ นี่คือความน่ามหัศจรรย์ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นนั้นแล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไว้
หากกล่าวโดยย่อ สังสารวัฏฏ์ก็มี กิเลส กรรม วิบาก เพราะฉะนั้นที่วิบากใดๆ จะเกิดขึ้นต้องแล้วแต่กรรม และกรรมใดๆ ที่จะเป็นกุศล อกุศล ก็ต้องแล้วแต่สภาพธรรมที่ยังมีเชื้อที่จะทำให้เป็นกุศล และอกุศลอยู่ คือ กิเลส นี่ก็เป็นสิ่งที่มีในขณะนี้ ทุกคนทราบว่าจิตเห็นขณะนี้ดับ มีสัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อโดยกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนเป็นวิบากจิตที่เกิดสืบต่อจากจิตเห็นในขณะนี้ กรรมให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๑๐ ดวงแล้ว สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ ดวง รวมเป็น ๑๒ ดวง นี่เป็นผลของกรรมในขณะนี้เอง เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้ว กรรมก็ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตอีก ๑ ขณะเกิดสืบต่อทำกิจสันตีรณะ เพราะฉะนั้นจากจักขุวิญญาณก็จะเป็นสัมปฏิจฉันนะ เป็นสันตีรณะ ทั้ง ๓ ขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม คือกรรมทำให้วิบากเกิดขึ้นทำกิจต่างๆ เหล่านี้ สันตีรณะเกิดในขณะนี้หรือไม่ ต้องเกิดเพราะจักขุวิญญาณต้องดับ ไม่มีจิตใดที่เกิดแล้วไม่ดับ เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้วจิตต่อไปเป็นวิบากหรือไม่ อย่าลืมว่ากรรมไม่ได้ทำให้เพียงจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ จิต ๑๐ ดวงนี้เกิดเท่านั้น แต่กรรมยังทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อ รับรู้อารมณ์เดียว สิ่งเดียวกับที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กายรู้ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะก็เป็นวิบากด้วย นี่คือผลของกรรม ในวันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากวิบาก สำหรับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิต ๑๐ ดวงเป็นผลของกุศลกรรม ๕ เป็นผลของอกุศลกรรม ๕ รวมเป็นวิบาก ๑๐ สัมปฏิจฉันนะเป็นผลของกุศลกรรม ดังนั้นสัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบาก ๑ และเป็นผลของอกุศลกรรม สัมปฏิจฉันนะจึงเป็นอกุศลวิบาก ๑ รวมเป็น ๑๒ ดวง และต่อไปเมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่มี ๓ ดวง คือ อกุศลวิบาก ๑ และ กุศลวิบาก ๒ ก็ครบแล้ว อเหตุกวิบาก คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๕ ดวง วิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตชาติใด ภูมิใด จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท ที่เป็นอเหตุกวิบาก คือจิตที่ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยเลยมี ๑๕ ดวงเท่านั้น
ผู้ฟัง ขอให้อธิบายอาการของจิต และลักษณะของเจตสิก อาการของเจตสิก
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็นไหม นี่แหละคือ จิต ไม่มีรูปร่าง แต่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงจิต ก็ขณะนี้กำลังมีจิต แต่ไม่รู้ว่านั่นเป็นจิต คิดว่าเป็นเรา แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมีต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือนามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แม้ว่าจะมองไม่เห็นแต่เป็นลักษณะที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยเรียกว่ารูปธรรม แต่ขณะใดก็ตามที่เห็น เช่นขณะนี้กำลังเห็น เห็นคือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่อยู่ด้านหลังไม่ได้ปรากฏ เพราะจิตเห็นไม่ได้เกิดขึ้น แต่ขณะใดก็ตามที่มีอะไรปรากฏทางตา เรียกว่าขณะใดก็ตามที่มีอะไรปรากฏทางตา ขณะนั้นเพราะจิตเห็น ไม่ใช่เราเห็น เป็นธาตุหรือนามธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหูได้ยินเสียงไหม "ได้ยิน" เสียงปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยิน เป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง คือได้ยินเสียงนั่นเอง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขุ่นใจไหม ขุ่นใจ ลักษณะที่ขุ่นใจเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในการคิดนึก แต่ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้เลย ต้องอาศัยสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ถ้าจิตเป็นนามเป็นธาตุรู้ก็ต้องอาศัยธาตุรู้อีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และก็ดับพร้อมกัน สภาพธรรมนั้นก็คือเจตสิก
ขยันไหม ขยันมีจริงหรือไม่ ขยันก็ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก วันหนึ่งๆ ทุกอย่างที่เราพูดโดยที่ไม่ใช่จิตแล้วจะเป็นเจตสิกทั้งหมด โกรธ ขุ่นใจ ไม่ชอบใจ หรือพอใจ หรือว่าริษยา หรือขยัน ทั้งหมดนี้ก็เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีใครมองเห็น แต่ว่าเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ทำไมบางครั้งขยัน บางครั้งขี้เกียจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเจตสิกเกิดกับจิตใดก็ดับพร้อมจิตนั้น และจิตขณะต่อไปเกิดก็จะต้องประกอบด้วยเจตสิกซึ่งต้องดับพร้อมกัน
ผู้ฟัง มนสิการสำคัญอย่างไรจึงเป็นปัจจัยให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยตรึกอย่างวิจิตรไม่สิ้นสุดด้วย
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเจตสิกมี ๕๒ ประเภท และก็แต่ละประเภทก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ สำหรับมนสิการเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เคยขาดมนสิการเจตสิกเลย สำหรับเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท เรียกว่า "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก" จะใช้ภาษาไทยก็ได้ เมื่อสักครู่นี้เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นชาติอะไร ภูมิอะไร แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ใชำคำว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก สาธารณะ คือ ทั่วไป สัพพจิตตสาธารณเจตสิก "สัพพจิตต" คือ จิตทั้งหมดทั่วไปต้องมีเจตสิกนี้เกิดร่วมด้วย ขณะจิตเกิดก็ต้องมีมนสิการเจตสิกทุกขณะ
เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละประเภทก็ต้องทำหน้าที่ตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่น โสภณเจตสิก ปัญญาเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิกต้องทำหน้าที่ของตน สำหรับมนสิการเจตสิกขณะใดที่เกิดไม่ว่ากับจิตอะไร เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ ตรงนี้ต้องไม่ลืม ต้องแยกลักษณะแท้ๆ ของมนสิการเจตสิก คือเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ ต่างกับเจตนาเจตสิก เจตนาเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย ขณะที่เราจงใจขวนขวายก็มีใช่ไหม
ขณะที่เราใส่ใจสนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแต่ละคนก็สนใจแต่ละอย่าง แต่ขณะใดก็ตามจะสนใจเมื่อไหร่อย่างไรก็คือ มนสิการเจตสิก หรือแม้ไม่ใช่ขณะที่กำลังสนใจใส่ใจก็เป็นมนสิการเจตสิก ที่จิตรู้อารมณ์ใดมนสิการเจตสิกนั่นเองเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์นั้น แม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อย เช่น ขณะที่จิตเห็นขณะนี้สั้นมาก เพียงแค่เห็นแล้วก็ดับไป แต่ก็ต้องมีเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มนสิการเจตสิก ถ้าจะกล่าวทั้งหมดก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ซึ่งต่างก็เป็นแต่ละประเภท ไม่ใช่ประเภทเดียวกันเลย แค่เห็นใส่ใจในอะไร ใส่ใจในอารมณ์ ในสิ่งที่กำลังปรากฏสั้นมาก แต่เมื่อเกิดบ่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของความใส่ใจซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกิดกับจิตเห็น แต่เกิดกับจิตทุกขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ไม่ว่าจะในขณะที่พอใจอยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เราไปซื้อของ เริ่มมีความอยากได้ต้องการจะซื้อ เราดูสิ่งที่เราซื้อด้วยความใส่ใจไหม ตรงนี้เป็นยังไง ตรงนั้นเป็นยังไง ถ้าเป็นเสื้อตะเข็บเป็นยังไง นี่ก็คือลักษณะของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ทำกิจร่วมกันอย่างรวดเร็ว แต่ละขณะสามารถจะให้ปรากฏรู้ลักษณะของเจตสิกนั้นได้เมื่อถึงกาละนั้น แต่ในขณะที่จักขุวิญญาณจิตเห็นกำลังเห็น เกินวิสัยที่เราจะไปรู้ลักษณะของมนสิการเจตสิกซึ่งกำลังใส่ใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เจตนาก็ขวนขวายจงใจกระตุ้นสหชาตธรรมให้กระทำกิจ เวทนาก็เป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120