พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
ตอนที่ ๑๑๑
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ผู้ฟัง กระผมควรเริ่มต้นเข้าใจอย่างไรในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเมื่อครู่นี้ที่คิดทุกคำหมดแล้ว ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ผู้ฟัง แล้วกระผมจะทำอะไรไม่ได้เลยหรือ
ท่านอาจารย์ คิดอีกแล้ว แล้วก็หมดไปแล้วด้วยที่คิดอย่างนี้ แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าแม้แต่อกุศลก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นกุศลใดๆ ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าอกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเราต้องทำ ขณะนั้นก็คือไม่เข้าใจ เพราะเหตุว่ากุศลเองก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย เช่นเดียวกับอกุศลเวลานี้ถ้าจะเกิด ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นกุศลก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีเราต้องไปทำกุศลนั้นๆ
อ.กุลวิไล ฉะนั้นต้องค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม เพราะว่าเราศึกษาพระธรรมแล้วโดยเฉพาะพื้นฐานพระอภิธรรม ปรมัตถธรรม ๔ ท่านก็แสดงอยู่แล้วว่าสภาพธรรมที่มีจริงก็ไม่พ้นจิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ก็มีจริงอยู่ในขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงได้จากการฟังพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วเราจะค่อยๆ เข้าใจถึงอรรถของสภาพธรรมที่มีจริง เพราะภาษาหรือคำที่เราใช้กันก็ไม่ตรงกับสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นต้องมั่นคงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม
ผู้ฟัง เชื่อ และเข้าใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ยังเป็นเราอยู่นั่นเอง เป็นเราตลอด
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน อกุศลเกิดเพราะอะไร
ผู้ฟัง อกุศลเกิดเพราะเป็นตัวตน เป็นเรา
ท่านอาจารย์ ตกลงเวลานี้เป็นตัวตนไปหมดทั้งกุศล และอกุศล
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน
อ.กุลวิไล ที่คุณสุกิจบอกว่า ทำในขณะนี้ไม่มีหรือ เพราะว่าจากการศึกษา เราก็พอทราบได้ว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดทุกชาติด้วย เพราะฉะนั้นเจตนาหรือการ กระทำทางกาย ทางวาจาของเราในชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ ฉะนั้นถามว่า"ทำ"ในขณะนี้ บางครั้งเราจะนึกว่าทำให้เป็นชิ้นเป็นอันเหมือนกับทางโลก แต่จริงๆ แม้แต่มีเจตนาที่จงใจที่จะกระทำทางกาย ทางวาจา ก็มีการทำ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นเรื่องความเข้าใจ เช่น จะทำให้เป็นกุศล ทำอย่างไร
อ.กุลวิไล ต้องตรงต่อสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นเหตุผลด้วย แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าอกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครอยากมีอกุศลเลย แต่อกุศลก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อถึงกุศลก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย ถ้าค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ก็จะค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ความคิดว่าเราจะทำ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา และทรงแสดงธรรมเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง แต่จะเห็นตามความเป็นจริงวันไหน มากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของการสะสม
บางคนท้อใจมาก บอกว่า ต่อไปนี้ไม่เรียนธรรมอีกแล้ว ไม่เรียน ทั้งยากทั้งอะไรสารพัดอย่าง ต่อไปนี้ไม่เรียน ใครที่ไม่เรียน แล้วใครล่ะที่ไม่รู้ ก็ไม่รู้ต่อไป ไม่เรียนต่อไป ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป แต่ถ้าเรียนแล้วค่อยๆ พิจารณา ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ค่อยๆ สะสมความเห็นที่ถูกต้องโดยไม่ต้องไปหวังอะไร ไม่ใช่ไปหวังให้กิเลสหมดหรือหวังให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่รู้ความจริง สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้ความจริงได้ถ้าไม่ฟัง ไม่อบรมด้วยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่เหตุผลก็แสดงชัดอยู่แล้ว อกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วทำไมกุศลจะไม่เกิดเพราะเหตุปัจจัย กลายเป็นเราต้องไปทำกุศลก็ผิดแล้ว เพราะฉะนั้นฟังธรรมต้องฟังด้วยดีด้วยความละเอียด ไม่ใช่ใครบอกว่าต้องทำกุศล เราก็คิดว่าต้องทำ เชื่อเลยว่าต้องทำ ถ้าเช่นนั้น ก็ทำอกุศลที่เกิดด้วยหรือ ขณะนี้เป็นแล้ว เราก็ต้องไปทำด้วยหรือ
ผู้ฟัง อกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้นเชื่อ แต่กุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่ค่อยเชื่อ เพราะว่าถ้าไม่ฟัง ไม่เคยรู้อะไรเลย ไม่ทำ กุศลบางอย่างไม่ยอมทำ
ท่านอาจารย์ เพราะฟังเป็นปัจจัยให้กุศลนั้นเกิดขึ้น นี่ก็บอกอยู่แล้ว
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังก็ไม่มีปัจจัยเป็นกุศลหรือ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่การสะสม เพราะว่าคนเราเกิดมาไม่ฟังพระธรรมเลย แต่การสะสมของแต่ละคนต่างกัน เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่แสดงให้เห็นว่าสำคัญในแต่ละภพแต่ละชาติ ทุกอย่างที่สะสมมาในจิต เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นยังไม่ได้ปรากฏเลยว่ากาละต่อไปข้างหน้าจะเป็นคนชั่ว เลวร้ายระดับไหนหรือว่าจะมีปัญญาสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรกไม่มีอะไรที่จะปรากฏให้รู้สิ่งที่ได้สะสมมา แต่ทุกอย่างที่สะสมมา ชวนะคือกุศลจิต และอกุศลจิตที่เกิดไม่ได้สูญหายเลย สะสมสืบต่อทั้งหมดในจิตแต่ละขณะ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่รู้เลยว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด ประมวลอยู่ในปฏิสนธิจิตในชาตินั้นว่าสามารถจะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทไหนเกิดได้บ้าง
ผู้ฟัง กุศลถ้าจะเกิดต้องมีเหตุปัจจัย
ท่านอาจารย์ ต้องมีเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง ยังไม่มีเหตุ ปัจจัยเลยยังไม่มาหรือไม่
ท่านอาจารย์ เราเกิดมาเรารู้ไหมว่าปฏิสนธิจิตเราสะสมอะไรมาบ้างที่จะมาได้ฟังธรรมวันนี้คิดไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้คิด
ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีปัจจัย ทำไมบางคนไม่ได้ฟังเลย ทำไมบางคนได้ฟัง
ผู้ฟัง เหมือนพระสูตรเมื่อวานนี้ ขุดรูแต่ไม่อยู่ แต่มีข้อหนึ่งที่บอกว่าไม่ขุดรูแต่อยู่ คือเขาไม่ร่ำไม่เรียนแต่เขารู้ ตรงนี้จะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าการเรียนหมายถึงอะไร และการสะสมหมายความถึงอะไร การเรียนเราอาจจะคิดว่าเราอ่านหนังสือ อ่านตำราหลายเล่ม เข้าใจพยัญชนะ เข้าใจคำ จำได้ แต่นั่นคือเรียนหรือไม่ ถ้าเรียนคือความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งคำนั้นบ่งถึง ถ้าเป็นธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ มีคำที่แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นการเรียนไม่ใช่การอ่านคำออก แต่ไม่รู้ความหมาย แต่ต้องหมายความว่าสามารถจะเข้าใจอรรถ ความหมายของคำนั้นว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมอะไร เช่น ความจงใจมี ไม่ใช่ไม่มี แต่เป็นธรรม เป็นธรรมที่ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก และก็เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้น ความหลากหลายของความจงใจก็ต้องมี เจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิตก็ต้องต่างกับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต นี่คือเราเริ่มเข้าใจความเป็นปัจจัย เพราะทั้งหมดจะนำไปสู่ความเห็นถูกว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม นี่คือสิ่งที่เราจะเข้าใจพระธรรมได้ ถ้าเรายังคิดว่าเป็นเราอยู่ก็แปลว่าตรงนั้นเราไม่ได้เข้าใจ เราก็ต้องไตร่ตรองว่าจริงๆ แล้วเป็นตัวตนหรือไม่ หรือว่าขณะนั้นก็เป็นชั่วหนึ่งขณะจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ แล้วแต่ชาติว่าเป็นชาติวิบาก กุศล หรืออกุศล หรือเป็นชาติกิริยา
ผู้ฟัง สรุปความว่าอกุศลเกิด แล้วแต่เหตุปัจจัย กุศลจะเกิดก็เพราะเหตุปัจจัย
ท่านอาจารย์ บางคนมีกุศลได้ ทานนุปนิสัย สีลุปนิสัย ภาวนุปนิสัย มีอุปนิสัย ๓ อย่าง บางคนชอบให้ทาน แต่ไม่สนใจเรื่องวาจาของตนเองหรือกายของตัวเองด้วย พูดคำซึ่งทำให้คนฟังไม่สบายใจ เสียงแข็งกระด้าง พูดเหมือนดุ เหมือนมีอำนาจ พูดเหมือนกับเป็นนายข่มขู่อยู่ตลอดเวลา แต่ให้ทานง่ายๆ เลย เวลาที่มีใครลำบากเดือดร้อนก็มีอุปนิสัยที่จะให้ ก็เห็นการสะสมของทาน แต่ไม่ได้เห็นการสะสมของศีล และก็ไม่ได้สนใจในการฟังธรรมที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้นคนนั้นก็มีทานนุปนิสัย บางคนทานอาจจะไม่มาก แต่กาย วาจาดีมาก ไม่เคยที่จะพูดคำที่ทำให้เดือดร้อนเลย แม้แต่คนที่มีหน้าที่ ที่จะทำงานให้ เขาก็ใช้คำพูดที่น่าฟัง ทำอย่างนี้ให้หน่อยได้ไหม เห็นไหมต่างกับคนที่สั่งทันที นี่ก็แสดงให้เห็นถึงแต่ละขณะที่เป็นกุศล และอกุศล ไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมอยู่ในจิตทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นคนดีๆ ในแง่ต่างๆ ดีในเรื่องทาน ในเรื่องศีล หรือในเรื่องของความเข้าใจธรรม หรือว่าแม้แต่พระอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ก็ยังต่างกันตามการสะสม แต่ละท่านก็มีการสะสมเฉพาะท่าน เฉพาะที่ได้สะสมมาแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแล้วแต่ปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีตัวตนอีกต่างหาก ถ้ามีตัวตนอีกต่างหากหรือเป็นเราที่ทำ ท่านจะใช้คำว่าเถียงกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะไม่ใช้คำนี้ก็ได้ ทะเลาะกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะว่าไม่ใช่เพียงคำเดียวแต่หลายคำ และก็บ่อยครั้งด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องซึ่งเราจะรู้ตามความเป็นจริงว่าความเห็นถูกคืออย่างไร มีมากน้อยแค่ไหน และก็จะสะสมให้มากขึ้นได้อย่างไร พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องขัดเกลา แต่ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่พระธรรม ถ้าเราศึกษาธรรมเพื่อจะเอา เพื่อจะได้ เพื่อจะรู้ เพื่อจะเก่ง เพื่อจะถึง แต่ไม่ได้เพื่อละความไม่รู้เลย ไม่ได้เพื่อละอกุศลเลย นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเห็นได้เลยว่า อะไรเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และอะไรไม่ใช่
ผู้ฟัง ในกรณีที่อาจารย์กล่าวถึงว่าเป็นคนกระด้าง ถ้าบอกว่าเป็นการสะสมคือควรสะสมสิ่งที่ได้ฟังใหม่
ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ผู้ฟัง ฟังแล้วพิจารณาเข้าใจแค่ไหน ยังคงเห็นว่าต้องเป็นอกุศลต่อไป หรือว่าค่อยๆ ฟังแล้วเห็นว่าแม้อกุศล แม้ความสำคัญตน หรือแม้การทำกุศลเพื่อตัวเองก็ไม่ควรจะมี เพราะเหตุว่าขณะนั้นก็เป็นอกุศล ขณะที่ทำเพื่อตัว
ผู้ฟัง ควรจะมีการฟัง การอบรมเพื่อสะสมเหตุใหม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ผู้ที่เรียนเรื่องปัจจัย จำเป็นไหมที่จะต้องรู้เรื่องราวของจิต และเจตสิกก่อน พิจารณา และก็เข้าใจก่อนว่ามีจิต และเจตสิกจริง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ถึงจะรู้เรื่องปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง เพราะทุกอย่างต้องตามลำดับ ถ้าไม่รู้เรื่องจิต จะรู้ไหมว่าจิตเป็นปัจจัยอะไรบ้าง เป็นสหชาตปัจจัย เป็นสัมปยุตตปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ถ้าไม่เรียนรู้ ไม่เข้าใจเรื่องจิตก็จะเข้าใจเรื่องปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ตามลำดับ จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ข้อนี้เป็นลำดับ เพราะฉะนั้นเราเรียนปัจจัยยังไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเรายังไม่รู้จักจิต แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัย เป็นสหชาตปัจจัย เป็นอนันตรปัจจัย เป็นสมนันตรปัจจัย
ผู้ฟัง ก็คือว่าเราต้องเรียนจิตกับเจตสิกก่อน
ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ขณะนี้เราเรียนเรื่องจิตกับเจตสิก แต่ว่าเราก็ยังไม่เข้าใจเรื่องจิต และเจตสิกมากนัก จนกระทั่งได้รู้ว่านี่คือจิต เจตสิก ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แล้วเราก็ฟังเรื่องปัจจัย คงไม่ผิด
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเรียนเรื่องจิตก็หมายความว่าเรารู้ว่าจิตมีขณะนี้ด้วย แล้วก็จิตไม่ใช่รูปธรรมเพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ นี่เราเรียนมาแล้ว ฟังมาแล้วมากทีเดียว ทั้งทางวิทยุด้วย ที่นี่ด้วย ฉะนั้นถ้าเราจะกล่าวว่าจิตเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีปัจจัย เจตสิกหรือสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีปัจจัย เราพูดคำนี้ไว้แล้วคือปัจจัย เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะรู้ว่าจิตเป็นปัจจัยอะไร เจตสิกเป็นปัจจัยอะไร เพราะเราใช้คำว่าจิต เจตสิก และรูป สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัย พูดลอยๆ ไว้ก็ไม่สมควร เพราะฉะนั้นเมื่อสามารถเข้าใจความเป็นปัจจัยของจิต และเจตสิกได้ในเบื้องต้นพอสมควร ไม่ใช่โดยตลอดเลย ที่กล่าวเป็นแต่เพียงสังเขปนิดหน่อยพอที่จะให้เข้าใจว่าเป็นปัจจัยอะไรบ้างสำหรับจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผมเข้าใจแล้ว บางครั้งก็กลัวอย่าเพิ่งเรียนเรื่องปัจจัยเลยเพราะเป็นเรื่องยาก และต้องตามลำดับขั้นตอน เพราะฉะนั้นวันนี้ที่ได้ฟังก็ค่อนข้างที่จะสบายใจขึ้นว่าไม่เป็นไร ไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็ทำความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ เช่น เราบอกว่าจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน นี่เรารู้ใช่ไหม เรียนแล้ว เราก็เพิ่มชื่อเข้าไปเท่านั้นเองว่าเพราะเป็นสัมปยุตตปัจจัย ไม่ต้องไปรอแล้วจะไม่เรียนเรื่องปัจจัย ก็รู้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าชื่ออะไรในภาษาบาลี สหชาตปัจจัยต้องเกิดพร้อมกันด้วย ก็ให้รู้ความเป็นปัจจัยนี้เลยตั้งแต่ต้นว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดพร้อมกัน สภาพธรรมหนึ่งเป็นปัจจัย และสภาพธรรมอื่นที่เกิดก็เป็นปัจจยุบบัน แต่ต้องเกิดพร้อมกัน เข้าใจในความเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะว่าแม้จิตหนึ่งขณะก็มีปัจจัยหลายอย่าง แล้วใครก็ทำไม่ได้ด้วย บันดาลไม่ได้ นอกจากปัจจัยนั้นๆ นั่นเอง
อ.ธิดารัตน์ เหตุปัจจัยก็คือสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ สำหรับปฏิสนธิจิตก็จำแนกเป็นทั้งที่มีเหตุปัจจัย และไม่มีเหตุปัจจัย เช่น ถ้าเป็นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วย.. เราจะใช้คำว่า “เหตุ” มีเหตุเกิดร่วมด้วยอำนาจของเหตุปัจจัยด้วย ผู้ที่พิการเป็นมนุษย์พิการ ปฏิสนธิจิตเขาจะเป็นอเหตุกะ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน ปฏิสนธิของเขาก็จะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจ และมีปัญญารู้เรื่องเหตุปัจจัย ต้องเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลายใช่ไหม
ท่านอาจารย์ “ชื่อ” หรือคำว่า “ปัจจัย” เข้าใจ แต่สภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจัยขณะนี้สามารถจะรู้ได้ไหม ถ้าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าความเป็นปัจจัยทั้งหลายไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าไม่สามารถจะรู้ได้ก็จะละคลายความเป็นตัวตนไม่ได้เลย เพราะว่าเพียงแต่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้นไม่พอ เพราะฉะนั้นการที่รู้ลักษณะความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมนั้นโดยไม่ใช่ชื่อ ข้อสำคัญคือ เราต้องเข้าใจ ว่าการเข้าใจธรรม เข้าใจโดยขั้นฟัง เข้าใจโดยเรื่องราวนึกได้ คิดได้ ตอบได้เป็นเรื่องชื่อ แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่จะเข้าใจขณะนั้นเมื่อมีการที่รู้ลักษณะนั้นแล้วก็สามารถที่จะชินต่อลักษณะที่เป็นอย่างนั้นโดยไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่ต้องเอ่ยคำว่านามธรรม รูปธรรมฉันใด การที่เข้าใจว่าสภาพนั้นเกิดเพราะปัจจัยก็ไม่ต้องเอ่ยว่าเป็นปัจจัยอะไร เป็นเพราะปัจจัยอะไร แต่ก็สามารถที่จะรู้ได้ อย่างที่เราใช้คำว่า"รูปเสียง" เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ถ้าขณะนั้นไม่มีจิตได้ยิน เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่าจิตนี้เกิด และขณะนั้นกำลังรู้อะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ไปเอาเป็นคำออกมาที่จะกล่าวว่าเสียงเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตได้ยิน แต่สภาพที่ได้ยินเกิดขึ้น รู้ในความเป็นธาตุที่ได้ยินก็จะรู้ว่าขณะนั้นจิตชนิดนี้ไม่ใช่จิตชนิดอื่น มีอะไรเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ โดยที่ไม่ต้องใช้คำใดๆ เลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่านี่เป็นความต่างกันของระดับของความเข้าใจขั้นฟัง ขั้นคิด
เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาก็เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เกิด ค่อยๆ อบรมจนกระทั่งคมกล้าขึ้น แต่ต้องเป็นความละเอียดด้วย ขอถามว่า วิปากปัจจัยได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร หรือว่าปรมัตถธรรมอะไรเป็นวิปากปัจจัย เราบอกว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม แล้วก็ขณะที่จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเราก็ได้ยินคำว่า “วิบาก” เพราะฉะนั้นลองคิดเองสักนิดหนึ่งว่า วิปากปัจจัยอะไรเป็นวิบาก หรือว่าเป็นวิปากปัจจัย ถ้าเอ่ยคำว่าปัจจัยต้องมี มิฉะนั้นแล้วปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้ ปัจจัยหนึ่งก็คือวิปากปัจจัยเพราะปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากด้วย แล้วก็เป็นผลของกรรม ต้องมีกัมมปัจจัย แล้วก็วิบากก็เป็นปัจจยุบบัน เพราะฉะนั้นสำหรับปรมัตถธรรม อะไรเป็นวิปากปัจจัย วิบากเรากล่าวแล้วว่าเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นกรรมเป็นปัจจัย วิบากเป็นปัจจยุบบัน กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้นกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากคือปัจจยุบบัน กรรมเป็นกัมมปัจจัยทำให้เกิดจิต เจตสิก ซึ่งเป็นวิบาก โดยมากฟังไม่ลำบาก แต่ตอบนี่ต้องคิด แล้วก็จะรู้ได้ว่าเราเข้าใจแค่ไหนจากสิ่งที่เราได้ฟังแล้ว เพราะจริงๆ แล้วก็จะมีการหลงลืมได้เพราะอวิชชามีมาก กำลังเข้าใจอยู่นิดเดียว พออกุศลจิตเกิด ก็ไม่รู้อีกแล้ว เพราะว่าอกุศลไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นคำถามว่าปรมัตถธรรมอะไรเป็นวิบากหรือว่าเป็นวิปากปัจจัย
ผู้ฟัง จิตเป็นวิบาก และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นวิบากซึ่งเกิดร่วมกันต้องอาศัยกัน และกันใช่ไหม ต่างก็เป็นวิปากปัจจัย จิตที่เป็นวิบากนั่นเอง เป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เป็นวิบากเกิดด้วย และเจตสิกที่เป็นวิบากก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นวิปากปัจจัยให้วิบากเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แล้วเจตสิกก็เป็นวิปากปัจจัยให้เฉพาะวิบากจิตที่เกิดร่วมด้วย จะเที่ยวไปเป็นวิปากปัจจัยให้ขณะอื่นไม่ได้เลย ต้องให้แก่สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันนั่นเอง อย่างนี้ก็คงไม่ลืมวิปากปัจจัย หนึ่งปัจจัยแล้ว
สำหรับสัมปยุตตปัจจัย จิตกับเจตสิกเกิดโดยไม่แยกกันเลย เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จิตขณะหนึ่งดับไป จะเป็นสัมปยุตตปัจจัยของจิตขณะต่อไปได้ไหม ถ้ากล่าวว่าสัมปยุตตปัจจัยได้แก่อะไร ได้แก่ จิต และ เจตสิก คือนามธรรม รูปไม่เป็นสัมปยุตตปัจจัย คำถามก็มีต่อไปว่าจิตที่เกิดแล้วดับไปจะเป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดกับจิตขณะต่อไปได้ไหม ไม่ได้ นี่แสดงว่าเราเข้าใจ พร้อมคือพร้อม เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นจะไปเป็นปัจจัยต่างขณะไม่ได้ จิตขณะนี้จะไปเป็นปัจจัยของเจตสิกขณะต่อไปโดยสัมปยุตตปัจจัยไม่ได้เลย แต่เป็นปัจจัยโดยอะไรได้ อนันตรปัจจัย และ สมนันตรปัจจัย นี่ก็คือให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล การศึกษาปัจจัยก็คือเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัย และไม่ใช่เป็นเราที่ทำปัจจัยนั้นๆ ด้วย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120