พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
ตอนที่ ๖๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงรู้สึก ไม่ต้องไปมนสิการ ไม่มีจงใจอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่เมื่อจิตกระทบอารมณ์รู้อารมณ์ใด เวทนาก็รู้สึกในอารมณ์นั้น
เมื่อกล่าวถึงจิตที่ประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ จิตที่เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมี ๑๕ ดวง และมีกิริยาจิตซึ่งเกิดในชีวิตประจำวันที่เป็นอเหตุกะ ๒ ประเภท เพราะว่าจิตที่เป็นอเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ตรงนี้ให้จำไว้เลยว่าในบรรดาจิตทุกประเภทมีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเพียง ๑๘ ดวง แสดงว่าจิตเหล่านี้ไม่มีรากที่มั่นคงเหมือนขณะที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เกิดขึ้นเพียงทำกิจการงาน เช่นเวลาที่จะมีการให้ผลของกรรมทางตา จะต้องเกิดหลังจากที่ภวังคจิตซึ่งดำรงภพชาติภวังค์ขณะสุดท้ายดับจึงจะมีกิริยาจิตเกิดขึ้นทำกิจอาวัชชนะ เพียงรู้อารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทางซึ่งคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และอารมณ์ที่กระทบใน ๕ ทาง ขณะที่กระทบก็ต้องเกิด และกระทบกับปสาทรูปยังไม่เป็นปัจจัยให้จิตเห็น เพราะจากภวังค์จะยังเห็นไม่ได้ ต้องมีจิตที่เป็นวิถีจิตจิตขณะแรก ซึ่งขณะนั้นสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจซึ่งจะเป็นอารมณ์ของกุศลวิบาก หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจซึ่งจะเป็นอารมณ์ของอกุศลวิบาก จิตนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นจิตนี้ไม่ใช่วิบาก ถ้ากล่าวถึงวิบากต้องไม่ลืมว่า กุศลวิบากต้องเป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว อกุศลวิบากต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นวิบากจิตทั้งหมดมีกรรมเป็นปัจจัย
วิถีจิตแรกที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดรู้ได้ทั้งอารมณ์ของกุศลวิบาก และอารมณ์ของอกุศลวิบากที่จะเกิดต่อ จิตนี้ไม่ใช่วิบากแต่เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต จึงเป็นกิริยาจิต เป็นวิถีจิตแรกที่ใช้คำว่า “วิถีปฏิปาทกมนสิการ”
เพราะฉะนั้นเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณ นอกจากมีปสาทรูป ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด และมีสีสันวัณณะธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถจะกระทบกับปสาทรูป เมื่อกระทบแล้วก็ยังต้องมีมนสิการที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง ใช้คำว่า “มนสิการ” แต่ที่นี่ไม่ได้มุ่งหมายถึงมนสิการเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ แม้แต่จักขุวิญญาณจิตก็มีมนสิการเจตสิกของจักขุวิญญาณที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ แต่วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ และเป็นวิถีจิตแรกนั่นเองเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ เป็นจิตที่เป็นทางเฉพาะที่จะให้จักขุวิญญาณเกิด เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และจิตที่เป็นวิถีจิต ถ้าจิตที่เป็นวิถีจิตเริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต สำหรับทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง ถ้าเป็นทางใจ วิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังค์อีกต่อไปก็คือมโนทวาราวัชชนจิต สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ
ผู้ฟัง คำว่า “วิถีปฏิปาทกมนสิการ”
ท่านอาจารย์ ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง คำว่า “วิถีปฏิปาทกมนสิการ” คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต คืออะไร
คำปั่น ก็คือการใส่ใจถึงลักษณะที่กระทำทางให้ถึงเฉพาะ ตามศัพท์ เป็นบาทให้ถึงเฉพาะ
ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจว่า จิตนี้เป็นบาทให้ถึงเฉพาะ หมายความว่าเป็นบาทเฉพาะแก่จักขุวิญญาณถ้าเป็นทางจักขุทวาร เป็นบาทเฉพาะแก่โสตวิญญาณถ้าเป็นทางโสตทวาร เป็นบาทเฉพาะแก่ฆานวิญญาณถ้าเป็นทางฆานทวาร เป็นบาทเฉพาะแก่ชิวหาวิญญาณถ้าเป็นทางชิวหาทวาร เพราะฉะนั้นจิตนี้เกิดขึ้น เป็นบาทเฉพาะ คือ ต้องเกิดก่อน ถ้าจิตนี้ไม่เกิด จักขุวิญญาณ และจิตอื่นๆ ที่เป็นวิบากก็เกิดไม่ได้เลย
ผู้ฟัง พูดถึงมนสิการ เรานึกถึงตัวเจตสิก แต่จิตตรงนี้เป็นอย่างไร ช่วยให้ความกระจ่าง
ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมว่ามนสิการเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ มนสิการเจตสิกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องเกิด มนสิการเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณก็ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ เพราะว่าเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ที่ชื่อว่าวิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายถึงปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเป็นวิถีจิตแรกซึ่งเป็นบาทเฉพาะแก่จิตซึ่งเป็นวิบากที่จะเกิดต่อ
ผู้ฟัง ในวิถีจิตมีเจตสิกสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ ตัวนี้เกิดกับจิตทุกดวง
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ที่ภวังคจิตมีเจตสิกนี้ด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวว่าทุกประเภท ก็คือจิตทุกประเภทไม่เว้นเลย
ผู้ฟัง แต่ว่าที่ภวังค์ไม่มีจิตที่รู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ ภวังคจิตรู้อารมณ์ โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด
ผู้ฟัง แต่อารมณ์นั้นเป็นของอดีต
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องกล่าวถึงเพราะว่าไม่ปรากฏใช่ไหม ตอนนี้กำลังกล่าวถึงภวังคจิต รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยลิ้น ไม่ได้อาศัยกาย ไม่ได้อาศัยใจ
ผู้ฟัง อารมณ์ที่ภวังคจิตรู้จะเป็นอารมณ์อะไร
ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้นอนหลับสนิทไหม อารมณ์อะไรรู้ได้ไหม ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ผู้ที่รู้ได้คือใคร
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ คนอื่นจะรู้ได้ไหม ขณะนี้เห็น ตอบได้ว่ากำลังเห็นอะไร แต่ขณะที่นอนหลับสนิท จะตอบได้ไหมขณะนั้นรู้อารมณ์อะไร มีอะไรปรากฏให้รู้
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะไม่ได้อาศัยทวาร แต่จิตเห็นอาศัยทวาร คือจักขุปสาทเป็นทวารให้สิ่งที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งสามารกระทบ และปรากฏในขณะนี้ได้ ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นทวาร จิตเห็นไม่เกิดก็จะไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้เลย
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ ตัว ประกอบกับภวังคจิต ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ผัสสเจตสิกกำลังเกิดกับจักขุวิญญาณ รู้ผัสสเจตสิกได้ไหม
ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่เจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณที่เห็น ทราบได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังนอนหลับสนิทจะมีมนสิการเจตสิก จะมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาถึงจะสามารถที่จะค่อยๆ รู้ได้ ไม่ใช่อยากจะรู้ไปเลย แต่เครื่องพิสูจน์ก็คือว่าหลับสนิท มีอะไรปรากฏหรือไม่ ทั้งๆ ที่มีจิตกำลังเกิดดับแต่เมื่อไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ก็ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่สามารถกระทบ และปรากฏทางทวารนั้นๆ ได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะมนสิการ หรือผัสสเจตสิกที่ไม่ปรากฏ เจตสิกทั้ง ๗ ที่เกิดกับจักขุวิญญาณมีอะไรปรากฏหรือไม่ในขณะนี้
ผู้ฟัง ถ้าจะว่าไม่ปรากฏก็พอจะรู้
ท่านอาจารย์ คิด เข้าใจว่ามี แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เกิดดับ
ผู้ฟัง ที่คิด และเข้าใจคือต้นเหตุของความรู้
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นความเข้าใจถูกว่า ขณะที่หลับสนิทไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย
ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นขณะที่หลับสนิท จักขุปสาทเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่หลับปสาทรูปก็ยังเกิดดับ แต่ว่าลักษณะของสี คือวัณณะรูปก็จะต้องมีเกิดแล้วก็ดับแต่เมื่อสองรูปนี้กระทบกันในขณะที่เป็นภวังค์ แต่ว่าไม่มีอีก ๒ ปัจจัยเกิด คือ แสงสว่างกับปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ก็ไม่เกิดการเห็นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้เลย
ผู้ฟัง แต่ ๒ รูปนั้นก็เกิดดับ
ท่านอาจารย์ จักขุปสาทรูปก็เกิดดับ
ผู้ฟัง แล้วก็วัณณะรูปก็เกิดดับ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และข้อความในพระไตรปิฎก แสดงเพียง๓ ปัจจัย คือ เว้นแสงสว่าง
อ.อรรณพ ที่เว้นแสงสว่างนี่ ก็คือท่านหมายรวมในสีวัณณะรูปอยู่แล้ว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ เวลาที่ลืมตาในที่ๆ ไม่มีแสงสว่างกับลืมตาในที่ๆ สว่าง ต่างกันหรือเหมือนกัน แต่เห็นใช่ไหม ถึงอย่างไรเห็นก็เกิดเมื่อมีปัจจัย เมื่อไม่ใช่ภวังคจิต และปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว เห็นต้องเกิด จะเห็นลักษณะใดก็ตามแต่ในห้องที่มืดสนิท เรายังสามารถบอกได้ว่ามืดสนิท เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่คนตาบอด ถ้าคนตาบอดไม่มีอะไรจะกระทบกับจักขุปสาทเพราะไม่มีจักขุปสาท แต่สำหรับคนที่มีจักขุปสาท แล้วปัญจทวาราวัชชนจิตดับ นี่คือเหตุใกล้ที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณ แต่จะเห็นอย่างไร จะมีแสงสว่างมากแค่ไหน เพราะเหตุว่าแม้แต่ความสว่างก็มีตั้งแต่มืดสนิท เมื่อลืมตาตื่นมารู้ว่ายังไม่สว่าง และเมื่อมีแสงสว่างค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ มากขึ้น
ขณะที่เป็นภวังค์ มืดกว่าหรือไม่ เพราะจริงๆ จะใช้คำว่ามืดกว่าก็เพียงแต่เทียบเคียง แท้จริงแล้วไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่กรรม ด้วยความน่ามหัศจรรย์ของนามธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก กรรมทำให้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เกิดพร้อมกับเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วยังไม่สิ้นสุด ทำให้วิบากจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติไม่ปรากฏลักษณะที่มืดสว่าง สีสันวัณณะ กลิ่น เสียงอะไรไม่มีเลยทั้งสิ้น นี่คือการเห็นผลของกรรมในวันหนึ่งๆ ว่าเราไม่พ้น ใครจะพ้นผลของกรรม หรือกรรมที่ได้กระทำแล้วไม่ได้เลย เพราะต้องตื่นทุกคนใช่ไหม เพื่อรับผลของกรรมที่จะเกิดขึ้น หมายความถึงวิบากจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง จะกล่าวคร่าวๆ เพราะจะไม่กล่าวถึงตทาลัมพนจิตที่เกิดทางมโนทวาร เว้นไปเลย จะกล่าวถึงที่เราสามารถจะรู้ได้คือในขณะที่เห็น
ทราบหรือไม่ว่า เพราะกรรมที่จะให้ผลทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่ถึงกาละที่กรรมจะทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น แต่กรรมจะทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินก็เป็นต่างขณะ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับกรรมทั้งหมดที่ทุกคนตื่นขึ้นแล้วเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่ากรรมนั้นที่ได้กระทำแล้วสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้นทางไหน ก็ทำให้รูปกระทบกับปสาททางนั้นๆ และหลังจากที่เป็นภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ เป็นบาทเฉพาะแก่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ใครทำได้ ไม่มีใครทำได้เลย แต่เป็นเรื่องของกรรม นามธรรมซึ่งมองไม่เห็นแต่เจตนาที่ได้สำเร็จเป็นกรรมแล้วพร้อมที่จะให้ผลตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิด มีปสาทรูปสำหรับที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นทางทวารต่างๆ แต่ต้องทราบด้วยว่าเป็นอเหตุกจิตที่เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๕ ประเภทเป็นอกุศลวิบาก ๗ เป็นกุศลวิบาก ๘ ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่มีใครพ้นไปได้เลย
ผู้ฟัง ขณะที่เรานอนหลับสนิทแล้วเกิดฝัน ขณะที่ภวังค์สิ้นสุดกระแสภวังค์ก็คือภวังคุปัจเฉทะดวงสุดท้ายดับ ทีนี้ก็ต้องเป็นวิถีชวนะทางมโนหรือไม่
ท่านอาจารย์ มโนทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรกทางใจ คือ มโนทวาราวัชชนจิต มโนคือใจ วิถีแรกทาง ๕ ทวารก็คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรกทาง ๕ ทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะฉะนั้นเป็น "ชวนปฏิปาทกะ" เพราะอะไร เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับ กุศลจิตหรืออกุศลจิตฝัน
ผู้ฟัง เช่นนี้ก็แสดงว่าคืนหนึ่งๆ ที่เราฝัน ก็จะมีสภาพธรรมของกุศลกับอกุศลเกิด
ท่านอาจารย์ ต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ คำว่า “ชวนะ” หมายความถึง กุศลจิต และอกุศลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิต
ผู้ฟัง ทำไมลักษณะของความฝันจะเหมือนกับสิ่งที่จริง เห็นก็คือเห็น ได้ยินก็คือได้ยิน หรือว่าความรู้สึกกระทบอะไรก็เหมือนกับเป็นเรื่องจริง
ท่านอาจารย์ แต่ไม่จริง เพราะต่างกัน ถึงจะเหมือนแต่ไม่จริง คืนนี้จะฝันถึงห้องนี้ไหม สมมติว่าจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกำลังเห็นเดี๋ยวนี้หรือไม่ หรือเพียงบางส่วน จะเห็นกลีบดอกไม้แต่ละกลีบของแจกันแต่ละรูปร่างลักษณะหรือไม่ คนที่นี่มีใครบ้าง ทางตาก็ปรากฏอย่างนี้ แต่เวลาฝันไม่ครบเพราะอะไร เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้มีจริง แล้วก็คิดนึก นำคนนำเรื่องราวต่างๆ มาคิด ตามสิ่งที่เคยปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นในฝันก็คิดแต่แค่คิด จะไม่ปรากฏเหมือนกับที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เลย เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปรากฏอย่างนี้เพราะไม่ใช่เห็น
เพราะฉะนั้น เห็น คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แยกต่างจากคิดเลย ในเวลานี้วาระของวิถีจิตที่เห็นมากมายนับไม่ถ้วนจนปรากฏด้วยความทรงจำเป็นแต่ละคนแต่ละอย่างแล้วก็แต่ละสิ่งที่ละเอียดด้วย นี่ก็แสดงถึงการเกิดดับนับไม่ถ้วนของวาระหนึ่งๆ ของการเห็น ซึ่งมีการคิดนึกสลับ มีเสียงสลับ มีทุกอย่างสลับ ดังเช่นที่กล่าวว่าอยู่ในทะเลชื่อ และทะเลภาพ ทันทีที่เห็นก็เป็นคน เป็นรถยนต์ เป็นเก้าอี้ เป็นภาพทั้งหมด โดยที่ไม่ได้เข้าถึงลักษณะของปรมัตถธรรมว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น หลังจากนั้นคิดนึกทั้งหมด ถึงหลับตาก็คิดได้ แต่ไม่ใช่เห็น เมื่อลืมตาก็ไม่ใช่หลับตา แต่คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วหลับตาแต่ว่าไม่เหมือน เพราะว่าทางตาต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถึงเวลาที่จะกล่าวถึงเรื่องเหตุปัจจัย และก็อุดมเหตุกับสาธารณเหตุ
อ.วิชัย เรื่องของพยัญชนะหรือคำ ต้องดูในที่นั้นๆ ว่าหมายถึงอะไรบ้าง เช่นคำว่าเหตุก็มีความหมาย ๔ อย่าง เหตุ- เหตุ หมายถึง เหตุเจตสิก ๖ ประเภท ปัจจยเหตุ หมายถึงมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุให้บัญญัติรูปขันธ์ นี่ก็ปัจจยเหตุ ส่วนอุตตมเหตุ หมายถึง กุศล อกุศล เป็นเหตุให้เกิดผล ส่วนสาธารณเหตุ หมายถึง เหตุทั่วไป หมายถึง อวิชชา ฉะนั้นคำว่า เหตุก็ดี ปัจจัยก็ดี ในอรรถกถาคัมภีร์ยมกมีแสดงคำหลายคำซึ่งมีอรรถอย่างเดียวกัน นี้หมายถึงคัมภีร์ยมก อย่างเช่นคำว่า "มูล" คำว่า "เหตุ" คำว่า "ปัจจัย" คำว่า "สัมภวะ" "ปภวะ" "นิพพาน" "กรณ" นี้คือเป็นพยัญชนะหลายอย่าง แต่ว่ามีอรรถอย่างเดียวกัน เช่น ถ้ากล่าวถึงในคัมภีร์ปัฏฐาน คำว่า “เหตุปัจจัย” คำว่าเหตุในที่นั้น ท่านก็อธิบายว่าหมายถึง เหตุเจตสิก ๖ ปัจจัยนี้ หมายถึง ผลธรรม ผลอาศัยเป็นไป นี้คือกล่าวถึง ตัวผลว่าอาศัยสิ่งนี้เป็นไป ชื่อว่า ปัจจัย ก็คือธรรมที่ทำให้เกิดผลนั่นเอง เรียกว่า "ปัจจัย" เราจะกล่าวถึงผลขึ้นก่อนว่าผลอาศัยสิ่งนี้เป็นไป ก็ชื่อว่าปัจจัย หรือจะกล่าวถึงว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยให้เกิดผล ก็ชื่อว่าเป็นปัจจัยเหมือนกัน ฉะนั้นเหตุปัจจัยในปัฏฐาน หมายถึง เหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผล หรือว่าจิตอาศัยเหตุนั้นให้เป็นไปก็ได้
ผู้ฟัง ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ แต่ว่ามีอะไรหลายอย่างไม่ได้เกิดแต่เหตุ เรียกว่า อเหตุกะ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจชัดเจน เพราะว่า ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลี เช่น เหตุเราก็เอามาจากคำว่า เห - ตุ “ปัจจัย” เราก็ใช้ด้วย และเราก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าขณะไหนเราเข้าใจว่าอย่างไร เช่นเราใช้คู่กันก็มี “เหตุปัจจัย” แล้วแต่เหตุปัจจัย เหตุเดียวก็ไม่พอ ก็ต้องมีปัจจัยด้วย แต่นี่คือความหมายที่เราใช้ในภาษาไทย เพราะฉะนั้นเวลานี้เรากำลังศึกษาธรรม เราก็ควรจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ว่าจริงๆ แล้วเราใช้คำว่าปัจจัย หมายความว่า สิ่งนั้นเกื้อกูลเป็นเหตุอุปการะที่จะให้สภาพธรรมอย่างอื่นอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะต้องมีปัจจัยซึ่งเป็นธรรมที่เกื้อกูลหรือเป็นเหตุที่จะอุปการะให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ปัจจัยเกื้อกูลให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยชื่อว่า "ปัจจยุบัน" มาจากคำว่า "ปัจจยะ" กับ "อุปันนะ" รวมเป็น "ปัจจยุบัน" ซึ่งไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจยุบัน เพราะมาจากคำว่า ปัจจัยกับอุปันนะ เพราะฉะนั้นถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เป็นผลเกิดขึ้น ต้องมีเหตุหรือมีปัจจัยนั่นเอง ในภาษาที่เราใช้ เราจะใช้คำว่าเหตุปัจจัย แต่จริงๆ ปัจจัยก็คือเป็นธรรมที่เกื้อกูล สนับสนุน หรือจะใช้คำว่าเป็นเหตุในภาษาไทยก็ได้ ที่จะทำให้สภาพธรรมอีกอย่างเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นไม่มี ในพระพุทธศาสนาไม่มีเลยที่จะบอกว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นนี่ไม่มี แต่สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น กล่าวเช่นนี้อย่างกว้างที่สุด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120