พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
ตอนที่ ๖๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น กล่าวเช่นนี้คืออย่างกว้างที่สุด ปรมัตถธรรม ๔ คือ ธรรมที่มีจริง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดขึ้นจะมีปัจจัยใดๆ มาปรุงแต่งให้นิพพานเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม นิพพานเป็นวิสังขารธรรมไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นอสังขตธรรมด้วย
เพราะฉะนั้นสำหรับจิต เจตสิก รูป ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ไม่ได้หมายความว่ามีสภาพธรรมหนึ่งเกิดอยู่แล้ว แล้วก็ไปคอยปัจจัยใดๆ แต่หมายความว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตามที่เกิดขณะนี้หรือขณะใดก็ตาม ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น น่าคิดใช่ไหมว่าแล้วอะไรเป็นปัจจัย ในเมื่อปรมัตถธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป ฉะนั้นปัจจัยก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอะไรเป็นอารมณ์ แต่สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ต้องเกื้อหนุนอุปการะให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมใดเกิดสภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แม้แต่จิตเห็น แม้แต่ปฏิสนธิจิต แม้แต่เจตสิกใดๆ ก็ตามต้องมีปัจจัย สภาพนั้นๆ ที่เกิดจึงจะเกิดขึ้นได้ นี่คือความหมายของปัจจัยโดยทั่วไป ถ้าใช้คำว่าเหตุปัจจัยในภาษาไทยเราก็รวมเลย อะไรๆ เราก็ไม่ได้แยกสักอย่างแล้วแต่เหตุปัจจัย แท้จริงแล้วรูปก็เป็นปัจจัย นิพพาน และบัญญัติก็เป็นอารัมมณปัจจัย คือไม่สามารถจะไปทำอะไรได้เลยนอกจากเป็นอารมณ์ของจิต ตามประเภทของจิตนั้นๆ แต่จิต เจตสิกอื่นๆ ต้องอาศัยปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าทราบแล้วก็จะไม่สงสัย ปัจจัยนี้มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย โดยประเภทใหญ่ เมื่อจิตอาศัยโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นเหตุ เป็น เห-ตุปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยประการอื่น แต่ขณะใดที่เจตสิกเหล่านี้ที่เป็นเหตุเกิดกับจิตก็เป็นเหตุปัจจัยให้อะไรเกิด ให้จิตที่ประกอบด้วยเหตุนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีอุตตมเหตุ คือ "กรรม" กรรมนั้นก็กว้างขวางมาก ทั้งหมดที่เราเรียนนี้ก็เป็นเรื่องของกรรม ที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิด ทางทวารไหน อะไรต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากสาธารณะเหตุ คือ "อวิชชา" เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก่อนที่จะถึงอุปมาต่างๆ เพราะอุปมาก็เพียงแต่ว่าแสดงตัวอย่างพอที่จะให้พิจารณาได้แต่ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็เกือบจะไม่ต้องอาศัยอุปมาก็เข้าใจได้
ผู้ฟัง แสดงว่าขณะที่กำลังเห็น วิถีปฏิปาทกมนสิการ กับ มนสิการ คือประการเดียวกันใช่ไหม
อ.กุลวิไล ต้องพิจารณาว่าเป็นสภาพธรรมใด เช่น วิถีปฏิปาทกมนสิการ ในที่นี้หมายถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ก็คือจิตที่เป็นชาติกิริยา แต่เมื่อกล่าวถึงมนสิการ จะหมายถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเหตุที่จะทำให้การเห็นเกิดขึ้นมี ๔ ประการ ประการแรกคือ วัณณะธาตุหรือสี ประการที่สองคือ จักขุปสาทซึ่งเป็นกัมมชรูป ประการที่สามก็คือแสงสว่าง ประการที่สี่ที่กล่าวว่าเป็นมนสิการ ในที่นี้หมายถึงปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตชาติกิริยา แต่จิตเห็นเกิดขึ้นก็จะต้องมีมนสิการซึ่งเป็นเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือต้องรู้ว่าจะหมายถึงธรรมใด และถ้าพูดถึงปัญจทวาราวัชชนจิตที่เป็นวิถีจิตปฏิปาทกมนสิการก็มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าพูดถึงมนสิการที่เป็นเจตสิกแล้ว จะต้องเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท
ผู้ฟัง ขอให้อธิบายปัญจทวาร และมโนทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าแต่ละวันรู้สึกจะหนีไม่พ้นปัญจทวารเลย ทั้งอายตนะภายนอก และภายใน
ท่านอาจารย์ ที่ได้กล่าวถึงทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นตอนเช้า ตอนบ่าย วันเสาร์ อาทิตย์ก็เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ไม่พ้นไปได้เลย เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น อาจจะติดศัพท์ที่ว่าปัญจทวาร ปัญจะ คือ ห้า ทวาร คือ ประตูหรือทาง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น และก็รู้อารมณ์ต่างๆ แต่ละอารมณ์ แต่ละทวารหรือแต่ละทางไม่เหมือนกันเลย เช่น ทางตาในขณะนี้ เมื่อพูดถึงปัญจทวารก็จะไม่พ้นจากรูป ๕ รูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ขณะนี้ตา รูปที่กำลังกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ รูปนี้ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่มี เพราะว่าเป็นรูปที่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่รูปอื่นใด แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบกับธาตุที่เป็นสีสันวัณณะ จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่ จะใช้คำว่าแสงสว่าง หรือ ใช้คำว่ารูปารมณ์ วัณณะ นิภา แล้วแต่มีคำใช้มากมาย ภาษาหนึ่งๆ ก็จะมีคำที่คล้ายกันเช่น ภาษาไทยก็จะมีคำที่มีความหมายเหมือนๆ กันหลายคำฉันใด ภาษาอื่นก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ คือขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจธาตุแท้ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าธาตุแท้จริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏก็คือเป็นรูปธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่สามารถกระทบเฉพาะกับจักขุปสาทที่เกิดอยู่กลางตา เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนมีจักขุปสาท แล้วก็มีเห็น เพราะมีรูปธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังกระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้เห็น ก่อนที่จะกล่าวถึงจิตเห็น จึงต้องกล่าวตามลำดับว่าจิตเห็นจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้เลย ก่อนจิตเห็นก็จะต้องมีจิตที่ไม่ใช่ภวังคจิต ต้องฟังตามลำดับ คือก่อนที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใครก็ตามเกิดแล้ว แม้ว่าจิตขณะแรกที่เป็นปฏิสนธิดับไปแล้วก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจดำรงรักษาภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แต่จะเป็นภวังค์ตลอดไปเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเหตุที่จะทำให้เป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ เมื่อถึงกาละที่กรรมจะให้ผลทำให้เกิดการเห็น ก็จะมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาทซึ่งขณะนั้นจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แต่เนื่องจากการกระทบกันก็จะเป็นเหตุให้ภวังค์ซึ่งเกิดดับสืบต่อจะต้องสิ้นสุดกระแส คือจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ แต่ก่อนที่จะถึงภวังค์ขณะสุดท้ายก็จะต้องเป็นภวังคจลนะก่อน เพื่อที่จะแสดงอายุของรูป ๑๗ ขณะ ซึ่งจะแสดงอายุของทั้งปสาทรูปคือ จักขุปสาท และสิ่งที่กระทบว่าทันทีที่จักขุปสาทรูปเกิด และรูปที่กระทบจักขุปสาทเกิดกระทบกัน ขณะนั้นจิตกำลังเป็นอตีตภวังค์ และถ้าถึงกาละที่กรรมจะให้ผลต้องสิ้นสุดภวังค์ แต่จะสิ้นสุดทันทีไม่ได้ จะต้องมีภวังคจลนะเกิดสืบต่อ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ขณะสุดท้าย ภาษาบาลีใช้คำว่า "ภวังคุปัจเฉทะ" หมายความว่าขณะที่ตัดกระแสภวังค์ หมายความว่าภวังค์จะเกิดต่อไปอีกไม่ได้ โดยที่ถึงกาละที่กรรมจะให้ผลทางตาคือ เห็น
นี่คือชีวิตจริงๆ ทุกคนต้องเห็น ไม่เห็นได้ไหมถ้ามีจักขุปสาท และเมื่อได้กระทำกรรมที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผลก็คือว่าต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สิ้นสุดไม่ได้เลย ตามกระแสของจิตที่จะต้องเกิดดับสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งจนถึงขณะสุดท้ายคือจุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อนั้นจิตจะไม่มีการเกิดอีกเลย จักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวารเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อถึงกาละที่กรรมจะให้ผลคือทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นก็จะมีรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทกระทบ ขณะนั้นเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นขณะที่กระทบกันของปสาทรูป และรูปที่กระทบขณะนั้นก็เป็นอตีตภวังค์ เพื่อที่จะนับอายุของรูปว่ารูปจะมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตจะดับเมื่อไหร่ เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ภวังคจลนะเกิดแล้วดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อดับไปแล้ว ต่อจากนั้นเริ่มวิถีจิต วิถีจิตแรกยังไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น นี่เราพูดภาษาบาลี แต่ว่าจริงๆ ก็คือสภาพธรรมนั้นเองว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตขณะแรกยังไม่ใช่ผลของกรรม เพราะเหตุว่าเป็นเพียงเปลี่ยนสภาพที่เป็นภวังค์เป็นจิตที่อาศัยทวาร ถ้าเป็นจักขุทวารก็เป็นจิตนั้นอาศัยจักขุทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร รู้อารมณ์นั้นที่กระทบทวาร แต่ยังไม่เห็น จิตที่เป็นวิถีจิตแรกตามชื่อก็คือ “จักขุทวาราวัชชนจิต” จักขุทวารนั่นเอง แต่จักขุทวารเป็นรูป ไม่ใช่จิต แต่จิตที่สามารถจะรู้รูปที่กระทบจักขุทวาร ภาษาบาลีใช้คำว่า “อาวัชชนะ” ซึ่งโดยคำแปลจะแปลว่า "รำพึงถึง" แต่ภาษาไทยเมื่อใช้คำว่ารำพึงนี่จะคิดยาวมากเลย แต่จริงๆ แล้วชั่วหนึ่งขณะจิตเท่านั้น จึงควรจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะที่เพียงรู้สึกว่าอารมณ์กระทบทวารนั้น นั่นคือปัญจทวาราวัชชนจิต ยังไม่ใช่ผลของกรรม เพราะว่าขณะนั้นเป็นกิริยาจิต และยังไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเหตุ
เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตขณะนั้นไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นเป็นอเหตุกจิต เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าในวันหนึ่งๆ มีทั้งจิตที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ก็ใช้คำว่า “อเหตุกะ” ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ซึ่งตามที่ประมวลไว้ทั้งหมดมี ๑๘ ประเภท เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม ๑๕ ประเภท และเป็นกิริยา ๓ ประเภท
แม้แต่เพียงที่จะเข้าใจว่านามธรรมกับรูปธรรมในขณะนี้ก็ยากที่จะเข้าใจ ฟังคำนี่ไม่ยากเลยแต่การที่จะเข้าถึงความเข้าใจความต่างของขณะที่เห็นคือกำลังเห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้ เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ มีสิ่งที่ปรากฏเป็นรูป และก็มีจิตที่กำลังเห็น คือสิ่งที่จะต้องปลูกฝังเป็นพื้นฐานที่มั่นคง เพราะเมื่อมีโอกาสที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์จากที่ได้อบรมความเข้าใจพร้อมสติสัมปชัญญะ สามารถจะเข้าใจทันทีที่ได้ยิน และก็รู้ในความเป็นอนัตตาได้ สามารถจะประจักษ์การเกิดดับได้ นี่ก็แสดงว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาตลอดต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะรู้ว่าธรรมก็คือสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ และความลึกซึ้งทั้งหมดที่ทรงแสดงจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นปัญญาของเราจะไม่ถึงขั้นนั้นโดยประการต่างๆ ที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ๓ ปิฎก แต่เราสามารถที่จะค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย และก็รู้ความต่างกันของปัญญา ๓ ขั้น คือ ปัญญาขั้นฟัง ฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ต้องฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่ากำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง
ทุกคำที่ได้ยินเพื่อให้เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง ปัญญาขั้นไตร่ตรอง ไม่ลืมเพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ เราจะฟังธรรมในขณะที่กำลังฟังจะทางวิทยุ หรือมาที่มูลนิธิ หรือสถานที่หนึ่งที่ใดก็ตามแต่ แต่พ้นจากกาละนั้นแล้วเป็นเรื่องอื่นทั้งหมดเลย แสดงให้เห็นว่าความคิดนึกของเราไปไกลมากจากธรรม ทางใดที่จะทำให้เข้าใจขึ้น โดยวิธีใดก็ตาม เหล่านั้นจะแสดงให้เห็นความต่างของขณะที่เป็นกาละที่ทำให้เราสามารถที่จะอบรมสิ่งที่ประเสริฐสุด คือ ความเข้าใจสิ่งที่มี ซึ่งเวลาที่เราไม่ได้อยู่ที่นี่สิ่งนั้นก็มี มีหมดทุกอย่างแต่ไม่เคยคิด ไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้เราก็ต้องทราบว่าเป็นปัญญาขั้นฟัง เป็นปัญญาขั้นไตร่ตรอง แต่ยังมีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคง ที่จะทำให้ปัญญาอีกระดับหนึ่ง คือ สติเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ซึ่งแต่ละทางนี่ต่างกันหมดเลย
ให้เข้าใจตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่งจริงๆ ดับไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางหูจึงจะปรากฏจริงๆ ได้ และก็ต้องดับไปแล้วด้วย สิ่งที่ปรากฏทางจมูกจึงจะปรากฏได้ หรือสิ่งที่ปรากฏทางลิ้นจึงจะปรากฏได้ และสิ่งที่ปรากฏทางกายจึงจะปรากฏได้ และความนึกคิดจึงจะปรากฏซึ่งไม่ใช่ขณะที่คิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องราวของสิ่งที่คิด นี่ก็เป็นความละเอียดที่หยาบ คือว่ายังผิวเผิน เป็นความละเอียดที่ละเอียดแบบหยาบๆ ยังมีละเอียดลงไปลึกกว่านั้นอีกที่สามารถจะค่อยๆ ปรุงแต่งให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม นี่คือการศึกษาธรรม นี่คือการเรียนธรรม คือเรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ทางตามี เรายังไม่เข้าไปถึงรายละเอียดเลย เพียงแต่ว่าก่อนทีจิตเห็นจะเกิดต้องมีวิถีจิตแรกเกิดก่อน
วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตรวมเป็น ๕ ทวาร แต่ถ้ากล่าวทีละทวารเฉพาะทางตา ก็เป็น จักขุทวาราวัชชนจิต ขั้นฟังเรารู้เลย นี่คือปัญญาของใคร ไม่มีใครสามารถจะไปรู้จิตขณะแรกของทางจักขุทวารได้เลย แต่รู้ว่ามี และรู้ว่ายังไม่ใช่ผลของกรรมด้วย คือความรู้นี่ต้องละเอียด เราจะไม่พูดลอยๆ ว่ากรรม และผลของกรรม แต่ต้องรู้ว่าจริง กรรมมี ผลของกรรมมี แต่ขณะไหน และจิตอะไร เพื่อที่จะได้มีการเข้าใจชัดเจนในการเป็นอนัตตาซึ่งไม่ใช่เรา แต่สภาพธรรมก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ สำหรับเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต เราพูดซ้ำตลอดเวลา คงจะไม่มีใครคิดว่าลืมไปแล้วใช่ไหม
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตถ้าเกิดแล้วดับแล้ว เช่น ทางตา จำเป็นไหมที่จะต้องมีจักขุวิญญาณเกิดต่อ
ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าคนสมัยนี้อาจจะตอบว่าร้อยเปอร์เซนต์ พันเปอร์เซนต์ แต่จริงๆ แล้วคือแน่นอนโดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ใครจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้จะให้สัมปฏิจฉันนะมาเกิด จะให้ชวนจิต กุศลจิตมาเกิดทันทีไม่ได้ นี่เป็นการเกิดดับของธรรมซึ่งตัวจิต และเจตสิกเป็นปัจจัยที่ชื่อว่าอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิต และเจตสิกนี้ดับ ต้องมีจิตเกิดต่อทีละหนึ่งขณะ แต่เกิดดับสืบต่อตามลำดับด้วยดี นี่คือคำตอบของคำถามว่าหลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จิตอื่นนอกจากทวิปัญจวิญญาณ หรือจะใช้คำว่าปัญจวิญญาณก็ได้ต้องเกิดทีละหนึ่งตามทวาร ถ้าเป็นสิ่งที่กระทบตา เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ จักขุวิญญาณต้องเกิดขึ้นทำกิจเห็น คนละกิจแล้ว ขณะนี้ที่กำลังเห็นไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถทำกิจนี้ได้ คือทำกิจเห็น
ผู้ฟัง แต่ถ้าสมมติว่าปัญจทวาราวัชชนจิตยังไม่ได้เกิด หมายถึงว่ามีการกระทบกันเฉยๆ ปัญจทวาราวัชชนจิตนี่ไม่ได้เกิด ก็จะไม่มีการเห็นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด จิตอะไรเกิด นี่คือความเข้าใจที่จะถามไปถามมาจนกระทั่งแน่ใจว่าถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดแล้วอะไรเกิด
ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นภวังคจิตเกิด
ท่านอาจารย์ โดยไม่ใช่ภวังคุปัจเฉทะด้วย แต่ถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะแล้ว วิถีจิตต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ เพราะความต่างของภวังค์กับวิถีจิตก็คือว่า ขณะใดที่ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดคือไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิด ต้องเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นภวังค์ก็จะเป็นภวังค์ หรือมีอารมณ์กระทบขณะนั้นก็จะเป็น ภวังคจลนะ แต่จะเป็นภวังคุปัจเฉทะไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะดับไป อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด หรือมโนทวาราวัชชนจิตเกิด คือวิถีแรกที่เกิดเป็นกิริยาจิต
ผู้ฟัง ถ้ามีการกระทบแล้วเกิดเป็นอตีตภวังค์
ท่านอาจารย์ อตีตภวังค์นี่แสดงว่ารูปเกิด จะมีอายุต่อไป ๑๗ ขณะของจิตที่เกิดดับ รูปนั้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้เพราะสภาวรูปต้องมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
ผู้ฟัง พออตีตภวังค์ดับแล้วก็..
ท่านอาจารย์ เป็นภวังคจลนะก่อน นี่คือความละเอียดที่ทรงแสดงถึงการที่ภวังค์จะสิ้นสุดกระแสลงไปได้ จะสิ้นสุดทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนภวังคุปัจเฉทะต้องเป็นภวังคจลนะทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางทวารไหน
ผู้ฟัง แล้วภวังคจลนะมีหลายๆ ดวงได้ไหม
ท่านอาจารย์ ภวังคจลนะของแต่ละคนเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต หมายความว่าบุคคลใดก็ตามปฏิสนธิจิตเป็นอะไร คือต้องเป็นวิบากนี่แน่นอน แต่วิบากนี่มีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก เพราะถ้าปฏิสนธิของบุคคลนั้นเป็นอกุศลวิบากดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นภวังค์
ท่านอาจารย์ หมายความว่าปฏิสนธิจิตในภพหนึ่งชาติหนึ่งมีขณะแรกขณะเดียว หลังจากนั้นแล้วจะเป็นปฏิสนธิอีกไม่ได้ เพราะปฏิสนธิหมายความว่าสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จึงเป็นปฏิสนธิจิต แต่เมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตดับไปแล้วจะเป็นปฏิสนธิจิตอีกไม่ได้ แต่กรรมก็ไม่ได้ทำให้วิบากเพียงทำกิจปฏิสนธิ แต่ว่าตัวเจตนาที่ทำไว้ต้องมีผลมากกว่านั้นอีก ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิสนธิ กรรมก็ทำให้จิตที่เป็นวิบากประเภทเดียวกันนั้นเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตจึงเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 62
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 64
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 70
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 75
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 80
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 81
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 91
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 95
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 102
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 103
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 108
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 109
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 111
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 115
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120