ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61


    ตอนที่ ๖๑

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แข็งปรากฏไหม ตั้งแต่เช้ามีแข็งปรากฏบ้างไหม หรือไม่มีเลย มี แต่ไม่เคยระลึกตรงแข็ง เพราะว่าแข็งก็เป็นแก้วน้ำ เป็นโต๊ะ เป็นช้อน เป็นส้อมเป็นทุกอย่าง คิดนึกตามลักษณะที่แข็ง แต่สติปัฏฐานเพราะฟังรู้ว่า ขณะที่คิด คิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อน แล้วคิด คิดเรื่องเสียงที่ได้ยินเป็นคำ เป็นความหมายต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องมีเสียงปรากฏก่อน และมีการคิดเรื่องคำหรือความหมายของเสียง

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คิดไม่ได้ แต่เมื่อมีสภาพที่คิด คิดเรื่องอะไร ก็คิดเรื่องที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น แยกโลกของปรมัตถสัจจะ กับสมมติสัจจะได้ ว่าปรมัตถสัจจะใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ ในขณะเห็นเป็นต้องเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังไม่มีความคิดใดๆ เจือปน ทางหูก็ต้องได้ยินเฉพาะเสียง ยังไม่มีการคิดความหมายเรื่องเสียงเลย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายโดยนัยเดียวกัน แต่โลกของความคิด ทั้งหมดคิดจากสิ่งที่เห็น จากเสียงที่ได้ยิน จากกลิ่นจากรส จากสัมผัส เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด ผ่านทางใจ ไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีความคิดนึกเจือปน แต่สมมติสัจจะ เมื่อคิดขณะใดก็มีเรา มีเขา มีพระเจ้าแผ่นดิน มีเด็ก มีดอกกุหลาบ มีบ้านมีอะไรต่างๆ นี้ก็เป็นโลกของความคิด

    แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีชั่วขณะที่คิด ถ้าไม่คิดก็ไม่มี แต่ความจริงในขณะที่คิด ปรมัตถธรรมก็ไม่มีอยู่ในเรื่องราวนั้นเลย คิดถึงคน ก็ไม่ได้มีสีสันวรรณะของคน เพียงแต่จำทรงจำไว้ว่ามีคนที่เรากำลังคิด เหมือนอย่างที่เคยเปรียบเทียบว่า ขณะนี้ถ้าเราจะเห็นแก้วน้ำนี้ กับการที่เราหลับตาแล้วนึกถึงแก้วน้ำ จะไม่เหมือนกันเลย นึกยังไงนึกให้เป็นเหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตานึกไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่การคิด คิดยังไงก็ไม่เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จำได้ถึงสัณฐานของแก้วน้ำ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางใจจะคิดถึงสิ่งนั้นต่อ เก็บเป็นเรื่องเป็นราวเป็นสมมติบัญญัติ แม้ในฝัน เวลาฝันไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เลย เพราะเหตุว่า ฝันถึงอะไรก็มีแต่เพียงเรื่อง เรื่องเท่านั้น เวลานี้ใครจะคิดอะไรก็เป็นเพียงเรื่อง

    เพราะฉะนั้นก็เห็นความต่างกัน ของปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ และการอบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ว่า ถ้าเป็นการคิดไม่มีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏในเรื่อง แต่ตัวจิตที่คิดไม่ใช่เราคิด เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดก็จะไม่หวั่นไหว แล้วก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าสามารถจะรู้ว่า คิดไม่ดีก็เป็นสภาพธรรมไม่ใช่เรา คิดดีก็เป็นสภาพธรรมไม่ใช่เรา และปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริงรู้จักตัวเองตรง ไม่หลอก ไม่สร้าง ไม่ไปพยายามบังคับ หรือทำสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ เพราะเหตุว่า ปัญญาจริงๆ ต้องรู้ว่า ทำสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดให้เกิดไม่ได้เลย แต่สามารถอบรมเจริญปัญญา รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่สามารถที่จะมีเราไปแทรก เป็นเราที่จะไปบังคับ ไปฝืนกระแสจิต หรือวาระของวิถีจิตได้เลย เช่น ขณะที่เกิดขณะแรก เลือกเกิดไม่ได้ แต่จิตที่เกิด ต้องเป็นประเภทผลของกรรมที่ภาษาธรรมใช้คำว่า วิปากจิต

    ถ้าได้ยินคำว่า วิบาก ไม่ใช่ลำบาก วิบาก ภาษาบาลีต้องเป็น วิปากะ เพราะภาษาบาลีไม่ใช่ตัว บ ใบไม้ แต่ใช้ตัว ป แล้วก็ต้องออกเสียงทุกคำ วิปากะเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทำกรรมใดไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความในพระไตรปิฎกว่า กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ขณะที่กระทำกรรมก็ไม่รู้ว่ากรรมนี้ให้ผลเมื่อไหร่ ให้ผลในลักษณะใด และเวลาที่ผลของกรรมเกิดก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ผลของกรรมคือวิปากจิตขณะนี้ ชนิดนี้เป็นผลของกรรมอะไร ผู้ที่รู้คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับใครในครั้งนั้น ก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม ทรงแสดงถึงอตีตกรรม หรืออดีตกรรม ว่าผลกรรมอันนี้ มาจากการกระทำอะไรในอดีต แต่คนอื่นไม่สามารถที่จะแสดงได้เลย เพราะว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม บุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ไม่ประกอบด้วยญาณอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถจะรู้กรรมของแต่ละบุคคล และผลของกรรมของแต่ละบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น เปรียบกันไม่ได้เลย ความรู้ที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก กับเราที่เพิ่งเริ่มศึกษา เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจ เท่าที่กำลังปัญญาของเรา จะมีแล้วค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นการรู้การเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า ขณะนั้นเป็นระดับใด เป็นขั้นปริยัติ หรือเป็นขั้นปฏิบัติ หรือเป็นขั้นปฏิเวธ นี้เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ เข้าใจไป ค่อยๆ รู้ระดับขั้นที่ต่างกันของปัญญา อย่าไปหลงคิดว่ารู้แล้วเพียงขั้นฟัง

    ผู้ฟัง กล่าวกันว่า ผู้ที่เป็นโสดาบันบุคคลมีความทุกข์เหลือเพียงเมล็ดถั่วเขียว ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลนั้น มีความทุกข์เท่ากับแผ่นดิน ที่ว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นท่านจะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ขออนุญาตเรียนถามว่า ข้อ ๑ ที่ว่าทุกข์ของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลนั้นเท่ากับแผ่นดินดูมากมายเหลือเกิน ขอถามข้อนี้ว่า เป็นไปอย่างนั้นจริงหรือไม่

    ข้อ ๒ ที่ว่าพระโสดาบันบุคคลจะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาตินั้น ท่านจะไม่กลับมาเป็นมนุษย์เลยหรือช่วง ๗ ชาติจะอยู่ในเทวดา หรือเป็นพรหมเช่นนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อแรกที่ว่า ทุกข์ของพระโสดาบันน้อยกว่าทุกข์ของปุถุชน เปรียบเหมือนเมล็ดถั่วเขียว หรือว่าสิ่งที่เล็กน้อยมาก กับ พื้นปฐพีหรือภูเขาสิเนรุก็ตาม เพราะเหตุว่าพระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ แต่ให้ทราบได้ว่า การเกิด ๗ ชาติ กับการเกิดอีกนับไม่ถ้วน ทุกข์ไหนจะมากกว่ากัน เห็นอยู่ชัดๆ แล้วใช่ไหม การเกิดดับทุกขณะเป็นทุกข์สำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งแล้ว

    สำหรับเรื่องที่พระโสดาบันจะเกิดในมนุษย์อีกหรือไม่ ทรงแสดงธรรม ต้องเข้าใจว่า บางครั้งทรงแสดงโดยอุกฤษฏ์ โดยสูงสุด เช่น การเกิดของมนุษย์ มีทั้งเกิดในครรภ์ มีทั้งเกิดในไข่ มีทั้งเกิดในเถ้าไคล มีทั้งเกิดเป็นโอปปาติกะคือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์เลย เพราะฉะนั้น สมัยนี้เราจะไปนั่งหาใครเกิดจากเถ้าไคล (สังเสทชะ) หรือใครเกิดอุบัติขึ้นมาเป็นตัวตน แต่ทรงแสดงโดยอุกฤษฏ์ตามกาลสมัย เช่น ในสมัยที่โลกทำลาย และโลกเพิ่งสร้าง และเริ่มที่จะมีสัตว์เกิด ขณะนั้นไม่ได้เกิดในครรภ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความต่างของสมัย และการแสดงโดยอุกฤษฏ์ ก็จะเห็นได้ว่า โดยอุกฤษฏ์ทรงแสดงว่า เกิดได้ แต่ไม่มีตัวอย่างในพระไตรปิฎก และอรรถกถาที่จะกล่าวว่าบุคคลนี้เป็นพระโสดาบัน แล้วก็กลับมาเกิดในโลกนี้

    ผู้ฟัง เมื่อจิตเป็นกุศลก็ให้รู้ว่าเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นอกุศลก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศลนี้ จะกล่าวอย่างไรถึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าต้องกล่าวยังไง แต่หมายความว่า ธรรมที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น เราอย่าไปหยิบตรงโน้นตรงนี้มาแล้วคิดว่า จะต้องเข้าใจ หรือจะต้องพูดอะไรตรงนี้ แต่เป็นความเข้าใจว่าที่เราได้ฟังพระธรรมเราเข้าใจอะไร เพราะว่าพระธรรมมีตลอดเวลา แล้วเราเข้าใจอะไรที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องที่จะต้องพูดตาม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า สำหรับประโยคนี้ว่า จิตเป็นกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศลก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เวลาโกรธรู้ไหมว่าเป็นอกุศล ใครๆ ก็รู้

    ผู้ฟัง นี้หมายความว่าสภาพธรรมที่เขาเกิด เป็นอกุศล บางทีก็หลงลืมไปว่าเป็นเราโกรธทุกที

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเราลืม ถ้าไม่เข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเป็นเรา ไม่ต้องสนใจ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเราจะฟังธรรมให้เพิ่มขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวอย่างนี้หมายความว่าเป็นการเจริญสติ หรือเจริญความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ เราศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดว่าจะต้องเจริญหรือจะต้องอะไรเลย สิ่งที่เราไม่เคยฟังไม่เคยรู้ ก็ฟังก็รู้เข้าใจขึ้น ใครจะใช้คำว่าศึกษา ไม่ใช้คำว่าศึกษา ก็คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ไปติดอยู่ที่คำ อยู่ในที่นี้จะกี่คนก็ตาม ได้ยินข้อความเดียวกัน แต่อยู่ที่การพิจารณา การฟัง ไม่ใช่ฟังแล้วผ่าน แต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ฟังแล้วจะมากจะน้อยแล้วแต่การสะสม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ขณะนี้ก็เป็นธรรมดา ธรรมคือธรรมดา แต่ธรรมดาของธรรมก็คือ เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา จะเป็นเราได้ยังไง พูดอยู่เมื่อกี้เองว่าเป็นธรรม ก็ต้องเป็นธรรม นี่คือความตรงของธรรม ว่าธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็เลยเป็นเราไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องฟัง ฟังแล้วฟังอีก แล้วจะรู้ว่าปัญญามีหลายระดับ ข้อสำคัญคือ ไม่ต้องไปห่วง เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องสติปัฏฐาน เรื่องอายตนะ เรื่องอริยสัจจ์ เรื่องอะไร ซึ่งเป็นข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด และอรรถกถา แต่เริ่มที่เข้าใจว่า ธรรมหมายความว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ไม่เคยฟังไม่เคยเข้าใจ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจขึ้น ไม่ต้องพอเข้าใจนิดนึงเราจะเจริญอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ กุศลมีกี่อย่างอะไรอย่างนั้น ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่เป็นธรรมคือเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตามประเภทของจิตในขณะนั้น ให้รู้ความจริงไม่ใช่มีตัวเราไปติดข้องไปต้องการอะไรอีก แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่าง กุศลก็คือสภาพที่ดี ทรงแสดงไว้ว่าสภาพที่ดีก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นสภาพที่ดีก็อยากให้ดีมากๆ ทำกันเยอะๆ ถูกหรือไม่อย่างนั้น หรือว่ารู้ตามความเป็นจริงว่ากุศลไม่ใช่เรา อันไหนจะถูกต้องกว่ากัน รู้ว่าเป็นกุศลแล้วอยากจะทำกุศลมากๆ อยากจะได้ผลของกุศล หรือว่าเมื่อรู้ว่าเป็นกุศลแล้วก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ทั้งกุศล และอกุศลก็ไม่ใช่เรา แต่ที่ท่านอาจารย์ได้พูดว่า ยามที่กุศลเกิด เราก็มีตัวเราเข้าไปว่า อยากทำกุศล ตรงนี้รู้สึกว่าบางครั้งก็สับสนว่า เคยถามท่านอาจารย์มาครั้งหนึ่งแล้วว่า อกุศลไม่ใช่เราแน่ แต่ยังจะเอากุศลเป็นของเรา

    ท่านอาจารย์ นั้นน่ะสิ ทำไมที่เป็นอกุศลเราไม่ใช่เรา แล้วกุศลเป็นของเรา

    ผู้ฟัง รู้สึกว่า อกุศลนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ต้องไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นของใคร

    ผู้ฟัง เป็นของคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องตรง และต้องตอบได้ มีข้อความนี้ว่า อกุศลไม่ใช่ของเรา แต่กุศลเป็นของเรา แต่ต้องรู้ความหมาย อกุศลไม่ใช่ของเราเพราะเหตุว่า เวลาที่อกุศลเกิด ผลก็คือว่า ทำให้ทุกอย่างพิบัติไป หมดสิ้นไป สิ่งที่เคยเป็นของเราเวลาที่เป็นผลของอกุศลนี้จะไม่ใช่ของเรา หมดสิ้นไปโดยประการทั้งปวง รูปร่างกายก็หมดไป แขนขาหมดไป ทรัพย์สมบัติก็หมดไป แต่กุศลเป็นของเราเพราะเหตุว่านำมาซึ่งสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นของเรา แต่ว่าความจริงโดยปรมัตถธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการศึกษาการฟังธรรม ต้องเข้าใจตามลำดับขั้นด้วย ไม่ใช่ว่าเจอพยัญชนะนี้ จะว่ายังไง เช่น ตนเป็นที่พึ่งของตน ไม่มีตนแล้วตนจะมาเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างไร ก็ไม่ต้องศึกษากันถ้าแบบนี้ คือไม่เข้าใจความหมายโดยนัยของเทศนาความลึกความต่างของธรรมที่ทรงแสดง ถ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยใดๆ ต้องทิ้งคำแรกไม่ได้คือ เป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นธรรม ที่เป็นที่พึ่ง ตนที่เป็นที่พึ่งก็คือธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่เป็นปัญญา จึงจะพึ่งได้ จะไปพึ่งอกุศลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง และเข้าใจให้สอดคล้อง อยู่ที่ความเข้าใจไม่ต้องไปคิดอะไรหมด ไม่ต้องไปคิดเรื่องเจริญ ไม่ต้องไปคิดทำอะไร เข้าใจตัวเดียว เข้าใจนั่นแหละ เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น และจะต้องการอะไรยิ่งกว่านี้ ที่ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มี

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ว่า ศึกษาเพื่อให้เข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้นนั้น จะขอยกตัวอย่าง กรณีว่ากุศลหรืออกุศล เราก็ยังจะพอมองออก

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้มองออกว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ใช่ พอมองออกว่าไม่ใช่เรา ถ้าพูดถึงอพยากตะที่หมายถึง กิริยา

    ท่านอาจารย์ (อพยากตะ) วิบาก กิริยา รูป นิพพาน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นกิริยาที่แปลว่า ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล เป็นอพยากตะ ลักษณะของธรรมอันนี้ ที่ว่าเป็นกิริยาจิต ลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่กุศล อกุศล สามารถจะเข้าใจเพียงเท่านี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ กิริยาจิตกำลังเกิดก่อนจักขุวิญญาณ ก่อนชวนจิต ก็มีกิริยาจิต แต่จะไปรู้ได้อย่างไร นอกจากเข้าใจให้ถูกต้องว่า กิจ หน้าที่ต้องเป็นกิริยาจิตเท่านั้น กิริยาจิตจะไม่ทำหน้าที่ของวิปากจิต จะไม่ทำหน้าที่ของกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง ฟังให้เข้าใจได้แค่นี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อยากจะประจักษ์แจ้ง ลักษณะของกิริยาจิตหรือ

    ผู้ฟัง อยากจะเข้าใจให้มากขึ้นกว่าที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่า จิตมี ๔ ชาติ และสามารถที่จะรู้ว่ากุศล อกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล กิริยาจิตไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล และจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น ทำหน้าที่ของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของกิริยาจิตที่ปุถุชนหรือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มี ก็คือเกิดก่อนจักขุวิญญาณ เกิดก่อนชวนจิต เท่านี้ที่สามารถจะรู้ได้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต แล้วจะไปรู้จิตนั้นๆ ได้อย่างไร ขณะนี้เพียงรู้ชื่อจิต แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เพราะฉะนั้น จะไปรู้กิริยาจิตได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ พอเราฟังปุ๊บก็อยากรู้กิริยาจิต ไม่ได้ แม้แต่เพียงขณะนี้จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต กำลังเกิดดับ กำลังทำกิจสืบต่อ ตามหน้าที่ของกิจนั้นๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นจิต ขณะนี้เพียงฟังเรื่องจิต แล้วจะไปต้องการรู้กิริยาจิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับ ถ้ายังไม่รู้สภาพที่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ของจิต เจตสิก รูป เพียงฟังจะต้องมีปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งรู้ว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ที่ทรงแสดงลักขณาทิจตุกะ ลักษณะเบื้องต้นของสภาพธรรมนั้น เพื่อให้ปัญญาเห็นความเป็นอนัตตา เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดจะได้ไม่สับสน เช่น ลักษณะของฉันทะ ลักษณะของโลภะ ลักษณะของโทมนัส ลักษณะของโสมนัส พวกนี้มีจริง เพราะฉะนั้น เวลาเกิดก็ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ไปนั่งท่องว่านี่เป็นธรรม แต่ลักษณะที่ปรากฏความเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ต้องสามารถที่จะเข้าใจลักษณะตัวจริงๆ ที่ปรากฏจนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ ที่จะละความเห็นผิดว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ว่า จิตที่เป็นกิจ ... ฟังไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต ที่เกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนชวนทั้งหมด

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนกิจเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นมโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวาร เกิดก่อนชวนจิต ไม่ใช่ว่าพอใจแล้วที่เราได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่เราพอใจเลย จะตั้งต้นด้วยการที่รู้ว่าเป็นธรรม ยังไม่ต้องไปถึงอะไรเลย แม้ในขณะนี้ ฟังจนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้งว่าเป็นธรรม ธรรมคือเป็นสภาพหรือธาตุที่มีจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ ไม่ต้องไปคิดว่าจะไปเจริญสติปัฏฐาน ให้สติเกิด ให้บรรลุผล ไม่ใช่ ขณะที่ฟังก็มีสภาพธรรม ที่กำลังกล่าวถึงให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นสติที่ระลึก และปัญญาค่อยๆ รู้ นั่นคือสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตนที่จะเจริญสติ จะทำอะไร แต่เป็นเรื่องเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่มีจริง ขณะไหนก็ได้ ขณะที่ล่วงไปแล้วเมื่อกี้นี้จะเข้าใจได้ไหม ตอนเมื่อกี้ที่เรากำลังเดินขึ้นไปบนเมรุ เราจะไปรู้ความจริง รู้จิต เจตสิก ตอนนั้นในขณะที่กำลังนั่งเดี๋ยวนี้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นเป็นความจริงซึ่งปัญญาจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็คิดเป็นตัวหนังสือ แล้วก็คิดเป็นตัวเลข แล้วก็คิดเป็นชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง เรา กับคำว่า ไม่ใช่เราแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเกิด แล้วธรรมก็ดับไป แต่ใครรู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องเป็นเราที่เห็น เราที่ได้ยิน เราที่คิดนึก เราที่ดี เราที่ชั่ว จนกว่าจะรู้ว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ตามปกติธรรมดา เมื่อเราศึกษาปริยัติมา เราก็รู้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง โดยปริยัติรู้แล้ว ใครก็รู้ว่านั่นไม่ใช่เราแน่นอน แต่ว่าคำว่า ทำไมจึงกล่าวว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ชื่อไม่ใช่เรา เพราะชื่ออนัตตา ไม่ใช่เรา แต่นั่นเป็นชื่อเท่านั้นที่ไม่ใช่เรา แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตราบใด ก็ต้องเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เพราะเพียงฟังชื่ออนัตตาก็รู้เพียงแค่ชื่อว่า อนัตตาหมายความว่าอะไร แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดแล้วดับ มีลักษณะต่างกัน ไม่ได้ประจักษ์ เพราะว่าอวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ หรือว่า ปัญญาขั้นฟังก็ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมไม่ได้

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า คุณโยมสุจินต์บรรยายธรรม บรรยายขั้นการฟัง หรือบรรยายขั้นประจักษ์ บรรยายขั้นไหนให้รู้อะไร ยังไง

    ท่านอาจารย์ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้มีจิรกาลภาวนา การอบรม ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมีหนึ่งอสงไขยแสนกัปป์ เป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิ ก่อนนั้นต้องฟัง ถ้าไม่ฟังก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เมื่อฟังแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นพระโสดาบันได้ นับตั้งแต่ได้พบพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ จนกระทั่งมาถึงกาลที่ได้ฟังท่านพระอัสสชิ หลังจากที่บำเพ็ญบารมีแล้วหนึ่งอสงไขยแสนกัปป์ จึงเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง อยากจะทราบขั้นตอนของตั้งแต่เริ่มฟังตรงประจักษ์ว่า ขั้นตอนของการบรรยายของคุณโยมเป็นไปตามลำดับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หนึ่งอสงไขยแสนกัปป์หรือยัง

    ผู้ฟัง คืออยากจะฟังลำดับของการแสดงธรรมของคุณโยมว่า ที่แสดงธรรมให้กับผู้ที่ฟังธรรมฟัง บรรยายขั้นตั้งแต่การฟัง จนถึงขั้นประจักษ์ ให้คนฟังเข้าใจว่า เข้าใจโดยลำดับว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจโดยลำดับว่า พุทธศาสนามี ๓ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิปัตติ และปฏิเวธ อย่าปะปนขั้นปริยัติ คือขั้นฟังเรื่องราวว่าเป็นขั้นประจักษ์แจ้ง และอย่าปะปนขั้นฟังว่าเป็นขั้นระลึกปฏิปัตติ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    15 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ